-๒-

ภาคต้น

บทที่ ๑ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา

๑. มนุษย์กับความทุกข์  

สิ่งที่มีชีวิตของโลกก็มีอยู่ ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ พืช สัตว์ และมนุษย์ โดยมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีความจำและความคิดที่พิสดารและสลับซับซ้อนกว่าสิ่งที่มีชีวิตชนิดอื่น ซึ่งทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์นั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการแสวงหาอาหารจากธรรมชาติและอาศัยธรรมชาติเป็นที่พักที่อาศัย ซึ่งโดยพื้นฐานของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาก็คือ ต้องการมีชีวิตอยู่ เมื่อมีชีวิตอยู่แล้วก็ต้องการความสุข ต่อจากนั้นก็ต้องการหลีกหนีความทุกข์ (หรือไม่มีทุกข์) แต่สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายก็ต้องประสบกับปัญหามากมายที่ทำให้เกิดความทุกข์ ทั้งจากความยากลำบากในการแสวงหาอาหาร ทั้งจากภัยธรรมชาติ จากโรคร้ายต่างๆ จากการเบียดเบียนของสิ่งที่มีชีวิตด้วยกันเอง รวมทั้งจากปัญหาของร่างกายตัวเอง คือจากการที่ร่างกาย แก่ เจ็บ ป่วย และตาย ซึ่งทั้งพืชและสัตว์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีความจำและความคิดเหมือนของมนุษย์ ดังนั้นทั้งพืชและสัตว์จึงมีความทุกข์เพียงแค่ด้านร่างกายเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนความทุกข์ด้านจิตใจของสัตว์นั้นมีน้อย เพราะไม่มีสมองมาให้คิดได้พิสดารเหมือนของมนุษย์

จากการที่มนุษย์นั้นมีความคิดที่พิสดารนี้เอง ก็ทำให้มนุษย์เกิดมีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกจากความคิดของตัวเอง ซึ่งปัญหานั้นก็คือ ความรู้สึกทุกข์ทรมานจิตใจเมื่อเกิด “ความยึดถือว่ามีตัวเอง” ที่เป็นผู้มีร่างกายแก่, เจ็บ, ป่วย, จะตาย, รวมทั้งความยึดถือว่าตัวเองเป็นผู้ที่พลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก, เป็นผู้ที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก, และเป็นผู้ที่เมื่ออยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามที่อยากจะได้ ซึ่งสรุปว่าความทุกข์ทั้งหมดนี้เกิดมาจาก “ความยึดถือว่ามีตัวเอง” อยู่จริงๆในโลก

ตามธรรมดาแล้วความแก่, เจ็บ, ป่วย, ตาย, ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก, ความที่ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก, และความผิดหวังหรือไม่สมหวังนั้น มันก็เป็นสิ่งธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นกับทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์อยู่แล้ว แต่พืชและสัตว์นั้นไม่เป็นทุกข์กับปัญหาเหล่านี้ เพราะไม่มีความจำและความคิดที่พิสดารอย่างมนุษย์ จึงทำให้ทั้งพืชและสัตว์ ไม่รู้จักคิดให้เกิด “ความยึดถือว่ามีตัวเอง” จนเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นแก่จิตใจได้ ส่วนมนุษย์นั้นจะมีความทุกข์ทางจิตใจเพิ่มขึ้น เพราะไปยึดถือว่ามีตัวเองที่ต้องประสบกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งปัญหาใหญ่หลวงของมนุษย์ก็คือเรื่องความตาย คือโดยปกติมนุษย์นั้นจะกลัวตายอย่างที่สุด เพราะความตายนั้นทำให้ต้องพลัดพรากจากทุกสิ่งอันเป็นที่รักไป และไม่รู้ว่าตายแล้วตัวเองจะเป็นอย่างไร?

 เมื่อมนุษย์มีความคิดที่พิสดาร และมนุษย์ก็รู้ว่าตามธรรมดาแล้วทุกคนก็ต้องแก่, เจ็บ, ตาย, พลัดพรากจากสิ่งที่รัก, ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก, และต้องผิดหวังอยู่แล้ว ไม่มีใครที่จะไม่ประสบปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นมนุษย์จึงพยายามคิดค้นหาวิธีการ ที่จะขจัดความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาเหล่านี้ ตามความรู้และประสบการณ์ของตัวเองเท่าที่มีอยู่ โดยบางคนก็ใช้วิธีการอ้อนวอน หรือเซ่นสรวงสิ่งที่เชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดหรือสิ่งที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารรถดลบันดาลให้มนุษย์พ้นทุกข์ได้ (ซึ่งต่อมาความเชื่อนี้ก็ได้เกิดเป็นศาสนาที่เชื่อในเรื่องเทพเจ้า หรือพระเจ้าขึ้นมา) บางคนก็ใช้วิธีการทรมานร่างกายเพราะเชื่อว่าจะทำให้จิตใจบริสุทธิ์ แล้วจิตใจก็จะไม่มีความทุกข์ (ซึ่งต่อมาความเชื่อนี้ก็ได้เกิดเป็นศาสนาที่ใช้วิธีการทรมานร่างกายขึ้นมา) บางคนก็ใช้วิธีการฝึกจิตให้หยุดนิ่งเพื่อไม่ให้เกิดความคิดขึ้นมาจนเป็นทุกข์ (ซึ่งต่อมาความเชื่อนี้ก็เกิดเป็นศาสนาที่สอนให้ฝึกสมาธิขึ้นมา) บางคนก็ใช้วิธีการคิดค้นหาต้นเหตุของความทุกข์ในจิตใจตนเอง แล้วกำจัดต้นเหตุนั้นเสีย ก็ทำให้ความทุกข์ของจิตใจไม่เกิดขึ้นได้ (ซึ่งต่อมาความเชื่อนี้ก็ได้เกิดเป็นศาสนาที่สอนให้ใช้ปัญญาในการดับทุกข์ขึ้นมา) ซึ่งเมื่อแต่ละคนได้ทดลองปฏิบัติตามวิธีการที่ได้คิดค้นขึ้นมาแล้ว ก็พบว่าสามารถทำให้ความทุกข์ของจิตใจนั้นลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้จริงๆ ดังนั้นจึงได้นำความรู้ที่ได้ค้นพบนี้มาสอนแก่ผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์ จนทำให้เกิดความแพร่หลายกลายเป็นลัทธิและศาสนาขึ้นมาในโลก แล้วก็ได้มีการสืบทอดคำสอนนั้นมาจนถึงยุคปัจจุบัน 

    

๒. ศาสนาคืออะไร?

คำว่า “ศาสนา” ในทัศนะของพุทธศาสนาจะหมายถึง คำสอน ส่วนคำว่า ศาสดา หมายถึง ผู้สอน, สาวก หมายถึง ผู้ฟัง, ศาสนิก หมายถึง ผู้นับถือศาสนา ซึ่งความหมายโดยสรุปของคำว่าศาสนาก็คือ ความเชื่อและการปฏิบัติตามคำสอนของศาสดา โดยมีผลเป็นความหลุดพ้นจากความทุกข์

คำว่าศาสนาในภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า Religion ที่หมายถึง ความสัมพันธ์ในทางจิตวิญญาณระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าโดยมีผลเป็นความพ้นทุกข์ ซึ่งความหมายโดยสรุปก็คือ ความเชื่อถือและเคารพนบนอบต่ออำนาจของพระเจ้า แล้วพระเจ้าก็จะดลบันดาลให้ผู้เชื่อถือนั้นพ้นทุกข์  

จะเห็นได้ว่า ความหมายของคำว่าศาสนาระหว่างของพุทธศาสนากับภาษาอังกฤษนั้น อาจต่างกันบ้าง แต่โดยเนื้อแท้แล้วเหมือนกันคือเป็น “ความเชื่อและการปฏิบัติตามคำสั่งสอนที่พระศาสดานำมาสอน โดยมีผลเป็นความพ้นทุกข์” ซึ่งพระศาสดานั้นก็เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ได้ค้นพบหรือติดต่อกับ “สิ่งสูงสุด” ของจักรวาล และนำกฎข้อบังคับหรือวิธีการปฏิบัติจากสิ่งสูงสุด มาบอกหรือสอนแก่มวลมนุษย์

 

๓.  ศาสนากับสิ่งสูงสุด

คำว่า “สิ่งสูงสุด” หมายถึง สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดในจักรวาล (หรือเอกภพ) ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่   คือทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลย จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสิ่งสูงสุดนี้ทั้งสิ้น ซึ่งการควบคุมของสิ่งสูงสุดนี้ก็คือ “การสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา และดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป รวมทั้งการทำลายให้ทุกสิ่งดับสลายหายไปเมื่อถึงเวลาด้วย”

ศาสนาทั้งหลายของโลกย่อมที่จะมีคำสอนเรื่อง “สิ่งสูงสุด” อยู่ด้วยทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้ที่นับถือนั้นยึดเอาเป็นที่พึ่งและเคารพเกรงกลัว เพื่อจะได้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ซึ่งศาสนาของโลกนี้สามารถแยกออกได้ ๒ ประเภทตามสิ่งสูงสุดที่นับถือ คือ

๑. ประเภทเทวนิยม  คือศาสนาประเภทที่ยอมรับเรื่องพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด อันได้แก่ ศาสนาคริสต์ อิสลาม และพราหมณ์หรือฮินดู (ศาสนาพราหมณ์จะเรียกสิ่งสูงสุดว่า “เทพเจ้า”) เป็นต้น

๒. ประเภทอเทวนิยม  คือศาสนาประเภทที่ไม่ยอมรับเรื่องพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด อันได้แก่ ศาสนาพุทธ  ศาสนาเชน  เป็นต้น

คำว่า “พระเจ้า” ของศาสนาคริสต์และอิสลามนั้นจะมีความหมายอยู่ ๒ ระดับ คือ ระดับต่ำก็หมายถึงตัวตนบุคคลเหมือนมนุษย์เรา และระดับสูงก็หมายถึงกฎธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกสิ่งในจักรวาลนี้ แต่โดยสรุปแล้วความหมายทั้งสองระดับก็มีลักษณะพื้นฐานเหมือนกันคือหมายถึง ผู้สร้าง ผู้คุ้มครอง และผู้ทำลาย โดยพระเจ้าจะอยู่ในทุกอณูของทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งแม้เรื่องนรก สวรรค์ ผี เทวดา นางฟ้า ซาตาน ฯลฯ ต่างๆเหล่านี้ก็ล้วนมาจากศาสนาประเภทเทวนิยมนี้ทั้งสิ้น

ในทัศนของพุทธศาสนาแล้วจะไม่ยอมรับสิ่งสูงสุดชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล  แต่ยอมรับว่ามีสิ่งอื่นที่มีอำนาจสูงสุดที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ โดยสิ่งสูงสุดนี้จะอยู่ในลักษณะของ “กฎธรรมชาติ” ที่ปรากฏให้เราได้พบเห็นจริงในโลก ซึ่งทางพุทธศาสนาจะเรียกว่า “ธรรม” หรือ “ธรรมชาติ”

 ถ้าเราจะมองว่า พระเจ้าของศาสนาคริสต์และอิสลามในลักษณะว่าเป็นกฎธรรมชาติแล้วก็จะทำให้พบว่ามีความหมายตรงกับ “สิ่งสูงสุด” ของพุทธศาสนา คือพุทธศาสนาก็มีพระเจ้าซึ่งเป็นอันเดียวกับของศาสนาคริสต์และอิสลามหรือแม้ของพราหมณ์ด้วย แต่ถ้าจะมองในลักษณะว่าพระเจ้าคือบุคคลตัวตนแล้วก็จะมีความหมายไม่ตรงกับของพุทธศาสนา

       

๔.  ศาสนาเพื่อมวลมนุษย์

ศาสนาดั้งเดิมนั้นเป็นเรื่องบริสุทธิ์  คือปกติศาสดาของทุกศาสนาย่อมที่จะนำคำสอนมาสั่งสอนผู้ที่นับถือให้ละเว้นการทำความชั่วหรือไม่เบียดเบียนกัน และสอนให้ทำแต่ความดีหรือรักกันช่วยเหลือกัน โดยมีจุดประสงค์เหมือนกันคือ เพื่อให้แต่ละบุคคลมีความปกติสุข และให้โลกมีสันติภาพ แต่วิธีการสอนอาจจะแตกต่างกับไปตามพื้นเพของผู้คนที่นับถือ จึงทำให้หลักคำสอนมีความแตกต่างกันไปบ้างจนดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้  ซึ่งจุดนี้เองทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเกิดนับถือศาสนาผิดพลาดหรือทำให้ศาสนาไม่บริสุทธิ์ขึ้นมา แล้วก็ส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกกันในระหว่างผู้ที่นับถือศาสนาต่างกันและแม้บางครั้งในศาสนาเดียวกันด้วยขึ้นมา

สรุปได้ว่า ศาสนาที่บริสุทธิ์ จะมีจุดสำคัญอยู่ที่สอนไม่ให้เบียดเบียนกัน และจะสอนให้รักมวลมนุษย์ทั้งปวงโดยเสมอกัน  ซึ่งจะมีผลเป็นความปกติสุขและสันติภาพ ส่วนเรื่องบางเรื่องที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง เช่น เรื่องสิ่งสูงสุดว่าเป็นบุคคลหรือเป็นกฎธรรมชาตินั้นไม่ใช่จุดสำคัญเลย   ถ้าเรายกเอาจุดที่ไม่สำคัญมาเป็นสำคัญเสียแล้วก็จะทำให้ศาสนาไม่บริสุทธิ์ และไม่เกิดประโยชน์แก่ใครๆอย่างแท้จริง ซ้ำร้ายศาสนาอาจจะกลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเดือดร้อนให้แก่มวลมนุษย์ไปในที่สุด

 

๕.  เครื่องทำความสำเร็จประโยชน์

คำว่า “ประโยชน์” ในทางศาสนาจะหมายถึง ความปกติสุขหรือความไม่มีทุกข์ของมนุษย์แต่ละคน รวมทั้งสันติภาพของโลก ซึ่งในแต่ละศาสนาย่อมที่จะมีเครื่องมือที่จะใช้สร้างความสำเร็จประโยชน์ ที่อาจจะไม่เหมือนกันแม้จะมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันก็ตาม ซึ่งก็พอจะสรุปได้ ๓ ประเภท อันได้แก่

        ๑. สัทธาธิกะ    อาศัยความเชื่อเป็นหลัก

        ๒. วิริยาธิกะ    อาศัยความเพียรเป็นหลัก

        ๓. ปัญญาธิกะ  อาศัยปัญญาเป็นหลัก

ศาสนาคริสต์จะเน้นใช้ความเชื่อเป็นหลัก คือสอนให้เชื่อมั่นไว้ก่อนแล้วจึงมีการปฏิบัติตามมา  ส่วนศาสนาอิสลามจะเน้นใช้ความเพียรเป็นหลัก คือให้มุ่งมั่นปฏิบัติไว้ก่อนโดยมีความเชื่อหนุนหลังอยู่  ส่วนพุทธศาสนาจะเน้นสอนให้ใช้ปัญญาเป็นหลัก คือจะสอนให้เกิดปัญญาก่อนแล้วจึงมีความเชื่อและการปฏิบัติตามมาในภายหลัง

การจะกล่าวว่าศาสนาไหนจะดีกว่าศาสนาไหนย่อมนั้นย่อมกล่าวไม่ได้  เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าผู้นับถือนั้นจะนับถือศาสนาถูกต้องและบริสุทธิ์หรือไม่ รวมทั้งว่าศาสนิกชนได้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนามากน้อยเพียงใดอีกด้วย การนำเรื่องศาสนามาดูหมิ่นกันนั้นย่อมไม่ใช่จุดประสงค์ของศาสนาที่บริสุทธิ์  สิ่งที่ควรดูหมิ่นก็คือความไม่บริสุทธิ์ที่แอบแฝงอยู่ในทุกๆศาสนา

       

๖.  พุทธศาสนาคืออะไร?

พุทธะ แปลว่า รู้ (รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตและในโลก), ตื่น (จากความไม่รู้หรือโง่), เบิกบาน (สดชื่นหรือไม่มีทุกข์) หรือจะหมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็ได้  ส่วนคำว่า พระพุทธเจ้า จะหมายถึง ผู้รู้สูงสุดที่ไม่มีใครเทียบเท่า ซึ่งศาสดาของพุทธศาสนาก็คือพระพุทธเจ้านี่เอง

คำว่า พุทธศาสนา หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือหมายถึง คำสอนของท่านผู้รู้ ก็ได้  ซึ่งพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม และปัญญาธิกะ

พุทธศาสนาจะมีคำสอนอยู่ ๒ ระดับคือ

๑. ศีลธรรม คือ หลักธรรมเพื่อความปกติสุข ที่สอนให้ละเว้นการทำความชั่ว แล้วหันมาทำแต่ความดี ซึ่งเป็นคำสอนระดับพื้นฐาน ที่มีอยู่แล้วในทุกๆศาสนา

๒. ปรมัตถธรรม คือ หลักธรรมที่ลึกซึ้งสูงสุด ที่สอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์เพื่อกำจัดความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคำสอนระดับสูงสุด และมีอย่างละเอียดเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น

คำสอนระดับศีลธรรมนั้นศาสนาไหนๆเขาก็มีสอนกันอยู่มากมายแล้ว (ซึ่งแม้ในพุทธศาสนาเองก็มีคำสอนระดับศีลธรรมนี้อยู่แล้วด้วยเหมือนกัน) แต่สำหรับพุทธศาสนาแล้วจะมีคำสอนที่สูงไปกว่านั้น  คือจะมีคำสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อกำจัดความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันให้หมดสิ้นไปอย่างถาวรได้  ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของพุทธศาสนาที่ทำให้พุทธศาสนาต่างไปจากศาสนาอื่น ซึ่งหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดจะอธิบายเฉพาะคำสอนระดับสูงนี้เท่านั้น

 

๗.  พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่หรือสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนก็คือเรื่อง “ความทุกข์” ซึ่งคำสอนให้ละเว้นการทำชั่ว แล้วหันมาทำแต่ความดีตามระดับศีลธรรมนั้น แม้ใครจะทำได้สมบูรณ์สูงสุดก็มีผลเพียงทำให้ไม่มีความเดือดร้อนในชีวิต และมีความสุขได้ตามอัตภาพเท่านั้น  แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้พ้นจากความทุกข์ที่ลึกซึ้งในทางจิตได้   เช่น ยังต้องเศร้าโศก เสียใจ เร่าร้อนใจ ทุกข์ระทมใจเพราะความแก่บ้าง ความเจ็บป่วยบ้าง ความตายบ้าง และความพลัดพรากจากสิ่งที่รักบ้าง เป็นต้น อยู่อีก

เมื่อความทุกข์เป็นปัญหาใหญ่หรือสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงเน้นสอนเฉพาะเรื่อง “วิธีการดับทุกข์” (หรือความไม่เกิดขึ้นอีกของความทุกข์อย่างถาวร) เท่านั้น คือจะมีอะไรที่จะเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดอย่างแท้จริงสำหรับมนุษย์ เท่ากับความไม่มีทุกข์เลยตลอดชีวิตนี้ได้ไม่มีอีกแล้ว ส่วนคำสอนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการดับทุกข์นั้นพระพุทธองค์จะไม่ทรงสอน เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างแท้จริง

 

๘.  ความจริงคืออะไร?

          ความจริง คือ สิ่งที่เป็นอยู่ของมันเช่นนั้นเองตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง โดยความจริงนี้ก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

          ๑. ความจริงสมมุติ คือเป็นความจริงตามที่ชาวโลกเขาสมมุติกันขึ้นมา

          ๒. ความจริงแท้ คือเป็นความจริงลึกซึ้งสูงสุดของธรรมชาติ

          ความจริงสมมุตินั้นก็คือสิ่งที่ชาวโลกสมมุติกันขึ้นมา อย่างเช่น คน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, นาย ก, นาย ข, ผู้ชาย, ผู้หญิง, ตัวเรา, ของเรา, พ่อ, แม่, พี่, น้อง, สามี, ภรรยา, เพื่อน, เด็ก, ผู้ใหญ่, สวย, หล่อ, ขี้เหร่, คนรวย, คนจน, คนโง่, คนฉลาด, คนดี, คนชั่ว, บ้าน, รถยนต์, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์, เงิน, ทอง, ธนบัตร เป็นต้น ซึ่งการมองโลกอย่างหยาบๆหรือผิวเผินของคนมีปัญญาน้อย เช่น เด็กหรือคนป่าคนดง ก็ย่อมที่จะมองเห็นแต่ความจริงสมมุติเท่านั้น

          ความจริงแท้นั้นก็คือความจริงที่ว่า ความจริงตามที่ชาวโลกเขาสมมุติกันขึ้นมานั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นมันเป็นเพียงสิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นจึงจะหาสิ่งที่เป็นแก่นสารหรือ “ตัวตนที่แท้จริง” (ชนิดที่จะตั้งอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวรหรือเป็นอมตะหรือจะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร) ของสิ่งทั้งหลาย ตามที่ชาวโลกเขาสมมุติกันขึ้นมานั้นไม่มี ซึ่งนี่คือการมองโลกอย่างลึกซึ้งของผู้ที่มีปัญญามาก

           สิ่งที่เราควรเข้าใจก็คือ ความจริงนั้นถ้าเราได้สัมผัสกับมัน มันก็จัดว่าเป็นความจริงสำหรับเรา แต่ความจริงบางอย่าง ถึงแม้มันจะมีอยู่จริง แต่ถ้าเรายังไม่ได้สัมผัสกับมัน ความจริงนั้นก็ยังไม่ใช่ความจริงสำหรับเรา โดยความจริงที่เรายังไม่ได้สัมผัสกับมันนั้น มันก็มีค่าเท่ากับเป็นแค่เพียงทฤษฎี (หลักการของคนอื่นที่เขาตั้งไว้ให้ศึกษาเพื่อค้นหาความจริง) หรือปรัชญา (เหตุผลแวดล้อมที่กล่าวถึงความจริง) สำหรับเราเท่านั้น  จนกว่าเราจะได้พิสูจน์จนค้นพบหรือได้สัมผัสกับความจริงนั้นแล้วจริงๆด้วยตัวของเราเองเท่านั้น ความจริงนั้นจึงจะเป็นความจริงสำหรับเรา แต่ตราบใดที่เรายังไม่ได้สัมผัสกับความจริงนั้น ความจริงนั้นก็จะยังคงเป็นเพียงทฤษฎีหรือปรัชญาสำหรับเราต่อไป และเราก็อย่าเพิ่งไปเชื่ออะไรล่วงหน้าว่าทฤษฎีหรือปรัชญาต่างๆ ที่เราพิจารณาดูแล้วว่าน่าเชื่อถือนั้นจะเป็นจริงเสมอไปถ้าเรายังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นจริง เพราะถ้าบังเอิญทฤษฎีหรือปรัชญานั้นมีความความผิดพลาด ก็จะทำให้เราเกิดความเชื่อที่ผิดพลาดตามไปด้วยทันที ซึ่งนั่นจะเกิดผลเสียแก่การศึกษาของเราได้

          อีกอย่างมักมีคนกล่าวว่า “สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริงเสมอไป” ซึ่งการพูดเช่นนี้ก็ถูกแต่ว่าถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะ “บางสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ถึงแม้เราจะพิสูจน์อย่างไร ก็พิสูจน์ไม่ได้เหมือนกัน”  ดังนั้นสิ่งที่เรายังพิสูจน์ไม่ได้นั้น ก็เป็นไปได้ว่า มันอาจจะมีอยู่จริงแต่เรายังพิสูจน์ไม่พบก็ได้ หรือไม่ได้มีอยู่จริง เราจึงพิสูจน์ไม่ได้ก็ได้

ดังนั้นสิ่งที่เรายังพิสูจน์ให้เห็นจริงไม่ได้นั้น เราก็อย่าไปสนใจกับมัน หรืออย่าเพิ่งไปเชื่อล่วงหน้าว่ามันจะมีหรือเป็นอยู่จริง หรือเชื่อว่ามันไม่มีหรือไม่เป็นอยู่จริง เราก็ปล่อยให้มันเป็นแค่ทฤษฎีหรือปรัชญาสำหรับเราต่อไป ถึงแม้ใครจะมาคุยโวโอ้อวดว่าเป็นความจริงสำหรับเขาแล้วก็ตาม แต่สำหรับการศึกษาพุทธศาสนาในเรื่องการดับทุกข์นี้ เราจะศึกษาจากสิ่งที่เราทุกคนสามารถพิสูจน์หรือสัมผัสกับมันได้จริง เพราะเราจะศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริงในร่างกายและจิตใจของเราเอง โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งบางคนก็อาจจะมองว่าหลักวิทยาศาสตร์นี้เป็นหลักธรรมดาๆของธรรมชาติ จึงไม่น่าเชื่อถือ แต่เขาไปมองว่า “หลักการอื่น คือ เรื่องไสยศาสตร์ หรือเรื่องงมงายไร้สาระ และพิสูจน์ไม่ได้ ที่เป็นเพียงแค่เรื่องเล่าต่อๆกันมา ที่เป็นเรื่องไม่ธรรมดา หรือเหนือธรรมชาติ แต่ว่ายังไม่มีใครพิสูจน์ได้” นั้นว่าน่าเชื่อถือ นี่เองที่ทำให้ศาสนิกชนทั้งหลายไม่เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต เพราะเอาแต่มานั่งคิดเพ้อฝันถึงสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ โดยมองข้ามเหตุผลและความจริงมาโดยตลอด

 

๙. พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ ก็คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง ที่เราทุกคนสามารถสัมผัสได้ในปัจจุบัน  โดยหลักอันเป็นหัวใจหรือวิธีการค้นคว้าของวิทยาศาสตร์คือ

๑. ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง คือศึกษาจากสิ่งที่เราทุกคนสามารถสัมผัสได้จริงปัจจุบัน

๒. ศึกษาอย่างมีเหตุผล คือจะใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลที่สุดจากสิ่งที่มีอยู่จริงมาศึกษา

๓. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือจะมีการศึกษาจากพื้นฐานไปสู่จุดสูงสุดอย่างเป็นขั้นเป็นระเบียบ

๔. จะเชื่อก็ต่อเมื่อได้มีการพิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น คือจะต้องมีการทดลองหรือพิสูจน์ทฤษฎีที่ได้ศึกษามา จนเห็นผลอย่างแน่ชัดก่อนแล้วจึงจะเชื่อ

พุทธศาสนาดั้งเดิมหรือที่แท้จริงนั้น จะมีหลักการที่ตรงกับวิทยาศาสตร์ คือจะศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง ที่เราทุกคนก็สามารถสัมผัสได้ โดยการศึกษาก็จะใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลอย่างที่สุด รวมทั้งการศึกษาก็มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ และจะเชื่อก็ต่อเมื่อได้มีการทดลองปฏิบัติจนบังเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงค้นพบหลักวิทยาศาสตร์มานานแล้ว และทรงสอนหลักวิทยาศาสตร์มานานแล้ว หรือทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจมานานแล้ว ก่อนที่วิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุจะเจริญขึ้นมาในปัจจุบัน

วิทยาศาสตร์เป็น วิธีการค้นหาความจริงของธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ที่ได้ผลแน่นอนที่สุด เพราะมีการศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เมื่อค้นพบความจริงที่ต้องการได้แล้ว ก็จะทำให้เกิดเป็นความรู้ และความเข้าใจในธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง และตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนได้ศึกษาหรือค้นคว้าตาม

ดังนั้นต่อไปในบทนี้เราจะใช้หลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักดั้งเดิมของพุทธศาสนา มาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อให้บังเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เพื่อกอบกู้พุทธศาสนาที่แท้จริงให้กลับคืนมาเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงนำคำสอนของพระพุทธองค์มาสอนแก่มวลมนุษยชาติกันต่อไป

 

๑๐.  แนวทางการศึกษาพุทธศาสนา

ในปัจจุบันการศึกษาพุทธศาสนามีอยู่หลายแนวทาง เช่น ปรัชญา, วรรณคดี,  ประวัติศาสตร์, อักษรศาสตร์,  อภิธรรม, จิตวิทยา, สมาธิ, และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น   ซึ่งแนวปรัชญานั้นเป็นการคิดคำนวณและใช้โวหารมากโดยยังไม่มีการปฏิบัติจริง, ส่วนวรรณคดีก็เน้นเล่าเรื่องนิทานระดับศีลธรรมที่เสริมแต่งขึ้นมาภายหลัง, ส่วนแนวประวัติศาสตร์ก็มุ่งเรียนรู้เรื่องพุทธประวัติ, ส่วนแนวอักษรศาสตร์ก็มุ่งแต่จะแปลภาษาบาลีที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น, ส่วนแนวอภิธรรมก็มุ่งเน้นแต่จะอธิบายหลักธรรมด้วยเหตุผลอย่างสวยหรูและมากมายเกินจำเป็น, ส่วนจิตวิทยาก็มุ่งศึกษาเรื่องว่าพุทธศาสนามีหลักการสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตว่าอย่างไร, ส่วนแนวสมาธิก็มุ่งแต่จะฝึกจิตให้มีสมาธิสูงๆเท่านั้นโดยไม่เน้นเรื่องปัญญา

แนวทางต่างๆของพุทธศาสนานี้ ถ้าไม่มีการลงมือปฏิบัติเพื่อดับทุกข์จริงๆแล้ว  จะไม่มีผลเป็นความดับลงของทุกข์อย่างแท้จริง จะต้องมีการศึกษาอย่างวิทยาศาสตร์ คือมีการเรียนรู้เท่าที่จำเป็นและมีการลงมือปฏิบัติจริงๆเท่านั้น จึงจะมีผลเป็นความดับลงของทุกข์ได้จริง  ดังนั้นเราจึงต้องระวังอย่าหลงเดินทางผิดโดยไปศึกษาพุทธศาสนาแนวทางอื่นจนหลงทางไปไม่พบหนทางดับทุกข์ที่แท้จริง

สรุปแล้ววิธีการศึกษาของวิทยาศาสตร์นั้น ก็คือ “การค้นหาเพื่อค้นพบ” คือจะต้องมีการค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งค้นพบความจริงที่ต้องการค้นหา เมื่อค้นพบก็แสดงว่า หลักในการค้นหานั้นถูกต้อง แต่ถ้ายังค้นไม่พบก็แสดงว่า หลักในการค้นหานั้นผิดพลาด หรือไม่ก็เป็นไปได้ว่า สิ่งที่ค้นหานั้นไม่ได้มีอยู่จริง ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าหลักวิทยาศาสตร์นี้จะมีระบบการตรวจสอบด้วยว่าทฤษฎีที่เรากำลังศึกษาอยู่นี้มันถูกต้องหรือไม่?

การศึกษาพุทธศาสนาก็เหมือนกัน คือพุทธศาสนาจะมีระบบการตรวจสอบว่าหลักการที่เรากำลังศึกษาอยู่นี้ถูกหรือผิด คือการศึกษาพุทธศาสนาจะเป็นการศึกษาเพื่อค้นหาวิธีการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน เมื่อเราศึกษาและปฏิบัติตามทฤษฎีใดอยู่อย่างเต็มความสามารถแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถดับทุกข์ได้จริง ก็แสดงว่าทฤษฎีนั้นผิดหรือไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา เพราะเมื่อทดลองปฏิบัติดูแล้วไม่เกิดผลจริง แต่ถ้าเราศึกษาและปฏิบัติตามอย่างเต็มความสามารถแล้วปรากฏว่าทุกข์ดับลงหรือลดลงจริง ก็แสดงว่าทฤษฎีนั้นถูกต้องหรือเป็นหลักที่แท้จริงของพุทธศาสนา

ดังนั้นแนวทางการศึกษาพุทธศาสนา ที่จะไม่มีทางผิดพลาดก็คือแนวทางของวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถนำเราไปค้นพบหลักคำสอนดั้งเดิมหรือแท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ อันจะทำให้เราแยกแยะได้ว่าหลักคำสอนใดเป็นหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และหลักคำสอนใดที่ไม่ใช่หลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้นำหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า กลับมาเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวของเราเองและมวลมนุษยชาติกันต่อไป

 

๑๑.  พุทธศาสตร์ตรงข้ามกับไสยศาสตร์

จุดที่ต้องระวังอีกจุดก็คือเรื่อง ไสยศาสตร์ ที่แปลว่า วิชาของคนหลับ หรือของคนที่ยังไม่ตื่น หรือยังละเมอๆอยู่ไม่ตื่นจริง  ซึ่งก็หมายถึงวิชาของคนที่ยังไม่รู้จริงหรือของคนที่ไม่มีปัญญา โดยปัจจุบันเราจะถูกไสยศาสตร์ครอบงำกันอยู่โดยไม่รู้ตัว  อย่างเช่น เรื่องฤกษ์ยาม เรื่องดวงชะตาราศี เรื่องโชคลาง เรื่องผู้วิเศษ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เรื่องผี  เทวดา นางฟ้าชนิดที่เป็นบุคคล รวมทั้งเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน และเรื่องลึกลับทั้งหลายที่เราไม่สามารถสัมผัสได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แต่เป็นหลักของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น

พุทธศาสนาในปัจจุบัน จะมีหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูปลอมปนอยู่ด้วยอย่างมากมาย  คือเรานับถือพุทธปนพราหมณ์อยู่กันมาช้านานแล้วโดยไม่รู้ตัว  ซึ่งวิธีจะแยกพราหมณ์ออกไปจากพุทธก็ให้สังเกตดูว่า เรื่อที่เป็นคำสอนของพราหมณ์จะไม่มีเหตุผล, ห้ามถามห้ามสงสัย, ไม่มีหลักในการคิด, มีแต่เรื่องลึกลับไกลตัว, และสอนให้เชื่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีของจริงมาให้พิสูจน์, รวมทั้งดับทุกข์ไม่ได้จริง

พุทธศาสตร์ หมายถึง หลักวิชาของผู้รู้ หรือของคนที่รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว (เป็นพุทธะแล้วหรือมีปัญญาจริงแล้ว) ซึ่งเป็นหลักวิทยาศาสตร์  ที่มีเหตุผล, ตอบได้ทุกคำถาม, มีหลักในการคิด, ใช้ข้อมูลที่มีจริงซึ่งพิสูจน์ได้, และเป็นเรื่องลึกซึ้งใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้, รวมทั้งสามารถนำมาใช้ดับทุกข์ได้จริง

สรุปได้ว่า เราจะต้องระวังว่า อย่าศึกษาพุทธศาสนาอย่างไสยศาสตร์ คือศึกษาเหมือนเด็กที่ไม่มีหลักในการคิด หรือคิดไม่เป็น หรือไม่กล้าคิด ซึ่งไสยศาสตร์จะสอนให้เชื่อมั่นเอาไว้ก่อน แม้จะไม่มีทั้งเหตุผลและหลักฐานมายืนยันก็ตาม ซึ่งมันก็ดีสำหรับคนที่ยังไม่มีความรู้หรือไม่มีหลักในการคิดเพียงพอ หรือไม่รู้หลักวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่สำหรับบุคคลอัจฉริยะ หรือคนที่เฉลียวฉลาดหรือมีความรู้ด้านวิทยาสาสตร์อยู่บ้าง หรือคนที่กล้าหาญ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องและมีเหตุผลรวมทั้งไม่เกิดโทษใดๆ จะต้องศึกษาพุทธศาสนาอย่างศึกษาวิทยาศาสตร์ จึงจะค้นพบหลักการดับทุกข์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้

 

๑๒.  ระวังเรื่องอจินไตย

อจินไตย หมายถึง เรื่องที่ไม่ควรนำมาคิดพิจารณาหรือศึกษา  เมื่อเราเริ่มมาศึกษาพุทธศาสนา  เรามักจะตั้งคำถามว่า ตายแล้วไปไหน? เกิดหรือไม่เกิด? หรือเมื่อเกิดแล้วอะไรไปเกิด? เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้จัดว่าเป็นเรื่องอจินไตย  คือในการเริ่มต้นการศึกษาพุทธศาสนานี้ พระพุทธองค์ทรงสอนว่าอย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องอจินไตย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรนำมาคิดพิจารณาหรือศึกษา  ซึ่งมีอยู่  ๔ เรื่อง อันได้แก่

๑. พุทธวิสัย   คือเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระอริยะสาวกทั้งหลาย เช่น ว่าจะมีจริงหรือไม่? หรือเป็นอย่างไร? เป็นต้น

๒. ฌานวิสัย  คือเรื่องเกี่ยวกับสมาธิขั้นสูง เช่น ว่าจะมีจริงหรือไม่? หรือทำให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ หรือทำให้มีฤทธิ์มีเดชตามที่ได้ยินได้ฟังกันมาได้จริงหรือไม่? เป็นต้น

๓. กรรมวิบาก  คือเรื่องเกี่ยวกับการกระทำความดีและชั่วอย่างละเอียด ว่าจะมีผลอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ได้ยินได้ฟังมาหรือไม่?  หรือเป็นอย่างไร? เป็นต้น

๔. โลกจินตา  คือเรื่องโลกๆ เช่น ใครสร้างโลก? โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง, คนเราตายแล้วไปไหน? นรก สวรรค์ ผี เทวดา นางฟ้า เป็นต้น ตามที่เชื่อกันอยู่นั้นมีจริงหรือไม่?, รวมทั้งเรื่องต่างๆที่ไร้สาระทั้งหลายของโลก ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์ด้วย เป็นต้น

สาเหตุที่ทรงสอนไม่ให้สนใจเรื่องอจินไตยก็เพราะ มันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการดับทุกข์เลย อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถพบเห็นจริงด้วยตนเอง (ไม่เป็นวิทยาศาสตร์) และอาจเป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาให้ผิดเพี้ยนไปจากหลักพุทธศาสนามาก่อนแล้วก็ได้ รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่ยังมีอยู่อีกมากต่อมาก ถึงศึกษาไปจนตายก็ไม่จบ หรือหาข้อยุติไม่ได้เหมือนปัญหาโลกแตก  ถ้าเรามาสนใจศึกษาเรื่องอจินไตยนี้เข้า ก็จะทำให้เราปวดหัวเปล่า เสียเวลาเปล่า และยังจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไขว้เขวต่อหลักที่แท้จริงของพุทธศาสนาได้โดยง่าย 

ในการเริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนานี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เริ่มต้นศึกษาจากเรื่องว่า “ความทุกข์คืออะไร? สาเหตุของทุกข์คืออะไร? เมื่อทุกข์ดับลงแล้วจะเป็นอย่างไร? และจะดับมันได้อย่างไร?” ต่อเมื่อเราได้ศึกษาและปฏิบัติในเรื่องการดับทุกข์จนเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ปัญหาอจินไตยเหล่านี้ก็จะหมดไปได้เอง เพราะเราได้รู้แจ้งถึงต้นตอของปัญหาทั้งหมดแล้ว

 

๑๓.  ศึกษาที่ไหน?

ในการศึกษานี้พระพุทธองค์ทรงสอนเอาไว้ว่า

 

“ในกายยาววาหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยสัญญา (อาการที่จำอะไรๆได้) และใจนี่เอง จะมีทั้งทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับไม่เหลือของทุกข์ และวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์อยู่พร้อม”

 

นี่แสดงว่าเราสามารถศึกษาวิธีการดับทุกข์ได้จากจิตใจของเราเอง ที่ยังมีสติอยู่และยังจำอะไรๆได้ไม่หลงลืมหรือวิปลาสนี้   คือเราจะศึกษาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจในปัจจุบันของเราเอง ซึ่งเพียงเท่านี้ก็สามารถดับทุกข์ได้แล้ว ส่วนเรื่องภายหลังจากการตายไปแล้วนั้น พระพุทธองค์จะไม่ทรงสอน เพราะขาดหลักฐานยืนยัน รวมทั้งก็ไม่เป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์เลย เมื่อเราสามารถดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันได้แล้ว เรื่องภายหลังจากการตายก็จะหมดสิ้นไปได้เอง ไม่ว่าเรื่องภายหลังจากการตายนั้นแท้จริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม

 

๑๔.  ต้องพึ่งตนเอง

หลักสำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้ก็คือเรื่องการพึ่งตนเอง คือเราจะต้องศึกษาเอง คิดเอง และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  เราจึงจะได้รับผลจริง  การที่เราจะไปหวังพึ่งคนอื่นให้ช่วย หรือการอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย หรือแม้หวังพึ่งพระพุทธเจ้าให้มาช่วยนั้นจะไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีจริงหรือไม่ก็ตาม

การพึ่งคนอื่นนั้นแม้จะดูว่าสุขสบายในตอนแรก แต่จะมีผลเสียมากมายในภายหลัง คือจะทำให้เราเกียจคร้าน อ่อนแอ ขลาดกลัว ไม่มีประสบการณ์ และโง่เขลา  แล้วก็จะทำให้เราต้องเดือดร้อนอย่างหนักในภายหลัง การพึ่งตนเองจะทำให้เรามีทั้งความขยัน อดทน เข้มแข็ง กล้าหาญ มีประสบการณ์ และมีปัญญา ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะช่วยให้เราได้พบกับความหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

ตามปกติแล้วคนที่ถูกไสยศาสตร์ครอบงำจะมีทั้งความกลัว อ่อนแอ และเกียจคร้าน คือไม่ชอบใช้ความคิด หรือคิดไม่เป็น หรือไม่กล้าคิด เพราะกลัวผิด คือได้ถูกขู่เอาไว้ว่าถ้าไม่เชื่อ หรือสงสัย หรือกล้าลบหลู่ต่อคำสอนหรือต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็จะได้รับผลอันเลวร้ายหรือถูกลงโทษอย่างแสนสาหัสเลยทีเดียว (เช่น ตกนรกอย่างแสนยาวนาน)

ดังนั้นจึงทำให้คนที่ถูกไสยศาสตร์ครอบงำจะไม่กล้าคิด หรือไม่ชอบใช้ความคิด และคิดไม่เป็น จึงทำให้ต้องจมอยู่กับความงมงายและสติปัญญาก็ไม่เจริญ ที่สำคัญคือจะไม่ยอมรับหลักวิทยาศาสตร์ที่ตรงข้ามกัน ที่ต้องใช้ความขยันและอดทนในการศึกษามาก ต้องใช้ความคิดมาก ต้องกล้าที่จะคิด, พูด, และทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างไม่เกรงกลัวว่าจะถูกด่า ถูกทำร้าย หรือต้องอดอยากขาดแคลน หรือแม้จะถูกฆ่าก็ตาม ซึ่งบุคคลที่จะมีคุณสมบัติเช่นนี้ก็นับว่าหายากในโลก น้อยคนนักที่จะกล้าแหกคอกของไสยศาสตร์ออกมาสู่วิทยาศาสตร์ นี่เองที่ทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นที่ยอมรับของคนที่ถูกไสยศาสตร์ครอบงำส่วนใหญ่อยู่จนทุกวันนี้   

 

๑๕.  จิตเป็นใหญ่

ชีวิตประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ  พุทธศาสนาจะสอนว่าทุกสิ่งขึ้นอยู่กับจิต หรือให้ความสำคัญแก่จิตมากกว่าร่างกายหรือวัตถุ  คือสิ่งต่างๆจะเป็นไปตามที่จิตสั่ง ไม่ว่าจะเป็นความเจริญหรือความเสื่อมก็มาจากจิต รวมทั้งความดี-ความชั่ว หรือสุข-ทุกข์ ก็มาจากจิต แม้ร่างกายจะเจ็บป่วยก็มีสาเหตุมาจากจิตไม่โดยตรงก็โดยอ้อม  ถึงแม้บางคนจะมีความสุขสบายทางกาย แต่ถ้าจิตใจเป็นทุกข์เสียแล้วก็แทบไม่มีคุณค่าอะไร  ซึ่งจะตรงข้ามกับบางคนที่ถึงแม้ร่างกายจะทุกข์ยากลำบากหรือเจ็บป่วย แต่ถ้าเขามีจิตใจเป็นสุข  ชีวิตของเขาย่อมจะมีคุณค่ามากกว่า

ดังนั้นพุทธศาสนาจึงสอนให้ฝึกฝนจิต ควบคุมจิตให้ได้  ร่างกายนั้นอาศัยปัจจัย ๔ เพียงไม่มากหรือพอสมควร ก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสุขสบายหรือไม่เดือดร้อนแล้ว  ถ้าเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีความทุกข์ทางจิตใจเลยได้ตลอดชีวิต  เราก็ย่อมที่จะได้รับสิ่งที่มีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิตแล้ว  ซึ่งจุดนี้เราควรเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน จะได้ให้ความสนใจจิตมากกว่าร่างกายและวัตถุ แต่ถ้าใครยังยึดถือว่าวัตถุหรือร่างกายจะสำคัญกว่าจิต เขาก็จะยังไม่สามารถศึกษาพุทธศาสนาให้เกิดความเข้าใจได้อย่างแท้จริง

 

๑๖.  การศึกษาให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด

พุทธศาสนาได้วางหลักในการศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงที่สุด ต่อสิ่งที่ศึกษาเอาไว้  ๖ ประการ คือ

๑. ต้องรู้จักถึงลักษณะของสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร?

๒. ต้องรู้จักถึงสาเหตุของสิ่งนั้นว่าเกิดมาจากอะไร?

๓. ต้องรู้จักถึงเสน่ห์อันหลอกลวงของสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร?

๔. ต้องรู้จักถึงโทษอันเลวทรามของสิ่งนั้นว่ามีอย่างไรบ้าง?

๕. ต้องรู้จักถึงคุณค่าเมื่อสามารถอยู่เหนืออำนาจของสิ่งนั้นได้ว่าเป็นอย่างไร?

๖. ต้องรู้จักถึงอุบายอันเป็นเครื่องออกจากอำนาจของสิ่งนั้นว่ามีอยู่อย่างไร?

การที่เราจะศึกษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงที่สุดได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามหลักทั้ง ๖ ประการนี้  ซึ่งเรียกว่าเป็นการศึกษาให้ลึกและรอบด้าน คือศึกษาให้แทงลึกเข้าไปให้มากที่สุด และในทุกแง่มุมเท่าที่มีอยู่  ซึ่งเปรียบเหมือนการสำรวจบ่อน้ำที่ต้องดูทั้งระดับความลึกและพื้นที่ผิวทั้งหมดจึงจะรู้จักบ่อน้ำนั้นแจ่มแจ้งครบถ้วนแท้จริง   ซึ่งเราก็ต้องระวังว่าบางเรื่อง อย่างเช่น เรื่องอจินไตย เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปศึกษามันก็ได้ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่การดับทุกข์  โดยสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงวางหลักเอาไว้ให้เราศึกษาก็ได้แก่เรื่อง กาม, เวทนา, สัญญา, อาสวะ, กรรม, และทุกข์  ซึ่งเราจะได้ศึกษากันในบทต่อๆไป

         

๑๗.  หัวใจนักปราชญ์

ในการศึกษาพุทธศาสนาระดับสูงนี้ เราจำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักธรรมที่จะทำให้เป็นนักปราชญ์ (ผู้เชี่ยวชาญรอบรู้) มาช่วยเหลือด้วย อันได้แก่

๑. สุตะ  คือฟัง หรืออ่าน หรือดู ที่เรียกกว่าการศึกษา                  

๒. จิตตะ  คือนำสิ่งที่ได้ศึกษามานั้นมาคิดพิจารณาโดยใช้เหตุผล

๓. ปุจฉา  คือเมื่อมีข้อสงสัยก็ให้สอบถามผู้รู้          

๔. ลิขิต  คือการท่องจำและบันทึกเป็นตำราเอาไว้

รวมทั้งยังต้องอาศัยหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอีก อันได้แก่

๑. ฉันทะ  คือพอใจในสิ่งที่ทำอยู่

          ๒. วิริยะ  คือมีความเพียรพยายามในสิ่งที่ทำ

          ๓. จิตตะ  คือมีจิตที่ฝักใฝ่หรือสนใจต่อสิ่งที่ทำนั้นอยู่เสมอ

          ๔. วิมังสา  คือมีการพิจารณาหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่ทำอยู่นั้น

การที่จะศึกษาพุทธศาสนาในระดับสูงนี้ให้เข้าใจถูกต้องอย่างแท้จริงได้นั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลักธรรมทั้งสองนี้มาช่วย ขาดไม่ได้เลย โดยจุดสำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีความพอใจที่จะศึกษา  ซึ่งความพอใจนี้อย่างน้อยก็เพื่อประดับความรู้ หรือสูงขึ้นก็เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ต้องเพื่อเอาไว้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือเพื่อสอนผู้คนโดยไม่หวังผลใดๆตอบแทน

 

๑๘.  โครงร่างพุทธศาสนา

พุทธศาสนาจะมีโครงร่างอยู่ ๓ ประการอันได้แก่

        ๑. ปริยัติ     คือการเรียนรู้

        ๒. ปฏิบัติ    คือการปฏิบัติ

        ๓. ปฏิเวธ    คือการรับผล

การที่เราจะได้รับผลสูงสุดจากพุทธศาสนาได้นั้น เราจำเป็นจะต้องมีทั้งการเรียนรู้หลักคำสอนให้ถูกต้องก่อน แล้วลงมือปฏิบัติตามอย่างจริงจัง จนบังเกิดผลขึ้นมา จึงจะเรียกว่าได้รับผลจากพุทธศาสนาอย่างแท้จริง  เพียงการเรียนรู้แต่ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่เกิดผล หรือการปฏิบัติโดยไม่มีการเรียนรู้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นการปฏิบัติที่งมงายและไม่เกิดผลจริงอีก  ซึ่งจุดนี้จะใช้เป็นเครื่องวัดว่าเราหรือใครๆจะมีพุทธศาสนาจริงแท้มากน้อยเพียงใดได้

 

๑๙.  หลักความเชื่อของพุทธศาสนา

ศรัทธา หรือ ความเชื่อ หมายถึง การเห็นตามด้วย, ความมั่นใจ, ความไว้ใจ ซึ่งการเห็นตามด้วยก็คือ การเห็นตามด้วยกับที่มีผู้อื่นบอกมา ส่วนความมั่นใจก็คือ ความมั่นใจว่าเป็นจริง ตามที่ได้ฟังหรือได้ดูมาจากคนอื่น หรืออ่านจากตำรา หรือจากการพิจารณาด้วยเหตุผล หรือจากการที่เราได้พิสูจน์แล้ว เป็นต้น ส่วนความไว้ใจก็คือ การยอมรับหรือทำตามโดยไม่ขัดขวางหรือระแวง ซึ่งศาสนาย่อมคู่กับความเชื่อเสมอ ถ้าไม่มีความเชื่อก็เท่ากับไม่มีศาสนา โดยศาสนาต่างๆอาจจะมีวิธีการสอนให้เกิดความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดมุ่งหมายปลายทางเหมือนกัน คือเพื่อช่วยให้มวลมนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทางด้านจิตใจ และช่วยให้สังคมสงบสุข รวมทั้งช่วยให้โลกมีสันติภาพ

ความเชื่อในส่วนของพุทธศาสนาระดับศีลธรรมนั้นจะไม่เน้นเรื่องปัญญา คือใครจะเชื่ออย่างไรก็ได้ ขอเพียงว่าอย่าทำความชั่วและให้ทำแต่ความดีก็แล้วกัน แต่ในส่วนของคำสอนระดับสูงนั้น พุทธศาสนาจะเน้นสอนให้ใช้ปัญญานำหน้าความเชื่อ โดยหลักความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ที่เรียกว่า หลักกาลามสูตร (สูตรที่สอนแก่ชาวกาลามะของประเทศอินเดีย) ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้  :

๑. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า ฟังบอกฟังเล่าต่อๆกันมา

๒. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า ได้ทำสืบๆกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ

๓. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า กำลังเป็นที่เลื่องลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน

๔. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า มีที่อ้างอิงจากตำรา

๕. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า มีเหตุผลตรงๆทางมารองรับ (ตรรกะ)

๖. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า มีเหตุผลแวดล้อมมารองรับ (นัยยะ)

๗. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า คิดเดาเอาตามสามัญสำนึกของเราเอง

๘. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า มันตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่

๙. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า ผู้บอกผู้สอนนั้นอยู่ในฐานะที่ดูแล้วน่าเชื่อถือ

๑๐. อย่าถือเอาว่าจริงเพียงเพราะเหตุว่า ผู้บอกผู้สอนนี้เป็นครูอาจารย์ของเราเอง

เมื่อใด ที่เรารู้ด้วยตนเองว่า ธรรม (คำสอน) เหล่านี้เป็นอกุศล (ผิด,ไม่ดีงาม), ธรรมเหล่านี้มีโทษ, ธรรมเหล่านี้วิญญูชน (ผู้มีสติปัญญาและมีใจเป็นกลาง) ติเตียน, ธรรมเหล่านี้ถ้ากระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล พึงละเว้นธรรมเหล่านี้เสีย

ส่วนธรรมเหล่าใด ที่เรารู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล (ถูกต้อง, ดีงาม) ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ, ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ, ธรรมเหล่านี้ถ้ากระทำถึงมาตรฐานของมันแล้ว เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล พึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้น

สรุปว่าพุทธศาสนาสอนให้ศึกษาหลักคำสอนใดก็ได้ แต่ยังไม่ให้เชื่อ (เพราะมันอาจผิดพลาดได้ทั้งสิ้น รวมทั้งเรายังไม่ได้พิสูจน์อีกด้วย)  ให้นำหลักคำสอนนั้นมาพิจารณาดูก่อน  ถ้าเห็นว่ามีโทษก็ให้ละทิ้งไป   ถ้าเห็นว่าพอจะมีประโยชน์และไม่มีโทษ ก็ให้ทดลองปฏิบัติดูก่อน   ถ้าปฏิบัติแล้วไม่เกิดผลก็ให้ละทิ้งอีกเหมือนกัน  แต่ถ้าปฏิบัติแล้วบังเกิดผลแจ้งประจักษ์แก่จิตของเราจริงๆ (คือมีสุขมากขึ้นและความทุกข์ลดลงจริง) ก็ให้รับเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป

หลักในการสร้างความเชื่อนี้นับว่าสำคัญมาก เราจะไม่สนใจนำมาปฏิบัติไม่ได้ เพราะนี่คือหลักที่จะใช้คัดเลือกว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ถ้าเรามีความเชื่อที่ผิดเสียแต่แรกเริ่ม การศึกษาและปฏิบัติของเราต่อไปก็จะผิดพลาดไปหมด แล้วผลที่ถูกต้องก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเรามีความเชื่อที่ถูกต้องเสียแต่แรก การศึกษาและปฏิบัติของเราก็จะถูกต้องไปหมด แล้วผลที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น

 

๒๐. อย่าเชื่อใครแม้แต่ตัวเอง

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า “อย่าถือเอาว่าจริงหรืออย่าเพิ่งเชื่อจากทั้ง ๑๐ ข้อ” นั้นก็เป็นเพราะ คำสอนหรือหลักการที่เราได้รู้มาจากการบอกต่อและทำตามๆกันมานั้น มันก็อาจถูกแต่งเติมหรือแก้ไขให้ผิดเพี้ยนมาก่อนแล้วก็ได้ ส่วนคำเล่าลือมักเป็นการกระทำของคนโง่ ส่วนตำราก็อาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนมาก่อนแล้วก็ได้ ส่วนผู้สอนที่ดูลักษณะภายนอกแล้วน่าเชื่อถือหรือแม้ครูอาจารย์ของเราเองก็ตาม เขาก็อาจมีความเห็นผิดมาก่อนแล้วโดยเขาไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้นถ้าเราเชื่อจากตำราหรือจากคนอื่น หรือแม้จากครูอาจารย์ของเราเองก็ตาม เราก็อาจได้รับคำสอนที่ผิดมาโดยไม่รู้ตัวก็ได้

ส่วนเหตุผลทั้งชนิดตรงๆและแวดล้อม ที่เราได้คิดพิจารณาเป็นอย่างดีแล้วนั้น มันก็อาจผิดพลาดได้ถ้าข้อมูลที่ได้รับมามันผิด แม้สามัญสำนึกที่เป็นความรู้สึกธรรมดาๆของเราเอง มันก็อาจหลอกเราได้ ส่วนความเห็นที่เรามีอยู่ก็ยังเชื่อไม่ได้ เพราะความเห็นที่เรามีอยู่นั้น มันก็อาจเป็นความเห็นที่ผิดอยู่ก่อนแล้วก็ได้ ดังนั้นถ้าเราเชื่อจากเหตุผลหรือจากสามัญสำนึกของเราเอง หรือจากความเห็นของเราเองที่ตรงกับผู้อื่น มันก็อาจผิดได้ โดยเราไม่รู้ตัวอีกเหมือนกัน 

สรุปว่าหลักกาลามสูตรนี้โดยสรุปแม้จะสอนว่า “อย่าเชื่อใครแม้แต่ตัวเอง” แต่ก็ไม่ได้ห้ามศึกษา คือ “ศึกษาได้แต่ยังไม่ให้เชื่อ จนกว่าจะได้พิสูจน์จนเห็นผลจริงแล้วเท่านั้น” ซึ่งการศึกษาอย่างนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราได้รับแต่คำสอนที่ถูกต้องเท่านั้น จะไม่ได้รับคำสอนที่ผิดเพี้ยนได้เลย  ซึ่งหลักกาลามสูตรนี้จัดว่าเป็นหลักของอัจฉริยะบุคคลระดับสุดยอด อันได้แก่พระพุทธเจ้าที่มีไว้สำหรับบุคคลอัจฉริยะ หรือมีไว้เพื่อสร้างคนให้เป็นอัจฉริยะ

 

๒๑.  ปัญญา  ๓ ระดับ

ปัญญา  แปลว่า  ความรอบรู้ ซึ่งคำว่ารอบรู้นี้จะหมายถึงความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ไม่ใช่จะรู้ไปหมดทุกเรื่องซึ่งเป็นไปไม่ได้  โดยปัญญานี้ก็แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ

๑. โลกียปัญญา       ความรอบรู้ในเรื่องวิชาการต่างๆของโลก

๒. โลกุตระปัญญา    ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจ

ในทางศาสนา (และในหนังสือเล่มนี้) คำว่าปัญญาจะหมายถึงโลกุตระปัญญา คือถ้ามีคำว่าปัญญาก็จะหมายถึงความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์  ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วยเพื่อจะได้ไม่เข้าใจไขว้เขว  ซึ่งปัญญานี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้  ๓  ทาง คือ

๑. สุตมยปัญญา         ปัญญาที่เกิดมาจากการฟังหรืออ่าน

๒. จินตามยปัญญา     ปัญญาที่เกิดมาจากการคิดพิจารณาไตร่ตรอง

๓. ภาวณามยปัญญา   ปัญญาที่เกิดมาจากการปฏิบัติ

ในการศึกษานี้เราจะต้องฟังหรืออ่านมาก่อนให้จำได้ก่อน   แล้วก็นำสิ่งที่จำได้นั้นมาพิจารณาหาเหตุหาผลจนเกิดความเข้าใจ  ต่อจากนั้นจึงนำสิ่งที่เข้าใจนั้นมาลงมือปฏิบัติจนบังเกิดเป็นความเห็นแจ้งขึ้นมาจริงๆ   ซึ่งเพียงการจำได้จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ส่วนความเข้าใจก็ยังพอช่วยให้ความทุกข์ลดลงได้บ้าง  แต่ถ้าเป็นความเห็นแจ้งก็จะทำให้ความทุกข์ลดลงอย่างมากตลอดจนถึงขั้นดับทุกข์ได้อย่างถาวรอีกด้วย  ซึ่งปัญญาที่เกิดมาจากการปฏิบัตินี้จัดเป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา

 

๒๒.  กรรมวาที - วิริยวาที

พุทธศาสนายังจัดเป็นศาสนาประเภท กรรมวาที และ วิริยวาที  คือสอนว่าการกระทำของเราทั้งหลายนี้มีผล และสอนว่าความเพียรของเรานี้ย่อมมีผล  คือบางลัทธิในสมัยพุทธกาลเขาจะสอนว่าการกระทำของเรานี้ไม่มีผลใดๆเลย และบางลัทธิก็สอนว่าความเพียรของเรานี้เปล่าประโยชน์ ถึงแม้จะพากเพียรไปสักเท่าไรก็ไม่ได้อะไร  ซึ่งการสอนเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ที่เชื่อถือหันมาทำความชั่วและไม่มีความเพียรพยายามทำในสิ่งที่ดีงาม แล้วก็จะเกิดผลเลวร้ายตามมาทั้งแก่ตนเองและสังคม

ถ้าเราเชื่อว่ากรรมมีผล (คือมีความสุขใจเมื่อทำดีและมีความทุกข์ใจเมื่อทำชั่ว) และความเพียรมีผล (คือทำให้พ้นทุกข์ได้) เราก็จะละเว้นความชั่ว แล้วทำแต่ความดี รวมทั้งมีความเพียรในสิ่งที่ถูกต้องดีงามอีกด้วย  ซึ่งการศึกษาต่อไปนี้ก็จะช่วยให้เรามีความเชื่อเรื่องกรรมและความเพียรที่ถูกต้องต่อไป

 

๒๓.  แก่นพุทธศาสนา

พุทธศาสนาในปัจจุบันจะประกอบด้วยศาสนวัตถุ (สิ่งก่อสร้าง), ศาสนาพิธี (พิธีกรรมต่างๆ), ศาสนาบุคคล (นักบวช), และศาสนาธรรม (คำสอน)  แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนา  ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ทรงเปรียบเทียบเอาไว้ว่า เหมือนกับการที่เราไปแสวงหาประโยชน์จากต้นไม้ใหญ่ ที่มีทั้งกิ่งและใบ สะเก็ด เปลือก กะพี้ และแก่น คือเราจะเลือกเอาอะไรจากสิ่งเหล่านี้ จึงจะทำให้เราได้รับประโยชน์ โดยสิ่งเหล่านี้ก็คือ

 

“ความสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ จัดเป็นเพียงกิ่งและใบของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยศีล จัดเป็นเพียงสะเก็ดของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ จัดเป็นเพียงเปลือกของศาสนา

ความสมบูรณ์ด้วยสัมมาทิฎฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) จัดเป็นกะพี้ของศาสนา

ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง (ถาวร) จัดเป็นแก่นของศาสนา”

 

จากจุดนี้เราก็สามารถมองได้ว่าสังคมใดหรือใครเข้าถึงพุทธศาสนาในระดับใด   การที่วัดวาอารามเจริญรุ่งเรืองใหญ่โตนั้นยังเป็นแค่เพียงกิ่งและใบของพุทธศาสนาเท่านั้น  การมีศีลหรือสมาธิสมบูรณ์ก็ยังไม่ใช่แก่นของพุทธศาสนา แม้การเข้าใจพุทธศาสนาถูกต้อง ก็ยังเป็นเพียงเข้าใกล้แก่นเท่านั้น จะต้องถึงขั้นปฏิบัติจนดับทุกข์ได้ถาวร (นิพพานถาวร ) จึงจะชื่อว่าเข้าถึงแก่นพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง

ธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ก็ต้องมีทั้งกิ่งและใบ, สะเก็ด, กะพี้, และแก่น จึงจะทำให้ต้นไม้นั้นดำรงอยู่ได้ หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าต้นไม้ใดมีแต่กิ่งและใบมากเกินไปโดยไม่มีแก่น ต้นไม้นั้นก็จะหักโค่นได้โดยง่าย หรือนำเอามาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ซึ่งพุทธศาสนาก็เหมือนกัน คือจะต้องมีทั้งลาภสักการะและเสียงสรรเสริญอยู่บ้าง, มีผู้ปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัดมากมาย, มีผู้ปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจังมากมาย, มีผู้มีความเห็นถูกต้องมากมาย, และมีผู้หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงอยู่บ้าง พุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้ แต่ถ้าพุทธศาสนามีแต่ลาภสักการะและเสียงสรรเสริญมากมาย หรือมีแต่สิ่งก่อสร้างใหญ่โตมากมาย แต่คนที่จะปฏิบัติศีลอย่างถูกต้องเคร่งครัดกลับมีน้อย แม้คนที่จะฝึกสมาธิจริงจังก็มีน้อย และคนที่จะมีความเห็นถูกต้องก็ไม่มี รวมทั้งคนที่หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวรก็ไม่มี พุทธศาสนาก็ย่อมที่จะดำรงอยู่ไม่ได้ หรือมีแต่ชื่อแต่ไม่มีแก่นแท้อยู่เลย   

 

จบบทที่ ๑

|หน้าต่อไป|