-๕-

ภาค ๕ พระอริยะบุคคล

ความจริง ๒ ประการ

“ความจริง” คือ “สิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเมื่อยังไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นมา ความจริงก็ยังเป็นความจริงแท้หรือความจริงดั้งเดิมของธรรมชาติเพียงความจริงเดียว แต่เมื่อมีมนุษย์เกิดขึ้นมา จึงทำให้เกิดความจริงขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งความจริง จึงทำให้ความจริงของโลกในปัจจุบันมี ๒ ประการ อันได้แก่

๑. ความจริงสมมติ คือเป็น “ความจริงที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาว่ามันเป็นความจริง” แล้วก็ยึดถือกันว่าเป็นความจริง ซึ่งก็ได้แก่ความจริงว่ามีตัวตนบุคคลหรือสิ่งต่างๆอยู่จริง เช่น มีเรา มีเขา มีพ่อ มีแม่ มีสามี-ภรรยา มีลูก มีพี่ มีน้อง มีเพื่อน มีคนชาตินั้น-ชาตินี้ มีสุข มีทุกข์ มีรวย มีจน มีดี มีชั่ว มีโง่ มีฉลาด เป็นต้น ซึ่งความจริงสมมตินี้จัดเป็นความจริง “ระดับโลกียะ” (ระดับโลก) คือเป็นความจริงที่ชาวบ้านธรรมดาๆ (คนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ) เขายึดถือกันอยู่ว่าเป็นความจริง ซึ่งผลจากความยึดถือก็คือทำให้จิตใจเกิดความทุกข์

๒. ความจริงแท้ คือเป็น “ความจริงแท้ของธรรมชาติ” ซึ่งเป็นความจริงที่ว่า “สิ่งทั้งหลายที่ชาวโลกเขาสมมติกันขึ้นมาว่ามีอยู่จริงนั้น แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีอัตตาหรือตัวตนของมันอยู่จริงเลย” ซึ่งความจริงแท้นี้จัดเป็นความจริงระดับ “โลกุตระ” (เหนือโลก) คือเป็นความจริงที่เหนือวิสัยของชาวบ้านธรรมดาๆจะเข้าใจและยอมรับ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องและเพียงพอ จึงจะสามารถเข้าถึง (คือเข้าใจและเห็นแจ้ง) ความจริงแท้ได้ ซึ่งผลจากการเข้าถึงความจริงแท้นี้ได้ก็คือ ทำให้จิตใจไม่เกิดความทุกข์

ดวงตาเห็นธรรม

การที่ใครๆจะเข้าถึงความจริงแท้ได้นั้น “จะต้องศึกษาเรื่องร่างกายและจิตใจ (คือขันธ์ ๕) ของตนเอง ถึงเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์” (คือไม่เชื่อคำสอนจากตำราหรือจากใครๆล่วงหน้าว่าเป็นความจริง, ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง, ศึกษาตามเหตุตามผล, ศึกษาอย่างเป็นระบบ, ต้องพิสูจน์จนเห็นผลจริงก่อนยอมรับเอามาปฏิบัติ) จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “มันเป็นอนัตตา” (คือไม่ใช่ตัวตนอมตะ)

รวมทั้งยังนำเอาความเข้าใจนี้มาทดลองปฏิบัติร่วมกับสมาธิ เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จนเกิดความเห็นแจ้ง (หรือเห็นจริง) ขึ้นมาว่า “หลักอริยสัจ ๔ นี้สามารถใช้ดับทุกข์ได้จริง” (แม้เพียงชั่วคราว) จึงจะเรียกว่า “เข้าถึงธรรม” หรือ “บรรลุธรรม” หรือ “มีดวงตาเห็นธรรม” หรือ “เห็นอริยสัจ ๔” ได้อย่างแท้จริง ซึ่งการมีปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้ จัดเป็นปัญญา “ระดับโลกุตระ” (ระดับเหนือโลก) คือเป็นความรู้ของพระอริยะบุคคลทั้งหลาย

อนุสัย-อาสวะ

มีหลักที่เราควรรู้เกี่ยวกับอวิชชาและกิเลสเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อจิตของเราได้เคยเกิด “อวิชชา” และ “กิเลส” ขึ้นมาครั้งใดและแม้มันจะได้ดับไปแล้วก็ตาม แต่มันจะทิ้ง อนุสัย ที่หมายถึง ความเคยชิน  (หรือนิสัย) เอาไว้ในจิตใต้สำนึกของเราหน่วยหนึ่งเสมอ ซึ่งนี่ก็แสดงว่า การที่เราเคยเกิดอวิชชาและกิเลสมาแล้วมากมายตลอดทั้งชีวิต ก็ได้ทำให้จิตใต้สำนึกของเรา มีความเคยชินของอวิชชาและกิเลสอยู่อย่างหนาแน่น และเมื่อจิตของเราได้รับรู้อารมณ์ (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งสัมผัสใจ) ของโลก แล้วเกิดเวทนาขึ้นมาอีกเมื่อใด จิตของเราก็จะเกิดอาการของกิเลส (คือพอใจในสุขเวทนา ไม่พอใจในทุกขเวทนา และลังเลใจในอทุกขมสุขเวทนา) ขึ้นมาทันทีอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนเราแทบไม่รู้ตัว หรือถึงจะรู้ตัวก็เราก็ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมมันได้ ซึ่งอาการที่กิเลสมันไหล (คือเกิดขึ้น) ออกมาอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนเราไม่สามารถหยุดมันได้นี้เอง ที่เรียกว่า อาสวะกิเลส ที่หมายถึง กิเลสที่เกิดขึ้นมาจากการหมักดองของอนุสัย ซึ่งอาการที่กิเลสได้เกิดขึ้นมาแล้วเราไม่สามารถควบคุมมันได้ แล้วก็ทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ขึ้นมาอยู่เสมอๆตลอดทั้งชีวิตนี้ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า สังโยชน์ ที่หมายถึง เครื่องผูกมัดจิตของเราเอาไว้ให้มีความทุกข์เรื่อยไป

อนุสัยทุกตัวเกิดขึ้นพร้อมกัน

ยังมีหลักที่เราควรรู้อีกเรื่องก็คือ การที่อนุสัยของกิเลสตัวใดก็ตามได้เกิดขึ้นมาในจิตใต้สำนึกของเราแล้ว มันก็จะเกิดอนุสัยของกิเลสที่เหลืออีก ๒ ตัวขึ้นมาด้วยเสมอ อย่างเช่น เมื่อเรามีนิสัยรักหรือชอบที่รุนแรงมาก เราก็จะมีนิสัยโกรธ-เกลียด-กลัวรุนแรงมากด้วย และนิสัยลังเลใจรุนแรงมากด้วยเสมอ เป็นต้น ซึ่งความรู้นี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ถ้าเราปฏิบัติอริยมรรคเพื่อทำให้กิเลสตัวใดระงับหรือดับหายไปได้ (แม้เพียงชั่วคราว) มันก็จะทำให้อนุสัยหรือความเคยชินของกิเลสตัวนั้นและทุกตัวที่เหลือลดน้อยลงหน่วยหนึ่งเสมอ และถ้าเราสามารถปฏิบัติอริยมรรคอย่างต่อเนื่องนานๆ ก็จะทำให้อนุสัยของกิเลสทุกตัวหมดความเคยชินไปอย่างถาวร ซึ่งก็คือทำให้สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ขาดลงทั้งหมดนั่นเอง

สังโยชน์ ๑๐

สังโยชน์  แปลว่า  เครื่องผูก  คือหมายถึง สิ่งที่ผูกจิตให้ติดอยู่กับความทุกข์ คือเมื่อจิตของเรามีความเคยชินของอวิชชาและกิเลสอยู่ในจิตใต้สำนึกมากๆ เมื่อมีสิ่งหรือเรื่องภายนอกที่รุนแรงมาสัมผัสจิต ก็จะทำให้จิตเกิดกิเลสขึ้นมาทันทีอย่างห้ามไม่ได้ แล้วก็ทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างห้ามไม่ได้ ซึ่งลักษณะนี้เองที่เรียกว่าเป็นสังโยชน์ คือเป็นสิ่งที่ผูกจิตเอาไว้ให้ติดอยู่กับความทุกข์ ซึ่งสังโยชน์นี้มีอยู่ ๑๐ ตัว ที่เมื่อแยกตามลำดับจากหยาบไปหาละเอียดก็ได้แก่

๑. สักกายทิฎฐิ  คือ ความเห็น (หรือความเข้าใจ) ว่าจิตใจ (ที่สมมติเรียกว่าเป็นเรา) นี้เป็นอัตตา (ตัวตนอมตะ)

๒. วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจในสิ่งหรือคำสอนที่เชื่อถืออยู่ (คือในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และการปฏิบัติของเรา) ว่ามีจริงหรือไม่? หรือถูกต้องหรือไม่?

๓. สีลัพพตปรามาส คือ การปฏิบัติศีลและข้อวัตรปฏิบัติต่างๆที่ผิดจากจุดมุ่งหมายที่แท้จริง (คืองมงาย)

๔. กามราคะ คือ ความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ (สิ่งที่น่ารักน่าใคร่)

๕. ปฏิฆะ คือ ความรู้สึกอึดอัดขัดเคืองใจ หรือความโกรธ

๖. รูปราคะ คือ ความติดใจในความสุขจากรูปารมณ์ (พวกวัตถุ)

๗. อรูปาราคะ คือ ความติดใจในความสุขจากอรูปารมณ์ (พวกชื่อเสียงเกียรติยศ)

๘. มานะ คือ ความถือตัวเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น (ว่าเหนือ หรือเสมอ หรือต่ำกว่า)

๙. อุจธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านหรือความตื่นเต้นเล็กๆน้อย

๑๐. อวิชชา คือ ความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตนเอง (สัญชาติญาณแห่งตัวตน)

สังโยชน์นี้เกิดมาจากอนุสัยที่เราได้สั่งมานานแล้วตั้งแต่เกิด จนมันหนาแน่นเหมือนเชือกที่ผูกมัดเราไว้กับความทุกข์อย่างเหนียวแน่นจนเราดิ้นไม่หลุด อีกทั้งมันยังตัดให้ขาดหรือทำลายมันได้ยากอีกด้วย  และตราบใดที่สังโยชน์นี้ยังมีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา เราก็จะยังไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของชีวิตไปได้อย่างถาวร

โดยสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นี้ มันก็มีความหยาบและละเอียดไปตามลำดับ โดยสังโยชน์ตัวแรกนั้นมันเป็นแค่ “ความเห็นผิด” (หรือความเข้าใจผิด) ว่า “จิตนี้เป็นอัตตา” (คือเป็นตัวตนอมตะ) ซึ่งความเห็นผิดนี้สามารถทำลายได้ โดยการศึกษาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “จิตนี้เป็นอนัตตา” ตามที่พระพุทธเจ้าสอน และเมื่อสังโยชน์ตัวแรกถูกทำลายไปแล้ว สังโยชน์หยาบๆที่เหลืออีก ๒ ตัว คือ วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส ก็จะหายตามไปด้วย ส่วนสังโยชน์ที่เหลือทั้งหมด จะเป็นสังโยชน์ที่ละเอียด ที่จะทำลายได้ด้วยการปฏิบัติอริยมรรคอย่างจริงจัง

พระอริยะบุคคล ๔ จำพวก

บุคคลทั้งหลายของโลกนั้น แยกได้ ๒ จำพวก คือ ปุถุชน กับ อริยะชน โดยปุถุชนก็คือ “คนที่ยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึก” (จิตใต้สำนึกก็คือจิตส่วนลึกที่เราควบคุมมันไม่ได้ และมันคอยควบคุมจิตเต็มสำนึกหรือจิตปกติที่เรากำลังรู้สึกกันอยู่นี้) ส่วน “อริยะชน” หรือ “พระอริยะบุคคล” ก็คือ “คนที่มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสใดๆเลยอยู่ในจิตไต้สำนึก” ซึ่งการที่บุคคลใดจะบรรลุถึงความเป็นอริยะบุคคลได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มี “ดวงตาเห็นธรรม” แล้วเท่านั้น โดยพระอริยะบุคคลตามหลักพุทธศาสนานั้นแยกได้ ๔ จำพวก อันได้แก่

๑. พระโสดาบัน คือ บุคคลที่เพิ่งเริ่มมีดวงเห็นธรรม แต่ก็ยังมีกิเลสอยู่ในจิตใต้สำนึกอยู่บ้าง ซึ่งพระโสดาบันนี้ จะเป็นคนดีมีศีลธรรมอย่างมั่นคง และมีความเห็นแก่ตัวน้อย ซึ่งพระโสดาบันนี้ท่านสามารถทำลายสังโยชน์เบื้องต้นได้เพียง ๓ ตัวเท่านั้น ดังนั้นท่านจึงจะยังคงเผลอสติ (คือลืมระลึกถึงปัญญาเรื่องอนัตตา-สุญญตา) ได้อยู่บ่อยๆ และจะยังคงเกิดความทุกข์ใจ (ความเศร้า) ที่ไม่รุนแรงมากขึ้นมาได้ แต่เมื่อท่านเผลอสติจนเกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้วไม่นาน ท่านก็จะกลับมามีสติและปัญญาขึ้นมาได้อีก แล้วความทุกข์ก็จะดับหายไปทันที (ชั่วคราว)  แล้วจิตของท่านก็จะนิพพานหรือสงบเย็นทันที (ชั่วคราว) ซึ่งพระโสดาบันนี้แม้ผู้ที่ไม่ได้บวชก็สามารถเป็นได้

๒. พระสกิทาคามี คือ จิตที่จะเกิดความทุกข์อีกเพียงครั้งเดียวก็จะดับทุกข์ได้ทันที ซึ่งพระสกิทาคามีก็คือพระโสดาบันที่ปฏิบัติอริยมรรคมากขึ้น จนสามารถดับทุกข์ที่ไม่รุนแรงมากได้ทันทีทุกครั้งที่ความทุกข์นั้นได้เกิดขึ้น สรุปก็คือท่านดับทุกข์ได้เร็วกว่าพระโสดาบัน แต่ก็ยังตัดสังโยชน์ได้เท่าพระโสดาบัน ซึ่งพระสกิทาคามีนี้แม้ผู้ที่ไม่ได้บวชก็สามารถเป็นได้

๓. พระอนาคามี หมายถึง ผู้ไม่มีเรือน ซึ่งพระอนาคามีก็คือพระสกิทาคามีที่ปฏิบัติอริยมรรคมากขึ้นจนสามารถทำลายสังโยชน์ได้อีก ๒ ตัวรวมเป็น ๕ ตัว ซึ่งท่านจะมีสติอยู่ตลอดเวลาและยังมีความทุกข์ที่เบาบางอยู่บ้างเท่านั้น ซึ่งพระอนาคามีนี้จะไม่มีครอบครัวแล้ว (คือไม่มีกามราคะแล้ว)

๔. พระอรหันต์ หมายถึง ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งพระอรหันต์ก็คือพระอนาคามีที่ปฏิบัติอริยมรรคมากขึ้น จนสามารถทำลายสังโยชน์ที่เหลือทั้งหมดได้แล้ว จึงทำให้ท่านมีสติสมบูรณ์ และความทุกข์ทั้งหลายก็ได้ดับลงอย่างสนิทแล้วอย่างถาวรแล้ว และมีนิพพานสูงสุดและถาวรแล้ว (คือมีตลอดเวลาจนตลอดชีวิต)

ความจริงแล้วพระอริยะบุคคลเหล่านี้ ก็ไม่มีใครที่จะมายึดถือว่าตัวเองเป็นใครหรืออะไร เพราะท่านมีความเห็นแจ้งในชีวิตแล้วว่า “มันไม่ได้มีตัวตนของใครๆอยู่จริง” ถ้าจิตใดยังมีความยึดถือว่ามีตัวเองเป็นพระอริยะอยู่ ก็หมายความว่าจิตนั้นยังมี “อวิชชาและกิเลสหยาบๆ” ครอบงำอยู่อย่างลึกซึ้ง และเขาก็ไม่ได้เป็นพระอริยะตามที่สมมติจริง ซึ่งพระอริยะทั้งหลายนี้ จะมีหน้าที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือ สอนให้เพื่อนมนุษย์ได้พบกับความพ้นทุกข์และช่วยโลกให้มีสันติภาพ ด้วยการสอนให้มวลมนุษย์ตื่น (คือเกิดปัญญารู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง) ขึ้นมา โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆแม้คำว่าขอบคุณ ซึ่งผลจากการปฏิบัติหน้าที่นี้ก็คือ ความสงบเย็นหรือนิพพานอันเป็นผลที่ธรรมชาติตอบแทนมาให้

ปุถุชนกับอริยะชนต่างกันตรงที่การดับทุกข์

อีกอย่างที่เราต้องเข้าใจก็คือ สภาพพื้นฐานของจิตปุถุชนกับจิตของพระอริยะ จะไม่มีความแตกต่างกันเลย คือมีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาเหมือนกันหมด แต่จะต่างกันตรงที่ปุถุชนจะไม่สามารถดับทุกข์ของตัวเองได้ตามที่ต้องการ เพราะไม่รู้จักวิธีการดับทุกข์ที่ถูกต้อง ส่วนพระอริยบุคคลนั้นท่านสามารถที่จะดับทุกข์ของจิตใจท่านได้ตามความสามารถของท่าน เพราะท่านรู้วิธีการดับทุกข์ที่ถูกต้องแล้ว

จากเรื่องพระอริยะบุคคลนี้ บางคนอาจจะคิดว่า เรื่องความพ้นทุกข์แล้วมีผลเป็นความสงบเย็นเพียงแค่นี้ เป็นเรื่องง่ายๆหรือธรรมดาเกินไป คือมันไม่น่าตื่นเต้นและไม่น่าสนใจ มันน่าจะมีผลอะไรที่มากยิ่งไปกว่านี้ เช่น ได้บรรลุถึงความเป็นตัวตนอมตะ ที่มีแต่ความสุขและไม่มีความทุกข์ใดๆอยู่ชั่วนิรันดร หรือกลายเป็นผู้วิเศษ หรือได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่และมีผู้คนเคารพนับถือมากๆ เป็นต้น ตามที่ปุถุชนทั้งหลายอยากจะเป็นกัน

แต่ถ้าเราจะเข้าใจความเป็นอนัตตา-สุญญตาของชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะพบว่า “เมื่อไม่มีอะไรที่จะมาเป็นตัวเราจริงๆ แล้วเราจะอยากได้อะไรไปเพื่อใครแต่ถึงแม้จะเราได้สิ่งที่อยากจะได้ “มันก็ไม่มีใครที่ได้จริงและไม่มีอะไรที่ได้จริง” ดังนั้นเพียงแค่ “จิตไม่มีความทุกข์” เท่านี้ก็นับว่าเป็นสิ่งสูงสุด (คือมีประโยชน์หรือคุณค่าสูงสุด) สำหรับจิตที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงนี้แล้ว

มนุษย์เกิดมาเพื่อทำหน้าที่

ถ้ามีคนมาถามว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร? คนที่เข้าใจชีวิตอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงแล้วว่า “ไม่มีเราอยู่จริง” ก็ตอบไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว “มันไม่มีเรามาเกิด” และถ้ามีคนมาถามอีกว่า ตายแล้วไปไหน? ก็ตอบไม่ได้อีก เพราะความจริงแล้ว “มันไม่มีใครตาย” ส่วนความเห็นหรือความเข้าใจว่า “มีเรามาเกิดและมีเราตาย” นั้น มันเป็นความเห็นผิด ของปุถุชนที่ยังไม่เข้าใจถึงความจริงสูงสุดของธรรมชาติที่ว่า “จิตของเราและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนั้นมันเป็นอนัตตา” คือไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง ส่วนตัวเรา (คือจิตใจ) ที่เกิดขึ้นมานี้ มันเป็นแค่ “ตัวเรามายา” หรือ “ตัวเราชั่วคราว” ที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย (คือธาตุ) ตามธรรมชาติเท่านั้น

แต่เมื่อธรรมชาติได้ปรุงแต่งให้เกิด “ตัวเรามายา” หรือ “ตัวเราชั่วคราว” ขึ้นมาแล้ว เราควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้รับสิ่งสูงสุดที่ชีวิตควรได้รับ? ซึ่งคำตอบก็คือ เมื่อธรรมชาติได้สร้างให้เกิดเราขึ้นมาแล้ว ธรรมชาติก็ได้กำหนดให้เราปฏิบัติตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ ซึ่งการปฏิบัติตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้นั้นเรียกว่า “ธรรมะ” ที่แปลว่า  หน้าที่ ซึ่งหน้าที่ก็คือ สิ่งที่เราต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติตาม เราก็จะมีความทุกข์ใจและเดือดร้อนกาย โดยสรุปหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัตินั้นก็ได้แก่ การปฏิบัติเพื่อไม่ให้ร่างกายเดือดร้อน และ ไม่ให้จิตใจเกิดความทุกข์

จุดนี้ให้เรามาพิจารณาว่า ปัจจัยพื้นฐานของร่างกายนั้น ต้องการ อาหาร, น้ำ, อุณหภูมิพอเหมาะ, อากาศบริสุทธิ์, พร้อมทั้งเสื้อผ้า, ที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค, การออกกำลังกาย, และการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น อย่างพอเหมาะพอควร (คือไม่มากหรือน้อยเกิน) เพื่อให้ร่างกายให้ดำรงอยู่อย่างไม่ลำบากและไม่ตาย ถ้าขาดปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ ร่างกายก็จะเจ็บปวดหรือทรมานและตายได้ ดังนั้นการทำงานที่สุจริต เพื่อให้ได้ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้มาบริหารร่างกาย จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของร่างกาย ถ้าเราไม่ทำงานก็จะไม่มีปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ เมื่อไม่มีปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ ร่างกายก็จะเดือดร้อนหรือมีความทุกข์ทางกาย

แต่การที่เราจะมีปัจจัยพื้นฐานอย่างพอเพียงและมีงานที่สุจริตอย่างมั่นคง เราจำเป็นต้องมีครอบครัวที่ดี, มีสังคมที่ดี, มีประเทศชาติที่สงบมั่นคง, มีโลกที่มีสันติภาพ, และมีธรรมชาติที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ ดังนั้นหน้าที่ในการดูแลครอบครัว, หน้าที่ในการดูแลสังคม, หน้าที่ในการดูแลประเทศชาติ, หน้าที่ในการดูแลโลก, และหน้าที่ในการดูแลธรรมชาติ จึงจัดเป็นหน้าที่ของชีวิตด้วยเหมือนกัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งเหล่านี้ แล้วก็จะเกิดผลเลวร้ายย้อนกลับมาทำให้ชีวิตของเราเกิดความเดือดร้อน หรือเกิดความเจ็บปวดทรมานร่างกายขึ้นมาได้

เมื่อเรามีงานทำและมีปัจจัยพื้นฐานมาบริหารร่างกายจนร่างกายมีความปกติสุขแล้ว แต่ถ้าจิตใจของเรายังคงมีความทุกข์อยู่ ก็เรียกว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากเท่ากับหน้าที่ในการดูร่างกาย อีกทั้งการเผยแผ่คำสอนเรื่องการศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ไปยังเพื่อนมนุษย์ ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องปฏิบัติ เพื่อให้โลกมี “คนดีและมีปัญญา” ขึ้นมาในโลกมากๆ ซึ่งคนดีและมีปัญญานี้เอง ที่จะทำให้สังคมสงบสุขและช่วยโลกมีสันติภาพได้ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติหน้าที่นี้ สังคมและโลกก็จะไม่มีคนดีและมีปัญญา อันจะส่งผลร้ายย้อนกลับมาทำให้ชีวิตของเราต้องพบกับความเดือดร้อนได้ เพราะมีแต่ “คนชั่วและโง่เขลา” อยู่เต็มโลก

สรุปได้ว่า มนุษย์เกิดมาเพื่อมาทำหน้าที่ หน้าที่จึงเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ถ้าเราไม่ปฏิบัติหน้าที่ของร่างกายให้ถูกต้องสมบูรณ์ เราก็จะมีความเดือดร้อนทางร่างกาย แต่ถ้าเราได้ปฏิบัติหน้าที่ของร่างกายได้ถูกต้องสมบูรณ์ ก็จะเกิดผลเป็นความปกติสุขของชีวิต และสันติภาพของโลก ส่วนการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของจิตใจ ก็จะเกิดผลเป็นความทุกข์ของจิตใจ แต่ถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ของจิตใจได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ก็จะมีผลเป็น นิพพาน หรือความสงบเย็นของจิตใจ

เรื่องกรรมที่พระพุทธเจ้าสอน

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำสอนเรื่องกรรมที่สอนว่า “เมื่อเราทำกรรมใดไว้ในชาตินี้ จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นในชาติหน้าหรือชาติต่อๆไป” นั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนที่ประยุกต์จากคำสอนของศาสนาพราหมณ์ และนำมาเป็นคำสอนระดับศีลธรรมของพุทธศาสนาภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี จนทำให้ชาวพุทธในยุคหลังเกิดความเข้าใจผิดไปว่านี่คือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อไปอีกว่า “ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นเกิดมาจากกรรมเก่า” ซึ่งความเข้าใจผิดนี้ก็ได้ครอบงำชาวพุทธสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน แล้วก็ทำให้ชาวพุทธในปัจจุบันเกือบทั้งหมดไม่ได้รับประโยชน์จากคำสอนอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ (คือทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจในชีวิตปัจจุบันได้)

แต่ถ้าจะถามว่า “แล้วอะไรดลบันดาลให้ชีวิตของเราและของทุกคนเป็นไป?” (คือมีความสุข-ความทุกข์ มีความเจริญ-ความเสื่อม มีความร่ำรวย-ความยากจน มีความโง่-ความฉลาด เป็นต้น) ซึ่งคำตอบก็คือ “เหตุและปัจจัยตามกฏอิทัปปัจจยตา” คือเพราะมันมีเหตุและปัจจัยมากมายในชีวิตจริงของเราในปัจจุบันนี่แหละ ที่ทำให้เกิดความสุข-ความทุกข์ ความเจริญ-ความเสื่อม ความร่ำรวย-ความยากจน ความโง่-ความฉลาด เป็นต้น ขึ้นมา (คือต้องพิจารณาตามเหตุและปัจจัยของชีวิต ตามความเป็นจริงจึงจะเข้าใจ)

ส่วนคำสอนเรื่องกรรมที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น ก็เป็นแค่เพียงการสอนเรื่องของจิตใต้สำนึกของเราเท่านั้น คือทรงสอนว่า กรรม คือ การกระทำด้วยเจตนา ซึ่งเจตนาก็คือความตั้งใจทำด้วยกิเลส ซึ่งกิเลสก็มีทั้งกิเลสฝ่ายดี (คืออยากทำความดี) และกิเลสฝ่ายชั่ว (คืออยากทำความชั่ว) ซึ่งกรรมก็เกิดจากจิตใจ แต่เมื่อมันแสดงออกมาทางกายและวาจา จึงได้เกิดกรรมขึ้นมา ๓ ประเภท อันได้แก่ กรรมทางกาย กรรมทางวาจา และ กรรมทางใจ แต่สรุปแล้วกรรมก็แยกได้ ๒ ประเภทตามกิเลส คือ กรรมชั่ว (การทำความชั่ว) กับ กรรมดี (การทำความดี) โดยผลของกรรมเรียกว่า วิบาก ที่แปลว่า ผลของกรรม

โดยกรรมชั่วทั้งหมดก็สรุปอยู่ที่ การมีเจตนาที่จะเบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งเรื่องสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ (กามารมณ์) ของผู้อื่น และ การมีเจตนาที่จะพูดคำโกหก คำหยาบ คำส่อเสียด และเพ้อเจ้อ รวมทั้งการมีความโลภ (คืออยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง) และ การมีความโกรธ ความอาฆาต หรือ ความคิดอยากทำร้ายผู้อื่น รวมทั้งการมีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม (คือเห็นว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี แต่พอทำชั่วกลับได้ดี)

ส่วนกรรมดีก็สรุปอยู่ที่ การมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ของผู้อื่น และการมีเจตนาที่จะไม่พูดคำโกหก คำหยาบ คำส่อเสียด และเพ้อเจ้อ รวมทั้งการมีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ และการมีเจตนาที่จะให้อภัยแก่ผู้อื่น ที่ทำร้ายเราหรือเอาเปรียบเรา รวมทั้งการมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (คือเห็นว่าทำดีแล้วดีทันที ทำชั่วได้แล้วชั่วทันที)

ส่วน วิบาก หรือผลของกรรมนั้นก็คือ เวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของเรา คือ เมื่อเรามีเจตนาชั่ว และได้ทำกรรมชั่วใดลงไปแล้วก็ตาม จิตใต้สำนึกของเรามันก็รู้อยู่ว่านั่นคือความชั่วหรือไม่ดี มันก็จะเกิดความรู้สึกร้อนใจ ไม่สบายใจ เสียใจ ไม่ภาคภูมิใจ เป็นต้น ที่เป็นความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นมา

ส่วนในกรณีที่ เรามีเจตนาดี และได้ทำกรรมดีใดลงไปแล้วก็ตาม จิตใต้สำนึกของเรามันก็รู้อยู่ว่านี่คือความดี มันก็จะเกิดความรู้สึกสุขใจ อิ่มใจ อุ่นใจ สบายใจ ภาคภูมิใจ เป็นต้น ที่เป็นความรู้สึกที่ดีขึ้นมา

แต่วิบากหรือผลของกรรมนี้ มันยังมีการให้ผลได้ ๓ ช่วงเวลา คือ

๑. ทันที คือเมื่อเรากำลังทำกรรมอยู่ ก็จะเกิดผลของกรรมนั้นขึ้นมาทันที

๒. ในเวลาต่อมา คือบางทีที่ผลของกรรมไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีที่เรากำลังทำกรรมอยู่ มันก็อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เราได้ทำกรรมเสร็จแล้วก็ได้ (ส่วนเรื่องที่ว่าผลของกรรมนี้จะรุนแรงและตั้งอยู่นานแค่ไหน เราก็ต้องมาสังเกตดูจากจิตของเราเอง)

๓. ในเวลาต่อๆมาอีก คือเมื่อผลของกรรมในเวลาต่อมาได้ดับหายไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปและเราได้ระลึกถึงกรรมที่ได้เคยทำไว้ ผลของกรรมนั้นก็จะเกิดขึ้นมาได้อีก (แต่ผลอาจจะเบาบางลงแล้ว)

ส่วนผลของกรรมที่เป็นเรื่องภายนอก เช่นเรื่องที่ว่า เมื่อทำกรรมชั่วแล้วต้องได้รับผลเป็น การถูกลงโทษ หรือถูกติเตียน หรือได้รับความเดือดร้อนทางกาย หรือทำให้ชีวิตมีความเสื่อม เป็นต้น หรือเมื่อทำกรรมดีแล้วต้องได้รับผลเป็นการได้รับรางวัล หรือได้รับคำชมเลย หรือได้รับความสุขสบายทางกาย หรือทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นต้น นั้น มันเอาแน่ไม่ได้ จึงไม่จัดว่าเป็นผลของกรรมที่แท้จริง

เรื่องนี้อธิบายได้ว่า ผลของกรรมภายนอกนี้มันขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น เมื่อมีคนทำความชั่วเอาไว้แล้วสามารถปกปิดเอาไว้ไม่ให้คนอื่นรู้ เขาจึงไม่ถูกลงโทษ และเขาก็ยังชีวิตภายนอกที่ร่ำรวย-สุขสบาย-มีเกียรติ หรือเมื่อมีคนทำกรรมดีเอาไว้ แต่ไม่มีใครรู้ จึงไม่มีใครมาให้รางวัลแก่เขา และไม่มีใครมาชมเชยยกย่องเขา และเขาก็อาจจะยังคงมีความต่ำต้อยและยากจนอยู่ เป็นต้น ดังนั้นเรื่องผลของกรรมภายนอกนี้จึงไม่ใช่ผลของกรรมโดยตรงที่เกิดขึ้นกับจิตใจ ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็จะทำให้เกิดความเห็นผิดไปว่า “ทำดีแล้วไมได้ดี แต่พอทำชั่วกลับได้ดี” ตามที่คนทั่วไปเข้าใจผิดกันอยู่

ในความเป็นจริงนั้น คนที่ทำความชั่ว แม้ชีวิตภายนอกของเขาจะดูสุขสบายและมีเกียรติ แต่ภายในจิตใจของเขากลับมีแต่ความทุกข์ใจ ร้อนใจ ไม่สบายใจ ที่คอยตามกัดกินจิตใจของเขาอยู่เสมอๆ (ซึ่งนี่ก็คือนรกที่อยู่ในใจเรานั่นเอง) ส่วนคนที่ทำความดี แม้เขาจะยากจนและต่ำต้อยด้อยเกียรติ ไม่มีคนยกย่อง แต่ภายในจิตใจของเขานั้นกลับมีแต่ความสุขใจ อิ่มใจ และภาคภูมิใจอยู่เสมอๆ (ซึ่งนี่ก็คือสวรรค์ที่อยู่ในใจเรานั่นเอง)

สรุปแล้วคำสอนเรื่องกรรมและผลของกรรมนี้มันเอาแน่ไม่ได้ อีกทั้งคำสอนเรื่องกรรมนี้มันเป็นแค่เพียงคำสอนระดับศีลธรรม ที่เอาไว้สอนให้คนไม่ทำความชั่ว (เพราะกลัวความทุกข์ใจ) และอยากทำความดี (เพราะอยากได้ความสุขใจ) แต่ไม่ใช่คำสอนที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า เมื่อเราเริ่มต้นศึกษาเรื่องการดับทุกข์ อย่าเพิ่งไปสนใจศึกษาเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างละเอียด เพราะจะทำให้เสียเวลาเปล่า และอาจทำให้เกิดความเห็นผิดต่อคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ ของพระองค์ได้ เพียงแค่เราเข้าใจว่า เรื่องกรรมเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกเท่านั้นก็พอแล้ว

พระพุทธเจ้าสอนว่าสวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า นรก สวรรค์ นั้น มันมี ๒ ความหมาย คือ ความหมายทางวัตถุ กับ ความหมายทางจิตใจ โดยความหมายของ นรก ในทางวัตถุนั้นก็หมายถึง สถานที่ที่เอาไว้ทรมานหรือลงโทษคนที่ได้ทำชั่วไว้มากเมื่อตายไปก็จะต้องไปรับโทษในนรก (ที่เชื่อกันว่าอยู่ใต้ดิน) ส่วนคำว่า สวรรค์ ก็หมายถึง สถานที่ที่มีแต่ความสุขเรื่องวัตถุนิยม (คือเรื่องสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ เรื่องวัตถุ เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง) ที่เอาไว้เป็นรางวัลแก่คนที่ได้ทำความดีไว้มากเมื่อเขาได้ตายไปแล้ว ก็ไปรับรางวัลจากการทำความดี ณ ดินแดนสวรรค์ (ที่เชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า) ซึ่งคำสอนเรื่อง นรก สวรรค์ ที่เป็นสถานที่นี้ เดิมเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน คำสอนนี้ก็ได้เข้ามาผสมปลอมปนเข้ามาเป็นคำสอนในระดับศีลธรรมของพุทธศาสนาโดยชาวพุทธเกือบทั้งหมดไม่รู้ตัว

ส่วน นรก สวรรค์ ที่เป็นความหมายทางจิตใจนี้ก็หมายถึง เมื่อใดที่เราได้ทำความชั่วที่ร้ายแรง (คือเบียดเบียนผู้อื่น)  จิตใจของเราก็จะเกิดความร้อนใจดั่งถูกไฟเผา (คือเกิดความเศร้าโศก หรือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจฯ อย่างรุนแรง) ซึ่งความรู้สึกที่ไม่ดีนี้เองที่เรียกอย่างสมมติว่า นรก ที่แปลว่า ร้อน คือหมายถึง ความร้อนใจ แต่เมื่อใดที่เราได้ทำความดี (คือช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจบริสุทธิ์) จิตใจของเราก็จะเกิดความสุขใจ อิ่มใจ ซึ่งความรู้สึกที่ดีนี้ก็สมมติเรียกว่า สวรรค์ ที่หมายถึง สภาวะจิตที่มีแต่ความสุข

โดย นรก สวรรค์ ที่เป็นความหมายทางจิตใจนี้เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ที่เอาไว้สอนคนที่ไม่เชื่อเรื่องนรกใต้ดินและสวรรค์บนฟ้า “ให้กลัวนรกในใจ จะได้ไม่ทำความชั่ว” และ “อยากได้สวรรค์ในใจ แล้วก็อยากทำความดี” อันจะมีผลดีแก่ผู้ที่ปฏิบัติเอง และถ้ามีคนดีมากๆ สังคมก็จะสงบสุข และแม้โลกก็มีสันติภาพได้

สรุปคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าไว้ในประโยคเดียว

เคยมีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คำสอนทั้งหมดของพระองค์สามารถสรุปให้เหลือสั้นที่สุดได้ว่าอย่างไร? ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงตอบว่า คำสอนทั้งหมดของพระองค์จะสรุปอยู่ที่ประโยคที่ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเรา”

คำสอนโดยสรุปนี้อธิบายได้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เรารู้สึกว่าเป็น “ตัวเรา” (คือจิตใจ) และ “ของเรา” (คือร่างกายของเราและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา) นั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง (คือมันต้องเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสลายหรือดับหายไปอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว)

เมื่อจิตไปเกิดความรักหรือความพอใจในสิ่งที่เป็น “ตัวเรา-ของเรา” ที่กำลังมี “ภาวะที่น่าพึงพอใจ” นั้นเข้าเมื่อใด ก็จะทำให้จิตเกิด “ความยึดติดหรือความยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเรา-ของเราจริงๆ” และเมื่อ “ตัวเรา-ของเรา” นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปเป็น “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” (คือ แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก เป็นต้น) ก็จะทำให้จิตที่ยึดถือนั้นเกิดความทุกข์ (หรือเศร้าโศกฯ) ขึ้นมาทันที ซึ่งความทุกข์นี้เอง ที่เราได้ศึกษามาแล้วว่ามันเป็น “สิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุด” ของมนุษย์ปุถุชนทุกคน

แต่ถ้าเรา (ตามที่สมมติเรียก) มีปัญญา (คือความเข้าใจว่ามันไม่มีเราอยู่จริง) และสมาธิ (จิตที่เข้มแข็ง) ตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราก็จะไม่เกิดความรักหรือความพอใจต่อสิ่งใดๆว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” เมื่อจิตไม่เกิดความรักหรือความพอใจต่อสิ่งใดๆ ก็เท่ากับว่า จิตไม่เกิดความยึดถือว่าจิตใจนี้เป็น “ตัวเรา” และไม่เกิดความยึดถือว่าร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวของกับร่างกายว่าเป็น “ของเรา”

เมื่อจิตไม่ยึดถือเอาจิตใจและร่างกายรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็น “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” จิตที่มีปัญญาและสมาธินี้ ก็จะไม่เกิด “ความไม่พึงพอใจ” หรือ “ความไม่อยากได้” (คือไม่เกิดกิเลสประเภทลบ) ต่อสิ่งเหล่านี้ เมื่อจิตไม่มีกิเลส มันก็จะไม่เกิดความยึดถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเรา-ของเรา และเมื่อจิตไม่มีความยึดถือว่า “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ”  เหล่านี้เป็นตัวเรา-ของเรา จิตก็จะไม่เกิดความทุกข์ (ไม่เศร้าโศก) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็นหรือนิพพานทันที (แม้เพียงชั่วคราว)

สรุปได้ว่า ถ้าเรามีความรู้เพียงเท่านี้ ก็เท่ากับว่าเราได้รู้จักคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าแล้ว และถ้าเราสามารถปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ ก็เท่ากับว่าเราได้ปฏิบัติตามคำสอนทั้งของพระพุทธเจ้าแล้ว รวมทั้งถ้าเราได้รับผลเพียงเท่านี้ ก็เท่ากับว่า เราได้รับผลทั้งหมดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว และเมื่อเราได้รับผลเป็นนิพพานหรือความไม่มีทุกข์แล้ว แสดงว่าเราได้รับ “สิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับการเกิดมาเป็นมนุษย์” แล้ว

สรุปวิธีปฏิบัติอริยมรรค

วิธีปฏิบัติอริยมรรคโดยสรุปก็คือ เมื่อเราต้องชีวิตอยู่กับผู้คนและโลก ก็ “ให้มีสติระลึกถึงปัญญาอยู่ตลอดเวลา” (ซึ่งสติก็จับอยู่ที่การหายใจของร่างกายตลอดเวลาด้วย) เมื่อเราระลึกถึงปัญญาก็เรียกว่ามี สัมปชัญญะ คือ รู้สึกตัวอยู่ด้วยปัญญา เมื่อเรารู้สึกตัวอยู่ด้วยปัญญาและต้องพบกับโลกหรือผู้คน สติก็จะระวังไม่ให้อวิชชา (ความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา) เกิดขึ้น หรือเมื่อเราเผลอสติจนอวิชชาได้เกิดขึ้นมา จนเกิดความรู้สึก (เวทนา) ขึ้นมาแล้ว เราก็ดึงเอาสมาธิที่เราเคยฝึกฝนมาแล้วออกมาแก้ไข (คือระงับหรือดับกิเลส) ความทุกข์ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น หรือความทุกข์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วก็จะระงับหรือดับหายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) แต่ถ้าเรามีเวลาว่าง เราก็มาศึกษาให้เกิดปัญญาให้แหลมคมมากขึ้น และฝึกฝนจิตให้มีสมาธิมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเอาไว้ผจญกับคนและโลกต่อไป

คุณสมบัติของผู้ที่จะปฏิบัติอริยมรรค

ถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติตามหลักอริยมรรคได้ (คือดับทุกข์ไม่ได้แม้เพียงชั่วคราว) เราก็ต้องมาสำรวจตัวเราเองว่าเราขาดสิ่งใดไป คือถ้าขาดการมีศีลก็ต้องมาตั้งใจรักษาศีลกันใหม่ ถ้าขาดปัญญาก็ต้องมาเรียนรู้ให้เกิดปัญญากันใหม่ หรือถ้าขาดสติและสมาธิ ก็ต้องมาฝึกสติและสมาธิกันใหม่ หรือถ้าทำไม่ได้เลย เราก็ต้องมาสร้างปัจจัยพื้นฐานของการปฏิบัตินี้กันให้มากขึ้น ซึ่งพื้นฐานของการปฏิบัตินี้เรียกว่า บารมี ที่หมายถึง คุณสมบัติที่จะทำให้ข้ามพ้นจากความทุกข์ไปสู่นิพพาน ซึ่งบารมีนี้ก็สรุปได้ ๑๐ ประการอันได้แก่

๑. ทาน คือ การให้ การแบ่งปัน การเสียสละ

๒. ศีล คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายและวาจา

๓. เนกขัมมะ คือ การออกจากกาม (ไม่ลุ่มหลงเรื่องกาม)

๔. ปัญญา คือ ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้

๕. วิริยะ คือ ความกล้าหาญในการปฏิบัติ

๖. ขันติ คือ ความอดทนในการปฏิบัติ

๗. สัจจะ คือ ความจริงใจ หรือความซื่อสัตย์

๘. อธิษฐาน คือ ความตั้งใจไว้มั่นไม่เปลี่ยนแปลง

๙. เมตตา คือ ความเป็นมิตรกับทุกคนอย่างเสมอหน้า

๑๐. อุเบกขา คือ ความที่มีใจเป็นกลาง (ปล่อยวาง)

บารมีทั้ง ๑๐ นี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ ที่จะต้องเพียรพยายามสั่งสมไว้ให้มากขึ้นๆจนเต็ม โดยเริ่มจากบารมีต้นๆเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องเนกขัมมะมาก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มมาเรื่องปัญญาเรื่องความเพียร เป็นต้นต่อไปจนถึงการปล่อยวาง ซึ่งการที่เราปฏิบัติ ปัญญา ศีล สมาธิ ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ นี้ก็เท่ากับเป็นการสั่งสมหรือเพิ่มบารมีอยู่แล้วในตัว ซึ่งเมื่อบารมีเต็มก็จิตของเราก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์และนิพพานได้อย่างถาวร

แก่นพุทธศาสนา

พุทธศาสนาในปัจจุบันจะประกอบด้วยศาสนวัตถุ (สิ่งก่อสร้าง), ศาสนาพิธี (พิธีกรรมต่างๆ), ศาสนาบุคคล (นักบวช), และศาสนาธรรม (คำสอน) แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนา ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ทรงเปรียบการศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เอาไว้ว่า เหมือนกับการไปแสวงหาต้นไม้ใหญ่ ที่มีทั้งกิ่งและใบ สะเก็ด เปลือก กะพี้ และแก่น ที่เราจะไปเลือกเอาสิ่งใดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อันได้แก่

ความสมบูรณ์ด้วย ลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ จัดเป็นเพียงกิ่งและใบของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วย ศีล จัดเป็นเพียงสะเก็ดของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วย สมาธิ จัดเป็นเพียงเปลือกของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วย สัมมาทิฎฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) จัดเป็นกะพี้ของศาสนา

ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง (ถาวร) จัดเป็นแก่นของศาสนา

จากจุดนี้เราก็ต้องมาสำรวจว่า ตัวเราเองหรือใครหรือสังคมใดเข้าถึงพุทธศาสนาในระดับใด   ซึ่งการที่ถาวรวัตถุของศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองและมีผู้คนนับถือมากมายนั้น ยังเป็นแค่เพียงกิ่งและใบของพุทธศาสนาเท่านั้น  แม้การที่ผู้คนมีศีลหรือหรือมีสมาธิก็ยังไม่ใช่แก่นของพุทธศาสนา และ แม้การเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง (มีสัมมาทิฏฐิ) ก็ยังเป็นเพียงเข้าใกล้แก่นของคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น จะต้องถึงขั้นปฏิบัติจนดับทุกข์ได้ถาวร (นิพพานถาวร ) จึงจะชื่อว่าเข้าถึงแก่นของคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้

ธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ก็ต้องมีทั้งกิ่งใบ, สะเก็ด, เปลือก, กะพี้, และแก่น จึงจะทำให้ต้นไม้นั้นดำรงอยู่ได้ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าต้นไม้ใดมีแต่กิ่งและใบมากเกินไปโดยไม่มีแก่น ต้นไม้นั้นก็จะหักโค่นได้โดยง่ายและนำเอามาใช้ประโยชน์ได้น้อย ซึ่งพุทธศาสนาก็เหมือนกัน คือจะต้องมีทั้งลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ, มีผู้ปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัดมากๆ, มีผู้ปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจังมากๆ, มีผู้มีความเห็นถูกต้องมากๆ, และมีผู้หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงมากๆ พุทธศาสนาจึงจะมั่นคง

แต่ถ้าพุทธศาสนามีแต่ลาภสักการะและเสียงสรรเสริญมากมาย หรือมีแต่สิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมาย แต่คนที่จะปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัดกลับมีน้อย แม้คนที่จะฝึกสมาธิจริงจังก็มีน้อย และคนที่จะมีความเห็นถูกต้องก็ไม่มี รวมทั้งคนที่หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวรก็ไม่มี อย่างนี้พุทธศาสนาก็ย่อมที่จะดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะมีแต่ชื่อว่าเป็นพุทธ แต่ไม่มีแก่นแท้ของความเป็นพุทธอยู่เลย  

สันติภาพเกิดขึ้นได้ถ้ามนุษย์เข้าใจเรื่องอนัตตา

หลักอนัตตาและอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านี้ นอกจากจะนำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจมนุษย์ได้แล้ว ยังนำมาใช้สร้างสันติภาพให้แก่โลกได้อีกด้วย ซึ่งต้นเหตุที่โลกมีแต่วิกฤตการณ์ก็เป็นเพราะมนุษย์ถูกความโง่สูงสุดครอบงำ (คืออวิชชาหรือความรู้ผิดว่ามีตัวเอง) จึงทำให้มนุษย์เกิด “ความเข้าใจผิดว่ามีตัวเองอยู่จริงๆ” เมื่อมนุษย์มีความเข้าใจผิดว่ามีตัวเอง จึงทำให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัว, และเมื่อมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวมากๆ จึงทำให้เกิดความโลภ (อยากได้สิ่งของๆผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง) และโกรธ (อยากทำร้ายผู้อื่น) อันส่งผลทำให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่น รวมทั้งการเบียดเบียนสัตว์และป่าไม้รวมทั้งธรรมชาติขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาล จนทำให้โลกมีแต่วิกฤติการณ์ทางสภาพแวดล้อมและทางสังคมไปทั่วโลก อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนวิธีสร้างสันติภาพตามหลักพุทธศาสนานั้น ก็ทำได้โดยการสอนให้มนุษย์มี “ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า  “มันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริง มีแต่ตัวตนมายาหรือตัวตนชั่วคราวเท่านั้น ถ้าใครมายึดถือในตัวตนมายาหรือตัวตนชั่วคราวนี้ว่าเป็นตนเองจริงๆ ก็จะทำให้จิตใจเป็นทุกข์และทำให้ชีวิตเดือดร้อน รวมทั้งทำให้โลกเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา”

เมื่อมนุษย์ส่วนมากเกิด ความเข้าใจถูกต้องว่า “มันไม่มีตนเองอยู่จริง” เช่นนี้ก็จะทำให้ “ความเห็นแก่ตัว” ลดน้อยลง, แล้วความโลภและโกรธก็จะลดน้อยลง, แล้วการเบียดเบียนผู้อื่น รวมทั้งการเบียดเบียนสัตว์และป่าไม้รวมทั้งธรรมชาติ ก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งเมื่อมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง ก็จะทำให้มนุษย์มีคุณธรรมมากขึ้น แล้วการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์สัตว์ และการดูแลรักษาป่าไม้รวมทั้งธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ก็จะเกิดขึ้นมาแทน และเมื่อมนุษย์มีการเบียดเบียนกันลดน้อยลง และมีการช่วยเหลือกันมากขึ้น รวมทั้งมีการดูแลรักษาธรรมชาติมากขึ้น ก็จะทำให้วิกฤตการณ์ต่างๆของโลกลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้ และเมื่อโลกไม่มีวิกฤตการณ์ สันติภาพของโลกก็จะกลับคืนมาได้หลังจากที่ได้เสียมันไป

จบภาคที่ ๕

จบบริบูรณ์

 (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บ “ฉันคืออะไร?” www.whatami.net)

 

 


ถ้าใครต้องการโหลดเอาหนังสือ "พุทธศาสตร์ประยุกต์ร่วมสมัย" นี้ไปอ่านในรูปแบบไฟล์ PDF ก็ โหลดได้จากที่ตรงนี้เลย

|กลับหน้าแรก|