-๕-

 

บทที่  ๒  สมุทัย

๑.   จิตเดิมแท้ประภัสสร

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า

 

            “ภิกษุทั้งหลาย.  จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร  แต่จิต (ที่มีธรรมชาติประภัสสร) นั้นแล เข้าถึงความเศร้าหมองแล้ว  เพราะอุปกิเลสเป็นอาคันตุกะจรมา  เรากล่าวว่า  ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ  ย่อมไม่รู้ชัดตามที่เป็นจริง  เพราะเหตุนั้นจิตตภาวณา  ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ  ดังนี้.

            ภิกษุทั้งหลาย.  จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร  แต่จิต (ที่มีธรรมชาติประภัสสร) นั้นแล เป็นจิตพ้นวิเศษจากอุปกิเลสอันเป็นอาคันตุกะจรมานั้นได้  เรากล่าวว่า  อริยสาวกผู้มีการสดับ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริง  ซึ่งความจริงข้อนั้น  เพราะเหตุนั้น  จิตตภาวณา  ย่อมมีแก่อริยสาวกผู้มีการสดับ  ดังนี้.”

 

จิตประภัสสรก็คือจิตที่บริสุทธิ์  หรือสะอาด หรือว่าง หรือจิตดั้งเดิมของทุกชีวิต คือเป็นจิตที่ไม่มีกิเลสและความยึดถือว่ามีตัวตนของใครๆอยู่เลย รวมทั้งจะมีความสงบเย็นหรือนิพพานอยู่แล้วตามธรรมชาติ  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงสอนว่า  จิตของเด็กทุกคนที่เกิดมาใหม่ๆนั้นจะมีความประภัสสรมาก่อน  แต่เพราะไม่มีสมาธิและปัญญามารักษาความประภัสสรเอาไว้  เมื่อจิตเด็กได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆของโลกและเกิดเวทนาขึ้น  จิตของเด็กจึงเริ่มมีความพอใจต่อสุขเวทนาและไม่พอใจต่อทุกขเทนา  รวมทั้งลังเลใจต่ออทุกขมสุขเวทนาตามสัญชาติญาณ   ซึ่งนี่ก็คือการเกิดกิเลสขึ้นมา แล้วทำให้ความประภัสสรนี้หายไป   พอกิเลสดับไปตามธรรมชาติของมัน (หรือเพราะมีการปฏิบัติอริยมรรคอย่างถูกต้อง) ความประภัสสรก็จะกลับคืนมาได้อีก  ซึ่งจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปจนโตเป็นผู้ใหญ่  และก็จะทำให้มีความเคยชินมากที่จะเกิดกิเลสได้ง่ายขึ้น รุนแรงขึ้น รวมทั้งทำลายได้ยากขึ้นด้วย

 เรื่องจิตประภัสสรนี้เราจะต้องเข้าใจก่อนมิฉะนั้นจะไม่เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท  คือความประภัสสรและนิพพานนั้นมีอยู่แล้วตามธรรมชาติในจิตของมนุษย์ทั้งหลาย  แต่เพราะกิเลสเกิดขึ้นมาจึงทำให้ความประภัสสรและนิพพานนี้หายไปเป็นครั้งคราว  มิใช่ว่าจะมีกิเลสเกิดอยู่ตลอดเวลา  ถ้าใครไม่เข้าใจจุดนี้การปฏิบัติของเขาก็จะไม่มีผลเป็นความดับลงของทุกข์จริง   คือคนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่าจิตนี้คือตัวเองและมีกิเลสมาครอบงำ ดังนั้นจึงทำให้คนที่ไม่เข้าใจนี้ปฏิบัติผิด คือมาปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสออกไปจากจิตของตัวเอง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะ “ความยึดถือว่ามีตัวเอง” นี้มันก็คือกิเลสที่ละเอียดลึกซึ้งที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราว คือถึงแม้การปฏิบัติศีลและสมาธิ จะทำให้กิเลสหยาบๆระงับหรือดับลงไปได้ก็ตาม แต่กิเลสที่ละเอียดลึกซึ้งหรือความยึดถือว่ามีตัวเองนี้ก็หาได้ระงับหรือดับลงไม่  ดังนั้นจิตที่ยังมีกิเลสหรือมีความยึดถือว่ามีตัวเองอย่างลึกซึ้งอยู่นี้ จึงยังคงมีความทุกข์อย่างลึกซึ้งอยู่ต่อไป ไม่สามารถสงบเย็นหรือนิพพานได้จริง  จนกว่าจิตนี้จะเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “แท้จริงแล้วจิตนี้ไม่ได้มีตัวตนของใครๆอยู่จริง” ส่วนความรู้สึกว่ามีตัวเองที่เกิดขึ้นมานี้ มันก็คือกิเลสที่ลึกซึ้งที่จิตโง่มันปรุงแต่งขึ้นมาเป็นครั้งคราวเท่านั้น เมื่อเข้าใจดังนี้แล้วก็จะทำให้การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง คือเป็นการปฏิบัติศีลและสมาธิ เพื่อระวังไม่ให้กิเลสที่ละเอียดลึกซึ้งหรือความยึดถือว่ามีตัวเองเกิดขึ้นมาในจิต เมื่อจิตไม่มีกิเลสใดๆ มันก็จะไม่มีความทุกข์ใดๆ หรือนิพพานได้อย่างแท้จริง

 

 ๒.  ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทวาร

อริยสัจ  ๔  นั้นมีการกล่าวถึงสาเหตุของทุกข์ทั้งอย่างหยาบๆและอย่างละเอียด  ซึ่งที่กล่าวอย่างหยาบๆก็จะกล่าวเพียงว่า “ตัณหาเป็นสาเหตุของทุกข์” เท่านั้น   แต่ถ้าจะกล่าวให้ละเอียดแล้วจะต้องกล่าวว่า มันมีการปรุงแต่งผลักดันกันให้เกิดอาการต่างๆติดต่อกันขึ้นมาอย่างรวดเร็วถึง   ๑๒   อาการ ก่อนที่จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาในแต่ละครั้ง ซึ่งลักษณะนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ที่แปลว่า การเกิดขึ้นร่วมกันโดยอาศัยกัน ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เป็นเหตุและเป็นผลอาศัยเกิดขึ้นติดต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย (บางทีก็เรียกว่า ปัจจยาการ ที่แปลว่า การอาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น) โดยปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คือ “อิทัปปัจจยตา” ที่อยู่ในจิตของมนุษย์ ที่เป็นการปรุงแต่งผลักดันกันต่อๆไปจนทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมา

ปฏิจสมุปบาทฝ่ายสมุทวาร (ฝ่ายเกิดทุกข์) ทั้ง  ๑๒  อาการนี้ก็ได้แก่

เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย                จึงมีสังขาร,

เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย                จึงมีวิญญาณ,  

เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย              จึงมีนามรูป,  

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย                จึงมีสฬายตนะ,

เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย            จึงมีผัสสะ,  

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย                 จึงมีเวทนา, 

เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย                จึงมีตัณหา,  

เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย                จึงมีอุปาทาน,  

เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย              จึงมีภพ,  

เพราะมีภพเป็นปัจจัย                    จึงมีชาติ,  

เพราะมีเป็นชาติปัจจัย                   จึงมีชรา มรณะ ...ความเศร้าโศก  (ความทุกข์).

ในขณะที่จิตของเรากำลังเกิดความทุกข์ทั้งหลายอยู่นั้น มันจะมีอาการต่างๆเกิดขึ้นมาปรุงแต่งผลักดันกันอยู่อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ   ซึ่งสามารถแยกออกมาศึกษาได้ถึง  ๑๒  อาการ โดยมีอวิชชาเป็นต้นขั้ว และมีความทุกข์เป็นผลสุดท้าย โดยอาการของปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คือการปรุงแต่งผลักดันกันให้เกิดขึ้นมาเป็นทอดๆ โดยจะใช้คำว่า ปัจจัย ที่แปลว่า เหตุ, หรือสิ่งสนับสนุน  ซึ่งอาการแต่ละอาการนั้นก็มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

๓.  อวิชชา  สัญชาตญาณแห่งตัวตน

อวิชชา แปลว่า ไม่ใช่วิชชา (วิชชา แปลว่า ความรู้สูงสุด หรือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ โดยมีหัวใจอยู่ที่ความรู้ว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง”) คือหมายถึง ความโง่สูงสุด หรือ ความไม่รู้อริยสัจ ๔ โดยหัวใจของอวิชชาก็คือ  ความรู้ว่ามีตัวเอง หรือ ความรู้ว่ามีตัวตน ซึ่งเมื่อเน้นมาพิจารณาที่ชีวิตของเราก็เรียกว่าเป็น “ความรู้ว่ามีตัวเรา” โดยอวิชชานี้จัดว่าเป็นสัญชาติญาณแห่งความมีตัวตนของมนุษย์ และจะมีอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคน และคอยครอบงำจิตใจของมนุษย์ทุกคนเอาไว้  คือเมื่อจิตเกิดขึ้นหรือรู้สึกตัวขึ้นมาเมื่อใด อวิชชาหรือความรู้ว่ามีตัวเรานี้ก็จะเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ

 

๔.  สังขาร - การปรุงแต่ง

สังขาร  แปลว่า  ปรุงแต่ง     ซึ่งคำว่าสังขารนี้จะหมายถึง กิริยาปรุงแต่ง ก็ได้, หรือจะหมายถึง การถูกปรุงแต่ง ก็ได้  หรือจะหมายถึง สิ่งของที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ก็ได้    โดยสังขารในปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คือสังขาร  ๓   อันได้แก่

               ๑. กายสังขาร   คือสภาพการปรุงแต่งทางกาย

               ๒. วจีสังขาร    คือสภาพการปรุงแต่งทางวาจา

               ๓. จิตตสังขาร  คือสภาพการปรุงแต่งทางจิต

สังขารในปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คือจิตตสังขาร ซึ่งเป็นอาการที่จิตใต้สำนึกปรุงแต่งขึ้นมาเองอย่างรวดเร็ว โดยควบคุมไม่ได้ เรียกว่ามันเป็นของมันเองโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีการปรุงแต่งทางจิตแล้วก็จะมีการปรุงแต่งทางวาจาและกายต่อไป

 

๕.  วิญญาณ - การรับรู้

วิญญาณนี้ก็คือวิญญาณ ๖ อันเป็นการรับรู้ทางอายตนะภายในทั้ง ๖ อันได้แก่ ๑. วิญญาณทางตา, ๒. วิญญาณทางหู, ๓. วิญญาณทางจมูก, ๔. วิญญาณทางลิ้น, วิญญาณทางกาย, และวิญญาณทางใจ

 

๖.  นามรูป - รูปกับนาม

นามรูปก็คือขันธ์ทั้ง  ๕   อันได้แก่ ๑. รูปขันธ์ (ร่างกาย), ๒. เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก), ๓. สัญญาขันธ์ (ความจำ), ๔. สังขารขันธ์ (การปรุงแต่งของจิต), ๕. วิญญาณขันธ์ (การรับรู้ทัง ๖ ของจิต)

 

๗.  สฬายตนะ - อายตนะ  ๖

สฬายตนะ ก็คือ  อายตนะภายในทั้ง  ๖  อันได้แก่  ตา, หู , จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ  ซึ่งเป็นเครื่องเชื่อมต่อภายใน ที่มีไว้สำหรับเชื่อมต่อกับอายตนะภายนอก (หรืออารมณ์) อันได้แก่ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธรรมารมณ์

 

๘.  ผัสสะ - การสัมผัส

ผัสสะ  แปลว่า   การสัมผัส  ซึ่งการที่จะเกิดผัสสะขึ้นที่ใดจะต้องประกอบด้วย (๑) อายตนะภายใน และ (๒) อายตนะภายนอก  รวมทั้ง (๓) วิญญาณทางอายตนะภายในนั้นด้วย  ถ้าไม่พร้อมทั้ง  ๓  อย่างก็จะยังไม่เกิดผัสสะ 

 

๙.  เวทนา - ความรู้สึกต่ออารมณ์

อายตนะภายนอกนั้นเรานิยมเรียกว่า “อารมณ์”  ที่หมายถึง  สิ่งสำหรับให้จิตจับยึด  คือเมื่อเกิดผัสสะก็จะเกิดความรู้สึก (เวทนา) ต่ออารมณ์ที่กำลังสัมผัสอยู่นั้นด้วยทันที  ซึ่งเวทนาก็มี   ๓  อย่าง คือ (๑) สุขเวทนา  ความรู้สึกสุข, (๒) ทุกขเวทนา  ความรู้สึกทุกข์, และ (๓) อทุกขมสุขเวทนา   ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์   โดยเวทนาทั้ง  ๓  นี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตามผัสสะทั้ง  ๖

 

๑๐. ตัณหา - อยากด้วยอวิชชา

ตัณหา แปลว่า ความอยาก ซึ่งตัณหานี้ก็แยกได้  ๓ ชนิดคือ

๑.   กามตัณหา   ความอยากได้ (ในสิ่งที่ให้ความสุขหรือสิ่งที่น่าพึงพอใจทั้งหลาย)

๒.   ภวตัณหา    ความอยากมีอยากเป็น (อยากเป็นอยู่ในสภาพที่น่าพึงพอใจนั้นตลอดไป)

๓.   วิภวตัณหา ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น

ตัณหาทั้ง ๓ นี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในอารมณ์ทั้ง ๖  คือเมื่อเกิดเวทนาขึ้นมาแล้วก็จะเกิดความอยากในเวทนาของอารมณ์ทั้งหลายขึ้นมาด้วยทันที คือเมื่อเกิดสุขเวทนา ก็จะเกิดกามตัณหาตามมา, เมื่อเกิดทุกขเวทนา ก็จะเกิดวิภวตัณหาตามมา, เมื่อเกิดอทุกขมสุขเวทนา ก็จะเกิดภวตัณหาขึ้นมาทันที

 

๑๑.  อุปาทาน - ความยึดมั่น

อุปาทาน  แปลว่า  ความยึดมั่นถือมั่น หรือ ความยึดถือ   คือเป็นอาการที่จิตเข้าไปแบกไปหาม หรือไปยึดครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเอาไว้ด้วยความรัก ความพอใจ  ซึ่งความยึดมั่นนี้มีอยู่  ๔  อย่าง อันได้แก่

๑.   กามุปาทาน  ยึดมั่นในวัตถุที่น่ารักน่าใคร่

๒.   ทิฏฐุปาทาน   ยึดมั่นในความเห็น

๓.   สีลัพพัตตุปาทาน   ยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติ

๔.  อัตตาวุปาทาน   ยึดมั่นว่ามีตนเอง

ความยึดมั่นว่ามีตนเองนี้จะเป็นหลัก และมีวัตถุกาม หรือความเห็น หรือข้อวัตรปฏิบัติเป็นของตนควบคู่มาด้วยเสมอ คือจะมี ตัวตน-ของตน (กรณีที่มองโดยภาพรวม) หรือ ตัวเรา-ของเรา (กรณีที่มองมาที่ชีวิตของเราเอง) หรือ ตัวกู-ของกู (กรณีที่เกิดเป็นตัวตนที่ชั่ว) เกิดขึ้นมา

 

๑๒.  ภพ  - ความมีความเป็น

ภพ  แปลว่า  ความมีความเป็น   ซึ่งเป็นความมีความเป็นในทางจิต โดยภพนี้ก็มีอยู่  ๓  ลักษณะ อันได้แก่

               ๑. กามภพ  ภพมีกาม (วัตถุกาม)

               ๒. รูปภพ    ภพมีรูป (วัตถุ)

               ๓. อรูปภพ  ภพมีอรูป (เกียรติยศ ชื่อเสียง)

      คำว่าภพนี้หมายถึงภาวะที่เกิดขึ้นมารองรับจิตที่เกิดความยึดถือขึ้นมาด้วยอวิชชา ถ้าจิตเกิดขึ้นมาพร้อมกับกามารมณ์ ก็เรียกว่าจิตเกิดในกามภพ ถ้าจิตเกิดขึ้นมาพร้อมกับรูป ก็เรียกว่ารูปภพ ถ้าจิตเกิดขึ้นมาพร้อมกับอรูป ก็เรียกว่าอรูปภพ

      

๑๓.  ชาติ - การเกิดทางจิต

ชาติ  แปลว่า  การเกิด   ซึ่งก็มีทั้งการเกิดทางกายและการเกิดทางจิต   โดยชาติในปฏิจจสมุปบาทนี้ก็คือการเกิดทางจิต  คือจากจิตที่บริสุทธิ์ที่ไม่มีความยึดถือว่ามีตัวตนใดๆเกิดขึ้น แล้วก็มีความยึดถือว่ามีตัวตนเกิดขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าเป็นชาติ หรือการเกิด

 

๑๔.  ชรามรณะ คือทุกข์

ชรา มรณะ ก็คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดมั่นว่ามีตัวเราแก่บ้าง, หรือจะตายบ้าง เป็นต้น แล้วก็ทำให้จิตเกิดความเศร้าโศกเสียใจ เป็นต้น หรือ ความทุกข์ประการต่างๆตามมา  

 

๑๕. การปรุงแต่งอย่างสายฟ้าแลบ

การปรุงแต่งของปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๒ อาการนี้จะทยอยเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ กว่าจะรู้ตัวจิตก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว คือขณะที่จิตของเรากำลังเกิดความทุกข์อยู่นั้น ปฏิจจสมุปบาทก็กำลังทำงานหรือปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการเหยียบคันเร่งของรถยนต์อยู่ตลอดเวลา หรือเหมือนกับการเปิดสวิทซ์ไฟฟ้าแล้วทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นมา โดยรายละเอียดของอาการปรุงแต่งทั้ง ๑๒ อาการนั้นก็คือ

๑. เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ก็หมายถึงว่า เมื่อจิตตื่นอยู่และจิตไม่มีสติ สมาธิและปัญญา จึงทำให้อวิชชาหรือ “ความรู้ว่ามีตัวเรา” เกิดขึ้นมาครอบงำจิต และเมื่ออวิชชาครอบงำจิตแล้วจึงทำให้จิตตสังขารหรือการปรุงแต่งของจิต จากที่เดิมยังเป็นการปรุงแต่งที่บริสุทธิ์ (คือยังไม่มีความรู้ว่ามีตัวเราครอบงำ) เปลี่ยนมาเป็นการปรุงแต่งที่ไม่บริสุทธิ์ (คือเป็นการปรุงแต่งไปด้วยความรู้ว่ามีตัวเรา) ขึ้นมาทันที

๒. เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ก็หมายถึงว่า เมื่อจิตปรุงแต่งโดยมี “ความรู้ว่ามีตัวเรา” ครอบงำอยู่ จึงทำให้วิญญาณ หรือการรับรู้ (ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) จากที่เดิมยังบริสุทธิ์อยู่ (คือยังไม่มีความรู้ว่ามีตัวเราคอบงำ) เปลี่ยนมาเป็นวิญญาณที่ไม่บริสุทธิ์ (คือเกิดมี ความรู้ว่ามีตัวเราที่เป็นผู้รับรู้) ขึ้นมาทันที

๓. เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ก็หมายถึงว่าเมื่อเกิดมี “วิญญาณหรือความรู้ว่ามีตัวเราที่เป็นผู้รับรู้” ขึ้นมา จึงทำให้นามรูป (หรือขันธ์ ๕) ที่เดิมยังบริสุทธิ์อยู่ (คือยังไม่มีอวิชชาหรือความรู้ว่ามีตัวเราครอบงำ) เปลี่ยนมาเป็นนามรูป (หรือขันธ์ ๕) ที่มีอวิชชาครอบงำทันที ซึ่งจุดนี้ก็คือ จิตได้เกิดความรู้สึกตัว (สัมปฤดี) ว่ามีตนเอง (หรือตัวเรา) ขึ้นมาแล้วอย่างอ่อนๆ

๔. เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ก็หมายถึงว่า เมื่อขันธ์ ๕ เกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” ขึ้นมาแล้ว จึงทำให้ อายตนะภายในทั้ง ๖ (คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) จากที่เดิมยังไม่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา เปลี่ยนมาเป็น อายตนะภายในที่ถูกครอบงำเด้วยอวิชชาทันที ซึ่งจุดนี้ก็คือขันธ์ ๕ ที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้มีอายตนะภายใน ที่พร้อมที่จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆภายนอกแล้ว

๕. เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ   ก็หมายถึงว่า เมื่ออายตนะภายในทั้ง ๖ ถูกครอบงำด้วยอวิชชาและเกิดขึ้นมารออยู่แล้ว เมื่อมีสิ่งต่างๆภายนอก (คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ ธรรมารมณ์) มากระทบเข้ากับอายตนะภายในใด ก็จะทำให้วิญญาณ (ที่มีอวิชชาครอบงำอยู่แล้วตั้งแต่ต้นแล้ว) เกิดขึ้นมาที่อายตนะภายในนั้นทันที ซึ่งเมื่อมีสิ่งทั้ง ๓ นี้เกิดขึ้นมาพร้อมกันเมื่อใด ก็เรียกว่าเกิด ผัสสะ หรือการสัมผัสที่มีอวิชชาครอบำงอยู่ขึ้นมาแล้ว ซึ่งเป็นการสัมผัสด้วยความรู้สึกว่ามีตัวเราเป็นผู้สัมผัส ขึ้นมาทันที

๖. เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ก็หมายถึงว่า เมื่อมีความรู้สึกว่ามีตัวเราเป็นผู้สัมผัส ก็จะทำให้เกิดเวทนา (คือความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) เกิดขึ้นมาที่อายะตนะภายในนั้นทันที คือมันทำให้เกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเราที่เป็นผู้กำลังมีความรู้สึกต่อสิ่งที่กำลังสัมผัสอยู่”

๗. เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา ก็หมายถึงว่า เมื่อเกิดความรู้สึก (เวทนา) ใดขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้เกิดตัณหา (ความอยากที่รุนแรง) ตามเวทนานั้นขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งจุดนี้ก็คือได้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราที่เป็นผู้มีตัณหาขึ้นมาแล้ว ขึ้นมาทันที

๘. เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย  จึงมีอุปาทาน ก็หมายถึงว่า ก็หมายถึงว่า เมื่อเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราที่เป็นผู้มีตัณหาขึ้นมาเมื่อใด จิตก็จะเกิด “ความยึดถือว่ามีตัวเรา” ที่เป็นผู้มีตัณหาขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งจุดนี้ก็คือจิตได้ปรุงแต่งให้เกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเราที่เข้มขึ้น” ขึ้นแล้ว

๙. เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ  ก็หมายถึงว่า เมื่อจิตเกิด “ความยึดถือว่ามีตัวเรา” ขึ้นมาเมื่อใด ตัวเราที่เกิดขึ้นมานั้น เมื่อเกิดจากตัณหาใด ก็ย่อมที่จะมีภาวะ (หรือภพ) ไปตาม ตัณหานั้นด้วยทันที คือเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา ที่กำลังมีความสุขจากเรื่องกามารมณ์อยู่บ้าง, หรือมีตัวเราที่กำลังมีความสุขจากสิ่งเป็นวัตถุสิ่งของที่ไม่ใช่กามารมณ์อยู่บ้าง, หรือมีตัวเราที่กำลังมีความสุขจากชื่อเสียง ความเด่น ดัง หรือการมีอนาจอยู่บ้าง

๑๐. เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ   ก็หมายถึงว่า เมื่อ “ตัวเราที่เกิดขึ้นมาในภพต่างๆนั้น มีความเข้มข้นขึ้นเต็มที่” จึงเกิดมี “ตัวเรา” ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ คือได้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราที่เข้มข้นขึ้นอย่างเต้มที่แล้วในจิตที่มีอวิชชาครอบงำอยู่

๑๑. เพราะมีเป็นชาติปัจจัย จึงมีชรา มรณะ ...ความเศร้าโศก (ความทุกข์) ก็หมายถึงว่า เมื่อเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาแล้ว เมื่อตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้ ต้องมาพบกับภาวะต่างๆของร่างกายที่ไม่น่ายินดี เช่น ร่างกายกำลังเหน็ดเหนื่อย หรือหิวโหย หรือร้อน-หนาวมาก หรือกำลังจ็บ-ป่วยอยู่ หรือกำลังแก่ชราอยู่, หรือกำลังจะตาย เป็นต้น หรือชีวิตของเรานี้กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่ หรือกำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่ไม่น่ารักหรือน่าเกลียดน่ากลัวอยู่ เป็นต้น จึงทำให้ “ตัวเรา” ที่เกิดขึ้นมานี้เกิดความเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ หรือทรมานใจ เป็นต้น ที่เรียกว่าความทุกข์ขึ้นมาด้วยทันที

 โดยอาการทั้ง ๑๒ นี้สามารถย่อลงได้ ๒ ลักษณะ คือ

๑. จากอวิชชาปรุงแต่งกันจนมาถึง อายตนะ ๖ ซึ่งเป็นอาการที่อวิชชาปรุงแต่งจิต จนทำให้จิตเกิดความรู้สึกตัวว่ามีตัวตนอ่อนๆและอายตนะรออยู่แล้ว ซึ่งปกติจิตของเราก็จะเกิดอาการนี้กันอยู่แล้วเกือบจะทั้งวัน ซึ่งลักษณะนี้ก็เพียงทำให้จิตเศร้าหมอง และไม่สงบเย็นบ้างเท่านั้น ยังไม่เป็นทุกข์รุนแรง เพราะยังไม่เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา

๒. จากผัสสะปรุงแต่งกันจนมาเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นอาการขณะที่มีอารมณ์ (คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส โผฏฐัพพะ, ธรรมารมณ์) ภายนอกมาสัมผัสจิต แล้วจิตก็ปรุงแต่งกันจนเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา แล้วตัวเราที่เกิดขึ้นมาจากความโง่สูงสุดนี่เอง ที่ต้องเป็นทุกข์รุนแรงไปตามความอยากของความยึดถือ (ยิ่งอยากมากก็ยิ่งทุกข์มาก ถ้าอยากน้อยก็ทุกข์น้อย)

 

๑๖.  ปฏิจจสมุปบาทแบบสั้น

ในบางครั้งพระพุทธองค์จะทรงตรัสเรื่องปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทวารนี้แบบสั้นๆ คือทรงตรัสว่า

 

               “เมื่อตามาถึงกันเข้ากับรูป และเกิดวิญญาณทางตาขึ้น เรียกว่า ผัสสะ แล้วก็

เกิดเวทนา,  ตัณหา,  อุปาทาน,  ภพ , ชาติ,  และทุกข์  (ซึ่งแม้ในกรณีของหู จมูก  ลิ้น

 กาย  และใจ  ก็เหมือนในกรณีของตา)”

 

ในการเกิดทุกข์นั้นจะเริ่มจากการที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรานั้นได้สัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์  แล้วเกิดเป็นผัสสะขึ้นมา และเกิดเป็นเวทนา,  ตัณหา, อุปาทาน,  ภพ,  ชาติ, และทุกข์ขึ้นมา  แต่ก่อนที่จะเกิดผัสสะขึ้นมานั้น มันก็ได้มีการปรุงแต่งด้วยอวิชชาให้เกิดมีตัวตนอ่อนๆและมีอายตนะภายในรออยู่ก่อนแล้ว  พอมีอารมณ์ภายนอกมาสัมผัสกับอายตนะภายในเข้าจึงเกิดเป็นผัสสะ,  เวทนา,  ตัณหา, อุปาทาน, ภพ, ชาติ, และทุกข์ไปตามลำดับอย่างรวดเร็ว  ซึ่งนี่ก็คือการเกิดทุกข์อย่างที่ ๒ นั่นเอง ซึ่งการตรัสอย่างนี้ทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่าอย่างที่ ๑ เพียงแต่ว่ายังไม่ละเอียดเท่านั้น

 

๑๗.  กิเลส ๓

กิเลส แปลว่า สิ่งเศร้าหมอง หรือ สิ่งสกปรก หรือหมายถึง สิ่งทำความเศร้าหมอง หรือ สิ่งทำความสกปรก ซึ่งกิเลสของจิตก็คือ สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองหรือสกปรก โดยกิเลสนี้ก็คืออาการของจิตที่ปรุงแต่งไปในลักษณะ ๓ อาการ อันได้แก่

๑. ราคะ คือ ความกำหนัดยินดี หรือ ความติดอกติดใจ , แต่เมื่อเกิดอยากได้ขึ้นมาก็เรียกว่า โลภะ คือ ความอยากได้เอาเข้ามาเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นกิเลสประเภทเอาเข้ามาหาตัวเอง หรือพวกความพอใจ หรือ ความยินดี

๒. โทสะ คือ ความโกรธ ซึ่งเป็นกิเลสประเภทผลักออกไปจากตัวเอง หรือพวกความไม่พอใจ  หรือ ความยินร้าย หรือความเบื่อหน่าย

๓. โมหะ คือ ความหลง (คือหลงผิด หรือหลงทาง) หรือ ความมืดบอด หรือความไม่รู้ หรือ งง เซ่อ ซึ่งเป็นกิเลสประเภทลังเลใจ คือไม่ใช่ทั้งดึงและผลัก แต่ยังลังเลใจอยู่ หรือไม่แน่ใจ

สาเหตุที่เรียกอาการเหล่านี้ว่าเป็นกิเลสก็เพราะหมายถึงว่าอาการเหล่านี้ทำให้จิตเกิดความเศร้าหมองหรือสกปรกขึ้นมา คือปกติจิตของมนุษย์เราจะมีความประภัสสรหรือบริสุทธิ์อยู่ก่อนแล้ว แต่พอจิตเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมา จึงทำให้ความบริสุทธิ์นั้นหายไป กลายเป็นจิตที่เศร้าหมองหรือสกปรกขึ้นมา ซึ่งอาการของกิเลสนี้แท้จริงก็คืออาการของ “ตัณหา” ในปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์นั่นเอง คือบางทีเราก็พูดว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือกิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

กิเลสหรือตัณหานี้สรุปก็คืออาการของจิตที่ปรุงแต่งไปในทาง “พอใจ” หรือ “ยินดี” ต่อความสุข (สุขเวทนา) และ “ไม่พอใจ” หรือ “ยินร้าย” ต่อความทุกข์ (ทุกขเวทนา) แล้วก็ทำให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเองขึ้นมาจนเกิดความทุกข์ขึ้นมาในที่สุด แต่ถ้ากิเลสนี้ยังไม่รุนแรงหรือเกิดขึ้นมาอ่อนๆ เราก็เรียกว่าเป็น นิวรณ์ ที่หมายถึง สิ่งปิดกั้นความดี หรือทำให้จิตไม่มีสมาธิและปัญญา หรือปิดกั้นจิตไม่ให้นิพพาน ซึ่งปกตินิวรณ์นี้จะเกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวัน แล้วก็ทำให้จิตของเราเพียงขุ่นมัว ไม่สงบ ไม่แจ่มใส หรือไม่นิพพานเท่านั้น ส่วนกิเลสจะเกิดขึ้นน้อยกว่า คือกิเลสจะเกิดเฉพาะเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมาสัมผัส แต่เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้วจะทำให้จิตเกิดความทุกข์ที่รุนแรง   

 

๑๘. นันทิ - ความเพลินในเวทนา

นันทิ  แปลว่า  ความเพลิน  ซึ่งก็หมายถึงความเพลินในเวทนา  ซึ่งมีอยู่  ๓ อาการ คือ

               ๑.  เพลินอยู่ในสุขเวทนาด้วยอำนาจของ ราคะ

               ๒.  เพลินอยู่ในทุกขเวทนาด้วยอำนาจของ โทสะ

               ๓.  เพลินอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาด้วยอำนาจของ โมหะ

ทุกครั้งที่จิตของเราเกิดกิเลสและเกิดกระแสปฏิจสมุปบาทฝ่ายสมุทวารอยู่นั้น  จิตของเราจะมีความเพลินหรือพอใจอย่างลึกๆในเวทนาอยู่ด้วย  คือเพลินในสุขเวทนาด้วยราคะ (ติดใจ) เพลินในทุกขเวทนาด้วยโทสะ (ขัดเคืองใจ) และเพลินในอทุกขมสุขเวทนาด้วยโมหะ (โง่ เซ่อ งง)

 

๑๙.  อนุสัย  ๓

อนุสัย  หมายถึง  ความเคยชิน   คือทุกครั้งที่จิตของเราได้เกิดกิเลสตัวใดขึ้นมาแล้ว และแม้มันจะดับไปแล้วก็ตาม  แต่มันจะทิ้งความเคยชินไว้ให้ คือมันจะทำให้จิตของเราเกิดกิเลสตัวนั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น  ยิ่งถ้าเกิดกิเลสขึ้นมาบ่อยๆก็จะยิ่งมีอนุสัยมากขึ้น  ซึ่งอนุสัยนี้ถ้าจะแยกแล้วก็ได้  ๓  ประเภท อันได้แก่

               ๑.  ราคานุสัย        ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสประเภทราคะขึ้นมาอีก

               ๒.  ปฏิฆานุสัย      ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสประเภทโทสะขึ้นมาอีก

               ๓.  อวิชชานุสัย     ความเคยชินที่จะเกิดอวิชชาขึ้นมาอีก

อนุสัยนี้จะเกิดมาจากนัททิอีกทีหนึ่ง  ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเอาไว้ว่า  “ไม่ว่ากิเลสตัวใดจะเกิดขึ้นมาในจิตเรา มันหาได้ทิ้งความเคยชินที่จะเกิดเฉพาะกิเลสของตัวนั้นไว้ไม่ แต่มันจะเกิดความเคยชินของกิเลสที่เหลืออีกสองตัวทิ้งเอาไว้ให้แก่จิตด้วยเสมอทุกครั้ง” คือสรุปว่าไม่ว่ากิเลสตัวใดจะเกิดขึ้น มันจะทิ้งอนุสัยของกิเลสทุกตัวไว้ให้ด้วยเสมอ อย่างเช่น คนที่มีราคะมากๆ ก็จะมีโทสะมาก และมีอวิชชามากตามไปด้วย เป็นต้น

 

๒๐.  อาสวะ  ๓

อาสวะ  หมายถึง  สิ่งที่ผลักดันกันออกมาจากการสั่งสมเอาไว้  ซึ่งอาสวะนี้ก็แยกได้  ๓  ประเภท  อันได้แก่

๑. กามาสวะ  กาม (ความใคร่ของจิต) ที่ผลักดันอันออกมา

๒. ภวาสวะ    ภพที่ผลักดันอันออกมา

๓. อวิชชาสวะ  อวิชชาที่ผลักดันกันออกมา

เมื่อเรามีอนุสัยมากๆ  พอเกิดผัสสะและเวทนาใดๆขึ้นมาก็จะทำให้ อวิชชา, ตัณหา, อุปาทาน, ภพ, ชาติ, และทุกข์ก็จะเกิดตามขึ้นมาอย่างรวดเร็วทันที  ซึ่งห้ามไม่ได้เลยถ้ามีอนุสัยสั่งสมเอาไว้มากๆ   

 

๒๑.  สังโยชน์  ๑๐

สังโยชน์  หมายถึง  เครื่องผูก  คือหมายถึงสิ่งที่ผูกจิตให้ติดอยู่ในทุกข์ ซึ่งแยกตามลำดับจากหยาบไปหาละเอียดได้  ๑๐  ขั้นอันได้แก่

๑. สักกายทิฎฐิ  ความเห็นว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นตน (เป็นอัตตา)

๒. วิจิกิจฉา    ความไม่แน่ใจในคำสอนหรือสิ่งที่เชื่อถืออยู่

๓. สีลัพพตปรามาส  การปฏิบัติที่ผิดจากจุดมุ่งหมายที่แท้จริง (งมงาย)

๔. กามราคะ    ความกำหนัดยินดีในกามารมณ์ (เรื่องทางเพศ)

๕. ปฏิฆะ   ความรู้สึกอึดอัดขัดเคืองใจ

๖. รูปราคะ   ความติดใจในสุขเวทนาจากรูปารมณ์ (พวกวัตถุ)

๗. อรูปาราคะ  ความติดใจในสุขเวทนาจากอรูปารมณ์ (พวกชื่อเสียงเกียรติยศ)

๘. มานะ  ความถือตัวเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น (ว่าเหนือ หรือเสมอ หรือต่ำกว่า)

๙. อุจธัจจะ  ความฟุ้งซ่านหรือความตื่นเต้นเล็กๆน้อย

๑๐. อวิชชา  สัญชาติญาณแห่งความมีตัวตน (ความรู้ว่ามีตนเอง)

เมื่อเกิดดวงตาเห็นธรรมก็จะทำลายสังโยชน์  ๓   ตัวแรกได้ (มีความเข้าใจแล้วว่าไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะเป็นอัตตาได้) ส่วนสังโยชน์ที่ละเอียดที่เหลือนั้นจะต้องมีการปฏิบัติอริยมรรคให้มากและต่อเนื่อง  จนทำให้ความเคยชินของกิเลสและอวิชชาถูกตัดอาหารหรือขาดความเคยชินเพิ่ม มันก็จะค่อยๆแห้งเหี่ยวตายหรือหมดความเคยชินไปของมันเอง

 

๒๒.  กุศล – อกุศล - อพยากฤต

ธรรม ที่หมายถึง “สิ่ง” นี้สามารถแยกได้   ๓  ประเภท อันได้แก่

               ๑.  กุศลธรรม    สิ่งที่ถูกต้องดีงาม

               ๒.  อกุศลธรรม  สิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงาม

               ๓.  อพยากตาธรรม  สิ่งที่บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี

กุศล  แปลว่า  ฉลาด, ถูกต้อง,  ดีงาม  ซึ่งได้แก่ กุศลกรรม, ศีล, บุญ, ทาน, มรรค, วิชชา เป็นต้น

อกุศล  แปลว่า  ไม่ฉลาด,  ผิด,  ชั่ว  ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรม,  บาป, กิเลส, นิวรณ์, สังโยชน์ เป็นต้น

อพยากฤต  แปลว่า บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี  ซึ่งได้แก่นิพพาน และสภาวะของพระอริยบุคคล

 

๒๓.  กรรม  การกระทำด้วยเจตนา

กรรม  แปลว่า  การกระทำด้วยเจตนา   ซึ่งเจตนานี้ก็คือกิเลส (ความยินดี-ยินร้าย) คือถ้าเรามีเจตนาในการกระทำไม่ว่าจะทางกาย หรือวาจา หรือใจของเราก็ตาม ก็จะเรียกว่าเป็นกรรมทันที  แต่ถ้าไม่มีเจตนาจะไม่เรียกว่าเป็นกรรม แต่จะเรียกว่าเป็น กิริยา ซึ่งมีผลเป็น ปฏิกิริยา (เช่น ถ้าเราเดินไปเหยียบสัตว์เล็กๆตายโดยไม่เจตนาก็มีผลเป็นเพียงสัตว์ตายเท่านั้น)

กรรมนี้แยกออกได้  ๒  ประเภทใหญ่ๆ อันได้แก่

          ๑.  อกุศลกรรม    กรรมชั่ว

          ๒.  กุศลกรรม       กรรมดี

กรรมชั่วนี้บางทีก็เรียกว่า ทุจริต  ที่หมายถึง  จิตใจที่ดีชั่ว  ซึ่งสรุปแล้วกรรมชั่วทางกาย วาจา และใจก็ได้แก่

            ๑.การเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น

๒.การเบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น

๓.การเบียดเบียนกามารมณ์ของผู้อื่น

๔.การพูดคำไม่จริง

๕.การพูดคำหยาบ

๖.การพูดส่อเสียด

๗.การพูดเพ้อเจ้อ

๘.การคิดโลภอยากได้ของๆผู้อื่น

๙.การคิดโกรธผู้อื่น

๑๐.การมีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม (เช่น เห็นว่าทำชั่วแล้วได้ดีหรือมีความสุขใจ)

 

กรรมดีนี้บางทีก็เรียกว่า สุจริต  ที่หมายถึง  จิตใจที่ดีงาม  ซึ่งสรุปแล้วกรรมดีทางกาย วาจา และใจก็ได้แก่

๑.การช่วยเหลือชีวิตของผู้อื่นไม่ให้ถูกฆ่าหรือทรมาน

๒.การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการให้ เช่น ให้ทานหรือให้อภัยหรือให้ความรู้หรือให้โอกาสหรือให้ธรรมะ

๓.การออกจากความลุ่มหลงในกามารมณ์

๔.การพูดความจริง

๕.การพูดคำสุภาพ

๖.การพูดเรื่องที่จะประสานสามัคคี

๗.การพูดเรื่องที่เป็นประโยชน์

๘.การคิดช่วยเหลือผู้อื่น

๙.การคิดเมตตาหรือให้อภัยผู้อื่น

๑๐.การมีความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (เช่นเห็นว่าทำชั่วแล้วได้ชั่วหรือมีความทุกข์ใจ)

๒๔.  วิบาก ผลจากกรรม

วิบาก  แปลว่า  ผลจากกรรม   ซึ่งผลกรรมในที่นี้จะหมายถึงผลในทางจิตใจอันได้แก่

               ๑.  วิบากดี      คือความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ

               ๒.  วิบากชั่ว    คือความทุกข์ใจ  ร้อนใจ ไม่สบายใจ

วิบากนี้จะมีการให้ผลอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจาก   ๓  ช่วง อันได้แก่

               ๑.  ทิฏฐธรรม        คือทันทีขณะที่ทำกรรมอยู่

               ๒.  อุปปัชชะ          คือขณะต่อมา

               ๓.  อปรปริยายะ    คือขณะต่อมาอีก

เมื่อเราทำกรรมใดไปแล้ว ถ้าไม่เกิดวิบากในขณะที่ทำกรรมนั้นอยู่ ก็จะเกิดเมื่อทำกรรมนั้นเสร็จแล้ว  หรือถ้ายังไม่เกิดหลังจากทำเสร็จแล้วใหม่ๆ ก็จะเกิดในเวลาต่อมาอีก  ซึ่งผลนี้ก็มาจากจิตใต้สำนึกเราเอง  คือเมื่อทำดีจิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่าเป็นความดี แล้วมันก็จะเกิดความสุขใจ หรืออิ่มเอมใจขึ้นมาเองทันที  แต่ถ้าทำชั่วจิตใต้สำนึกมันก็รู้อยู่ว่าเป็นความชั่วหรือไม่ดี  แล้วมันก็จะเกิดความทุกข์ใจหรือไม่สบายใจขึ้นมาของมันเองทันที   ซึ่งนรกก็คือความทุกข์ใจอย่างมากเพราะทำชั่วเอาไว้มาก  ส่วนสวรรค์ก็คือความอิ่มเอมใจมากเพราะทำความดีเอาไว้มากนั่นเอง

เรื่องกรรมนี้จัดเป็นอจินไตย คือไม่ควรสนใจเพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์และหาข้อยุติตายตัวไม่ได้  คือในวันหนึ่งๆเราได้ทำกรรมทั้งดีและชั่วปนกันอยู่มากมาย  ดังนั้นวิบากจึงมีทั้งดีและชั่วที่จะมาส่งเสริมกันถ้าเหมือนกัน แต่จะหักล้างกันถ้าตรงข้ามกัน  จึงทำให้ผลในแต่ละขณะนั้นเอาแน่ไม่ได้ว่าเป็นผลจากกรรมใดและขณะใดแน่  อย่างเช่น ถ้าเราเคยทำชั่วเอาไว้มากมาก่อน แต่เพิ่งจะมาทำดีเพียงเล็กน้อย ดังนั้นผลดีจึงถูกผลชั่วหักล้างไปหมดจึงไม่เกิดผลดีให้เห็นเมื่อทำดีนั้นเสร็จลง เป็นต้น

 

๒๕.  บุญ-บาป

บุญ  หมายถึง  ความดี, โชค, ความสุข  คือถ้าเราทำดีก็เรียกว่าทำบุญ และเมื่อเกิดผลดีก็เรียกว่าเป็น ผลบุญ    ส่วน บาป  หมายถึง  ความชั่ว, ซวย, ความทุกข์   คือถ้าเราทำชั่วก็เรียกว่าทำบาป  และเมื่อเกิดผลชั่วก็เรียกว่า ผลบาป

บุญ-บาปนี้ก็คือเรื่องกรรมดี-กรรมชั่วที่มีวิบากดี-วิบากชั่วนั่นเอง  แต่มองต่างกันบ้าง  คือการมองว่าเป็นบุญหรือบาปนี้จะมองกว้างกว่ากัน   คือมองว่าบุญหรือบาปนี้จะเป็นปัจจัยให้ชีวิตดีขึ้นหรือเลวลงได้   เช่น คนทำดีก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้น  ส่วนคนทำชั่วก็จะทำให้ชีวิตเลวลง เป็นต้น 

เรื่องผลบุญ และผลบาปนี้เป็นเรื่องที่ไม่แน่ไม่นอนเราจึงไม่ควรยึดถือ เพราะบางทีถ้าเราทำดีแล้วไม่มีใครรู้ก็ไม่มีใครมาส่งเสริมช่วยเหลือก็ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้  หรือคนทำชั่วที่ปกปิดไว้ไม่มีใครรู้ ก็ไม่ถูกลงโทษ หรือชีวิตไม่ตกต่ำได้เหมือนกัน   ซึ่งคำสอนเรื่องบุญ-บาปเช่นนี้ดูว่าจะเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์เสียมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ควรสนใจ อีกทั้งยังไม่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาเรื่องการดับทุกข์ของเราอีกด้วย

        

๒๖.  วัฏฏะสงสาร

วัฏฏะสงสาร  หมายถึง  การวนเวียนเป็นวงกลม  ซึ่งหมายถึงการที่จิตวนเวียนอยู่ในอาการทั้ง  ๓  อันได้แก่

               ๑.  กิเลสวัฏฏะ     วนอยู่ในกิเลส

               ๒.  กรรมวัฏฏะ    วนอยู่ในกรรม

               ๓.  วิบากวัฏฏะ    วนอยู่ในวิบาก

เมื่อจิตเกิดกิเลส (ความอยาก) กิเลสก็จะกระตุ้นให้ทำกรรม  เมื่อทำกรรมแล้วได้รับผลที่น่าพอใจ (คือมีความสุข) ความสุขนั้นก็จะมากระตุ้นให้เกิดความอยากทำกรรมนั้นต่อไปอีก แต่ถ้าทำกรรมแล้วได้รับผลที่ไม่น่าพอใจ (คือมีความทุกข์) ความทุกข์นั้นก็จะมากระตุ้นให้เกิดความอยากทำกรรมอื่นที่ให้ผลที่น่าพอใจต่อไปอีก อย่างที่เรียกว่า “อยาก-ทำ-ได้-อยาก-ทำ-ได้” วนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไปไม่หยุด

วัฎฎะสงสารนี้ก็คืออาการของจิตเราในแต่ละวัน ที่เกิดขึ้นมาวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้บางเวลากิเลสจะดับลงแล้ว แต่อนุสัยของมันยังคงอยู่  แม้ในเวลาอื่น หรือวันอื่นๆกิเลสตัวนั้นก็จะเกิดขึ้นมาได้ใหม่อีก และจะมากระตุ้นให้เกิดกรรมและวิบากขึ้นมาได้ใหม่อีก อย่างเช่น คนที่ลักขโมย เมื่อลักขโมยได้แล้วก็จะมีความสุข (จากการเสพสิ่งลักขโมยมา) แล้วความสุขนั้นก็จะมากระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะลักขโมยต่อไปอีก ยิ่งถ้าลักขโมยบ่อยๆแล้วไม่มีใครจับได้ ก็จะยิ่งเกิดความอยากจะลักขโมยมากขึ้น แล้วก็ทำให้เป็นคนมีนิสัยชอบลักขโมยมากยิ่งขึ้นจนละเลิกนิสัยลักขโมยไม่ได้ หรือคนที่ทำความดีแล้วมีความสุขใจ เขาก็จะอยากทำความดีต่อไปอีก  เป็นต้น

 สรุปได้ว่าวัฏฏะสงสารนี้เป็นอาการ  “อยาก-ทำ-ได้” วนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไปพร้อมกับความทุกข์ แม้จะเป็นการวนเวียนอยู่ในวัฏฏะที่ดี (คือมีความสุขใจ) มันก็ยังมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่และไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ซึ่งวัฎฎะสงสารนี่เองที่เรียกกันว่าเป็น "การเวียนว่ายตาย-เกิด"ของพุทธศาสนา ที่เป็นการเวียนว่ายตาย-เกิดทางจิตใจ (ส่วนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายนั้น เป็นคำสอนของศาสนาพรหามณ์ ไม่ใช่ของพุทธ) ดังนั้นถ้าเราปรารถนาจะพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง ก็ต้องทำลายวัฏฏะสงสารนี้เสียด้วยอริยมรรคจึงจะพบนิพพาน (ความสงบเย็น) หรือหยุดการเวียนว่ายตาย-เกิดนี้เสียได้

 

๒๗. อภิสังขาร

อภิสังขาร หมายถึง การปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือถ้าเราทำสิ่งใดไว้มากๆ สิ่งนั้นก็จะปรุงแต่งจิตทำให้ต้องรับผลของการกระทำนั้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ซึ่งอภิสังขารนี้ก็มีอยู่ ๓ อย่างคือ

๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือบุญ

       ๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือสิ่งมิใช้บุญ (บาป)

๓. อเนญชาภิสังขาร อภิสังขารคืออเนญชา

เมื่อเราทำดี (บุญ) หรือชั่ว (บาป) เอาไว้มากๆ มันก็ย่อมที่จะเกิดผลที่ดี (สุข) และชั่ว (ทุกข์) ขึ้นมาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ส่วนอเนญชาก็คืออาการที่จิตตั้งมั่นอยู่ในสมาธิสูงๆ ที่มีผลเป็นความสุขที่ประณีตมาก

 

๒๘. มาร ๕  

มาร     หมายถึง     สิ่งที่มาทำลายล้างความดี         ซึ่งภาษาคนก็หมายถึงผู้ที่คอยชักนำไปในทางที่ชั่วหรือให้หลงทาง   หรือถ่วงให้ช้า   หรือทำให้ติดอยู่   หรือให้พินาศ    แต่ในภาษาธรรมจะหมายถึงสิ่งที่มาทำลายล้างความดี   หรือมาทำให้หลงทาง   หรือติดอยู่   หรือช้าลง   หรือให้พินาศ   ซึ่งก็มีอยู่  ๕  ลักษณะ  อันได้แก่

               ๑.  ขันธมาร             มารคือขันธ์ ๕

               ๒.  กิเลสมาร            มารคือกิเลส

               ๓.  มัจจุมาร             มารคือความตาย

               ๔.  อภิสังขารมาร     มารคืออภิสังขาร

               ๕.  เทวปุตรมาร        มารคือเทวบุตร

ขันธ์  ๕  นี้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเมื่อเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นมาแล้ว (จากปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์) ก็ย่อมที่จะทำให้จิตไม่นิพพานเพราะมีความรู้สึกว่ามีตัวตนอ่อนๆรบกวนจิตอยู่  ส่วนกิเลสนั้นชื่อว่าเป็นมารเพราะกิเลสนั้นจะทำให้เกิดความทุกข์จึงทำให้นิพพานหายไป   ส่วนความตายนั้นถ้าเป็นการตายจากอริยมรรคที่มีอยู่          ก็ทำให้หมดโอกาสนิพพาน          ถ้าร่างกายตายก็ทำให้บารมีที่สร้างสมมายังไม่สมบูรณ์นั้นหมดคุณค่าไป    ส่วนอภิสสังขารนั้นชื่อว่าเป็นมาร    เพราะการติดอยู่ในการปรุงแต่งทั้งหลายนั้นก็จะทำให้ไม่หลุดพ้นมานิพพานได้   ส่วนเทวบุตร (เทวบุตร แปลว่า ลูกเทวดา ซึ่งก็หมายถึง บุคคลที่น่ารัก เช่น เด็ก หรือหมายถึง จิตที่ติดอยู่ในความสวยงามน่ารัก หรือความสุข) นั้นชื่อว่าเป็นมาร เพราะการติดอยู่ในความสุขหรือในสิ่งที่น่ารักนั้นย่อมที่จะทำให้ไม่อยากนิพพาน

สรุปได้ว่า   มารก็หมายถึงสิ่งที่มาขัดขวางไม่ให้จิตนิพพาน    แต่มารนี้มิใช่เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวเสมอไป   คือมารนี้กลับเป็นสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ที่สุด     เป็นสิ่งที่น่าพอใจน่าไหลหลงหรือติดใจอย่างยิ่ง    มันจึงทำให้จิตไม่อยากนิพพาน   ถ้ามารนี้จะมาในรูปที่น่าเกลียดน่ากลัว   เราก็จะรู้จักมันได้ แล้วไม่มาหลงติดในมัน   ก็จะทำให้อยากนิพพาน   แต่นี่มารมันเป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ   เราจึงได้มาหลงติดกับมันแล้วทำให้ไม่อยากนิพพาน   หรือทำให้ไปแล้วหลงทาง   หรือไปช้าลง   หรือทำให้เกลียดนิพพาน และสุกท้ายต้องพบกับความวิบัติไปในที่สุด  

 

จบบทที่   ๒

|หน้าต่อไป|