ภาค ๓ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ การที่เราจะศึกษาพุทธศาสนาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักหลักพื้นฐานในการศึกษาก่อน ถ้าเราไม่รู้จักหลักพื้นฐานก่อน แล้วเรามาศึกษาพุทธศาสนา ก็จะทำให้เราศึกษาพุทธศาสนาผิดไปทั้งหมดทันที่ แล้วเราก็จะไม่รับประโยชน์จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งหลักพื้นฐานของพุทธศาสนานั้นก็สรุปอยู่ที่ ๑. มุ่งตรงสู่การดับทุกข์ คือพระพุทธเจ้าจะ สอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันเท่านั้น เพราะ ความทุกข์นี้คือสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน ดังนั้นการศึกษาวิธีการดับทุกข์ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่เราจะต้องรีบศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องก่อน จึงค่อยไปศึกษาเรื่องอื่นทีหลัง ๒. ต้องพึ่งตนเอง คือเราต้องพึ่งตนเองทั้งในการศึกษาและการปฏิบัติ เราจะไม่พึ่งใครๆหรือสิ่งใดๆที่เราเชื่อว่าจะสามารถดลบันดาลผลสำเร็จให้แก่เราได้ เพราะการพึ่งผู้อื่นนั้นจะทำให้เราอ่อนแอ เกียจคร้าน ไม่มีประสบการณ์ และที่สำคัญก็คือไม่เกิดปัญญาที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าสอนได้ ๓. ปล่อยวางความเชื่อ คือ เราสามารถอ่านตำราหรือฟังคำสอนของใครๆก็ได้ แต่เราจะยังไม่เชื่อว่าคำสอนนั้นเป็นความจริงตามที่สอนอย่างเด็ดขาด เพราะเรายังไม่รู้ว่าคำสอนนั้นเป็นคำสอนที่สามารถนำมาปฏิบัติแล้วดับทุกข์ได้จริงหรือไม่ ๔. ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง คือ ให้เราศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเอง ในขณะที่ยังไม่ตาย คือขณะที่ยังมีความจำดีอยู่และยังมีสติสมบูรณ์อยู่นี้ ๕. ศึกษาตามเหตุตามผล คือ เราจะศึกษาจากเหตุและผลตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจของเรา (คือในความจริงนั้นมันจะมีเหตุผลแสดงให้เราเข้าใจอยู่แล้ว) ๖. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือ ให้เริ่มต้นศึกษาตั้งแต่พื้นฐานที่ไม่รู้อะไรเลยก่อน แล้วค่อยๆศึกษาเป็นลำดับๆต่อเนื่องกันไปจนถึงจุดสูงสุด ๗. ต้องพิสูจน์จนเห็นผลจริงก่อนยอมรับ คือ ต้องมีการทดลองปฏิบัติซ้ำๆจนเกิดผลขึ้นมาจริงๆอย่างแน่ชัดก่อน เราจึงจะยอมรับเอาคำสอนนั้นมาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไปจนประสบผลสูงสุด ถ้าเราพิจารณาหลักการทั้ง ๗ ข้อนี้ให้ดีเราก็จะพบว่า หลักการศึกษาทั้ง ๗ ข้อนี้มันก็ตรงกับ หลักการค้นคว้าหาความจริงของวิทยาศาสตร์ ซึ่งนี่แสดงว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ คือ เป็นวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ (ไม่ใช่ทางด้านวัตถุ) และ พระพุทธเจ้าก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ ที่ค้นพบวิธีการดับทุกข์ของจิตใจ และทรงสอนวิธีการดับทุกข์ของจิตใจ โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ พุทธะ-ไสยะ คำว่า พุทธะ แปลว่า ตื่น (ศาสนาพุทธ หมายถึง ศาสนาหรือคำสอนของผู้รู้) คือเมื่อนำคำนี้มาใช้ในเรื่องทางธรรมะหรือทางจิตใจ จะหมายถึง หายโง่ คือจากการที่เราเคยโง่เพราะไม่รู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง แล้วเราได้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จนเกิด ปัญญาที่รู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง แล้ว ก็เรียกว่าเรา ตื่น หรือ หายโง่ แล้ว แต่ถ้าเรายังไม่ตื่น ก็จะเรียกว่า ไสยะ ที่แปลว่า หลับ ซึ่งคำว่าหลับนี้ก็หมายถึง ยังไม่มีปัญญารู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง โดยผู้ที่ตื่นแล้วนั้น จะเรียกว่าเป็น พุทธะ ที่หมายถึง ผู้รู้ และเมื่อรู้แล้วจึง ตื่น เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะ เบิกบานสดชื่น (คือไม่มีความทุกข์) ส่วนผู้ที่ไม่มีความรู้ในสิ่งที่ควรรู้นี้ก็จะเป็นผู้ที่เรียกว่า มืดบอด เพราะไม่มีปัญญาเห็นแจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง ซึ่งผู้ที่มืดบอดนี้ก็จะใช้ชีวิตไปตามสัญชาติญาณของตนเองบ้าง ตามความเชื่อที่มีคนเขาสอนไว้บ้าง หรือตามที่ตำราสอนไว้บ้าง เป็นต้น โดยไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตอย่างนั้นมันถูกหรือผิดจาก (คือถ้าถูกก็จะมีความสงบสุขและไม่มีความทุกข์ แต่ถ้าผิดก็จะมีความทุกข์ใจและความเดือดร้อนทางกายอยู่เสมอ) ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่มืดบอด ย่อมมีโอกาสที่จะเดินทางผิดมากกว่าถูก เพราะขาดดวงตา (คือปัญญา) มาดูทาง สรุปได้ว่า พุทธะ ก็คือ การมีปัญญาเห็นแจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง โดยการมีปัญญาหรือการบรรลุถึงความเป็นพุทธะนี้ สามารถเกิดขึ้นกับจิตของเราทุกคนได้ เพียงเราต้องตื่นจากการหลับให้ได้ แล้วภาวะพุทธะก็จะปรากฏกับจิตของเราได้ทันที ซึ่งวิธีการที่จะทำให้เราตื่นนั้นก็คือ การศึกษาอริยสัจ ๔ ให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง แล้วนำความเข้าใจนั้นมาทดลองปฏิบัติ จนเกิดความเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ขึ้นมา ก็จะทำให้เรา ตื่น หรือ เกิดปัญญาเห็นแจ้งชีวิตและโลกตามความจริงเป็นได้ แต่ตราบใดที่เรายังไม่มีปัญญา จิตของเราก็จะยังเป็น ไสยะ คือ หลับ หรือไม่มีปัญญารู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริงอยู่ต่อไป พุทธศาสนามีคำสอน ๒ ระดับ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันพุทธศาสนาเป็นศาสนาผสม คือเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี ได้มีการนำเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์เข้ามาผสมกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งเป็นพุทธศาสนาขึ้นมา จึงทำให้คำสอนของพุทธศาสนาในปัจจุบันมี ๒ ระดับ คือ ๑. ระดับชาวบ้าน หรือ ระดับศีลธรรม คือเป็นคำสอนเรื่อง การละเว้นการทำความชั่ว ให้ทำแต่ความดี โดยผลของศีลธรรมก็คือ ทำให้ชีวิตมีความปรกติสุข โดยศีลธรรมจะเอาไว้สอนคนที่ยังมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์น้อย (คือคนที่ยังไม่รู้จักคิดด้วยเหตุด้วยผล แต่จะใช้ความเชื่อในการปฏิบัติ) เช่น เด็กหรือชาวบ้าน เป็นต้น ซึ่งคำสอนระดับศีลธรรมนี้ศาสนาไหนๆเขาก็มีสอนกันอยู่แล้ว แต่หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ชาวพุทธในยุคนั้นได้มีการนำเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) เรื่อง จิตเป็นอัตตา (ตัวตนอมตะ) ที่มีผู้คนนับถือกันอยู่มากในยุคนั้น เข้ามาเป็นคำสอนในพุทธศาสนาระดับศีลธรรม ซึ่งก็ทำให้มีผู้คนนับถือพุทธศาสนากันมากขึ้น และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน โดยคำสอนของศาสนาพราหมณ์เรื่องจิตเป็นอัตตานี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง การเกิดใหม่ทางร่างกาย คือเป็นความเชื่อว่า เมื่อร่างกายตาย ถ้าจิตยังมีกิเลสอยู่ จิตนี้จะไม่ดับหายไปตามร่างกาย แต่จะสามารถเกิดขึ้นมาในร่างกายใหม่ได้อีกเรื่อยไป ซึ่งความเชื่อนี้เองที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความเชื่ออื่นๆตามมาอีกมากมาย เช่น ความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ ฯ (ชนิดที่เป็นสถานที่) และความเชื่อเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ฯ (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) รวมทั้งความเชื่อเรื่องการทำกรรมใดไว้ในชาตินี้แล้ว เมื่อตายไปจะต้องเกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อมารับผลของกรรมที่ได้เคยทำไว้ในชาติก่อน เป็นต้น ๒. ระดับปัญญาชน หรือ ระดับสูง ที่สอนเฉพาะเรื่อง การดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยผลของคำสอนระดับสูงก็คือนิพพาน (ความสงบเย็นของจิต) โดยคำสอนระดับสูงนี้จะเอาไว้สอนเฉพาะปัญญาชนหรือคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอเท่านั้น (คือคนที่ไม่ยึดติดในความเชื่อ แต่รู้จักคิดด้วยเหตุด้วยผลตามความเป็นจริง) จะไม่สอนชาวบ้านเพราะยังไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ ซึ่งคำสอนระดับสูงนี้สรุปแล้วก็คือคำสอนเรื่อง อริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า และจัดเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพุทธศาสนา หลักความเชื่อของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา (คือใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต) ไม่ได้เป็นศาสนาแห่งศรัทธา (คือใช้ความเชื่อในการดำเนินชีวิต) แต่ในชีวิตจริงเราก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อในการดำเนินชีวิต แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เราเปลี่ยนความเชื่อให้เป็นปัญญาเอาไว้แล้วใน หลักกาลามสูตร ซึ่งมีใจความโดยสรุปดังนี้ เมื่อเราได้รับคำสอนใดมาก็ตาม (คือจากการฟังหรืออ่านมา) ขั้นแรกเราจะต้องปฏิบัติดังนี้คือ ๑. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า ได้ยินได้ฟังมา ๒. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาตั้งแต่โบราณ ๓. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า ผู้คนกำลังล่ำลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน ๔. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า มีตำราอ้างอิง ๕. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า มีเหตุผลตรงๆ (ตรรกะ) รองรับ ๖. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า มีเหตุผลแวดล้อมรองรับ ๗. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า สามัญสำนึกของเรามันยอมรับ ๘. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า มันตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว ๙. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า ผู้ที่บอกหรือที่สอนนั้นดูภายนอกน่าเชื่อถือ ๑๐. อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุว่า ผู้ที่บอกหรือที่สอนนี้เป็นครูอาจารย์ที่เรานับถือ ต่อไปก็ให้เรานำเอาคำสอนนั้นมาพิจารณาดูว่า คำสอนนั้นมีโทษหรือมีประโยชน์ และผู้รู้ (ผู้มีปัญญาและมีใจเป็นกลาง) ติเตียนหรือไม่ติเตียน ถ้าพิจารณาแล้วพบว่าคำสอนนั้นมีโทษ ไม่มีประโยชน์ และผู้รู้ก็ติเตียน ก็ให้ละทิ้งไปเสีย แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสอนนั้นมีประโยชน์ ไม่มีโทษ และผู้รู้ก็ไม่ติเตียน ก็ให้นำมาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าทดลองปฏิบัติตามอย่างเต็มตามมาตรฐานแล้วพบว่า ความทุกข์ไม่ลดลงหรือดับลงจริง (แม้เพียงชั่วคราว) ก็ให้ละทิ้งไปเสีย แต่ถ้าทดลองปฏิบัติดูแล้ว ผลออกมาเป็นความลดลงหรือดับลงของความทุกข์จริง (แม้เพียงชั่วคราว) ก็ให้ยอมรับเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป (คือดับทุกข์ได้อย่างถาวร) สรุปได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อใครแม้แต่ตัวเราเอง ถ้าเราหลงไปเชื่อตามคนอื่นหรือตามตำรา หรือแม้จากสามัญสำนึกของเราเองก็ตาม มันก็มีความเสี่ยงที่เราจะได้รับคำสอนที่ผิดมาปฏิบัติโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้นวิธีที่จะทำให้เราได้รับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ ต้องมีการพิสูจน์จนเกิดผลขึ้นมาจริงๆเท่านั้น ซึ่งการปฏิบัติตามหลักกาลามสูตรเช่นนี้อย่างเคร่งครัดเท่านั้น จึงจะทำให้เราค้นพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ด้วยสติปัญญาของเราเอง โดยไม่เชื่อตามใครๆหรือตามตำราใดๆ เรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ควรศึกษา สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษาวิธีการดับทุกข์หรืออริยสัจ ๔ นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า อย่าเพิ่งไปสนใจศึกษาเรื่องที่ไม่ควรสนใจ ซึ่งเรื่องที่ไม่ควรสนใจศึกษานั้นเรียกว่า อจินไตย ที่หมายถึง เรื่องที่ไม่ควรนำมาคิด ซึ่งมีอยู่ ๔ เรื่อง คือ ๑. พุทธวิสัย คือ เรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระอริยะทั้งหลาย คืออย่าเพิ่งไปสนใจว่าพระพุทธเจ้าและพระอริยะทั้งหลายนั้นจะมีอยู่จริงหรือไม่? หรือเป็นอย่างไร? เป็นต้น ๒. ฌานวิสัย คือ เรื่องที่เกี่ยวกับสมาธิสูงๆ คืออย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องที่ว่า สมาธิสูงๆนั้นจะมีจริงหรือไม่? หรือสามารถทำให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์หรือทำสิ่งที่เหนือธรรมชาติได้หรือไม่? เป็นต้น ๓. กรรมวิบาก คือ เรื่องกรรมและผลของกรรม คืออย่าเพิ่งไปสนใจคำสอนเรื่อง กรรมและผลของกรรม ตามที่มีคนเขาสอนอยู่หรือในตำราว่า มีจริงหรือไม่ หรือเป็นอย่างไร? เป็นต้น ๔. โลกจินตา คือ เรื่องโลกๆ คืออย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องต่างๆของชาวโลกที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการดับทุกข์ เช่น เรื่องใครสร้างโลก? โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ตายแล้วไปไหน? เกิดหรือไม่เกิด? ถ้าเกิดอะไรไปเกิด? นรก-สวรรค์ตามที่เขาเชื่อกันอยู่นั้นมีอยู่จริงหรือไม่? รวมทั้งเรื่องทางสังคมหรือวิชาการต่างๆของชาวโลกด้วย เป็นต้น สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ผู้เริ่มต้นศึกษาไปศึกษาเรื่องทั้ง ๔ นี้ก็เป็นเพราะ เรื่องเหล่านี้มันไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อดับทุกข์ของเราเลย และที่สำคัญก็คือ ถ้าเราหลงเข้าไปศึกษาเรื่องทั้ง ๔ นี้เข้า ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจผิด (มีความเห็นผิด) ต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เริ่มต้นได้ และเมื่อเรามีความเห็นผิดมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ก็จะทำให้การศึกษาคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้า พลอยผิดตามไปด้วยทั้งหมดโดยไม่รู้ตัว ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่พระพุทธเจ้าสอนให้ศึกษาก็คือ เรื่องการดับทุกข์ ต่อเมื่อเราศึกษาเรื่องการดับทุกข์จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว เมื่อมีเวลาเราจะไปศึกษาเรื่องอจินไตยในภายหลังก็ได้ และเมื่อเรามีความเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็จะไม่เกิดความเห็นผิดจากการศึกษาเรื่องอจินไตยได้ ดังนั้นเรื่องอจินไตยนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาอริยสัจ ๔ จะต้องละเว้นอย่างเด็ดขาด เพราะมันจะทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดต่อหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าไปจนตายโดยไม่รู้ตัว ประเภทของศาสนา ศาสนา คือ เครื่องมือสำหรับใช้บรรเทาทุกข์ของจิตใจ แต่ก่อนที่เราจะศึกษาหลักคำสอนของศาสนาใดก็ตาม เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้ให้เข้าใจก่อนว่า ศาสนานั้นเขามีอะไรที่ผู้นับถือจะต้องเกรงกลัวและเคารพ ต่อจากนั้นจึงค่อยมาศึกษาหลักคำสอนของศาสนานั้นภายหลัง โดยทุกศาสนา จะสอนให้ผู้นับถือเชื่อฟังรวมทั้งเคารพต่อ สิ่งสูงสุด ก่อน แล้วจึงค่อยสอนให้ปฏิบัติตามที่สิ่งสูงสุดได้สั่งสอนเอาไว้ทีหลัง และถ้าใครปฏิบัติตามคำสอนได้ถูกต้อง สิ่งสูงสุดก็จะดลบันดาลให้ผู้นั้นได้พบกับความสุข (คือสวรรค์ หรือการมีชีวิตที่มีความสุข) แต่ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามคำสอน สิ่งสูงสุดก็จะดลบันดาลให้ผู้นั้นได้พบกับความทุกข์ (คือนรก หรือการมีชีวิตที่มีแต่ความทุกข์) โดยศาสนาทั้งหลายของโลกจะสรุปได้ ๒ ประเภท อันได้แก่ ๑. ศาสนาประเภท เทวนิยม คือเป็นศาสนาที่สอนให้ผู้นับถือยอมรับว่า สิ่งที่เหนือธรรมชาติ (อันได้แก่เทพเจ้า หรือพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ) คือ สิ่งสูงสุด ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่และดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป (คือสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา รักษาทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา) โดยศาสนาประเภทนี้ จะสอนให้ผู้ที่นับถือมี ความเชื่อในสิ่งสูงสุดนั้นว่ามีอยู่จริงก่อน แล้วจึงสอนให้ปฏิบัติตามคำสอนที่สิ่งสูงสุดได้สั่งสอนไว้ โดยมีศาสดา (ผู้สอน) เป็นผู้ที่สื่อสารกับสิ่งสูงสุดได้ และนำคำสอนจากสิ่งสูงสุดมาสอนแก่ผู้ที่นับถืออีกที ๒. ศาสนาประเภท ธรรมชาตินิยม (อเทวนิยม) คือเป็นศาสนาที่สอนให้ผู้นับถือยอมรับว่า ธรรมชาติ คือ สิ่งสูงสุด ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆเป็นไป (คือเหมือนกับศาสนาประเภทเทวนิยม) โดยศาสนาประเภทนี้จะสอนให้ผู้ที่นับถือเข้าใจถึง กฎสูงสุดของธรรมชาติที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ให้ถูกต้องก่อน แล้วจึง สอนให้ปฏิบัติตามที่กฎสูงสุดของธรรมชาติได้กำหนดเอาไว้ โดยมีศาสดาเป็นผู้ค้นพบกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ แล้วนำมาสอนแก่ผู้ที่นับถืออีกที กฎสูงสุดของธรรมชาติ พุทธศาสนา เป็นศาสนาประเภท ธรรมชาตินิยม ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา (ผู้สอน) ซึ่งสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพและยอมรับว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่ควบคุมหรือดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปนั้นก็คือ ธรรมชาติ โดยธรรมชาตินั้นจะมีกฎอยู่กฎหนึ่ง ที่เป็น กฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่กฎทุกกฎของธรรมชาติ จะต้องขึ้นอยู่กับกฎสูงสุดนี้ทั้งสิ้น โดย กฎสูงสุดของธรรมชาติ นี้พุทธศาสนาเรียกว่า กฏอิทัปปัจจตา ที่หมายถึง กฎการอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่ง (คือร่วมกันทำ) ให้เกิดขึ้นมา โดยกฎนี้มีใจความโดยละเอียดอยู่ว่า เมื่อสิ่งนี้ๆ มี สิ่งนี้ๆ จึงมี, เมื่อสิ่งนี้ๆ ไม่มี สิ่งนี้ๆ จึงไม่มี, เมื่อสิ่งนี้ๆ เกิดขึ้น สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ๆ ดับหายไป สิ่งนี้ๆ จึงดับหายไป สรุปแล้ว กฏอิทัปปัจจยตา นี้ ก็คือกฎที่บังคับเอาไว้ว่า การที่สิ่งใดจะเกิดขึ้นมา จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น (คำว่า เหตุ แปลว่า สิ่งที่ทำให้เกิด ผล ส่วนคำว่า ปัจจัย แปลว่า เหตุย่อยๆหรือสิ่งที่มาสนับสนุนเหตุ ซึ่งปัจจัยนี้สามารถมีได้มาก แต่เหตุนั้นจะมีเพียงเหตุเดียว) เรื่องนี้อธิบายได้ว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น รูปธรรม (คือวัตถุและพลังงาน) หรือ นามธรรม (คือจิตใจ หรือความรู้สึก ความคิดฯ) ก็ตาม จะ เกิดขึ้น มาได้ จะต้องมีทั้งเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่ง (หรือร่วมกันทำ) ให้เกิดขึ้น ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ถ้ามีเพียงเหตุ แต่ไม่มีปัจจัยพร้อม หรือมีปัจจัยพร้อม แต่ขาดเหตุ ก็จะไม่ทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาได้ (แต่เราก็มักจะพูดสั้นๆเพียงว่า เหตุทำให้เกิดผล เท่านั้น ซึ่งก็หมายถึงว่า มันมีทั้งเหตุและปัจจัยพร้อมอยู่ในคำว่าเหตุนั้นแล้ว ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจในเรื่องนี้เอาไว้ด้วย) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีเทียน (คือเหตุ) กับ ออกซิเจนและอุณหภูมิที่พอเหมาะ (คือปัจจัย) พร้อม จึงทำให้เกิด ผล คือ แสงเทียน ขึ้นมา แต่ถึงจะมีเทียน แต่ถ้าขาดออกซิเจน หรือขาดอุณหภูมิที่พอเหมาะ ก็จะไม่ทำให้เกิดแสงเทียนขึ้นมาได้ หรือถึงแม้จะเกิดการปรุงแต่งให้เกิด แสงเทียน ขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ถ้าเหตุหรือปัจจัยใดของมันได้หายไป ก็จะทำให้แสงเทียนนั้นดับหายตามไปด้วยทันที เป็นต้น (แต่ถ้าพูดสั้นๆก็จะพูดว่า เทียนทำให้เกิดแสงเทียน) ถ้าเรานำเอากฏอิทัปปัจจตานี้ มาพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาในโลก (โดยเน้นมาที่ร่างกายและจิตใจของเราเอง) เราก็จะพบว่า มันมีการปรุงแต่งผลักดันกันต่อๆไปเหมือนโดมิโน คือเมื่อมีเหตุมาทำให้เกิดผลขึ้นมา แล้วผลนี้ก็จะกลายมาเป็นเหตุทำให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก แล้วผลใหม่นี้ก็จะกลายมาเป็นเหตุใหม่ แล้วทำให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก คือมันจะเป็นเหตุ-เป็นผล, เป็นเหตุ-เป็นผล, เป็นเหตุ-เป็นผล ฯลฯ ผลักดันกันต่อๆไปเหมือนสายโซ่ที่คล้องต่อๆกันไปเป็นสายยาวไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ที่สำคัญก็คือ เพียงเหตุเดียวมันสามารถทำให้เกิดผลได้หลายๆผล และผลเพียงผลเดียวก็ต้องอาศัยหลายๆเหตุมาร่วมกันทำให้เกิดขึ้นมา รวมทั้งผลของอีกสายโซ่หนึ่ง ยังสามารถไปเป็นเหตุของสายโซ่ใหม่ๆได้อีกมากมายหลายสาย ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรู้ลึกถึงเหตุและผลของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ทั้งหมดก็ได้ เพราะไม่จำเป็น เพียงเราเข้าใจว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกหรือในจักรวาลก็ตาม จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น เท่านี้ก็พอแล้ว เพราะความเข้าใจเพียงเท่านี้ ก็สามารถทำให้เราเกิด ความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง ได้แล้ว ซึ่งความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตและโลกตามเป็นความจริงนี้ก็คือ ปัญญา ที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติร่วมกับสมาธิ เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ สรุปได้ว่า การเรียนรู้เรื่องกฎสูงสุดของธรรมชาตินั้น จะทำให้เราเกิด ความเข้าใจความจริงพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นมาในโลกรวมทั้งในจักรวาลว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเรานำเอาความเข้าใจนี้มาพิจารณา ร่างกายและจิตใจของเราเอง อย่างละเอียดด้วยความตั้งใจอย่างที่สุด เราก็จะพบกับ ความจริงของธรรมชาติที่เราควรรู้อีก ๓ อย่าง อันได้แก่ ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของชีวิตเรา ซึ่งความรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของชีวิตเรานี้ก็คือหัวใจของ ปัญญา สำหรับนำมาใช้ปฏิบัติร่วมกับสมาธิเพื่อดับทุกข์ ตามหลักอริยมรรคนั่นเอง ต้องรู้จักคำว่า อัตตา ก่อน ก่อนที่เราจะศึกษาเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้องนั้น ก่อนอื่นเราจะต้องมาศึกษาคำว่า อัตตา ให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันก่อน เพราะมันมีลักษณะที่ตรงข้ามกับ อนัตตา ที่พระพุทธเจ้าสอน โดยคำว่า อัตตา แปลว่า ตน หรือ ตนเอง คือมันหมายถึงว่า มันเป็นตัวตนที่แท้จริง โดยสิ่งที่เป็นอัตตานั้นจะมีลักษณะ ๓ ประการ อันได้แก่ ๑. นิจจัง แปลว่า เที่ยง คือมันหมายถึงว่า สิ่งที่เป็นอัตตานั้น มันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง (คือมันจะนิ่งอยู่ตลอดเวลา) รวมทั้ง มันจะไม่มีการ เกิด และ ดับ อย่างเด็ดขาดอีกด้วย สรุปก็คือมันจะเป็นอมตะหรือตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดร ๒. สุขัง (สุข) แปลว่า ทนง่าย หรือ ทนได้สบาย คือมันหมายถึงว่า สิ่งที่เป็นอัตตานั้นจะไม่มีอะไรจะมาทำให้มันเกิดปัญหา (คือความเดือดร้อน) หรือ เกิดความทุกข์ (ใช้กับจิตใจ) ได้ ดังนั้นมันจึงสามารถมีอยู่หรือตั้งอยู่อย่างสุขสบายหรือไร้ปัญหา ๓. อัตตา แปลว่า ตน หรือ ตนเอง คือมันหมายถึงว่า สิ่งที่เป็นอัตตานั้น มันจะมีตัวตนเป็นของมันเองอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่ง (หรือทำ) ให้เกิดมันขึ้นมา หรือจะเรียกว่ามันเป็น ตัวตนที่แท้จริง ก็ได้ คำว่า อัตตา นี้ เป็นคำที่ใช้ สมมติเรียก สิ่งต่างๆที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่เราหมายถึง ตัวตน ของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น คน สัตว์ สิ่งของ ร่างกาย จิตใจ เป็นต้น (ถ้าไม่ใช้การสมมติก็จะไม่รู้จะสื่อสารกันอย่างไรให้เข้าใจ) ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่ได้มีลักษณะของอัตตาเลย ดังนั้นเราอย่าเอาความหมายว่า ตัวตน นี้มาใช้ในการศึกษาที่ลึกซึ้งของคำว่าอัตตา ไม่อย่างนั้นเราจะเกิดความเข้าใจสับสนหรือผิดเพี้ยนไปทันที ศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) มีคำสอนที่เป็นหลักอยู่เรื่องหนึ่งคือคำสอนว่า จิต (หรือวิญญาณ) ของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้เป็นอัตตา คือเขาก็รู้อยู่ว่าธรรมชาติทั้งหลาย เช่น เช่น คน สัตว์ สิ่งของ ร่างกาย เป็นต้นนั้น มันเป็น อนัตตา (ไม่ใช่อัตตา) และเป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) และมีภาวะของ ทุกขัง (คือต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก) แต่เขายังมีความเชื่อว่า จิตของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายเป็นอัตตา โดยศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า จิต (หรือวิญญาณ) ของคนเรานี้เป็น อัตตาน้อย ที่แยกออกมาจากพระพรหม ที่เป็น อัตตาใหญ่ และจิตนี้ก็มาอาศัยอยู่ในร่างกายที่ยังไม่ตาย แล้วเกิดเป็นชีวิตขึ้นมา ซึ่งขณะที่ชีวิตนี้ยังมีชีวิตอยู่แล้วได้ทำกรรมใดไว้ เมื่อร่างกายตาย จิตที่เป็นอัตตาน้อยนี้ ก็จะต้องไปเกิดใหม่เพื่อรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งคำสอนนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ (ในร่างกายใหม่) รวมทั้งความเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ (ชนิดที่เป็นสถานที่) รวมทั้งความเชื่อเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม เปรต อสุรกาย (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) เป็นต้น ขึ้นมา เรื่องที่เราควรรู้ก็คือ ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน คำสอนของศาสนาพราหมณ์เรื่อง จิตเป็นอัตตา นี้ก็ได้ถูกชาวพุทธในยุคนั้นได้นำมาประยุกต์เอาเข้ามาเป็นคำสอนในระดับศีลธรรมในพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าเป็นคำสอนที่มีประโยชน์ ตรงที่ทำให้คนที่นับถือไม่ทำความชั่ว (เพราะกลัวตกนรก) และจะทำความดี (เพราะอยากขึ้นสวรรค์) ซึ่งผู้ที่ ทำแต่ความดีและไม่ทำความชั่ว ชีวิตของเขาก็จะมีความปรกติสุข รวมทั้งถ้าผู้คนในสังคมเป็นคนดีกันมากๆ ก็จะทำให้สังคมสงบสุขได้ (แต่คำสอนนี้ไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ เพราะไม่ใช่คำสอนที่ทำให้เกิดปัญญา) กฎไตรลักษณ์ คำว่า ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของ สิ่งปรุงแต่ง ทั้งหลาย ซึ่งคำว่า สิ่งปรุงแต่ง ก็หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นตามกฏอิทัปปัจจยตา ซึ่งเมื่อเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่ง (คือร่วมกันทำ) ให้ เกิด สิ่งใดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นเราจะเรียกว่าเป็น สิ่งปรุงแต่ง แต่ก่อนอื่นเราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างของธรรมชาตินี้ สรุปได้ ๒ อย่าง คือ สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง กับ สิ่งปรุงแต่ง โดยสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งก็ได้แก่ นิพพาน (ความสงบเย็นของจิต) ส่วน สิ่งปรุงแต่ง ก็ได้แก่ ทุกสิ่งยกเว้นนิพพาน ไตรลักษณ์นี้เรานิยมเรียกว่า กฎไตรลักษณ์ เพราะมันก็เหมือนกฎที่ควบคุมสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเอาไว้ โดยลักษณะ ๓ ประการของ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย นั้นก็ได้แก่ ๑. อนิจจัง แปลว่า ความที่ไม่เที่ยง คือหมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น เมื่อมันถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ภายในตัวของมันอยู่ตลอดเวลา (คือมันไม่หยุดนิ่งหรือกำลังไหลไปๆอยู่ตลอดเวลา) รวมทั้งเมื่อมันเกิดขึ้นมาเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มันจะไม่สามารถตั้งอยู่หรือเป็นอยู่ในสภาพหรือลักษณะนั้นตลอดไปชั่วนิรันดรได้ คือสรุปว่า เมื่อสิ่งใด เกิด ขึ้นมาแล้ว ไม่ช้าก็เร็ว สิ่งนั้นมันจะต้อง ดับ หายไปในที่สุด ๒. ทุกขัง แปลว่า ทน หรือ ต้องทน คือหมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้น มันมีภาวะที่ต้องทนประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก คือมันจะต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันไม่ทน มันก็จะแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับหาย (ใช้กับจิต) ไปในทันที อีกทั้งมันยังต้อง ทนต่อการถูกสิ่งภายนอกต่างๆมากมาย ที่คอยมาทำลายให้มันแตกสลายหรือดับหายไปอยู่ตลอดเวลา อีกด้วย ซึ่งภาวะที่ต้องทนของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้ บางสิ่งและบางขณะ มันก็อาจมีภาวะที่ต้องทนนี้น้อย (ถ้ามันมีน้อยจะเรียกว่า สุขัง ที่แปลว่า ทนง่าย หรือ ทนได้สบาย) แต่บางสิ่งหรือบางขณะ มันก็อาจมีภาวะที่ต้องทนมาก (ถ้ามันมีมากจะเรียกว่า ทุกขัง ที่แปลว่า ทนยาก หรือ ทนได้ลำบาก) ๓. อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือหมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นมัน มันต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงเรียกได้ว่าเป็น อนัตตา คือไม่ใช่อัตตา เพราะมันมีลักษณะที่ตรงข้ามกับอัตตา แต่ก็ไม่ใช่ว่า สิ่งปรุงแต่ง ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้น มันจะไม่มีตัวตนใดๆเลย คือ มันก็จะยังมีตัวตนอยู่เหมือนกันตราบเท่าที่เหตุและปัจจัยของมันยังมีอยู่ แต่ถ้าเหตุและปัจจัยของมันได้ดับหายไปเมื่อใด ตัวตนนั้นก็จะดับหายตามไปด้วยทันที ซึ่งตัวตนชนิดนี้เราจะเรียกว่าเป็น ตัวตนชั่วคราว (คือไม่ช้าก็เร็วตัวตนนี้ก็ต้องดับหายไป) หรือ ตัวตนมายา (คือมันหลอกว่าเป็นตัวตนจริงๆ) หรือ ตัวตนสมมติ (คือสมมติว่าเป็นตัวตนเพื่อใช้ในการสื่อสาร) สุญญตา สุญญตา แปลว่า ความว่าง ซึ่งความว่างนี้มีอยู่ ๓ ความหมาย อันได้แก่ ๑. ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย คือเป็นความหมายทางวัตถุที่หมายถึง สุญญากาศ หรือ ความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยแม้อากาศ ๒. ว่างจากอัตตา หรือ ว่างจากตัวตนของมันเอง คือหมายถึงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งทั้งหลาย ที่เรามาสมมติเรียกกันว่าเป็น ร่างกาย, จิตใจ, คน, สัตว์, สิ่งของ, สุข, ทุกข์, งดงาม, ขี้เหร่, ดี, ชั่ว, โง่. ฉลาด, บ้าน, รถยนต์, มือถือ เป็นต้นนั้น มันเป็นอนัตตาคือไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงเลย ดังนั้นเมื่อมันไม่ใช่อัตตา จึงเท่ากับว่าจะหาสิ่งที่เป็นอัตตาไม่มี ไม่ว่าจะเป็นภาวะหรือลักษณะใดๆ รวมทั้งไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต คือเรียกง่ายๆว่า มันไม่มีอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง มีแต่ตัวตนชั่วคราว หรือตัวตนมายา หรือตัวตนสมมติเท่านั้น ๓. จิตว่าง คือหมายถึง จิตที่ว่างจากกิเลส คือเมื่อจิตของเราถูกกิเลสครอบงำ ก็จะทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์ ซึ่งเราจะเรียกจิตที่มีความทุกข์นี้ว่า จิตวุ่น คือจิตมันจะดิ้นรนหรือฟุ้งซ่านและวุ่นวายไปตามอำนาจของกิเลส แล้วก็ทำให้จิตไม่สงบเย็น ไม่เป็นปรกติ (คือไม่นิพพาน) แต่เมื่อใดที่จิตของเราว่างจากกิเลสและไม่เกิดความทุกข์ ก็เราจะเรียกว่าเป็น จิตว่าง ซึ่งจิตว่างนี้จะมี นิพพาน หรือ ความสงบเย็น อยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ความเห็นคืออะไร? ความเห็น หมายถึง การที่เราคิดพิจารณาหา เหตุ ที่มาทำให้เกิด ผล หรือคิดพิจารณาหา ผล ที่เกิดขึ้นมาจาก เหตุ ของสิ่งหรือเรื่องที่เรากำลังศึกษาอยู่ จนทำให้พบเหตุที่มาทำให้ผลหรือพบผลที่เกิดขึ้นมาจากเหตุนั้นได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็น ความเห็น หรือ ความคิดเห็น หรือ ความเข้าใจ ในเรื่องหรือสิ่งนั้น (คือเป็นหลักของตรรกะหรือการใช้เหตุผลในการคิดนั่นเอง) แต่ถ้าเรามั่นใจว่าความเข้าใจของเรานี้ถูกต้อง แล้วเราก็นำเอาความเข้าใจนี้มาปฏิบัติ ก็จะทำให้เกิด ความเชื่อ ตามความเห็นหรือความเข้าใจของเราขึ้นมาทันที และถ้าเรายึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่นว่า ความเห็นของเรานี้มันถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ก็จะเรียกว่าเป็น ความยึดมั่นในความเห็น ขึ้นมาทันที ถ้ามีคำถามว่า เหตุและผลที่เรานำเอามาพิจารณาจนเกิดเป็น ความเห็น หรือ ความเข้าใจ นี้ เราเอามาจากไหน? ซึ่งคำตอบก็คือ มันเอาแน่ไม่ได้ เพราะบางคนก็เอามาจากตำรา บางคนก็เอามาจากคำบอกเล่าจากคนอื่น บางคนก็เอามาจากคำสอนของครูอาจารย์ บางคนก็เอามาจากการคาดเดาของตนเอง บางคนก็เอามาจากสามัญสำนึกของตนเอง เป็นต้น โดยความเห็นหรือความเข้าใจนี้ ยังเป็นแค่การคิดพิจารณาไตร่ตรองเท่านั้น ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าความเห็นหรือความเข้าใจของเรานี้มันถูกหรือผิดจากความเป็นจริงตามธรรมชาติ ดังนั้นความเห็นหรือความเข้าใจของเรานี้ จึงมีโอกาสที่จะเป็น ความเห็นผิด หรือ ความเห็นถูก ก็ได้ จนกว่าเราจะได้นำเอาความเห็นหรือความเข้าใจนั้นมาพิสูจน์ด้วยการทดลองซ้ำๆ จนพบความจริงว่ามันตรงกับความเห็นหรือความเข้าใจของเราที่มีอยู่ จึงจะทำให้ความเห็นหรือความเข้าใจของเรานี้ มีหลักฐานมายืนยันว่าเป็น ความเห็นที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ แต่ถ้าเราพิสูจน์แล้วพบว่า มันไม่ตรงกับความเห็นของเรา ก็แสดงว่า ความเห็นของเรานั้น มันเป็น ความเห็นผิด จากความเป็นจริงของธรรมชาติ มิจฉาทิฏฐิ - ความเห็นผิด ความเห็น หรือความเข้าใจ ในเรื่องของชีวิตที่สำคัญ ที่เราควรศึกษาก็คือ ความเห็นหรือความเข้าใจว่าชีวิตของเรานี้มันเป็นอย่างไร? โดย ความเห็นผิด ในเรื่องของชีวิตที่สำคัญตามหลักพุทธศาสนานั้นสรุปได้ ๒ อย่าง คือ ๑. สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่ามีตัวตนสืบต่อไว้ได้เรื่อยไปไม่จบสิ้น ซึ่งก็ได้แก่ความเห็นว่า จิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้เป็นอัตตาหรือตัวตนอมตะที่ไม่มีวันตาย ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วเพื่อไปเกิดใหม่ได้ (หรือเกิดมีตัวตนใหม่ขึ้นมาแทนตัวตนเก่า) ซึ่งความเห็นว่ามีตัวตนอมตะนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า ตายแล้วมีตัวตนไปเกิดใหม่ รวมทั้งความเชื่อเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ ซึ่งความเชื่อนี้ก็ยังมีความดีอยู่บ้างในระดับศีลธรรม เพราะทำให้คนที่เชื่อเรื่องนี้ จะไม่ทำความชั่ว (เพราะกลัวตกนรกใต้ดิน) แต่จะทำความดี (เพราะอยากขึ้นสวรรค์บนฟ้า) แต่จะมีผลเสียอย่างมากตรงที่ไม่ทำให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ๒. อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นว่าขาดสูญ คือเป็นความเห็นว่าในชีวิตของคนเรานี้ ไม่มีตัวตนใดๆเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวตนอมตะหรือตัวตนชั่วคราวก็ตาม โดยคนที่มีความเห็นอย่างนี้เขาจะเชื่อว่า ทุกสิ่งขาดสูญ หรือ ไม่มีอะไรเลย คือ ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีผู้มีพระคุณฯ รวมทั้งเขายังเชื่อว่า ทำดีแล้วไม่มีผลใดๆเลย ทำชั่วก็ไม่มีผลใดๆเลย รวมทั้งเขายังเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติจนหลุดพ้นจากความทุกข์จนเป็นพระอริยะเจ้าไม่มี เป็นต้น ซึ่งคนที่มีความเห็นผิดเช่นนี้ เขาก็จะแสวงหาความสุขไปวันๆ โดยไม่สนใจเรื่องศีลธรรม เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีผลใดๆ และถ้าสังคมมีคนที่มีความเห็นผิดเช่นนี้มากๆ สังคมก็จะเดือดร้อนวุ่นวาย อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงนับว่าความเห็นผิดพวก อุจเฉททิฏฐิ นี้เป็นความเห็นผิดที่เลวร้ายมากกว่าความเห็นผิดพวก สัสสตทิฏฐิ เป็นอย่างมาก สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ หรือ ความเห็นที่ถูกต้อง ตามหลักพุทธศาสนานั้นก็คือความเห็นว่า ชีวิตของเรานี้มันเป็นอนัตตา คือมันไม่ได้สุดโต่งเป็นอัตตาหรือตัวตนอมตะอย่างพวก สัสสตทิฏฐิ แต่ก็ไม่ได้สุดโต่งเลยไปเป็นความเห็นว่า ไม่มีตัวตนใดๆเลย อย่างพวก อุจเฉททิฏฐิ ซึ่งความเห็นว่า ชีวิตของเราเป็นอนัตตา นี้ก็คือปัญญาขั้นเข้าใจ (จินตามยปัญญา) ที่พระพุทธเจ้าสอนให้นำเอามาปฏิบัติร่วมกับสมาธิ เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคนั่นเอง โดยสัมมาทิฏฐินี้เป็นความเห็นว่า ชีวิตของเรานี้ มันก็มีตัวตนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นแค่เพียง ตัวตนชั่วคราว ตราบเท่าที่เหตุและปัจจัยของมันยังมีอยู่เท่านั้น แต่เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันดับหายไป ตัวตนชั่วคราวนี้ก็จะดับหายตามไปด้วยทันที (ตามกฎอิทัปปัจจยตา) ดังนั้นชีวิตที่เกิดขึ้นมาทั้งหลาย จึงมีคุณค่าอย่างสมบูรณ์ตามที่สมมติกันขึ้นมา คือ มีพ่อ มีแม่ มีผู้มีพระคุณ ฯ ส่วนการทำดี-ทำชั่วนั้น ย่อมจะมีผลเสมอ แต่จะมีผลเฉพาะในชีวิตปัจจุบันเท่านั้น (คือทำดีก็สุขใจ ทำชั่วก็ร้อนใจ) ไม่ใช่ว่าจะไปมีผลเอาในชาติหน้าต่อเมื่อตายไปแล้วอย่างที่พวก สัสสตทิฏฐิ เชื่อกันอยู่ และก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผลใดๆเลยอย่างที่พวก อุจเฉททิฏฐิ เชื่อกันอยู่ รวมทั้งสัมมาทิฏฐิจะยอมรับว่า ผู้ที่ปฏิบัติจนหลุดพ้นจากความทุกข์จนเป็นพระอริยะเจ้านั้นมีจริง สรุปได้ว่า การที่เรามีสัมมาทิฏฐินี้ จะทำให้เราเป็นคนดีมีศีลธรรมอย่างมั่นคง อันจะทำให้เรามีชีวิตที่ปรกติสุข แต่ที่สำคัญก็คือการมีสัมมาทิฏฐิ ก็คือการมีปัญญา ที่สามารถนำมาปฏิบัติร่วมกับสมาธิ เพื่อดับทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าสอนได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญในการศึกษาพุทธศาสนาก็คือ เราจะต้องศึกษาให้เกิด สัมมาทิฏฐิ ขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก โดยการศึกษาชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจของเรา) ให้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตา (ความไม่ใช่อัตตาหรือตัวอมตะ) ให้ได้ และเมื่อเรามีสัมมาทิฏฐิแล้ว เราก็จะไม่มีความเห็นผิดที่สุดโต่งไปเป็น สัสสตทิฏฐิ หรือ อุจเฉททิฏฐิ อย่างที่ปุถุชนทั้งหลายของโลกเขามีกันอยู่ สัมมาทิฏฐิ ๒ ระดับ มีเรื่องที่เราควรรู้อีกเรื่องก็คือ สัมมาทิฏฐิ หรือ ความเห็นที่ถูกต้องนี้มีอยู่ ๒ ระดับ คือ สัมมาทิฏฐิระดับโลกียะ กับ สัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระ โดยสัมมาทิฏฐิระดับโลกียะนั้นก็คือ ความเห็นที่ถูกต้องในระดับโลกๆ อันได้แก่ความเห็นว่า พ่อ-แม่มี ครูอาจารย์มี (คือมีพระคุณ) ทานที่ให้แล้วมีผล ชาติที่แล้วมี ชาตินี้มี ชาติหน้ามี การเวียนว่ายตายเกิดมี กรรมและผลของกรรมมี นรกมี สวรรค์มี เทวดา นางฟ้า ฯ มี พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วมี เป็นต้น ความเห็นที่ถูกต้องระดับโลกียะนี้ ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องในระดับศีลธรรมนั่นเอง คือเป็นความเห็นที่ดี ที่ทำให้ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้เป็นคนดีมีศีลธรรม แล้วก็ทำให้คนดีนี้มีชีวิตที่ปกติสุข และไม่มีความเดือดร้อนทางร่างกาย รวมทั้งถ้าผู้คนในสังคมมีสัมมาทิฏฐิระดับโลกียะนี้กันมากๆ สังคมก็จะสงบสุขได้ รวมทั้งถ้ามนุษย์ส่วนมากของโลกมีสัมมาทิฏฐิระดับโลกียะนี้กันมากๆ โลกก็จะมีสันติภาพได้ ซึ่งการที่จะเกิดสัมมาทิฏฐิระดับโลกียะขึ้นมาได้นั้น จะต้องใช้ความเชื่อในการสร้างให้เกิดขึ้น ซึ่งในทุกศาสนาของโลก ก็ล้วนมีสัมมาทิฏฐิระดับโลกียะนี้อยู่แล้วด้วยกันทั้งสิ้น แต่สัมมาทิฏฐิระดับโลกียะนี้ ยังไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันได้ เพราะยังไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ คือมันยังเป็นแค่เพียงความเห็นที่ถูกต้องตามที่ชาวโลกหรือสังคมเขาลงมติกันว่ามันดีหรือถูกต้องเท่านั้น ส่วนสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระก็คือ ความเห็นที่ถูกต้องระดับเหนือโลก คือเป็นความเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมมาทิฏฐิระดับโลกียะเขายึดถือกันว่ามีอยู่จริงนั้น แท้จริงแล้วมันเป็น สุญญตา คือ ว่างเปล่าจากตัวตนของมันเอง โดยสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตระนี้จะเกิดขึ้นมาได้ จะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษาร่างกายและจิตใจของเราเอง จนเกิดปัญญาขั้นเข้าใจและเห็นแจ้งขึ้นมา ซึ่งปัญญานี้เองที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำมาปฏิบัติร่วมกับสมาธิเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ธาตุ ๖ เรื่องพื้นฐานที่เราควรรู้อีกเรื่องก็คือ เรื่องธาตุ ๖ คือคำว่า ธาตุ ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง คุณสมบัติของสิ่งทั้งหลายของธรรมชาติ โดยธาตุทั้งหลายของโลกก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ สังขตธาตุ คือ ธาตุที่ยังมีการปรุงแต่ง (คือทั้งตัวของมันเองก็เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาจากสิ่งอื่น และตัวของมันก็ยังสามารถปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นขึ้นมาได้อีก) กับ อสังขตธาตุ คือธาตุที่ไม่มีการปรุงแต่ง (คือทั้งตัวของมันเองก็ไม่เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาจากสิ่งอื่น และตัวของมันก็ยังไม่ปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นขึ้นมาได้) โดย อสังขตธาตุ ก็ได้แก่ นิพพาน (ความสงบเย็นของจิต) นอกนั้นจะเป็น สังขตธาตุ หมด โดย สังขตธาตุ ที่เป็นพื้นฐานมาปรุงแต่งให้เกิด สิ่งปรุงแต่ง ทั้งหลายขึ้นมาในโลกและในจักรวาลนั้นก็มีอยู่ ๖ ธาตุ อันได้แก่ ๑. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน หมายถึง คุณสมบัติที่ค่อนแข็ง ๒. อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ หมายถึง คุณสมบัติที่เหลว เกาะกุมตัวเอง ๓. เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ หมายถึง คุณสมบัติที่ร้อน ทำลาย ๔. วาโยธาตุ คือ ธาตุลม หมายถึง คุณสมบัติที่บางเบา ลอยได้ เคลื่อนไหวได้ ๕. อากาสธาตุ คือ ธาตุว่าง หมายถึง คุณสมบัติที่ว่าง หรือเป็นที่อยู่อาศัย ๖. วิญญาณธาตุ คือ ธาตุวิญญาณ หมายถึง คุณสมบัติที่รับรู้สิ่งต่างๆได้ วัตถุและสิ่งของรวมทั้งพลังงานทั้งหลายของธรรมชาตินั้น เกิดมาจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งธาตุทั้ง ๔ นี้จัดว่าเป็นรูปธาตุ โดยรูปธาตุนี้จะต้องอาศัยธาตุว่าง (สุญญากาศ) เป็นที่อยู่อาศัย ถ้าไม่มีธาตุว่าง รูปธาตุก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย (คือไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้) ส่วน วิญญาณธาตุ หรือ ธาตุวิญญาณ ก็คือ การรับรู้ที่เกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ของเรานี่เอง โดยเรามักเรียกวิญญาณธาตุนั้นสั้นๆว่า วิญญาณ ที่แปลว่า การรับรู้ ซึ่งวิญญาณนี้ จะต้องอาศัยระบบการรับรู้ของร่างกายที่ยังดีอยู่กับสิ่งภายนอกที่ตรงกันมากระทบกัน จึงจะทำให้เกิดวิญญาณหรือการรับรู้ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นได้ เช่น เมื่อมีรูปมากระทบตา ก็จะทำให้เกิดวิญญาณทางตา หรือเกิดการเห็นรูปขึ้นมาที่ตานั้นทันที หรือเมื่อมีเสียงมากระทบหู ก็จะเกิดวิญญาณทางหู หรือเกิดการได้ยินเสียงขึ้นมาที่หูนั้นทันที เป็นต้น อีกอย่างสิ่งทั้งหลายของธรรมชาตินั้นก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ สิ่งที่ไม่มีชีวิต กับ สิ่งที่มีชีวิต โดย สิ่งที่ไม่มีชีวิต นั้นก็ได้แก่ วัตถุและสิ่งของทั้งหลายที่ไม่มีจิต (จิตก็คือสิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) ส่วน สิ่งที่มีชีวิต ก็คือสิ่งที่มีจิต (คือมีความรู้สึกนึกคิดได้) ซึ่งสิ่งที่มีชีวิตนั้นก็ได้แก่ ร่างกายของคน สัตว์ พืช ที่ยังไม่ตาย ซึ่งจิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ก็เกิดมาจาก การทำงานของสมอง (คือหน่วยประมวลผล) โดยมี วิญญาณ เป็นไฟฟ้าที่วิ่งอยู่ในสมอง จึงทำให้เกิดจิตหรือใจของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีร่างกายของสิ่งที่มีชีวิต หรือสมองเสียหาย จิตหรือใจของสิ่งที่มีชีวิตก็จะไม่เกิดขึ้น ชีวิตเริ่มต้นเกิดมาจากไหน? เราได้ศึกษามาแล้วว่าพื้นฐานที่มาปรุงแต่งให้เกิด สิ่งที่ไม่มีชีวิต ทั้งหลายขึ้นมาในโลกนั้นก็ได้แก่ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม โดยธาตุทั้ง ๔ นี้มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ และก็ไม่ได้เป็นธาตุเฉพาะของใครหรือของสิ่งใดๆทั้งสิ้น แต่ความมหัศจรรย์มันอยู่ที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนี้มันเป็น สังขตธาตุ คือเป็นธาตุที่มีการปรุงแต่ง ดังนั้นเมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้บังเอิญพบกันเข้า มันจึงเกิดการปรุงแต่ง ให้เกิดเป็นวัตถุสิ่งของและพลังงานทั้งหลายขึ้นมาในโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ที่น่าอัศจรรย์ที่สุดก็คือ ธาตุทั้ง ๔ นี้ มันสามารถปรุงแต่งกันให้เกิดเป็นเนื้อเยื่อพิเศษ (คือโปรตีน) ขึ้นมา ซึ่งเนื้อเยื่อพิเศษนี้เอง ที่เมื่อมันได้กระทบกับสิ่งใด มันก็เกิดธาตุพิเศษชนิดหนึ่งขึ้นมาได้ที่เนื้อเยื่อพิเศษนั้น ซึ่งธาตุพิเศษนี้ก็คือ วิญญาณธาตุ (หรือการรับรู้) ซึ่งการเกิดวิญญาณธาตุขึ้นมานี้เอง ที่เป็นพื้นฐานให้เกิดจิต (หรือใจ) ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายขึ้นมา รวมทั้งจิตใจของมนุษย์ด้วย แต่ที่มหัศจรรย์ที่สุดก็คือ เมื่อเกิดจิตขึ้นมาเมื่อใด มันก็จะเกิด ความรู้สึกว่ามีตนเอง ขึ้นมาด้วยเสมอ ซึ่ง ความรู้สึกว่ามีตนเอง นี้นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็น สัญชาติญาณพื้นฐานของชีวิต คือทุกชีวิตจะต้องมีความรู้สึกว่ามีตนเองอยู่ด้วยเสมอ เพื่อให้ทุกชีวิตรักตนเอง แล้วมันจะได้พยายามเอาตัวรอด ด้วยการหาอาหาร กินอาหาร หนีภัย สืบพันธ์ รักลูก เลี้ยงลูก เป็นต้น ถ้าสิ่งมีชีวิตใดไม่มีสัญชาติญาณนี้ มันก็จะสูญพันธ์ไปจากโลกทันที ซึ่งสัญชาติญาณว่ามีตนเองนี้เอง ที่ทำให้จิตทั้งหลายเกิด ความรู้ที่ผิด ขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นก็คือความรู้ว่า จิตนี้คือตนเอง หรือ จิตนี้คือตัวเรา (ซึ่งเราก็ได้ศึกษามาแล้วว่ามันไม่ได้มีตนเองหรืออัตตาอยู่จริง) ซึ่งความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตนเองนี้เอง ที่พุทธศาสนาเรียกว่า อวิชชา ที่หมายถึง ความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา ซึ่งอวิชชานี้เองที่เป็นต้นเหตุทำให้จิตของมนุษย์เกิดความทุกข์ขึ้นมา ตามหลักปฏิจจสมุปบาท จบภาคที่ ๓ |