บทที่ ๒ อริยสัจ ๔ สรุปแล้วมนุษย์อยากได้อะไร? มนุษย์ทั้งหลายนั้นอยากรู้ว่าชีวิตเกิดมาจากไหน? เกิดมาได้อย่างไร? เกิดมาทำไม? และอะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิต? ซึ่งการที่จะเข้าเรื่องของชีวิตว่า เราเกิดมาทำไม? เป็นต้น ได้อย่างถูกต้องนั้น จะต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบไปตามลำดับ จึงจะเกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการศึกษาอย่างเป็นระบบนั้น เริ่มต้นเราจะต้องพิจารณาจากชีวิตของเราเองก่อนว่า สรุปแล้วเราอยากได้อะไร? ซึ่งเราอาจจะคิดว่าเราอยากได้นั่นอยากได้นี่มากมาย แต่สรุปแล้วทุกสิ่งที่เราอยากจะได้นั้นก็คือ สิ่งที่ให้ความสุขนั่นเอง คือคนเรานั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็อยากมีความสุข และอยากได้สิ่งที่ให้ความสุข รวมทั้งอยากอยู่กับสิ่งที่ให้ความสุขนั้นตลอดไป ซึ่งเมื่อเราเข้าใจเรื่องพื้นฐานนี้แล้ว จึงค่อยๆศึกษาเรื่องที่สูงขึ้นต่อไป ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเรานั้นเกิดมาทำไม? สรุปแล้วความสุขที่คนเราอยากได้นั้นก็แยกได้ ๒ อย่าง อันได้แก่ ๑. ความสุขที่อาศัยวัตถุนิยม ซึ่งวัตถุนิยมก็ได้แก่สิ่งที่ชาวโลกชื่นชอบ อันได้แก่ ๑.๑ กามารมณ์ คือสิ่งที่น่ารักน่าใคร น่ากำหนัดยินดี ที่มาจากรูปที่สวยงาม, เสียงที่ไพเราะ, กลิ่นที่หอมหวน, รสที่เอร็ดอร่อย, และสิ่งที่มาสัมผัสกายที่อ่อนนุ่ม - เย็นสบาย โดยมีเรื่องทางเพศเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด ๑.๒ วัตถุสิ่งของ เช่น บ้าน, รถยนต์, ที่ดิน, เสื้อผ้า, มือถือ, คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นวัตถุที่ไม่ใช่กามารมณ์ ๑.๓ เกียรติยศ เช่น ความเด่น, ดัง, ยศ, อำนาจ, ชื่อเสียง เป็นต้น ๒. ความสุขที่ไม่อาศัยวัตถุนิยม ซึ่งได้แก่เรื่องการทำความดีทั้งหลาย เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน การเสียสละ การเป็นคนซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตน กตัญญูกตเวที รวมทั้งจากการปฏิบัติหน้าที่การงานที่สุจริต และ การฝึกสมาธิ เจริญวิปัสสนา เป็นต้น ตามปกติคนเรานั้นจะพอใจในความสุข แต่คนทั่วไปจะพอใจและติดใจในความสุขจากวัตถุนิยมเสียเกือบทั้งหมด ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่จึงได้พยายามที่จะศึกษาเล่าเรียนและประกอบอาชีพการงาน รวมทั้งแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน เอารัดเอาเปรียบกัน เบียดเบียนก้น และแม้ทำร้ายกันโดยไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยความเห็นแก่ตัวจัด ก็เพื่อให้ได้ความสุขจากวัตถุนิยมนี้ จะมีก็ส่วนน้อยที่ชื่นชอบความสุขที่ไม่อาศัยวัตถุนิยม อันได้แก่ความสุขจากการทำความดีของคนที่ไม่เห็นแก่ตัว (หรือเห็นแก่ตัวน้อย) ซึ่งก็ได้แก่การช่วยเหลือคนอื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ (คือไม่หวังผลตอบแทนใดๆแม้คำว่าขอบคุณ) และจากการเป็นคนซื่อสัตย์ จากการไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น รวมทั้งความสุขที่สงบประณีตจากการฝึกจิตให้มีสมาธิและจากการมองโลกอย่างชาญฉลาด (การมองโลกอย่างชาญฉลาดก็คือการเจริญวิปัสสนา) เป็นต้น นี่เองที่ทำให้โลกมีแต่ความวุ่นวายเพราะคนดีมีน้อย สรุปได้ว่าปกติมนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วก็อยากได้ความสุข ซึ่งความสุขของคนทั่วไปก็คือความสุขจากการมีร่างกายที่น่าชม (คือชายหล่อ หญิงสวย) แข็งแรง ไม่มีโรค และมีเพศตรงข้ามมาบำรุงบำเรอ รวมทั้งอยากมีทรัพย์สมบัติและข้าทาสบริวาร และอยากมีชื่อเสียงเกียรติยศเหนือคนอื่น อยากมีอำนาจในหมู่มนุษย์ ซึ่งความอยากสูงสุดของมนุษย์ก็คือ อยากมีชีวิตที่เป็นอมตะ (หรือนิรันดร) หรืออยากมีตัวตน (อัตตา) ที่มีความสุขไปชั่วนิรันดร สรุปแล้วมนุษย์กลัวอะไร? แต่ธรรมชาติ (ธรรมดา) ของโลกอย่างหนึ่งคือ ความเป็นของคู่ คือเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นมา ก็จะต้องมีอีกสิ่งที่ตรงข้ามกันเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ อย่างเช่น เมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่าง เมื่อขาวก็ต้องมีดำ เมื่อมีชายก็ต้องมีหญิง เมื่อดีก็ต้องมีชั่ว เมื่อมีเกิดก็ต้องมีดับ และเมื่อมีความสุขก็ต้องมีความทุกข์เป็นของคู่กัน เป็นต้น ซึ่งความสุขนั้นเป็นความรู้สึกที่ทนได้ง่ายหรือทนได้สบาย ดังนั้นคนทั้งหลายจึงได้พอใจ (อยากได้) และติดใจ (หลงใหล) ในความสุข และพยายามแสวงหาสิ่งที่จะให้ความสุขมาให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่อมีความสุขก็ต้องพบกับสิ่งที่คู่กับความสุขอันได้แก่ความทุกข์อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งความทุกข์นั้นเป็นความรู้สึกที่ทนได้ยาก (หรือทนได้ลำบาก) ดังนั้นมนุษย์ทั้งหลายจึงได้กลัวความทุกข์ (ความกลัวก็คือความไม่อยากได้อย่างรุนแรง) และพยายามที่จะทำลายและหนีสิ่งที่จะทำให้เกิดความทุกข์ รวมทั้งมองความทุกข์ว่าเป็นภัยอันใหญ่หลวงของชีวิต สรุปได้ว่าสิ่งที่มนุษย์เกลียด-กลัวก็คือความทุกข์ เพราะความทุกข์เป็นความรู้สึกที่ทรมานหรือทนได้ยาก โดยเฉพาะความทุกข์จากความพลัดพรากและความตาย ซึ่งเป็นความทุกข์ที่ร้ายแรงและน่ากลัวที่สุดของมนุษย์ ดังนั้นจึงเท่ากับว่า ความทุกข์เป็นภัย (สิ่งที่น่าสะพรึงกลัว) ของมนุษย์ โดยมีความพลัดพรากและความตายเป็นภัยอันใหญ่หลวงของมนุษย์ ซึ่งการที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ก็เพื่อมาสอนให้มนุษย์รู้จักวิธีการปฏิบัติ เพื่อที่จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ที่เป็นภัยอันใหญ่หลวงของชีวิตนี่เอง ความทุกข์คืออะไร? ความทุกข์นี้สรุปแล้วก็คือความรู้สึกที่ทนได้ยาก ซึ่งเมื่อความทุกข์เป็นความรู้สึกที่ทนได้ยาก ดังนั้นความทุกข์จึงเป็นความรู้สึกที่ทรมาน ซึ่งชีวิตของเรานี้ก็ประกอบด้วยร่างกายกับจิตใจ ซึ่งจิตใจนั่นเองที่เป็นผู้รับรู้ความทรมาน แต่เมื่อความทรมานนี้สามารถเกิดขึ้นที่ร่างกายก็ได้ โดยจิตใจก็มารับรู้ความทรมานนั้นอีกดี รวมทั้งจิตใจเองก็สามารถเกิดความทรมานขึ้นมาได้โดยตรง ดังนั้นความรู้สึกทรมานจึงแยกได้ ๒ อย่าง คือ ความรู้สึกทรมานกาย กับ ความรู้สึกทรมานใจ ความรู้สึกทรมานกายนั้นก็ได้แก่ ความรู้สึกเจ็บ-ปวด หรือความรู้สึกไม่สบายกาย และความรู้สึกหนัก-เหนื่อย เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย แรงดึง แรงดัน แรงฉีก แรงกระทบ ความอึดอัด และโรคต่างๆ รวมทั้งจากการทำร้ายจากคนหรือสัตว์ด้วย เป็นต้น คือสรุปแล้วความทรมานกายนี้คือ การที่ระบบประสาทของเนื้อเยื่อของอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ได้รับรู้สิ่งรุนแรงที่มากระทบ แล้วทำให้จิตใจรู้สึกถึงความทรมานของเนื้อเยื่อของอวัยวะของร่างกายนั่นเอง ความรู้สึกทรมานใจนั้นก็ได้แก่ ความรู้สึกเศร้าโศก (หรือความเสียใจ), ความรู้สึกคับแค้นใจ (ร้อนใจ), ความรู้สึกแห้งเหี่ยวใจ (ความตรอมใจ), ความรู้สึกหนัก-เหนื่อยใจ (ความไม่สบายใจ), รวมทั้งความเครียด (ความกลุ้มใจ), และความซึมเศร้า เป็นต้น ที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง (กระทำ) ของจิตใต้สำนึก ที่ปรุงแต่งให้เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง (หรือความยินดี-ยินร้าย ที่เรียกว่า กิเลส หรือ ตัณหา) ขึ้นมา คือเมื่อเกิดความสุข ก็จะเกิดความพอใจ (หรือยินดี หรืออยากได้ หรือรัก ชอบ เป็นต้น) แต่พอเกิดความรู้สึกทรมานกายหรือเมื่อจิตใจได้รับรู้เรื่องราวที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจ ก็จะเกิดความไม่พอใจ (หรือยินร้าย หรือไม่อยากได้ หรือโกรธ เกลียด กลัว เบื่อ เป็นต้น) สรุปได้ว่า มนุษย์ทั้งหลายเกลียด (อยากทำลาย) และกลัว (อยากหนี) ความรู้สึกทรมาน เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ทนได้ยาก ซึ่งความรู้สึกทรมานนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยอ้อมจากร่างกาย คือ จากความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย เป็นต้น และเกิดขึ้นโดยตรงจากจิตใจเอง คือจากความพอใจ-ไม่พอใจ ที่เป็นอาการของกิเลสจากจิตใต้สำนึก ซึ่งความรู้สึกทรมานกายนั้นยังไม่จัดว่าเป็นความทุกข์ที่แท้จริง เพราะความทรมานกายนั้นยังไม่ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรง จนกว่าจิตใจ (คือจิตใต้สำนึก) จะเกิดความไม่พอใจ (หรือยินร้าย หรือไม่อยากได้) ในความทรมานกายนั้นขึ้นมา จึงจะเกิดเป็นปัญหาที่ร้ายแรง เพราะมันทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกทรมานที่รุนแรงซ้อนขึ้นมา ด้วยความโง่สูงสุด (อวิชชา) ของจิตใจเอง ซึ่งเราจะได้ศึกษากันต่อไป ความทุกข์คือภัยอันใหญ่หลวงของมนุษย์ ภัย คือสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างยิ่ง เพราะภัยจะนำความรู้สึกทรมานมาให้แก่ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยภัยของร่างกายก็คือความความเจ็บ-ปวด หรือทรมาน จากการกระทำจากสิ่งภายนอกบ้าง เช่น จากความหนาว ความร้อน เป็นต้น รวมทั้งจากความหิว ความกระหาย และจากความแก่ ความเจ็บป่วย และความตายของร่างกายเองบ้าง เป็นต้น ส่วนภัยของจิตใจก็คือความรู้สึกเศร้าโศกหรือเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวตรอมใจ ความไม่สบายใจ ความเครียด เป็นต้น ที่จิตใต้สำนึกมันปรุงแต่งขึ้นมาเอง ความรู้สึกทรมานกายนั้น มันเป็นธรรมชาติของร่างกาย ที่จะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอทุกร่างกาย ที่ไม่ใครสามารถแก้ไขได้ คือร่างกายของทุกคนจะต้อง เจ็บ-ปวด, ป่วย-ไข้, แก่, และตาย ไปตามธรรมชาติ เราจะทำได้ก็เพียงป้องกันหรือระวังไม่ให้เกิดขึ้นรุนแรง หรือบรรเทาให้มันเบาบางลงหรือช้าลงบ้างเท่านั้น ดังนั้นร่างกายของเราจึงต้องพบกับความเจ็บ-ปวด, ป่วย-ไข้, แก่, และตาย อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และร่างกายของคนอื่นๆ เช่น คนที่เรารัก เป็นต้น ก็ต้องพบกับความเจ็บ-ปวด, ป่วย-ไข้, แก่, และตาย อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเหมือนกัน ส่วนความรู้สึกทรมานใจ อันได้แก่ ความเศร้าโศกหรือเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวตรอมใจ ความไม่สบายใจ และความเครียด เป็นต้น นั้น มันไม่ใช่ธรรมชาติที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ คือมันอาการที่จิตใต้สำนึก (จิตใต้สำนึกคือจิตส่วนลึกที่ควบคุมได้ยาก ที่เกิดมาจากความเคยชินที่จิตได้สั่งสมมาตลอดทั้งชีวิต แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงจิตใต้สำนึกได้ด้วยการสร้างความเคยชินให้จิตใหม่ เพื่อทำให้ความเคยชินเก่าหายไปเอง) มันปรุงแต่งให้เกิดเป็นความพอใจ-ไม่พอใจ (ที่เรียกว่ากิเลสหรือตัณหา) ขึ้นมาเอง ความรู้สึกทรมานใจนี้เป็นธรรมชาติที่เราสามารถแก้ไขได้ โดยการแก้ไขที่จิตใต้สำนึกนั่นเอง ถ้าเราสามารถแก้ไขจิตใต้สำนึก ให้ความเคยชินของกิเลสลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้อย่างถาวร ก็เป็นที่แน่นอนว่า ความรู้สึกทรมานใจที่เกิดขึ้นมาจากกิเลส ก็จะลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลยอย่างถาวรได้ และเมื่อความรู้สึกทรมานใจไม่เกิดขึ้น ความรู้สึกทรมานกายก็จะไม่เป็นปัญหา คือไม่ทำให้จิตใจเกิดความรู้สึกทรมานที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่า ความรู้สึกทรมานกายทั้งหลายนั้น ไม่ใช่ภัยที่แท้จริงของชีวิตเลย เพราะภัยที่แท้จริง ที่เป็นภัยอันใหญ่หลวงของชีวิตมนุษย์นั้นก็คือ ความทรมานใจ นี่เอง ซึ่งคำว่า ความทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นก็หมายถึง ความรู้สึกทรมานใจ นี่เอง (เราไม่ควรเรียกความรู้สึกทรมานกายว่าเป็นความทุกข์กาย เพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าสอน จึงขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย) ทุกข์เปิดเผย -ทุกข์ซ่อนเร้น จากการที่เราได้ศึกษามาทั้งหมดก็สรุปได้ว่า มนุษย์เราอยากได้ความสุข แต่เกลียดกลัวความทุกข์ แต่เมื่อมีความสุข ก็ต้องพบกับความทุกข์เป็นธรรมดา เพราะมันเป็นของคู่กัน ซึ่งสิ่งที่เป็นภัยหรือสิ่งที่น่าหวาดกลัวที่สุดก็คือความทุกข์ (หรือความทรมานใจ) ที่เกิดขึ้นมาจากกิเลสที่เป็นการปรุงแต่งของจิตใต้สำนึกของเราเอง ถ้าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์เลยได้ ก็นับว่าเรานั้นได้รับสิ่งสูงสุด (คือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดหรือเป็นประโยชน์ที่สุด) สำหรับชีวิตแล้ว เมื่อรู้จักว่าความทุกข์คือภัยอันใหญ่หลวงของชีวิตแล้ว ต่อไปเราก็ต้องรู้จักว่าความทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นอย่างไร คือความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น ก็ได้แก่ ความเศร้าโศกหรือเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวตรอมใจ ความไม่สบายใจ ความเครียด เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความพอใจและไม่พอใจ (กิเลสหรือตัณหา) ในสิ่งต่างๆของธรรมชาติ ซึ่งความทุกข์นี้เมื่อศึกษาอย่างละเอียดก็จะพบว่ามี ๒ ชนิด คือ ความทุกข์เปิดเผย กับ ความทุกข์ซ่อนเร้น ความทุกข์เปิดเผยก็คือความรู้สึกทรมานใจ ที่เกิดมาจากกิเลสพวกความไม่พอใจ (หรือความยินร้าย หรือความไม่อยากได้ หรือความโกรธ เกลียด กลัว เบื่อหน่าย รำคาญใจ ฯ) แล้วทำให้จิตของเราเกิดความเศร้าโศกหรือเสียใจ หรือความแห้งเหี่ยวใจ หรือความไม่สบายใจ เป็นต้นขึ้นมา ซึ่งเมื่อสรุปแล้วความทุกข์เปิดเผยนี้ก็ได้แก่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังเจ็บ หรือป่วย, หรือแก่, หรือกำลังจะตาย, หรือกำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่, หรือกำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่ไม่รักอยู่, หรือกำลังผิดหวังอยู่ (คือเมื่ออยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามที่อยากจะได้) ซึ่งสรุปแล้วความทุกข์เปิดเผยก็คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้มีความไม่พอใจ หรือกำลังร้องไห้ด้วยความเสียใจอยู่ นั่นเอง ส่วนความทุกข์ซ่อนเร้นนั้นก็คือความรู้สึกทรมานใจ ที่เกิดมาจากกิเลสพวกความพอใจ (หรือยินดี หรือรัก ชอบ อยากได้ ติดใจ ฯ) แล้วทำให้จิตของเราเกิดความรู้สึกทรมานจากความหนัก-เหนื่อย, หรือกระวนกระวาย, หรือเร่าร้อนใจ, ไม่สงบ, ไม่ปกติ, ไม่เย็น, ไม่เบาสบาย, ไม่ปลอดโปร่ง, ไม่สดชื่นแจ่มใส เป็นต้น อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อสรุปแล้วความทุกข์ซ่อนเร้นนี้ก็ได้แก่ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดถือว่าตัวเราที่กำลังมีความสุข (จากกามารมณ์ หรือจากรูปารมณ์ หรือจากอรูปารมณ์ หรือจากธรรมารมณ์) อยู่ (คือเมื่ออยากจะได้สิ่งใดแล้วก็ได้สิ่งนั้นตามที่อยากจะได้) ซึ่งเมื่อสรุปแล้วความทุกข์เปิดเผยนี้ก็คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้มีความพอใจ หรือกำลังยิ้มหรือหัวเราะอยู่ด้วยความความดีใจ นั่นเอง สรุปได้ว่า ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นก็มีทั้งความทุกข์เปิดเผยที่เห็นได้ง่าย และความทุกข์ซ่อนเร้นที่เห็นได้ยากที่เราต้องสังเกตจึงจะพบ ซึ่งเรามักไม่คิดว่าความทุกข์ซ่อนเร้นนี้คือความทุกข์ เพราะมันมีความสุขมาห่อหุ้มความทุกข์เอาไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์เปิดเผยหรือความทุกข์ซ่อนเร้น มันก็ให้ความรู้สึกทรมานใจเท่าๆกันนั่นเอง เหมือนกับว่าเราแบกของสองอย่างที่หนักเท่าๆกัน ซึ่งของอย่างหนึ่งเรารัก แต่ของอีกอย่างหนึ่งเราเกลียด ซึ่งเราจะรู้สึกหนักเฉพาะกับของที่เราเกลียดเท่านั้น ส่วนของที่เรารักนั้นเรากลับไม่รู้สึกว่ามันหนัก เพราะมีความสุขมาหลอกให้เราลืมความรู้สึกหนักไป ซึ่งแท้จริงแล้วของทั้งสองนั้นมันก็ให้ความหนักแก่ร่างกายของเราเท่าๆกันนั่นเอง เมื่อยึดมั่นก็เป็นทุกข์ อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ หรือ ความยึดมั่นถือมั่น คือเป็นอาการของจิตที่ไปแบกไปหามเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ด้วยความรักหรือความพอใจ (คือด้วยกิเลส) ซึ่งสิ่งจิตไปยึดถือเอาไว้นั้นก็สรุปอยู่ที่ การยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา และยึดถือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา (เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง สามีหรือภรรยา ลูก และทรัพย์สมบัติ หรือวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย รวมทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียง ความเด่นดัง และความเห็น เป็นต้น) ว่าเป็นของเรา อย่างที่เราชอบเรียกรวมๆกันว่า ตัวเรา-ของเรา นั่นเอง (บางคนที่โง่น้อยหน่อยก็ยึดถือว่าจิตใจคือตัวเรา แล้วยึดถือเอาร่างกายกับสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าเป็นของเราแทน) ความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเรานี้เอง ที่เป็นความทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะความยึดมั่นก็คืออาการที่จิตเกิดความพอใจหรือไม่พอใจ (ซึ่งก็คือกิเลส) ต่อร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย คือเมื่อจิตเกิดความพอใจในร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น มีร่างกายที่สุขสบาย แข็งแรง สง่างาม, มีคู่ครองที่สวยงาม, มีลูกน่ารัก, มีพ่อแม่ที่ดี, มีทรัพย์สมบัติสิ่งของมากมาย, มีเกียรติยศชื่อเสียง มีอำนาจ มีความดี เป็นต้น ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังมีความพอใจอยู่กับสิ่งที่เป็นของเรา ซึ่งขณะที่กำลังมีความพอใจอยู่นี้ จิตของเราก็จะเกิดความรู้สึกหนัก-เหนื่อย เร่าร้อน กระวนกระวาย ขุ่นมัว ไม่สงบ ไม่ปกติ ไม่เบาสบาย เป็นต้น ที่เรียกว่าเป็น ความทุกข์ซ่อนเร้น อยู่ด้วยตลอดเวลา แต่เมื่อจิตเกิดความไม่พอใจในร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น มีร่างกายที่เจ็บ-ปวด, หรือป่วย-ไข้, หรือพิการ, อ่อนแอ, ไม่น่าดู, หรือกำลังแก่, หรือกำลังจะตาย, หรือ หรือคนที่เรารัก (เช่น สามี หรือภรรยา หรือลูก หรือพ่อแม่ หรือญาติ หรือเพื่อน) ได้จากไป, หรือเมื่อเราต้องพบหรืออยู่ร่วมกับคนที่เราเกลียดหรือกลัว (เช่น ศัตรู หรือคนที่ชอบข่มเหงหรือเอาเปรียบเรา เป็นต้น), หรือเมื่อเราอยากได้เพศตรงข้าม หรือสิ่งของต่างๆ หรือเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น แต่ไม่ได้ตามที่เราอยากจะได้, หรือทรัพย์สมบัติ-สิ่งของได้สูญหายไป, หรือได้สูญเสียเกียรติยศชื่อเสียงหรืออำนาจ หรือความดีไป, หรือกลายเป็นคนยากจน-ต่ำต้อย-ด้วยเกียรติ เป็นต้น ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังมีความไม่พอใจอยู่กับสิ่งที่เป็นของเราขึ้นมาทันที ซึ่งขณะที่เรากำลังมีความไม่พอใจอยู่นี้ จิตของเราก็จะเกิดความเศร้าโศก-เสียใจ คับแค้นใจ แห้งเหี่ยวใจ หนัก-เหนื่อย ไม่สบายใจ รวมทั้งกระวนกระวายใจ ขุ่นมัว ไม่สงบ ไม่ปกติ ไม่เบาสบาย เป็นต้น ที่เรียกว่าเป็น ความทุกข์เปิดเผย อยู่ด้วยตลอดเวลา เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ สาเหตุที่ความยึดมั่นในร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าเป็นตัวเรา-ของเรา ทำให้เกิดความทุกข์นั้นก็เป็นเพราะ สิ่งที่จิตไปยึดมั่นด้วยความรักความพอใจนั้น เมื่อมันยังเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น คือยังมีร่างกายที่สุขสบาย แข็งแรง สง่างาม, มีคู่ครองที่สวยงาม, มีลูกน่ารัก, มีพ่อแม่ที่ดี, มีทรัพย์สมบัติสิ่งของมากมาย, มีเกียรติยศชื่อเสียง มีอำนาจ มีความดี เป็นต้นอยู่ จิตก็ยังมีความสุขอยู่ แม้จะมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ด้วยก็ตาม (แต่เราก็ชอบที่จะมีความสุขแม้จะมีความทุกข์ซ่อนอยู่ด้วยก็ตาม) แต่ธรรมชาติของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ที่มีความไม่เที่ยง และมีสภาวะที่ต้องทน เพราะความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของมัน จึงทำให้ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่จิตไปยึดถือนั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จิตไม่อยากจะให้เป็น คือร่างกายเจ็บ-ปวด, หรือป่วยไข้, หรือแก่, หรือกำลังจะตาย, หรือคนที่เรารักหรือสิ่งที่เรารักได้จากเราไป, หรือเราต้องพบหรืออยู่ร่วมกับคนหรือสิ่งที่เราเกลียด-กลัว, หรือเมื่อเราอยากจะได้สิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามที่เราอยากจะได้ เป็นต้น จึงทำให้จิตที่ยึดถือนี้เกิดความเศร้าโศก หรือเสียใจ หรือคับแค้นใจ หรือแห้งเหี่ยวใจ หรือหนัก-เหนื่อยใจ หรือไม่สบายใจ เป็นต้น ที่เป็นความทุกข์เปิดเผยขึ้นมาทันที แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตของเราไม่ยึดถือว่าร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าเป็นตัวเรา-ของเรา แม้สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม (คือทั้งน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม) จิตใจของเราก็จะไม่เกิดความทุกข์ใดๆ (คือทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น) ขึ้นมา (คือถ้ายึดถือน้อยหรือมีความอยากน้อย ก็ทุกข์น้อย ถ้าไม่ยึดเลยหรือไม่มีความอยากเลย ก็ไม่ทุกข์เลย) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ (ทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น) มันก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมของมัน คือความสงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบาสบาย ซึ่งเป็นลักษณะของ นิพพาน ที่แปลว่า เย็น (หรือสงบเย็น) ที่เป็นสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของจิตทั้งหลาย คือตามธรรมชาตินั้นนิพพานนี้มันก็มีประจำอยู่แล้วในจิตทั้งหลายตั้งแต่เกิดมาแล้ว แต่เพราะจิตเกิดกิเลสขึ้นมา จึงทำให้จิตเกิดความเศร้าหมองหรือสกปรกขึ้นมาปกปิดนิพพานเอาไว้ จึงทำให้จิตไม่สามารถสัมผัสนิพพานได้ แต่เมื่อกิเลสดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) จึงทำให้จิตกลับมาสัมผัสนิพพานได้อีก อริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า หลักคำสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ของพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า อริยสัจ ๔ ที่หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งก็ได้แก่ ๑. ทุกข์ ความจริงเรื่องของความทุกข์ ๒. สมุทัย ความจริงเรื่องสาเหตุของความทุกข์ ๓. นิโรธ ความจริงเรื่องความดับสิ้นไปของความทุกข์ ๔. มรรค หรือ อริยมรรค ความจริงเรื่องวิธีการปฏิบัติเพื่อความดับสิ้นไปของความทุกข์ ความทุกข์ ก็คือ ความทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบัน (ทั้งความทุกข์เปิดเผยและความทุกข์ซ่อนเร้น แต่เน้นไปที่ความทุกข์เปิดเผย) ที่แสดงออกมาเป็นความเศร้าโศก (หรือเสียใจ) หรือความคับแค้นใจ (อึดอัดใจ) ความแห้งเหี่ยวใจ (ความตรอมใจ) ความไม่สบายใจ (ความรำคาญใจ) หรือความหนักใจ (วิตกกังวล) เหนื่อยใจ (เครียด) และความเบื่อหน่าย เป็นต้น ที่เกิดมาพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ว่ามีตัวเราที่กำลังแก่, เจ็บ, จะตาย, หรือกำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่, หรือกำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รักอยู่, หรือกำลังผิดหวังอยู่ คือสรุปแล้ว ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ นี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเรานั่นเอง คือ ความทุกข์ (คำว่า ตัวเรา ในที่นี้เป็นแค่คำสมมติเรียกเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นตัวเราจริงๆ) ต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายก็คือ สัญชาติญาณว่ามีตนเอง หรือตัวเรา (สัญชาติญาณว่ามีตนเองนี้ก็คือ อวิชชา ที่หมายถึง ความไม่รู้ความจริงของชีวิตตามความเป็นจริง) โดยอวิชชานี้เองที่ปกติจะครอบงำจิตของมนุษย์ทุกคนเอาไว้ แล้วทำให้จิตของมนุษย์มีการปรุงแต่ง (ทำ) ให้เกิดความรู้สึกว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตนเองขึ้นมา (เกิดขันธ์ ๕ ) อยู่ตลอดเวลาที่จิตตื่นอยู่ และเมื่อจิตนี้ได้สัมผัสโลกผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็จะเกิดความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง ลังเลใจบ้าง ขึ้นมาทันที (เกิดกิเลสหรือตัณหา) พร้อมกันนั้นก็จะเกิดความยึดถือ (อุปาทาน) ว่าจิตใจและร่างกายที่รู้สึกว่าเป็นตนเองนี้คือตนเองจริงๆ (หรือเกิดความยึดถือว่าขันธ์ ๕ นี้คือตัวเรา-ของเรา) เมื่อมีความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมา ความทุกข์ของจิตใจประการต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมาด้วยทันที (ซึ่งเราจะได้ศึกษาเรื่องนี้กันโดยละเอียดต่อไป) ความดับสิ้นไปของความทุกข์ก็คือ ความสงบเย็นของจิตเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ คือเมื่อจิตของเราไม่มีความทุกข์ มันก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมของมัน นั่นก็คือ สงบ เย็น สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย (ที่เรียกว่านิพพาน-ความสงบเย็น) ซึ่งการที่จิตจะนิพพานได้นั้นก็เป็นเพราะจิตของเราไม่มีความความยึดถือ (อุปาทาน) เมื่อจิตไม่มีอุปาทาน มันก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีทุกข์ มันก็จะนิพพาน ซึ่งนิพพานนี้ก็มีทั้ง นิพพานขั้นต้น คือยังสงบเย็นไม่มาก และนิพพานสูงสุดคือสงบเย็นสูงสุด และนิพพานทั้งสองประเภทนี้ก็ยังมีทั้งชนิดชั่วคราว คือปรากฏเป็นครั้งคราวในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และถาวรคือตลอดชีวิตอีกด้วย (ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) มรรค (หรืออริยมรรค) ก็คือวิธีการปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ (หรือพ้นทุกข์) ซึ่งอริยมรรคนี้มีองค์ประกอบอยู่ ๘ องค์ประกอบ อันได้แก่ ๑. ความเห็นที่ถูกต้อง ๒. ความปรารถนาที่ถูกต้อง ๓. การพูดจาที่ถูกต้อง ๔. การกระทำทางกายที่ถูกต้อง ๕. การประกอบอาชีพที่ถูกต้อง ๖. ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง ๗. การมีสติที่ถูกต้อง และ ๘. การมีสมาธิที่ถูกต้อง ซึ่งองค์ประกอบทั้ง ๘ นี้ย่อลงได้เป็น ปัญญา ศีล สมาธิ (ซึ่งเรื่องปัญญา ศีล สมาธิ นี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) การศึกษาอริยสัจ ๔ นี้ จะต้องเริ่มศึกษาเรื่องความทุกข์ให้เข้าใจอย่างถูกต้องก่อน แล้วจึงค่อยไปศึกษาเรื่องสาเหตุของความทุกข์ แล้วจึงศึกษาเรื่องความพ้นทุกข์ และศึกษาเรื่องวิธีการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ไปตามลำดับ แต่ถ้าเรายังไม่รู้จักความทุกข์อย่างถูกต้องแล้วไปศึกษาเรื่องอื่นก่อน ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด (มีความเห็นผิด) ขึ้นมาได้ เพราะเมื่อเรารู้จักความทุกข์ผิด ก็จะทำให้เรารู้จักสาเหตุของความทุกข์ผิดตามไปด้วย แล้วก็จะรู้จักความพ้นทุกข์ผิดตามไปด้วย และรู้จักวิธีการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ผิดตามไปด้วยในที่สุด อริยสัจ ๔ นี้สรุปให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดก็สรุปได้ว่า เมื่อจิตของเราเกิดความยึดถือ (อุปาทาน) ขึ้นมาเมื่อใด จิตของเราก็จะเกิดความทุกข์ (คือความหนัก-เหนื่อยใจ, เสียใจ, คับแค้นใจ, แห้งเหี่ยวใจ, หรือไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นมาทันที แต่เมื่อใดที่จิตของเราไม่มีอุปาทาน จิตของเราก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็น (นิพพาน) ซึ่งวิธีการปฏิบัติเพื่อให้จิตนิพพาน (ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) นั้นก็สรุปอยู่ที่การใช้ปัญญา ศีล และสมาธิ มาทำงานร่วมกัน ต้องเห็นทุกข์ก่อน ในการศึกษาอริยสัจ ๔ นี้ จุดสำคัญที่สุดจุดแรกก็คือ ต้องเห็นทุกข์ก่อน ซึ่งการเห็นนี้ก็หมายถึง การที่จิตของเราได้รู้สึกถึงความทุกข์นี้จริงๆ (หรือรู้ซึ้งหรือรู้แจ้งหรือเห็นแจ้งในความทุกข์) ซึ่งการเห็นนี้ก็อาจจะเห็นโดยการพิจารณาถึงความทุกข์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตของชีวิตเราที่ผ่านมาก็ได้ หรืออาจเห็นจากความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่กับจิตใจของเราจริงๆในขณะนี้ก็ได้ ซึ่งการเห็นทุกข์นี้ก็คือการเห็นภัยหรือสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างยิ่ง ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราและของคนที่เรารัก ซึ่งเมื่อเราเห็นภัยหรือความทุกข์นี้แล้ว เราก็จะเกิดความกลัวในความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต (คือจากความแก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ผิดหวัง เป็นต้น) ที่จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอนในชีวิตของเราในไม่ช้า ซึ่งความกลัวนี้เองที่จะเป็นแรงกระตุ้น (ผลักดัน) ให้เรามาแสวงหาวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ (หรือไม่มีทุกข์ หรือดับทุกข์) ทั้งที่กำลังเกิดอยู่ และจะเกิดขึ้นในอนาคตของชีวิต สรุปได้ว่า การศึกษาอริยสัจ ๔ จะต้องเริ่มต้นที่การเห็นทุกข์ก่อน คือให้เรามาตั้งในพิจารณาดูที่จิตของเราเองจริงๆ ว่าความทุกข์นั้นมันเป็นอย่างไร มันรู้สึกทรมานจิตใจอย่างไร ซึ่งเราต้องพิจารณาให้มาก (คือพิจารณาอย่างจริงจังอยู่เสมอ) จนจิตเริ่มเกิดความกลัวความทุกข์ที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตของชีวิตอย่างแน่นอน ซึ่งความกลัวทุกข์นี้เองที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เรามาสนใจที่จะศึกษาอริยสัจ ๔ เพื่อที่จะได้รู้จักวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ที่น่าหวาดกลัวนี้ แต่ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ก่อน เราก็จะไม่เกิดความกลัวความทุกข์ในอนาคตและไม่มีแรงกระตุ้นให้มาศึกษาอริยสัจ ๔ เพื่อแสวงหาวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งก็จะทำให้เราไม่สนใจที่จะศึกษาอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า หรือถึงศึกษาก็ไม่ศึกษาอย่างจริงจัง หรือถึงศึกษาก็ศึกษาผิด เช่น ศึกษาเพื่อเอาความรู้ไปแสวงหาชื่อเสียงหรือทรัพย์ หรือเพื่อเอาไว้อวดกัน เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดการศึกษาที่ผิดพลาด แล้วเราก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการศึกษาอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า อุปาทานเกิดมาจากความเคยชินของจิตใต้สำนึก อุปาทานนี้ มันเกิดขึ้นมาจากการที่จิตของเราได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย สิ่งสัมผัสใจ โดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) แล้วเกิดความรู้สึก (เวทนา-ความรู้สึกต่อสิ่งที่มาสัมผัสจิต ซึ่งมี ๓ อย่างคือ ความรู้สึกสุข, ทุกข์, ไม่สุขไม่ทุกข์) ขึ้นมา ซึ่งถ้าในขณะที่สัมผัสนั้นจิตของเราไม่มีสติ-ปัญญา-สมาธิ (ตามหลักอริยมรรค) จึงทำให้จิตของเราเกิดความพอใจหรือไม่พอใจ (คือกิเลสหรือตัณหา) ขึ้นมาทันที ซึ่งความพอใจหรือไม่พอใจนี้เอง ที่ทำให้เกิดความยึดถือขึ้นมาว่ามีตัวเรา ที่เป็นผู้มีความพอใจหรือไม่พอใจขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งนี่ก็คืออาการที่เรียกว่าอุปาทานนั่นอง การที่จิตของเราเกิดกิเลส (และอุปาทาน) ขึ้นมาโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็วจนห้ามหรือหยุดมันไม่ได้นี้ เป็นเพราะความเคยชิน (อนุสัย) ของจิตเราที่เคยเกิดกิเลสขึ้นมาแล้วมากมายตั้งแต่เริ่มจำความได้ จึงทำความเคยชินนี้มีมากจนกลายเป็นนิสัยที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก (จิตใต้สำนึกคือจิตส่วนลึกที่บังคับไม่ได้และเปลี่ยนแปลงได้ยาก) ไปเสียแล้ว และเมื่อมีสิ่งภายนอกมาสัมผัสจิตอีก ก็จะทำให้จิตเกิดกิเลสขึ้นมาอีกได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วพร้อมความทุกข์ ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เกิดกิเลสนั้นก็คือ อวิชชา ที่ก็เป็นความเคยชินที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกด้วยเหมือนกัน (ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) สรุปได้ว่ากิเลสหรือตัณหา คือเหตุที่ทำให้เกิดความยึดถือ (อุปาทาน) ซึ่งความยึดถือนี่เองที่เป็นความทุกข์ในอริยสัจ ๔ โดยมีอวิชชา (หัวใจของอวิชชาก็คือความรู้ว่ามีตัวเรา) เป็นต้นเหตุให้เกิดกิเลสอีกที ซึ่งอวิชชานี้ก็เป็นความเคยชินที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ที่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็จะครอบงำจิต แล้วทำให้จิตเกิดการปรุงแต่ง (กระทำโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว) ให้เกิดกิเลสและอุปาทานขึ้นมาโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็วทันที ซึ่งหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านี่เอง ที่เป็นหลักปฏิบัติเพื่อที่จะระวังไม่ให้อวิชชาและกิเลสเกิดขึ้นมา (แม้ชั่วคราวก็ได้) แล้วก็ทำให้ความทุกข์ไม่เกิดขึ้น (แม้ชั่วคราว) รวมทั้งยังเป็นการปฏิบัติที่จะเข้าไปละลายหรือเปลี่ยนแปลงความเคยชิน (อนุสัย) ของอวิชชาและกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกได้อย่างถาวร (คือตลอดเวลาที่ยังมีจิตอยู่) อันจะทำให้จิตไม่กลับมาเกิดความทุกข์ได้อีกต่อไปอย่างถาวร (คือตลอดชีวิต) และจิตก็จะนิพพาน (สงบเย็น) ได้อย่างสูงสุด (คือเย็นสนิท) และ ถาวร (คือตลอดชีวิต) การเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ การอ่านหรือฟังอริยสัจ ๔ ที่ถูกต้องมาแล้วก็จำได้นั้น ยังจัดว่าเป็นแค่ความรู้ที่จำได้เท่านั้น ซึ่งยังไม่มีผลอะไร แต่ถ้าเรานำเอาความรู้นั้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุหาผล จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องขึ้นมา ก็จะเกิดเป็นปัญญาขึ้นเข้าใจขึ้นมาทันที ซึ่งปัญญาขั้นเข้าใจนี้ก็ยังมีผลไม่มาก คือเพียงทำให้จิตใจของเราปล่อยวางความยึดถือลงได้บ้างและทำให้ความทุกข์ลดน้อยลงบ้างเท่านั้น จนกว่าเราจะนำเอาความเข้าใจนี้มาพิสูจน์หรือทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง จนมีผลทำให้ความยึดถือ (อุปาทาน) และความทุกข์ ลดน้อยลงหรือดับหายไปได้จริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) ก็จะเกิดเป็นปัญญาขั้นเห็นแจ้งขึ้นมาทันที ซึ่งปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้เองที่เป็นปัญญาสูงสุดของพุทธศาสนา แต่ถ้าเราได้อ่านหรือฟังอริยสัจ ๔ ที่ผิดเพี้ยนหรือไม่ถูกต้องมา แม้จะนำมาคิดพิจารณาไตร่ตรองสักเท่าไร ก็จะไม่เข้าใจ หรืออาจเกิดความเข้าใจผิดขึ้นมาได้ และเมื่อเราเอาความเข้าใจผิดนี้ไปปฏิบัติ ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ผิดทันที แล้วก็จะเกิดผลที่ผิดเกิดขึ้น คือความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันไม่ลดลงหรือดับลงจริงๆ จะมีก็เพียงแค่ความเชื่อว่าจะดับทุกข์ได้ในชาติต่อไปเท่านั้น ส่วนความทุกข์ในชีวิตปัจจุบันจะยังคงมีอยู่ต่อไปตลอดทั้งชีวิต สรุปได้ว่า การที่เราสามารถปฏิบัติตามหลักอริยมรรค จนทำให้ความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันดับลงจริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) นี้เอง ที่เรียกว่า การเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ (หรือเรียกสั้นๆว่าเห็นอริยสัจ) ที่ไม่ใช่แค่เพียงการจำได้หรือเข้าใจที่ยังไม่มีผลมากนัก ซึ่งการที่เกิดความเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ นี้เอง ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริง เพราะเราได้พิสูจน์แล้วว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเมื่อปฏิบัติตามแล้วดับทุกข์ได้จริง ดังนั้นก็แสดงว่าผู้สอนก็ต้องมีอยู่จริง และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์จนดับทุกข์ได้จริง แล้วนำคำสอนนี้มาเผยแพร่ ก็ต้องมีอยู่จริงด้วย ปัญญา-ศีล-สมาธิ องค์ประกอบทั้ง ๘ ของอริยมรรคนั้น เมื่อสรุปตามทฤษฎี (ตามตำรา) ก็จะได้เป็น ศีล (อันได้แก่การพูดจาที่ถูกต้อง การกระทำทางกายที่ถูกต้อง การประกอบอาชีพที่ถูกต้อง), สมาธิ (อันได้แก่ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง การมีสติที่ถูกต้อง การมีสมาธิที่ถูกต้อง), และ ปัญญา (อันได้แก่ความเห็นที่ถูกต้อง ความปรารถนาที่ถูกต้อง) คือต้องมีศีลก่อนจึงจะมีสมาธิและปัญญาได้ เพราะศีลเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ และสมาธิเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา ในทางทฤษฏีนั้น การที่จะมีศีลได้ จะต้องมีศรัทธา (ความเชื่อ) ก่อน แต่ถ้าเราไม่มีปัญญาก่อนแล้วเราไปเริ่มต้นที่การมีศรัทธาก่อน เราก็อาจมีศรัทธาที่งมงายหรือผิดเพี้ยนได้ เพราะขาดปัญญามาควบคุม แล้วก็จะทำให้เรามีศีลที่งมงายหรือผิดเพี้ยนได้ (คือกลายเป็น สีลพตปรามาส ที่หมายถึง การปฏิบัติศีลและข้อวัตรต่างๆอย่างผิดจุดประสงค์ของมรรค) เมื่อมีศีลที่ผิดเพี้ยนหรืองมงาย ก็จะทำให้เรามีสมาธิที่ผิด (มิจฉาสมาธิ) และปัญญาที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ตามไปด้วยทันที ดังนั้นการเรียงศีล สมาธิ ปัญญานี้จึงไม่ถูกต้องตามหลักของมรรค การเรียงลำดับตามการปฏิบัติของมรรคให้ถูกต้องนั้น ต้องเรียงเป็น ปัญญา ศีล และสมาธิ เพราะต้องมีปัญญาก่อนจึงจะมีศีลและสมาธิที่ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะทำให้ศีลและสมาธิผิดพลาด แต่เราก็อาจสงสัยว่า ถ้าไม่มีศีลก่อน แล้วจะมีสมาธิและปัญญาได้อย่างไร? ซึ่งคำตอบก็คือ เรื่องการดับทุกข์นี้เป็นเรื่องของคนที่มีความรู้ทางโลก (คือไม่งมงาย มีเหตุผล ยอมรับความจริง) และเป็นคนดีมีศีลธรรม (คือไม่ทำความชั่ว ไม่ลุ่มหลงอบายมุข สิ่งเสพติด - สิ่งฟุ่มเฟือย) มามากพอสมควรแล้ว ซึ่งคนพวกนี้เขาก็ต้องมีศีลและสมาธิมาพอสมควรแล้ว จะขาดก็เพียงเรื่องปัญญา (ความรู้ทางธรรมที่ถูกต้อง) เท่านั้น ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเน้นสอนเฉพาะคนพวกนี้ให้เขามีปัญญาก่อน เพราะเขามีคุณสมบัติ (บารมี) เพียงพอที่จะบรรลุธรรม (เห็นแจ้งอริยสัจ หรือมีดวงตาเห็นธรรม) ได้ เมื่อเขามีปัญญาแล้ว เขาก็จะมีศีลและสมาธิที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ขึ้นมาได้เอง ส่วนคนที่ยังมีความรู้ทางโลกน้อยและยังเป็นคนดีมีศีลธรรมไม่เพียงพอ พระพุทธเจ้าจะไม่เสียเวลามาสอน ถึงสอนไปก็เสียเวลาเปล่า เพราะเขามีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะบรรลุธรรมได้ ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของครูอาจารย์หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องอรบรมกันขึ้นมาเอง ในการปฏิบัติอริยมรรคจริงๆนั้นปัญญา ศีล สมาธินี้ จะต้องมีพร้อมกัน จึงจะเกิดพลังในการกำจัดกิเลสและอวิชชาให้ดับหายไปได้ และทำให้ความทุกข์ดับหายไปได้จริง (แม้เพียงชั่วคราว) แต่ถ้าปฏิบัติทีละอย่างก็จะไม่มีพลังในการกำจัดกิเลสและอวิชชาให้ดับหายไปได้ และความทุกข์ก็จะไม่ดับหายไปได้จริง ศีลของอริยมรรค ศีล เป็นรูปคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ส่วนภาษาบาลีใช้คำว่า สีล (อ่านว่า สี-ละ) แปลว่า ลักษณะหรือพฤติกรรมที่เป็นปรกติ คือหมายถึง จิตที่ปรกติ ซึ่งการที่จิตจะปรกติได้จะต้องมีการกระทำที่ถูกต้องของร่างกายและวาจา คือเมื่อเรามีการกระทำทางกายและวาจาที่ถูกต้องอยู่เสมอ จิตของเราก็จะมีความปรกติได้ ซึ่งการกระทำที่ถูกต้องนั้นก็ได้แก่ ทางกาย ได้แก่ การมีเจตนา ที่จะไม่เบียดเบียนชีวิต, และทรัพย์สิน, รวมทั้งกามารมณ์ของผู้อื่น ทางวาจา ได้แก่ การมีเจตนาที่จะไม่พูดโกหก, คำหยาบ, เสียดสี, และเพ้อเจ้อ การตั้งใจ (เจตนา) ล่วงละเมิดชีวิตและทรัพย์สอนของผู้อื่น รวมทั้งการพูดโกหก คำหยาบ เสียดสี และเพ้อเจ้อนั้น เป็นการกระทำด้วยกิเลสหยาบๆ (ยินดี ยินร้าย ลังเล) ที่ทำให้จิตใจดิ้นรน เร่าร้อน ไม่ปรกติ ไม่มีความสงบ และยังนำปัญหาที่จะนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลังอีก ซึ่งนี่ก็คือการที่จิตไม่ปรกติ เมื่อจิตไม่ปรกติก็จะทำให้จิตไม่สงบ ซึ่งจิตที่ไม่สงบนั้นก็จะไม่มีสมาธิหรือฝึกให้มีสมาธิไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งใจที่จะไม่ล่วงละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น รวมทั้งตั้งใจที่จะไม่พูดโกหก คำหยาบ เสียดสี และเพ้อเจ้อ ก็เท่ากับเป็นการเอาชนะกิเลสหยาบๆนี้ได้ เมื่อจิตไม่มีกิเลสหยาบๆ มันก็จะไม่เร่าร้อน ไม่ดิ้นรน แต่จะมีความสงบ ปรกติ และไม่มีปัญหาและความเดือดร้อนตามมากวนใจในภายหลังได้ ซึ่งนี่ก็คือจิตที่มีศีลหรือมีความปรกติ ที่ทำให้จิตมีสมาธิหรือฝึกให้มีสมาธิได้ง่าย ศีลของมรรคนี้มีไม่มาก แม้ผู้ที่ครองเรือนที่ยังมีคู่ครองที่ยังมีเรื่องกามารมณ์อยู่ ก็ยังปฏิบัติได้ เพียงแค่ปฏิบัติให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ใช้สังเกตว่าเรามีศีลของมรรคแล้วหรือยังก็ให้ดูว่าจิตของเรามีความปรกติแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วก็แสดงว่าเรามีศีลของอริยมรรคแล้ว ส่วนศีลของพระภิกษุที่มีมากนั้นสาเหตุก็เพราะเพื่อที่จะได้มีจิตที่ปรกติมากกว่าผู้ที่ไม่ได้บวช อันจะมีผลทำให้จิตมีสมาธิมาก เมื่อจิตมีสมาธิมากแล้วก็จะทำให้มีปัญญามาก แล้วก็ทำให้อริยมรรคมีพลังมาก แล้วก็ทำให้จิตนิพพานได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้บวช ดังนั้นผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (นิพพาน) ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นคนดีในขั้นพื้นฐานนี้ก่อน ถ้าเป็นคนชั่วจะพ้นทุกข์ไม่ได้เพราะไม่มีพื้นฐานรองรับ แต่การที่จะปฏิบัติศีลของมรรคนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องมีการละเว้นอบายมุข สิ่งเสพติด และสิ่งฟุ่มเฟือยทั้งหลายก่อน จึงจะมีศีลของมรรคนี้ได้สมบูรณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคทำให้ปฏิบัติศีลของมรรคไม่ได้ คือสรุปว่าเราต้องใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีสิ่งเกินหรือฟุ่มเฟือย และไม่ทำความผิดหรือชั่วทางกายและวาจาตามหลักศีลธรรม เท่านี้เราก็มีศีลตามหลักของมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าแล้วอย่างถูกต้อง สมาธิของอริยมรรค สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือเป็นอาการของจิตที่ตั้งใจ หรือจดจ่อ หรือจับ หรือเพ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลาได้นานๆ ซึ่งสมาธินี้มี ๒ ประเภท คือ สมาธิผิด (มิจฉาสมาธิ) กับ สมาธิถูก (สัมมาสมาธิ) โดยสมาธิผิดก็คือ สมาธิที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยกิเลส คือด้วยความใคร่ทางเพศ (กามารมณ์) หรือด้วยความรัก ชอบ อยากได้ ฯ (พอใจ หรือ ยินดี) หรือด้วยความโกรธ เกลียด กลัว อยากทำลาย ฯ (ไม่พอใจ หรือ ยินร้าย) หรือด้วยความลังเลใจ (สงสัย ไม่แน่ใจ ไม่รู้จริง) ซึ่งผลของสมาธิผิดนี้ก็คือความทุกข์ใจหรือเร่าร้อนใจไปตามอำนาจของกิเลส สมาธิถูกก็คือ สมาธิที่จดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วทำให้กิเลส (รวมทั้งนิวรณ์) ระงับหรือดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) เช่น เพ่งดูการหายใจของร่างกายเราเอง หรือตั้งใจอ่านหนังสือเรียน หรือนักเรียนตั้งใจฟังสิ่งที่ครูอาจารย์สอน หรือครูอาจารย์ตั้งใจอยู่ที่การสอน หรือการตั้งใจทำงานที่สุจริต หรือนักวิยาศาสตร์ตั้งใจคิดค้นสิ่งที่ดีงาม เป็นต้น สมาธิถูกนี้จะมีลักษณะ ๓ ประการ คือ ๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลสและนิวรณ์ครอบงำ ๒. ตั้งมั่น คือเข้มแข็ง ไม่มีอะไรมาทำให้หวั่นไหว (คือเกิดกิเลสหรือนิวรณ์) ได้ ๓. อ่อนโยน คือ มีความเหมาะสมกับการทำงานทุกชนิด โดยผลของสมาธิถูกนี้ก็คือทำให้จิตมีความสงบ (ไม่ดิ้นรน), เย็น (ไม่เร่าร้อน), มีความสุขที่ประณีต (สุขสงบ) มีสติตลอดเวลา มีความจำดี และเมื่อจิตไม่มีกิเลสและนิวรณ์ครอบงำ จึงทำให้อุปาทานดับหายไปด้วย เมื่อจิตไม่มีอุปาทานจึงทำให้จิตไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ก็เรียกว่า นิพพาน ที่แปลว่า เย็น หรือ ความสงบเย็น นั่นเอง (หมายเหตุ. ต่อไปถ้าพบคำว่า สมาธิ ในหนังสือนี้ ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึง สมาธิถูก) ศัตรูของสมาธิ การที่จะรู้จักสมาธิได้ถูกต้อง เราจะต้องรู้จักกับสิ่งที่ตรงข้ามหรือศัตรูของสมาธิเสียก่อนเพราะเป็นสิ่งตรงข้ามกัน คือเมื่อจิตมีสมาธิ ศัตรูของสมาธิก็จะไม่มี แต่เมื่อที่จิตมีศัตรูของสมาธิครอบงำ จิตก็จะไม่มีสมาธิ โดยศัตรูของสมาธินี้ก็คือสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้จิตเกิดสมาธินั่นเอง ซึ่งศัตรูของสมาธินี้เรียกว่า กิเลส (นิวรณ์ก็คือกิเลสอ่อนๆ) ที่แปลว่า สิ่งสกปรก หรือสิ่งทำให้เกิดความสกปรก โดยกิเลสก็คืออาการของจิตที่มีลักษณะใหญ่ๆ ๓ อาการ คือ ๑. ราคะ คือ ดึงเอาเข้ามาหาตัวเอง อันได้แก่ รัก, ชอบ, พอใจ (ยินดี), อยากได้ (โลภ), ติดใจ (ราคะ) เป็นต้น ๒. โทสะ คือ ผลักออกไปจากตัวเอง อันได้แก่ ชัง, ไม่พอใจ (ยินร้าย), โกรธ (โทสะ), เกลียด (อยากทำลาย), กลัว (อยากหนี), ไม่อยากได้, เบื่อหน่าย เป็นต้น ๓. โมหะ คือ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นราคะหรือโทสะ อันได้แก่ หลงไม่รู้ (โมหะ), ไม่แน่ใจ, ลังเลใจ, สงสัย, ตัดสินใจไม่ถูก, หรือ งง เซ่อ เป็นต้น กิเลสนี้ถ้าศึกษาอย่างละเอียดในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งทำให้เกิดความทุกข์จะเรียกว่า ตัณหา ที่แปลว่า ความอยาก ซึ่งก็มี ๓ อาการ คือ ๑. กามตัณหา คือ ความอยากได้สิ่งที่น่าพอใจทั้งหลาย ๒. ภวตัณหา คือความอยากมีสิ่งที่น่าพอใจนั้นอยู่ตลอดเวลา และ ๓. วิภวตัณหา ความอยากหนีหรืออยากทำลาย (หรือไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น) สิ่งที่ไม่น่าพอใจทั้งหลาย ตามปกติจิตของคนเรานั้นจะมีความบริสุทธิ์ (คือไม่มีกิเลสใดๆ) อยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เมื่อจิตของเราถูกอวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเรา) เกิดขึ้นมาครอบงำ อวิชชาก็มาปรุงแต่ง (ทำ) ให้จิตเกิดอาการของกิเลสขึ้นมาทันที และเมื่อกิเลสเกิดขึ้น จึงทำให้ความบริสุทธิ์หายไป (ชั่วคราว) แล้วก็เกิดความสกปกขึ้นมาแทน เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ก็จะทำให้อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา) เกิดขึ้นมาด้วยทันที และเมื่ออุปาทานเกิดขึ้น ความทุกข์ (เช่น ความเศร้าโศก ความไม่สบายใจ เป็นต้น) ก็จะเกิดขึ้นมาด้วยทันที แต่เมื่อกิเลสดับหายไป จิตก็จะกลับมาบริสุทธิ์ได้ใหม่ และความทุกข์ก็จะดับหายตามไปด้วย แต่เมื่อกิเลสกลับมาเกิดขึ้นอีก ความบริสุทธิ์ก็จะหายไปอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ตราบเท่าที่จิตของเรายังมีความเคยชินของอวิชชาและกิเลสอยู่ในจิตใต้สำนึก กิเลสนั้นเป็นอาการของจิตที่มีอาการดึงเอาเข้ามาหาตัวเอง และผลักออกไปจากตัวเอง รวมทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะเอาเข้ามาหรือผลักออกไป (คือยินดี-ยินร้าย-ลังเล) ที่รุนแรง แล้วก็ทำให้เกิดอุปาทานและความทุกข์ (เช่น ความเศร้าโศก ความไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นด้วย แต่ขณะที่จิตยังไม่มีอาการของกิเลสที่รุนแรง (คือมีเพียงอ่อนๆ) ก็จะเรียกว่า นิวรณ์ ที่แปลว่า สิ่งปิดกั้นจิต ซึ่งนิวรณ์นี้จะมีอยู่ ๕ อาการ อันได้แก่ ๑. กามฉันทะ อาการที่จิตน้อมไปในกามารมณ์ (โดยมีเรื่องทางเพศเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด) ๒. พยาบาท ความอาฆาตหรือพยาบาทที่ฝังใจอยู่ ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ ง่วงซึม มึนชา หงอย เหงา ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความตื่นเต้นหรือความฟุ้งซ่านที่ทำให้เกิดความรำคาญใจ ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในสิ่งที่เชื่อถืออยู่หรือปฏิบัติอยู่ (คือในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ รวมทั้งในการปฏิบัติของเราเองด้วย) ว่ามีจริงหรือไม่? หรือผิดหรือถูก? นิวรณ์นี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็เพียงทำให้จิตของเราเกิดความเศร้าหมอง (หรือขุ่นมัว) คือไม่ปกติ ไม่สงบเย็น (ไม่นิพพาน) ไม่แจ่มใส ไม่เบาสบาย เป็นต้น (ซึ่งเรียกว่าเป็นความทุกข์อ่อนๆ) เท่านั้น แต่มันก็มาปิดกั้นจิตเอาไว้ไม่ให้มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิ จึงทำให้ปัญญาไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด ก็ทำให้อวิชชาเกิดขึ้นมาครอบงำจิตแทน เมื่ออวิชชาเกิดขึ้นมาบ่อยๆมันก็ทิ้งความเคยชิน (อนุสัย) เอาไว้ให้แก่จิตใต้สำนึกของเรา เมื่อจิตใต้สำนึกของเรามีอนุสัยของอวิชชามากๆ มันก็ทำให้จิตของเรามีนิวรณ์เกิดขึ้นมาครอบงำจิตอยู่เสมอๆในชีวิตประจำวัน และมันก็มีโอกาสที่จะปรุงแต่งจิตของเราให้เกิดกิเลสและความทุกข์ที่รุนแรงขึ้นมาได้โดยง่าย เมื่อมีสิ่งหรือเรื่องราวที่รุนแรงภายนอกมากระทบ วิธีฝึกสมาธิอย่างง่ายๆ ตามปกติเราก็พอจะมีสมาธิกันอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่จะไม่มากพอเท่านั้น อย่างเช่น เวลาเราตั้งใจฟังครูสอน หรือตั้งใจอ่านหนังสือ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาแล้วโดยอัตโนมัติ ซึ่งนี่ก็คือสมาธิที่จำเป็นสำหรับใช้คู่กับปัญญาในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรค ซึ่งวิธีการฝึกให้จิตมีสมาธินั้นก็สามารถทำได้โดยการตั้งใจในการทำ, พูด, และคิดของเราเอง หรือในการทำหน้าที่การงานหรือกิจวัตรประจำวันของเราก็ได้ หรือใครจะฝึกจากกำหนดการหายใจของร่างกาย หรือการฝึกกำหนดการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการฝึกเพ่งดูวัตถุ เป็นต้น ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอย่างไร ก็ทำให้จิตมีสมาธิได้เหมือนกัน ถ้ากระทำอย่างถูกต้อง วิธีการฝึกที่เป็นที่นิยมก็คือ การฝึกกำหนดการหายใจของร่างกาย (ที่เรียกว่าอานาปานสติ) ซึ่งวิธีการฝึกนั้นปกติเราจะใช้อิริยาบถใดก็ได้ แต่ถ้าเพิ่งเริ่มต้นฝึกควรใช้อิริยาบถนั่งก่อน (ที่เรียกว่านั่งขัดสมาธิ) เพราะจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอิริยาบถอื่น ส่วนวิธีการฝึกพื้นฐานนั้น ก็ให้เราตั้งใจกำหนดการรับรู้อยู่ที่การหายใจของร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามอย่าไปกำหนดรับรู้สิ่งอื่นภายนอกร่างกาย และพยายามอย่าไปคิดถึงเรื่องที่จะทำให้กิเลสและนิวรณ์เกิดขึ้นมา ซึ่งในการกำหนดการหายใจของร่างกายนี้ เราอาจจะใช้วิธีการนับลมหายใจของเราไปเรื่อยๆเพื่อให้จิตสงบก็ได้ หรือจะท่องคำสั้นๆในขณะที่เรากำลังหายใจ เพื่อให้มีสติอยู่ตลอดเวลาก็ได้ เช่น พุท-โธ, เกิด-ดับ, ว่าง-เปล่า, ไม่มีเรา, ไม่มีใคร, ตายแน่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราสามารถฝึกไปจนกิเลสและนิวรณ์ระงับหรือดับลงและมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาแล้ว จิตของเราก็จะมีสมาธิขึ้นมาทันที แต่ถ้าจิตยังไม่มีสมาธิ ให้ลองใช้วิธีคิดด้วยสติดู (คือตั้งใจคิดให้เป็นคำพูดแล้วก็ตั้งใจฟังด้วย) โดยการตั้งใจคิดช้าๆด้วยประโยคสั้นๆ ในขณะที่กำลังหายใจออก แต่เมื่อหายใจเข้าก็ให้หยุดคิด (หรือจะคิดเวลาที่หายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็ให้หยุดคิดก็ได้) ซึ่งการคิดนี้ควรคิดเรื่องที่ทำให้เกิดปัญญาหรือความรู้ที่ดีงาม เช่น เรื่องความไม่เที่ยง สภาวะที่ต้องทน และเรื่องความไม่ใช่ตัวเรา หรือเรื่องการทำงาน หรือเรื่องการเรียน หรือเรื่องการเตือนตนเอง หรือการคิดพิจารณาอริยสัจ ๔ เป็นต้น ซึ่งการฝึกเช่นนี้จะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย รวมทั้งยังทำให้เกิดปัญญาพร้อมๆกันไปด้วย ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าจิตของเรามีสมาธิหรือไม่ โดยให้สังเกตได้จากการที่จิตของเราสงบหรือไม่ฟุ้งซ่านแล้ว (คือไม่มีกิเลสและนิวรณ์) และความดิ้นรนของจิตก็จะไม่มี รวมทั้งมีความสุขที่สงบ และจิตของเราก็จะมีสติอยู่ตลอดเวลาด้วย ซึ่งเมื่อจิตไม่มีกิเลสและนิวรณ์ จิตก็จะไม่มีความทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อจิตไม่มีทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย จิตก็จะนิพพานสูงสุด (สงบเย็นสูงสุด) เมื่อจิตนิพพานสูงสุด ก็แสดงว่าจิตมีสมาธิแล้วอย่างสมบูรณ์ สมาธินี้มีหลายระดับ (ที่เรียกว่าฌาน) ซึ่งระดับต้นๆก็จะมีความตั้งใจมากในการระมัดระวังไม่ให้กิเลสและนิวรณ์เกิดขึ้น รวมทั้งมีความสุขที่สงบและปีติด้วย ส่วนระดับที่สูงขึ้นก็ไม่ต้องระมัดระวังกิเลสและนิวรณ์มากแล้วเพราะชำนาญแล้ว รวมทั้งปีติก็จะหายไป จะมีแต่เฉพาะความสุขสงบเท่านั้น ส่วนระดับที่สูงขึ้นก็จะไม่มีความสุขสงบแล้ว จะมีก็เฉพาะความสงบเท่านั้น ซึ่งเมื่อจิตเริ่มมีสมาธิ นิพพานก็จะเริ่มปรากฏ และเมื่อจิตมีสมาธิสูงสุด นิพพานสูงสุดก็จะปรากฏ สรุปได้ว่า สมาธิก็คืออาการที่จิตเพ่ง หรือจดจ่อ หรือจับ หรือตั้งใจกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ที่เรียกว่าอารมณ์ เช่น การหายใจของร่างกาย การตั้งใจคิด ตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน เป็นต้น) ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาได้นานๆ ซึ่งสมาธินี้เราทุกคนสามารถฝึกฝนเอาเองได้ โดยการตั้งใจเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกต้องหรือดีงามให้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาได้ แต่เราก็จำเป็นต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่ก่อนแล้วเป็นพื้นฐาน เราจึงจะฝึกจิตให้มีสมาธิที่ถูกต้องได้ ส่วนสมาธิที่สูงไปกว่านี้ (ที่เป็นการเพ่งกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนไม่มีการรับรู้สิ่งอื่นๆ) นั้นไม่จำเป็น เพราะสมาธิเพียงแค่ระดับนี้ ก็เพียงพอที่จะนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ได้แล้ว ปัญญาของอริยมรรค อริยมรรคมรรค มีองค์ ๘ นี้ เมื่อย่อลงก็จะได้เป็น ปัญญา ศีล สมาธิ แต่เมื่อจะย่อลงอีกก็จะได้เป็น สมาธิกับปัญญา (ที่เรียกว่าสมถะและวิปัสสนา) เพราะการที่เราจะมีสมาธิได้ จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่แล้วตลอดเวลา ถ้าไม่มีศีลก็ย่อมจะไม่มีสมาธิ ซึ่งในส่วนของศีลและสมาธินั้นจะมีเนื้อหาไม่มาก แต่ส่วนที่มีเนื้อหามากและสำคัญที่สุดก็คือเรื่องปัญญา เพราะปัญญาเป็นเหมือนดวงตาที่ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆได้อย่างแจ่มชัด ถ้าขาดดวงตาก็เท่ากับเรามองไม่เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นอยู่จริง เมื่อไม่มีดวงตาเราก็จะมืดมน และมีโอกาสที่จะทำอะไรๆที่ผิดพลาดได้ง่าย เพราะเราต้องอาศัยคนอื่นช่วยชี้นำ ถ้าบังเอิญคนชี้นำดวงตาไม่บอด เราก็โชคดีไป แต่ถ้าบังเอิญคนชี้นำก็ตาบอดเหมือนเรา ก็จะทำให้เราก็จะเดินหลงทางได้โดยไม่รู้ตัว พุทธศาสนา (ที่แท้จริง) เป็นศาสนาที่ใช้ปัญญานำหน้าการปฏิบัติ ดังนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาของผู้มีความรู้ทางโลก ที่มีเหตุผล ยอมรับความจริง และมีจิตใจดีงาม (พุทธศาสนาในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นแค่เปลือกๆ ยังไม่ใช่แท้จริง เพราะใช้ความเชื่อนำหน้าการปฏิบัติ จึงมีแต่เรื่องที่งมงาย ไร้สาระ ไม่มีเหตุผล พิสูจน์ไม่ได้ และไม่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์อย่างแท้จริง) แต่คนดีมีความรู้เช่นนี้ก็มีน้อยมากในโลก นี่เองที่ทำให้พุทธศาสนาในปัจจุบันกลายเป็นศาสนาที่มีแต่เรื่องความเชื่ออยู่เต็มไปหมด จนคนดีมีความรู้ไม่ค่อยสนใจมาศึกษา แต่ถ้าเรานำเอาเรื่องปัญญามาให้เขา ก็จะสนใจศึกษาและปฏิบัติ รวมทั้งช่วยกันเผยแพร่ด้วย ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำว่าปัญญานี้ก่อน คือคำว่า ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ หรือ รู้รอบ คือหมายถึงว่า เมื่อเราได้เรียนรู้สิ่งใดหรือเรื่องใดแล้ว เราได้รู้สิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นอย่างครบถ้วนในทุกแง่มุมเท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ แต่ถ้ารู้ไม่ครบถ้วนก็ยังไม่เรียกว่าเป็นปัญญา เปรียบเหมือนกับการที่เราจะศึกษาสระน้ำ เราก็ต้องรู้ให้ครบทั้งความกว้าง ความยาว และความลึก จึงจะเรียกว่ามีปัญญา แต่ถ้าเราเอาแต่มองที่บนสระ เราก็จะเห็นแค่ความกว้างและความยาวของสระเท่านั้น แต่ไม่รู้ถึงความลึก อย่างนี้ไม่เรียกว่ามีปัญญา เราต้องลงไปวัดความลึกของก้นสระในแต่ละจุดด้วย เราจึงจะรู้ครบถ้วน หรือรอบรู้ หรือมีปัญญาในเรื่องสระน้ำนี้ได้ คำว่า ความรอบรู้ (หรือปัญญา) ของพุทธศาสนานี้ ไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องรู้ไปหมดทุกเรื่อง (ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะไปรู้อะไรได้หมดทุกเรื่อง) คือมันหมายถึงว่า รู้เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ หรือเท่าที่ควรจะรู้ ซึ่งก็คือเมื่อรู้แล้วมันดับทุกข์ได้จริง ก็เป็นอันว่าได้รู้เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้แล้ว (ถึงจะรู้ไปมากกว่านี้ก็เป็นแค่ของแถม เช่น รู้รายละเอียดมากจนสามารถสอนคนอื่นได้ หรือรู้วาระจิตของคนอื่นได้ เป็นต้น) คำว่าปัญญานี้ในทางโลกจะใช้คำว่า ความรู้ แทน (ถ้าใช้คำว่าปัญญาอาจทำให้เข้าใจสับสนกับคำว่าปัญญาในทางศาสนา) คือเมื่อเราได้เรียนรู้เรื่องใดน้อย เราก็มีความรู้ในเรื่องนั้นน้อย ถ้าเรามีความรู้ในเรื่องใดมาก เราก็มีความรูในเรื่องนั้นมาก ส่วนในทางพุทธศาสนานั้น คำว่า ปัญญา จะหมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ (หรือพ้นทุกข์ หรือไม่มีทุกข์) คือพระพุทธเจ้าจะสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์เท่านั้น เพราะความทุกข์นี้เป็นภัยอันใหญ่หลวงของชีวิต ที่เราจะต้องรีบหาทางแก้ไข (หรือดับหรือทำลาย) และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราอีกต่อไป ตลอดเท่าที่จะยังมีชีวิตนี้อยู่ ดังนั้นการที่เรามีความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์อย่างถูกต้อง ก็เรียกว่าเรามีปัญญาตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ปัญญา ๓ ระดับ ปัญญาในพุทธศาสนานั้นแยกได้ ๓ ระดับ คือ ๑. ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการฟังหรืออ่าน คือเมื่อเราได้ฟังหรืออ่านคำสอน (ธรรมะ) ที่ถูกต้องมา แล้วเราก็จำได้ ก็เรียกว่าเป็น ปัญญาขั้นจำได้ (หรือรู้จำ) ซึ่งปัญญาขั้นนี้แทบไม่มีผลอะไร เพราะยังเป็นความรู้ของคนอื่นอยู่ ๒. ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา คือเมื่อเรานำเอาคำสอนที่จำได้นั้นมาคิดพิจารณาหาเหตุผล อย่างละเอียดถี่ถ้วน (ในทุกแง่มุม) และเป็นระบบ (มีขั้นตอน) จนไม่พบจุดบอด (จุดที่ไม่เข้าใจ) หรือขัดแย้งกันเอง ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัด ก็เรียกว่าเป็น ปัญญาขั้นเข้าใจ (ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นที่ถูกต้อง) ซึ่งปัญญาขั้นนี้ก็ยังมีผลไม่มากนัก คือเพียงทำให้ความทุกข์ที่เคยมีมากลดน้อยลงได้บ้างเท่านั้น (คือถ้าเข้าใจได้น้อยก็ลดลงได้น้อย ถ้าเข้าใจได้มากก็ลดน้อยลงได้มาก แต่ถ้าจะให้เข้าใจได้แจ่มชัดสูงสุด ก็ต้องเกิดปัญญาขั้นเห็นแจ้งก่อนเท่านั้น) ๓. ปัญญาที่เกิดมาจากการปฏิบัติ คือเมื่อเรานำเอาคำสอนที่เราเข้าใจแล้วนั้นมาพิสูจน์ หรือทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง จนบังเกิดผลเป็นความลดลงหรือดับทุกข์ของความทุกข์จริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) ก็เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นเห็นแจ้ง (หรือเห็นจริง หรือรู้จริง หรือ รู้แจ้งเห็นจริง) ซึ่งปัญญาขั้นเห็นแจ้งนี้เป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา เพราะทำให้ความทุกข์ที่เป็นภัยอันใหญ่หลวงของชีวิตดับลงไปได้ ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร การที่จะเกิดปัญญาตามหลักพุทธศาสนาขึ้นมาได้สูงสุด จะต้องได้ฟังหรืออ่านคำสอนที่ถูกต้องมาก่อน แล้วได้นำคำสอนนั้นมาคิดพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุหาผลอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นระบบ จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดขึ้นมา แล้วนำเอาความเข้าใจนั้นมาพิสูจน์ (ว่าเป็นจริงตามที่เราเข้าใจหรือเปล่า) ด้วยการทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง (คือต่อเนื่องอย่างเต็มตามมาตรฐาน) จนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาจริงๆว่าคำสอนนั้นปฏิบัติตามแล้วบังเกิดผลจริง คือทำให้ความทุกข์ลดน้อยลงหรือดับหายไปจริงๆ (แม้เพียงชั่วคราว) ก็จะทำให้เกิดเป็นปัญญาขั้นสูงสุดขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราบังเอิญได้ฟังหรืออ่านคำสอนที่ไม่ถูกต้อง (หรือผิดเพี้ยน) มาก่อน (คือฟังจากครูอาจารย์หรือคนที่เขาก็มีความเห็นผิดอยู่ก่อนแล้วโดยที่ตัวท่านเองก็ไม่รู้ตัว หรืออ่านจากตำราพุทธศาสนาที่ถูกแก้ไขแต่งเติมจนผิดเพี้ยนก่อนที่จะมาถึงเรา) แล้วเราก็เชื่อว่าคำสอนที่เราได้ฟังหรืออ่านมานั้นคือสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า เราก็จะไม่ยอมนำมาคิดพิจารณาหาเหตุผล เพราะเชื่อว่ามันถูกต้องแล้ว หรือถึงนำเอามาคิดพิจารณา ก็จะหาเหตุผลไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เราเข้าใจได้ ซ้ำยังจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ขึ้นมาก็ได้โดยง่าย และถึงแม้เราจะนำเอาความเชื่อหรือความเข้าใจผิดนั้นมาทดลองปฏิบัติ ก็จะไม่เกิดความเห็นแจ้ง (คือความทุกข์ลดน้อยลงหรือดับลงจริงๆแม้เพียงชั่วคราว) ขึ้นมาได้อย่างแท้จริง หรืออาจทำให้เกิดความทุกข์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เหตุผลกับความจริง ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ปัญญานั้นจะต้องมีทั้งเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และมีความจริงมายืนยัน จึงจะเรียกว่าเป็นปัญญาตามหลักพุทธศาสนา แต่ถ้าไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจและไม่มีความจริงมายืนยัน จะไม่เรียกว่าเป็นปัญญา โดย เหตุ ก็คือ สิ่งที่เป็นตัวการกระทำให้เกิดผล ส่วน ผล ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ ซึ่งเหตุและผลนี้จะต้องเกิดติดกันอยู่เสมอ (คือต้องไม่แยกจากกันด้วยเวลา) เช่น เมื่อเคาะระฆังเมื่อไร ก็จะเกิดเสียงระฆังขึ้นมาทันที ไม่ใช่ว่าเคาะระฆังวันนี้ แล้วเสียงระฆังจึงจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ เป็นต้น ส่วน ความจริง ก็คือ สิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ซึ่งการที่เราจะเข้าถึงความจริง (คือเห็นแจ้ง) ได้นั้น ก็ต้องใช้การพิสูจน์ด้วยจิตของเราเองเท่านั้น จะใช้วิธีอื่นไม่ได้ เช่น ใช้เหตุผลมาแวดล้อม หรือจินตนาการขึ้นมาว่าได้สัมผัสกับความจริงนั้นแล้ว เป็นต้น เพราะถึงแม้บางครั้งมันอาจจะใกล้เคียงความจริง แต่มันก็ยังไม่บรรลุถึงความจริงนั้นจริงๆอยู่นั่นเอง สรุปได้ว่าเหตุผลกับความจริงนั้นมันแยกกันไม่ได้ เพราะในความจริงนั่นเองมันจะมีเหตุและผลของมันอยู่แล้วในตัว เมื่อเราจะนำเอาความจริงในเรื่องใดไปอธิบายให้คนอื่นฟัง เราจะทำได้ก็เพียงนำเอาเหตุผลของความจริงนั้นไปอธิบายเท่านั้น เมื่อเขาได้ฟังแล้วเขานำเอาไปคิดพิจารณาตาม เขาก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาได้เอง แต่ถ้าเขาไม่นำเอาไปคิดพิจารณาตาม เขาก็จะไม่เข้าใจ และถ้าเขานำเอาความเข้าใจนั้นไปพิสูจน์หรือทดลองปฏิบัติ เขาก็จะเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาด้วยตนเองทันที อุปสรรคของปัญญา มนุษย์ทั้งหมดนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาจะยังไม่มีปัญญา แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาให้เกิดปัญญาได้ แต่มนุษย์เกือบทั้งหมดก็ยังไม่มีปัญญา ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้มนุษย์ไม่เกิดปัญญานั้นสรุปได้ ๒ อย่างคือ ๑. ไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างถูกต้อง คือไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาให้เป็นคนมีความรู้ทางโลก (คนที่มีความรู้ทางโลกคือคนที่มีเหตุผล ยอมรับความจริง ไม่ยึดติดในความเชื่อที่งมงายมากจนเกินไป หรือมีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์พอสมควร) และเป็นคนดี (คนดีคือคนที่ไม่เห็นแก่ตัว เสียสละ ไม่ลุ่มหลงเรื่องทางเพศมากเกินไป ไม่โลภมาก ไม่มีความอาฆาตพยาบาทผู้อื่น มีความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ จริงใจ มีความตั้งใจจริง เป็นมิตรกับทุกคน และมีใจเป็นกลาง) ๒. ไม่ได้รับคำสอนที่ถูกต้อง คือถึงแม้จะเป็นคนดีมีความรู้แล้วก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้รับคำสอนที่ถูกต้อง ก็ไม่เกิดปัญญาตามหลักพุทธศาสนาขึ้นมาได้ เพราะการเป็นคนมีความรู้ทางโลกและเป็นคนดีนั้น จะเพียงแค่ทำให้ชีวิตมีความปกติสุขเท่านั้น ยังไม่ช่วยให้มีปัญญาที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ต้องได้พบคำสอนที่ถูกต้องในเรื่องการดับทุกข์เท่านั้น จึงจะมีปัญญาที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ สรุปได้ว่า มนุษย์ที่จะมีปัญญามาใช้ดับทุกข์ตามหลักพุทธศาสนานั้น จะต้องเป็นทั้งคนดีและมีความรู้ด้วย ซึ่งการที่จะเป็นคนดีและมีความรู้ได้นั้น ก็ต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างถูกต้อง (คือมีศีลธรรมเพียงพอและมีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ) และได้มาพบคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าด้วย แต่บุคคลเช่นนี้ก็หายาก เพราะผู้คนส่วนใหญ่จะถูกเลี้ยงดูมาผิดๆ (คือไม่มีศีลธรรมเพียงพอ) และไม่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ แต่ถึงแม้จะถูกเลี้ยงดูมาอย่างถูกต้องและมีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์มาเพียงพอแล้วก็ตาม ถ้าไม่ได้พบคำสอนที่ถูกของพระพุทธเจ้า ความรู้และความดีของเขานั้นก็เสียเปล่า เพราะไม่ได้พบคำสอนที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิต สิ่งปิดกั้นไม่ให้เกิดปัญญา สิ่งที่ปิดกั้นปัญญาก็คือ ความเชื่อ (ศรัทธา) คือปัญญานั้นเป็นเรื่องของเหตุผลและความจริง แต่ความเชื่อนั้นเป็นเรื่องของการยอมรับเอามาปฏิบัติโดยที่ไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และไม่มีของจริงมายืนยัน ซึ่งระหว่างการรับเอามาปฏิบัติสบายๆโดยไม่ต้องคิดให้เหนื่อยสมอง และไม่ต้องพิสูจน์ให้เสียเวลา แล้วคาดว่าจะได้รับผลอย่างแน่นอนในชาติหน้า (ในอนาคต) ตามความเชื่อ กับ การที่ต้องมานั่งคิดพิจารณาเองและต้องพิสูจน์เองอย่างเหนื่อยยากนั้น คนเราส่วนมากก็จะเลือกเอาอย่างแรก เพราะมันสบายกว่าและทำให้สบายใจได้หรืออุ่นใจได้ว่าจะต้องได้รับผลในอนาคต (คือชาติหน้า) อย่างแน่นอน นี่เองที่เป็นเหตุให้มนุษย์เกือบทั้งหมด ไม่มีปัญญามาดับทุกข์ตามหลักพุทธศาสนา เพราะความโลภ (อยากได้ อยากสุขสบาย) และความเกียจคร้าน (ไม่มีความอดทน) สรุปได้ว่าความเชื่อนั่นเองที่ปิดกั้นไม่ให้เกิดปัญญา เพราะความเชื่อจะไม่มีเหตุผล ไม่มีของจริงมายืนยัน มีแต่สอนให้เชื่อมั่นไว้ก่อน ห้ามถาม ห้ามสงสัย ซึ่งตรงข้ามกับปัญญาที่เป็นเรื่องของเหตุผลและความจริง ที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ พิสูจน์ได้ เมื่อคนเราเกิดมาก็ยังไม่มีปัญญา จึงถูกความเชื่อที่สืบทอดกันมานมนานครอบงำความคิดเอาไว้ เมื่อมีความเชื่อครอบงำอยู่ก่อนแล้ว มันจึงปิดกั้นหรือไม่ยอมรับเรื่องปัญญา เพราะมันตรงข้ามกัน จึงทำให้คนเราส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) เป็นแค่เพียง ศรัทธาชน (ผู้มีศรัทธา) เท่านั่น ไม่ได้เป็น ปัญญาชน (ผู้มีปัญญา) จนกว่าใครจะมีโอกาสได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาดี คือเป็นคนดีและมีความรู้ทางโลกมากพอสมควร และได้มาพบคำสอนที่ถูกต้องชองพระพุทธเจ้า ก็จะทำให้เขาเกิดปัญญาขึ้นมาได้ และได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างสูงสุดสำหรับชีวิต (คือความไม่มีทุกข์) สัมมาทิฏฐิคือตัวปัญญา สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นองค์ประกอบแรกของอริยมรรค ที่เราจะต้องสร้างความเห็นที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นมาก่อน องค์ประกอบของอริยมรรคที่เหลือก็จะเกิดขึ้นมาได้เองทั้งหมด แต่ตราบใดที่ความเห็นที่ถูกต้องนี้ยังไม่เกิดขึ้น ตราบนั้นแม้เราจะมีความรู้ในเรื่องอริยสัจ ๔ อย่างมากมาย สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นที่ถูกต้องนี้ก็จะยังไม่เกิดขึ้น และองค์ประกอบทั้งหมดของอริยมรรคก็จะไม่เกิดขึ้นจริง เมื่อยังไม่มีสัมมาทิฏฐิก็เท่ากับยังไม่มีปัญญา เพราะสัมมาทิฏฐิคือหัวใจปัญญานั่นเอง คำว่า ความเห็น (ทัศนคติ) ก็คือความเข้าใจ คือเมื่อเรามีความเข้าใจอย่างไร ก็เรียกว่าเรามีทัศนคติไปอย่างนั้น และเราก็มักจะเชื่อ (ศรัทธา) ว่าความเข้าใจ (หรือความเห็น) ของเรานี้มันถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว แต่ถ้าเราเข้าใจผิด ก็เท่ากับเรามีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ถ้าเราเข้าใจถูก จึงจะมีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) ซึ่งสัมมาทิฏฐิของพุทธศาสนาในปัจจุบันนั้น มี ๒ ระดับ ตามระดับของคำสอน คือ ๑. สัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้าน คือสัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้านนี้ ก็เป็นแค่ความเห็นที่ตรงตามความเชื่อที่ชาวบ้านในสมัยก่อนของอินเดียเขาเชื่อกันอยู่เท่านั้น คือเมื่อชาวบ้าน (คนธรรมดาที่ไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และศาสนาเพียงพอ) เขาเชื่อกันอยู่อย่างนี้ พุทธศาสนาในสมัยนั้นก็ไม่อยากจะไปขัดแย้งกับเขา จึงยอมรับเพราะเห็นว่ายังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ที่ทำให้ชาวบ้านเป็นคนดีและทำให้สังคมสงบสุข (แม้จะยังมีความงมงายอยู่ด้วยก็ตาม) ซึ่งสัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้านนี้ก็สรุปอยู่ที่เรื่องความเชื่อว่า ทานที่ให้แล้วมีผล, การบูชายัญมีผล, การยกย่องบูชาบุคคลที่ควรบูชามีผล, ผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง, โลกนี้มี, โลกหน้ามี, แม่มี, พ่อมี, เทวดา-นางฟ้ามี, บุคคลผู้หมดกิเลสแล้วมี ซึ่งคำสอนเหล่านี้ก็คือหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่ชาวบ้านของอินเดียในยุคนั้นเขาเชื่อถือกันอยู่อย่างเหนียวแน่นนั่นเอง ๒. สัมมาทิฏฐิระดับพระอริยะ (หรือสัมมาทิฏฐิระดับสูง) ซึ่งสัมมาทิฏฐิระดับสูงนี้ ก็คือสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์ประกอบแรกของของอริยมรรคนั่นเอง โดยสัมมาทิฏฐิระดับสูงนี้ ก็คือ ความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องของชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ว่า มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง (สุญญตา) ซึ่งสัมมาทิฏฐิระดับสูงนี้ เป็นความรู้ระดับสูงที่ลึกซึ้ง ที่ต้องใช้เหตุผลและความจริงมาศึกษา จึงจะเกิดขึ้นได้ จะใช้ความเชื่อไม่ได้เด็ดขาด (ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) สรุปได้ว่าปัญญาของอริยมรรคก็คือสัมมาทิฏฐิ ซึ่งสัมมาทิฏฐิก็คือ สัมมาทิฏฐิระดับสูง ที่เป็นคำสอนเรื่องความว่างจากตัวตน (สุญญตา) ส่วนสัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้านนั้น จะนำมาใช้ในการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคไม่ได้เด็ดขาด เพราะมันเป็นคำสอนเรื่องความมีตัวตนที่แท้จริง (อัตตา) ที่ตรงข้ามกับคำสอนเรื่องความไม่มีตัวตน (สุญญตา) ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นความเชื่อเรื่องอัตตาจึงจัดเป็นความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ที่ตรงข้ามกับสัมมาทิฏฐิระดับสูงของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ (ขอให้ผู้ศึกษาเข้าใจว่า ต่อไปเมื่อพบคำว่า สัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นที่ถูกต้อง ก็ขอให้เข้าใจว่า หมายถึง สัมมาทิฏฐิระดับสูง นี้เท่านั้น) วิธีสร้างสัมมาทิฏฐิ จุดเริ่มต้นในการศึกษาอริยสัจ ๔ ก็คือ การศึกษาเรื่องความทุกข์ให้รู้จักอย่างถูกต้องก่อน ว่าความทุกข์นั้นก็คือความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน (เช่น ความเสียใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น) แล้วจึงค่อยมาศึกษาเรื่องสาเหตุของทุกข์ และความไม่มีทุกข์ รวมทั้งวิธีการดับทุกข์ไปตามลำดับ ซึ่งจุดเริ่มต้นในการศึกษาวิธีการดับทุกข์ (อริยมรรค) นี้ จะต้องเริ่มต้นที่เรื่องการสร้างสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้องระดับสูง) ให้เกิดขึ้นก่อน เพราะตราบใดที่เรายังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ตราบนั้นเราก็จะยังมองไม่เห็นหรือไม่รู้จักพุทธศาสนาระดับสูงอย่างถูกต้อง ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าสัมมาทิฏฐินี้คือตัวปัญญาในพุทธศาสนา (บางทีก็เรียกว่า ดวงตาเห็นธรรม หรือ วิชชา) ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็เท่ากับยังไม่มีปัญญา แม้ว่าใครจะศึกษาพุทธศาสนามาแล้วมากมาย แต่ถ้ายังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็เรียกว่ายังไม่รู้จักพุทธศาสนาระดับสูงอย่างถูกต้อง และเมื่อไม่มีสัมมาทิฏฐิ ก็แสดงว่ายังมีมิจฉาทิฏฐิ (มีความเห็นผิด) อยู่ การที่จะเกิดความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ขึ้นมาได้นั้น เราจะต้องทำลายความเห็นผิดที่สำคัญที่สุดให้ได้ก่อน อันได้แก่ สักกายทิฏฐิ ที่หมายถึง ความเห็นว่าในชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราทุกคนนี้เป็นตัวตนที่แท้จริง (อัตตา) ของเรา ถ้าเราสามารถทำลายสักกายทิฏฐินี้ได้ สัมมาทิฏฐิจึงจะเกิดขึ้นจริง แต่ถ้ายังทำลายไม่ได้ สัมมาทิฏฐิก็จะยังไม่เกิดขึ้น ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า คำว่า ทิฏฐิ หรือ ความเห็นนี้ มันเป็นแค่เพียง ทัศนคติ (การมอง) หรือความเข้าใจ หรือความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพียงแค่เปลี่ยนความรู้ใหม่ ก็จะเกิดเป็นความเข้าใจหรือความเห็นใหม่ขึ้นมาทันที ซึ่งสักกายทิฏฐินี้ก็เหมือนกัน คือมันก็เป็นแค่เพียงความเข้าใจผิดที่เรามีอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัวเท่านั้น แต่ถ้าเราได้รับการเรียนรู้มาอย่างถูกต้อง เราก็จะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นมาทันที แล้วความเข้าใจผิดก็จะหมดสิ้นไปอย่างถาวรจากความคิดของเรา (แต่ว่าความรู้สึกว่ามีตัวเราจะยังมีอยู่ต่อไปในจิตใต้สำนึก ซึ่งต้องใช้การปฏิบัติตามหลักอริยมรรคจึงจะกำจัดความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร) ต้องทำลายสักกายทิฏฐิให้ได้ก่อน คำว่า สักกายทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นว่าในชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราทุกคนนี้เป็นตัวตนที่แท้จริง (อัตตา) ของเรา คือสรุปง่ายๆว่า สักกายทิฏฐิก็คือความเข้าใจว่ามันมีสิ่งที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ (อัตตา) อยู่ในชีวิตของเราทุกคน คือปกติเราทุกคนก็ย่อมจะรู้สึกกันอยู่ว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวตนของเรา (ซึ่งความรู้สึกนี้มาจากนิสัยหรือความเคยชินจากจิตใต้สำนึก) จึงทำให้เกิดความเข้าใจ (มีทิฏฐิ) ว่ามันมีตัวตนของเราอยู่จริงๆ (รวมทั้งเข้าใจว่ามีตัวตนของคนอื่นอยู่จริงๆด้วย) ซึ่งความเข้าใจนี้แหละที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ตามหลักอริยสัจ ๔ ก่อนอื่นเราก็ต้องแยกให้ออกระหว่างความเข้าใจ (ที่เรียกว่า ทิฏฐิ-ความเห็น) กับ ความรู้สึกจากจิตใต้สำนึก (ที่เรียกว่า อนุสัย-ความเคยชิน ที่เป็นพวก กิเลส อุปาทาน อวิชชา) ถ้าแยกไม่ออกก็จะไม่มีวันเข้าใจเรื่องสักกายทิฏฐิได้ถูกต้อง คือความเห็นก็เป็นแค่เพียงความเข้าใจที่มาจากการใช้เหตุผลหรือสามัญสำนึก (สามัญสำนึกคือความรู้สึกธรรมดาของจิตที่ยังไม่ประกอบด้วยสติปัญญา) มาสนับสนุนเท่านั้น ซึ่งถ้าเรามีเหตุผลที่ดีกว่าหรือสามัญสำนึกมันเปลี่ยนไป ความเห็นของเราก็สามารถเปลี่ยนตามไปได้ ส่วนความรู้สึกจากจิตใต้สำนึกนั้นมันเป็นความเคยชิน (อนุสัย) ที่จิตของเราได้สั่งสมมาตลอดทั้งชีวิต (ที่เรียกว่าสันดานหรือนิสัย) ที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ต้องมีการสั่งสมนิสัยใหม่ (ที่ตรงข้ามกับนิสัยเก่า) ที่มากพอ (คือมีทั้งการปฏิบัติที่ต่อเนื่องและยาวนาน) จึงจะเปลี่ยนแปลงนิสัยของจิตใต้สำนึกได้ เปรียบเหมือนกับว่า เมื่อเราเกิดมาแล้วแต่ถูกเอาไปให้คนอื่นเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กจนโต โดยไม่รู้ว่าคนที่เลี้ยงนั้นไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง จนมาได้รู้ภายหลังจากหลักฐาน เช่น การตรวจดีเอ็นเอ หรือจากพยานที่รู้เห็น เป็นต้น ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงนั้นเป็นใครและรู้ว่าคนที่เลี้ยงนั้นไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง แต่ถึงเราจะรู้แล้วว่าคนที่เลี้ยงนั้นไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง แต่ความรู้สึกมันก็ยังรู้สึกอยู่ว่าคนที่เลี้ยงนั้นเป็นพ่อแม่จริงๆ การที่มีคนมาบอกว่า ความเข้าใจว่ามีตัวเราอยู่ในชีวิตนี้เป็นความเห็นผิดนั้น แน่นอนว่าใหม่ๆก็จะไม่มีใครเข้าใจและไม่ยอมรับ รวมทั้งยังอาจจะมองว่าคนบอกนั่นเองที่เป็นผู้มีความเห็นผิดเสียเอง ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขายังไม่ได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง ว่าร่างกายกับจิตใจของเรานี้มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา (คือเรื่องความเป็นอนัตตาของร่างกายกับจิตใจ) แต่ถ้าเขาจะได้รับการศึกษามาอย่างถูกต้องแล้ว เขาจึงจะเข้าใจและยอมรับ ซึ่งก็จะทำให้เขากลายมาเป็นผู้มีความเห็นที่ถูกต้อง (มีสัมมาทิฏฐิ) ได้ ความเห็นผิด ๓ ประการ การที่จะสร้างความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ให้เกิดขึ้นได้นั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ ก็ต้องทำลายความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) พื้นฐานให้หมดสิ้นไปจากความคิดของเราเสียก่อน คือปกติคนเราจะมีความเห็นผิดพื้นฐานที่สำคัญ ๓ ประการครอบงำความคิดของเราอยู่โดยไม่รู้ตัว ถ้าเราสามารถทำลายความเห็นผิดพื้นฐานนี้ได้ ความเห็นที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นมาแทน ซึ่งความเห็นผิดพื้นฐาน ๓ ประการนั้นก็ได้แก่ ๑. อัตตา คือความข้าใจว่าจิตใจของคนเรานี้เป็นตัวตนของมันเอง (หรือตัวตนที่แท้จริง) ๒. นิจจัง คือความเข้าใจว่าจิตใจของคนเรานี้เป็นสิ่งที่เที่ยงหรือถาวร (ไม่เปลี่ยนแปลง) หรือเป็นอมตะ (ไม่ดับหายไปอย่างเด็ดขาด) หรือจะตั้งอยู่ไปได้ชั่วนิรันดร (ตลอดไป) ๓. สุขัง คือความเข้าใจว่าจิตใจของคนเรานี้ มันสามารถที่จะตั้งอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองอย่างสุขสบาย ตามปกติแล้วทุกคนก็ย่อมที่จะมีความรู้สึกว่ามีตัวตนของเราอยู่จริงๆ คือคนส่วนมากจะเข้าใจว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็น ตัวเรา และเข้าใจว่าสิ่งต่างๆภายนอกที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย (เช่น พ่อ แม่ คู่ครอง ลูก ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น) ว่าเป็น ของเรา (แต่บางคนที่โง่น้อยหน่อยก็เข้าใจว่าจิตใจนี้คือตัวเรา และเข้าใจว่าร่างกายและสิ่งต่างๆภายนอกที่เกี่ยวข้องกับร่างกายว่าเป็นของเรา) อย่างที่เราชอบเรียกกันว่า ตัวเรา-ของเรา จากการที่มนุษย์ทุกคนมีความรู้สึกว่ามีตัวตน (หรือตนเอง) อยู่เป็นพื้นฐานนี้เอง ที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่ามันต้องมีตัวตนของเขาอยู่จริงๆ ซึ่งความเข้าใจนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง การมีตัวตนที่แท้จริง ที่เรียกว่า อัตตา ขึ้นมา โดยเขาจะเชื่อว่า จิตใจของทุกชีวิตนี้เป็นสิ่งวิเศษ (เหนือธรรมชาติ) ที่ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใด (ไม่อาศัยสิ่งใดมาสร้างหรือปรุงแต่งมันขึ้นมา) ไม่มีวับดับสูญไปอย่างเด็ดขาด (นิจจัง) และมีสภาวะที่สามารถดำรงอยู่อย่างสุขสบายได้ (สุขัง) เพราะมันเป็นตัวตนของมันเอง (อัตตา) หรือเป็นตัวตนที่แท้จริง ความเชื่อเรื่องจิตเป็นอัตตานี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเพื่อมารับผลกรรม และเรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม เป็นต้น ขึ้นมา เพื่อมารองรับความเชื่อเรื่องจิตเป็นอัตตานี้ โดยความเชื่อเหล่านี้ก็เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) ที่มีมาก่อนพุทธศาสนา นั่นเอง ซึ่งต่อมาความเชื่อนี้ก็ได้เข้ามาผสมปะปนเข้ามาเป็นคำสอนระดับศีลธรรมในพุทธศาสนาในปัจจุบันนั่นเอง ทำไมจึงบอกว่า ความเห็นว่าจิตนี้เป็นอัตตา เป็นความเห็นผิดตามหลักพุทธศาสนา? ซึ่งคำตอบก็คือ พระพุทธเจ้าสอนว่า จิตเป็นอนัตตา คือคำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับเรื่องที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่าจิตเป็นตัวตนที่แท้จริง (อัตตา) ซึ่งสาเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ยอมรับเรื่องจิตเป็นอัตตาก็เพราะทรงค้นพบกฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของธรรมชาติอยู่ เมื่อค้นพบกฎนี้แล้วจึงได้เข้าใจว่า จิตไม่ได้เป็นอัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน แต่เป็นแค่เพียง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (หรือสร้าง หรือกระทำขึ้นมาโดยอัตโนมัติ) ขึ้นมาจากสิ่งอื่นเท่านั้น กฎสูงสุดของธรรมชาติ ศาสนาของโลกสรุปได้ ๒ ประเภท คือ เทวนิยม คือศาสนาที่ยอมรับเรื่องเทพเจ้าหรือสิ่งเหนือธรรมชาติหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับ อเทวนิยม คือศาสนาที่ไม่ยอมรับเรื่องเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่ยอมรับเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่น เทพเจ้าหรือเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าพุทธศาสนานับถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ซึ่งสิ่งสูงสุดที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่นี้ พุทธศาสนาเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ที่หมายถึง การอาศัยเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้น ซึ่งกฎนี้เรียกว่าเป็น กฎสูงสุดของธรรมชาติ หรือ กฎสูงสุดของจักรวาล โดยกฎนี้มีใจความโดยละเอียดว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ดับหายไป สิ่งนี้จึงดับหายไป สรุปแล้วกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ก็คือกฎง่ายๆที่บังคับเอาไว้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งทั้งหลายนั้นเรียกว่า สิ่งปรุงแต่ง (สังขาร) ซึ่งจากฎนี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้ด้วยตัวเองลอยๆโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แต่การที่จะเข้าใจกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ได้อย่างถูกต้อง เราจะต้องมาทำความเข้าใจกับคำเหล่านี้ก่อน อันได้แก่คำว่า เหตุ ที่หมายถึง สิ่งที่กระทำให้เกิดผล ปัจจัย ที่หมายถึง เหตุย่อยๆ หรือสิ่งที่มาสนับสนุนเหตุ ผล ที่หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ ปรุงแต่ง ที่หมายถึง การ (กิริยา) ทำให้เกิดขึ้น สิ่งปรุงแต่ง หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เกิดขึ้น ที่หมายถึง จากการที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง ดับหายไป ที่หมายถึง จากการที่เคยมีอยู่ก่อน แล้วจึงมาหายไปในภายหลัง สรุปแล้วกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้จะบอกว่า เมื่อมีเหตุ จึงมีผล เมื่อไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล อันเป็นหลักของวิทยาศาสตร์นั่นเอง แต่เราก็ต้องเข้าใจความจริงว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นมาได้นั้น มันไม่ใช่จะมีเหตุเพียงเหตุเดียวมาปรุงแต่งขึ้น เพราะความจริงแล้วมันจะมีเหตุมากมายมาร่วมกันปรุงแต่งขึ้น ซึ่งเหตุมากมายนี้เองที่เราเรียกรวมๆกันว่า เหตุและปัจจัย (หรือเหตุปัจจัย) ซึ่งเหตุที่ดูว่าสำคัญหรือใหญ่ที่สุด เราจะเรียกว่า เหตุ ส่วนเหตุย่อยๆที่เหลือทั้งหมดเราจะเรียกว่า ปัจจัย อย่างเช่น เมื่อเราเคาะระฆัง (คือเหตุ) ก็จะเกิดเสียงระฆังขึ้นมา (คือผล) ซึ่งการเคาะระฆังนั้นเรียกว่าเป็น เหตุ ส่วนตัวระฆัง ไม้เคาระฆัง และอากาศที่เป็นสื่อของเสียง นั้นเรียกว่า ปัจจัย เป็นต้น อีกอย่าง เมื่อเหตุทำให้เกิดผลแล้ว ผลนั้นก็ยังจะกลายมาเป็นเหตุหรือปัจจัยไปปรุงแต่งให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก จึงทำให้เกิดการปรุงแต่งผลักดันกันของเหตุ-ผล, เหตุ-ผล, เหคุ-ผล ต่อๆกันไปเหมือนสายโซ่อย่างยุ่งเหยิงสลับซับซ้อน จนเราไม่สามารถไปล่วงรู้ถึงเหตุและผลของทุกสิ่งได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเพราะเราไม่สามารถไปล่วงรู้ถึงเหตุและผลที่แท้จริงของบางสิ่งได้นี่เอง ที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดว่ามีสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่น เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายขึ้นมา แต่ถ้าเราจะเข้าใจถึงเรื่องการปรุงแต่งผลักดันกันของเหตุและผลตามกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้แล้ว เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า มันก็เป็นของธรรมดาของมันเช่นนั้นเอง คือไม่ได้มีอะไรที่จะอยู่นอกเหนือเหตุและผลตามกฎสูงสุดของธรรมชาติเลย อัศจรรย์แห่งการปรุงแต่ง คำที่เราควรทำความเข้าใจก่อนอีกคำก็คือคำว่า ปรุงแต่ง (สังขาร) ที่หมายถึง การกระทำ คือหมายถึง กิริยาของธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดสิ่งทั้งหลายขึ้นมา ซึ่งการปรุงแต่งของธรรมชาตินี้เป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่งของธรรมชาติ ที่สามารถเอาสิ่งพื้นฐาน ๔ อย่าง (คือ ของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ) มาสร้างหรือทำ (ปรุงแต่ง) ให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆขึ้นมาได้อย่างมากมาย เช่น ภูเขา ต้นไม้ บ้าน รถยนต์ โทรศัพท์ ร่างกาย จิตใจ เป็นต้น ทั้งๆที่เดิมแล้วสิ่งทั้งหลายนี้มันก็ไม่ได้มีอยู่ก่อนเลย แต่เมื่อมันมีเหตุและปัจจัยพร้อม มันก็เกิดขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ อย่างเช่น เมื่อเรานำเอาเมล็ดมะม่วงมาฝังดินแล้วรดน้ำและให้ได้รับอุณหภูมิที่พอเหมาะ (มีความร้อน) และไม่นานเมล็ดมะม่วงนั้นมันก็จะงอกออกมาเป็นต้นมะม่วงได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถ้าไม่รดน้ำ หรือไม่มีความร้อน เมล็ดมะม่วงก็จะไม่งอกออกมาเป็นต้นมะม่วงได้ เป็นต้น การปรุงแต่งของธรรมชาตินี้เอง ที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมาในโลก ทั้งที่เป็นวัตถุ พลังงาน และจิตใจ (ความรู้สึกนึกคิด) ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าทำไมธรรมชาติจึงเป็นเช่นนี้ได้ ดังนั้นเรื่องการปรุงแต่งนี้จึงเป็นเรื่องลึกลับหรือมหัศจรรย์อย่างยิ่งของธรรมชาติ แต่ถึงแม้มันจะมีความมหัศจรรย์สักเท่าไร มันก็มีขอบเขต (ไม่ใช่จะมหัศจรรย์อย่างไม่มีขอบเขตเหมือนหนังแฟนตาซี) คือมันจะต้องอาศัยสิ่งอื่นเอามาปรุงแต่ง ไม่ใช่ว่ามันจะสามารถเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆ ซึ่งเมื่อสิ่งใดถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถเป็นเหตุหรือปัจจัยไปร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาได้อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่เรียกว่า วิวัฒนาการของธรรมชาติ นั่นเอง สิ่งปรุงแต่ง - สิ่งไม่ปรุงแต่ง สิ่งทั้งหลายของธรรมชาตินี้ ถ้าจะแยกเพื่อให้เข้าใจง่าย ก็แยกได้ ๒ ประเภท คือ สิ่งปรุงแต่ง (สังขาร) กับ สิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร) ซึ่งสิ่งปรุงแต่งก็คือสิ่งที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันยังปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นต่อไปด้วย โดยสิ่งปรุงแต่งจะมีลักษณะให้สังเกตได้คือ มีการเกิด, ดับ, เปลี่ยนแปลง, รวมทั้งยังต้องมีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นและตั้งอยู่อีกด้วย ซึ่งสิ่งเป็นสิ่งปรุงแต่งก็ได้แก่ทุกสิ่ง (คือทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต) ยกเว้นสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง ตัวอย่างเช่น ร่างกายของเรานั้นก็มีการเกิดขึ้น มีการเจริญเติบโต มีความแก่เฒ่า และต้องอาศัยอาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศ มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ ซึ่งนี่ก็แสดงว่าร่างกายเป็นสิ่งปรุงแต่ง หรืออย่างเช่น จิตใจของเราก็มีการเกิดและดับอยู่เสมอ และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยังต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายเพื่อเกิดขึ้นและตั้งอยู่ ซึ่งนี่แสดงถึงว่า จิตใจของเรานั้นเป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นต้น สิ่งที่ไม่ปรุงแต่งก็คือ สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอะไรมาปรุงแต่งให้มันมีอยู่ ดังนั้นสิ่งไม่ปรุงแต่งจึงมีลักษณะให้สังเกตได้คือ ไม่มีการเกิด, ไม่มีการดับ, ไม่มีการเปลี่ยนแปลง, และไม่ต้องมีอะไรมาเป็นเหตุปัจจัยให้มันมีอยู่, รวมทั้งมันก็ไม่ปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งนี้ก็มีเพียง ความว่าง, กฎของธรรมชาติ, ความดับ, และ นิพพาน (ความสงบเย็นของจิต) เท่านั้น นอกนั้นเป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น สิ่งที่ไม่ปรุงแต่งที่มีอยู่ในจิตใจของเรานั้นจะมีอาการให้เราสังเกตได้คือ เมื่อใดที่จิตของเราหยุดการปรุงแต่งให้เกิดกิเลส หรือหยุดการปรุงแต่งให้เกิดอุปาทานว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นตัวเรา-ของเรา เมื่อนั้นสภาวะของความดับลงของความทุกข์ก็จะปรากฏ และความสงบเย็น (นิพพาน) ของจิตก็จะปรากฏ ซึ่งนี่ก็แสดงว่า ความดับทุกข์และนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง คือเมื่อจิตหยุดการปรุงแต่ง สภาวะของการไม่ปรุงแต่งก็จะปรากฏ (เรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) ธาตุพื้นฐานโลก คำว่า ธาตุ นั้นในทางโลกจะหมายถึง สิ่งที่ย่อยเล็กที่สุด แต่ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง สิ่งพื้นฐาน หรือ สิ่งที่มีอยู่จริง คือหมายถึงว่า จริงๆแล้วสิ่งทั้งหลาย (คือ วัตถุสิ่งของ คน สัตว์ และพืช ทั้งหลาย) ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ มันไม่มีตัวตนของมันจริงๆเลย เพราะว่าสิ่งที่มีอยู่จริงๆก็คือธาตุ ที่ธรรมชาติได้นำเอาธาตุมาปรุงแต่งให้เกิดสิ่งทั้งหลายขึ้นมา โดยธาตุที่เป็นพื้นฐานให้เกิดสิ่งทั้งหลายทั้งที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตนั้น ก็มีอยู่เพียง ๖ ธาตุ อันได้แก่ ๑. ธาตุดิน คือคุณสมบัติที่ค่อนแข็ง หรือของแข็ง ๒. ธาตุน้ำ คือคุณสมบัติที่เหลว เอิบอาบ เกาะกุมตัวเอง หรือของเหลว ๓. ธาตุไฟ คือคุณสมบัติที่ทำลาย หรือความร้อน ๔. ธาตุลม คือคุณสมบัติที่บางเบา แผ่กระจาย หรือก๊าซ ๕. ธาตุว่าง (อากาศธาตุ) คือคุณสมบัติที่ว่าง ไม่มีอะไร หรือสุญญากาศ ๖. ธาตุวิญญาณ (วิญญาณธาตุ) คือคุณสมบัติที่รับรู้สิ่งต่างๆได้ หรือวิญญาณ ธาตุพื้นฐานนี้สรุปได้ ๒ อย่าง คือ รูปธาตุ (หรือวัตถุธาตุ) กับ นามธาตุ (หรืออรูปธาตุ) โดยรูปธาตุก็คือสิ่งที่เป็นพวกวัตถุและสิ่งของรวมทั้งพลังงานทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ก็เกิดขึ้นมาจากการที่รูปธาตุ ๔ (คือธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ตุไฟ, และธาตุลม) มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น แล้วก็อาศัยสุญญากาศตั้งอยู่ ถ้าไม่มีสุญญากาศมันก็จะไม่มีที่อยู่ (อากาศธาตุไม่จัดว่าเป็นรูปธาตุหรือนามธาตุ) ส่วนนามธาตุก็หมายถึง ธาตุพิเศษที่ไม่มีรูปร่างให้สัมผัสได้เหมือนวัตถุธาตุ อันได้แก่วิญญาณธาตุ (หรือการรับรู้) ซึ่งเป็นธาตุที่ต้องอาศัยรูปธาตุพิเศษ อันได้แก่ระบบประสาททั้ง ๖ ของ ร่างกายของคน สัตว์ และพืช ที่ยังดีอยู่เกิดขึ้นมา ซึ่งเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ทำให้มีการรับรู้ (วิญญาณ) เกิดขึ้นมาตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สมอง) เพื่อมารับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งกระทบกาย) และ ธรรมารมณ์ (สิ่งกระทบใจ) ที่ตรงกัน ซึ่งวิญญาณนี้เองที่เป็นเหตุมาปรุงแต่งให้เกิดจิตใจของเราขึ้นมา และเกิดสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายขึ้นมาในโลก ขันธ์ ๕ คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง หรือ กลุ่ม หรือ ส่วน ซึ่งในชีวิตของมนุษย์เราทุกคนนี้จะมีส่วนประกอบอยู่ ๕ ส่วน ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ อันได้แก่ ๑. รูปขันธ์ คือส่วนที่เป็นร่างกายที่เกิดขึ้นมาจากรูปธาตุ ๔ และมีลักษณะแยกได้เป็นชายหรือหญิง ๒. วิญญาณขันธ์ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ ที่เกิดขึ้นมาตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย ๓. สัญญาขันธ์ คือส่วนที่เป็นอาการที่จิตจำสิ่งต่างๆที่รับรู้ได้ ๔. เวทนาขันธ์ คือส่วนที่เป็นความรู้สึก ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ทั้งหลาย ๕. สังขารขันธ์ คือส่วนที่เป็นการคิดนึกและการปรุงแต่งทั้งหลายของจิต ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง จะต้องเรียกเต็มๆว่า รูปขันธ์ วิญญาณขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ แต่การเรียกเช่นนี้มันยาว เราจึงมักนิยมเรียกสั้นๆแค่ว่า รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา สังขาร เท่านั้น อีกอย่างเรามักจะมีการเรียงลำดับว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมันฟังดูแล้วคล้องจองดี แต่การเรียงแบบนี้มันไม่เรียงตามลำดับการเกิดของแต่ละขันธ์ ดังนั้นเราต้องเรียงใหม่ให้เป็นไปตามลำดับการเกิดแต่ละขันธ์ คือเป็น รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา สังขาร จึงขอให้ผู้ศึกษาเข้าใจตามนี้ ขันธ์ทั้ง ๕ นี้คือส่วนประกอบที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตของเราทุกคน โดยขันธ์ทั้ง ๕ นี้สรุปย่อลงเป็น รูป กับ นาม ซึ่ง รูป ก็คือรูป (หรือร่างกาย) ที่เกิดมาจากรูปธาตุ ๔ มาปรุงแต่ง (สร้างหรือทำ) ให้เกิดขึ้น ส่วน นาม ก็คือ วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร ที่ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็น จิต หรือ ใจ ของเราขึ้นมา โดยรูปกับนาม (หรือร่างกายกับจิตใจ) นี้จะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ถ้าสิ่งใดขาดหายไป อีกสิ่งก็ย่อมที่จะแตก (คือร่างกาย) หรือดับ (คือจิตใจ) หายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที คือเมื่อร่างกายตาย จิตใจก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วย เพราะจิตใจต้องอาศัยร่างกายเพื่อปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา เมื่อไม่มีจิตใจ ร่างกายก็จะแตก (หรือตาย) สลายไป เพราะจิตใจจะช่วยให้ร่างกายยังมีการปรุงแต่งให้มีการเจริญเติบโต และดำรงสภาพเป็นร่างกายอยู่ได้ ขันธ์ ๕ หรือร่างกายกับจิตใจนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำมาศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆ ว่าแต่ละขันธ์มันอาศัยเหตุปัจจัยอะไร เพื่อมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่? รวมทั้งแตกหรือดับหายไปเพราะขาดเหตุปัจจัยอะไร? เพื่อที่จะได้ค้นพบความจริงเรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) มีสภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ของร่างกายกับจิตใจ ซึ่งความจริงนี้เองที่เป็นปัญญาที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจในชีวิต และถ้าบวกกับเรามีสมาธิอยู่ด้วย ก็จะทำให้จิตปล่อยวางความยึดถือ (อุปาทาน) ในร่างกายจิตใจ (ที่สมมติว่าเป็นตัวเรา-ของเรา) ว่าเป็นตัวเรา-ของเราลง เมื่อจิตใจไม่มีความยึดถือ มันก็ไม่มีความทุกข์ (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็นิพพาน (หรือสงบเย็น) และเมื่อจิตสงบเย็น ก็จะทำให้เราเกิดความเห็นแจ้งชีวิตขึ้นมาได้ อายตะ ๑๒ อีกเรื่องที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ก็คือเรื่อง อายตนะ ที่แปลว่า สิ่งเชื่อมต่อ คือหมายถึงสิ่งที่ใช้เชื่อมต่อกัน ซึ่งก็แยกได้ ๒ ประเภท อันได้แก่ อายตนะภายใน คือสิ่งเชื่อมต่อที่เป็นภายใน กับ อายตนะภายนอก คือสิ่งเชื่อมต่อที่เป็นภายนอก อายตนะภายในนั้นก็คือ สิ่งเชื่อมต่อที่จัดว่าอยู่ภายในร่างกายของเรา ซึ่งมีอยู่ ๖ จุด ตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย อันได้แก่ ๑. ตา ๒. หู ๓. จมูก ๔. ลิ้น ๕. กาย ๖. ใจ อันได้แก่ (เมื่อพบคำว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงอายตนะภายในทั้ง ๖) ๑. ตา (อายตนะตา) ก็ต้องอาศัยแก้วตาที่ยังดีอยู่ของร่างกายเพื่อเกิดขึ้น ๒. หู (อายตนะหู) ก็ต้องอาศัยแก้วหูที่ยังดีอยู่ของร่างกายเกิดขึ้น ๓. จมูก (อายตนะจมูก) ก็ต้องอาศัยจมูกของร่างกายที่ยังดีอยู่เกิดขึ้น ๔. ลิ้น (อายตนะลิ้น) ก็ต้องอาศัยลิ้นของร่างกายที่ยังดีอยู่เกิดขึ้น ๕. กาย (อายตนะกาย) ก็ต้องอาศัยเนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายเกิดขึ้น ๖. ใจ (อายตนะใจ) ก็ต้องอาศัยสมองของร่างกายที่ยังดีอยู่เกิดขึ้น ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เป็นระบบประสาทของร่างกายที่เป็นพวกรูป (วัตถุ) แต่หมายถึงนามธรรมที่เกิดขึ้นตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย ถ้าระบบประสาทใดของร่างกายเสียหาย อายตนะที่ระบบประสาททั้งก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ อย่างเช่น เมื่อแก้วตาเสียหาย ตาหรือสิ่งที่ทำหน้าที่มองเห็นก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หรือเมื่อแก้วหูเสียหาย หูหรือสิ่งที่ทำหน้าที่ได้ยินเสียงก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ เป็นต้น ส่วนอายตนะภายนอกนั้นก็คือ สิ่งเชื่อมต่อที่จัดว่าเป็นสิ่งภายนอก ที่คู่กับอายตนะภายในที่ตรงกัน ซึ่งก็มีอยู่ ๖ อย่าง อันได้แก่ ๑. รูป (หรือภาพ) ซึ่งมีไว้เชื่อมต่อกับตา ๒. เสียง ซึ่งมีไว้เชื่อมต่อกับหู ๓. กลิ่น ซึ่งมีไว้เชื่อมต่อกับจมูก ๔. รส ซึ่งมีไว้เชื่อมต่อกับลิ้น ๕. โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กายจะสามารถรับรู้ได้ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง) ซึ่งมีไว้เชื่อมต่อกับกาย ๖. ธรรมารมณ์ (คือทุกสิ่งที่ใจจะสามารถรับรู้ได้ อันได้แก่ การรับรู้ ความจำ ความรู้สึก การคิดนึก-ปรุงแต่งของจิต) ซึ่งมีไว้เชื่อมต่อกับใจ อายตนะทั้งในและนอกนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาเรื่องการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ คือเมื่ออายตนะภายนอกมากระทบกับอายตนะภายในแล้ว ก็จะเกิดการปรุงแต่งให้เกิดวิญญาณขึ้นมา และถ้ามีอวิชชาเกิดขึ้นมาในขณะนี้ ก็จะทำให้เกิดการปรุงแต่งต่อๆกันขึ้นมาอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ จนเกิดความทุกข์ขึ้นมาในที่สุด (ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท) ดังนั้นการศึกษาเรื่องอายตนะนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน วิญญาณ ๖ เมื่อได้ยินคำว่า วิญญาณ ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าหมายถึง ผี หรือจิตใจของคนเราที่ออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่วิญญาณที่พระพุทธเจ้าสอน แต่เป็นความเชื่อว่าจิตใจของคนเรานี้เป็นอัตตา (ตัวตนที่แท้จริง) ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้วได้ ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งความเชื่อเรื่องวิญญาณหรือจิตเป็นอัตตานี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย เรื่องนรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า รวมทั้งเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น ขึ้นมา เพื่อมารองรับความเชื่อเรื่องจิตหรือวิญญาณที่เป็นอัตตานั่นเอง (ซึ่งต่อมาความเชื่อนี้ก็ได้เข้ามาผสมปลอมปนอยู่ในคำสอนระดับศีลธรรมของพุทธศาสนาในปัจจุบัน) คำว่าวิญญาณนี้พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ว่า คำว่า วิญญาณ แปลว่า การรับรู้ คือเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราวตามอายตนะภายในทั้ง ๖ นั่นเอง และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีชื่อเรียกไปตามอายตนะภายในที่เกิดขึ้น อันได้แก่ ๑. วิญญาณทางตา คือเมื่อมีรูปมากระทบตา ก็จะเกิดการรับรู้ทางตาขึ้น (คือเกิดการเห็นภาพขึ้น) ๒. วิญญาณทางหู คือเมื่อมีเสียงมากระทบหู ก็จะเกิดการรับรู้เสียงขึ้น (คือเกิดการได้ยินเสียงขึ้น) ๓. วิญญาณทางจมูก คือเมื่อมีกลิ่นมากระทบจมูก ก็จะเกิดการรับรู้กลิ่นขึ้น (คือเกิดการได้กลิ่นขึ้น) ๔. วิญญาณทางลิ้น คือเมื่อมีรสมากระทบลิ้น ก็จะเกิดการรับรู้รสขึ้น (คือเกิดการได้ลิ้มรสขึ้น) ๕. วิญญาณทางกาย คือเมื่อมีความเย็น,ร้อน, อ่อน, แข็ง (โผฏฐัพพะ) มากระทบกาย ก็จะเกิดการได้รับรู้สิ่งที่มากระทบกายขึ้น ๖. วิญญาณทางใจ คือเมื่อมีการรับรู้, ความจำ, ความรู้สึกต่างๆ, และการปรุงแต่ง-คิดนึกของจิต (ธรรมารมณ์) มากระทบใจ ก็จะเกิดการรับรู้สิ่งที่มากระทบใจขึ้น วิญญาณหรือการรับรู้ของคนเรานี้ก็มีลักษณะเหมือนไฟฟ้าในทางวัตถุนั่นเอง คือเมื่อมีแสงแดดมากระทบแผ่นโซล่าร์เซลล์ที่ยังดีอยู่ ก็จะเกิดไฟฟ้าขึ้นมาที่แผ่นโซล่าร์เซลล์นั้นทันที แต่ถ้าไม่มีแสงแดดมากระทบแผ่นโซล่าร์เซลล์ ไฟฟ้าก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถึงแม้จะมีแสงแดดมากระทบแผ่นโซล่าร์เซลล์ แต่ถ้าแผ่นโซล่าร์เซลล์นั้นเสียหาย ไฟฟ้าที่แผ่นโซล่าร์เซลล์นั้นก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เหมือนกัน สรุปได้ว่า เราต้องแยกให้ออกก่อนว่า วิญญาณ ที่หมายถึง ผี หรือจิตใจของคนที่ตายแล้วนั้นไม่ใช่วิญญาณที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะมันมีลักษณะเป็นอัตตา (ตัวตนอมตะ) ที่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์เขา ส่วนวิญญาณที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นจะหมายถึง กระแสของการรับรู้ที่เกิดขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราวตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าร่างกายตายหรือระบบประสาทใดเสียหาย วิญญาณก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ที่ร่างกายที่ตายแล้วหรือที่ระบบประสาทที่เสียหายแล้วนั้นได้ ซึ่งนี่คือวิญญาณที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าสอน ที่มีลักษณะเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัย ตั้งอยู่ได้ด้วยเหตุและปัจจัย และดับหายไปเพราะขาดเหตุหรือปัจจัย ตามกฎอิทัปปัจจยตา อันเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาตินั่นเอง ผัสสะ ๖ ผัสสะ แปลว่า การสัมผัส (การกระทบทางอายตนะภายในยังไม่เรียกว่าเป็นผัสสะ) ซึ่งการสัมผัสจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ ๓ องค์ประกอบ อันได้แก่ อายตนะภายนอก + อายตนะภายใน + วิญญาณ ดังนั้นผัสสะจึงมีอยู่ ๖ จุดอันได้แก่ ๑. ผัสสะทางตา คือการสัมผัสทางตา ๒. ผัสสะทางหู คือการสัมผัสทางหู ๓. ผัสสะทางจมูก คือการสัมผัสทางจมูก ๔. ผัสสะทางลิ้น คือการสัมผัสทางลิ้น ๕. ผัสสะทางกาย คือการสัมผัสทางกาย ๖. ผัสสะทางใจ คือการสัมผัสทางใจ อย่างเช่น เมื่อมีรูปมากระทบตาแล้วเกิดวิญญาณทางตาขึ้น ก็เรียกว่าเป็นผัสสะหรือการสัมผัสทางตา หรือเมื่อมีธรรมารมณ์มากระทบใจ แล้วเกิดวิญญาณทางใจขึ้น ก็เรียกว่าเป็นการสัมผัสทางใจ เป็นต้น ซึ่งการสัมผัสนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดความทุกข์และดับทุกข์ คือเมื่อเราขาดสติ (คือไม่ได้ระลึกถึงปัญญา) ในขณะที่กำลังเกิดการสัมผัส ก็จะทำให้อวิชชา (หัวใจของอวิชชาก็คือความรู้ว่ามีตัวเรา) เกิดขึ้นในจิต แล้วทำให้จิตเกิดการปรุงแต่งให้เกิดอุปาทาน (ความยึดถือว่ามีตัวเรา) และความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าในขณะที่กำลังเกิดการสัมผัสอยู่นี้ ถ้าเรามีสติ (คือระลึกถึงปัญญาได้) สติก็จะดึงเอาปัญญา (ความเข้าใจและเห็นแจ้งว่ามันไม่มีตัวเราอยู่จริง) และสมาธิ (ที่เคยฝึกมาก่อน) ออกมา แล้วก็ทำให้อวิชชาไม่เกิดขึ้น (หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับหายไป) แล้วก็ทำให้อุปาทานไม่เกิดขึ้น (หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับหายไป) และก็ทำให้ความทุกข์ไม่เกิดขึ้น (หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับหายไป) สัญญา ๖ สัญญา แปลว่า ความสำคัญมั่นหมาย คือหมายถึง อาการที่จิตจำสิ่งที่กำลังรับรู้อยู่ได้ (หรือกำลังสัมผัสอยู่) ซึ่งสัญญานี้ก็มี ๖ อาการ ตามสิ่งที่รับรู้ อันได้แก่ ๑. สัญญาในรูป คือจำรูปที่เห็นได้ ว่าเป็นรูปของอะไรหรือใคร เป็นต้น ๒. สัญญาในเสียง คือจำเสียงที่ได้ยินได้ ว่าเป็นเสียงของใครหรือสิ่งใด เป็นต้น ๓. สัญญาในกลิ่น คือจำกลิ่นที่ได้กลิ่นได้ ว่าเป็นกลิ่นของสิ่งใด เป็นต้น ๔. สัญญาในรส คือจำรสที่ได้ลิ้มได้ ว่าเป็นรสของอะไร เป็นต้น ๕. สัญญาในโผฏฐัพพะ คือจำสิ่งที่มากระทบกายได้ ว่าเป็นอะไรและเย็นหรือร้อน เป็นต้น ๖. สัญญาในธรรมารมณ์ คือจำสิ่งที่ใจรับรู้ได้ ว่าน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ เป็นต้น การสำคัญมั่นหมายนี้มันก็ใกล้ที่จะเป็นความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) แล้ว ซึ่งสัญญาที่สำคัญก็คือการสำคัญมั่นหมาย (หรือจำได้) ว่าจิตใจที่กำลังรู้สึกอยู่นี้ว่าเป็นตัวเรา และสำคัญมั่นหมายว่าร่างกายนี้กับสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น พ่อ แม่ สามีหรือภรรยา ลูก พี่ น้อง ญาติ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ว่าเป็นของเรา (ส่วนคนที่โง่มากหน่อยก็จะสำคัญมั่นหมายว่าร่างกายกับจิตใจนี้คือตัวเรา และสำคัญมั่นหมายว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าเป็นของเรา) เวทนา ๖ เวทนา แปลว่า ความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะหรือการสัมผัสเกิดขึ้น คือเมื่อมีการสัมผัส ก็จะเกิดเวทนาหรือความรู้สึกตามมาด้วยทันที ดังนั้นเวทนาจึงสามารถเกิดขึ้นได้ตามผัสสะทั้ง ๖ อันได้แก่ ๑. เวทนาทางตา คือความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสทางตา ๒. เวทนาทางหู คือความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสทางหู ๓. เวทนาทางจมูก คือความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสทางจมูก ๔. เวทนาทางลิ้น คือความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสทางลิ้น ๕. เวทนาทางกาย คือความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสทางกาย ๖. เวทนาทางใจ ความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัสทางใจ เวทนาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามผัสสะทั้ง ๖ นี้ยังแยกได้ ๓ ชนิด คือ ๑. สุขเวทนา ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย หรือความรู้สึกที่น่าพอใจ (หรือความสุข) ๒. ทุกขเวทนา ความรู้สึกที่ทนได้ยาก หรือความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ๓. อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นกลางๆหรือไม่ใช่ทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา (ความรู้สึกจืดๆ) การที่จะเกิดสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาขึ้นมานั้น มันก็ขึ้นอยู่กับอายตนะภายนอกที่มาประทบ อย่างเช่น เมื่อตาของเราเห็นรูปของเพศตรงข้ามที่สวยงาม ก็จะเกิดสุขเวทนาหรือความสุขทางตาขึ้นมาทันที แต่เมื่อตาของเราเห็นรูปของคนที่เราเกลียดหรือกลัว ก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาทันที หรือถ้าตาของเราเห็นรูปต้นไม้ หรือภูเขา หรือสัตว์ หรือคนที่เราไม่รักและไม่เกลียด ก็จะเกิด อทุกขมสุขเวทนา หรือความรู้สึกจืดๆขึ้นมาทันที เป็นต้น สิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ สุขเวทนานั้นก็คือความสุข ส่วนทุกขเวทนานั้นยังไม่ใช่ความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ จนกว่าจิตของเราจะเกิดความไม่พอใจ (คือกิเลสพวกยินร้าย) ในทุกขเวทนานี้อย่างรุนแรง ซึ่งความไม่พอใจที่รุนแรงนี้เอง ที่เป็นธรรมารมณ์อันเลยร้ายที่มากระทบใจ แล้วทำให้ใจเกิดทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรงซ้อนขึ้นมาอีกที ซึ่งทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรงที่เกิดซ้อนขึ้นมานี้เอง ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป สังขาร ๓ สังขาร แปลว่า ปรุงแต่ง ซึ่งหมายถึง กิริยาที่ปรุงแต่งก็ได้ หรือหมายถึงสิ่งที่ไปปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นก็ได้ หรือหมายถึง สิ่งของที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นก็ได้ โดยสังขารนี้ในชีวิตอขงเราก็มีอยู่ ๓ อย่าง อันได้แก่ ๑. กายสังขาร สภาพการปรุงแต่งทางกาย คือ การกระทำ (กิริยา) ของร่างกายก็เรียกว่าสังขาร, ร่างกายก็สามารถทำ (ปรุงแต่ง) ให้เกิดสิ่งอื่นขึ้นมาได้, และร่างกายของเราก็เป็นสิ่งปรุงแต่งมาจากรูปธาตุ ๔ ๒. วจีสังขาร สภาพการปรุงแต่งทางวาจา คือ กิริยาการพูดก็เป็นสิ่งปรุงแต่งมาจากการไตร่ตรอง, คำพูดสามารถทำ (ปรุงแต่ง) ให้คนฟังเกิดความเข้าใจได้, และคำพูดก็เป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นมาจากระบบของหลอดลมกับลมที่เล่นผ่านหลอดลม ๓. จิตตสังขาร สภาพการปรุงแต่งทางจิต คือ กิริยาอาการต่างๆของจิต เช่น อาการของกิเลส และการคิดของจิต ก็เป็นสิ่งที่ได้รับการปรุงแต่งมาจากเวทนา, จิตสามารถก็สั่ง (ปรุงแต่ง) ให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้และให้ปากพูดได้, และกิริยาอาการต่างๆของจิต (เช่น อาการของกิเลส อุปาทาน เป็นต้น) กับการคิดของจิต ก็เป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นมาจากร่างกาย (คือร่างกายเป็นทำให้เกิดวิญญาณ และวิญญาณก็ทำให้เกิดจิต) กับสัญญา (สัญญาก็ต้องอาศัยเนื้อสมองในการเก็บข้อมูลของความทรงจำทั้งหลาย) จิตตสังขาร สังขาร (หรือสังขารขันธ์) ในขันธ์ ๕ นั้นก็คือจิตตสังขาร ซึ่งเป็นอาการปรุงแต่งของจิตที่เกิดขึ้นต่อจากสัญญาและเวทนานั่นเอง โดยจิตตสังขารนี้ก็ยังแยกได้ ๒ อย่าง อันได้แก่ ๑. การคิดของจิต คือเป็นการคิดพิจารณา หรือไตร่ตรอง หรือน้อมจิตไป เป็นต้นนั่นเอง ซึ่งการคิดของจิตนี้เราก็ยังพอที่จะสามารถควบคุมให้มันคิดนึกไปเรื่องใดก็ได้ หรือไม่คิดเรื่องใดก็ได้ โดยการคิดนี้ก็สามารถแยกได้ ๒ อย่างคือ ๑.๑ คิดไปตามอำนาจของกิเลส คือเมื่อใดที่จิตขาดสติ ก็จะทำให้อวิชชาและกิเลสเกิดขึ้นมาครอบงำจิต แล้วจิตก็จะคิดไปตามอำนาจของกิเลส คือคิดไปด้วยความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ลังเลใจบ้าง หรือคิดไปด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งกิเลสนี้ก็มาจากความเคยชิน (อนุสัย) ของจิตใต้สำนึกอีกที ๑.๒ คิดไปด้วยสติปัญญา คือเมื่อใดที่จิตมีสติ ปัญญา และสมาธิ (ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า) พวกอวิชชาและกิเลสก็จะไม่เกิดขึ้น (หรือที่กำลังเกิดอยู่ก็จะดับหายไปได้แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีกิเลส มันก็จะบริสุทธิ์ (ประภัสสร) และมันก็จะคิดไปด้วยสติปัญญา หรือคิดไปด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ๒. ความเคยชินของจิต ซึ่งความเคยชินนี้เรียกว่า อนุสัย ที่หมายถึง ความเคยชิน ที่เป็นอาการปรุงแต่งของจิตโดยอัตโนมัติ (คือเราไม่ได้ตั้งใจหรือยากจะให้มันเกิด) ตามความเคยชินของจิตใต้สำนึกที่จิตได้สั่งสมมาตลอดทั้งชีวิต (หรือที่เราเรียกกันว่านิสัย) ซึ่งความเคยชินนี้เราไม่สามารถควบคุมมันได้ โดยความเคยชินนี้ก็ยังแยกได้ ๒ อย่าง อันได้แก่ ๒.๑ ความเคยชินของกิเลส คือเมื่อจิตจำสิ่งที่รับรู้ได้แล้วและเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตขาดสติ ปัญญา และสมาธิ จิตก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปทันทีโดยอัตโนมัติ ว่าจะทำอย่างไรกับเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น คือเมื่อเกิดสุขเวทนา จิตก็จะเกิดอาการพอใจขึ้นมาทันที, เมื่อเกิดทุกขเวทนา จิตก็จะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาทันที, เมื่อเกิดอทุกขมสุขเวทนา จิตก็จะเกิดความลังเลใจขึ้นมาทันที และเมื่อจิตเกิดกิเลสแล้วก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปให้เกิดอุปาทานและความทุกข์ขึ้นมาด้วยทันทีโดยอัตโนมัติ อย่างเช่นเมื่อมีเพศตรงข้ามที่เราชอบมาให้เราเห็น เราก็จะเกิดความรักหรือพอใจขึ้นมาทันที หรือเมื่อมีคนมาด่าเรา เราก็จะเกิดความโกรธขึ้นมาทันที เป็นต้น ๒.๒ ความเคยชินของสติปัญญา คือเมื่อจิตจำสิ่งที่รับรู้ได้แล้วและเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมีสติ ปัญญา (มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว) และสมาธิ จิตก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสพร้อมอุปาทานและความทุกข์ขึ้นมา แล้วจิตก็จะนิพพานหรือสงบเย็น ซึ่งสติ ปัญญา และสมาธินี้ก็มาจากการฝึกฝนตามหลักอริยมรรค จนกลายเป็นความเคยชินที่จะไม่เป็นทุกข์ (ที่เรียกว่า บารมี) ที่ตรงข้ามกับความเคยชินของกิเลส ระบบการทำงานของจิต เมื่อเรารู้จักเรื่องธาตุ ๖, ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, วิญญาณ ๖, ผัสสะ ๖, สัญญา ๖, เวทนา ๖, และสังขาร ๓ แล้ว ต่อไปเราก็จะมาศึกษาถึงเรื่องระบบการทำงานของจิตอย่างละเอียด ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? และทำงานอย่างไร? จึงทำให้เกิดจิตหรือใจขึ้นมา รวมทั้งจิตใจมันมีการปรุงแต่งอย่างไร จึงทำให้ความทุกข์เกิดขึ้นและดับหายไป (หรือไม่เกิดขึ้น) คำว่า จิต หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่คิดนึก-ปรุงแต่ง ส่วนคำว่า ใจ หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่รับรู้และรู้สึก ซึ่งบางทีก็เรียกรวมๆกันว่า จิตใจ ที่หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่รู้สึกนึกคิด หรือจะเรียกแยกกันก็ได้ หรือใช้เรียกแทนกันก็ได้ โดยพื้นฐานนั้นจิตก็เกิดขึ้นมาจากร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งร่างกายนี้จะมีระบบประสาทอยู่ ๖ จุด และที่ระบบประสาททั้ง ๖ นี้เองที่เป็นจุดที่การรับรู้ (หรือวิญญาณ) จะเกิดขึ้น คือเมื่อมีอายตนะภายนอกมากระทบกับอายตนะภายในที่ตรงกัน เช่น มีรูปมากระทบตา หรือมีเสียงมากระทบหู เป็นต้น ก็จะเกิดการรับรู้ (หรือวิญญาณ) ขึ้นมาที่อายตนะภายในนั้นทันที เช่น เกิดวิญญาณทางตา (หรือการเห็นภาพ) ขึ้น หรือเกิดวิญญาณทางหู (หรือการได้ยินเสียง) ขึ้น เป็นต้น เมื่อเกิดวิญญาณหรือการรับรู้ขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ การจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ (สัญญา) เช่นจำได้ว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพอะไร หรือเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงอะไรหรือของใคร เป็นต้น ซึ่งการที่จิตจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ก็เพราะ สมองของเรามีข้อมูล (หรือความทรงจำ) ของสิ่งที่เรารับรู้นั้นบันทึกอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเกิดการรับรู้สิ่งใดขึ้นมา จิตก็จะนำสิ่งที่รับรู้นั้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่สมองมีอยู่ ถ้าเปรียบเทียบแล้วตรงกัน ก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูลก็จะไม่รู้จัก (หรือถ้าลืมไปแล้วก็จะจำไม่ได้) ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆที่สมองยังไม่มีความทรงจำ ก็ย่อมที่จะไม่รู้จักสิ่งที่รับรู้ใดๆได้ เมื่อเกิดการจำสิ่งที่รับรู้ได้แล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาทันทีก็คือ ความรู้สึก (เวทนา) ซึ่งความรู้สึกนี้ก็มีอยู่ ๓ ชนิด ซึ่งการที่จะเกิดความรู้สึกใดขึ้นมา มันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จำได้นั่นเอง คือเมื่อจำได้ว่าสิ่งที่รับรู้นั้นให้ความรู้สึกที่น่าพอใจ ก็จะเกิดสุขเวทนาหรือความรู้สึกที่น่าพอใจ (หรือความรู้สึกที่ทนได้ง่ายหรือความสุข) ขึ้นมาทันที แต่ถ้าสิ่งที่รับรู้นั้นให้ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ก็จะเกิดทุกขเวทนาหรือความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ (หรือความรู้สึกที่ทนได้ยาก) ขึ้นมาทันที หรือถ้าสิ่งที่รับรู้นั้นให้ความรู้สึกที่เป็นกลางๆหรือไม่ใช่ทั้งน่าพอใจและไม่น่าพอใจ ก็จะเกิดอทุกขมสุขเวทนาขึ้นมาทันที เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะเกิดต่อไปทันทีก็คือ การปรุงแต่งของจิต ซึ่งการปรุงแต่งของจิตนี้ก็แยกได้ ๒ อาการ คือ เกิดกิเลส (คือยินดี-ยินร้าย-ลังเลใจ) กับ ไม่เกิดกิเลส คือเมื่อจิตของเราไม่มีสติปัญญาและสมาธิ (ตามหลักอริยมรรค) เมื่อเกิดความรู้สึกที่น่าพอใจ (สุขเวทนา) ขึ้นมา จิตของเราก็จะเกิดความพอใจ (หรือยินดี หรืออยากได้ หรือ รัก ชอบ เป็นต้น) ขึ้นมาทันทีตามความเคยชิน, เมื่อเกิดความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ (ทุกขเวทนา) จิตของเราก็จะเกิดความไม่พอใจ (หรือยินร้าย หรือไม่อยากได้ หรือโกรธ เกลียด กลัว เบื่อหน่าย เป็นต้น) ขึ้นมาทันทีตามความเคยชิน, เมื่อเกิดความรู้สึกจืดๆ (อทุกขมสุขเวทนา) ขึ้นมา จิตของเราก็จะเกิดความลังเลใจ (หรือไม่แน่ใจ) ขึ้นมาทันทีตามความเคยชิน แต่ในขณะที่เกิดความรู้สึกขึ้นมานั้น ถ้าจิตของเรามีสติปัญญาและสมาธิ (ตามหลักอริยมรรค) อยู่ แม้จะเกิดความรู้สึกใดขึ้นมาก็ตาม จิตของเราก็จะไม่เกิดอาการของกิเลสใดๆขึ้นมา เมื่อจิตไม่มีกิเลสมันก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตเกิดกิเลส (คือความยินดี-ยินร้าย-ลังเลใจ) ตัวใดขึ้นมาก็ตาม มันก็จะทำให้จิตเกิดการปรุงแต่งให้เกิดอุปาทานหรือความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา ที่เป็นผู้ที่มีกิเลสขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งกิเลสและอุปาทานนี้เองที่เป็นธรรมารมณ์ที่เลวร้ายที่กำลังกระทบใจอยู่ แล้วทำให้วิญญาณทางใจและเกิดทุกขเวทนาทางใจ (ความรู้สึกที่ทนได้ยาก) ซ้อนขึ้นมา แล้วทุกขเวทนาทางใจนี้ก็มากระทบใจอีก แล้วก็ทำให้ใจเกิดทุกขเวทนาซ้อนขึ้นมาอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้จนทำให้เกิดทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรงขึ้นมา ซึ่งทุกเวทนาทางใจที่รุนแรงที่เกิดซ้อนขึ้นมานี้เอง ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ (คือมีตัวเราเกิดขึ้นมาเป็นผู้ที่มีความทุกข์) แต่ถึงแม้จะเกิดความรู้สึก (เวทนา) ใดๆขึ้นมาก็ตาม ถ้าจิตของเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา สติก็จะดึงเอาปัญญาออกมาพร้อมสมาธิ (จากการเคยฝึกมาก่อน) ก็จะทำให้จิตไม่ปรุงแต่งกิเลสใดๆให้เกิดขึ้นมา เมื่อไม่มีกิเลส อุปาทานก็จะไม่เกิดขึ้น (คือไม่เกิดความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา) และเมื่อไม่มีกิเลสและอุปาทาน ก็จะไม่มีธรรมารมณ์อันเลวร้ายมากระทบใจ ก็จะทำให้ไม่เกิดทุกขเวทนาทางใจซ้อนขึ้นมา (ถึงจะมีทุกขเวทนาจากการกระทบครั้งแรกอยู่บ้างก็ตามแต่ก็ไม่รุนแรง) เมื่อไม่มีทุกขเวทนาทางใจที่รุนแรง (ไม่มีความทุกข์) จิตก็ย่อมที่จะยังคงมีความสงบเย็น (หรือนิพพาน) อยู่แล้วตามธรรมชาติ (แต่ถ้าจิตเกิดความทุกข์ นิพพานก็จะหายไป เมื่อความทุกข์หายไป นิพพานก็จะกลับมาปรากฏได้ใหม่) จิตเดิมแท้ประภัสสร จิตของเด็กทุกคนที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆนั้นจะมีความประภัสสร (คือบริสุทธิ์หรือไม่มีกิเลส ไม่มีอุปาทานหรือความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตนเอง) อยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งจิตที่ประภัสสรนี้เองที่มีนิพพานหรือความสงบเย็น (เพราะไม่มีความทุกข์) อยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งจิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วแม้จะไม่มีกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองอยู่แล้วตามธรรมชาติก็ตาม แต่มันก็มีสัญชาติญาณ (ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตโดยไม่ต้องมีใครสอน) ว่ามีตนเองเกิดขึ้นมาด้วยเล็กน้อย สัญชาติญาณหรือความรู้ว่ามีตนเองนี้เอง ที่ทำให้ทุกชีวิตเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองอยู่ในโลกจริงๆ เมื่อทุกชีวิตมีความรู้สึกว่ามีตนเอง จึงทำให้รักตนเอง เมื่อรักตนเองจึงทำให้พยายามเอาตัวรอด จึงทำให้เกิดสัญชาติญาณหรือความรู้อื่นๆตามมาอีก เช่น สัญชาติญาณในการหาอาหาร กินอาหาร สืบพันธ์ เลี้ยงลูก หนีภัย เป็นต้น ดังนั้นสัญชาติญาณว่ามีตนเองจึงเป็นสัญชาติญาณใหญ่ที่ทำให้เกิดสัญชาติญาณอื่นๆตามมาอีก ถ้าสิ่งที่มีชีวิตใดไม่มีสัญชาติญาณว่ามีตนเอง สิ่งที่มีชีวิตนั้นก็ย่อมที่จะสูญพันธ์ไปจากโลก ซึ่งสัญชาติญาณหรือความรู้ว่ามีตนเองนี้เอง ที่ทางพุทธศาสนาจัดว่าเป็น อวิชชา ที่หมายถึง ความไม่รู้ความจริงที่ควรรู้ หรือความโง่สูงสุดของจิตที่ไม่รู้จักความจริงสูงสุดของธรรมชาติในเรื่องที่ว่ามันไม่มีตัวเราอยู่จริง อวิชชา (ความรู้ว่ามีตนเอง) นี้เองที่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็จะมาครอบงำจิต แล้วทำให้จิตของเด็กทุกคนที่แม้เพิ่งเกิดขึ้นมาเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองอ่อนๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแม้จะยังไม่เกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองก็ตาม แต่เมื่อจิตของเด็กนั้นได้รับรู้สิ่งต่างๆของโลกผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น และกาย (เช่นเมื่อแม่เอานมให้ลูกดูดกิน) ก็ย่อมที่จะทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาแก่จิตของเด็ก (เช่นเมื่อเด็กได้ดูดนมก็จะเกิดความรู้สึกอร่อยหรือน่าพอใจ) เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วก็จะทำให้เกิดกิเลสตามมาทันทีตามสัญชาติญาณว่ามีตนเอง (คือเกิดความพอใจในความเอร็ดอร่อย) เมื่อเกิดกิเลสแล้วก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตนเองที่เป็นผู้มีกิเลสเกิดขึ้นตามมาทันที (คือเกิดความยึดถือว่ามีที่เป็นผู้มีความพอใจในความเอร็ดอร่อย) ซึ่งทุกครั้งที่จิตของเด็กนั้นเกิดกิเลส ก็จะทำให้ความประภัสสรและนิพพานหรือความสงบเย็นของจิตที่มีอยู่ก่อนนั้นหายไปทันที แต่พอกิเลสดับหายไป (เพราะมันไม่เที่ยง) ความประภัสสรและนิพพานก็จะกลับมาปรากฏได้อีกเรื่อยไป ทุกครั้งที่จิตของเด็กเกิดกิเลสและดับหายไป มันก็จะทิ้งความเคยชิน (อนุสัย) เอาไว้ให้แก่จิต ยิ่งเมื่อเด็กนั้นโตขึ้น ก็ย่อมที่จะเคยเกิดกิเลสมาแล้วมากมาย จึงเท่ากับมีความเคยชินของกิเลสมากตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อใดที่จิตของเด็กที่โตแล้วนั้นได้รับรู้สิ่งต่างๆของโลก แล้วเกิดความรู้สึกต่างๆขึ้น (เกิดเวทนา) ความเคยชินของกิเลสจึงได้ไหลออกมา เป็นกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมาอีกได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว (ที่เรียกว่าอาสวะกิเลส) ที่ห้ามได้ยากหรือแทบไม่ได้เลย นี่เองที่ทำให้จิตของเรานั้นเกิดความทุกข์ขึ้นมาตามความยึดถือว่ามีตัวเรา เพราะมีอวิชชาเป็นต้นเหตุ แต่เมื่อกิเลสดับหายไป ความยึดถือว่ามีตัวเราและความทุกข์ก็จะพลอยดับหายตามไปด้วยทันที แล้วความประภัสสรของจิตและนิพพานก็จะกลับมาปรากฏได้อีก (เราจะไม่ใช้คำว่า เกิด กับนิพพาน เพราะนิพพานไม่มีการเกิด แต่จะใช้คำว่า ปรากฏ ที่หมายถึง มันมีอยู่แล้วตลอดเวลา แต่มันถูกปิดบังหรือครอบงำจากสิ่งอื่นเอาไว้ พอเอาสิ่งที่ปิดบังหรือครอบงำนั้นออกไป เราก็จะพบสิ่งที่ถูกปิดบังหรือครอบงำนั้นทันที) สรุปได้ว่า จิตดั้งเดิม (จิตเดิมแท้) ของมนุษย์คนนั้นจะไม่มีกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองอยู่แล้วทุกคนตามธรรมชาติ แต่เพราะมีอวิชชาเกิดขึ้นมาครอบงำและได้รับการอบรมสั่งสอนที่แตกต่างกัน จึงทำให้จิตของเด็กทั้งหลายเกิดความรู้สึกและยึดถือว่ามีตนเองที่แตกต่างกันขึ้นมา แล้วก็ทำให้มนุษย์ทั้งหลายเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา ซึ่งความเห็นแก่ตัวนี้เองที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่จิตใจของตนเอง และยังทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนชีวิตของคนอื่นรวมทั้งสัตว์ทั้งหลายและแม้พืชทั้งหลายด้วย จนทำให้สังคมมนุษย์มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวายและโลกมีแต่วิกฤติการณ์จนหาสันติภาพไม่ได้อย่างเช่นในปัจจุบัน จริงสมมติ - จริงแท้ ความจริง หมายถึง สิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ตามธรรมชาติอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความจริงนี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ๑. ความจริงสมมติ คือเป็นความจริงตามที่ชาวโลกเขาสมมติกันขึ้นมา เช่น ตัวเรา, ตัวเขา, ชาย, หญิง, หล่อ, สวย, ไม่หล่อ, ไม่สวย, คนแก่, เด็ก, พ่อ, แม่, ลูก, สามี, ภรรยา, ต้นไม้, ภูเขา, รถยนต์, เงิน, ทอง, รวย, จน, มีเกียรติ, ไร้เกียติ, สูง, ต่ำ, ดำ, ขาว, ได้, เสีย, ดี, ชั่ว, โง่, ฉลาด, สุข, ทุกข์ เป็นต้น ซึ่งความจริงสมมตินี้ยังไม่แน่นอน (คือเปลี่ยนแปลงได้) เพราะยังไม่ใช่ความจริงแท้ ๒. ความจริงแท้ คือเป็นความจริงสูงสุดของธรรมชาติที่เป็นเรื่องความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ตามกฎไตรลักษณ์ ที่บอกว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งความจริงแท้นี้จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง คำต่างๆที่ชาวโลกเขาพูดกันอยู่นั้น มันเป็นเพียงแค่การสมมติขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสารเท่านั้น ซึ่งคำต่างๆเหล่านี้เป็นคำที่เกิดมาจากสามัญสำนึกของมนุษย์ เช่น ตัวเรา ตัวเขา พ่อ แม่ ลูก เป็นต้น ที่ใครๆก็รู้สึกตรงกันว่าสิ่งที่เราพูดถึงนั้นมันมีอยู่จริงๆ ซึ่งนี่คือความรู้และเข้าใจที่ถูกต้องแค่เพียงระดับโลกหรือระดับสติปัญญาของคนธรรมดาทั่วไป (ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้าน) ที่ยังไม่มีสติปัญญาระดับสูงตามหลักพุทธศาสนา (ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิระดับอริยะ) เพราะความจริงแท้นั้นจะเป็นความรู้และเข้าใจว่า สิ่งต่างๆที่ชาวโลกเขาสมมติเรียกกันอยู่นั้น มันไม่ได้เป็นตัวตนจริงๆ (อัตตา) ตามที่พูดกันอยู่เลย เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (สร้าง ทำ ประกอบ) ให้เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยตามกฎอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะหาตัวตนจริงๆของมันเองไม่มี (สุญญตา) การมองโลกนั้นถ้าเรามองอย่างผิวเผินหรือหยาบๆโดยไม่สังเกตหรือไม่ตั้งใจพิจารณา (คือไม่มีสติ-ปัญญา-สมาธิ) เราก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่าสิ่งต่างๆของโลกนั้นมันมีอยู่จริงๆ ซึ่งลักษณะนี้ในทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็น อวิชชา ที่หมายถึง ความรู้ผิด (โดยความรู้ผิดสูงสุดก็คือความรู้ว่ามีตัวเรา) ซึ่งอวิชชานี้เมื่อเกิดขึ้นมาในจิตของเรา (ตามที่สมมติเรียก) แล้ว มันก็จะครอบงำจิตของเราทำให้จิตของเราปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จริงๆขึ้นมา และเมื่อจิตของเราได้สัมผัสโลกผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตของเราก็จะเกิดความยึดถือ (อุปาทาน) ว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวตนของเราจริงๆขึ้นมา รวมทั้งเกิดความยึดถือว่าสิ่งต่างที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เช่น พ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา ทรัพย์ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ว่าเป็นของเราขึ้นมาอีกด้วย (ที่เรียกว่า ตัวเรา-ของเรา) ซึ่งเมื่อเกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาเมื่อใด ก็ย่อมที่จะเกิดความทุกข์ (เช่น ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความหนัก-เหนื่อยใจ หรือความทรมานใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นมาด้วยเสมอ แต่ถ้าเรามองโลกอย่างชาญฉลาด คือด้วยสติปัญญาหรือด้วยความตั้งใจ (คือด้วยสติ-ปัญญา-สมาธิ ตามหลักอริยมรรค) เราก็จะมองเห็นแต่ความว่างจากตัวตนที่แท้จริง (ที่เรียกว่าเห็นสุญญตา) เพราะเรามองเห็นแค่เพียงเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้มองเห็นว่าเป็นตัวตนจริงๆตามที่ชาวโลกเขารู้สึกกัน ซึ่งเมื่อเรามองเห็นความว่าง (สุญญตา) อยู่เช่นนี้ ก็จะทำให้อวิชชาที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น หรือที่กำลังเกิดอยู่ในจิตของเราก็จะดับหายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่ออวิชชาไม่มี จิตก็จะไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา รวมทั้งไม่เกิดความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเราขึ้นมาด้วย และเมื่อไม่มีความยึดถือ จิตของเราก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพาน (สงบเย็น) ซึ่งนี่ก็คือการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคโดยสรุป กฎไตรลักษณ์ วิธีการที่จะเกิดปัญญาเพื่อนำมาใช้ดับทุกข์นั้นพระพุทธเจ้าสอนว่า ให้นำเอาขันธ์ ๕ (คือร่างกายและจิตใจ) ของเรามาพิจารณาให้เข้าใจและเห็นแจ้งถึงความจริงสูงสุดของชีวิตที่ควรรู้ ซึ่งความจริงสูงสุดนี้มี ๓ ประการ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ที่หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย (แต่เราชอบเรียกความจริงนี้ว่าเป็นกฎไตรลักษณ์ เพราะมันเป็นกฎที่เชื่อโยงกับกฎอิทัปปัจจยตา) ซึ่งลักษณะทั้ง ๓ นั้นก็ได้แก่ ๑. อนัตตลักษณะ หรือ อนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (หรือไม่ใช่อัตตา) ๒. อนิจจลักษณะ หรือ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง (หรือไม่เป็นอมตะ) ๓. ทุกขลักษณะ หรือ ทุกขัง คือ สภาวะที่ต้องทน (หรือมีความยากลำบากในการดำรงอยู่) ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า คำว่า อัตตา นี้ เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตนของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยใดๆมาปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นมา ดังนั้นสิ่งที่เป็นอัตตาจึงมีลักษณะเที่ยง (นิจจัง) หรือไม่เปลี่ยนแปลง หรือเป็นอมตะ และไม่มีสภาวะที่ต้องทน (สุขัง) เพราะมันไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น มันจึงมีการดำรงอยู่ (ตั้งอยู่) อย่างสุขสบาย ซึ่งนี่เป็นแค่ ความเชื่อ ที่ยังไม่มีใครมาพิสูจน์ให้เราเห็นความจริงได้ ซึ่งสิ่งที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่าเป็นอัตตานั้นก็ได้แก่ วิญญาณหรือจิตใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง แต่สำหรับพุทธศาสนาแล้ว คำว่า อัตตา นี้จะเป็นแค่คำสมมติเพื่อใช้เรียกสิ่งต่างๆเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นตัวตนจริงๆอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน เช่น คำว่า ตัวเรา หรือ พ่อ แม่ ลูก รถยนต์ บ้าน ต้นไม้ สัตว์ เป็นต้น อย่างคำสอนระดับศีลธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นต้น ในความเป็นจริงนั้นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจึงหาตัวตนจริงๆของตนเองไม่มี มีแต่สิ่งปรุงแต่งที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆเท่านั้น (ที่เรียกว่าอนัตตา) ซึ่งสิ่งปรุงแต่งที่เกิดขึ้นมานี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่สามารถตั้งอยู่อย่างถาวร (หรือเป็นอมตะ) ได้ เพราะไม่ช้าก็เร็ว สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายก็ต้องแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) ไปในที่สุด (ที่เรียกว่าอนิจจัง) และแม้ขณะที่ยังตั้งอยู่ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอีกด้วย (ที่เรียกว่าทุกขัง) ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นตัวตนที่แท้จริง ที่เที่ยง และไม่มีสภาวะที่ต้องทน ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า จิตใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้ไม่ได้เป็นอัตตาตามที่ศาสนาพราหมณ์สอน อนัตตา-ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เมื่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา ล้วนต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น (ตามกฎอิทัปปัจจยตา) ดังนั้นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเรียกว่าเป็น สิ่งปรุงแต่ง (สังขาร) ซึ่งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและเราสมมติเรียก เช่น ร่างกาย, จิตใจ, พ่อ, แม่, สามี, ภรรยา, ลูก, ตัวเรา, ตัวเขา, ต้นไม้, สัตว์ เป็นต้น นี้เองที่เป็นสิ่งปรุงแต่ง ซึ่งเมื่อเราพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งเราก็จะเข้าใจได้ว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นจะหาสิ่งที่แก่นแท้หรือตัวตนของมันเองจริงๆไม่มี (ที่เรียกว่า สุญญตา-ความว่างจากตัวตนที่แท้จริง) เพราะจริงๆแล้วมันมีแค่เพียงเหตุและปัจจัยที่มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่เราสมมติกันขึ้นมานั้น จึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ตามที่เราสมมติกันขึ้นมาเลย (คือไม่ได้เป็นอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงหรือมีตัวตนเป็นของตนเอง ตามที่ศาสนาพราหมณ์สอนเลย) อย่างเช่น สิ่งที่เราสมมติเรียกว่าเป็นร่างกายของเรานี้ก็เป็นสิ่งปรุงแต่ง (หรือประกอบ) ขึ้นมาจากรูปธาตุ ๔ คือ ของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ ดังนั้นร่างกายของเราจึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา-ไม่ใช่อัตตา) หรืออย่างเช่น สิ่งที่เราสมมติเรียกว่าเป็นจิตใจของเรานี้ก็เป็นสิ่งปรุงแต่ง (หรือประกอบ) ขึ้นมาจากวิญญาณ การจำได้ ความรู้สึก และการคิดนึก-ปรุงแต่ง ดังนั้นจิตใจของเราจึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นต้น อนิจจัง-ไม่เที่ยง เมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยแล้ว มันก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยที่มาร่วมกันปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นมา เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลง สิ่งปรุงแต่งนั้นก็ย่อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และเมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันแตก (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับจิต) หายไป สิ่งปรุงแต่งนั้นก็ย่อมที่จะแตกหรือดับหายตามไปด้วยทันที ซึ่งแม้เหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งนั้น มันก็ยังต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นมาด้วยเหมือนกัน (คือมีการปรุงแต่งซ้อนกันเป็นชั้นๆไป) และเมื่อเหตุและปัจจัยพื้นฐาน (คือรูปธาตุ ๔) ของทุกสิ่งก็ยังไม่เที่ยง (คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา) จึงทำให้สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยง (ที่เรียกว่า อนิจจัง) ตามไปด้วย คือมันจะมีความเปลี่ยนแปลงหรือไหลอยู่ตลอดเวลา หรือมีความเสื่อมสภาพอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งนี้เอง ที่ทำให้สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายต้องแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือ ดับหายไป (ใช้กับจิต) อย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว บางคนอาจจะแย้งว่า เมื่อสิ่งใดมีอายุยาวนานมากก็เท่ากับว่าสิ่งนั้นเที่ยง อย่างเช่นที่บอกว่า โลก ภูเขา ก้อนหิน เพชร หรือดวงอาทิตย์ เป็นต้น ที่กว่าจะแตกสลายต้องใช้เวลานานหลายล้านปีนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยง นั้นไม่ถูกต้อง เพราะแม้จะมีอายุยาวนานสักเท่าใด มันก็ยังต้องแตกสลายอย่างแน่นอนอยู่นั่นเอง ดังนั้นเราจะเอาอายุมาเป็นสิ่งชี้วัดว่า ถ้าสิ่งใดมีอายุยาวนานสิ่งนั้นเป็นสิ่งเที่ยง ไม่ได้ สรุปได้ว่าสาเหตุที่สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายไม่เที่ยงนั้นก็เป็นเพราะ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของมันเอง (อนัตตา) คือมันต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ซึ่งเหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งนั้นก็ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นอีกเหมือนกัน และเมื่อเหตุและปัจจัยที่เป็นพื้นฐานของการปรุงแต่งทั้งหลายก็ยังมีความไม่เที่ยง จึงทำให้สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายมีความไม่เที่ยงตามไปด้วย ทุกขัง-ต้องทน ลักษณะของอนัตตากับอนิจจังนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย คืออนัตตาก็หมายถึง ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นแค่สิ่งปรุงแต่งโดยอาศัยสิ่งอื่น ส่วนอนิจจังก็คือมันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ต้องแตก-ดับไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว แต่ที่เข้าใจยากที่สุดนั่นก็คือลักษณะของ ทุกขัง เพรามันเป็นสภาวะของการปรุงแต่งที่ไม่สามารถปรุงแต่งให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆขึ้นมาได้จริงๆ ถ้าสมมติมันจะปรุงแต่งให้เกิดเป็นสิ่งต่างๆขึ้นมาได้จริงๆแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอัตตาและเที่ยงทันที แต่นี่กลับไม่ใช่ เพราะความจริงก็คือมันเป็นแค่เพียงการปรุงแต่งที่เหมือนกับการเล่นกลของนักมายากลเก่งๆ ที่เล่นกลหลอกเรา จนเราเกิดความรู้สึกว่าเขาทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้จริงๆเท่านั้น คำว่า ทุกขัง (หรือทุกข์) แปลว่า ทน หรือ ต้องทน คือหมายถึง มันเป็นสภาวะของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ที่ต้องทนประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของตัวเองไว้ด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่ทนประคับประคองสภาวะการปรุงแต่งของมันเอาไว้ ก็จะทำให้สภาวะการปรุงแต่งของมันนั้นสลาย (คือแตกหรือดับ) ไปทันที เหมือนกับการที่เรากำลังโหนกิ่งไม้อยู่ ซึ่งเราก็ต้องทนจับยึดกิ่งไม้ไว้ด้วยความยากลำบาก และทำให้เราเกิดความรู้สึกทรมานขึ้นมาที่แขนหรือร่างกายอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ทนจับยึดไว้ เราก็จะตกจากต้นไม้ทันที (ส่วนอนิจจังก็คือไม่มีใครจะโหนอยู่ได้ตลอดไป สุดท้ายทุกคนก็ต้องตกจากกิ่งไม้) ถ้าเราเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาเราก็พอจะจินตนาการได้ว่า วัตถุสิ่งของทั้งหลายก็เกิดมาจากสสารจำนวนมากมารวมตัวกัน ซึ่งการรวมตัวกันของสสารนั้นมันก็ต้องมีการจับยึดกันระหว่างอะตอมกับอะตอม ซึ่งการจับยึดกันนั่นเองเป็นสภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) ของวัตถุ (ถ้ามันไม่จับยึดกัน อะตอมก็จะแยกออกจากกันไปจนหมด แล้วสสารก็จะสลายตัวหายไปทันที) ซึ่งเมื่อเรานำเอาวัตถุมาสร้างเป็นสิ่งของต่างๆที่สลับซับซ้อนขึ้นมา สภาวะที่ต้องทนก็จะยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อเราเพ่ง (ด้วยสมาธิ) พิจารณาถึงสภาวะที่ต้องทนของวัตถุทั้งหลายเช่นนี้แล้ว เราก็จะเกิดความรู้สึกอิดหนาระอาใจ หรือไม่ชื่นชอบ หรือเบื่อหน่ายต่อวัตถุนั้นขึ้นมาทันที ซึ่งนี้ก็คือการมองเห็นสภาวะที่ต้องทนของวัตถุทั้งหลาย ตามกฎไตรลักษณ์ วัตถุของโลกก็มี ๒ อย่าง คือ วัตถุที่ไม่มีชีวิต กับ วัตถุที่มีชีวิต ซึ่งวัตถุที่ไม่มีชีวิตก็ได้แก่วัตถุและสิ่งของทั้งหลาย ส่วนวัตถุที่มีชีวิตก็ได้แก่ร่างกายของคน สัตว์ และพืช ที่ยังไม่ตาย ซึ่งวัตถุที่ไม่มีชีวิตก็จะไม่มีจิตใจมารับรู้สภาวะที่ต้องทนของมัน ดังนั้นวัตถุทั้งหลายจึงไม่มีปัญหาเรื่องสภาวะที่ต้องทนของมัน แต่ที่มีปัญหาก็คือวัตถุที่มีชีวิตหรือมีจิตใจ ซึ่งก็ได้แก่ร่างกายของเราทุกคน ที่เราก็ต้องทนต่อความรู้สึกหนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บ ปวด เหนื่อย ล้า เป็นต้น มากบ้างน้อยบ้างอยู่ตลอดเวลา คือบางครั้งถ้ามีมาก (เช่น เวลาหิวมาก หรือร้อนมาก หรือเจ็บปวดมาก หรือเหนื่อยมาก เป็นต้น) ก็เรียกว่า ความทรมานกาย (หรือทุกข์กาย) แต่ปกติจะมีไม่มาก (เช่น อิ่มท้อง เย็นสบาย ไม่เจ็บปวด ไม่เหนื่อย เป็นต้น) ก็เรียกว่า ความสบายกาย (หรือสุขกาย) ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของทุกขังของร่างกาย ที่จิตใจของเราสามารถรับรู้ได้ ส่วนที่เข้าใจยากก็คือ สภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) ของจิต ซึ่งจิตก็คือสิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ (ต้องดูจากจิตของเราเองจริงๆ) ซึ่งจิตก็เป็นสิ่งปรุงแต่งเหมือนกับร่างกายและวัตถุทั้งหลาย ดังนั้นจิตจึงต้องมีสภาวะที่ต้องทนอยู่ด้วยตลอดเวลาไม่มากก็น้อย คือถ้าเวลาใดที่จิตเกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา สภาวะที่ต้องทนของจิตก็จะมีมากขึ้น แล้วก็เรียกว่า ความทุกข์ (ตามหลักอริยสัจ ๔) แต่เวลาใดที่จิตยังไม่เกิดกิเลสความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา สภาวะที่ต้องทนของจิตก็จะมีน้อยมาก แล้วก็เรียกว่าที่สุดทุกข์ (เพราะสภาวะที่ต้องทนนี้ได้ลดน้อยลงที่สุดเท่าที่มันจะสามารถลดลงได้แล้ว) หรือ นิพพาน (ความสงบเย็น) ซึ่งนี่ก็คือสภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) ทั้งหมดของจิตใจ ที่ต้องมีสภาวะที่ต้องทนอยู่ด้วยตลอดเวลาไม่มากก็น้อย ไม่มีตัวเราอยู่จริง เมื่อสรุปหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าแล้วก็สรุปได้ว่า ความทุกข์ (ความเศร้าโศก หรือความเสียใจ เป็นต้น) เกิดมาจากความยึดถือว่าชีวิตนี้ (คือร่างกายกับจิตใจ) เป็นตัวเรา-ของเรา ถ้าไม่ยึดถือก็จะไม่มีความทุกข์ ส่วนวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะไม่ให้จิตเกิดความยึดถือนั้นก็ต้องใช้ ปัญญา ศีล และสมาธิมาทำงานร่วมกัน ซึ่งการศึกษาอริยสัจ ๔ นั้น จุดแรกเราจะต้องรู้จักความทุกข์ของอริยสัจ ๔ ให้ถูกต้องก่อน ว่าหมายถึงความทุกข์ของจิตใจเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงความทรมานของร่างกาย (อย่างเช่น ความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน ความเหนื่อยยากลำบาก เป็นต้น) อย่างที่ชาวพุทธส่วนใหญ่กำลังเข้าใจผิดกันอยู่ ถ้าใครยังเข้าใจผิดว่าความทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือความทรมานของร่างกายอยู่ ก็เท่ากับยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) อยู่ และเท่ากับยังไม่เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ เมื่อรู้จักความทุกข์ถูกต้องแล้ว ต่อไปก็ต้องมาสนใจเรื่องปัญญา (ส่วนเรื่อง ศีล กับ สมาธินั้นเราก็ต้องมีกันอยู่ก่อนแล้วพอสมควร ไม่อย่างนั้นจะอ่านหนังสือนี้ไม่รู้เรื่อง) เพราะหลักการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคนี้ต้องมีปัญญาเป็นตัวนำ ซึ่งปัญญานี้ก็คือความรอบรู้ในชีวิตอย่างแจ่มแจ้ง (คือทั้งเข้าใจและเห็นแจ้งด้วย) เมื่อเข้าใจชีวิตอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็จะทำให้จิตใจปล่อยวางความยึดถือลงได้ แล้วจิตก็จะไม่มีความทุกข์ (ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) ความรอบรู้ในชีวิตนั้น คือรู้อะไร? และ รู้อย่างไร? ซึ่งชีวิตก็คือ ร่างกายกับจิตใจ ส่วนความรอบรู้ก็คือ ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ทั้งร่างกายและจิตใจนี้มันเป็น สิ่งปรุงแต่ง ที่ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อมันเป็นสิ่งปรุงแต่ง ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา-ไม่ใช่อัตตา) และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตก (ใช้กับร่างกาย) ดับ (ใช้กับจิตใจ) อยู่ตลอดเวลา สุดท้ายไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องแตก-ดับไปในที่สุด (อนิจจัง) อีกทั้งขณะที่ยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนอยู่อย่างยากลำบากอีกด้วย (ทุกขัง) ซึ่งนี่ก็คือความรอบรู้ในชีวิต ที่เป็นปัญญาของอริยมรรค ที่สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือความเข้าใจว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริง (ที่เรียกว่าสุญญตา) คือตัวตนจริงๆ (ที่เป็นอัตตา) นั้นไม่มี มีแต่ตัวตนมายา (คือสิ่งหลอกลวงว่ามีอยู่จริงๆ) หรือตัวตนชั่วคราว (คือมีชั่วคราวตราบเท่าที่ยังมีร่างกายและความทรงจำนี้อยู่สมบูรณ์เท่านั้น) เท่านั้น เมื่อเราใช้เหตุผลมาพิจารณาร่างกายและจิตใจของเราเอง (ตามที่สมมติเรียก) จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริง ก็อย่าเพิ่งเชื่อ (ตามหลักกาลามสูตร) แต่ให้เอาความเข้าใจนี้มาทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ว่ามันใช้ดับทุกข์ได้จริงหรือเปล่า? (คือทำให้อุปาทานหรือความยึดถือระงับหรือดับลงได้จริงแม้เพียงชั่วคราวหรือเปล่า?) ถ้าทดลองปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถแล้ว ความทุกข์ไม่ลดลงหรือดับลงจริง ก็อย่าเชื่อ ให้ละทิ้งหลักการนี้เสีย แต่ถ้าลองปฏิบัติดูแล้วทำให้ความทุกข์ลดลงหรือดับลงได้จริง จึงค่อยปลงใจเชื่อและนำมาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป ส่วนวิธีการปฏิบัตินั้นก็ไม่ยาก คือให้เราตั้งใจเพ่ง (คือเพ่งด้วยสมาธิที่ต้องมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วเป็นปกติ) พิจารณาถึงความไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของร่างกายและจิตใจของเราเองอยู่เสมอ รวมทั้งยังพิจารณาสิ่งต่างๆภายนอกที่เรากำลังสัมผัสอยู่ด้วย (เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก สามีหรือภรรยา ทรัพย์สมบัติ สิ่งของ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น) เมื่อจิตมีสมาธิ มันก็จะมองเห็นสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริง คือมองเห็นว่ามันไม่มีตัวตนของเราหรือของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริง แล้วก็จะมองเห็นความไม่เที่ยง คือมองเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือการไหลไปสู่ความแตก-ดับของสิ่งทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา และมองเห็นสภาวะที่สิ่งทั้งหลายต้องทนอยู่ด้วยความยากลำบาก ซึ่งเมื่อมองเห็นความจริงอยู่เช่นนี้ จิตมันก็จะยอมรับเหตุผลที่เคยเข้าใจมาแล้ว และยอมรับความจริงว่ามันไม่มีตัวตนของเราหรือของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริง พร้อมกันนั้นจิตก็จะเกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทา-เบื่อหน่าย คือไม่ยินดี-ยินร้าย-ลังใจ) ในความไม่เที่ยงของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย (คือในร่างกายและจิตใจ รวมทั้งทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย) เมื่อจิตเกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทา) ความยึดถือ (อุปาทาน) ก็จะระงับดับลง (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ มันก็หลุดพ้น (จากกิเลสหรือจากความยึดถือ) เมื่อจิตหลุดพ้นมันก็ไม่มีความทุกข์ (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็นิพพาน (สงบเย็น) ซึ่งนี่ก็คือวิธีการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคโดยสรุป นิพพาน นิพพาน แปลว่า ดับเสียซึ่งความร้อน ซึ่งก็หมายถึง ความเย็น คือคำว่านิพพานนี้ก็เป็นคำธรรมดาๆที่ชาวบ้านเขาใช้เรียกสิ่งของที่มันเคยร้อนแล้วมันก็เย็นลงว่านิพพาน ทีนี้เมื่อมีการปฏิบัติให้ความทุกข์ของจิตใจดับลงได้แต่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าอะไร จึงได้ยืมคำว่านิพพานของชาวบ้านมาใช้เรียก โดยบางก็ว่าเมื่อมีกามารมณ์พร้อมก็นิพพาน บางก็บอกว่าต้องมีสมาธิจึงจะนิพพาน แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อจิตไม่มีความทุกข์จึงจะนิพพานจริง นิพพานนี้มันก็มีอยู่กับจิตมาตั้งแต่เกิดจิตขึ้นมาแล้ว คือเมื่อจิตเกิดมามันก็มีความประภัสสรหรือบริสุทธิ์จากกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งจิตประภัสสรนี้มันก็มีความสงบเย็นและไม่มีความทุกข์อยู่แล้ว แต่เมื่อจิตเกิดกิเลสและความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมาเมื่อใด จิตจึงสกปรก (เศร้าหมองขุ่นมัว) และมีความทุกข์ จึงทำให้ความประภัสสรของจิตถูกความสกปรกปิดบังเอาไว้ จึงทำให้จิตไม่สามารถสัมผัสนิพพานได้ แต่เมื่อกิเลสจรหายไป ความประภัสสรและนิพพานก็จะกลับมาปรากฏแก่จิตได้ใหม่ (ไม่ใช้คำว่าเกิดกับนิพพาน เพราะนิพพานไม่มีการเกิด แต่จะใช้คำว่าปรากฏ ที่หมายถึง มันมีอยู่แล้วตลอดเวลาตามธรรมชาติ แต่จิตของเราเพิ่งได้มาสัมผัสกับมัน) ซึ่งนิพพานนี้ก็มีอยู่ ๒ ลักษณะอันได้แก่ ๑. นิพพานชั่วคราว หรือ นิพพานขั้นต้น ซึ่งนิพพานชั่วคราวนี้มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ (๑.๑) นิพพานตามธรรมชาติ คือปกติจิตของเรามันก็มีนิพพานกันอยู่แล้ว เพียงแต่มันยังเป็นแค่ขั้นต้นและชั่วคราวเท่านั้น คือเมื่อเราได้ไปอยู่ในสถานที่สงบ เช่น ป่า เขา ทะเล ลำธาร หรือที่เงียบๆไม่มีสิ่งรบกวน หรือเมื่อเราได้พบเห็นสิ่งที่ทำให้จิตปล่อยวางความยึดถือได้ เช่น พบเห็นคนตาย หรือภัยพิบัติ เป็นต้น จิตของเรามันก็สงบเย็นของมันได้เอง หรือเมื่อจิตของเรามันเกิดความทุกข์มาจนอ่อนล้าแล้ว ความทุกข์มันก็ดับลงของมันเองได้เหมือนกัน ซึ่งนิพพานตามธรรมชาตินี้ ยังเป็นเพียงแค่ความสงบเย็นขั้นต้นและชั่วคราว ที่ยังเป็นแค่ความอุ่นใจ เบาใจ ตามธรรมชาติที่เราก็มีกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งนิพพานชั่วคราวนี้ถึงแม้จะยังไม่เย็นสนิทและไม่ถาวร แต่ก็นับว่ามีคุณค่ายิ่งสำหรับจิตมนุษย์เรา เพราะมันได้หล่อเลี้ยงจิตของเราเอาไว้ไม่ให้เร่าร้อนเป็นทุกข์อยู่ตลอดทั้งวัน เพราะถูกกิเลสแผดเผาอยู่ตลอดทั้งวันจนเป็นบ้ากันไปหมด คือนิพพานจะช่วยให้จิตของเราในแต่ละวันได้รับการพักผ่อน ดังนั้นเราจึงควรขอบคุณนิพพานชั่วครั้งชั่วครามตามธรรมชาตินี้ และไม่เนรคุณต่อนิพพานด้วยการเกลียดกลัวนิพพาน เพื่อที่จะได้แสวงหานิพพานที่สูงขึ้นต่อไป (๑.๒) นิพพานจากการปฏิบัติ ซึ่งนิพพานจากการปฏิบัตินี้ก็แยกได้ ๒ อย่าง อันได้แก่ (๑.๒.๑) นิพพานจากการปฏิบัติสมาธิ โดยนิพพานจากการปฏิบัติสมาธินั้นก็คือ การที่เราฝึกสมาธิโดยไม่มีปัญญาตามหลักอริยมรรคอยู่ด้วย ก็สามารถทำให้จิตนิพพานได้เหมือนกัน เพราะสมาธินั้นจะกดทับหรือทำให้กิเลสระงับดับลงได้ชั่วคราว ถ้าเรามีสมาธิสูงๆ ก็จะทำให้นิพพานสูงสุด (คือความสงบเย็นสูงสุด) ปรากฏได้เหมือนกัน เพียงแต่จะไม่ถาวรเท่านั้น คือเมื่อสมาธิหายไปเมื่อใด นิพพานจากสมาธินี้ก็จะหายตามไปด้วย (๑.๒.๒) นิพพานจากการปฏิบัติอริยมรรค โดยนิพพานจากการปฏิบัติอริยมรรคนั้นก็คือ เมื่อเรามีปัญญาและสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) ตามหลักอริยมรรคแล้ว เมื่อเรามีสติ สติก็จะดึงเอาปัญญาและสมาธิออกมา ก็จะทำให้กิเลสและความทุกข์ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็จะดับหายไปทันที แล้วนิพพานก็จะปรากฏ (ถ้ากิเลสดับลงสนิท นิพพานสูงสุดก็จะปรากฏ ถ้ากิเลสดับลงไม่สนิท (คือยังมีนิวรณ์อยู่) นิพพานขั้นต้นที่เป็นเพียงความอุ่นใจ เบาใจ ก็ปรากฏแทน) แต่เมื่อจิตของเรายังมีความเคยชินของกิเลสอยู่ในจิตใต้สำนึก เมื่อเราเผลอสติ ก็จะทำให้กิเลสและความทุกข์กลับมาเกิดขึ้นได้อีกเรื่อยไป ๒. นิพพานถาวร ซึ่งนิพพานถาวรก็เกิดจากการปฏิบัติตามหลักอริยมรรค อย่างจริงจังและต่อเนื่องนานๆ จนสามารถทำลายความเคยชินของอวิชชาและกิเลส ที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร จึงทำให้จิตไม่กลับมาเกิดความทุกข์ได้อีกอย่างถาวร (คือตลอดชีวิต) และทำให้จิตมีความสงบเย็นได้อย่างสูงสุดจนตลอดชีวิต ซึ่งนิพพานถาวรนี้เองที่เป็นนิพพานสูงสุดของพุทธศาสนา จบบทที่ ๒ |