บทที่ ๕ สติปัฏฐาน ๔ ๑. สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน หมายถึง ที่ตั้งของสติ คือในการเจริญอริยมรรคนั้นจะต้องมีการตั้งสติให้ถูกต้องที่เรียกว่าสัมมาสติ ซึ่งการตั้งสติที่ถูกต้องที่แสดงไว้ก็คือสติปัฏฐาน ๔ หรือที่ตั้งแห่งการระลึก ๔ อย่างอันได้แก่ ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือฐานกาย โดยใช้สิ่งที่เป็นกายมาเป็นที่ระลึก ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือฐานเวทนา โดยใช้เวทนามาเป็นที่ระลึก ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือฐานจิต โดยใช้จิตมาเป็นที่ระลึก ๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือฐานธรรม โดยใช้ธรรมมาเป็นที่ระลึก การเจริญอริยมรรคโดยสรุปก็คือ การพิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ ให้เห็นถึงเหตุปัจจัยของมันและเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตาของมัน จนจิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ซึ่งขันธ์ทั้ง ๕ นี้ถ้าจะสรุปเป็นหมวดหมู่เพื่อนำมาพิจารณาแล้วก็จะได้ ๔ กลุ่ม คือ กาย, เวทนา, จิต, และธรรม (ธรรมชาติที่มีอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕) ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ คือขั้นแรกเราจะต้องพิจารณาตั้งแต่ฐานกายไปหาเวทนา, จิต, และธรรม เพื่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรมก่อน แล้วจึงค่อยเลือกเจริญฐานใดฐานหนึ่งหรือจุดใดจุดหนึ่งที่เราชอบต่อไป
๒. หมวดกายานุปัสสนา ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้... ซึ่งสิ่งที่จัดว่าเป็นกายนั้นก็ได้แก่ ๑.อานาปานสติ คือการกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ๒.อิริยาบถ ๔ คือการกำหนดอิริยาบถยืน เดิน นั่ง และนอนของร่างกาย ๓.สัมปชัญญะ คือการกำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ๔. อสุภะ คือการพิจารณาร่างกายว่าเป็นสิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง ไม่สะอาด ๕. ธาตุ ๔ คือการพิจารณาร่างกายว่าเกิดมาจากธาตุ ๔ ปรุงแต่งขึ้นมา ๖.มรณะสติ คือการพิจารณาถึงความตายของร่างกาย โดยการเพ่งพิจารณาจากซากศพในลักษณะต่างๆแล้วน้อมเข้ามาในร่างกายของเราเองว่าไม่พ้นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น ๗. ทุกข์และโทษ คือการพิจารณาถึงทุกข์และโทษต่างๆที่จะเกิดขึ้นแก่ร่างกายของเรา เช่น โรคต่างๆ เป็นต้น การพิจารณาเห็นกายในกายก็หมายถึงว่า ให้พิจารณาสิ่งที่เป็นกายแต่ละอย่างจากกายทั้งหมดที่มีอยู่ โดยพิจารณาให้เห็นจริงทั้งภายใน (คือของเราเอง) และภายนอก (คือของคนอื่น) และมีปรกติพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาให้เห็นปัจจัยอันปรุงแต่งให้กายนี้เกิดขึ้นมาบ้าง ให้เสื่อมไปบ้าง ทั้งเกิดและเสื่อมบ้าง หรือเมื่อกายนั้นเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ต่อหน้า ก็กำหนดว่าเป็นเพียงเพื่อให้เกิดความรู้ (ญาณ) เพื่ออาศัยระลึก อย่าให้ตัณหา (ความอยาก ซึ่งก็คือ ความพอใจและไม่พอใจ) และทิฏฐิ (ความเห็นที่ยึดถือไว้ไม่ยอมวาง) เกิดขึ้น และไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลกด้วย (คือไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆว่าเป็นตัวตน-ของตน)
๓. หมวดเวทนานุปัสสนา ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้... ซึ่งสิ่งที่จัดว่าเป็นเวทนาก็ได้แก่ ๑. เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นสุข ก็ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันเป็นสุข ๒. เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ ก็ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์ ๓. เมื่อเสวยเวทนาอันเป็นอทุกขมสุข ก็ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันเป็นอทุกขมสุข ๔. เมื่อเสวยเวทนาใดๆอันประกอบด้วยอามิส (กามารมณ์) ก็ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันประกอบด้วยอามิส ๕. เมื่อเสวยเวทนาใดๆอันไม่ประกอบด้วยอามิส ก็ย่อมรู้ชัดว่าว่าเราเสวยเวทนาอันไม่ประกอบด้วยอามิส (เช่น สุขเวทนาจากสมาธิ เป็นต้น) การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายก็หมายถึงว่า ให้พิจารณาสิ่งที่เป็นเวทนาแต่ละอย่างจากเวทนาทั้งหมดที่มีอยู่ โดยพิจารณาให้เห็นจริงทั้งภายในและภายนอก และมีปรกติพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาให้เห็นปัจจัยอันปรุงแต่งให้เวทนานี้เกิดขึ้นมาบ้าง ให้เสื่อมไปบ้าง ทั้งเกิดและเสื่อมบ้าง หรือเมื่อเวทนานี้เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ต่อหน้า ก็กำหนดว่าเป็นเพียงเพื่อให้เกิดความรู้ เพื่ออาศัยระลึก อย่าให้ตัณหาและทิฏฐิเกิดขึ้น และไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลกด้วย
๔. หมวดจิตตานุปัสสนา ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้... สิ่งที่เป็นจิตก็ได้แก่ ๑.เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ๒.เมื่อจิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากราคะ ๓.เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ ๔. เมื่อจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโทสะ ๕. เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ ๖.เมื่อจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากโมหะ ๗. รู้ชัดซึ่งจิตหดหู่ ว่าจิตหดหู่ ๘. รู้ชัดซึ่งจิตฟุ้งซ่าน ว่าจิตฟุ้งซ่าน ๙. รู้ชัดถึงความเป็นจิตใหญ่ (อยู่ในฌาน) ว่าถึงแล้วซึ่งความเป็นใหญ่ ๑๐. รู้ชัดถึงความเป็นจิตอันไม่ถึงความเป็นจิตใหญ่ ว่าถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตอันไม่ถึงความเป็นจิตใหญ่ ๑๑. รู้ชัดถึงจิตอันมีจิตอื่นยิ่งกว่า (มีอารมณ์อื่นมาแทรก) ว่าจิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๒. รู้ชัดถึงจิตอันไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๓. รู้ชัดซึ่งจิตอันตั้งมั่น (เป็นสมาธิ) ว่าจิตตั้งมั่น ๑๔. รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่ตั้งมั่น ว่าจิตไม่ตั้งมั่น ๑๕. รู้ชัดซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว ๑๖. รู้ชัดซึ่งจิตอันยังไม่หลุดพ้น ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น การพิจารณาเห็นจิตในจิตก็หมายถึงว่า ให้พิจารณาจิตแต่ละอาการจากอาการทั้งหมดของจิต โดยพิจารณาให้เห็นจริงทั้งภายในและภายนอกและมีปรกติพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาให้เห็นปัจจัยอันปรุงแต่งให้จิตนี้เกิดขึ้นมาบ้าง ให้เสื่อมไปบ้าง ทั้งเกิดและเสื่อมบ้าง หรือเมื่อจิตนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ต่อหน้า ก็กำหนดว่าเป็นเพียงเพื่อให้เกิดความรู้ เพื่ออาศัยระลึก อย่าให้ตัณหาและทิฏฐิเกิดขึ้น และไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลกด้วย
๕. หมวดธรรมานุปัสสนา ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและไม่พอใจในโลกออกเสียได้... สิ่งที่เป็นธรรมก็ได้แก่ ๑.นิวรณ์ ๕ โดยการพิจารณาให้รู้ชัดว่านิวรณ์แต่ละอาการมีอยู่, ไม่มีอยู่, เกิดขึ้นอย่างไร?, ละไปแล้วอย่างไร?, ไม่เกิดขึ้นมาอีกอย่างไร? ๒.อุปาทานขันธ์ ๕ โดยพิจารณาให้เห็นชัดว่าขันธ์แต่ละขันธ์เป็นอย่างไร?, เกิดขึ้นอย่างไร?, ความดับสลายไปเป็นอย่างไร? ๓.อายตนะภายในและภายนอกอย่างละ ๖ โดยพิจารณาให้เห็นชัดว่าอายตนะแต่ละคู่เป็นที่อาศัยเกิดขึ้นของสังโยชน์อย่างไร?, รู้ชัดว่าไม่เกิดอย่างไร?, ว่าละไปอย่างไร?, ไม่เกิดขึ้นอีกอย่างไร? ๔. โพชฌงค์ ๗ โดยการพิจารณาให้เห็นชัดว่า โพชฌงค์แต่ละตัวๆนั้นมีอยู่, ไม่มีอยู่, เกิดขึ้นอย่างไร?, เจริญเต็มรอบแล้วอย่างไร? ๕. อริยสัจ ๔ โดยพิจารณาให้เห็นชัดตามที่เป็นจริงว่านี้คือทุกข์, นี้คือเหตุแห่งทุกข์, นี้คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นหนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายก็หมายถึงว่า ให้พิจารณาธรรมแต่ละอย่าง จากธรรมทั้งหมด (คือธรรมที่ทำให้เกิดทุกข์และใข้ดับทุกข์) โดยพิจารณาให้เห็นจริงทั้งภายในและภายนอกและมีปรกติพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาให้เห็นปัจจัยอันปรุงแต่งให้ธรรมนี้เกิดขึ้นมาบ้าง ให้เสื่อมไปบ้าง ทั้งเกิดและเสื่อมบ้าง หรือเมื่อธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ต่อหน้า ก็กำหนดว่าเป็นเพียงเพื่อให้เกิดความรู้ เพื่ออาศัยระลึก อย่าให้ตัณหาและทิฏฐิเกิดขึ้น และไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลกด้วย
๖. การเห็นแจ้งในกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ นี้ก็คือหลักปฏิบัติของอริยมรรคโดยละเอียด โดยขั้นต้นจะเป็นการศึกษาให้เกิดความรู้ในเรื่องของร่างกาย, ความรู้สึก (เวทนา), จิต, และธรรม ว่ามันอาศัยปัจจัยอะไรเกิดขึ้นมา และดับไปเพราะขาดปัจจัยอะไร เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้องตามที่มันเป็นอยู่จริงของธรรมชาติ (เกิดดวงตาเห็นธรรม) ไม่ใช่การคาดเดาหรือจินตนาการเอาตามตำราหรือตามที่คนอื่นเขาบอกมา และขั้นต่อไปก็คือการปฏิบัติเพื่อทำลายรากเหง้าของอวิชชาที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก โดยเราอาจจะเลือกปฏิบัติเฉพาะฐานใดฐานหนึ่งก็ได้ตามแต่เราจะชอบ หรือจะมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในแต่ละฐานก็ได้ โดยจะต้องมีสติรู้ตัวว่ากำลังปฏิบัติในฐานใดอยู่ และไม่ออกนอกขอบเขตของฐานทั้ง ๔ นี้ ซึ่งการปฏิบัตินั้นก็คือการพิจารณาหรือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จนรากเหง้าของอวิชชาได้หมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกของเรา ในการปฏิบัติสติปัฎฐาน ๔ จริงๆนั้น ถ้าเราตั้งใจเพ่งพิจารณาฐานใดฐานหนึ่งอยู่ ก็จะทำให้มีการพิจารณาฐานที่เหลืออยู่ด้วยในตัว อย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจเพ่งพิจารณาถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และอนัตตาในสุขเวทนาทางตาอยู่นั้น ก็จะมีการกำหนดรู้สุขเวทนาซึ่งเป็นฐานเวทนาอยู่ ส่วนการกำหนดที่ตานั้นก็จัดเป็นฐานกาย และจิตที่เกิดราคะในสุขเวทนานั้นก็จัดเป็นฐานจิต ส่วนการพิจารณาถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และอนัตตาในสุขเวทนานั้นก็เป็นฐานธรรม เป็นต้น ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพิจารณาทุกฐานก็ได้ แต่ถ้าเราสามารถพิจารณาได้ทุกฐาน ก็จะทำให้เราเกิดความรู้ที่แตกฉานมากยิ่งขึ้นได้ สรุปได้ว่าการปฏิบัติฐานใดฐานหนึ่งของสติปัฏฐาน ๔ ก็เท่ากับเป็นการปฏิบัติฐานทั้งหมดด้วย และยังเป็นการทำลายอนุสัยหรือความเคยชินของกิเลสให้ลดน้อยลงด้วย ซึ่งแม้จะทำลายอนุสัยตัวใดอยู่ก็ตาม ก็จะมีการทำลายอนุสัยที่เหลือตามไปด้วย อย่างเช่น เมื่อกำลังเจริญมรณะสติอยู่ ก็จะทำให้อนุสัยของราคะลดลง พร้อมทั้งอนุสัยของโทสะกับอวิชชาก็จะลดลงตามไปด้วย เป็นต้น
จบบทที่ ๕ |