-๙-

บทธรรมคุณ

ส๎วากฺขาโต  ภควตาธมฺโม,                พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสไว้ดีแล้ว,

สนฺทิฏฺฐิโก,                                 เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ จะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง,

อกาลิโก                                    เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้  ไม่จำกัดกาล,

เอหิปสฺสิโก,                                เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า  ท่านจงมาดูเถิด,

โอปนยิโก,                                 เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว,

ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหิ  ติ.        เป็นสิ่งที่ผู้รู้ ก็รู้ได้เฉพาะตน  ดังนี้.

 

*********************************

 

ส๎วากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม,              พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสไว้ดีแล้ว,

ธมฺมํ  นมสฺสามิ.                            ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม.

 

**********************************

 

บทที่  ๒  พระธรรม

๑.  โอวาทปาฏิโมกข์

โอวาทปาฎิโมกข์ หมายถึง คำสอนที่เป็นประธานของคำสอนทั้งหมด คือคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้านั้นจะสรุปอยู่ที่หลัก  ๓  ประการอันได้แก่

๑. สอนให้ละเว้นความชั่วทั้งปวง

๒. สอนให้ทำความดีให้ถึงพร้อม

๓. สอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ขาวรอบ

คำสอนเรื่องละชั่วและทำดีนั้นเป็นคำสอนระดับพื้นฐาน (ศีลธรรม) ซึ่งเป็นคำสอนง่ายๆสำเร็จรูป แม้ไม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เช่น คำสอนเรื่องการรักษาศีล, การให้ทาน, มีความขยันอดทน, มีความเสียสละ, มีการช่วยเหลือผู้อื่น, มีการให้อภัย เป็นต้น ซึ่งเอาไว้สอนแก่บุคคลทั่วๆไป ที่ยังมีสติปัญญาไม่มากนัก เช่น ชาวบ้าน โดยส่วนตัวก็คือมีผลเป็นความปกติสุขไม่เดือดร้อน และส่วนรวมก็คือทำให้โลกมีสันติภาพ

คำสอนเรื่องการทำจิตให้บริสุทธิ์นี้เป็นคำสอนระดับสูง (ปรมัตถธรรม) ซึ่งเป็นการสอนที่เน้นไปที่เรื่องการดับทุกข์ โดยสรุปอยู่ที่เรื่องอริยสัจ  ๔  ซึ่งจะเอาไว้สอนเฉพาะแก่คนที่ค่อนข้างมีปัญญาบ้างแล้ว โดยมีผลเป็นความพ้นจากทุกข์ทั้งปวงอย่างถาวร (นิพพาน)

 

๒.  ธรรมะกำมือเดียว

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเรานิยมเรียกกันว่า ธรรม หรือ ธรรมะ  ซึ่งก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะคำนี้เป็นคำกลางๆที่ศาสนาไหนเขาก็ใช้คำนี้  ถ้าจะให้รัดกุมควรใช้คำว่า พุทธธรรม ที่หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ทรงเคยตรัสเอาไว้ว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นมีมากมายเหมือนใบไม้ทั้งป่า  แต่ที่ทรงนำมาสอนนั้นมีเพียงเล็กน้อยเหมือนกับใบไม้เพียงกำมือเดียว”   คือสิ่งที่ทรงนำมาสอนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เร่งด่วนที่สุด  อันได้แก่เรื่องการดับทุกข์ ซึ่งมีไม่มากนัก ส่วนเรื่องอื่นๆนั้นแม้จะมีมากมายก็ไม่สำคัญเท่าเรื่องการดับทุกข์ จึงไม่ทรงนำมาสอน

 

๓.  ลักษณะของพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นจะมีลักษณะดังนี้คือ

สันทิฏฐิโก    คือผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งประจักษ์ได้ด้วยตนเอง

อกาลิโก       คือไม่มีเรื่องเวลามาครั่น ถ้าปฏิบัติเมื่อไรก็ได้รับผลเมื่อนั้น

เอหิปัสสิโก   คือกล้าท้าให้ทุกคนมาพิสูจน์อย่างไม่กลัวการพิสูจน์

โอปนยิโก     คือให้น้อมเข้ามาศึกษาและปฏิบัติภายในตัวเอง

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ  คือเป็นสิ่งที่ผู้มีสติปัญญาและมีใจเป็นกลางจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง  ไม่สามารถรู้แจ้งแทนกันได้

 

๔.  หลักตัดสินธรรมวินัย  ๘  ประการ

ในปัจจุบันคำสอนของพระพุทธองค์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนทำให้ผิดจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธองค์  ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงทราบดี ดังนั้นจึงได้ทรงวางหลักในการตัดสินง่ายๆเอาไว้ให้เราได้ใช้ตัดสินว่า ธรรมหรือคำสั่งสอนใดที่เป็นของพระพุทธองค์จริง และคำสั่งสอนใดไม่ใช่ของพระพุทธองค์จริงโดยการนำหลักธรรมนั้นมาพิจารณาว่า

 

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดยินดี, เพื่อความประกอบทุกข์, เพื่อความสะสมกิเลส, เพื่อความอยากเป็นใหญ่, เพื่อความมักมาก, เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ, เพื่อความเกียจคร้าน, เพื่อความเลี้ยงยาก ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า  ไม่ใช่ธรรม  ไม่ใช่วินัย  ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา.

ส่วนธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัดยินดี, เพื่อความปราศจากทุกข์, เพื่อความไม่สะสมกิเลส, เพื่อสิ้นความอยากเป็นใหญ่, เพื่อความมักน้อย, เพื่อความสงัดจากหมู่, เพื่อความปรารภความเพียร, เพื่อความเลี้ยงง่าย ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา.

 

หลักตัดสินธรรมวินัยทั้งหมดนี้นับเป็นวิธีง่ายๆที่จะใช้ควบคู่ไปกับหลักกาลามสูตร ซึ่งถ้าเรามีความจริงใจและยึดถือหลักเหล่านี้มาใช้ตรวจสอบหลักคำสอนหรือหลักการปฏิบัติของใครๆในปัจจุบัน เราก็จะทราบได้ว่าคำสอนใดผิดคำสอนใดถูกแล้วในเบื้องต้น 

 

๕.  สัจจะ  ๒  ประการ

สัจจะ แปลว่า ความจริง  ซึ่งความจริงนี้ก็มีอยู่  ๒  ประเภท อันได้แก่

๑. สมมติสัจจะ    ความจริงตามที่สมมติกันขึ้นมา

๒. ปรมัตถสัจจะ  ความจริงสูงสุดของธรรมชาติ

สมมติสัจจะก็คือความจริงตามที่ชาวโลกเขาสมมติกันขึ้นมา เช่น ชาย, หญิง, สวย, ขี้เหร่ ,รวย, จน,  แมว, หมา, นาย ก, นาย ข  เป็นต้น ซึ่งเป็นการมองอย่างผิวเผินตามที่ตามองเห็น    ส่วนปรมัตถสัจจะนั้นเป็นความจริงแท้ตามธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกสิ่งซึ่งต้องใช้ปัญญามองจึงจะเห็น ซึ่งก็ได้แก่ความจริงอันเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งในเรื่องที่ว่า “ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” (อนัตตา) คือสิ่งที่สมมติกันขึ้นมาทั้งหลายนั้นจริงๆแล้วมันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาจากธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่สมมติกันขึ้นมาทั้งหลายจึงไม่มีอยู่จริง หรือหาตัวจริงๆไม่มี

การมองโลกนั้นถ้าเรามองอย่างผิวเผินหรือหยาบๆ เราก็จะติดอยู่กับสมมติสัจจะ แล้วก็จะเกิดความยินดีบ้างยินร้ายบ้างไปกับโลก แล้วก็ทำให้จิตใจของเราเป็นความทุกข์เพราะความยึดถือด้วยความยินดี-ยินร้าย  แต่ถ้าเรามองโลกอย่างพินิจพิจารณาให้ลึกซึ้ง เราก็จะพบกับปรมัตถสัจจะ คือพบกับความจริงว่าทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงได้  แล้วเราก็จะไม่มีความยึดถือกับสิ่งใดๆในโลกด้วยความยินดีหรือยินร้าย แล้วความทุกข์ของจิตใจเราก็จะไม่มี

 

๖.  พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก หมายถึง  คัมภีร์รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเอาไว้   ซึ่งแบ่งออกได้  ๓ หมู่  อันได้แก่

๑. พระวินัยปิฎก  ซึ่งรวบรวมเรื่องศีลของภิกษุและภิกษุณีทั้งหมดเอาไว้โดยละเอียด

๒. พระสุตตันตปิฎก ซึ่งรวบรวมพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหมดเอาไว้

๓. พระอภิธรรมปิฎก  ซึ่งรวบรวมหลักปรัชญาที่แต่งขึ้นในภายหลังโดยพระสาวกทั้งหมดเอาไว้

ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงยังมีพระชนชีพอยู่นั้นยังไม่มีการบันทึกคำสอนเป็นตัวอักษร จะใช้การท่องจำปากต่อปากที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” โดยใช้ภิกษุจำนวนมากในการท่องจำ ซึ่งคำสอนของพระองค์จะเรียกว่า “พระพุทธพจน์”

เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้วไม่นาน ก็ได้มีการทำ สังคายนา คือ การชำระสะสางคำสอนที่ท่องจำไว้ให้ถูกต้อง  ซึ่งในระยะหลายร้อยปีต่อมาก็ได้มีการทำสังคายนาในประเทศอินเดียอีกหลายครั้ง  ซึ่งในครั้งหลังๆนี้คำสอนของศาสนาพราหมณ์ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ด้วยโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งยังมีการแต่งหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นมา โดยพระภิกษุที่เชี่ยวชาญด้านปรัชญาอีกทีหนึ่ง ที่เรียกว่าอภิธรรม  และได้มีการบันทึกเป็นตัวอักษรไว้ในใบลานซึ่งรวบรวมได้  ๓  ตะกร้า (ไตรปิฎก แปลว่า ตะกร้า ๓ ใบ)

พระพุทธพจน์ที่บันทึกไว้นั้นจะเป็นภาษามคธ (ภาษาพื้นเมืองของอินเดียภาษาหนึ่ง) แต่ได้ถูกเรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยที่เรียกว่า ปาลิ หรือบาลี จึงมักเรียกว่า ภาษาบาลี  ซึ่งต่อมาก็ได้มีการบรรยายพระพุทธพจน์โดยภิกษุที่เชี่ยวชาญภาษาบาลีเข้าไปอีก จึงทำให้พระไตรปิฎกมีเนื้อหาเพิ่มขึ้นมากมาย และเมื่อมีการเผยแพร่พุทธศาสนาออกไปยังต่างประเทศ ก็ได้มีการนำพระไตรปิฎกที่มีการปลอมปนกับศาสนาพราหมณ์แล้วนี้ออกไปเผยแพร่ด้วย และประเทศต่างๆก็รับเอาพุทธศาสนาแบบพราหมณ์นี้เอาไว้ทั่วโลกโดยไม่รู้ความจริง (นิกายเถรวาทจะยึดถือพระไตรปิฎกนี้มากไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่นิกายมหายานจะเขียนพระไตรปิฎกขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ตรงกับของดั้งเดิมอย่างของเถรวาท)

 

 

๗.  ภาษาคน-ภาษาธรรม

การที่เราจะอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้องนั้น เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องภาษาคน-ภาษาธรรมนี้ให้เข้าใจเสียก่อน ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องภาษาคน-ภาษาธรรมนี้อย่างถูกต้อง ถึงเราจะอ่านพระไตรปิฎกมาอย่างมากมายสักเท่าใดก็ตาม เราก็จะไม่เกิดความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ที่อยู่ในพระไตรปิฎกได้ ซ้ำจะยิ่งทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นได้ เพราะยิ่งอ่านก็จะยิ่งพบความขัดแย้งของคำสอนที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องภาษาคน-ภาษาธรรมนี้อย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะอ่านพระไตรปิฎกได้อย่างเข้าใจ

โดยพระพุทธเจ้านั้นจะมีวิธีการตรัสสอนผู้คนอยู่  ๒ ลักษณะ  คือ

                    ๑. ธัมมาธิษฐาน      คือสอนโดยแสดงตัวธรรมะล้วนๆ

                    ๒. ปุคคลาธิษฐาน    คือสอนโดยยกตัวตนบุคคลมาเป็นธรรมะ

ธัมมาธิษฐานนั้นเป็นการสอนปรมัตถธรรมแก่ บุคคลที่พอจะเข้าใจธรรมะแล้ว ให้เข้าใจธรรมะยิ่งขึ้น เช่น สอนเรื่องธาตุ  ขันธ์  อายตนะ  และอริยสัจ  ๔  เป็นต้น  ซึ่งเราจะเรียกว่า ภาษาธรรม เพราะเป็นการแสดงแต่เนื้อหาธรรมะที่ลึกซึ้งล้วนๆ

ส่วนการสอนศีลธรรมแก่บุคคลที่ยังไม่รู้ธรรมะนั้น พระพุทธองค์จะสอนอย่างปุคคลาธิษฐาน   คือเอาตัวธรรมะมาสมมติว่าเป็นบุคคลหรือสถานที่ต่างๆ แล้วแต่งให้เป็นเรื่องราวโดยให้มีหลักธรรมะอยู่ด้วย ซึ่งเราจะเรียกว่า ภาษาคน เพราะสอนเหมือนศาสนาพราหมณ์ที่สอนว่ามีตัวตนบุคคลเหล่านั้นอยู่จริง  ซึ่งภาษาคนที่ทรงใช้บ่อยๆก็ได้แก่คำตัวอย่างต่อไปนี้

โลก            หมายถึง         ความทุกข์ หรือสิ่งที่เรายึดถือกันอยู่

ชาติ            หมายถึง         การเกิดทางจิตใจ

ตาย-เกิด       หมายถึง         การที่จิตเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งไปเป็นอีกสภาวะหนึ่ง

สวรรค์          หมายถึง         สภาวะจิตที่มีแต่ความสุขใจอิ่มใจ

นรก             หมายถึง         ความเดือดเนื้อร้อนใจเหมือนไฟเผา

เทวดา          หมายถึง         การที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย และได้กามคุณที่ต้องการ

นางฟ้า         หมายถึง         ความสุขจากกามคุณชนิดต่างๆ

พรหม          หมายถึง          จิตที่เบื่อกามคุณ อยู่อย่างสงบ

อรูปพรหม      หมายถึง         จิตที่เห็นแล้วว่ารูปและวัตถุนี้ไม่แน่นอน ไม่ยึดติด มีความว่าง

คน             หมายถึง          การที่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำงานแลกอาหาร, กามคุณ ทำสิ่งที่สุจริต

มนุษย์          หมายถึง         ผู้มีใจสูง ผู้มีคุณธรรม (คนยังไม่ใช่มนุษย์)

อบายภูมิ       หมายถึง         ระดับจิตที่ไม่มีความเจริญ

เดรัจฉาน       หมายถึง         ความโง่อย่างไม่น่าโง่ เกิดโมหะ ความหลงผิด

อสุรกาย (ผี)  หมายถึง         ความกลัว ความโกรธ

เปรต            หมายถึง         ความโลภ ความอยากได้อยากมี อยากเป็น

สัตว์            หมายถึง         จิตที่ยังติดใจอยู่ในโลก (ในกามคุณ ๕)

สัตว์นรก        หมายถึง         จิตที่กำลังเร่าร้อนทรมาน (ร้อนใจ ทุกข์ใจมาก)

ยมบาล         หมายถึง         กฎอันเฉียบขาดของธรรมชาติ

มาร             หมายถึง         สิ่งที่มาทำลายล้างความดีความถูกต้องให้หายไป

วัฏฏะสงสาร   หมายถึง         จิตที่วนเวียนอยู่ในกิเลส-กรรม-วิบาก

นิพพาน        หมายถึง         จิตที่สงบเย็น      เป็นต้น

เมื่อเราพบกับคำสอนในระดับศีลธรรมบางเรื่องที่มีอยู่มากมายในพระไตรปิฎก  ที่ดูแล้วเหมือนกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์ เราก็ควรจะแยกความหมายเหล่านั้นให้เป็นของพุทธเสียก่อน มิฉะนั้นเราอาจจะเข้าใจผิด คือคิดว่าพุทธก็สอนเหมือนกับพราหมณ์ (แต่บางเรื่องก็เป็นของพราหมณ์แท้ๆที่เราควรแยกออกไปเสียเพราะแปลความหมายเป็นพุทธไม่ได้)  เช่น ถ้าพบการสอนว่า คนที่สร้างความดีตายแล้วจะไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์  ก็หมายถึง เมื่อเราทำความดีเสร็จ เราก็จะเกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมาทันที  หรือคนที่ทำชั่วมากๆตายไปจะตกนรก  ก็หมายถึงเมื่อเราทำความชั่วมากๆ เมื่อทำเสร็จเราก็จะเกิดความร้อนใจอย่างยิ่งขึ้นมาทันที  เป็นต้น คือสรุปง่ายๆว่า คำสอนของพุทธนั้นจะอยู่ในจิตของตัวเราเองทั้งสิ้น คือเป็นสิ่งที่เราจะสามารถรู้สึกได้จริงในปัจจุบัน โดยไม่ต้องใช้การจินตนาการหรือคิดเพ้อฝันอย่างของพราหมณ์

 

๘.  ความอุ่นใจ  ๔  ประการ

ปัญหาที่ว่าตายแล้วไปไหน? โลกหน้ามีจริงหรือไม่? นั้น จัดเป็นเรื่องอจินไตย (ไม่ควรนำมาคิด) แต่สำหรับผู้ที่ยังกังวลใจในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ถ้าเรามีเมตตา ไม่เป็นศัตรูกับใครๆในโลก และละเว้นการทำชั่ว ประกอบแต่ความดี  ย่อมจะมีแต่ความอุ่นใจทั้งสิ้น  เพราะว่า...

๑.ถ้าโลกหน้ามี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี เราย่อมที่จะได้รับแต่ผลดีในโลกหน้า ไม่ต้องรับผลชั่ว เพราะเราทำแต่ความดี ไม่ได้ทำชั่วไว้ในโลกนี้

๒.ถ้าโลกหน้าไม่มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วก็ไม่มี เราก็ไม่ขาดทุนเพราะเราก็บริหารตัวของเราให้เป็นสุขได้ในปัจจุบันนี้ จากการทำความดี ไม่ทำความชั่ว

๓.ถ้าบาปและผลของบาปมี เราเป็นผู้ไม่คิดทำบาป ความทุกข์อันเกิดจากผลบาปนั้นย่อมไม่มีแก่เรา ไม่ว่าโลกหน้าจะมีหรือไม่ก็ตาม

๔.            ถ้าบาปและผลของบาปไม่มี เมื่อเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนในปัจจุบัน ก็จะไม่มีใครมาทำให้เราเดือดร้อน และเราก็จะมองเห็นแต่ความบริสุทธิ์ในทุกคนโดยเสมอกัน ไม่ว่าโลกหน้าจะมีหรือไม่ก็ตาม

สรุปได้ว่า การทำแต่ความดี ไม่ทำชั่วนั้น จะเป็นมาตรฐานสากลที่สุด คือไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม เราย่อมที่จะมีแต่ความอุ่นใจเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าโลกหน้าจะมีหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่ากรรมดี-กรรมชั่ว หรือบุญ-บาปจะมีหรือไม่ก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้าม การทำความชั่วนั้นจะมีแต่ผลเสียหรือเลวร้ายเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าโลกหน้าจะมีหรือไม่ก็ตาม หรือไม่ว่ากรรมดี-กรรมชั่ว หรือบุญ-บาปจะมีหรือไม่ก็ตาม

 

๙.  ธรรม  ๔  ความหมาย

คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ นี้เป็นภาษาบาลีที่แปลว่า สิ่ง  คือไม่ว่าอะไรก็เรียกว่าเป็นธรรมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าจะแยกธรรมหรือสิ่งทุกสิ่งแล้วก็จะแยกได้ ๔ ความหมาย อันได้แก่

๑. ตัวธรรมชาติ (สภาวธรรม)

๒. กฎธรรมชาติ (สัจธรรม)

๓. หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ (ปฏิบัติธรรม)

๔. ผลอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (ปฏิเวธธรรม)

ความหมายที่ ๑  เป็นความหมายที่กว้างที่สุด  คือหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นสิ่งใดเลย

ความหมายที่ ๒ นี้ก็คือกฎธรรมชาติที่อยู่ในธรรมชาตินั่นเอง  ซึ่งสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาตินี้ก็สรุปได้  ๒  อย่างคือ      สิ่งที่มีชีวิตกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ซึ่งสิ่งที่ไม่มีชีวิตและรวมทั้งร่างกายของสิ่งที่มีชีวิตนั้นจะตกอยู่ภายใต้กฎที่ว่า เกิดขึ้นมาจากเหตุ แล้วก็เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ และแตกสลายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ส่วนสิ่งที่มีชีวิตก็อยู่ในความหมายที่ ๓

ความหมายที่  ๓ นี้จะเน้นมาที่สิ่งที่มีชีวิตที่จะต้องตกอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่ธรรมชาติกำหนดมา  คือถ้าปฏิบัติถูกต้องก็จะได้รับผลดี คือเป็นความสุข หรือความไม่มีทุกข์ และยังสามารถดำรงอยู่ต่อไป  แต่ถ้าปฏิบัติผิดก็จะได้รับผลที่ไม่ดี คือเป็นความทุกข์ และจะดำรงอยู่ไม่ได้ ต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด ซึ่งผลทั้งสองนี้ก็คือธรรมในความหมายที่ ๔ นั่นเอง

 

๑๐.  ธรรมะคือหน้าที่ 

ความหมายของ “ธรรม” ที่หมายถึง “หน้าที่” นั้นเป็นความหมายที่ดี  ดังนั้นเราจึงนิยมใช้ความหมายนี้กับคำว่า ธรรม คือหมายถึง หน้าที่ หรือ การปฏิบัติที่ดี  ซึ่งพระพุทธองค์ก็ยอมรับและใช้ความหมายนี้กับคำสอนของพระองค์

คำว่า “หน้าที่” นี้หมายถึง สิ่งที่ต้องปฏิบัติ ถ้ำไม่ปฏิบัติก็จะเป็นทุกข์และไม่รอด  คือร่างกายรอดก็หมายถึงร่างกายสุขสบายและไม่ตายก่อนเวลาอันควร  ส่วนจิตรอดก็หมายถึงจิตรอดพ้นจากความทุกข์     

จุดที่ควรรู้อีกอย่างก็คือ เมื่อคำว่าธรรมนี้จะหมายถึงหน้าที่  ดังนั้นสิ่งที่ตรงข้ามกับหน้าที่จึงนิยมเรียกกันว่า อธรรม  ที่หมายถึง ไม่ใช่หน้าที่ หรือ หมายถึงการกระทำที่ชั่ว  ซึ่งที่จริงทั้งธรรมและอธรรมก็ล้วนเป็นธรรมในความหมายที่ ๑ ทั้งสิ้น แต่เมื่อเราให้ความหมายของคำว่า ธรรม ว่าหมายถึง หน้าที่ ดังนั้น คำว่า อธรรม จึงหมายถึง ไม่ใช่หน้าที่ หรือการทำสิ่งที่ชั่ว ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย

 

๑๑.  สัญชาติญาณของชีวิต

สัญชาติญาณ หมายถึง  ความรู้ที่เกิดมาพร้อมกับชีวิตโดยไม่มีใครสอน   ซึ่งพืชก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตอย่างหนึ่งของโลก และมันก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ของมันได้อย่างถูกต้องโดยอาศัยสัญาชาติญาณของมันเอง  เช่น การหาอาหาร, การสืบพันธุ์, และการปรับตัวเองเพื่อให้อยู่รอด เป็นต้น

ส่วนสัตว์เดรัจฉานก็อาศัยสัญชาติญาณมาปฏิบัติหน้าที่ของมันเหมือนกัน  เช่น การหาอาหาร, การสืบพันธุ์, การหนีภัย, การเอาตัวรอด เป็นต้น 

การที่ทั้งพืชและสัตว์ยังดำรงอยู่ได้ในโลก ก็แสดงว่ามันยังปฏิบัติหน้าที่ของมันได้ถูกต้องเพียงพอ  แต่ถ้าพืชและสัตว์ชนิดใดปฏิบัติหน้าที่ผิด (ไม่ถูกต้อง) หรือถูกต้องแต่ไม่เพียงพอ มันก็จะสูญพันธ์ไปจากโลก

สิ่งที่มีชีวิตนั้น จะมีสัญชาติญาณใหญ่ที่เป็นสัญชาติญาณแม่ ที่ทำให้เกิดสัญชาติญาณอื่นๆตามมาอีกมากมาย ซึ่งก็คือ “สัญชาติญาณว่ามีตัวเอง” (ความรู้ว่ามีตัวเอง) ซึ่งสัญชาติญาณว่ามีตัวเองนี้เอง ที่ทำให้เกิดสัญชาติญาณอื่นๆตามมาอีกมากมาย เช่น สัญชาตญาณในการหาอาหาร, กินอาหาร, เอาตัวรอด, สืบพันธ์ เลี้ยงลูก, เป็นต้น ซึ่งสัญชาติญาณว่ามีตัวเองนี้เอง ที่เป็นต้นเหตุให้คนเกิดความยึดถือว่าตัวเองขึ้นมา จนทำให้เกิดความทุกข์แก่จิตที่ยึดถือนั้นขึ้นมา

 

๑๒.  มนุษย์คือผู้มีใจสูง

คำว่า คน หมายถึง สัตว์ชนิดหนึ่งของโลก      คำว่า มนุษย์ หมายถึง          ผู้มีใจสูง  คือถ้ามีใจต่ำ (ชั่ว) ก็เป็นเพียงคน แต่ถ้ามีคุณธรรมจึงจะมีใจสูงและเป็นมนุษย์ได้   ซึ่งพื้นฐานนั้นคนก็อาศัยสัญชาติญาณเหมือนสัตว์จึงยังดำรงอยู่ได้ ดังนั้นคนก็ยังมีสัญชาติญาณของความเป็นสัตว์อยู่มาก เช่น การแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลัง, ไม่รู้จักใช้เหตุผล, ไม่รู้จักควบคุมจิตใจตัวเอง, ไม่รู้จักอาย, ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ เป็นต้น

คนมักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าตัวเองคือมนุษย์  แต่แท้จริงแล้วถ้าเรามีใจต่ำคือชอบทำความชั่ว เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น หรือเห็นแก่ตัวแล้ว เราก็มีค่าเท่ากับสัตว์เดรัจฉานเท่านั้นหาได้เป็นมนุษย์ไม่  ซึ่งการที่โลกของเราวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมีแต่คน ส่วนมนุษย์นั้นหายาก คือ ผู้ที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ชอบช่วยผู้อื่น ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น นั้น หายากเต็มที

 

๑๓.  การปฏิบัติหน้าที่ของร่างกาย

หน้าที่ของร่างกายเรานั้นก็มีอยู่  ๒  อย่าง อันได้แก่

๑. หน้าที่โดยตรง คือการบริหารร่างกายให้สุขสบายไม่เป็นทุกข์ 

๒. หน้าที่โดยอ้อม คือการบริหารสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมที่จะดำรงอยู่

หน้าที่โดยตรงของร่างกายนั้นก็ได้แก่ การดูแลรักษาร่างกายให้เป็นสุข เช่น การกินอาหาร, การออกกำลังกาย, การพักผ่อน, การดูแลรักษาร่างกาย, และรวมทั้งการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต เป็นต้น  ซึ่งหน้าที่โดยตรงนั้นใครๆก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ก็มักจะปฏิบัติกันได้ไม่ถูกต้องนัก เช่น กินอาหารมากเกิน, กินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่ค่อยออกำลังกาย, นำสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น จึงทำให้ร่างกายเป็นทุกข์คืออ่อนแอ เกิดโรคและอายุสั้นกว่าปกติ

หน้าที่โดยอ้อมของร่างกายนั้นก็ได้แก่ การปฏิบัติต่อบุคคลและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมที่ร่างกายของเราจะดำรงอยู่ได้อย่างสุขสบาย  ซึ่งก็ได้แก่การเป็นคนดีของสังคม ของครอบครัวของประเทศชาติและของโลก ซึ่งรวมทั้งการดูแลรักษาภาพแวดล้อมให้ดีให้คงอยู่ไม่เสียหายด้วย  แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติหน้าที่นี้ให้ถูกต้อง เช่น ทำสังคมให้เดือดร้อน ทำลายประเทศชาติ หรือทำลายสภาพแวดล้อม เป็นต้น ผลที่ตามมาก็คือจะเกิดความเดือดร้อนย้อนกลับมาสู่ร่างกายเราได้ในที่สุด

 

๑๔.  การปฏิบัติหน้าที่ทางจิต

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ทางจิตใจนี้ก็มีอยู่  ๒  อย่างอันได้แก่

๑.หน้าที่โดยตรง  คือ การระวังจิตไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา

๒.หน้าที่โดยอ้อม คือ การแสวงหาความรู้ในเรื่องการดับทุกข์

หน้าที่โดยตรงของจิตก็คือ การระวังจิตไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ซึ่งโดยสรุปก็ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักของอริยสัจ  ๔ นั่นเอง   ถ้าเราไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรงนี้หรือปฏิบัติผิด ผลก็คือจิตของเราก็จะเป็นทุกข์

หน้าที่โดยอ้อมของจิตก็คือ การแสวงหาความรู้ในเรื่องอริยสัจ  ๔  เพื่อให้จิตรู้และปฏิบัติอริยสัจ ๔ ได้ถูกต้อง  ถ้าเราไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยอ้อมนี้ก็จะทำให้เราเป็นคนโง่ คือไม่มีความรู้ในเรื่องการดับทุกข์ แล้วชีวิตก็จะจมอยู่แต่ในความทุกข์ไม่สามารถพ้นจากความทุกข์ไปได้

 

๑๕.  ชีวิตเกิดมาเพื่อทำหน้าที่

สรุปได้ว่า ชีวิตเกิดมาแล้วก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ถ้าชีวิตไม่ทำหน้าที่ ชีวิตก็จะเป็นทุกข์  ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่า หน้าที่นี้คือสิ่งสูงสุดของชีวิต ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ทางกายก็ได้แก่ การดูแลรักษาร่างกายให้ถูกต้อง และปฏิบัติหน้าที่การงานของตนเองให้ถูกต้องโดยมีศีลธรรมเป็นพื้นฐาน ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ทางจิตก็คือ การมีสติรักษาจิตไม่ให้เป็นทุกข์ตามหลักอริยสัจ  ๔  อันเป็นส่วนของปรมัตถธรรมนั่นเอง

ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่เกลียดกลัวธรรมะ เพราะเห็นว่าจืดชืดไม่สนุก แต่หารู้ไม่ว่าเขากำลังละเลยหรือหนีหน้าที่ของตนเอง อย่างเช่น การเอาแต่แสวงหาความสุข ไม่ยอมออกกำลังกาย นำสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ไม่แสวงหาความรู้ในเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจ ไม่ฝึกฝนสมาธิ เป็นต้น ดังนั้นความทุกข์ความเดือดร้อนมากมายจึงเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเขา  ถ้าเราต้องการจะมีความปกติสุขและไม่มีทุกข์ เราก็จะต้องหันมาปฏิบัติหน้าที่ทั้งหลายของเราให้ถูกต้องสมบูรณ์

 

๑๖.  พุทธศาสนาเป็นธรรมนิยม

ความนิยมของผู้คนในโลกนี้ก็พอสรุปได้  ๓  ประเภทคือ

๑. วัตถุนิยม   นิยมวัตถุ  คือเห็นว่าถ้ามีวัตถุพร้อมเสียอย่างเดียวก็จะแก้ปัญหาต่างๆได้

๒. จิตนิยม  นิยมจิต  คือเห็นว่าถ้าจิตดีเสียอย่างเดียวปัญหาต่างๆก็จะหมดไปเอง

๓. ธรรมนิยม  นิยมความถูกต้อง  คือเห็นว่าต้องเดินสายกลาง

พวกวัตถุนิยมนี้จะไม่สนใจจิตว่าจะเป็นอย่างไร เขาจะแสวงหาแต่วัตถุและเสพความสุขจากวัตถุอย่างลุ่มหลงโดยไม่สนใจเรื่องศีลธรรม แล้วสร้างปัญหาต่างๆก็เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย อย่างเช่นในปัจจุบันที่มีทั้งโรคระบาดทางเพศที่ร้ายแรง และมลพิษเต็มโลกรวมทั้งสมครามทุกรูปแบบ จนทำให้โลกมีวิกฤติการณ์อยู่ทุกวันนี้

พวกจิตนิยมนี้จะไม่สนใจวัตถุ จะเอาแต่ฝึกฝนจิต จึงขาดแคลนวัตถุและไม่มีความเจริญทางวัตถุ แล้วก็ถูกพวกวัตถุนิยมเบียดเบียนและถูกมองว่าโง่เขลา ซึ่งพวกจิตนิยมนี้มีน้อยในปัจจุบัน

พุทธศาสนาไม่ใช่ทั้งวัตถุนิยมและจิตนิยม แต่เป็นธรรมนิยม คือเห็นว่าต้องเดินสายกลาง โดยการมีวัตถุเท่าที่จำเป็นและก็ต้องฝึกฝนจิตให้อยู่เหนืออำนาจของวัตถุด้วย  ดังนั้นชาวพุทธที่แท้จริงจะเป็นคนที่ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย (แม้จะร่ำรวยก็ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้ ) แต่ก็ทันสมัย สามารถปรับตัวเข้าได้กับทุกสภาวะ โดยเป็นคนดีมีศีลธรรม เฉลียวฉลาด ไม่โง่เขลา และมีความทุกข์น้อยกว่าคนทั่วๆไป

 

๑๗.  ธรรมาธิปไตย

อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ คือผู้คนในโลกนี้จะมีความเห็นหรือความเชื่อ และกระทำอะไรๆไปตามอธิปไตยที่ครอบงำความคิดอยู่ ซึ่งอธิปไตยนี้ก็มีอยู่  ๓  ประการ อันได้แก่

๑. อัตตาธิปไตย  คือเอาความเห็นของตนเองเป็นใหญ่

๒. โลกาธิปไตย  คือเอาคนอื่นหรือเอาตามกระแสโลกเป็นใหญ่

๓. ธรรมาธิปไตย  คือเอาธรรมะหรือความถูกต้องเป็นใหญ่

คนที่หัวแข็ง ดื้อรั้นไม่ยอมฟังเหตุผลของคนอื่นก็จะเป็นพวกอัตตาธิปไตย  ส่วนคนหัวอ่อนที่สังคมจะเชื่ออย่างไรก็เชื่อตาม สังคมจะเดินไปทางใดก็เดินตามโดยไม่เป็นตัวของตนเอง ก็จัดเป็นพวกโลกาธิปไตย  ซึ่งสองพวกนี้มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตที่ผิดพลาดได้โดยง่าย เพราะทั้งความเห็นของตัวเองและความเห็นของชาวโลกนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องเสมอไป เพราะคนธรรมดาก็ย่อมที่จะถูกอวิชชาและกิเลสครอบงำอยู่ ดังนั้นการดำเนินชีวิตของชาวโลก จึงดำเนินไปตามอำนาจของอวิชชาและกิเลส ซึ่งแน่นอนว่าอวิชชาและกิเลสย่อมนำพาชีวิตไปสู่การกระทำที่ผิดอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ส่งผลให้ชีวิตต้องประสบกับปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ร่ำไป รวมทั้งสังคมก็มีแต่วิกฤตการณ์จนหาสันติภาพไม่ได้อย่างเช่นในปัจจุบัน ส่วนคนที่มีปัญญา มีเหตุผล เห็นแจ้งธรรมะ หรือมีดวงตาเห็นธรรม  จัดว่าเป็นพวกธรรมาธิปไตย ซึ่งพวกธรรมาธิปไตยนี้จะไม่มีทางใช้ชีวิตที่ผิดพลาดได้ เพราะเปรียบเหมือนคนที่มีดวงตาที่มองเห็นแจ่มชัด สามารถมองเห็นทางเดินในชีวิตได้อย่างถูกต้อง จึงสามารถเดินทางไปสู่จุดหมายที่มีแต่ความสุขสงบและไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนได้

 

๑๘.  ปาฏิหาริย์  ๓

ปาฏิหาริย์  แปลว่า  การนำบุคคลไปได้ตามความประสงค์อย่างมหัศจรรย์  ซึ่งมีอยู่  ๓  วิธี  อันได้แก่

๑. อิทธิปาฏิหาริย์  การนำไปด้วยฤทธิ์

๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์  การนำไปด้วยการทายดักใจ

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย  การนำไปด้วยการสอน

การทำให้คนที่หัวแข็งไม่เชื่อใครง่ายๆมาเชื่อถือเราได้อย่างง่ายดายนั้นจัดว่าเป็นเรื่องปาฏิหาริย   โดยอิทธิปาฏิหาริยนั้นก็คือการใช้อำนาจสมาธิสูงๆกระทำขึ้น เช่น เนรมิตสิ่งของ, เหาะ, หายตัว เป็นต้น  ส่วนอาเทศนาปาฏิหาริย์  นั้นเป็นการใช้ความรู้และไหวพริบในการทายดักใจคนอื่นว่าเขากำลังคิดเช่นไรอยู่   ส่วนอนุสาสนีปาฏิหาริย  นั้นเป็นการสอนให้คนอื่นเข้าใจธรรมะ หรือเกิดดวงตาเห็นธรรม

อิทธิปาฏิหาริย์  กับอนุสาสนีปาฏิหาริย  นั้นพระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกแสดง เพราะไม่เกิดประโยชน์ ซ้ำยังมีโทษ คือคนที่เชื่อก็จะสนใจแต่ปาฏิหาริยไม่สนใจฟังธรรมะ ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็จะกล่าวหาว่าสาวกของพระพุทธเจ้าเล่นกลหลอกคนอื่น เพราะสมัยนั้นเขาก็มีวิชาเล่นกลอย่างนี้กันอยู่แล้ว ซึ่งปาฏิหาริย์ทั้งสองนี้จัดเป็นปาฏิหาริย์ของคนโง่  ส่วนอนุสาสนีปาฏิหาริย  นั้นพระพุทธองค์ทรงสนับสนุนให้สาวกแสดง เพราะจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังอย่างแท้จริง และจัดเป็นปาฏิหาริย์ของคนที่มีปัญญา (เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์กับอนุสาสนีปาฏิหาริย์นั้นจัดเป็นเรื่องอจินไตย คือในขั้นต้นนี้ไม่ควรสนใจ ไม่ว่าจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม) 

 

จบบทที่  ๒

|หน้าต่อไป|