ภาคผนวก บทพุทธคุณ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺ ธสฺส. ขอนอบน้อมแด่พระผู้พระภาคเจ้า พระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
**************************
อิติปิโส ภควา, เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น, อรหํ, เป็นผู้ไกลจากกิเลส, สมฺมา สมฺพุทฺโธ, เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง, วิชฺชา จรณ สมฺปนฺโน, เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ, สุคโต, เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี, โลกวิทู, เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง, อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ, เป็นผู้ที่สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า, สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, พุทฺโธ, เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยธรรม, ภควา ติ. เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้.
*******************************
อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ ภควา, พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์, ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง, พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ. ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน.
******************************* บทที่ ๑ พระพุทธ ๑. ต้นกำเนิดศาสนา เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ กว่าปีมาแล้ว ณ ประเทศอินเดีย ยุคนั้นเป็นยุคที่กำลังมีการค้นคว้าหาวิธีการดับทุกข์กันอยู่อย่างแพร่หลาย ลัทธิและศาสนามากมายได้กำเนิดขึ้นในยุคนี้ การค้นคว้าหาวิธีการดับทุกข์นี้ได้มีกันมาช้านานแล้ว ไม่รู้ว่ามีต้นตอมาจากใคร สันนิษฐานได้ว่าเกิดมาจากผู้ที่เกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือนที่มีแต่ความวุ่นวายไม่สงบ จึงได้หลีกหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้คน ซึ่งเมื่อพบกับความสงบสุขจึงเกิดความพอใจ แต่ต่อมาก็ยังพบว่าจิตใจของตนเองยังดิ้นรนอยู่เสมอไม่สงบสุขอย่างถาวร จึงได้พยายามค้นหาวิธีทำให้จิตสงบอย่างถาวร โดยการปฏิบัติวิธีการต่างๆ เช่นบางคนก็ทรมานร่างกาย, บางคนก็ท่องบ่นสวดคาถาต่างๆ, บางคนก็บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ, หรือบางคนก็ฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อมีการปฏิบัติเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจด้วยวิธีต่างๆขึ้นมา ก็ทำให้จิตสงบสุขขึ้นมามากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ฝึกจิตให้มีสมาธิได้ ก็ทำให้จิตมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้นและนานยิ่งขึ้น เมื่อมีผู้สนใจไปทดลองปฏิบัติตามมากขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นลัทธิ (เดียรถีย์) ต่างๆขึ้นมา ซึ่งผู้ที่สอนวิธีการปฏิบัติก็เรียกกันว่า ศาสดา หรือเจ้าลัทธิ ส่วนผู้ที่ไปศึกษาก็เรียกว่า สาวก หรือ สานุศิษย์ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติเพื่อกำจัดความทุกข์ของจิตใจ และเกิดเป็นความเชื่อถือกันมากขึ้นจนกลายเป็นลัทธิต่างๆขึ้นมา และต่อมาในระยะหลังๆเรามาเรียกกันว่าเป็นศาสนา ผู้ที่เข้าไปอยู่ป่าทั้งหลายนี้ จะดำเนินชีวิตที่คล้ายๆกัน คือไม่ฆ่าไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิต ไม่สะสมทรัพย์ ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องทางเพศ กินอยู่ง่ายๆ เช่น กินผลไม้ในป่า หรือขออาหารจากชาวบ้าน และใช้เครื่องนุ่งห่มเท่าที่จะหาได้ ส่วนที่อยู่ก็ทำง่ายๆหรืออาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ๆ เมื่อเจ็บป่วยก็อาศัยสมุนไพรในป่ามารักษา เป็นต้น จึงทำให้เกิดคำต่างๆขึ้นมา เช่น นักบวช (ผู้ละเว้นการทำชั่ว), สมณะ (ผู้สงบจากอกุศลธรรม), พราหมณ์ (ผู้หมดบาป), โยคะ (หลักปฏิบัติเพื่อดับทุกข์), โยคี (ผู้ปฏิบัติโยคะ), พรต (หลักที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ), ฤๅษี (ผู้แสวงหา), มุนี (ผู้รู้แจ้ง), อนาคาริก (ผู้ไม่ได้อยู่เรือน), ปริพาชก (ผู้อยู่ไม่เป็นที่), บรรพชิต (ผู้มีการบวช) เป็นต้น ส่วนคำสอนของแต่ละลัทธิก็จะเรียกเหมือนๆกันว่า ธรรม (หรือธรรมะ) ส่วนสภาวะที่ทุกข์ระงับลงได้แล้วก็เรียกคล้ายๆกัน เช่น นิพพาน ไกวัลย์ เป็นต้น ส่วนผู้ที่เชื่อว่าหมดกิเลสหรือดับทุกข์ได้ถาวรก็มักเรียกคล้ายๆกัน เช่น อรหันต์ ตถาคต เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีการค้นคว้ากันมานมนานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถค้นพบวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์อย่างถาวรได้อย่างแท้จริง ในยุคนั้นศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเก่าแก่ที่เกิดมาช้านานแล้ว โดยนักบวชของฮินดูที่อยู่ในป่าจะเรียกว่า ฤๅษี แต่ถ้าอยู่ในบ้านและทำหน้าที่สั่งสอนหรือทำพิธีต่างๆก็เรียกว่าพราหมณ์ ต่อมาจึงเรียกกันว่าเป็นศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีผู้คนนับถือกันอย่างแพร่หลายมากมายในอินเดียยุคนั้น ศาสนาพราหมณ์นี้จะสอนเรื่องอัตตา (หรืออาตมัน) คือสอนว่าจิตหรือวิญญาณของสิ่งมีชีวิตเช่น คนและสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีวันดับสลาย และสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วได้ และไปเกิดใหม่ยังร่างกายใหม่ๆได้อีก ซึ่งนี่เองที่เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน, สวรรค์บนฟ้า, เทวดา, นางฟ้า, พระอิศวร, พระพรหม, พระอินทร์, ยักษ์, มาร, สัตว์นรก, เปรต, อสุรกาย (ผี), รวมทั้งเรื่องชาติก่อน, ชาติหน้า, บาป, บุญ, เวร, กรรม เป็นต้นขึ้นมา ซึ่งในยุคนี้เรียกว่าเป็น ยุคอุปนิสัตว์ คือเป็นยุคที่มีความเชื่อเรื่องจิตหรือวิญญาณว่าเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร (อัตตา) ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (รวมทั้งยังปลอมปนเข้ามาอยู่ในพุทธศาสนาอีกด้วย)
๒. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ในยุคนี้เองได้มีเจ้าชายองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ของศากยวงศ์ แห่งนครกบิลพัสดุ อันเป็นเมืองเล็กๆที่อยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นโกศลในยุคนั้น เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระองค์ได้ทรงเกิดความเบื่อหน่ายในความสุขที่เพียบพร้อมเท่าที่จะหาได้ในยุคนั้น เพราะทรงพิจารณาเห็นว่า ความสุขทั้งหลายนี้ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่ช้าความแก่และความตายก็จะมาถึง แล้วความทุกข์อันใหญ่หลวงก็จะมาถึงแก่ทุกชีวิตอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง จึงทำให้พระองค์ทรงเสด็จออกผนวชและอธิฐานบวชด้วยพระองค์เอง เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์อย่างที่นักบวชในยุคนั้นนิยมทำกันอยู่ หลังจากออกผนวชแล้ว ได้ทรงเข้าไปศึกษาวิธีปฏิบัติวิธีดับทุกข์ จากเจ้าลัทธิต่างๆที่โด่งดังของยุคนั้น เช่น การฝึกสมาธิขั้นสูงๆ และการทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงทดลองปฏิบัติอย่างเต็มที่แล้วแต่ก็ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะยังไม่พบความพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร จึงได้ทรงละเลิกการปฏิบัติเหล่านี้เสียในที่สุด ต่อมาพระองค์ได้ทรงเปลี่ยนมาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง โดยการทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วพิจารณาหาสาเหตุที่ผลักดันกันให้เกิดความทุกข์ขึ้นในจิตใจของตนเอง จนค้นพบกับวิธีการดับทุกข์ที่แท้จริง และหลังจากที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติตามวิธีการของพระองค์จนดับทุกข์ได้อย่างถาวรแล้ว จึงทำให้พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะขึ้นมาในโลก ซึ่งจากที่พระองค์ทรงเสด็จออกผนวชจนถึงตรัสรู้นั้นใช้เวลาถึง ๖ ปี
๓. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกจึงได้มีแสงสว่าง การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก การกระทำให้เข้าใจง่าย ซึ่งเรื่องอริยสัจ ๔
ตรัสรู้ หมายถึง การได้รู้สิ่งที่ประเสริฐ หรือ การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีอะไรจะประเสริฐไปกว่าความพ้นทุกข์อย่างถาวรอีกแล้ว โดยสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นี้เรียกว่า อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็น สัจธรรม คือเป็นความจริงแท้ของธรรมชาติที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงเป็นเพียงผู้คนพบเท่านั้น หาใช่เป็นผู้สร้างสัจธรรมขึ้นมาไม่ พระองค์ทรงเรียกพระองค์ว่าเป็น ตถาคต ที่หมายถึง ผู้เป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านี้เป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง และสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพก็คือธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้นี่เอง
๔. แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์ หมายถึง ผู้ที่พอจะนำไปได้ คือเป็นผู้ที่มีสติปัญญาพอที่จะตรัสรู้ตามพระองค์ได้ ซึ่งมีอยู่ ๓ จำพวก อันได้แก่ ๑. อุคฆฏิตัญญู พวกที่มีปัญญามาก สอนเพียงเล็กน้อยก็ตรัสรู้ตามได้ ๒. วิปจิตัญญู พวกที่มีปัญญาปานกลาง ต้องอธิบายบ้างก็สามารถตรัสรู้ตามได้ ๓. เนยยะ พวกที่มีปัญญาน้อย ต้องอธิบายมากและซ้ำๆ ก็สามารถตรัสรู้ตามได้ เวไนยสัตว์หรือบัว ๓ เหล่านี้จะเป็นผู้ที่สามารถตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ได้ตามลำดับสติปัญญาที่มี ส่วนผู้ที่ไม่สามารถตรัสรู้ตามพระพุทธองค์ได้ แม้จะศึกษาเล่าเรียนหลักพุทธศาสนามาอย่างมากมายนี้เรียกว่าพวก ปทปรมะ คือหมายถึงพวกที่เป็นหัวหลักหัวตอ ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
๕. ทรงประกาศศาสนา เมื่อทรงตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ทรงพิจารณาว่า ธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น แม้จะลึกซึ้งและทวนกระแสใจ (กิเลส) ของผู้คนที่ยังหนาแน่นอยู่ด้วยกิเลส แต่ก็ยังพอมีบางคนที่มีอุปนิสัยที่พอจะตรัสรู้ตามได้ถ้าได้ฟังธรรมของพระองค์ ดังนั้นจึงทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นมาสอนแก่ผู้คน และเมื่อพระองค์ทรงมีพระสาวกที่ตรัสรู้ตามพระองค์มากพอสมควรแล้ว พระองค์จึงได้ทรงชักชวนให้พระสาวกเหล่านี้ออกเผยแพร่หลักคำสอนของพระองค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คน ดังที่ได้มีพระดำรัสเอาไว้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็พ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์. ภิกษุทั้งหลายพวกเธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่อความเอ็นดูแก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่าไปทางเดียวกันถึงสองรูป. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องตน ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุดลงรอบ จงประกาศพรหมจรรย์ ให้เป็นไปพร้อมทั้งอรรถะ ทั้งพยัญชนะ ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นพวกธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ สัตว์พวกนี้ย่อมเสื่อมจากคุณความดีที่ควรได้ เพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีเป็นแน่ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวราเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม.
พระพุทธองค์ทรงเรียกธรรมะของพระองค์ว่าเป็น พรหมจรรย์ คือเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ ซึ่งหลังจากพระองค์ทรงมีพระสาวกที่ตรัสรู้ตามมากพอแล้ว พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้พระสาวกเหล่านั้นออกเผยแพร่สัจธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน ทั้งแก่คนที่สุขสบายแล้ว (เทวดา) และแก่ผู้ที่ยังลำบากอยู่ (มนุษย์) ผู้ที่มีสติปัญญาพอที่จะตรัสรู้ตามได้นั้นยังพอมีอยู่ ถ้าเขาไม่ได้ฟังธรรมเขาก็จะสูญเสียโอกาสที่เขาควรจะได้นั้นเสีย ซึ่งแม้พระพุทธองค์ก็ยังทรงเสด็จไปสั่งสอนผู้คนจนตลอดพระชนชีพของพระองค์โดยไม่ได้หวังผลใดๆตอบแทน
๖. พุทธคุณ ๓ ประการ พระพุทธเจ้านั้นจะทรงประกอบด้วยพระคุณ ๓ ประการ อันได้แก่ ๑. พระปัญญาธิคุณ คือมีพระปัญญาสูงสุด ๒. พระวิสุทธิคุณ คือมีพระหฤทัยที่บริสุทธิ์ ๓. พระมหากรุณาธิคุณ คือมีพระหฤทัยที่คิดจะช่วยเหลือสัตว์ พระพุทธองค์นั้นทรงเป็น มหาบุรุษ ของโลก คือเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ประกอบด้วยปัญญาสูงสุด และมีจิตที่บริสุทธิ์ รวมทั้งมีจิตที่คิดจะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์อยู่เสมอ ซึ่งบุคคลเช่นนี้นับว่าหาได้ยากยิ่งในโลก แม้คำสอนของพระองค์ก็ยังเจริญรุ่งเรืองได้ยากในโลก แต่บัดนี้พระพุทธเจ้าก็ได้อุบัติขึ้นมาในโลกแล้ว และคำสอนของพระพุทธองค์ได้ได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นในโลกแล้ว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ศึกษาคำสอนของพระองค์ เพื่อให้พบกับสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับชีวิต
๗. หลักในการแสดงธรรม ในการสอนหรือแสดงธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงมีหลักดังนี้ ๑.ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ๒.ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริงแท้แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ๓.ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริงแท้และประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเลือกให้เหมาะกาลเพื่อกล่าววาจานั้น ๔. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริงไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ๕. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริงแท้แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น ๖.ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริงแท้และประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้กาลที่เหมาะเพื่อกล่าววาจานั้น.
๘. ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ตลอดพระชนชีพของพระองค์นั้นจะทรงใช้ชีวิตที่เรียบง่ายที่สุด คือทรงมีบาตร ๑ ใบ และจีวร ๑ ชุด อาหารก็อาศัยขอจากชาวบ้านมาฉันเพียงวันละ ๑ มื้อเท่านั้น ปกติจะเสด็จไปเรื่อยๆพร้อมสาวกบ้างหรือไปพระองค์เดียวบ้าง และอาศัยพักตามโคนไม้ในป่า ไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆติดตัว แต่ถ้าจำพรรษาก็จะพักอาศัยตามที่มีผู้สร้างถวาย จากการดำเนินชีวิตของพระองค์นี้นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คือเป็นการสอนให้ผู้คนรู้ว่าการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายก็ทำให้มีความสุขได้ ซึ่งการใช้ชีวิตเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้สังคมสงบสุขและโลกมีสันติภาพได้ ซึ่งการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยนั้น จะเป็นการทำลายธรรมชาติและสร้างมลพิษให้แก่โลกเป็นอย่างยิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่อทุกชีวิตได้ในอนาคต อีกทั้งยังทำให้เกิดการเบียดเบียนพืช สัตว์ และมนุษย์จนหาความสงบสุขและสันติภาพไม่ได้อย่างเช่นในปัจจุบัน สาเหตุที่พระพุทธองค์ทรงไม่กลับไปหาทรัพย์สมบัติ และยศถาบรรดาศักดิ์ที่พระองค์มีสิทธิ์ที่จะได้อย่างเต็มที่ แต่กลับมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในป่าเช่นนี้ก็เพราะ พระองค์ทรงละความอยากทั้งหลายของจิตใจได้อย่างเด็ดขาดแล้ว เมื่อจิตใจไม่มีความอยากใดๆแล้ว ก็จะทำให้ความเร่าร้อนใจหรือความทุกข์ใจทั้งหลายพลอยหายไปด้วย จิตก็จะสงบเย็น ทีนี้ก็เหลือแต่ความกรุณาที่จะสอนผู้คนให้ปฏิบัติตามเท่านั้น มนุษย์เกือบทั้งหมดจะถูกความอยากครอบงำ จึงต้องดิ้นรนแสวงหาและเสพความสุขไปตามอำนาจความอยากของจิตใจอย่างไม่รู้จักอิ่มจักพอ ยิ่งเสพก็ยิ่งอยากยิ่งขึ้น ยิ่งอยากก็ยิ่งเร่าร้อนเป็นทุกข์ และเกิดผลเสียประการต่างๆตามมา แล้วก็ผลักดันให้เกิดเป็นวิกฤติการณ์อยู่ทั่วโลกอย่างเช่นในปัจจุบัน ถ้ามวลมนุษย์จะหันมาใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกันบ้าง แม้ไม่ต้องเต็มที่อย่างพระพุทธองค์ สันติภาพก็จะกลับคืนมาได้โดยไม่ยาก
๙. ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า สภาวะของความเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้อยู่ที่กายเนื้อของพระพุทธองค์ แต่อยู่ที่จิตที่เห็นธรรม ซึ่งจิตที่เห็นธรรมนี้ก็คือจิตที่เห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาท (หลักอริยสัจ ๔ โดยละเอียด) ถ้าใครเห็นธรรม ผู้นั้นก็จะเห็นพระพุทธเจ้าได้ทันที อย่างที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. แม้ภิกษุจับชายสังฆาฏิ เดินตามรอยเท้าเราไปข้างหลัง แต่เธอนั้นมากไปด้วยอภิชฌา (ความพอใจยินดีด้วยกิเลส) มีกามราคะกล้า มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่เป็นสมาธิ แกว่งไปแกว่งมา ไม่สำรวมอินทรีย์แล้วไซร้ ภิกษุนั้นชื่อว่าอยู่ไกลจากเรา แม้เราก็อยู่ไกลจากภิกษุนั้นโดยแท้ เพราะเหตุไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ชื่อว่าไม่เห็นเรา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. แม้ภิกษุจะอยู่ไกลจากเราตั้งร้อยโยชน์ แต่เธอนั้นไม่มีอภิชฌา ไม่มีกามราคะกล้า มีจิตไม่พยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย มีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตเป็นสมาธิ มีจิตตั้งมั่น สำรวมอินทรีย์แล้วไซร้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่าอยู่ใกล้เรา แม้เราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้นโดยแท้ เพราะเหตุไรเล่า? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. เพราะว่าภิกษุนั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมก็ชื่อว่าเห็นเรา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม.
สรุปว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร จะอยู่ที่ไหนและเวลาใด หรือนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ก็สามารถที่จะเห็นพระพุทธเจ้าได้ ด้วยการปฏิบัติธรรม จนเห็นธรรม แล้วก็จะพบกับสภาวะของความเป็นพุทธะได้ด้วยจิตใจของตนเอง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงประทับอยู่เบื้องหลังความโง่ (อวิชชา) ของเรานี่เอง
๑๐. ธรรมวินัยนี้คือองค์พระศาสดา เมื่อพระพุทธองค์ทรงเผยแพร่พระธรรมวินัย (หลักคำสอนและหลักปฏิบัติเรื่องศีล) จนมีผู้นับถือและมาขอบวชกับพระพุทธองค์อย่างมากมายและมั่นคงแล้ว และทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาแล้ว ทรงเห็นว่าพระวรกายของพระองค์นั้นเปรียบเหมือนเกวียนที่ทรุดโทรมมากแล้ว ถึงจะซ่อมแซมต่อไปก็ไม่ไหวแล้ว ดังนั้นพระองค์จึงทรงปลงอายุสังขาร คือเตรียมที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน (หมายถึงการตายซึ่งใช้เฉพาะพระพุทธเจ้า) ในเวลาอีก ๓ เดือนข้างหน้า เมื่อทรงปลงอายุสังขารแล้ว ก็ทรงเดินทางไปยังป่าแห่งหนึ่งของเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งของอินเดียเพื่อเตรียมดับขันธปรินิพพาน ซึ่งก่อนวันดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสอนสาวกทั้งหลายโดยมีใจความสำคัญว่า
.....ถ้าภิกษุทั้งหลายจะพึงเป็นอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่ว่างจะพระอรหันต์
นอกจากนั้นยังทรงตรัสไว้อีกว่า
.....ในกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว หาใช่ว่าศาสดาจะล่วงลับไปด้วยไม่ ธรรมก็ดี วินัยก็ดีที่เราแสดงแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนี้จักเป็น องค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย ในกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว
สรุปว่าพระอรหันต์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ถ้ามีการปฏิบัติตามธรรมวินัยอย่างถูกต้อง และพระศาสดาของชาวพุทธนั้นยังอยู่ ซึ่งก็คือธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าใครปฏิบัติผิดก็จะได้รับผลเลวร้ายทันที (คือเกิดความทุกข์ใจ) ถ้าใครปฏิบัติถูกก็จะได้รับผลที่ดีทันที (คือไม่มีความทุกข์ใจ) โดยไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลาใดๆ หรือต้องให้ใครมาดลบันดาล
๑๑. ดับขันธปรินิพพาน เมื่อใกล้รุ่งของวันที่ทรงกำหนดไว้นั้น พระพุทธองค์ทรงประทับนอนด้วยอิริยาบถสีหไสยาสน์ (นอนตะแคงขวาแขนซ้ายวางทาบตามลำตัว) โดยมีเหล่าภิกษุแวดล้อม และในช่วงนี้เองพระองค์ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้ายว่า
ภิกษุทั้งหลาย. บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ดังนี้.
จากพระโอวาทในครั้งนี้แล้วก็ไม่ทรงตรัสอะไรอีก ทรงนิ่งอยู่ในอิริยาบถสีหไสยาสน์นั้น แล้วทรงเข้าสมาธิ (ฌาน) ไปตามลำดับ แล้วก็ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานโดยสงบในเวลารุ่งเช้าของวันนั้น สิริอายุของพระพุทธองค์ได้ ๘๐ พรรษา ปัจฉิมโอวาทนี้นับเป็นพินัยกรรมจากพระสังฆบิดรที่ได้ทรงประทานไว้แก่ภิกษุทั้งหลาย คือทรงเตือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสิ้นอยู่ทุกขณะ ไม่ช้าความทุกข์อันใหญ่หลวงก็จะมาถึง ให้รีบปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา และช่วยสั่งสอนผู้คนให้เกิดสันติภาพ ซึ่งการอุบัติขึ้นมาของพระพุทธเจ้านี้นับว่ายากยิ่ง และการเกิดขึ้นมาของพระธรรมวินัยก็ยากยิ่ง เมื่อเราได้เกิดมาและมาพบกับพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์แล้ว ก็ให้รีบศึกษาและปฏิบัติเพื่อจะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมาพบพระพุทธศาสนา
จบบทที่ ๑ |