บทที่ ๓ นิโรธ ๑. ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร อริยสัจข้อที่ ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างสั้นก็คือทรงตรัสว่า เมื่อสิ้นตัณหาก็นิพพาน แต่เมื่อต้องตรัสอย่างละเอียดก็ทรงตรัสไว้ดังนี้
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร, เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ, เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป, เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ, เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ, เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา, เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา, เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน, เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ, เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ, เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ความทุกข์ทั้งปวงจึงดับสิ้น.
ตามหลักของเหตุและผลนั้น เมื่อมีเหตุ ผลจึงเกิด และเมื่อไม่มีเหตุ ผลจึงดับหรือไม่เกิดขึ้น ซึ่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์นั้น เพราะมีอวิชชาเป็นต้นเหตุ จึงทำให้เกิดผลคือมีการปรุงแต่งต่อๆกันไปเรื่อยๆจนเกิดความทุกข์ขึ้นมาในที่สุด แต่เมื่อไม่มีอวิชชา ก็เท่ากับว่าไม่มีต้นเหตุ จึงทำให้ไม่มีผลเป็นการปรุงแต่งต่อๆกันไปถึงทุกข์ จึงทำให้ความทุกข์เพราะความยึดถือว่ามีตัวเราไม่เกิดขึ้น หรือที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็จะดับลงทันที เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วการดับลงของทุกข์นี้ก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ๑. ดับที่อวิชชา คือสามารถปฏิบัติจนดับอวิชชาได้ ก็จะส่งผลให้สายปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ทั้งสายไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีแม้ความรู้สึกว่ามีตัวตนใดๆเกิดขึ้นมา และนิพพานก็ปรากฏได้สูงสุด (เย็นสนิท) ๒. ดับที่ตัณหา คือได้เผลอสติจนอวิชชาเกิดขึ้นมาและปรุงแต่งจนทำให้เกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว แต่เรารู้ตัวทันและใช้สมาธิมาระงับหรือหยุดไม่ให้ตัณหาเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งกรณีนี้ก็ยังทำให้เกิดมีความรู้สึกว่ามีตัวตนอ่อนๆมารบกวนจิตอยู่ จึงนิพพานเพียงขั้นต้นๆ ไม่สูงสุด (แค่เย็นใจ)
๒. ปฏิจจสมุปบาท ๒๔ อาการ ยังมีปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างพิสดาร คือทรงเอาปฏิจจสมุปบาทสายเกิดทุกข์มาต่อเข้ากับอริยมรรคจนถึงนิพพาน โดยรวมแล้วได้ ๒๔ อาการ อันได้แก่
อวิชชา à สังขาร à วิญญาณ à นามรูป à สฬายตนะ à ผัสสะ à เวทนา à ตัณหา à อุปาทาน à ภพ à ชาติ à ทุกข์ à สัทธา (ความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) à ปราโมทย์ (ความร่าเริงใจ) à ปีติ (ความอิ่มใจ) à ปัสสัทธิ (ความสงบระงับของกายและจิต) à สุข (สุขสงบ) à สมาธิ (ความที่จิตตั้งมั่น) à ยถาภูตญาณทัสสนะ (การเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นอยู่จริง) à นิพพิทา (ความเบื่อหน่ายต่อสังขารทั้งปวง) à วิราคะ (ความคลายกำหนัดติดใจในสิ่งทั้งปวง) à วิมุตติ (จิตหลุดพ้นจากอุปาทาน) à ขยญาณ (ความรู้ว่าจิตได้หลุดพ้นแล้ว) à นิพพาน (ความสงบเย็น)
การศึกษาวิธีการดับทุกข์ก็ต้องศึกษาที่ตัวทุกข์จริงๆ โดยการมองให้เห็นว่าความทุกข์คือตัวความยึดมั่นว่ามีตัวเรา, เมื่อเห็นแล้วก็จะทำให้เกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าว่าทรงสอนความจริง, ต่อจากนั้นก็จะเกิดความร่าเริงใจ, เกิดความอิ่มเอมใจ, เกิดความสงบระงับ, และเกิดความสุขที่สงบ, แล้วจิตก็จะตั่งมั่น, แล้วจะมองเห็นความจริงของสภาวธรรม (เห็นไตรลักษณ์), แล้วก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง, แล้วจิตก็จะหลุดพ้น, แล้วก็จะเกิดความรู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว, และนิพพานก็จะปรากฏ ความทุกข์แม้จะน่าเกลียดน่ากลัว แต่มันก็เหมือนสิ่งมีค่าที่สุด เพราะมันนำมาซึ่งความพ้นทุกข์ได้ ดังนั้นเมื่อเกิดทุกแล้วก็จงใช้ทุกข์นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าเรารารถนาจะดับทุกข์แต่กลัวทุกข์แล้วไปแสวงหาการดับทุกข์ที่อื่น แล้วทุกข์จะดับลงได้อย่างไร?
๓. นิพพิทา - ความเบื่อหน่าย นิพพิทา แปลว่า ความเบื่อหน่าย คือหมายถึง ความเบื่อหน่ายด้วยปัญญา โดยจะเบื่อหน่ายต่อทุกสิ่งทั้งที่ให้ความสุขและให้ความทุกข์ (ถ้าเพียงเบื่อทุกข์ แต่ไม่เบื่อสุข จะยังไม่เป็นนิพพิทา) ปกติเราจะติดอยู่ในสุขแต่เบื่อทุกข์ ซึ่งเราไม่สามารถแยกเอาเฉพาะแต่สุขโดยไม่เอาทุกข์ได้ ดังนั้นเราจึงต้องทนทุกข์โดยมีสุขมาล่อลวงให้ติดอยู่ แต่ถ้าเรามีปัญญามองเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และอนัตตาในทุกสิ่งอย่างแรงกล้า (ด้วยสมาธิ) ก็จะทำให้เกิดนิพพิทาหรือเบื่อหน่ายต่อสังขารหรือสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายของโลกที่ให้ทั้งความสุขและความทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาให้เกิดนิพพิทานี้จะต้องใช้จิตที่มีสมาธิมาก ถ้าขาดสมาธิ นิพพิทาจะไม่เกิด ดังนั้นเราจึงต้องหมั่นฝึกฝนสมาธิอยู่เสมอ พร้อมทั้งมีการศึกษาถึงกฎไตรลักษณ์ให้เข้าใจ จึงจะสามารถเพ่งพิจารณาให้เกิดนิพพิทาได้อย่างแท้จริง
๔. นิโรธ - ดับไม่เหลือ นิโรธ แปลว่า ดับไม่เหลือ คือการดับของทุกข์นี้ก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ๑. ดับไม่เหลือ คือเมื่อทุกข์ดับลงแล้วก็ไม่เหลือสาเหตุมาให้ดับอีกต่อไป ๒. ดับมีเหลือ คือถึงทุกข์จะดับลงแล้วแต่ก็ยังมีสาเหตุของมันมาให้ดับต่อไปอีก นิโรธหรือดับไม่มีเหลือนั้นก็คือการดับถาวร (ของพระอรหันต์) แต่ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้นก็จะมีรองลงมาคือการดับมีเหลือ หรือดับอย่างชั่วคราว ซึ่งจะใช้คำว่า อัตถังคมะ ที่หมายถึง ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัย ซึ่งการดับชั่วคราวนี้ถ้าเราปฏิบัติให้มีบ่อยๆก็จะทำให้เกิดการดับอย่างถาวรได้
๕. นิพพาน - ดับเย็น นิพพาน แปลว่า ดับไปแห่งความร้อน ซึ่งก็หมายถึง ความเย็น หรือ สงบเย็น คือคำว่านิพพานนี้ก็คือคำธรรมดาๆที่ชาวบ้านเขาใช้กันอยู่ในสมัยพุทธกาล ทีนี้เมื่อค้นพบจิตที่ไม่มีกิเลสที่มีลักษณะเย็นแต่ไม่รู้จะเรียกอย่างไรจึงยืมคำว่า นิพพาน ที่หมายถึง เย็น นี้มาใช้ คือคำว่านิพพานนี้จะมีความหมายถึง ๓ ความหมาย อันได้แก่ ๑. วัตถุนิพพาน คือหมายถึงวัตถุที่คายความร้อนหมดแล้ว ๒. สัตว์นิพพาน คือหมายถึงสัตว์ที่พยศแต่ได้ถูกฝึกจนสงบแล้ว ๓. จิตนิพพาน คือหมายถึงจิตที่ไม่มีทุกข์ใดๆหรือจิตที่สงบเย็น นิโรธจะเป็นเหตุ ส่วนนิพพานจะเป็นผล ดังนั้น เมื่อมีนิโรธก็ต้องมีนิพพาน ซึ่งบางลัทธิเขาก็ว่าการได้เสพกามจนเต็มอิ่มแล้วคือนิพพาน (เพราะเมื่ออิ่มแล้วจิตมันก็จะเย็นลงชั่วคราว) แต่บางลัทธิเขาก็ว่าการได้สมาธิขั้นต่างๆคือนิพพาน (เพราะสมาธิก็มีความสงบเย็นอยู่ด้วย) แต่พระพุทธองค์ทรงสอนว่านิพพานที่แท้จริงจะอยู่ที่จิตปราศจากกิเลส เพราะเมื่อจิตไม่มีกิเลสมันก็จะสงบเย็นเพราะไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนใดๆมารบกวน อีกทั้งยังถาวรอีกด้วย คำว่า นิพพุติ หมายถึง ความเย็นอกเย็นใจ ซึ่งเป็นความเย็นใจระดับชาวบ้านเพราะไม่มีปัญหาใดๆ ส่วนคำว่า ปรินิพพาน จะหมายถึง ความดับรอบ คือดับสนิทหมด (ทั้งกิเลสและขันธ์ ๕) อันหมายถึงการตายของพระอรหันต์
๖. สังขตะ- อสังขตะ สิ่งทั้งหลายของโลกนี้ก็สรุปได้ ๒ ประเภท อันได้แก่ ๑. สังขตะ คือสิ่งที่มีการปรุงแต่ง หรือ สังขาร ๒. อสังขตะ คือสิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่ง หรือ วิสังขาร สังขตะหรือสังขารนี้ก็คือทุกสิ่งที่เกิดมาจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา เช่น ต้นไม้, รถ, คอมพิวเตอร์, ร่างกาย, จิตใจ เป็นต้น ส่วนอสังขตะหรือวิสังขารนี้ก็คือสิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่งขึ้นมา ซึ่งอสังขตะที่เป็นวัตถุก็ได้แก่สุญญากาศ ส่วนอสังขตะที่เป็นนามก็ได้แก่ นิโรธ และนิพพาน ธรรมชาติของจิตก็เป็นสังขตะอยู่แล้ว คือต้องมีทุกขลักษณะหรือความรู้สึกที่ต้องทนอยู่บ้างตามธรรมชาติ ยิ่งถ้าจิตมีการปรุงแต่งด้วยกิเลสก็จะยิ่งมีทุกขลักษณะมากขึ้น แต่ถ้าจิตไม่มีการปรุงแต่งด้วยกิเลส ทุกขลักษณะที่รุนแรงก็จะไม่มี จะมีก็แต่ลักษณะที่ต้องทนอยู่บ้างเท่านั้น ซึ่งแทบไม่รู้สึก และไม่เป็นปัญหา ซึ่งนี่ก็คือความดับลงของทุกข์ (นิโรธ) และความสงบเย็น (นิพพาน) อันเป็นอสังขตะ หรือ วิสังขาร ที่ไม่มีการปรุงแต่งให้เป็นทุกข์ นิพพานนี้จะเป็นสิ่งเที่ยง (นิจจัง) คือมีอยู่ตลอดเวลาเพียงแต่เราไม่สามารถสัมผัสเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช้คำว่า เกิด กับนิพพาน แต่จะใช้คำว่า ปรากฏ แทน และนิพพานก็ยังมีลักษณะของสุขัง (สุข) คือมีความรู้สึกที่ทนได้ง่าย แต่นิพพานก็ยังเป็น อนัตตา คือไม่มีนิพพานของใคร และไม่มีใครนิพพาน มีแต่จิตที่บริสุทธิ์จากกิเลส (จากความยึดมั่นว่ามีตนเอง) เท่านั้นที่นิพพาน
๗. นิพพาน คือความว่างอย่างยิ่ง ในการตรัสถึงนิพพานของพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์จะทรงตรัสเป็นโวหารว่า
ภิกษุทั้งหลาย. สิ่ง สิ่งนั้นมีอยู่ เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม, ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญานัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น, ไม่ใช่ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่าง. ภิกษุทั้งหลาย. ในกรณีอันเดียวกับ สิ่ง สิ่งนั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา, ไม่กล่าวว่ามีการไป, ไม่กล่าวว่ามีการหยุด, ไม่กล่าวว่ามีการจุติ, ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น. สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่, สิ่งนั้นมิได้เป็นไป และสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์, นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ละ.
สรุปว่านิพพานนั้นจะไม่มีความยึดถือว่าเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือเป็นรูปลักษณ์ใดๆทั้งสิ้น และก็ไม่ใช่สมาธิขั้นสูงใดๆ หรือเป็นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือโลกใดๆ และไม่เป็นกิริยาอาการใดๆ ไม่ตั้งอยู่เหมือนสิ่งอื่นๆ รวมทั้งไม่ใช่อารมณ์ใดๆ คือสรุปว่า นิพพานคือความว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง
๘. วิมุตติ ๓ วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น คือหมายถึงจิตหลุดพ้นจากกิเลส หรือหลุดพ้นจากความยึดมั่นว่ามีตัวตน ซึ่งเท่ากับไม่มีตัวตนใครหลุดพ้น โดยการหลุดพ้นนี้ก็มีอยู่ ๓ ลักษณะ อันได้แก่ ๑. ตทังควิมุตติ คือหลุดพ้นชั่วครั้งชั่วคราว ๒. วิกขัมภนวิมุตติ คือหลุดพ้นด้วยการข่มไว้ด้วยสมาธิ ๓. สมุจเฉทวิมุตติ คือหลุดพ้นอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง (ถาวร) ตามธรรมชาติแล้วจิตของเรามันก็มีวิมุตติอยู่แล้วเสมอๆ แต่เป็นอย่างชั่วคราวเท่านั้น คือเมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชวนให้จิตสงบ เช่น ป่า เขา ทะเล หรือพบเห็นคนตาย คนตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น จิตของเรามันก็จะหลุดพ้นได้เอง หรือเมื่อจิตมันเกิดความทุกข์มาจนอ่อนล้าแล้วมันก็จะหยุดทุกข์ของมันได้เองเหมือนกัน แม้การปฏิบัติอริยมรรคที่ถูกต้องเมื่อใดก็จะเกิดเกิดตทังควิมุตติขึ้นเมื่อนั้นทันที ส่วนกรณีที่เราสามารถฝึกสมาธิถึงขั้นฌานได้ ในขณะที่จิตอยู่ในฌานนี้ก็จะทำให้เกิดความหลุดพ้นได้ แต่ถ้าฌานเสื่อม วิมุตตินี้ก็เสื่อมหายตามไปด้วย ส่วนกรณีที่เราสามารถปฏิบัติตามมรรคจนสมบูรณ์ได้ (ทำลายสังโยชน์ได้หมดสิ้น) ความหลุดพ้นอย่างถาวรก็จะปรากฏขึ้นได้
๙. นิพพาน ๓ เมื่อวิมุตติเกิดขึ้น ก็จะทำให้นิพพานปรากฏ ดังนั้นจึงมีนิพพาน ๓ ลักษณะตามวิมุตติ อันได้แก่ ๑. ตทังคนิพพาน คือนิพพานชั่วครั้งชั่วคราว ๒. วิขัมภนนิพพาน คือนิพพานที่เกิดจากการข่มไว้ด้วยสมาธิ ๓. สมุจเฉทนิพพาน คือนิพพานชนิดเด็ดขาดสิ้นเชิง (ถาวร) ตทังคนิพพานนี้ถึงแม้จะยังไม่เย็นสนิทและไม่ถาวร แต่ก็นับว่ามีคุณค่ายิ่งสำหรับจิตมนุษย์เรา เพราะมันได้หล่อเลี้ยงจิตของเราเอาไว้ไม่ให้เร่าร้อนเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลาจนเป็นบ้ากันไปหมด คือนิพพานจะช่วยให้จิตของเราได้รับการพักผ่อนบ้าง ดังนั้นเราจึงควรขอบคุณนิพพานที่มีประโยชน์ต่อเราและไม่เนรคุณต่อนิพพานด้วยการเกลียดกลัวนิพพานโดยไม่รู้ตัว วิกขัมภนนิพพานก็คือขณะที่เราฝึกสมาธิจนถึงฌาน ๔ ซึ่งฌานระดับนี้พระพุทธองค์ทรงสอนว่าจะปรากฏนิพพานชนิดสูงสุด คือเย็นสนิทเหมือนนิพพานถาวร เพียงแต่ถ้าฌานนี้เสื่อมนิพพานนี้ก็จะเสื่อมหายตามไปด้วย สมุจเฉทนิพพานก็คือนิพพานถาวรของพระอรหันต์ที่ทำลายสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ได้แล้ว ถ้าเพิ่งสำเร็จใหม่ๆจะยังไม่เย็นสนิท เพราะขันธ์ยังทำงานอยู่บ้าง ต่อเมื่อสำเร็จนานแล้วจึงจะเย็นสนิทได้
๑๐. วิเวก ๓ วิเวก หมายถึง ความสงบสงัด ซึ่งก็เป็นคำเรียกแทนนิพพานได้ โดยวิเวกนี้จะมีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน อันได้แก่ ๑. กายวิเวก ความสงบสงัดทางกาย ๒. จิตตวิเวก ความสงบสงัดทางจิต ๓. อุปธิวิเวก ความสงบสงัดทางอุปธิ การไม่มีผู้คนรบกวนก็จัดเป็นกายวิเวก ถ้าจิตว่างจากกิเลสหรือนิวรณ์ก็จัดเป็นจิตตวิเวก แต่ถ้าจิตไม่มีอุปธิหรือการเข้าไปแบก เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆให้หนัก ก็เรียกว่าเป็นอุปธิวิเวก และแม้จะอยู่ในที่ที่มีผู้คนมากมาย แต่ถ้ามีอุปธิวิเวกแล้วก็จะทำให้มีกายวิเวกและจิตตวิเวกตามไปด้วย
๑๑. จิตนิพพาน คำว่า จิต มาจากคำว่า วิจิตร ที่หมายถึง สิ่งวิจิตรงดงาม ซึ่งเมื่อเราพิจารณาดูจากจิตของเราเองจริงๆเราก็จะพบว่าจิตก็คือ สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ ซึ่งจิตจะประกอบขึ้นจากวิญญาณ (การรับรู้), เวทนา (ความรู้สึก), สัญญา (ความจำ), และสังขาร (การปรุงแต่งของจิต) โดยวิญญาณจะเป็นพื้นฐานของจิต และมีความรู้สึก, ความจำ, และการปรุงแต่งคิดนึกมาประกอบ จึงเกิดเป็นจิตที่สมบูรณ์ขึ้นมา ถ้าไม่มีวิญญาณ ก็จะไม่มีจิต แต่ถึงจะมีวิญญาณ แต่ถ้าไม่มีความทรงจำ จิตก็จะปรุงแต่งคิดนึกไม่ได้ จะมีก็เพียงการรับรู้และความรู้สึกเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นจิตที่ไม่สมบูรณ์ อย่างเช่น คนที่ขาดออกซิเจนจนสมองตายแล้ว แต่ร่างกายยังไม่ตาย จึงไม่มีความทรงจำใดๆและไม่สามารถจำอะไรได้ รวมทั้งปรุงแต่งคิดนึกไม่ได้ด้วย ก็จะกลายเป็นเจ้าชายนิทรา คือนอนนิ่งๆเหมือนคนตาย แต่ว่ายังไม่ตาย คือจะมีเพียงการรับรู้และมีความรู้สึกอยู่เท่านั้น เป็นต้น จิตนี้โดยสรุปจะมีอยู่ ๓ ลักษณะ อันได้แก่ ๑. จิตไร้สำนึก คือเป็นจิตขณะที่หลับสนิทและไม่ฝัน คือจะมีเพียงวิญญาณเกิดขึ้นมาในร่างกายเท่านั้น ส่วนเวทนา สัญญา และสังขารยังไม่ทำงาน ถ้าไม่มีวิญญาณร่างกายนี้ก็จะตาย ๒. จิตใต้สำนึก หรือจิตกึ่งสำนึก คือจิตขณะที่หลับและฝันอยู่ หรือขณะละเมอ ซึ่งเป็นจิตที่ตื่นยังไม่เต็มที่ มันจะนึกคิดไปเองตามความเคยชินที่มันสั่งสมมาโดยไม่มีการควบคุม เราจึงสามารถดูว่าเรานั้นเป็นคนดีหรือเลวเพียงใดได้ โดยดูจากความฝันของเราเอง ๓. จิตเต็มสำนึก คือจิตขณะที่เรารู้สึกตื่นเต็มที่แล้ว มีเจตนาแล้ว อันเป็นจิตปกติของเรา จิตของมนุษย์เรานี้จะมีนิพพานอยู่แล้วเป็นพื้นฐานตลอดเวลา แต่เพราะความเคยชินที่จะเกิดกิเลสที่มันสั่งสมมาอย่างมากมาย มันจึงเกิดกิเลสขึ้นมาได้ง่ายๆและบ่อยๆ จึงทำให้นิพพานไม่ปรากฏ (คือจิตไม่สามารถรับรู้ได้) พอกิเลสดับหายไป นิพพานก็จะกลับมาปรากฏใหม่ได้อีก สรุปได้ว่านิพพานจะปรากฏแก่จิตที่บริสุทธิ์ (คือไม่มีกิเลส ไม่มีความยึดมั่น) เท่านั้น ดังนั้นจึงเท่ากับว่าไม่มีนิพพานของใคร และไม่มีใครนิพพาน แต่ถ้าใครยังเชื่อว่ามีตัวเองนิพพาน ก็แสดงว่ายังไม่นิพพานจริง ยิ่งใครที่เข้าใจว่านิพพานเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีแต่ความสุขอยู่ชั่วนิรันดร ก็ยิ่งห่างไกลนิพพานที่แท้จริง
จบบทที่ ๓
|