บทที่ ๔ ปัจจัยของความเพียร ๑. ระบบ ๓ ชีวิตของเรานี้สามารถแยกออกเป็นระบบเพื่อศึกษาได้ ๓ ระบบ อันได้แก่ ๑. ระบบกาย คือสิ่งที่เกี่ยวกับร่างกาย ๒. ระบบจิต คือสิ่งที่เกี่ยวกับจิต ๓. ระบบวิญญาณ (หรือระบบปัญญา) คือสิ่งที่เกี่ยวกับความรอบรู้ของจิต ระบบกายนี้ก็คือเรื่องทางร่างกายที่มีโรคภัยเป็นสิ่งเสียดแทง ส่วนระบบจิตนี้ก็คือเรื่องสมรรถภาพของจิต เช่น มีสมาธิมาก หรือมีสมาธิน้อย จำเก่ง คิดเร็ว คิดช้า เป็นต้น โดยมีนิวรณ์และกิเลสเป็นสิ่งเสียดแทง ส่วนระบบวิญญาณก็คือเรื่องส่วนลึกของจิตที่เป็นเรื่องความรู้ ความเชื่อ ความเห็น น้ำใจ อุปนิสัย เป็นต้น เช่น ที่เรียกว่าวิญญาณของความเป็นครู วิญญาณของความเป็นนักกีฬา เป็นต้น โดยสิ่งที่มาเสียดแทงก็คือความโง่หรืออวิชชา บางคนอาจจะเชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาได้ แต่พุทธศาสนาจะสอนว่าชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ โดยการพัฒนาระบบทั้ง ๓ นี้ ซึ่งการพัฒนาก็ใช้หลักการเจริญอริยมรรคนั่นเอง คือศีลนั้นจะมาพัฒนาระบบทางกาย ส่วนสมาธิจะมาพัฒนาระบบจิต และปัญญาจะมาพัฒนาระบบวิญญาณ
๒. จริต ๖ จริต หมายถึง ลักษณะอาการของจิตที่มีอยู่จนเป็นปกติ ซึ่งจริตของเรานี้ก็พอจะสรุปได้ ๖ จริต อันได้แก่ ๑. ราคะจริต คือมีราคะเป็นปกติ ๒. โทสะจริต คือมีโทสะเป็นปกติ ๓. โมหะจริต คือมีโมหะเป็นปกติ ๔. วิตักกะจริต คือมีความคิดพล่านเป็นปกติ ๕. สัทธาจริต คือมีความเชื่อง่ายเป็นปกติ ๖. พุทธะจริต คือมีเฉลียวฉลาดเป็นปกติ ในความเป็นจริงนั้นจิตของคนเราย่อมที่จะมีจริตทั้ง ๖ นี้อยู่ด้วยทั้งสิ้น จะต่างกันตรงที่จิตของใครจะมีจริตใดมากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรเลือกแนวทางอริยมรรคให้ตรงกับจริตของเราเพื่อที่จะได้ทำให้การปฏิบัติได้ผลเร็วยิ่งขึ้น เช่น การเจริญอสุภะเพื่อกำจัดราคะจริต หรือเจริญพรหมวิหารเพื่อแก้โทสะจริต หรือเจริญพุทธานุสติเพื่อกำจัดสัทธาจริต เป็นต้น ส่วนพุทธะจริตนั้นควรเจริญอานาปานสติ เป็นต้น
๓. วิธีกำจัดกิเลส การพูดว่าละราคะ โทสะ โมหะนั้นเป็นการพูดรวมๆ ซึ่งถ้าจะพูดให้ละเอียดจะต้องพูดว่า ราคะนั้นเป็นสิ่งที่ควรละ คือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วสามารถละได้ทันทีโดยละทิ้งอารมณ์ที่มาสัมผัส ส่วนโทสะนั้นเป็นสิ่งที่ควรบรรเทา คือเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถละได้ทันทีแม้จะละอารมณ์ของมันแล้ว ดังนั้นจึงควรบรรเทาคือค่อยๆให้มันอ่อนกำลังลงจนกระทั่งดับไป ส่วนโมหะนั้นเป็นสิ่งที่ควรถอน คือต้องถอนรากถอนโคนมันด้วยการสร้างปัญญาหรือความเห็นแจ้งให้เกิดขึ้นมา ลักษณะโทษและการคลายของกิเลสนั้นจะมีดังนี้ ๑. ราคะนั้นมีโทษน้อยแต่ว่าคลายช้า ๒. โทสะนั้นมีโทษมากแต่คลายเร็ว ๓. โมหะนั้นมีโทษมากและคลายยาก ราคะนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่ทำให้เกิดโทษแก่ใครโดยตรง แต่ว่ามันจะเกิดอยู่นานกว่าจะดับ ส่วนโทสะนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำร้ายผู้อื่นได้จึงมีโทษมากแต่ว่าจะโกรธอยู่ไม่นานก็ดับ ส่วนโมหะนั้นเป็นตัวความโง่เซ่อไม่รู้แจ้งเห็นจริงจึงทำอะไรๆผิดพลาดไม่ถูกต้อง ซึ่งจะมีโทษมากและแถมยังทำให้หายโง่ได้ยากมากอีกด้วย ปัจจัยที่ทำให้เกิดราคะนั้นก็คือ สุภะนิมิต (สิ่งที่แสดงว่าสวยงามน่ารัก) ที่สามารถละได้ด้วย อสุภะนิมิต (สิ่งที่แสดงว่าน่าเกลียดไม่สวยงาม) ส่วนปัจจัยของโทสะก็คือ ปฏิฆะนิมิต (สิ่งที่แสดงให้รู้สึกว่าไม่น่าพอใจ) ที่สามารถบรรเทาได้ด้วย เมตตาเจโตวิมุตติ (การเพ่งความหลุดพ้นแห่งจิตด้วยพลังแห่งเมตตาอย่างแรงกล้า) ส่วนปัจจัยของโมหะคือ อโยนิโสมนสิการ (การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย) ที่จะถอนได้ด้วย โยนิโสมนสิการ (การกระทำในใจโดยแยบคาย หรือการพิจารณาอย่างละเอียดรอบครอบ)
๔. เหตุภายในกับเหตุภายนอก การที่จะเจริญอริยมรรคให้ประสบผลได้เร็วนั้นจะต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ ประการอันได้แก่ ๑. โยนิโสมนสิการ การพิจารณาถึงต้อนเหตุ ๒. กัลยาณมิตร การมีมิตรที่ดีงาม โยนิโสมนสิการก็คือการพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งก็หมายถึงการพิจารณาถึงต้นเหตุและปัจจัยของมันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งก็คือการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ส่วนกัลยาณมิตรก็คือเพื่อนที่ดีที่มีความเห็นตรงกันและมีศีลเสมอกัน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสอนว่า การมีกัลยาณมิตรนี้จัดว่าเท่ากับเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์เลยทีเดียว เพราะเมื่อเราคบเพื่อนที่ดีที่มุ่งมั่นในการประพฤติพรหมจรรย์ เราก็จะมีกำลังใจและมีผู้ช่วยแก้ปัญหาในการประพฤติพรหมจรรย์ไปด้วย อันจะส่งผลให้ประสบผลได้เร็ว แต่ถ้าเราไม่มีเพื่อนที่ดีเช่นนี้พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรามีธรรมะเป็นเพื่อนและเที่ยวไปแต่ผู้เดียว
๕. บุคคลผู้ควรประกอบความเพียร ผู้ที่จะปฏิบัติอริยมรรคให้ประสบผลสำเร็จได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดังนี้ ๑. เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อความตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึก อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมสอนสัตว์ ดังนี้ ๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารที่ย่อยได้สม่ำเสมอ ปานกลาง ไม่ร้อนเกิน ไม่เย็นเกิน พอควรแก่การบำเพ็ญเพียร ๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นผู้เปิดเผยตนเองตามที่เป็นจริงในพระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารี (ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน) ผู้รู้ทั้งหลายก็ตาม ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละสิ่งอันเป็นอกุศล เพื่อถึงพร้อมด้วยสิ่งอันเป็นกุศล มีกำลัง มีความบากบั่นหนักแน่น ไม่ทอดทิ้งธุระในสิ่งทั้งหลายอันเป็นกุศล ๕. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถกำหนดความเกิดขึ้นและความดับหายไป เป็นปัญญาอันประเสริฐ เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สรุปว่าเราจะต้องมีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ต้องมีสุขภาพดี ต้องไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา และต้องมีใจฝักใฝ่ในการทำความทำความเพียร รวมทั้งที่สำคัญต้องมีความสามารถกำหนดรู้การเกิดและดับได้ เราจึงจะปฏิบัติอริยมรรคได้สำเร็จ ถ้ายังขาดสิ่งใดไปก็ควรเพิ่มเติมสิ่งนั้นขึ้นมาให้ครบ
๖. บทอธิฐานจิตเพื่อทำความเพียร ในการเจริญอริยมรรคนี้ก็ย่อมจะมีมาร (ความรู้สึกฝ่ายต่ำ) มาชักชวนให้ละความเพียรอยู่เสมอ แม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงผจญกับมารมาแล้วเมื่อก่อนตรัสรู้ แต่ก็ได้ทรงอธิฐานจิตจนชนะมาร และได้ทรงชี้ชวนให้สาวกมีการอธิฐานจิตตามพระองค์บ้าง ด้วยการตั้งจิตอธิฐานว่า
...ภิกษุทั้งหลาย. ถ้าแม้พวกเธอ พึงตั้งไว้ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ(ด้วยการอธิฐานว่า) จงเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูกเท่านั้น เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไป ประโยชน์อันใด อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี ดังนี้แล้วไซร้ ภิกษุทั้งหลาย. พวกเธอก็จักกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันไม่มีอะไรยิ่งกว่า อันเป็นประโยชน์ที่ต้องการของกุลบุตรผู้ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ ได้ต่อกาลไม่นานในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) เข้าถึงแล้วแลอยู่เป็นแน่นอน
พระพุทธองค์ทรงสอนว่า บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คือการมีแต่ปัญญายังจะช่วยให้พ้นทุกข์ไม่ได้ถาวร จะต้องมีความเพียรอันมั่นคงเท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ได้ถาวร ซึ่งการตั้งจิตอธิฐานเพื่อให้มีการทำความเพียรอย่างมั่นคงนี้จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จได้ตามปรารถนา
๗. ลำดับแห่งการสิ้นทุกข์ ความทุกข์ทั้งปวงนั้นจะสรุปอยู่ที่ ชาติ ชรา มรณะ แต่กว่าจะมีการละชาติ ชรา มรณะได้นั้นพระพุทธองค์ทรงสอนว่าจะต้องมีการละสิ่งอื่นๆมาอีกมากมาย ตามลำดับ ซึ่งมีลำดับดังนี้ ๑. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ ราคะ ,โทสะ , โมหะ ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือ ชาติ, ชรา, มรณะ ได้ ๒. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ สักกายทิฏฐิ ๑, วิจิกิจฉา ๑, สีลัพพตปรามาส ๑ ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือ ราคะ, โทสะ, โมหะ ได้ ๓. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ อโยนิโสมนสิการ ๑, การพัวพันในทิฏฐิอันชั่ว ๑, ความมีใจหดหู่ ๑, ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือ สักกายทิฏฐิ , วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส ได้ ๔. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ ความมีสติอันหลงลืม ๑, ความปราศจากสัมปชัญญะ ๑, ความส่ายแห่งจิต ๑ ก็ไม่อาจะละซึ่งธรรมคือ อโยนิโสมนสิการ, การพัวพันในทิฏฐิอันชั่ว, ความมีใจหดหู่ ได้ ๕. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ ความไม่อยากเห็นพระอริยเจ้า ๑, ความไม่อยากฟังธรรมของพระอริยเจ้า ๑, ความมีใจเกาะเกี่ยว (เช่นในกาม) ๑ ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือ ความมีสติอันหลงลืม, ความปราศจากสัมปชัญญะ, ความส่ายแห่งจิต ได้ ๖. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ ความฟุ้งซ่าน ๑, ความไม่สำรวม ๑, ความทุศีล ๑ ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือ ความไม่อยากเห็นพระอริยเจ้า, ความไม่อยากฟังธรรมของพระอริยเจ้า, ความมีใจเกาะเกี่ยว (เช่นในกาม) ได้ ๗. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ ความไม่มีศรัทธา ๑, ความไม่เป็นวทัญญู (ผู้รู้คำพูด ผู้ใจดี) ๑, ความเกียจคร้าน ๑ ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือคือ ความฟุ้งซ่าน, ความไม่สำรวม, ความทุศีล ได้ ๘. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ ความไม่เชื่อบุคคลและธรรมอันควรเชื่อ ๑, ความเป็นคนว่ายาก ๑, ความมีมิตรชั่ว ๑ ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือ ความไม่มีศรัทธา, ความไม่เป็นวทัญญู , ความเกียจคร้านได้ ๙. บุคคลไม่ละซึ่งธรรมคือ ความไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย (อหิริ) ๑, ความไม่กลัวในสิ่งที่ควรกลัว (อโนตัปปะ) ๑, ความประมาท (ปมาทะ) ๑ ก็ไม่อาจละซึ่งธรรมคือ ความไม่เชื่อบุคคลและธรรมอันควรเชื่อ, ความเป็นคนว่ายาก, ความมีมิตรชั่ว ได้ สรุปได้ว่าผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้นั้นจะต้องเริ่มต้นจากการเป็นคนที่มีความละอายใจในการทำบาปทำชั่วทั้งปวงก่อน, และมีความเกรงกลัวในผลจากบาป, รวมทั้งต้องเป็นคนไม่ประมาทด้วย แล้วต่อจากนั้นยังต้องละสิ่งไม่ดีอีกหลายอย่างไปตามลำดับ จนกระทั่งเกิดดวงตาเห็นธรรม (ในข้อที่ ๒ ) และมีการปฏิบัติจนละราคะ โทสะ โมหะได้ จึงจะกำจัดความทุกข์ทั้งปวงได้ ซึ่งหลักการนี้เป็นสิ่งที่เราจะใช้เป็นเครื่องวัดได้ว่าเราอยู่จุดไหน? เพื่อที่จะได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อไป
๘. สิ่งที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ บรรพชิตหรือภิกษุในพุทธศาสนานี้จะมีจุดประสงค์อยู่ที่ความพ้นทุกข์ แต่ก็มักจะมีความประมาทมาเป็นอุปสรรคอยู่เสมอ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนให้บรรพชิตหมั่นพิจารณาตนเองอยู่เสมอตามหลักดังนี้ บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆว่า... ๑. บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ๒. ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ๓. อาการกายวาจาอย่างอื่น ที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีก มิใช่มีเพียงเท่านี้ ๔. ตัวของเราติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่? ๕. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่? ๖. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๗. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำดีก็ตาม ทำชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๘. วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่? ๙. เรายินดีในเรือนว่าง (ที่สงัด) หรือไม่? ๑๐. ปัญญาเครื่องรู้พิเศษ ที่สามารถจะทำความเป็นอริยะอันยิ่งกว่ามนุษยธรรม ที่เราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่? ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน ในเวลาที่ถูกเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันถามในกาลภายหลัง
๙. เปียกแฉะ - ไหม้กรียม ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของนักบวชนอกพุทธศาสนานั้นมีหลายแนวทาง แต่สรุปได้ ๒ แนวทาง อันได้แก่ ๑. กามสุขัลลิกานุโยค การปฏิบัติที่พัวพันอยู่ในกามารมณ์ ๒. อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติที่ทรมานตนเองให้ได้รับความลำบาก แนวทางทั้งสองนี้พระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกปฏิบัติ เพราะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการพ้นทุกข์ ซึ่งเรียกว่า สุดโต่ง คือสุดโต่งไปทางสุขสำราญอย่างหนึ่ง กับสุดโต่งไปในทางลำบากอย่างหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเคยปฏิบัติมาแล้วสมัยก่อนที่จะตรัสรู้ และพบว่าไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ได้ ส่วนอริยมรรคนั้นจะเป็นการปฏิบัติที่อยู่ตรงกลาง คือไม่ถึงกับบำรุงบำเรอร่างกายให้สุขสำราญ และก็ไม่ถึงกับทรมานร่างกายให้ลำบากทุกข์ทรมาน แต่เป็นการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง เหมาะสม และพอดีอย่างที่สุด ซึ่งเรียกว่าเป็นการใช้ ชีวิตที่เรียบง่าย นั่นเอง
๑๐. เมถุนสังโยค เมถุนสังโยค หมายถึง การประกอบเกี่ยวพันด้วยเมถุน (การร่วมเพศ) คือในสมัยพุทธกาลสมณะหรือพราหมณ์บางคนปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์โดยชอบ เขาไม่เสพเมถุนด้วยมาตุคาม (หญิงชาวบ้าน) ก็จริง แต่เขายังประพฤติเกี่ยวข้องอยู่กับเมถุน อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๗ อย่างดังต่อไปนี้ ๑. ยินดีการลูบทา การขัดสี การอาบ การนวดฟั้น ที่ทำให้โดยมาตุคาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นจากมาตุคาม.....ฯ ๒.ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เขายังพูดจาซิกซี้ เล่นหัวกับมาตุคาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นจากมาตุคาม......ฯ ๓. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เขายังชอบสบตากับตาด้วยกับมาตุคาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นจากมาตุคาม.....ฯ ๔. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เขายังชอบฟังสียงของมาตุคาม ที่หัวเราะอยู่ก็ดี พูดจาอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ตาม นอกกำแพงก็ตาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นจากมาตุคาม.....ฯ ๕. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เขายังชอบตามระลึกถึงเรื่องเก่า ที่เคยหัวเราะเล้าโลม เล่นหัวกับด้วยมาตุคาม เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการกระทำเช่นนั้นจากมาตุคาม.....ฯ ๖. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่ว่าเขาเพียงแต่ได้เห็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี ผู้อิ่มเอิบเพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้ง ๕ ได้รับการบำรุงบำเรออยู่ด้วยกามสุข เขาปลาบปลื้มยินดีด้วยการได้เห็นการกระทำเช่นนั้น.....ฯ ๗. ไม่ถึงอย่างนั้น แต่เขาประพฤติพรหมจรรย์โดยตั้งความปรารถนา เพื่อไปเป็นเทพยดา (เป็นใหญ่หรือสุขสบายมีบริวารเป็นหญิงมากๆ) พวกใดพวกหนึ่ง...........ฯ (จากลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้ว) นี่แหละคือความขาด ความทะลุ ความด่าง ความพร้อย ของพรหมจรรย์ ผู้นี้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ยังประกอบอยู่ด้วยการเกี่ยวพันด้วยเมถุน ย่อมไม่พ้นจาก ความเกิด ความแก่ และความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ ชื่อว่ายังไม่พ้นจากทุกข์ได้ สำหรับภิกษุนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องการปฏิบัติต่อสตรีว่า อย่าพบปะเป็นดีที่สุด ถ้าจำเป็นต้องพบปะก็อย่าพูดด้วย และถ้าจำเป็นต้องพูดด้วย ก็ให้มีสติระวังอย่าให้ความกำหนัดยินดีเกิดขึ้น จึงจะทำให้พรหมจรรย์บริสุทธิ์ได้ ซึ่งเรื่องเพศตรงข้ามนี้เป็นอันตรายที่สุด เพราะมันเป็นสัญชาติญาณของการสืบพันธุ์ที่มีอำนาจรุนแรงมาก ถ้าได้อยู่ใกล้ก็จะทำให้สัญชาติญาณในการสืบพันธุ์นี้กำเริบได้ คือจะทำให้จิตใจเร่าร้อนด้วยกามราคะ แล้วก็ทำให้อยากลาสิกขากลับไปเป็นผู้ครองเรือนได้
๑๑. อุปสรรคในการประกอบความเพียร ยังมีเครื่องตรึงจิต ๕ อย่างและเครื่องผูกจิตอีก ๕ อย่างที่ภิกษุยังละไม่ได้ อันจะเป็นเหตุให้ไม่เจริญงอกงามไพบูรณ์ในธรรมวินัยนี้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ดังนี้ เครื่องตรึงจิต ๕ อย่าง คือ ๑. ภิกษุยังสงสัย เคลือบแครง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระศาสดา ๒. ภิกษุยังสงสัย เคลือบแครง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระธรรม ๓. ภิกษุยังสงสัย เคลือบแครง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระสงฆ์ ๔. ภิกษุยังสงสัย เคลือบแครง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในสิกขา ๕. รวมทั้งยังเป็นผู้โกรธกรุ่นอยู่ในเพื่อนสพรหมจารี ไม่ชอบใจ มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว มีเครื่องตรึงจิตเกิดขึ้นแล้ว เครื่องผูกพันจิต ๕ อย่าง คือ ๑. ภิกษุเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ ไม่ปราศจากฉันทะ (ความพึงพอใจ) ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากตัณหา ในกาม ๒. ภิกษุเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ ไม่ปราศจากฉันทะ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากตัณหา ในกาย ๓. ภิกษุเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ ไม่ปราศจากฉันทะ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากตัณหา ในรูป ๔. เป็นผู้ฉันอิ่มท้องแล้ว ตามประกอบความสุขในการนอน สุขในการเอน สุขในการซบเซาอยู่ ๕. เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์โดยหวังเข้าสู่เทพนิกาย พวกใดพวกหนึ่ง ว่า ด้วยศีลนี้ วัตรนี้ พรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพเจ้า หรือเป็นเทพยดาอย่างใดอย่างหนึ่ง (อยากเป็นใหญ่)
๑๒. ธุดงค์ ๑๓ ธุดงค์ หมายถึง การปฏิบัติพิเศษเพื่อขูดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้น คือการเจริญอริยมรรคนั้นก็จะมีการเจริญศีล สมาธิและปัญญาเพื่อกำจัดกิเลสอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ถ้าภิกษุใดปรารถนาที่จะเพิ่มการขัดเกลากิเลสให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ก็สามารถอธิฐานปฏิบัติธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆข้อก็ได้ ซึ่งหลักธุดงค์นั้นก็มีอยู่ ๑๓ ข้อให้เลือก อันได้แก่ ๑.สมาทาน ถือเอาแต่ผ้าบังสุกุล (ผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว) มาใช้ เป็นวัตร (เป็นประจำ) ๒.สมาทาน ถือใช้เฉพาะผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร (ผ้าห่ม ๒ ผืนกับผ้านุ่ง ๑ ผืน) ๓.สมาทาน ถือการบิณฑบาต เป็นวัตร (ไม่รับนิมนต์ไปฉันที่อื่น) ๔. สมาทาน ถือการบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร (ไม่ขอซ้ำที่เดิม) ๕. สมาทาน ถือการฉันอาหาร ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร (ฉันมื้อเดียว) ๖.สมาทาน ฉันเฉพาะอาหารในบาตรเป็นวัตร (ฉันรวมกันหมด) ๗. สมาทาน ไม่รับอาหารที่มีผู้มาถวายในภายหลัง เป็นวัตร ๘. สมาทาน ถือการอยู่ป่า เป็นวัตร ๙. สมาทาน ถือการอยู่โคนไม้ เป็นวัตร ๑๐. สมาทาน ถือการอยู่แต่ในที่โล่ง เป็นวัตร ๑๑. สมาทาน ถือการอยู่ป่าช้า เป็นวัตร ๑๒. สมาทาน ถือการอยู่เสนาสนะอันเขาจัดให้อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น เป็นวัตร ๑๓. สมาทาน ถือแต่เฉพาะการนั่งเป็นวัตร (ไม่นอน) คำว่า สมาทาน หมายถึง การถือเอาไว้ด้วยดีด้วยสติปัญญา ซึ่งจะตรงข้ามกับอุปาทานที่หมายถึงความยึดมั่นด้วยกิเลส ซึ่งภิกษุที่แท้จริงจะมีการดำรงชีวิตที่มีการขัดเกลากิเลสอยู่แล้วเป็นปกติ เพราะชีวิตของท่านนั้นจะมีแต่เรื่องปัจจัย ๔ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนสิ่งฟุ่มเฟือยจะไม่มี ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจจะดูว่ามันเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่ที่จริงยังมีการขัดเกลากิเลสที่ยิ่งขึ้นไปอีกคือการธุดงค์นี้ โดยหลักการธุดงค์นี้จะเป็นเรื่องการเสพปัจจัย ๔ ให้มีความสุขสบายน้อยลง เพื่อไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นมาได้ง่าย รวมทั้งการเร่งความเพียรทั้งวันทั้งคืนโดยไม่นอนในบางวันด้วย
๑๓. บารมี ๑๐ บารมี หมายถึง อุปกรณ์ที่จะช่วยให้ถึงฝั่งนิพพาน คือเปรียบเหมือนการเดินทางไปสู่นิพพานนั้นจำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ช่วยที่จำเป็นอยู่ ๑๐ อย่าง ที่เรียกว่า บารมี ๑๐ อันได้แก่ ๑. ทานบารมี บารมีคือการให้ ซึ่งได้แก่การสละสิ่งที่ไม่ควรจะมีออกไป ๒. ศีลบารมี บารมีคือศีล ซึ่งได้แก่การเป็นผู้มีความปกติทางกาย วาจา และจิตใจ ๓. เนกขัมมบารมี บารมีคือเนกขัมมะ ซึ่งได้แก่การอยู่เหนืออำนาจของกาม ไม่ติดกาม ๔. ปัญญาบารมี บารมีคือปัญญา ซึ่งได้แก่การมีความรอบรู้ในเรื่องที่ควรรู้ ๕. ขันติบารมี บารมีคือขันติ ซึ่งได้แก่การมีความอดทนต่อสิ่งที่มายั่วให้พอใจและไม่พอใจ ๖. วิริยะบารมี บารมีคือวิริยะ ซึ่งได้แก่การมีความเพียรพยายามในการกระทำสิ่งที่ดีงาม ๗. สัจจะบารมี บารมีคือสัจจะ ซึ่งได้แก่การมีความจริงใจ พูดจริง ทำจริง ๘. อธิฐานบารมี บารมีคืออธิฐาน ซึ่งได้แก่การเป็นคนที่มั่นคงหนักแน่น ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย ๙. เมตตาบารมี บารมีคือเมตตา ซึ่งได้แก่การเป็นมิตรกับทุกคน ไม่เป็นศัตรูกับใครๆในโลก ๑๐. อุเบกขาบารมี บารมีคืออุเบกขา ซึ่งได้แก่ความปล่อยวาง หรือความวางเฉย คือมีจิตไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ บารมีทั้ง ๑๐ นี้เป็นการสรุปคุณสมบัติของผู้ที่จะเจริญอริยมรรคให้ถึงจุดหมาย โดยจะต้องสั่งสมคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ให้เต็ม เมื่อเต็มจึงจะบรรลุนิพพานได้ ซึ่งเพียงการเจริญอริยมรรคอย่างถูกต้องก็เท่ากับเป็นการเพิ่มบารมีอยู่อย่างยิ่งแล้วในตัว และเมื่อผู้ใดเจริญอริยมรรคจนสมบูรณ์ได้ ก็เท่ากับว่าเขามีบารมีทั้ง ๑๐ นี้เต็มแล้ว ส่วนใครที่รู้ว่าตัวเองยังขาดบารมีใดอยู่ ก็ต้องพยายามสร้างบารมีนั้นให้เกิดขึ้น และให้ครบทั้ง ๑๐ จึงจะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะบรรลุนิพานได้.
๑๔. ลำดับขั้นการเห็นสัจธรรม ในการพิจารณาธรรมจนเกิดวิมุตติหรือบรรลุธรรมนั้นจะต้องมีโยนิโสมนสิการ คือมีการพิจารณาใคร่ครวญให้เห็นถึงต้นเหตุ คือต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบครอบทุกแง่มุมและสืบไปให้ถึงต้นเหตุจริงๆจนจิตบังเกิดความหลุดพ้น (วิมุตติ) ซึ่งเรียกว่าเป็น การเห็นสัจธรรม ซึ่งในขณะที่มีการเห็นสัจธรรมหรือเห็นความจริงแท้ของธรรมชาตินั้นจะมีลำดับขั้นในการเห็นโดยละเอียดอยู่ถึง ๙ ขั้น อันได้แก่ ๑. อนิจจตา เห็นความไม่เที่ยง ๒. ทุกขตา เห็นความต้องทน ๓. อนัตตา เห็นความไม่ใช่ตัวตน ๔. ธัมมัฏฐิตตา เห็นความที่มันตั้งอยู่โดยความเป็นอย่างนั้น ๕. ธัมมนิยามตา เห็นความที่มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนั้น ๖. อิทัปปัจจยตา เห็นความที่มันเป็นไปตามปัจจัย ๗. สุญญตา เห็นความว่างจากตัวตน ๘. ตถตา เห็นความที่มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง ๙. อตัมมยตา เห็นสภาวะจิตที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้หวั่นไหวได้ เมื่อเรายกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เช่น รูปขันธ์) ขึ้นมาเพ่งพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง (หรือการเกิด-ดับ) อย่างแรงกล้า (ด้วยสมาธิ) ก็จะมองเห็นความทุกข์และถ้าเพ่งมองทุกข์ต่อไปอย่างแรงกล้าก็จะมองเห็นความไม่ใช่ตัวตน และถ้าเพ่งมองไปไม่หยุดก็จะบังเกิดการเห็นต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจิตก็จะเกิดความเห็นแจ้งในความเป็นเช่นนั้นเองแล้วจิตก็จะหลุดพ้นและมองเห็นสภาวะจิตที่หลุดพ้นที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้หวั่นไหวได้อีกต่อไป ซึ่งการเห็นทั้งหมดนี้จะเกิดต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว แต่เราสามารถแยกแยะออกมาให้ศึกษาได้ถึง ๙ ขั้น โดยในแต่ละขั้นนั้นจะเรียกว่าเป็น ญาณ ที่หมายถึง ความรู้ที่เกิดมาจากการปฏิบัติ แต่ญาณทั้ง ๙ ขั้นนี้เมื่อสรุปแล้วจะเหลือเพียง ๒ ญาณ อันได้แก่ ๑. ธัมมฐิติญาณ ญาณที่เห็นความตั้งอยู่ของธรรมชาติ ๒. นิพพานญาณ ญาณที่เป็นส่วนของการดับทุกข์ ญาณทั้งหลายถ้ายังไม่ถึงกับดับทุกข์ได้ จะสรุปลงในธัมมฐิติญาณคือยังเป็นเพียงการเห็นความตั้งอยู่ของธรรมชาติเท่านั้น แต่ถ้านิพพานปรากฏแล้วก็จะเกิดนิพพานญาณคือ จะเกิดความรู้ว่านิพพานปรากฏแล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว
๑๕. วิปัสสนูกิเลส วิปัสสนูกิเลส หมายถึง เครื่องทำวิปัสสนาให้เศร้าหมอง คือเมื่อเราเจริญอริยมรรคอยู่นั้นจะเกิดอาการของวิปัสสนูกิเลสขึ้นมาและทำให้คิดว่าประสบผลสูงสุดแล้วก็จะหยุดการปฏิบัติ ซึ่งอาการนั้นก็ได้แก่ ๑. โอภาส แสงสว่าง ๒. ปีติ ความอิ่มใจ ๓. ญาณ ความรู้จากการปฏิบัติ ๔. ปัสสัทธิ ความสงบระงับ ๕. สุข สุขเวทนาที่สงบมาก ๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่ออย่างแรงกล้า ๗. ปัคคาหะ ความเพียรที่ไม่ยิ่งหย่อน ๘. อุปัฏฐานะ ความที่มีสติมั่น ๙. อุเบกขา ความที่จิตนิ่งดูอยู่ด้วยความปล่อยวาง ๑๐. นิกันติ ความพอใจรักใคร่ในวิปัสสนา วิปัสสนูกิเลสเหล่านี้เราควรจะรู้จักเพื่อที่เมื่อมันเกิดขึ้นจะได้ไม่หลงผิดคิดว่าประสบผลสูงสุดแล้ว อันจะทำให้หยุดการปฏิบัติแล้วผลสูงสุดก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าเกิดวิปัสสนูกิเลสตัวใดขึ้นมาขณะกำลังปฏิบัติก็ไม่ต้องสนใจให้ปฏิบัติต่อไป
๑๖. ภูมิ ๔ ภูมิ หมายถึง ระดับหรือพื้นเพของจิต ซึ่งมีอยู่ ๔ ระดับ อันได้แก่ ๑. กามาวจรภูมิ ระดับที่ติดอยู่ในกามารมณ์ ๒. รูปาวจรภูมิ ระดับที่ติดอยู่ในรูปารมณ์ ๓. อรูปาวจรภูมิ ระดับที่ติดอยู่ในอรูปารมณ์ ๔. โลกุตตรภูมิ ระดับที่อยู่เหนือโลก ภพนั้นหมายถึงความมีความเป็นตามความยึดมั่นจึงมีได้เพียง ๓ ภพ คือกามภพ, รูปภพ, และอรูปภพ ซึ่งจิตในแต่ละภพก็จะมีภูมิคือระดับจิตตามภพที่เป็นอยู่ (โลกุตตรภพไม่มีเพราะไม่มีความยึดมั่น) ซึ่งจิตที่ยังติดอยู่ในภพเหล่านี้จะเรียกว่าเป็น สัตว์ ที่หมายถึง ผู้ที่ยังติดอยู่ในภพ ส่วนโลกุตตรภูมิจะเป็นระดับจิตที่อยู่เหนือภพ หรือเหนือโลก ซึ่งเป็นภูมิจิตของพระอริยบุคคลทั้งหลาย เป็นภูมิจิตที่ไม่มีทุกข์หรือมีทุกข์น้อยมากตามระดับของพระอริยะแต่ละประเภท
๑๗ ลำดับการละกาม รูป - อรูป การติดอยู่ในอารมณ์ของกาม รูป และอรูปนั้นจะทำให้ยังไม่พ้นทุกข์ ส่วนวิธีการที่จะพ้นจากอำนาจของกาม รูป อรูปนี้ได้ก็ต้องมีการละไปตามลำดับคือ ๑. ละกามโดยการเพ่งพิจารณาให้เห็นถึงโทษจากการติดอยู่ในกามอย่างแรงกล้า พร้อมทั้งต้องฝึกฝนสมาธิจนเกิดสุขสงบจากสมาธิขั้นรูปมาช่วยให้จิตติดแทน ๒. ละรูปโดยการเพ่งพิจารณาให้เห็นถึงโทษจากการติดอยู่ในรูปอย่างแรงกล้า พร้อมทั้งต้องฝึกฝนสมาธิจนเกิดสุขสงบจากสมาธิขั้นอรูปมาช่วยให้จิตติดแทน ๓. ละอรูปโดยการเพ่งพิจารณาให้เห็นถึงโทษจากการติดอยู่ในอรูปอย่างแรงกล้า พร้อมทั้งต้องทำวิมุตติให้เกิดขึ้น สรุปแล้วโทษของการติดอยู่ใน กาม รูป และอรูป นี้ก็คือ ทำให้ติดอยู่และไม่หลุดพ้นจากความทุกข์อันเกิดจากความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่เรารักหรือพอใจได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนตกอยู่ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าปรารถนาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ เราจะต้องหลุดพ้นจากอำนาจของกาม รูป และอรูปนี้ก่อน
๑๘. อภิญญา อภิญญา หมายถึง ความรู้อันยิ่ง หรือบางทีก็เรียกว่า ญาณ ที่หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ โดยเรื่องอภิญญานี้เดิมเป็นหลักของลัทธินอกพุทธศาสนา ซึ่งเป็นผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติสมาธิหรือฌาน ซึ่งได้แก่ อิทธิวิธี คือสามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆได้ เช่น เดินได้ในน้ำเหมือนเดินบนดิน เหาะไปได้ในอากาศ เป็นต้น หรือทิพพโสต คือมีหูทิพย์สามารถได้ยินเสียงต่างๆแม้ในที่ไกลๆได้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเรื่องของการมีฤทธิ์เดชหรือการมีอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ที่พิสูจน์ไม่ได้ มีแต่คำเล่าลือ ส่วนอภิญญาของพุทธศาสนานั้นไม่เหมือนกับของลัทธินอกพุทธศาสนา คือมีความหมายต่างกัน ซึ่งอภิญญาในความหมายของพุทธศาสนานั้นก็ได้แก่ ๑. อิทธิวิธีญาณ คือการใช้สมาธิสร้างมโนภาพต่างๆขึ้นมาหลอกผู้อื่นให้เห็นเหมือนว่ามีจริงได้ ๒. ทิพพโสตญาณ คือมีความสามารถได้ยินเสียงต่างๆที่จิตสร้างขึ้นมาเองได้ ๓. เจโตปริญญาณ คือมีความสามารถเดาได้ถูกว่าใครกำลังคิดอะไรอยู่ ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือมีความทรงจำถึงอดีตที่ผ่านมาได้อย่างดีเยี่ยม ๕. จุตูปปาตญาณ คือมีความสามารถมองเห็นภาพต่างๆที่จิตสร้างขึ้นมาเองได้ ๖. อาสวักขยญาณ คือมีความสามารถทำอาสวะให้สิ้นไปได้ พระอรหันต์ที่มีอภิญญาทั้ง ๖ ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ประเภทฉฬภิญโญ, ถ้ามี ๓ ก็เรียกว่า เตวิชโช, ถ้ามีเพียงอาสวักขยญาณก็เรียกกว่า สุขวิปัสสโก (ผู้บรรลุอย่างแห้งแล้ง) ซึ่งแม้พระอริยบุคคลชั้นต่างๆก็สามารถมีอภิญญาเหล่านี้ได้ถ้ามีการฝึกฝนมาก่อน เรื่องอภิญญานี้จัดเป็นเรื่องอจินไตยคือไม่ควรสนใจว่าจะมีจริงหรือไม่ ซึ่งถ้ามีก็เป็นเพียงการใช้สมาธิสร้างมโนภาพขึ้นมาหลอกตัวเองหรือผู้อื่นเท่านั้น ถ้าไม่มีก็เป็นเพียงเรื่องเล่ากันขึ้นมาเองเท่านั้น ซึ่งล้วนไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่การศึกษาเพื่อดับทุกข์เลย
๑๙. ญาณ ๓ ญาณ หมายถึง ความรู้จากการปฏิบัติ ซึ่งนิยมเรียกว่า ญาณ ๓ อันได้แก่ ๑. อตีตังสญาณ คือความรู้ในส่วนอดีต ๒. อนาคตังสญาณ คือความรู้ในส่วนอนาคต ๓. ปัจจุปปันนังสญาณ คือความรู้ในส่วนปัจจุบัน ในความหมายของพุทธศาสนาแล้ว ความรู้ในส่วนอดีตก็คือความรู้เรื่องเหตุปัจจัยในอดีตที่ก่อให้เกิดผลในปัจจุบัน ส่วนความรู้ในส่วนอนาคตก็คือความรู้ว่าเหตุปัจจัยในปัจจุบัน จะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้นในอนาคต และความรู้ในส่วนปัจจุบันก็คือความรู้เหตุปัจจัยในปัจจุบันที่กำลังก่อผลอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความรู้นี้ก็คือความรู้ในเรื่องกฎอิทัปปัจจตาและฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ส่วนเรื่องญาณที่เป็นการระลึกชาติได้นั้นจัดว่าเป็นเรื่องอจินไตย จึงไม่ควรสนใจ
๒๐. มรรค - ผล - นิพพาน มรรค คือ การปฏิบัติเพื่อกำจัดเหตุของทุกข์ ส่วน ผล ก็คือ ความทุกข์ถูกกำจัดไปแล้ว และ นิพพาน ก็คือ สภาวะที่จิตที่ไม่มีความทุกข์ ซึ่งนี่คือหลักโดยสรุป ส่วนผู้ปฏิบัติได้ก็สมมติเรียกว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ที่อาจจะเป็นภิกษุก็ได้ หรือเป็นผู้ครองเรือนก็ได้ ซึ่งการบวชเป็นภิกษุนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติอริยมรรคได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรค ซึ่งสามารถบรรลุนิพพานได้ง่ายกว่าผู้ที่ยังไม่ได้บวช แต่แม้ผู้ที่ไม่ได้บวชก็สามารถปฏิบัติอริยมรรคได้ตามความสามารถของตน และได้รับผลตามการปฏิบัติของตน ซึ่งอาจจะได้รับผลมากกว่าภิกษุที่ปฏิบัติย่อหย่อนหรือไม่ปฏิบัติจริงจังก็ได้
จบบทที่ ๔ |