-๗-

บทที่  ๔  มรรค

๑.  อริยมรรคมีองค์  ๘ 

มรรค  แปลว่า  ทาง ,    อริยมรรค  หมายถึง  หนทางอันประเสริฐ  ซึ่งก็คือวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือวิธีปฏิบัติเพื่อความไม่เกิดขึ้นของความทุกข์ โดยบางครั้งก็เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา  ที่หมายถึง ทางสายกลาง  คือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ตึงและไม่หย่อนไปทางใดทางหนึ่ง  หรือบางทีก็เรียกว่า จิตตภาวณา ที่หมายถึง การทำจิตให้เจริญ  ซึ่งก็คือการสร้างสมาธิและปัญญาให้เพิ่มมากขึ้น

อริยมรรค หรือมรรคนี้ แม้จะเป็นหนทางเดียวแต่ก็มีองค์ประกอบอยู่ถึง  ๘  ประการ  ที่เรียกว่า มรรคมีองค์  ๘  ซึ่งองค์ประกอบทั้ง  ๘  นั้นก็ได้แก่

               ๑.   สัมมาทิฎฐิ            ความเห็นถูกต้อง

               ๒.  สัมมาสังกัปปะ       ความดำริถูกต้อง

               ๓.  สัมมาวาจา                      การพูดจาถูกต้อง

               ๔.  สัมมากัมมันตะ     การกระทำทางกายถูกต้อง

               ๕.  สัมมาอาชีวะ         การเลี้ยงชีพถูกต้อง

               ๖.  สัมมาวายามะ      ความเพียรถูกต้อง

               ๗.  สัมมาสติ            การระลึกถูกต้อง

               ๘.  สัมมาสมาธิ           สมาธิถูกต้อง

คำว่า สัมมา หมายถึง ถูกต้อง หรือ ชอบ คือหมายถึงถูกต้องตามวิธีดับทุกข์ ซึ่งจะตรงข้ามกับคำว่า  มิจฉา  ที่หมายถึง  ผิด   คือหมายถึงไม่ถูกต้องตามวิธีดับทุกข์ โดยมรรคนี้เรียกได้ว่าเป็น สัมมามรรค  คือเป็นหนทางที่ถูกต้องที่ดับทุกข์ได้  ส่วนหนทางอื่นนอกนั้นจะเป็น มิจฉามรรค คือเป็นหนทางที่ผิดที่ดับทุกข์ไม่ได้ 

 

๒.   สิกขา ๓  

สิกขา หมายถึง   การศึกษาด้วยการปฏิบัติ  ซึ่งองค์ทั้ง  ๘  ของมรรคนี้สามารถย่นย่อลงในสิกขา ๓ ได้ดังนี้

      ๑.  ปัญญาสิกขา   การศึกษาในเรื่องปัญญา ซึ่งย่อมาจาก สัมมาทิฎฐิ  สัมมาสังกัปปะ

      ๒.  สีลสิกขา การศึกษาในเรื่องศีล  ซึ่งย่อมาจาก สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ

      ๓. จิตตสิกขา  การศึกษาในเรื่องสมาธิ  ซึ่งย่อมาจาก สัมมาวายามะ  สัมมาสติ   สัมมาสมาธิ

ปัญญาก็คือความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์, ศีลก็คือจิตที่เป็นปกติ (เพราะมีกายและวาจาที่เรียบร้อย), สมาธิก็คือความตั้งมั่นแห่งจิต  ซึ่งการปฏิบัติจริงๆนั้น ปัญญา ศีล และสมาธิ หรือองค์ทั้ง  ๘  ของมรรคนี้จะทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว  ซึ่งก็คือ การทำจิตให้ว่างจากความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเรา  คือเป็นการใช้สมาธิมากำจัดความรู้สึกว่ามีตัวเรา-ของเราออกไปโดยมีปัญญาควบคุมอยู่  และก็ต้องมีศีลหรือจิตที่ปกติเป็นพื้นฐาน  ซึ่งนี่คือมรรคหรืออริยมรรคโดยสรุป ซึ่งเนื้อหาโดยละเอียดนั้นเราจะได้ศึกษากันต่อไป

 

๓.  สัมมาทิฎฐิ  

 สัมมาทิฎฐิ หมายถึง ความเห็นถูกต้อง คืออันดับแรกเราจะต้องมีความเห็นที่ถูกต้องก่อน  ซึ่งความเห็นที่ถูกต้องนี้โดยสรุปก็คือ การมีดวงตาเห็นธรรม   หรือเห็นแจ้งในอริยสัจ  ๔   ซึ่งก่อนที่จะมาเห็นแจ้งในอริยสัจ  ๔  ได้นั้นก็ต้องมีการศึกษาเรื่องต่างๆที่ต้องรู้ คือเรื่อง ธาตุ  ขันธ์  อายตนะ กรรม  กฎอิทัปปัจจยตา  กฎไตรลักษณ์  ปฏิจจสมุปบาท อนุสัย อาสวะ สังโยชน์  เป็นต้น ตามที่เราได้ศึกษามาแล้วทั้งหมดนั่นเอง

ยังมีสัมมาทิฎฐิในระดับต้นๆของศีลธรรมที่เราสมควรจะมีกันอยู่ก่อนแล้วหลายอย่าง  เช่น ต้องเชื่อว่าการให้ทานมีผล หรือเชื่อว่าพ่อแม่นั้นมีพระคุณ  หรือเชื่อว่าผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่  เป็นต้น  คือเป็นความเชื่อของคนดีทั้งหลาย  และเมื่อมีความเห็นถูกต้องในระดับศีลธรรมนี้แล้ว จึงจะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะมามีความเห็นถูกต้องในระดับปรมัตถธรรม (สูงหรือลึกซึ้ง) นี้ได้  แต่ถ้าใครที่ยังไม่มีความเห็นถูกต้องแม้ในระดับศีลธรรมได้  ก็จะยากที่จะมามีความเห็นที่ถูกต้องในระดับปรมัตถธรรมนี้ได้เพราะโง่เกินไป

 

๔.  สัมมาสังกัปปะ 

สัมมาสังกัปปะ  หมายถึง  ความดำริถูกต้อง   ซึ่งคำว่า ดำริ จะหมายถึง ความปรารถนา ความใฝ่ฝัน หรือความมุ่งหมาย ในทางที่ดี  ซึ่งความดำริที่ถูกต้องนี้ก็สรุปอยู่ที่

๑.   ดำริที่จะออกจากกาม  ไม่ลุ่มหลงกาม พ้นจากอำนาจกาม

๒.   ดำริที่จะไม่พยาบาทมุ่งร้าย ไม่อาฆาติพยาบาทใคร

๓.   ดำริที่จะไม่เบียดเบียนใคร ด้วยความโง่หรือด้วยความไม่รู้จริง

ความดำริถูกต้องนี้บางทีก็เรียกว่า กุศลวิตก  คือเป็นการตริตรึกหรือคิดนึกไปในทางที่ถูกต้อง  ที่ตรงข้ามกับ อกุศลวิตก คือเป็นการตริตรึกคิดนึกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง (ที่ตรงข้ามกับกุศลวิตก)

 

๕.  สัมมาวาจา 

สัมมาวาจา  หมายถึง  การพูดจาที่ถูกต้อง  ซึ่งก็ได้แก่

๑.   การมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การพูดไม่จริง

๒.   การมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การพูดคำหยาบ

๓.   การมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การพูดส่อเสียด

๔.  การมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การพูดเพ้อเจ้อ

สำหรับภิกษุนั้นจะเคร่งครัดขึ้น เช่น ไม่ให้พูดกับสตรีหลายคำ  หรือไม่ให้พูดกับคนที่ถืออาวุธในมือ เป็นต้น

 

๖.  สัมมากัมมันตะ  

สัมมากัมมันตะ  หมายถึง  การกระทำทางกายที่ถูกต้อง  ซึ่งก็ได้แก่

๑.   การมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การฆ่าหรือทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต

๒.   การมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การถือเอาทรัพย์หรือสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

๓.   การมีเจตนาเป็นเครื่องเว้นจาก การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

สำหรับภิกษุนั้นจะเคร่งครัดขึ้น โดยไม่ให้ทำร้ายแม้พืชที่ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตด้วย รวมทั้งไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องกามารมณ์ทั้งหลาย

 

๗.  สัมมาอาชีวะ

สัมมาอาชีวะ  หมายถึง   การอาชีพถูกต้อง  คือให้ประกอบอาชีพที่สุจริตในการเลี้ยงชีวิต และรวมทั้งการบริหารชีวิตอย่างถูกต้องด้วย แต่สำหรับภิกษุนั้นพระพุทธองค์จะทรงให้ประกอบอาชีพ “ขอทาน” ซึ่งเป็นการขออย่างพระอริยะ คือให้ขออาหารจากชาวบ้านมาฉันเท่าที่จำเป็น ซึ่งก็จะไปเฉพาะเวลาเช้า โดยการเอาบาตรไปยืนแสดงให้เขารู้ว่าไปขออาหาร เมื่อได้พอแล้วก็ให้กลับ ไม่ขอมาจนมากเกิน แต่ถ้าเขาแสดงอาการไม่อยากให้ก็ไม่ให้ยืนตื้อเหมือนบังคับเขา และไม่ให้เลือกขอเอาแต่อาหารที่ดีๆเท่านั้น

 

๘.  สัมมาวายามะ

สัมมาวายามะ  หมายถึง  ความพากเพียรถูกต้อง   ซึ่งก็สรุปอยู่ที่

๑.   เพียรที่จะระวังไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้น

๒.   เพียรที่จะละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

๓.   เพียรที่จะทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

๔.  เพียรที่จะทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้สมบูรณ์

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “บุคคลจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร”   คือการมีแต่ความรู้นั้นยังช่วยอะไรไม่ได้มาก จะต้องมีความเพียรที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และกล้าหาญ จึงจะพ้นจากทุกข์ได้จริง

 

๙.  สัมมาสติ

สัมมาสติ  หมายถึง  การระลึกถูกต้อง  คือคำว่า สติ  หมายถึง แล่นมาทัน  คือเป็นการระลึกได้ไม่หลงลืม  ส่วนคำว่า  สัมปชัญญะ  หมายถึง  รู้สึกตัวอยู่ด้วยปัญญา   ซึ่งเรามักเรียกรวมๆว่า สติสัมปชัญญะ ที่หมายถึง การระลึกเอาปัญญาออกมาใช้งานอยู่

สติสัมปชัญญะนี้ถ้าเป็นทางโลกก็หมายถึงการรู้สึกตัวอยู่ด้วยความรู้โลกๆ  ซึ่งยังไม่ใช่สติสัมปชัญญะของมรรค จะต้องเป็นการรู้สึกตัวอยู่ด้วยปัญญาจึงจะเป็นสติสัมปชัญญะของมรรคที่แท้จริง

สัมมาสติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ก็ได้แก่

 

        “ภิกษุทั้งหลาย. สัมมาสติเป็นอย่างไรเล่า  ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุในกรณีนี้

เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ,  เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ, ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมะในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ . มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ  ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้”.

 

สัมมาสตินี้ก็คือหลักในการปฏิบัติของมรรค คือให้เอาสิ่งที่เป็น กาย, เวทนา, จิต, และธรรมมาพิจารณาตามกฎไตรลักษณ์ ไปตามลำดับ โดยจะต้องไม่ให้มีความพอใจและไม่พอใจเกิดขึ้น  ซึ่งเราจะได้ศึกษากันในบทต่อๆไป

 

๑๐.  สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ   หมายถึง  สมาธิถูกต้อง   ซึ่งสมาธิที่ถูกต้องนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนว่าเป็นสมาธิที่เรียกว่า ฌาน  โดยเป็นรูปฌาน คือเป็นสมาธิที่เพ่งรูปเป็นอารมณ์  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าเป็น  ฌาน ที่  ๑  ถึงฌานที่  ๔ โดยจากฌานที่  ๔  นี้จิตจะบริสุทธิ์อ่อนโยนและเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้ดับทุกข์และศึกษาธรรมะ หรือแม้ในการศึกษาเล่าเรียนทั้งหลายของนักเรียน

 ฌาน  ๔  นี้จะสามารถกำจัดกิเลสให้ระงับดับลงสนิทจริงๆ แต่ก็ต้องมีองค์ประกอบอีก  ๗  องค์ของมรรคมาเป็นบริวารคอยช่วยเหลือ  ถ้าสามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ความเคยชินของกิเลสค่อยๆเหี่ยวแห้งตายไปเองในที่สุด  ซึ่งเรื่องฌานนี้เราจะได้ศึกษากันในบทต่อๆไป

 

๑๑.  สมถะ - วิปัสสนา

อริยมรรคนี้จะสรุปในแง่การเพ่งได้  ๒  อย่างคือ

๑.        สมถะ  การทำจิตให้สงบระงับ

๒.        วิปัสสนา  การทำจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง

การเพ่งอย่างสมถะก็คือการเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตรวมกำลังเป็นอารมณ์เดียว โดยไม่เกี่ยวกับปัญญา  ซึ่งผลจากการเพ่งก็จะได้สมาธิ (ฌาน)

การเพ่งอย่างวิปัสสนาก็คือการเพ่งค้นหาเหตุปัจจัย, และพิจารณาดูความเกิด-ดับ,  ดูความไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, และอนัตตา  ซึ่งผลจากการเพ่งก็คือทำให้เกิดปัญญา หรือดวงตาเห็นธรรม และการบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในทุกระดับ

 

๑๒.  วิมุตติ  ๒

วิมุตติหรือความหลุดพ้นทั้งหลายนั้น (คือทั้งอย่างชั่วคราว, ข่มไว้ด้วยสมาธิ และอย่างถาวร) ยังสามารถสรุปลักษณะการหลุดพ้นได้  ๒  ลักษณะ  อันได้แก่

               ๑.  ปัญญาวิมุตติ   คือหลุดพ้นโดยมีปัญญานำ

               ๒.  เจโตวิมุตติ     คือหลุดพ้นโดยมีสมาธินำ

ในการเกิดวิมุตติแต่ละครั้งนั้น  จะต้องมีทั้งปัญญาและสมาธิมาทำงานร่วมกัน  โดยมีศีลรองรับอยู่  ซึ่งบางคนก็มีสมาธิน้อย แต่อาศัยการเพ่งพิจารณามากกว่า ก็จะเกิดความหลุดพ้นแบบปัญญาวิมุตติได้  ส่วนบางคนมีสมาธิมากก็อาศัยสมาธินำโดยมีปัญญาควบคุมอยู่ข้างหลัง ก็จะเกิดความหลุดพ้นแบบเจโตวิมุตติได้

 

๑๓.  จิตว่าง คือ อริยมรรค

อริยมรรคนี้มักเรียกกันว่า กรรมฐาน  ที่หมายถึง  ที่ตั้งแห่งการงาน  ซึ่งก็แยกได้  ๒ อย่าง อันได้แก่

              ๑.  สมมถะกรรมฐาน   คือมีจิตที่สงบระงับเป็นที่ตั้ง

               ๒. วิปัสสนากรรมฐาน  คือมีจิตที่รอบรู้เป็นที่ตั้ง

คำว่าการงานในที่นี้ก็คือหน้าที่ในการกำจัดกิเลส (หรือทำลายอนุสัย  หรือตัดสังโยชน์  หรือกำจัดทุกข์  หรือทำนิพพานให้แจ้ง) ซึ่งก็สรุปอยู่ที่ “การมีสติ ระวังไม่ให้นิวรณ์และกิเลสเกิดขึ้น และเพ่งให้จิตว่างจากความรู้สึกว่ามีตัวตน-ของตน (หรือตัวเรา-ของเรา หรือตัวกู-ของกู)” โดยอริยมรรคนี้ ควรทำให้เจริญ คือปฏิบัติให้มากที่สุดจนสมบูรณ์ คือจนทำให้บรรลุนิพพานอย่างถาวร

 

จบบทที่  ๔

จบภาคปลาย

|หน้าต่อไป|