บทสังฆคุณ สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว, อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว, ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว, สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว, ยทิทํ, ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ, จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฎฺฐ ปุริสปุคฺคลา, คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ, เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ, นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, อาหุเนยฺโย, เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา, ปาหุเนยฺโย, เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ, ทกฺขิเนยฺโย, เป็นผู้ควรรับทักษินาทาน, อญฺชลิ กรณีโย, เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี, อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺ เขตฺตํ โลกสฺสา ติ. เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า ดังนี้.
*********************************
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว, สงฺฆงฺ นมามิ. ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์.
********************************* บทที่ ๓ พระสงฆ์ ๑. พุทธะ ๓ พุทธะ แปลว่า รู้, ตื่น, เบิกบาน คือหมายถึงสภาวะที่รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตและในโลกแล้ว ซึ่งเมื่อรู้จึงตื่นจากความไม่รู้ รวมทั้งเมื่อตื่นแล้วจึงเบิกบานสดชื่นหรือไม่มีทุกข์ ซึ่งพุทธะนี้ก็เกิดมาจากการตรัสรู้อริยสัจ ๔ โดยพุทธะนี้ก็มีอยู่ ๓ ประเภทอันได้แก่ ๑. พระพุทธเจ้า ผู้รู้สูงสุด ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้เฉพาะตน ๓. พระอนุพุทธะ ผู้ที่ตรัสรู้ตาม พระพุทธเจ้านั้นทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองและเป็นผู้รู้สูงสุดรวมทั้งสามารถสั่งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้ ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ที่ตรัสรู้ด้วยตนเองแต่ไม่มีความสามารถสั่งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้ ส่วนพระอนุพุทธะก็ได้แก่พระอริยบุคคลทั้งหลาย ซึ่งก็มีทั้งที่สอนผู้อื่นได้ก็มี และที่สอนไม่ได้ก็มี แต่ยังมีอีกประเภทหนึ่งที่ไม่จัดเป็นพุทธะจริงที่เรียกว่า สุตพุทธะ คือเป็นเพียงผู้รู้เพราะฟังหรือเล่าเรียนธรรมะมาอย่างแตกฉาน จนสามารถสอนคนอื่นได้ แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้แต่อย่างใด
๒. พุทธบริษัท ๔ พุทธบริษัท หมายถึง กลุ่มคนที่นับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ ๔ กลุ่ม อันได้แก่ ๑. ภิกษุ คือนักบวชชายที่ถือศีลหลัก ๒๒๗ ข้อ ๒. ภิกษุณี คือนักบวชหญิงที่ถือศีลหลัก ๓๑๑ ข้อ ๓. อุบาสก คือชายชาวบ้านที่นับถือพระพุทธเจ้า ๔. อุบาสิกา คือหญิงชาวบ้านที่นับถือพระพุทธเจ้า ภิกษุณีของนิกายเถรวาทในปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะขาดการสืบต่อตามวินัย จะมีก็แต่ภิกษุ และอุบาสก อุบาสิกาเท่านั้น ส่วนสามเณรนั้นจัดเป็นเพียงอุบาสก
๓. พระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติตามพระธรรม คำว่า พระ แปลว่า ประเสริฐ, สมณะ แปลว่า ผู้สงบจากอกุศลธรรม, ภิกษุ หมายถึง ผู้เห็นภัย, ภิกขุ หมายถึง ผู้ขออาหาร, สงฆ์ หมายถึง หมู่ ซึ่งพระสงฆ์นี้มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่ ๑. สมมติสงฆ์ คือเป็นสงฆ์โดยสมมติ ๒. อริยสงฆ์ คือเป็นสงฆ์เพราะมีจิตใจประเสริฐ ถ้ามีภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปก็เรียกว่าเป็นสงฆ์ได้ แต่ยังเป็นเพียงสมมติสงฆ์ ที่ได้บวชถูกต้องตามวินัยเท่านั้น ส่วนอริยสงฆ์นั้นหมายถึงผู้ที่บรรลุคุณธรรมภายในจิตใจในขั้นต่างๆซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้น คือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี, พระอนาคามี, และพระอรหันต์ ซึ่งอริยสงฆ์นี้แม้มีเพียงรูปเดียวก็เรียกว่าเป็นสงฆ์ได้ รวมทั้งแม้ผู้ที่ไม่ได้บวชก็สามารถเป็นอริยสงฆ์ได้ สรุปได้ว่า พระสงฆ์ที่แท้จริงหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง ซึ่งก็คือพระอริยสงฆ์ทั้งหลายนั่นเอง ส่วนสมมติสงฆ์นั้นเป็นเพียงรูปแบบภายนอกที่แสดงให้ผู้คนที่พบเห็นรู้ว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่ก็ได้ยังเอาแน่นอนไม่ได้ ส่วนการที่คนอื่นจะล่วงรู้ว่าใครเป็นอริยสงฆ์หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจที่คนอื่นจะล่วงรู้ไม่ได้
๔. พระอริยบุคคล อริยบุคคล หมายถึง บุคคลผู้ประเสริฐ คือคำว่า อริยะ แปลว่า ไกลจากกิเลส คือมีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย ซึ่งบุคคลที่ไกลจากกิเลสนี้เองที่จัดเป็นบุคคลที่ประเสริฐ หรือดีเลิศ ปุถุชน หมายถึง คนหนา คือหมายถึงมีกิเลสหนาแน่น หรือยังมีความโลภ โกรธ หลงอยู่มาก โดยปุถุชนนั้นจะเป็นผู้ที่ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม ซึ่งปุถุชนนั้นก็มีทั้งปุถุชนดี (คนดี) และปุถุชนเลว (คนเลว) ซึ่งตามธรรมดาแล้วคนๆหนึ่งนั้นจะมีทั้งดีและเลวปะปนกันอยู่ในคนเดียว เพียงแต่ว่าใครจะมีดีหรือเลวมากน้อยกว่ากันเท่านั้น พระอริยบุคคลนั้นเมื่อแยกตามลักษณะของการพ้นทุกข์แล้วจะแยกได้ ๔ ประเภทด้วยกัน อันได้แก่ ๑. พระโสดาบัน คือผู้ที่เริ่มเข้าสู่กระแสนิพพาน ๒. พระสกิทาคามี คือผู้ที่มีทุกข์เพียงเล็กน้อย ๓. พระอนาคามี คือผู้ที่เหลือทุกข์เพียงเบาบาง ๔. พระอรหันต์ คือผู้ที่บริสุทธิ์ หรือสิ้นกิเลสแล้ว พระโสดาบันก็คือผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้วและสามารถทำลายสังโยชน์หยาบๆได้ ๓ ขั้น คือทำลายความเห็นว่ามีตนเองได้แล้ว, สิ้นความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว, และไม่มีความงมงายใดๆอีกต่อไป ซึ่งผู้ที่บรรลุโสดาบันนี้ยังจะครองเรือนเป็นคนดีของสังคมอยู่ได้ และจะมีความทุกข์ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปุถุชนทั้งหลาย พระสกิทาคามีก็คือพระโสดาบันผู้ที่ฝึกฝนอริยมรรคมากขึ้นจนความทุกข์ลดลงจนเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งก็จะยังครองเรือนอยู่ก็มี แต่สังโยชน์นั้นยังทำลายได้เท่าพระโสดาบัน พระอนาคามีก็คือผู้ที่ฝึกฝนอริยมรรคมากจนเกือบสมบูรณ์แล้ว จนทำลายสังโยชน์ที่ละเอียดได้อีก ๒ ขั้น คือท่านจะไม่ติดอยู่กับความสุขจากกามารมณ์ และท่านจะไม่มีความรู้สึกอึดอัดขัดเคืองใจหรือไม่พอใจในสิ่งใดอีกต่อไป ซึ่งท่านจะยังมีความทุกข์ที่เบาบางอีกเล็กน้อยเท่านั้น และท่านจะไม่ครองเรือนเพราะไม่ติดอยู่ในกามารมณ์แล้ว พระอรหันต์ก็คือผู้ที่ฝึกฝนอริยมรรคจนสมบูรณ์แล้ว จนทำลายสังโยชน์ที่เหลือได้ทั้งหมด คือท่านจะไม่ติดอยู่ในสุขจากรูป, และอรูป, ท่านจะไม่มีความถือตัวใดๆ, ท่านจะไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นหรือทึ่งหรือฟุ้งซ่านกับสิ่งใดๆอีกต่อไป, และท่านจะไม่มีสัญชาติญาณว่ามีตัวเองอีกต่อไป ซึ่งพระอรหันต์นี้ก็มีทั้งที่มีความสามารถพิเศษ (มีฤทธิ์) และชนิดที่ไม่มีความสามารถพิเศษอะไรเลย (สุขวิปัสสโก)
๕. หลักการพยากรณ์ตัวเอง พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักในการพยากรณ์ตัวเองว่าบรรลุเป็นพระโสดาบันหรือไม่โดยให้พิจารณาว่า ๑. ภัยเวร ๕ ประการอันเกิดมาจากการล่วงละเมิดศีล ๕ นั้นได้ละขาดแล้ว ๒. มีความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ๓. มีความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ๔. มีความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ ๕. เป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันบริสุทธิ์ ๖. เป็นผู้มีความรู้แตกฉานทั่วถึงและมองเห็นไม่ผิดเพี้ยนในปฏิจจสมุปบาท ถ้าใครมีคุณสมบัติทั้ง ๖ นี้ครบก็จัดว่าบรรลุโสดาบันแล้ว ซึ่งจิตขณะที่บรรลุธรรมนั่นเองที่มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ คือจิตที่บรรลุธรรมนั้นจะมีภาวะรู้, ตื่น, เบิกบาน ซึ่งเป็นลักษณะจิตของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัตินี้ก็คือการปฏิบัติตามพระธรรม โดยจิตที่ปฏิบัติตามพระธรรมจนตรัสรู้นี้ก็คือพระสงฆ์ ซึ่งจิตที่เป็นพระสงฆ์นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภิกษุ ถ้าจิตใจบรรลุโสดาบันแล้วและกำลังปฏิบัติตามพระธรรมอยู่ จิตนั้นก็ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์ แม้ร่างกายจะไม่ได้บวชก็ตาม
๖. ผลเร็ว - ผลช้า ในการปฏิบัติและรับผลจากอริยมรรคนั้นจะมี ๔ ลักษณะ อันได้แก่ ๑. ปฏิบัติลำบาก ประสบผลช้า ๒. ปฏิบัติลำบาก ประสบผลเร็ว ๓. ปฏิบัติสบาย ประสบผลช้า ๔. ปฏิบัติสบาย ประสบผลเร็ว อริยมรรคนั้นแม้จะเป็นหนทางเดียว แต่ว่ามีวิธีการปฏิบัติได้หลายรูปแบบ ซึ่งการที่ปฏิบัติลำบากก็ได้แก่การพิจารณาเห็นความไม่งามของร่างกาย, เห็นความไม่น่ายินดีในอาหาร, เห็นโลกไม่น่ายินดี, เห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งหลาย, เห็นความตายจักมีแก่ตน ซึ่งการปฏิบัติรูปแบบนี้จะเป็นการเพ่งมองว่ามันน่าเกลียด ไม่น่ายินดีอยู่เป็นประจำนั่นเอง ส่วนการปฏิบัติที่สบายก็ได้แก่การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติจนบรรลุฌานที่ ๑ ไปตามลำดับจนถึงฌานที่ ๔ คือจะมีความสงบระงับไปขึ้นไปเรื่อยๆ การปฏิบัติรูปแบบนี้เป็นการปฏิบัติที่สุขสบายไปตลอดสาย ส่วนการที่จะประสบผลสำเร็จเร็วหรือช้านั้นก็ขึ้นอยู่กับ อินทรีย์ ที่หมายถึง ความเป็นใหญ่ในหน้าที่ (คำว่าอินทรีย์นี้จะหมายถึง ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจก็ได้ อย่างเช่น ตาเป็นใหญ่ในหน้าที่การมองเห็น เป็นต้น) ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ อันได้แก่ ๑. สัทธา คือความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๒. วิริยะ คือความพากเพียรปฏิบัติ ๓. สติ คือความระลึกได้ ๔. สมาธิ คือความตั้งใจมั่น ๕. ปัญญา คือความรอบรู้ในอริยสัจ ๔ ถ้าใครมีอินทรีย์แก่กล้าก็จะประสบผลเร็ว แต่ถ้าอินทรีย์อ่อนก็จะประสบผลช้า ไม่ว่าจะเป็นแบบปฏิบัติลำบากหรือสบายก็ตาม (บางครั้งหลักทั้ง ๕ นี้ก็เรียกว่า พละ ที่หมายถึง พลังในการปฏิบัติ )
๗. นิพพาน ๓ นิพพานของพระอริยบุคคลนั้นก็มีอยู่ ๓ ประเภทอันได้แก่ ๑. เสขะนิพพาน คือนิพพานของพระเสขะ ๒. สอุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานที่ยังมีเชื้อเหลือ ๓. อนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานที่ไม่มีเชื้อเหลือ พระเสขะหมายถึงพระอริยบุคคลที่ยังต้องศึกษาและปฏิบัติต่อไป อันได้แก่พระโสดาบัน พระสกิทาคามีและพระอนาคามี ส่วนพระอเสขะก็หมายถึงพระอริยบุคคลที่ไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติอีกต่อไปแล้ว อันได้แก่พระอรหันต์ เสขนิพพานก็คือนิพพานของพระเสขะทั้งหลาย ซึ่งจะยังไม่เย็นสนิทและไม่ถาวร เพราะสังโยชน์ยังไม่ถูกทำลายหมดสิ้น สอุปาทิเสสนิพพานก็คือนิพพานของพระอรหันต์ที่เพิ่งบรรลุใหม่ๆ ที่ยังไม่เย็นสนิทเพราะเชื้ออนุสัยของขันธ์ ๕ ยังมีอยู่บ้าง คือขันธ์ ๕ ยังทำงานอยู่บ้าง เวทนาของท่านจึงยังไม่เย็นสนิท อนุปาทิเสสนิพพานก็คือนิพพานของพระอรหันต์ที่บรรลุนานแล้ว ขันธ์ ๕ ของท่านบริสุทธิ์ถาวรแล้ว นิพพานของท่านจึงเย็นสนิท
๘. ภิกษุคือบุคคลตัวอย่างที่ดีของสังคม เมื่อมองจากภายนอก ภิกษุก็คือชายโกนศีรษะและ คือห่มผ้าคลุมกายสีคล้ำๆ อาศัยอยู่ตามป่า, เขา, ถ้ำ หรือวัดใกล้บ้าน ขออาหารจากชาวบ้านมาฉันวันละมื้อหรือสองมื้อ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามศีลหรือวินัยมากมาย มีการฝึกฝนสมาธิอยู่เสมอ และยังสั่งสอนผู้คนให้ละเว้นความชั่วให้ทำแต่ความดีกับสอนให้มีดวงตาเห็นธรรมอยู่เสมอด้วย จุดมุ่งหมายของการบวชดั้งเดิมนั้นเป็น การปลีกตัวออกไปปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ เพื่อให้บรรลุถึงความพ้นทุกข์อย่างถาวร ตามอย่างที่พระพุทธองค์ทรงเคยปฏิบัติมาแล้ว รวมทั้งยังจะช่วยสั่งสอนให้ผู้คนมีความสงบสุขอีกด้วย ภิกษุนั้นจะมีหลักปฏิบัติใหญ่ๆที่มองเห็นจากภายนอกอยู่ ๔ ประการ อันได้แก่ ๑. สันโดษในการกินอยู่ คือคำว่าสันโดษหมายถึงความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ซึ่งการสันโดษในการกินอยู่ก็คือพอใจในอาหารเพียงเล็กน้อยที่ขอจากชาวบ้านมาฉัน ซึ่งการฉันนั้นก็เพียงเพื่อให้ร่างกายคงอยู่ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมและช่วยสั่งสอนผู้คนเท่านั้น ไม่ใช่ฉันเพื่อความเอร็ดอร่อยเพลิดเพลิน ซึ่งบางคนก็อาจพูดติเตียนภิกษุว่าการฉันเนื้อสัตว์จะส่งเสริมทำให้สัตว์ถูกฆ่าตายมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ถ้าภิกษุจะฉันอาหารอย่างสันโดษแล้ว คำกล่าวหานี้ก็ไร้น้ำหนักเพราะอาหารที่ขอมาจากชาวบ้านนั้นจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆน้อยๆที่เขาทำกินกันอยู่แล้วตามปกติ และอีกกรณีหนึ่งพระพุทธองค์ยังทรงห้ามภิกษุฉันเนื้อ ๑๐ อย่างคือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อหมี เนื้อเสือดาว เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง รวมทั้งเนื้อที่เขาฆ่าเฉพาะเจาะจงมาถวายภิกษุ หรือเห็นหรือได้ยินเขาฆ่าสัตว์นั้นด้วย ๒. สันโดษในการนุ่งห่ม คือให้นุ่งห่มเพื่อป้องกันความหนาว, ความร้อน, สัตว์เล็กๆ, และเพื่อป้องกันความละอายเท่านั้น ไม่ใช่นุ่งห่มเพื่อความสวยงามโก้เก๋ ๓. สันโดษเรื่องที่อยู่อาศัย คือที่อยู่ก็เพียงให้กันแดด, กันฝน, กันสัตว์, และมีความสงบไม่พลุกพล่าน เหมาะแก่การฝึกสมาธิก็ใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องหรูหราใหญ่โต สวยงาม ๔. ละชั่วทำดีอยู่เสมอ คือต้องปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสอยู่เสมอ รวมทั้งต้องช่วยสังคมด้วยการสั่งสอนผู้คนให้ละชั่วและทำดีอยู่เสมอด้วย ภิกษุที่แม้จะประพฤติดีเช่นนี้พระพุทธองค์ก็ยังทรงสอนให้ไม่เย่อหยิ่ง แต่ให้ภิกษุเจียมตัวอยู่เสมอ โดยทรงสอนให้ภิกษุระลึกอยู่เสมอว่าตนนั้นต้องอาศัยอาหารจากชาวบ้านมาเลี้ยงชีพ ถ้าเขาไม่ให้อาหารก็จะอยู่ไม่ได้ ซึ่งถ้าโลกจะมีภิกษุที่แท้จริงเช่นนี้มากๆ สังคมก็จะสงบสุขและโลกก็จะมีสันติภาพได้
๙. ปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ ก็คือ ศีลสำหรับภิกษุ ซึ่งมีมากมายทั้งอย่างสูงและอย่างกลาง อย่างต่ำ ซึ่งศีลอย่างสูงที่ภิกษุล่วงละเมิดแล้วจะขาดจากความเป็นภิกษุในทางจิตใจทันทีก็ได้แก่ ปาราชิก (ความพ่ายแพ้) ๔ ประการ คือ ๑. เสพเมถุน คือการร่วมเพศกับสตรีหรือแม้ทางรูทวารใดๆของสัตว์หรือบุรุษก็ตาม ๒. ลักขโมย คือการเบียดเบียนเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนให้ได้ค่าเท่ากับ ๑ บาท ๓. ฆ่ามนุษย์ให้ตาย จะด้วยวิธีใดก็ตาม แม้แต่การพูดยุยงให้เขาฆ่าตัวตายด้วย ๔. อวดตนเอง ว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ หรืออวดว่าตนเองมีสมาธิขั้นสูง (ฌาน) โดยแท้จริงแล้วตนเองไม่เป็นหรือไม่มี ส่วนศีลอย่างกลางและอย่างต่ำนั้นมีมากมาย แต่ก็สามารถแก้ไขให้กลับมาบริสุทธิ์ได้ด้วยการถูกกักบริเวณเพื่ออบรมสั่งสอน หรือประจานความผิดของตนเองต่อเพื่อนภิกษุด้วยกันไปตามกรณี ส่วนปาราชิกนี้ไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาบริสุทธิ์ได้ แม้จะลาสิกขาไปแล้วกลับมาบวชใหม่ก็ไม่ถือว่าเป็นภิกษุตามธรรมวินัยได้อีก
๑๐. นิกายในพุทธศาสนา นิกาย หมายถึง หมู่พวกใหญ่ๆ ซึ่งนิกายในพุทธศาสนานี้เกิดมาจากการตีความในคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกัน โดยเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ได้เกิดนิกายต่างๆขึ้นมามากมาย ซึ่งบางนิกายก็แทบจะมองไม่เห็นหลักคำสอนของพุทธเจ้าเลยก็มี ซึ่งในที่สุดนิกายต่างๆเหล่านั้นก็ดับสลายไป เหลือนิกายใหญ่ๆอยู่เพียง ๒ นิกายในปัจจุบัน คือ ๑.หินยาน หรือ เถรวาท ที่ยึดถือพระไตรปิฎกดั่งเดิมเป็นหลัก ปัจจุบันมีผู้นับถือมากทางประเทศศรีลังกา,พม่า, ลาว, และไทย ๒.มหายาน หรือ อาจาริยวาท ที่ดัดแปลงคำสอนใหม่ และเขียนพระไตรปิฎกขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันมีผู้คนนับถือมากทางประเทศจีน, ไต้หวัน, เวียดนาม เป็นต้น หลักการของมหายานนั้นไม่ค่อยเคร่งครัดทั้งในส่วนศีลของภิกษุ และการปฏิบัติของอุบาสก อุบาสิกา เช่น ถ้าใครท่องชื่อพระพุทธเจ้านามว่า อมิตะ ได้มากๆ เมื่อตายไปก็จะบรรลุนิพพานได้ ซึ่งมหายานนี้จะโน้มไปในทางเทวนิยม คือเชื่อเรื่องเทพเจ้ามาก เช่น เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนสวรรค์มากมาย เป็นต้น โดยมหายานนี้ได้ไปเจริญรุ่งเรืองทางประเทศจีน และมีการแตกเป็นนิกายย่อยๆขึ้นมาอีก ซึ่งต่อมาก็ได้มีนิกายเซ็นเกิดขึ้นมาทางประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นการเพ่งพิจารณาปริศนาธรรม (โกอาน) หรือในสิ่งต่างๆ ก็สามารถทำให้บรรลุธรรมหรือเป็นพุทธะในขั้นต้นๆได้ ซึ่งนับเป็นการแตกแยกจากมหายานมาสู่คำสอนที่แท้จริงได้ ในส่วนของเถรวาทนี้จะยึดถือพระไตรปิฎกที่ทำสังคายนาจากประเทศอินเดีย (ที่ปนกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์มาเรียบร้อยแล้ว) เป็นหลักไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งก็นับว่ายังมีส่วนดีอยู่ตรงที่ยังรักษาคำสอนดั้งเดิมเอาไว้ได้ไม่สูญหาย แต่ก็มีมากที่เป็นส่วนเกินมาจากการปะปนจากศาสนาพราหมณ์มาก่อนในอดีต ส่วนเฉพาะในประเทศไทยนี้ยังมีการแบ่งแยกภิกษุ ออกเป็น ๒ นิกายใหญ่ๆอีก อันได้แก่ ๑. มหานิกาย คือภิกษุส่วนมาก ที่ไม่ค่อยเคร่งครัดในวินัยเล็กๆน้อยๆบางข้อ (เช่น รับเงินได้) ๒. ธรรมยุติ คือภิกษุส่วนน้อย ที่เคร่งครัดในวินัยเล็กๆน้อยๆบางข้อ (เช่น ไม่รับเงิน) แม้จะแตกต่างกันบ้างในวินัยเล็กๆน้อยๆ แต่ภิกษุมหานิกายกับธรรมยุติที่แท้จริงก็มีหลักการปฏิบัติที่เหมือนกัน คือรักษาศีล ฝึกสมาธิ และเจริญปัญญา โดยมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือเพื่อความพ้นทุกข์ (นิพพาน) ซึ่งก็มีมากไม่ว่าจะเป็นภิกษุมหานิกายหรือธรรมยุติ ที่ไม่ได้บวชมาเพราะปรารถนาจะพ้นทุกข์ แต่บวชมาเพื่อรักษาพุทธศาสนาเอาไว้เท่านั้นก็มี ซึ่งก็ยังนับว่ามีส่วนดีอยู่มากถ้ามองในแง่มุมนี้
จบบทที่ ๓ |