-๔-

ภาค ๔ ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาทคืออะไร?

ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า การเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกัน ซึ่งคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นการอธิบายถึงอาการที่จิตของเรากำลังเกิดความทุกข์และขณะที่จิตไม่มีเกิดความทุกข์อย่างละเอียด ตามหลักอริยสัจ ๔  ดังนั้นปฏิจจสมุปบาทนี้จึงมี ๒ สาย คือ ปฏิจจสมุปบาทสายเกิดทุกข์ และ ปฏิจจสมุปบาทสายดับทุกข์

เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นประโยชน์มาก ดังนั้นเราจึงควรที่จะศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้วเราก็จะเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งคำสอนอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้องชัดเจนที่สุด ซึ่งผู้ที่เห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ก็เท่ากับมี ดวงตาเห็นธรรม หรือ เห็นอริยสัจ ๔ อันจะทำให้จิตของผู้ที่เห็นอริยสัจ ๔ นี้เลื่อนจากปุถุชน (คนที่มีกิเลสหนาแน่น) มาเป็นอริยะชน (ผู้ที่มีกิเลสน้อยหรือไม่มีเลย) ระดับต้นได้ (คือโสดาบัน)

ปฏิจจสมุปบาทสายเกิดทุกข์

ปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายเรื่องการเกิดความทุกข์ของจิตเอาไว้อย่างละเอียดถึง ๑๒ อาการ อันได้แก่

“อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร,

สังขารเป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ,

วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป,

นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิด, สฬายตนะ,

 สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ,

ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา,

เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิด, ตัณหา,

ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน,

อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิด ภพ,

ภพเป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ,

ชาติเป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะฯ (ความทุกข์)”

ความจริงแล้ว ถ้าเราจะอธิบายว่าจิตเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้อย่างไรอย่างง่ายๆก็จะอธิยายได้ว่า “ตัณหาเป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์” ซึ่งถึงแม้เราจะพอเข้าใจอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เข้าใจอย่างละเอียดและถูกต้องอย่างสมบูรณ์ เพราะเรายังไม่เข้าใจถึงต้นตอของกิเลส และอาการทั้งหมด ๑๒ อาการของจิต ที่เกิดขึ้นมาและผลักดันกันอยู่ในขณะที่จิตกำลังเกิดความทุกข์นั้น

ก่อนที่เราจะศึกษาอาการทั้ง ๑๒ อาการของปฏิจจสมุปบาท เราจำเป็นจะต้องเข้าใจหลักของพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อสิ่งใดที่แม้จะเกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ตามธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่ถ้าสิ่งนั้นมันยังไม่ถูก “ยึดครอง” ว่าเป็นตัวตนของใครๆ จะถือว่าสิ่งนั้น “มันยังบริสุทธิ์อยู่” หรือมีค่าเท่ากับ “ไม่มี” หรือ “ยังไม่เกิดขึ้น” (แม้เพียงชั่วคราว) จนกว่าสิ่งที่บริสุทธิ์นั้น จะถูกยึดครองว่าเป็นตัวตนของใครๆ สิ่งที่บริสุทธิ์นั้นก็จะกลายมาเป็น “ไม่บริสุทธิ์” หรือ “เกิดขึ้นมา” ทันที (คือเหมือนกับที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า “สิ่งใดถ้าไม่ถูกสังเกต มันก็จะไม่มี แต่ถ้ามันถูกสังเกต มันจึงจะเกิดมีขึ้นมา”) ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะศึกษาปฏิจจสมุปบาทไม่เข้าใจ

แต่ปัญหาอีกอย่างในการศึกษาปฏิจจมุปบาทก็คือ ผู้ที่ศึกษายังไม่เข้าใจความหมายของอาการต่างๆทั้ง ๑๒ อาการของปฏิจจสมุปบาทที่กำลังผลักดันกันอยู่อย่างถูกต้อง ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความเข้าใจถึงอาการต่างๆทั้ง ๑๒ อาการนั้นกันก่อนดังต่อไปนี้

อวิชชา-ความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะต้องรู้ก็คือเรื่อง อวิชชา ที่แปลว่า ไม่ใช่วิชชา ซึ่งคำว่า วิชชา แปลว่า ความรู้สูงสุด ซึ่งความรู้สูงสุดนี้ก็คือ ความรู้ที่นำมาดับทุกข์ได้ ซึ่งความรู้ที่นำมาใช้ดับทุกข์ได้นี้ก็คือ “ปัญญา” ที่เป็นความรู้เรื่อง ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของร่างกายกับจิตใจของเรา โดยความรู้ที่เป็นหัวใจของปัญญาก็คือ ความรู้เรื่อง “จิตของเรานี้มันไม่ใช่ตัวเรา” (คือจิตเป็นอนัตตา) ซึ่งการที่จะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ จะต้องมีการศึกษาร่างกายกับจิตใจ (ขันธ์ ๕) ของเราอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนเกิดความเข้าใจว่า “ร่างกายและจิตใจของเรานี้เป็นอนัตตา” มาก่อน (ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องจิตเป็นอนัตตาก็จะยังไม่เกิดวิชชา)

เมื่อ “วิชชา” หมายถึง “ความรู้ว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา” ดังนั้น คำว่า อวิชชา จึงหมายถึง “ความรู้ว่าจิตนี้คือตัวเรา” ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ว่า “บุคคลทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำอยู่”

อวิชชาหรือ “ความรู้ว่าจิตนี้คือตัวเรา” เกิดมาจาก สัญชาติญาณพื้นฐานของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย (สัญชาติญาณก็คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นมาได้เองพร้อมชีวิตโดยไม่มีใครสอน) คือ เมื่อเกิดชีวิต (หรือจิต) ขึ้นมาแล้ว มันก็จะต้องมีความรู้สึกว่ามีตนเองเกิดขึ้นมาเป็นพื้นฐานอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งสัญชาติญาณพื้นฐานของจิตนี้เอง ที่ทำให้เกิดสัญชาติญาณย่อยๆตามมาอีกมากมาย เช่น สัญชาติญาณในการหนีภัย สัญชาติญาณในการหาอาหาร สัญชาติญาณในการสืบพันธ์ สัญชาติญาณในการรักลูก สัญชาติญาณในการเลี้ยงลูก เป็นต้น ถ้าสิ่งที่มีชีวิตใดไม่มีสัญชาติญาณพื้นฐานนี้ สิ่งที่มีชีวิตนั้นก็จะสูญพันธ์ไปจากโลกทันที

แต่ถ้าจะถามว่า แล้วสัญชาติญาณนี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร? ซึ่งคำตอบก็คือ “จากธรรมชาติ” (ธรรมชาติคือสิ่งสูงสุดที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาตามกฏอิทัปปัจจยตา) และถ้าจะถามต่อไปอีกว่า แล้วธรรมชาติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครจะให้คำตอบได้ และเราก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้คำตอบก็ได้ เพราะถึงเรารู้ว่าธรรมชาติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ก็จะเกิดคำถามใหม่ๆต่อไปอีกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

สังขาร ๓

คำว่า สังขาร แปลว่า ปรุงแต่ง คือคำว่าปรุงแต่งนี้แยกได้ ๓ อย่าง อันได้แก่

๑. กายสังขาร แปลว่า สภาพการปรุงแต่งทางกาย คือหมายถึง ร่างกายเป็นเหตุทำให้เกิดสิ่งอื่นๆขึ้นมาได้, ร่างกายเป็นผลมาจากเหตุปัจจัย, และร่างกายเป็น “สิ่งปรุงแต่ง”

๒. วจีสังขาร แปลว่า สภาพการปรุงแต่งทางวาจา คือหมายถึง วาจาทำให้เกิดสิ่งอื่นขึ้นมาได้, วาจาถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัย, และวาจาก็เป็น “สิ่งปรุงแต่ง”

๓. จิตตสังขาร แปลว่า สภาพการปรุงแต่งทางจิต คือหมายถึง จิตทำให้เกิดสิ่งอื่นขึ้นมาได้, จิตถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัย, และจิตเป็น “สิ่งปรุงแต่ง”

โดยคำว่า “สังขาร “ในปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คือ จิตตสังขาร โดยจิตตสังขารนี้ก็คือระบบการทำงานของจิต หรือกิริยาของจิตที่ทำงานอย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ เหมือนระบบการประมวลผลของเครื่องคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง โดยมีอวิชชาซึ่งเปรียบเหมือน “ไวรัสคอมพิวเตอร์” ที่แอบเข้ามาควบคุมการระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ แล้วก็ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานผิดเพี้ยนไปตามชนิดของไวรัสที่ควบคุมอยู่

วิญญาณ ๖

คำว่า วิญญาณ แปลว่า การรับรู้ คือหมายถึง การรับรู้ที่เกิดขึ้นมาตามอายตนะภายในทั้ง ๖ นั่นเอง ซึ่งการที่จะเกิดวิญญาณขึ้นมาได้นั้น จะต้องเกิดอายตนะภายในขึ้นมาทำหน้าที่ก่อน และมีอายตนะภายนอกที่ตรงกันมากระทบ จึงจะเกิดวิญญาณขึ้นมาที่อายตนะภายในนั้นได้ ซึ่งวิญญาณนี้ก็เกิดขึ้นมาตามอายตนะภายในทั้ง ๖ และมีชื่อเรียกไปตามอายตนะภายในทั้ง ๖ อันได้แก่

๑. วิญญาณทางตา คือ การรับรู้ทางตา (การเห็นรูป)

๒. วิญญาณทางหู คือ การรับรู้ทางหู (การได้ยินเสียง)

๓. วิญญาณทางจมูก คือ การรับรู้ทางจมูก (การได้กลิ่น)

๔. วิญญาณทางลิ้น คือ การรับรู้ทางลิ้น (การรู้รส)

๕. วิญญาณทางกาย คือ การรับรู้ทางกาย (การได้รับรู้สิ่งที่มากระทบกาย)

๖. วิญญาณทางใจ คือ การรับรู้ทางใจ (การได้รับรู้สิ่งที่มากระทบใจ)

วิญญาณหรือการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ นักวิทยาศาสตร์เขาบอกว่ามันก็คือไฟฟ้าอ่อนๆที่เกิดขึ้นในระบบประสาททั้ง ๖ คือ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สมอง) ของเรานี่เอง ซึ่งวิญญาณนี้มันก็ไม่ได้เป็นอัตตาหรือตัวตนของใครๆ เพราะมันก็เป็นเพียงธาตุหรือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของธรรมชาติ เหมือนธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, และธาตุลม นั่นเอง คือวิญญาณมันก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นตามกฏอิทัปปัจจยตา ดังนั้นวิญญาณจึงมีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา (ส่วนเรื่องวิญญาณที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้นั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่ชาวพุทธเกือบทั้งหมดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า)

นามรูป

นามรูป ก็หมายถึง ขันธ์ ๕ ที่รวมกันเป็นร่างกายและจิตใจของเรา  โดยคำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง, กลุ่ม, หมู่, ส่วน คือชีวิตของเรานี้ ประกอบด้วยขันธ์ ๕ ขันธ์ อันได้แก่

๑. รูปขันธ์ คือส่วนที่เป็นร่างกาย (วัตถุ) และอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ที่เกิดขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ “ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, ธาตุลม” มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และอาศัย “ธาตุว่าง” เพื่อตั้งอยู่

๒. วิญญาณขันธ์ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นมาทางอายตนะภายในทั้ง ๖

๓. สัญญาขันธ์ คือส่วนที่เป็นการจำสิ่งที่รับรู้ได้ ซึ่งสัญญาขันธ์นี้ก็มีอยู่ ๖ ตามอายตนะภายใน ๖

๔. เวทนาขันธ์ คือส่วนที่เป็นความรู้สึกทั้งหมดของร่างกาย โดยเวทนานี้สรุปได้ ๓ เวทนา คือ สุขเวทนา (ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย), ทุกขเวทนา (ความรู้สึกที่ทนได้ยาก), อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกที่ทนได้กลางๆ)

๕. สังขารขันธ์ คือส่วนที่เป็นการปรุงแต่งของจิต ซึ่งสังขารขันธ์นี้ก็ได้แก่ อาการต่างๆของจิตอันได้แก่ กิเลส เจตนา ปีติ เป็นต้น ซึ่งรวมทั้งการคิดของจิตด้วย

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ สรุปย่อลงได้เป็น รูป (วัตถุ) กับ นาม โดย รูป ก็คือ รูป ส่วน นามก็คือ เวทนา, สัญญา, สังขาร, และวิญญาณ ซึ่งรูปกับนามนี้เองที่เราสมมติเรียกว่าเป็น ร่างกาย กับ จิตใจ (คำว่า จิต หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่คิดนึก ส่วนคำว่า ใจ หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่รับรู้และรู้สึก แต่เรามักเรียกรวมๆกันว่า จิตใจ ที่หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่รู้สึกนึกคิด)

โดยขันธ์ ๕ นี้ยังแยกได้ ๓ อย่าง คือ

๑.     สุทธิขันธ์ คือขันธ์ที่บริสุทธิ์ชั่วคราว ที่ยังไม่ถูกครอบครองว่าเป็นขันธ์ของใครชั่วคราว

๒.   วิสุทธิขันธ์ คือขันธ์ที่บริสุทธิ์ถาวร (ซึ่งก็ได้แก่ขันธ์ของพระอรหันต์)

๓.    อุปาทานขันธ์ คือขันธ์ที่ถูกครอบครองหรือยึดครองว่าเป็นเราและของเรา

สฬายตนะ

การที่จะศึกษาให้เข้าใจถึงระบบการทำงานของจิตว่า มันมีระบบการทำงานอย่างไรจึงทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้นั้น เราจะต้องเริ่มต้นศึกษาเรื่อง “สฬายตนะ” ก่อน ซึ่งคำว่า สฬายตนะ หมายถึง อายตนะ ๑๒ ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกัน

 คำว่า อายตนะ แปลว่า สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อ โดยอายตนะนี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ อายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอก

โดย อายตนะภายใน ก็คือ สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อที่จัดว่าเป็นสิ่งภายใน ซึ่งก็มีอยู่ ๖ จุด อันได้แก่ ๑. ตา ๒. หู ๓. จมูก ๔. ลิ้น ๕. กาย ๖. ใจ

แต่เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า “อายตนะภายใน” นี้ไม่ได้หมายถึงรูปหรือวัตถุที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นอวัยวะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สมอง) แต่อายตนะภายในนี้ มันเป็นนามธรรม ที่อาศัยรูปหรือระบบประสาทของร่างกายในการเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ของมัน เช่น อายตนะตา ก็อาศัย “ลูกตา” เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รับรู้ “รูป” อายตนะหู ก็อาศัย “แก้วหู” เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รับรู้ “เสียง” เป็นต้น

อายตนะภายในทั้ง ๖ นี้ นิยมเรียกว่า อินทรีย์ ที่หมายถึง ความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ เช่น ตามีความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่เห็นรูป หูมีความเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ได้ยินเสียง เป็นต้น แต่ถ้าระบบประสาทใดเกิดความเสียหาย อายตนะภายในที่อาศัยระบบประสาทนั้น ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ของมันได้ อย่างเช่น ถ้าลูกตาเสีย ก็จะทำให้การเห็นรูปไม่เกิดขึ้น หรือถ้าแก้วหูเสีย ก็จะทำให้การได้ยินเสียงไม่เกิดขึ้น เป็นต้น หรือถ้าระบบประสาทของร่างกายใดหยุดทำงาน อายตนะภายในที่อาศัยระบบประสาทนั้นก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ของมันได้ คือ ถ้าร่างกายกำลังหลับสนิทอยู่ อายตนะตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ก็จะไม่เกิดขึ้น

ส่วน อายตนะภายนอก ก็คือ สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อที่จัดว่าเป็นสิ่งภายนอก ซึ่งก็มีอยู่ ๖ อายตนะ อันได้แก่ ๑. รูป ๒. เสียง ๓. กลิ่น ๔. รส ๕. โผฏฐัพพะ  ๖. ธรรมารมณ์  (โผฏฐัพพะ ก็คือธรรมชาติที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อของร่างกายจะสามารถสัมผัสได้ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แสบ เสียว เป็นต้น ส่วน ธรรมารมณ์ ก็คือ ธรรมชาติที่ใจสามารถสัมผัสได้ อันได้แก่ การรับรู้ (วิญญาณ), การจำสิ่งที่รับรู้ได้, ความรู้สึก, การปรุงแต่งของจิต) ซึ่งอายตนะภายนอกนี้ นิยมเรียกว่า อารมณ์ ที่หมายถึง สิ่งที่ยึดเหนี่ยวของจิต คือถ้าจิตไม่มีที่ยึดเหนี่ยว จิตก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้

ผัสสะ ๖

ผัสสะ แปลว่า การสัมผัส คือการที่จะเกิดผัสสะหรือการสัมผัสขึ้นมาได้นั้น จะต้องประกอบด้วย อายตนะภายนอก มากระทบกับอายตนะภายใน แล้วเกิดวิญญาณหรือการรับรู้ขึ้นมาที่อายตนะภายในนั้น จึงจะเรียกว่าเป็น ผัสสะ หรือ การสัมผัส ซึ่งผัสสะนี้ก็จะมีอยู่ ๖ จุดตามอายตนะภายในนั่นเอง อันได้แก่

๑. ผัสสะทางตา คือการสัมผัสทางตา

๒. ผัสสะทางหู คือการสัมผัสทางหู

๓. ผัสสะทางจมูก คือการสัมผัสทางจมูก

๔´ผัสสะทางลิ้น คือการสัมผัสทางลิ้น

๕. ผัสสะทางกาย คือการสัมผัสทางกาย

๖. ผัสสะทางใจ คือการสัมผัสทางใจ

การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคนั้นก็สรุปอยู่ที่ ให้เรามีสติ (คือระลึกได้ทันเวลา) มาคอยระวังที่ผัสสะนี่เอง คือเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมาเมื่อใด มันก็จะต้องเกิดเวทนาขึ้นมาด้วยเสมอตามธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเวทนาใดขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องใช้สมาธิมาระวังอย่าให้จิตเกิดตัณหาต่อเวทนาที่กำลังเกิดอยู่นั้น หรือใช้สมาธิมาควบคุมตัณหาที่กำลังเกิดอยู่ให้ระงับหรือดับหายไป ก็จะทำให้อุปาทานไม่เกิด และภพ ชาติ รวมทั้งความทุกข์ก็จะไม่เกิด (แม้เพียงชั่วคราว)

เวทนา ๓

สิ่งที่สำคัญที่เราจำต้องรู้จักให้ถูกต้องอีกอย่างก็คือ เวทนา ที่แปลว่า ความรู้สึกต่ออารมณ์ (คืออายตนะภายนอก) ซึ่งเวทนานี้ก็เกิดขึ้นตามการสัมผัสทั้ง ๖ นั่นเอง ซึ่งเวทนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้ก็สรุปได้ ๓ อย่าง คือ

๑. สุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย (หรือที่เราเรียกกันว่า “ความสุข”)

๒. ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ทนได้ยาก (ถ้าทุกขเวทนานี้เกิดขึ้นมาทางใจอย่างรุนแรงมาก จึงจะเรียกว่าเป็น “ความทุกข์” ตามหลักอริยสัจ ๔)

๓. อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่กลางๆ (คือระหว่าง สุขเวทนา กับ ทุกขเวทนา)

การที่จะเกิดเวทนาใดขึ้นมานั้นก็ขึ้นอยู่กับ “อารมณ์ที่จิตกำลังสัมผัสอยู่และสัญญาของจิตมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” คือถ้าอารมณ์ที่จิตกำลังสัมผัสอยู่นั้นเป็น “ภาวะที่น่าพึงพอใจ” (อันได้แก่ ความที่ร่างกายยังไม่ตายและยังสุขสบายอยู่, ความที่ร่างกายยังเป็นหนุ่มเป็นสาวและงดงาม, ความที่เรายังมีบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่พร้อม, ความสมหวัง เป็นต้น) และจิตก็จำได้ว่าอารมณ์นั้นทำให้เกิดสุขเวทนา ก็จะทำให้เกิดสุขเวทนา (ความสุข) ขึ้นมาทันที

ถ้าอารมณ์ที่จิตกำลังสัมผัสอยู่นั้นเป็น “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” (อันได้แก่ ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความพลัดพราก, ความผิดหวัง เป็นต้น) และจิตก็จำได้ว่าอารมณ์นั้นมันทำให้เกิดทุกขเวทนา ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ซึ่งทุกขเวทนาที่เกิดจากผัสสะครั้งแรกนั้น จะยังเป็นเพียง “ทุกขเวทนาที่ไม่รุนแรง” ดังนั้นเวทนาจุดนี้มันจึงยังไม่เป็นปัญหา เพราะเราทุกคนก็พอจะทนกับมันได้โดยไม่ยากอยู่แล้ว แต่ถ้าจิตของเราจะเกิดตัณหาประเภท “ความไม่อยากได้” ต่อ “ทุกขเวทนาที่ไม่รุนแรง” นี้ขึ้นมาเมื่อใด ก็จะทำให้จิตของเราเกิด “ทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรง” ซ้อนขึ้นมาอีกที ซึ่งทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรงที่เกิดซ้อนขึ้นมานี้เอง ที่เรียกว่าเป็น “ความทุกข์” (ความเศร้าโศก) ในอริยสัจ ๔

ถ้าอารมณ์ที่จิตกำลังสัมผัสอยู่นั้นเป็น “ภาวะที่เป็นกลางๆ” (คือยังไม่เป็นทั้งภาวะที่น่าพึงพอใจและภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ) และจิตก็จำได้ว่าอารมณ์นั้นทำให้เกิดอทุกขมสุขเวทนา ก็จะทำให้เกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้นมาทันที

ตัณหา

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ธรรมชาติของจิตเรานั้นจะมีความสะอาดหรือบริสุทธิ์อยู่แล้วเป็นพื้นฐานตามธรรมชาติ แต่เมื่อใดที่จิตของเราเกิด “ความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ” ต่อเวทนาที่กำลังเกิดอยู่เมื่อใด ก็จะทำให้ความสะอาดหรือบริสุทธิ์ตามธรรมชาติของจิตเรานั้นถูกปิดบังเอาไว้ทันที แล้วก็ทำจิตของเราเกิดความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้า “ความพอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ” นี้ได้ระงับหรือดับหายไปเมื่อใด ความสะอาดหรือบริสุทธิ์ของจิต ก็จะกลับมาปรากฏกับจิตได้อีก

โดยอาการ “พอใจ-ไม่พอใจ-ลังเลใจ” ของจิตนี้เรียกว่าเป็น กิเลส ที่แปลว่า สิ่งสกปรก หรือ สิ่งที่ทำให้จิตสกปรก ซึ่งกิเลสนี้ถ้ามองในแง่ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ ก็จะเปลี่ยนมาเรียกว่า ตัณหา ที่แปลว่า ความอยาก ซึ่งหมายถึง ความอยากด้วยความโง่เขลา หรือ ความอยากเพื่อตัวเรา

โดยอาการของตัณหานั้นก็สรุปได้ ๓ อาการเหมือนกิเลส อันได้แก่

๑. ความอยากเอาเข้ามาที่ตัวเรา อันได้แก่ ความอยากได้, ความอยากมี, ความอยากเป็น

๒. ความอยากผลักออกไปจากตัวเรา อันได้แก่ ความไม่อยากได้, ความไม่อยากมี, ความไม่อยากเป็น หรือ ความอยากหนี, ความทำลาย

๓. ความอยากมีตัวเราอยู่ตลอดไป อันได้แก่ ความอยากกลางๆระหว่างเอาเข้ามาและผลักออกไป ซึ่งก็หมายถึง ความอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

เมื่อตัณหา (ความอยากเพื่อตัวเรา) เกิดขึ้นเมื่อใด ก็จะทำให้จิตเกิด “อุปาทาน” คือความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้มีตัณหาขึ้นมาด้วยทันที แล้วก็ทำให้ “ภพ” และ “ชาติ” พร้อมทั้ง “ความทุกข์” เกิดขึ้นตามมาด้วยทันทีอย่างรวดเร็ว

อุปาทาน

อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น คือหมายถึง อาการที่จิตไปแบกหรือหามเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ด้วยความรักหรือความพอใจ (คือด้วยกิเลส) ซึ่งอุปาทานนี้จะเกิดต่อจากตัณหาอีกที คือเมื่อจิตของเราเกิดตัณหาขึ้นมาเมื่อใด มันก็จะเกิดความยึดถือว่าขันธ์ ๕ นี้เป็น “ตัวเรา-ของเรา” ขึ้นมาด้วยทันที

ภพ

คำว่า ภพ (ภาวะ) แปลว่า ความมีความเป็น ซึ่งก็หมายถึง สภาพที่จิตรู้สึกว่ามีหรือเป็น โดยภพนี้ก็จะเกิดต่อจากอุปาทานนั่นเอง คือเมื่อจิตเกิดความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับร่างกายว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” แล้ว จิตก็จะเกิดภพ คือ “ความรู้สึกว่าตัวเรานี้มีภาวะหรือสภาพเช่นไร” ขึ้นมาด้วยทันที เช่น มีภาวะเป็นชาย เป็นหญิง เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นครู เป็นศิษย์ เป็นนาย เป็นบ่าว หรือเป็นชนชาติอะไร ผิวสีอะไร รูปร่างอย่างไร โง่หรือฉลาด เป็นต้น ขึ้นมาด้วยทันที

โดยภพหรือภาวะนี้ก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ ภาวะที่น่าพึงพอใจ กับ ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ

โดยภาวะที่น่าพึงพอใจนั้นก็ได้แก่ สภาพที่ทำให้จิตเกิดความสุขทั้งหลาย เช่น ความหนุ่ม-สาว และความสุขสบายของร่างกาย รวมทั้งความที่เราได้อยู่กับบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือการมีความสมหวัง เป็นต้น 

ส่วนภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจก็ได้แก่ ความที่ร่างกายแก่ เจ็บ ป่วย หรือกำลังจะตาย และความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และความผิดหวัง เป็นต้น

ชาติ

ชาติ แปลว่า การเกิด ซึ่งการเกิดนี้ก็มี ๒ อย่าง คือ การเกิดทางร่างกาย กับ การเกิดทางจิตใจ โดยการเกิดทางร่างกายก็คือ การที่ร่างกายเกิดขึ้นมาจากท้องแม่ ส่วนการเกิดทางจิตใจก็คือ การที่จิตได้ปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาอยู่บ่อยๆในขณะที่ร่างกายยังไม่ตาย

การเกิดในปฏิจจสมุปบาทจะหมายถึงการเกิดทางจิตใจ (พุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องทางกายหรือวัตถุ) คือเมื่อจิตเกิดภพขึ้นมาอย่างแรงกล้าแล้ว จิตก็จะเกิดความรู้สึกว่ามี “ตัวเรา-ของเรา” ขึ้นมาตามภพอย่างเข้มข้นทันที เช่น เกิดตัวเราที่เป็นชายหรือเป็นหญิง เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นต้น วนเวียนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้อยู่ตลอดทั้งวัน ซึ่งการเกิดวนเวียนนี้เองที่เรียกว่า วัฏฏะสงสาร ที่หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด ที่พระพุทธเจ้าสอน แต่ถ้าจิตไม่มีกิเลสครอบงำเมื่อใด การเวียนว่ายตาย-เกิด หรือวัฏฏะสงสารนี้ ก็จะหยุดทันที (แม้เพียงชั่วคราว) แล้วจิตก็จะนิพพานหรือสงบเย็นทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เพราะไม่มีการเกิดเป็นอะไรๆ

ความทุกข์

เมื่อเกิด “ตัวเรา” ขึ้นมาแล้ว ตัวเรานี้ได้มาพบกับ “ภาวะที่น่าพึงพอใจ” ของร่างกาย เช่น ร่างกายยังหนุ่มยังสาว ยังงดงามและสุขสบาย หรือยังมีบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่พร้อม หรือยังมีความสมหวังอยู่ เป็นต้น จิตก็จะเกิดกิเลสประเภท “ความพึงพอใจ” ต่อ “ภาวะที่น่าพึงพอใจ” นี้ขึ้นมาทันที ซึ่งความพึงพอใจนี้ก็คือ “กิเลสประเภทบวก” ที่ทำให้จิตเกิด “ความทุกข์ซ่อนเร้น” คือ ความหนัก-เหนื่อยใจ ความกระวนกระวายใจ เป็นต้น ขึ้นมาทันที  แล้วความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ ก็ทำให้จิตไม่สงบเย็น ไม่เบาสบาย ไม่สดชื่นแจ่มใส (คือไม่นิพพานสูงสุด)

แต่ถ้าเกิด “ตัวเรา” ขึ้นมาแล้วต้องมาพบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ของร่างกาย เช่น ร่างกายแก่ หรือเจ็บ หรือป่วย หรือกำลังจะตาย หรือกำลังมีความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือกำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก หรือกำลังมีความผิดหวังอยู่ เป็นต้น จิตก็จะเกิดกิเลสประเภท “ความไม่พึงพอใจ” ต่อ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” นี้ขึ้นมาทันที ซึ่งความไม่พึงพอใจนี้ก็คือ “กิเลสประเภทลบ” ที่ทำให้จิตเกิด “ความทุกข์เปิดเผย” คือ ความเศร้าโศก หรือความเสียใจ ความเร่าร้อนใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ เป็นต้น ขึ้นมาทันที

หรือถ้าเกิด “ตัวเรา” ขึ้นมาแล้วได้มาพบกับ “ภาวะที่เป็นกลางๆ” ของร่างกาย (คือภาวะที่ไม่ใช่ทั้งน่าพึงพอใจและไม่น่าพึงพอใจ) ก็จะทำให้ “ตัวเรา” นี้เกิด “ความทุกข์อ่อนๆ” คือ ความรู้สึกรำคาญใจ หรือไม่สบายใจเล็กน้อยๆ ขึ้นมาทันที

พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ว่า “การเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที” นั้นก็หมายถึงการเกิดตัวเราขึ้นมาในจิตใจนี้นั่นเอง คือแม้จะเกิดตัวเราขึ้นมาใน “ภาวะที่น่าพึงพอใจ” ตัวเรานี้ก็ยังมี “ความทุกข์ซ่อนเร้น” อยู่ หรือถ้าเกิดตัวเราขึ้นมาใน “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ตัวเราก็จะมี “ความทุกข์เปิดเผย” ที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุด หรือแม้จะเกิดตัวเราขึ้นมาใน “ภาวะที่เป็นกลาง” ตัวเรานี้ก็ยังต้องมาพบกับ “ความทุกข์อ่อนๆ” ที่ทำให้จิตไม่สงบเย็นหรือนิพพานสูงสุดอยู่อีกนั่นเอง

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การเกิดไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม ก็ล้วนทำให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น จะต้องไม่เกิดเป็นอะไรๆเลยเท่านั้น จึงจะนิพพาน (สงบเย็น) และไม่เป็นทุกข์ ซึ่งวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะได้ไม่เกิดอีกนั้นก็คือ การปฏิบัติตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั่นเอง

อาการของปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียด

โดยอาการของปฏิจจสมุปบาทสายเกิดทุกข์ เป็นอาการที่จิตเกิดการปรุงแต่งให้เกิดอาการต่างๆขึ้นมาและผลักดันกันต่อไปถึง ๑๒ อาการ อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ จนเกิดความทุกข์ขึ้นมาเป็นอาการสุดท้าย ซึ่งอาการโดยสรุปทั้ง ๑๒ อาการนั้นก็ได้แก่

เมื่อ อวิชชา (ความรู้สึกตัวว่าจิตนี้คือตัวเรา) เกิดขึ้นมาครอบงำจิต จึงทำให้ สังขาร (คำว่า สังขาร ในที่นี้หมายถึง จิตตสังขาร ที่หมายถึง ระบบการปรุงแต่งหรือการทำงานของจิต) ซึ่งแต่เดิมมันยังบริสุทธิ์อยู่ (คือไม่ได้เป็นสังขารของใคร) ได้ถูกยึดครองว่า “มีเราเป็นผู้ปรุงแต่ง” เกิดขึ้นมาทันที

เมื่อจิตปรุงแต่งด้วยความรู้สึกว่ามีเราเป็นผู้ปรุงแต่ง จึงทำให้วิญญาณ (การรับรู้ทางอายตนะภายในทั้ง ๖) ซึ่งแต่เดิมยังบริสุทธิ์อยู่ (คือไม่ได้เป็นวิญญาณของใคร) ได้ถูกยึดครองว่า “มีเราเป็นผู้มีการรับรู้” เกิดขึ้นมาทันที

เมื่อวิญญาณได้เกิดขึ้นมาแล้ว จึงทำให้นามกับรูป (คือร่างกายกับจิตใจ) ซึ่งแต่เดิมยังบริสุทธิ์อยู่ (คือไม่ได้เป็นร่างกายและจิตใจของใคร) ได้ถูกยึดครองว่า “ร่างกายกับจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา” ขึ้นมาทันที (คือเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาแล้ว)

เมื่อเกิดความรู้สึกว่า “ร่างกายกับจิตใจนี้คือตัวเรา” ขึ้นมา จึงทำให้อายตนะภายในทั้ง ๖ ของร่างกาย ซึ่งแต่เดิมยังบริสุทธิ์อยู่ (คือไม่ได้เป็นอายตนะภายในของใคร) ได้ถูกยึดครองว่าเป็น “อายตนะภายในของเรา” เกิดขึ้นมาด้วยทันที

เมื่อเกิดอายตนะภายในขึ้นมาแล้ว และอายตนะภายในนี้ ก็ได้กระทบกับอารมณ์ (อายตนะภายนอก) ที่ตรงกัน จึงทำให้เกิดผัสสะ (การสัมผัส) ซึ่งแต่เดิมยังบริสุทธิ์อยู่ (คือยังไม่ได้เป็นผัสสะของใคร) ได้ถูกยึดครองว่า “ผัสสะนี้เป็นของเรา” (หรือเราเป็นผู้มีผัสสะ) เกิดขึ้นมาทันที

เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมาแล้ว จึงทำให้เวทนาซึ่งแต่เดิมยังบริสุทธิ์อยู่ (คือไม่ได้เป็นเวทนาของใคร) ได้ถูกยึดครองว่า “เวทนานี้เป็นของเรา” (หรือเราเป็นผู้มีเวทนา) ขึ้นมาด้วยทันที

เมื่อเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว จึงทำให้เกิดตัณหา คือ “ความอยากเพื่อตัวเรา” ขึ้นมาทันที

เมื่อเกิดตัณหาขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้เกิดอุปาทาน คือ ความยึดถือเอาร่างกายกับจิตใจ ที่รู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่นี้ว่ามันเป็น “ตัวเรา-ของเรา” ขึ้นมาทันที

เมื่อเกิดอุปาทานขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้เกิด “ภพ” คือความรู้สึกว่า ตัวเรานี้มีสภาพต่างๆไปตามที่ร่างกายเป็นอยู่ ขึ้นมาทันที

เมื่อเกิด “ภพ” ขึ้นมาจนแก่กล้าเต็มทีแล้ว จึงเกิด “ชาติ” คือ “ความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาอย่างเข้มข้นเต็มเปี่ยมอยู่ในจิตใจ” ขึ้นมาด้วยทันที

เมื่อเกิด “ชาติ” หรือความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาอย่างเข้มข้นแล้ว เมื่อตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้ต้องมาพบกับ “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ที่กำลังเกิดอยู่กับร่างกาย อันได้แก่ ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย กำลังจะตาย รวมทั้งความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก และความผิดหวังฯ จึงทำให้ตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้เกิด “ความทุกข์” (คือความเศร้าโศก หรือความเสียใจอย่างรุนแรง) ขึ้นมาด้วยทันที

เรื่องปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์นี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องจิตเป็นอนัตตาและสุญญตามาแล้ว ก็ไม่ยากที่จะเข้าใจ เพราะพื้นฐานของปฏิจจสมุปบาทก็มาจากความว่างหรือความไม่มีอะไร แต่เพราะมีอวิชชา (ความรู้สึกว่ามีตัวเราที่เกิดขึ้นมาพร้อมจิตตามธรรมชาติ) เกิดขึ้นครอบงำจิต จึงทำให้จิตเกิดการยึดถือเอา “ภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ” ต่างๆของธรรมชาติ ที่ไมได้เป็นของใคร มาเป็นของเรา จึงทำให้ตัวเราที่เกิดขึ้นมาแล้วต้องมาพบกับภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจนี้เกิดความเศร้าโศก หรือความทุกข์อย่างรุนแรงขึ้นมาทันที 

ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์

ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์นั้นก็คือ อาการขณะที่จิตของเราไม่มีความทุกข์ หรือความทุกข์ได้ดับหายไปแล้ว (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งอาการทั้ง ๑๒ นั้นก็ได้แก่

เมื่อ “อวิชชา ดับ สังขาร จึงดับ,

เมื่อ สังขารดับ วิญญาณ จึงดับ,

เมื่อ วิญญาณดับ นามรูป จึงดับ,

เมื่อ นามรูปดับ สฬายตนะ จึงดับ,

 เมื่อ สฬายตนะดับ ผัสสะ จึงดับ,

เมื่อ ผัสสะดับ เวทนา จึงดับ,

เมื่อ เวทนาดับ ตัณหา จึงดับ,

เมื่อ ตัณหาดับ อุปาทาน จึงดับ,

เมื่อ อุปาทานดับ ภพ ดับ,

เมื่อ ภพดับ ก็จะเป็นปัจจัยให้ ชาติ จึงดับ,

เมื่อ ชาติดับ ชรา มรณะฯ (ความทุกข์) จึงดับ”

สรุปก็คือ เมื่ออวิชชาดับ ก็จะทำให้อาการที่เหลือทั้งหมดของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์พลอยดับหายตามไปด้วยทั้งหมดพร้อมทั้งความทุกข์ แล้วจิตก็จะนิพพานสูงสุด หรือสงบเย็นอย่างสูงสุด (แม้เพียงชั่วคราว)

แต่ถ้าเราเผลอจนทำให้อวิชชาเกิดขึ้นมาแล้ว และจิตเกิดการปรุงแต่งด้วยอำนาจอวิชชาขึ้นมาจนเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว  แต่ถ้าในขณะนั้นเรามีสติขึ้นมา (คือระลึกได้ขึ้นมาว่าเผลอให้อวิชชาเกิดขึ้นมาแล้ว) เราก็ดึงเอาปัญญากับสมาธิที่เคยมีอยู่ออกมาดับตัณหาที่กำลังเกิดอยู่ให้ระงับหรือดับหายไปได้ (แม้เพียงชั่วคราว) ก็จะทำให้ อุปาทาน ภพ ชาติ และความทุกข์ (ซ่อนเร้น-เปิดเผย-อ่อนๆ) ไม่เกิดขึ้นมาได้ในขณะนั้นเหมือนกัน แล้วจิตก็จะนิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) แต่การดับที่ตัณหานี้จะยังไม่นิพพานสูงสุด (ไม่สงบเย็นสูงสุด) เพราะยังมีเวทนามารบกวนจิตอยู่บ้าง จะต้องดับอวิชชาด้วยนิพพานจึงสูงสุด

จบภาคที่ ๔


|หน้าต่อไป|