-๓-

บทที่  ๒  ดวงตาเห็นธรรม

๑.  อริยสัจ  ๔ คืออะไร?

อริยสัจ  แปลว่า  ความจริงอันประเสริฐ  ซึ่งมีอยู่  ๔  ประการ อันได้แก่

    ๑.  ทุกข์      ความทุกข์

     .  สมุทัย   สาเหตุของทุกข์

     ๓.  นิโรธ     ความดับไปไม่เหลือของทุกข์

     ๔.  มรรค    วิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์

ในชีวิตของมนุษย์เรานี้คงไม่มีอะไรประเสริฐไปกว่า “ความไม่มีทุกข์เลยตลอดชีวิต” อีกแล้ว ดังนั้นอริยสัจ ๔ จึงจัดว่าเป็นความจริงอันประเสริฐสำหรับมนุษย์

อริยสัจ  ๔  นี้ก็คือความจริงของระบบจิตใต้สำนึกของมนุษย์เราทุกคน ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่ามันมีการปรุงแต่งผลักดันกันอย่างไร มันจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมา และทรงค้นพบว่าต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะทำให้ความทุกข์ไม่เกิดขึ้นมาได้ทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร

อริยสัจ  ๔  นี้จะย่อลงเป็น ทุกข์กับไม่มีทุกข์  โดยทุกข์กับสาเหตุของทุกข์จะย่อลงเป็นทุกข์ และความดับลงของทุกข์กับวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์จะย่อลงเป็นไม่มีทุกข์ โดยหลักอริยสัจ ๔ นี้ก็คือเรื่องของเหตุและผล คือเมื่อมีเหตุ ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมาทันที เมื่อไม่มีเหตุ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ก็จะดับหายไป ดังนั้นวิธีดับทุกข์โดยสรุปก็คือ ต้องค้นหาสาเหตุที่กำลังปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ให้พบ แล้วดับมันเสีย หรือทำให้เหตุมันหายไป แล้วความทุกข์ก็จะไม่มีหรือดับหายไปตาม ซึ่งวิธีนี้ก็คือการใช้เหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์มาปฏิบัตินั่นเอง

 

๒.  ทุกข์คืออะไร?

ทุกข์  แปลว่า  ทน, ต้องทน   ซึ่งทุกข์ของอริยสัจ  ๔  นี้ก็หมายถึง ความรู้สึกของจิตใจที่มีลักษณะทรมานใจ  หรือเร่าร้อนใจ  หรือหนักเหนื่อยใจ  เป็นต้น  ซึ่งแสดงออกมาเป็น ความเศร้าโศก  เสียใจ  คับแค้นใจ แห้งเหี่ยวใจ ไม่สบายใจ หรือ หนักเหนื่อยใจ เป็นต้น

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ความทุกข์นี้จะเกิดมาพร้อมๆกับความยึดถือ (หรือความยึดมั่น หรือความยึดมั่นถือมั่น) ว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา (เมื่อมีความยึดถือว่ามี “ตัวเรา” เกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็ย่อมที่จะมีความยึดถือว่ามี “ของเรา” เกิดตามมาด้วยเสมอ อย่างที่เรียกว่า “ตัวเรา-ของเรา”) คือเมื่อเกิดความยึดถือว่า : มีเราเกิด, มีเราแก่, มีเราเจ็บ, มีจะเราตาย, หรือมีเราที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่, หรือมีเราที่กำลังประสบกับบุคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รักอยู่, หรือมีเราที่กำลังผิดหวังเพราะมุ่งหวังสิ่งใดแล้วไม่ได้ตามที่หวังอยู่ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที คือสรุปแล้ว "ความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา" นั้นคือความทุกข์ทั้งหมด

ความทุกข์นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้อง กำหนดรู้ให้ถูกต้อง ว่ามันคือ ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา (ไม่ใช่ความแก่หรือความตายของร่างกายจะทำให้เป็นทุกข์โดยตรง)   คือเมื่อเกิดความยึดถือว่ามีเราเกิด (ในกรณีที่เกิดมาแล้วกำลังรู้สึกว่าทนได้ง่าย ซึ่งจัดเป็นความทุกข์ซ่อนเร้น), เราแก่ (ในกรณีที่มีร่างกายแก่), เราเจ็บ (ในกรณีที่มีร่างกายเจ็บป่วย), หรือเราจะตาย (ในกรณีที่มีร่างกายกำลังจะตาย), เป็นต้น จึงทำให้ความทุกข์นี้เกิดขึ้นมา  แต่ถ้าไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเราเสียอย่างเดียว  แม้ร่างกายจะแก่, หรือเจ็บ, หรือจะต้องตายตามธรรมชาติของมัน เป็นต้น ความทุกข์ของจิตก็จะไม่เกิดขึ้น

 

๓.  สมุทัยคืออะไร?

สมุทัย  แปลว่า  เหตุเกิดขึ้นพร้อม  หรือ สาเหตุของทุกข์   คือเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว  สาเหตุทั้งหมดของความทุกข์ทั้งปวงนั้นก็มาจากสาเหตุเดียวคือ “อวิชชา” ที่แปลว่า ไม่ใช่วิชชา

คำว่า วิชชา หมายถึง ความรู้สูงสุด หรือ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้  ซึ่งก็ได้แก่ความรู้เรื่องอริยสัจ ๔  โดยมีหัวใจอยู่ที่ความรู้เรื่อง อนัตตา หรือความรู้เรื่อง ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

คำว่า อวิชชา ก็หมายถึง ความรู้ที่ไม่ใช่วิชชา คือหมายถึง ความรู้ที่ดับทุกข์ไม่ได้ หรือเรียกว่า ความโง่สูงสุด หรือ ความไม่รู้จริง  ซึ่งหัวใจของอริยสัจ ๔ ที่เป็น “วิชชา” ก็คือ “ความรู้เรื่องอนัตตา” ดังนั้นสิ่งที่เป็นหัวใจของ “อวิชชา” ก็คือความรู้ที่ตรงข้ามกับวิชชา อันได้แก่ “ความรู้ว่ามีอัตตา” หรือ “ความรู้ว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตน”  (หรือตัวเอง หรือตัวเรา) ซึ่งอวิชชานี้มันได้ฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราทุกคน หรือเป็นสัญชาติญาณของจิตใต้สำนึกของทุกชีวิต ที่เป็นสาเหตุต้นเหตุทำให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายขึ้นมา

เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อจิตใต้สำนึกของเรามีความรู้ว่า “ร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา” ซึ่งความรู้นี้เองที่มันจะคอยกระตุ้นหรือผลักดันให้จิตใต้สำนึกของเราปรุงแต่งให้เกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา-ของเรา” ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา และเมื่อจิตของเราได้กระทบกับสิ่งต่างๆของโลกทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ ที่ให้ความรู้สึกเริ่มต้นที่ “น่าพอใจ” (ความสุข) บ้างหรือ “ไม่น่าพอใจ” (ความทุกข์) บ้างขึ้นมาเมื่อใด จิตใต้สำนึกของเราก็จะปรุงแต่งให้เกิด “ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา” ขึ้นมาทันที และเมื่อเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาเมื่อใด จิตที่เกิดความยึดถือนั่นเองที่จะเกิด ความรู้สึกทรมาน หรือเร่าร้อน หรือหนัก หรือเหนื่อย หรือไม่สบาย เป็นต้น ที่เรียกว่าเป็น “ความทุกข์” ซ้อนขึ้นมาอีกทันที

   

๔.  นิโรธคืออะไร?

นิโรธ  แปลว่า ดับไม่เหลือ ซึ่งก็หมายถึง อาการที่ความทุกข์ของจิตใจได้ดับหายไปแล้ว และเมื่อจิตไม่มีความทุกข์  จิตมันก็จะกลับคืนสู่สภาวะดั้งเดิมของมัน คือ สงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส และเบาสบายอย่างยิ่ง (เป็นความรู้สึกที่ตรงข้ามกับความทุกข์)  ซึ่งเรียกว่า นิพพาน  ที่แปลว่า ดับเย็น หรือหมายถึง ความสงบเย็นของจิตใจ ซึ่งการที่นิโรธจะเกิดขึ้นมาได้ก็เป็นเพราะ จิตไม่ปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา

นิโรธ นี้จะเป็นเหตุ ส่วนนิพพานจะเป็นผล  คือ เมื่อความทุกข์ดับลง จิตก็จะสงบเย็นตามมาทันที  แต่เราไม่ค่อยนิยมกล่าวถึงคำว่านิโรธ  เรามักจะนิยมใช้คำว่านิพพานมากกว่า ทั้งๆที่แท้จริงมันจะเป็นของคู่กันเสมอ 

นิพพานนี้โดยสรุปแล้วมี  ๓  ลักษณะ คือ

๑. นิพพานชั่วคราว หรือ นิพพานขั้นต้น คือเมื่อทุกข์ดับลงเองตามธรรมชาติ จิตก็จะนิพพาน แต่ว่ายังไม่สูงสุด (ไม่เย็นสนิท) และไม่ถาวร หรือจะเรียกว่าเป็นความเย็นอกเย็นใจก็ได้

๒. นิพพานจากสมาธิ ซึ่งเกิดจากการใช้สมาธิมาระงับความรู้สึกว่ามีตัวเรา-ของเรา และความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราให้ดับลงอย่างชั่วคราว ซึ่งก็จะทำให้เกิดนิพพานได้สูงสุด (เย็นสูงสุด) เหมือนกัน แต่ว่ายังไม่ถาวร เพราะถ้าสมาธิหายไปเมื่อใด นิพพานนี้ก็จะหายตามไปด้วย เพราะมันยังไม่ถาวร

๓. นิพพานถาวร  คือเมื่อเราสามารถกำจัดอวิชชาที่เป็นต้นขั้วของความทุกข์ให้หมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกของเราได้แล้วอย่างถาวร จิตก็จะไม่มีทุกข์อีกอย่างถาวร และนิพพานสูงสุดก็จะมีอย่างถาวรได้ (คือมีตลอดชีวิต)

ตามปกติในชีวิตประจำวันของเรา ก็มีนิพพานขั้นต้นมาหล่อเลี้ยงจิตให้ได้พักผ่อนอยู่เสมอๆ ไม่ให้เป็นบ้าตายเพราะมีความทุกข์แผดเผาอยู่ตลอดทั้งวันอยู่แล้ว แต่เรากลับไม่ชอบ เพราะเห็นว่านิพพานนั้นจืดชืด ไม่สนุก หรือน่าเบื่อ แต่นี่คือสิ่งสูงสุดสำหรับทุกชีวิต เพราะทำให้จิตไม่เป็นทุกข์ และไม่ทำให้ชีวิตเดือดร้อน รวมทั้งยังจะช่วยให้โลกมีสันติภาพได้อีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรเห็นคุณค่าของนิพพาน ไม่เกลียดกลัวนิพพาน และพยายามแสวงหานิพพานให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป

 

๕.  มรรคคืออะไร?

มรรค  แปลว่า หนทาง หรือ ทางเดิน   ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า อริยมรรค  ที่หมายถึง  หนทางอันประเสริฐ   ซึ่งอริยมรรคนี้ถึงแม้จะเป็นหนทางเดียว แต่จะมีองค์ประกอบอยู่ถึง  ๘  ประการด้วยกัน   ซึ่งก็สามารถย่อให้สั้นลงเพื่อให้ปฏิบัติได้ง่ายขึ้นเป็น ศีล, สมาธิ, และปัญญา  แต่เมื่อเวลาปฏิบัติจริงก็จะสรุปอยู่ที่ การระวังอย่าให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาเท่านั้นเอง  

หัวใจของมรรคนี้ก็คือปัญญา ซึ่งก็คือความรู้และเข้าใจว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” คือถ้าจิตยังคงมีความโง่สูงสุด (คืออวิชชา หรือความรู้ว่ามีตัวเรา) ครอบงำอยู่ มันก็ย่อมที่จะอยากจะได้ความสุขให้แก่ตัวเอง แล้วก็เกลียดกลัวนิพพาน แต่ถ้าจิตมีวิชชา (คือความรู้ว่าแท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง) เกิดขึ้นมาเมื่อใด อวิชชาก็ย่อมที่จะหายไป เพราะเป็นสิ่งตรงข้ามกัน แล้วจิตก็จะบริสุทธิ์ ซึ่งจิตที่บริสุทธิ์นี้ก็ย่อมที่จะไม่มีความอยากได้ความสุขหรือความรู้สึกใดๆอีกต่อไป ดังนั้นจิตที่บริสุทธิ์นี้จึงมีความสงบเย็น (นิพพาน) และภายหลังเมื่อจิตเผลอสติกลับมามีความทุกข์เมื่อใด มันก็จะปรารถนานิพพานที่มันเคยได้สัมผัสมาแล้ว ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เราปรารถนานิพพานที่สูงขึ้นต่อไป

เมื่อเราปฏิบัติมรรคถูกต้องเมื่อใด ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะระงับหรือดับลงทันที หรือ ความทุกข์ที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าจิตใต้สำนึกของเรายังคงมีความเคยชินของอวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเรา) อยู่ เมื่อจิตเผลอสติ  อวิชชาก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ แล้วก็มาปรุงแต่งหรือกระตุ้นให้จิตของเราเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาได้อีก และความทุกข์ก็จะยังกลับมาเกิดขึ้นมาได้อีกเรื่อยไป จนกว่าเราจะปฏิบัติศีล, สมาธิ, และปัญญาได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง จนสามารถทำลายความเคยชินของอวิชชาให้หมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกของเราได้ ความทุกข์ก็จะไม่กลับขึ้นมาเกิดใหม่ได้อีกอย่างถาวร และนิพพานก็จะปรากฏแก่จิตของเราอย่างถาวรได้ ซึ่งมรรคนี้เป็นสิ่งที่ควรเจริญ คือทำให้มากยิ่งๆขึ้นจนสมบูรณ์สูงสุด (คือจนกระทั่งปรากฏนิพพานถาวร)

 

๖.  มรรคคือจิตว่าง

เมื่อสรุปวิธีปฏิบัติอริยสัจ  ๔  ก็จะได้ดังนี้

เมื่อมีความรู้ว่า “มีตัวเรา” ก็จะมีการปรุงแต่งต่อๆไปให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา แล้วก็เกิดความทุกข์

เมื่อมีความรู้ว่า “ไม่มีตัวเราอยู่จริง” ก็จะไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมา แล้วก็ไม่มีทุกข์ (นิพพาน )

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว มรรคก็คือการทำจิตให้ว่างจากความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา  ซึ่งการที่จะทำให้มรรคเกิดขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความไม่มีตัวเราอยู่จริง (มีความเข้าใจเรื่องอนัตตาซึ่งเป็นหัวใจของปัญญา) เป็นตัวนำ พร้อมทั้งต้องอาศัยจิตที่เข้มแข็ง (มีสมาธิ) มากำจัดความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราให้ระงับหรือดับหายไป โดยผู้ที่จะปฏิบัติเช่นนี้ได้จะต้องเป็นคนดี (มีศีล) อยู่ก่อนเป็นพื้นฐานด้วย 

สรุปได้ว่า การปฏิบัติมรรคนั้นเราจำเป็นที่จะต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งศีลนั้นเพียงเราตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของคนอื่นอย่างจริงใจ เราก็ชื่อว่ามีศีลแล้ว ส่วนสมาธินั้นเมื่อเรารู้วิธีการฝึก เราก็สามารถฝึกฝนเองได้ ส่วนปัญญานั้น เราจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจหลักอริยสัจ ๔ โดยมีหัวใจอยู่ที่การศึกษาให้เข้าใจในเรื่องอนัตตาเป็นหลัก ดังนั้นจุดสำคัญที่สุดในขั้นแรกนี้ก็คือ การศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง “ความไม่มีตัวเราอยู่จริง” (อนัตตา) นี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน

      

๗.  อัตตาของพราหมณ์

คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเป็น “อัตตา” ดังนั้นถ้าเราจะศึกษาเรื่องอนัตตา เราก็จะต้องทำความเข้าใจคำว่า “อัตตา” เสียก่อน เราจึงจะเข้าใจคำว่า “อนัตตา” ได้

คำว่า อัตตา แปลว่า ตน หรือ ตัวตน หรือ ตนเอง ที่หมายถึง ตัวตนที่แท้จริง หรือ ตัวตนอมตะ ซึ่งเมื่อเน้นมาที่ชีวิตของเราก็หมายถึง สิ่งที่เป็น “ตัวเรา” ซึ่งคำว่าอัตตานี้จะหมายถึงสิ่งที่เป็นตัวตนของมันเอง โดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่งมันขึ้นมา ซึ่งอัตตานี้จะมีลักษณะเป็นอมตะ (ไม่ตายอย่างเด็ดขาด) คือจะตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดร (นิจจัง) รวมทั้งจะไม่มีความรู้สึกที่ต้องทนอยู่อีกด้วย (สุขัง)

คำสอนเรื่องอัตตานี้เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่เขาเชื่อว่า จิตหรือวิญญาณของสิ่งที่มีชีวิตคือคนและสัตว์ทั้งหลายนี้เป็นอัตตา (หรือเป็นอมตะ) ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วได้ และยังไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้ ซึ่งจากความเชื่อว่าจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตานี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า ผี พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล รวมทั้งเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า และเรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อนด้วย เป็นต้น ขึ้นมา

ความเชื่อว่าจิตหรือวิญญาณนี้เป็นอัตตาหรือเป็นตัวเรานี้ เกิดมาจากสัญชาติญาณ (ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตโดยไม่มีใครสอน) หรือสามัญสำนึกของสิ่งที่มีชีวิต ที่ทุกชีวิตก็ย่อมที่จะมีความรู้สึกว่ามีตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทุกชีวิตรักตัวเอง และจะได้ดูแลรักษาตัวเอง จะได้ไม่สูญพันธุไปจากโลก ซึ่งเมื่อชีวิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเอง (หรือตัวเรา) จึงทำให้เกิดความเชื่อว่าตัวเองนี้จะคงมีอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดรหรือเป็นอมตะ และเมื่อร่างกายตาย จึงเกิดความเชื่อว่าตัวตนนี้ก็จะออกจากร่างกายนี้เพื่อไปรับผลจากการกระทำของตัวเองในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก็ทำให้เกิดความเชื่อว่าต้องมีสถานที่สำหรับลงโทษ (นรกใต้ดิน) และสถานที่สำหรับรับรางวัล (สวรรค์บนฟ้า) ขึ้นมาอีกตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า “ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นอัตตาได้” จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับคำสอนเรื่องว่า “จิตหรือวิญญาณเป็นอัตตา” ของพราหมณ์อย่างรุนแรง แต่ก็ไม่มีใครสามารถใช้เหตุผลมาหักล้างคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ จึงทำให้คำสอนของพระพุทธองค์เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงดำรงพระชนชีพอยู่มาโดยตลอด แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๘๐๐ ปี คำสอนเรื่องจิตหรือวิญญาณเป็นอัตตาของพราหมณ์ ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน 

จากสัญชาติญาณหรือสามัญสำนึกว่าจิตเป็นอัตตาหรือเป็นตัวเรานี้เอง ที่เป็นต้นเหตุให้จิตปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา แล้วก็ทำให้จิตเป็นทุกข์ และถ้าใครยังเชื่อว่าจิตเป็นอัตตา ก็จะไม่สามารถปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ เพื่อดับทุกข์ได้ และชื่อว่าเป็นผู้ที่ยังไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องอีกด้วย

 

๘.  อนัตตาหัวใจของอริยสัจ ๔

หลักปฏิบัติของมรรคนี้จะมีจุดสำคัญอยู่ที่ การกำจัดความยึดถือว่ามีตัวเราให้หายไปจากจิต  แต่ถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราอยู่จริง” (หรือเรื่องจิตเป็นอนัตตา)  มรรคนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นมาได้อย่างแท้จริง  คือตราบใดที่เรายังมีความเชื่อหรือมีความเห็นว่า “มันมีตัวเราอยู่จริง”   ตราบนั้นปัญญาที่แท้จริงที่จะทำให้เกิดมรรคที่ถูกต้องก็จะไม่เกิดขึ้นมาได้

ดังนั้นความรู้เรื่องอนัตตาจึงเป็นความรู้ที่จะมาทำลายความรู้ว่ามีตัวเรา (อวิชชา) ให้หายไปจากจิตใต้สำนึก และทำให้จิตนี้ไม่มีความทุกข์ ซึ่งความรู้เรื่องอนัตตานี้จัดเป็นต้นตอของปัญญาในพุทธศาสนา เพราะถ้ามีความรู้เรื่องอนัตตาถูกต้องแล้วก็จะทำให้เกิดความเข้าใจในหลักอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังทำให้เกิดความรู้อื่นๆที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาตามมาอีกมากมาย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจในเรื่องอนัตตาอย่างถูกต้อง เราก็จะไม่เข้าในหลักอริยสัจ ๔ รวมทั้งไม่เข้าใจคำสอนอื่นๆของพุทธศาสนาทั้งหมดอย่างถูกต้องอีกด้วย

 

๙.  กฎอิทัปปัจจยตา  

ในจักรวาล (หรือเอกภพ) ของเรานี้ย่อมที่จะมี “สิ่งสูงสุด” ควบคุมอยู่ ซึ่งสิ่งสูงสุดก็คือ สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดในโลกและในจักรวาล ที่คอยดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป คือดลบันดาลให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง และดับสลายไปเมื่อถึงเวลา     ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะถือว่าสิ่งสูงสุดนี้ก็คือ กฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่แปลว่า การประชุมปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ หรือ ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย ซึ่งก็หมายถึง การที่มีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา ซึ่งกฎอิทัปปัจจยตานี้มีรายละเอียดดังนี้

             

เมื่อสิ่งนี้มี        สิ่งนี้จึงมี,         เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้    สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

          เมื่อสิ่งนี้ไม่มี    สิ่งนี้จึงไม่มี,     เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้     สิ่งนี้จึงดับไป.

 

โดยสรุปแล้วกฎก็นี้ก็จะบังคับทุกสิ่งเอาไว้ว่า

 

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่ จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ทั้งสิ้น”

 

ก่อนอื่นเราจะต้องทำความเข้าใจกับคำบางคำให้ถูกต้องเสียก่อน เราจึงจะศึกษากฎอิทัปปัจจยตานี้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง คือ :

คำว่า “สิ่ง” ก็หมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งสิ่งทั้งหลายของโลกก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ วัตถุ (รวมทั้งพลังงานและรังสีทั้งหลายด้วย) กับสิ่งที่เป็น นามธรรม (คือมีแต่ชื่อเรียก แต่ไม่มีตัวตนเหมือนวัตถุ อันได้แก่พวก จิต หรือ ความรู้สึก ความจำ และการปรุงแต่งของจิต เป็นต้น)

คำว่า “ต้อง” ก็หมายถึงว่า จะเป็นเช่นนั้นเสมอ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

คำว่า “เกิด” ก็หมายถึงว่า จากเดิมที่ไม่มีอยู่ก่อนแล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง

คำว่า “ดับ” ก็หมายถึงว่า จากเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วจึงมาหายไปในภายหลัง

คำว่า “ตั้งอยู่ “ ก็หมายถึงว่า เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่ดับหายไป

คำว่า “ปรุงแต่ง” หมายถึง การนำเอาสิ่งต่างๆที่แตกต่างกันหลายๆสิ่ง (เหตุและปัจจัย) มารวมตัวกันเพื่อให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา (ผล) โดยเมื่อมีการปรุงแต่งจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นแล้ว ก็จะมองไม่เห็นลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่มาประกอบกันขึ้นมานั้นเลย  

คำว่า “เหตุ” ก็หมายถึง สิ่งที่ปรุงแต่งให้เกิดผล

คำว่า “ผล” ก็หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ

คำว่า “ปัจจัย” ก็หมายถึง เหตุย่อยๆที่มีหลายเหตุ หรือ สิ่งที่มาช่วยสนับสนุน

กฎอิทัปปัจจยตานี้จะบอกถึงเรื่องเหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์   คือจะบอกว่า “เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล, เมื่อมีผลมันก็ต้องมีเหตุ, ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็จะไม่มี, ถ้าเหตุเกิดขึ้น ผลจึงจะเกิดขึ้น, ถ้าเหตุดับลง ผลก็จะดับลง” ซึ่งผลทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากเหตุนี้เราจะเรียกว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง”

 

๑๐. การปรุงแต่งคืออะไร?

คำที่เข้าใจได้ยากก็คือคำว่า “ปรุงแต่ง” ที่หมายถึง การที่ธรรมชาตินำเอาสิ่งต่างๆที่แตกต่างกันหลายๆสิ่ง (ที่เรียกว่าเหตุและปัจจัย) มารวมตัวกัน จนทำให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา (ที่เรียกว่าผล) โดยเมื่อมีการปรุงแต่งจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาแล้ว สิ่งใหม่นั้นเราจะมองไม่เห็นหรือไม่สามารถสัมผัสกับลักษณะของเหตุและปัจจัยของมันได้ เพราะเหตุและปัจจัยของมันนั้น ได้รวมตัวกันจนแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ เหมือนกับว่ามันเกิดมีสิ่งใหม่จริงๆขึ้นมาโดยไม่อาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งขึ้นมา อย่างเช่นพวกที่เป็นวัตถุก็ได้แก่ ร่างกายของมนุษย์, อวัยวะต่างๆของร่างกายมนุษย์, เนื้อไม้, ผลไม้, และแร่ธาตุต่างๆ, รวมทั้งสิ่งที่เป็นพวกจิตเช่น การรับรู้, ความรู้สึก, ความจำ, และความคิดของมนุษย์ด้วย เป็นต้น 

แต่ถ้าเป็นการกระทำของมนุษย์หรือสัตว์ โดยการนำเอาสิ่งต่างๆหลายๆสิ่ง (ที่เรียกว่าเป็นเหตุและปัจจัย) มารวมตัวกัน จนทำให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา (ที่เรียกว่าเป็นผล) แต่ว่าเรายังมองเห็นหรือสามารถสัมผัสกับลักษณะของเหตุและปัจจัยของมันได้ จะไม่เรียกว่าเป็นการ “ปรุงแต่ง” แต่จะเรียกว่าเป็นการ “ประกอบ” หรือ “สร้าง” อย่างเช่น อาหาร, เสื้อผ้า, บ้าน, รถยนต์, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ เป็นต้น

อีกคำคือคำว่า “เหตุ” นั้นจะหมายถึง เหตุที่มีความสำคัญที่สุด หรือใหญ่ที่สุดเพียงเหตุเดียว ส่วนคำว่า “ปัจจัย” จะหมายถึง เหตุที่มีความสำคัญรองๆลงมา ที่อาจมีได้หลายเหตุ หรือหมายถึง สิ่งที่มาช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดผลขึ้นมา คือการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีความพร้อมทั้งเหตุและปัจจัย ถ้ามีแต่เพียงเหตุ โดยไม่มีปัจจัย ผลก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หรือถ้ามีแต่ปัจจัย โดยไม่มีเหตุ ผลก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้อีกเหมือนกัน แต่ปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด และปัจจัยก็มักจะมีมาก รวมทั้งเราก็รู้ๆกันอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงมักไม่กล่าวถึงปัจจัย เราจะกล่าวถึงเฉพาะเหตุเท่านั้น  ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย อย่างเช่น เมื่อมี “เหตุ” คือการนำเอาเมล็ดแอปเปิลมาปลูก และมีดิน มีปุ๋ย มีน้ำ มีแสงแดด และมีอากาศเป็น “ปัจจัย” จึงทำให้เกิด “ผล” คือเกิดมีต้นแอปเปิลขึ้นมา  หรือเมื่อมี “เหตุ” คือมีต้นแอปเปิล และมีปุ๋ย มีน้ำ มีแสงแดด และมีอากาศเป็น “ปัจจัย” จึงทำให้เกิด “ผล” คือลูกแอปเปิลขึ้นมา เป็นต้น  แต่เรามักกล่าวสั้นๆเพียงว่า “เมื่อมีการนำเมล็ดแอปเปิลมาปลูก จึงเกิดมีต้นแอปเปิลขึ้นมา” หรือ “ลูกแอปเปิล เกิดมาจากต้นแอปเปิล” เท่านั้น เป็นต้น    

 

๑๑.  สิ่งปรุงแต่ง – สิ่งไม่ปรุงแต่ง

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของเหตุและปัจจัยนี้ เราจะเรียกว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” โดยสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้นย่อมที่จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น อย่างเช่น ร่างกายของคนเราก็ต้องอาศัยพ่อและแม่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น หรืออวัยวะต่างๆของร่างกายก็ต้องอาศัยอาหาร น้ำ อุณหภูมิและก๊าซต่างๆมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ก็ย่อมที่จะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับหายไป โดยทุกสิ่งในโลกและในจักรวาลที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาเป็นเหตุและปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา จะเรียกว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ด้วยกันทั้งสิ้น ยกเว้น “สิ่งไม่ปรุงแต่ง” เท่านั้น

“สิ่งไม่ปรุงแต่ง” ก็หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ แต่ว่าไม่อาศัยสิ่งใดมาปรุงแต่งให้มันมีอยู่ และมันก็ไม่ปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดๆอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่ไม่ปรุงแต่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีการเกิดขึ้น มีแต่การตั้งอยู่ และไม่มีการดับหายไปอีกด้วย โดยสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งนี้ ถ้าเป็นวัตถุก็คือ “สุญญากาศ” หรือที่ว่างเปล่าที่ไม่มีแม้อากาศหรือก๊าซใดๆอยู่เลย ส่วน “สิ่งไม่ปรุงแต่งทางจิต” ก็หมายถึง อาการที่จิตไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา หรืออาการที่จิตไม่ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสหรือความทุกข์ขึ้นมานั่นเอง (ส่วนตัวจิตเองนั้นยังจัดว่าเป็นสิ่งปรุงแต่ง ซึ่งเราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป) ซึ่ง “สิ่งไม่ปรุงแต่ง” ทั้งทางวัตถุและจิตใจก็มีเพียงเท่านี้ นอกนั้นจะเป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น

 

๑๒.  ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมาจากเหตุปัจจัย

เมื่อพิจารณากฎอิทัปปัจจยตานี้ให้ละเอียดก็จะสรุปได้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” และเมื่อพิจารณาในทางกลับกันก็จะเข้าใจได้ว่า “ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุ”

คำว่า “สิ่งหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิ่งหนึ่งขึ้นมานั้น” หมายถึงว่า มันมีปัจจัยต่างๆรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีเหตุมาพร้อมกันเข้า สิ่งหนึ่งจึงเกิดขึ้นมา  อย่างเช่น  เมื่อมีเทียนไขและอากาศบริสุทธิ์เป็นปัจจัยรออยู่แล้ว  เมื่อเราจุดไฟขึ้นมาที่ไส้เทียนไข จึงเป็นเหตุให้เกิดแสงสว่างขึ้นมา  เป็นต้น

เมื่อพิจารณาต่อไปก็จะพบว่า  “สิ่งๆเดียวสามารถเป็นได้ทั้งเหตุและผล” คือเมื่อสิ่งหนึ่งทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา และสิ่งใหม่นี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้อีก   ซึ่งจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไปเหมือนห่วงโซ่ที่คล้องต่อกันไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และถ้าพิจารณาต่อไปก็จะพบว่า “สิ่งๆเดียวสามารถเป็นเหตุให้เกิดผลหลายๆผลได้อีก”   ซึ่งถ้าเราพิจารณาให้ดีเราก็จะพบว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม  ที่เป็นเชนนี้ก็เพราะมันมีเหตุและผลของสิ่งต่างๆที่เกี่ยวพันกันอยู่อย่างสับสนและยุ่งเหยิงไปหมด ซึ่งส่วนมากเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรู้ว่ามันมีเหตุมาอย่างไรก็ได้ เราเพียงเข้าใจว่ามันต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้นก็พอแล้ว

สรุปได้ว่า  ทุกสิ่งในจักรวาลของเรานี้มันขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย มีเหตุและปัจจัยผลักดันให้เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุและปัจจัย รวมทั้งดับสลายไปเพราะขาดเหตุและปัจจัย   ถ้าเรามองให้ลึกซึ้งเราก็จะพบกฎสูงสุดนี้อยู่ในทุกๆอณูของทุกสิ่ง และในทุกความรู้สึก อันจะทำให้เราเริ่มเข้าใจโลกและเข้าใจชีวิตได้ถูกต้องยิ่งขึ้น และหายตื่นเต้นจากคำเล่าลือในเรื่องที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์หรือศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพราะเข้าใจแล้วว่ามันก็เป็นของมัน “เช่นนั้นเอง” ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้มีสิ่งวิเศษหรือศักดิ์สิทธิ์อะไรเลยที่จะอยู่นอกเหนือกฎอิทัปปัจจยตาไปได้

 

๑๓.  กฎไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ หมายถึง  ลักษณะ ๓ ประการที่ครอบงำหรือมีประจำอยู่ในทุกๆสิ่งที่เป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ทั้งหลาย ซึ่งลักษณะทั้ง ๓ นั้นก็ได้แก่

๑. อนิจจลักษณะ หรือ อนิจจัง  คือลักษณะที่ ไม่เที่ยงแท้ถาวร

๒. ทุกขลักษณะ หรือ ทุกขัง หรือ ทุกข์  คือลักษณะที่ ต้องทน

๓. อนัตตลักษณะ หรือ อนัตตา  คือลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

อนิจจลักษณะ หรือ อนิจจัง ก็หมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายล้วนไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ และไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือ ดับหายไป (ใช้กับสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ อันได้แก่ความรู้สึก, การปรุงแต่งของจิต, เป็นต้น ที่เป็นพวกจิตใจ) อย่างแน่นอน  คือสรุปได้ว่า “สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นต้องดับ”

ทุกขลักษณะ หรือ ทุกขัง (หรือทุกข์) ก็หมายถึงว่า สิ่งที่ถูกปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือจิตใจ ก็ล้วนต้องมีสภาวะที่ต้องทนทั้งสิ้น  ซึ่งทุกขลักษณะนี้ก็แยกได้ ๒ อย่าง อันได้แก่

๑. ทุกขลักษณะที่เกิดกับวัตถุ คือวัตถุทั้งหลายนัน เมื่อขณะที่ยังตั้งอยู่ มันก็ต้องทนประคับประคอง เพื่อดูแลรักษาตัวเองอยู่ด้วยความยากลำบาก ทั้งในการแสวงหาเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งตัวของมัน และป้องกันเหตุปัจจัยภายนอกที่จะมาทำลายตัวของมัน รวมทั้งยังต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของมันเอง มากบ้างน้อยบ้างอยู่ตลอดเวลา คือถ้าเป็นวัตถุที่ไม่มีชีวิตก็จะไม่มีจิตมารับรู้อาการที่ “ต้องทน” ของมัน แต่ถ้าเราพิจารณาดูจากอาการที่วัตถุต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่ง เราก็จะเห็นถึง “ลักษณะที่ต้องทน” ของมัน แล้วเราก็จะเกิด “ความรู้สึกน่าอิดหนาระอาใจ” ขึ้นมา ซึ่งนี่ก็คือความหมายของ “ทุกขลักษณะของวัตถุ”  ที่เราใช้การพิจาณาเห็น

๒. ทุกขลักษณะที่เกิดกับสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งในกรณีของสิ่งที่มีชีวิตก็จะมีจิตมารับรู้ลักษณะที่ “ต้องทน” ของมัน เมื่อรับรู้แล้วก็จึงทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่า “มีการทนอยู่ด้วยตลอดเวลา” ดังนั้นทุกขลักษณะของสิ่งที่มีชีวิตจึงหมายถึง “ความรู้สึกที่ต้องทน” โดยในกรณีความรู้สึกที่ต้องทนของสิ่งที่มีชีวิตนี้ก็แยกได้ ๒ อย่าง อันได้แก่

๒.๑ กรณีทุกขลักษณะที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ถ้ามีน้อยก็เรียกว่า “ความสุขกาย” เช่น ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรค เย็นสบาย อิ่มท้อง นอนหลับ ไม่ปวดเมื่อย เป็นต้น แต่ถ้ามีมากก็เรียกว่า “ความทุกข์กาย” เช่น เจ็บป่วย มีโรค  ปวดเมื่อย ร้อน หนาว หิวโหย ง่วงนอน เป็นต้น)

๒.๒ กรณีของทุกขลักษณะที่เกิดขึ้นกับจิต ซึ่งกรณีจิตนี้จะแยกได้ ๒ อย่าง คือ

๒.๒.๑. กรณีที่จิตปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา ก็จะเกิดเป็น “ความรู้สึกที่ทนได้ยาก” (ความรู้สึกทุกข์ที่รุนแรงทั้งทุกข์ซ่อนเร้นและทุกข์เปิดเผย) อย่างเช่น เมื่อเรากำลังพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอยู่ โดยจิตจะมีความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังเป็นผู้พลัดพราก เราก็จะเกิดความรู้สึกที่ทรมานจิตใจขึ้นมาทันที เป็นต้น ซึ่งนี่ก็คือความทุกข์ในอริยสัจ ๔ นั่นเอง

๒.๒.๒ กรณีที่จิตไม่ปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา ก็จะเกิดเป็น “ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย”  ซึ่งนิยมเรียกว่า “ความไม่มีทุกข์” หรือ “ที่สุดแห่งทุกข์” (หรือนิพพาน) คือเพราะความทุกข์ของจิตได้ลดลงมากจนถึงที่สุดเท่าที่มันจะลดลงได้แล้ว ซึ่งทุกขลักษณะที่มีน้อยมากนี้จะไม่เป็นปัญหาของจิต คือจิตแทบไม่รู้สึกว่าต้องทนเลย อย่างเช่น เมื่อจิตกำลังมีปัญญาและสมาธิ ก็จะทำให้ความยึดถือว่ามีตัวเราก็ไม่เกิดขึ้น แล้วจิตก็สงบเย็น หรือ เบา สบาย สดชื่น ปลอดโปร่ง แจ่มใส ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของนิพพาน หรือความไม่มีทุกข์ในอริยสัจ ๔ นั่นเอง

อนัตตลักษณะ หรือ อนัตตา ก็คือเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าจะมีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะเป็นอัตตาได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปรุงแต่งหรือสิ่งไม่ปรุงแต่งก็ตาม คือเรียกว่า “ไม่ยอมรับว่าจะมีอะไรที่จะมาเป็นตัวเรา หรือตัวตนของใครๆที่แท้จริงได้ จะมีก็เพียงตัวเราชั่วคราวเท่านั้น” ซึ่งความหมายก็คือ “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” ส่วนสิ่งที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ของจริง  แต่เป็นเพียง “ตัวตนชั่วคราว” (มีตัวตนเหมือนกับของจริงเพียงแต่ว่าไม่ถาวร) หรือ “ตัวตนมายา” (หลอกลวงว่าเป็นตัวตนจริงๆ) หรือ “ตัวตนสมมติ” (ลงมติร่วมกันว่าเป็นตัวตนจริงๆ) เท่านั้น

 

๑๔.  ทุกสิ่งเป็นอนัตตา

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายล้วนไม่เที่ยงและต้องทนอยู่” แต่ในส่วนอนัตตาทรงสอนว่า “ทุกสิ่ง (คือทั้งสิ่งปรุงแต่งและสิ่งไม่ปรุงแต่ง) ล้วนไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงหรือไม่ใช่ตัวเราจริงหรือไม่ใช่ตัวตนของใครๆจริง”

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งทั้งหลายนั้นไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้อย่างชั่วนิรันดร ซ้ำขณะที่ยังตั้งอยู่ก็ยังต้องมีความยากลำบากอีก แล้วอย่างนี้ เราจะยึดถือ “สิ่งปรุงแต่ง” นี้ว่าเป็นตัวตน (หรือตัวเรา) ได้อย่างไร มันจะเป็นได้ก็เพียง ตัวตนชั่วคราว หรือ ตัวตนมายา หรือ ตัวตนสมมติ เท่านั้น

ส่วนสิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่งหรือสร้างให้เกิดขึ้นมาทางวัตถุ อันได้แก่ “สุญญากาศ” ซึ่งก็เป็นตัวตนของใครไม่ได้เพราะมันเป็นแค่ความว่างเปล่าทางวัตถุเท่านั้น ส่วน “จิตที่ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา” นั้นก็เป็นตัวตนของใครๆไปไม่ได้อีก เพราะพื้นฐานของจิตนั้นมันก็เป็นสิ่งปรุงแต่งอยู่แล้ว เพียงแต่มันไม่ปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวตนใดๆขึ้นมาเท่านั้น แต่ถึงแม้จิตจะปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวตนขึ้นมาอย่างเข้มข้นสักเท่าใดก็ตาม มันก็ไม่ได้ทำให้จิตกลายเป็นตัวตนที่แท้จริงหรืออัตตาขึ้นมาได้อีกเหมือนกัน ดังนั้นจึงเท่ากับสรุปได้ว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเป็นตัวเราหรือตัวตนของใครๆจริงได้เลย”

 

๑๕.  ธาตุพื้นฐานโลก

ธาตุ  หมายถึง  สิ่งที่ย่อยเล็กที่สุด  หรือ สิ่งที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง  คือทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกหรือในจักรวาลนี้ไม่ว่าจะเป็นอะไร เมื่อนำมาแยกย่อยให้เหลือเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว สิ่งที่เหลือเล็กที่สุดนี้จะเรียกว่า “ธาตุ”  ดังนั้นธาตุจึงเป็นพื้นฐานของทุกๆสิ่ง ทุกๆสิ่งเกิดมาจากธาตุที่มากมายมหาศาลมารวมตัวหรือประกอบกันขึ้น  ซึ่งในการศึกษาเรื่องธาตุนี้เราไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้ละเอียดถึงที่สุดชนิดแยกเป็นอะตอมก็ได้เพราะเกินความจำเป็น เราจะเอาเพียงแค่สายตาเรามองเห็นก็พอแล้ว โดยสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเมื่อนำมาแยกย่อยออกจนมองเห็นว่าเล็กที่สุดแล้วก็จะเรียกสิ่งที่แยกย่อยแล้วนั้นว่า ธาตุ

ธาตุของสิ่งใดก็ย่อมที่จะมีคุณสมบัติของสิ่งนั้นอยู่ด้วยเสมอ คือมันเป็นคุณสมบัติที่ย่อยเล็กที่สุดจำนวนมากมายมหาศาลมารวมตัวกันแล้วเกิดเป็นสิ่งนั้นขึ้นมา อย่างเช่น เมื่อเอาธาตุเหล็กหรือคุณสมบัติที่แข็งและเหนียวที่เล็กที่สุดจำนวนมากมหาศาล มารวมตัวกันให้จับยึดติดแน่นกันแล้วก็จะเกิดเป็นโลหะที่เรียกว่าเหล็กขึ้นมาได้ เป็นต้น ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะเรียกทุกสิ่งว่าเป็นธาตุ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือไม่ใช่วัตถุก็ตาม  ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าทุกสิ่งเกิดมาจากธาตุ และก็ย่อมที่จะมีธาตุมากมายหลายชนิดบนโลกนี้  แต่ธาตุทั้งหลายบนโลกนี้จะเกิดมาจากธาตุที่เป็นพื้นฐานของมันอีกทีหนึ่ง  ซึ่งธาตุที่เป็นพื้นฐานนี้จริงๆก็จะมีอยู่เพียง   ๖  ธาตุเท่านั้น อันได้แก่

๑.  ธาตุดิน     คือคุณสมบัติที่ค่อนแข็ง (ของแข็ง)

๒.  ธาตุน้ำ     คือคุณสมบัติที่เหลว, เกาะกุมตัวกันง่าย (ของเหลว)

๓.  ธาตุไฟ     คือคุณสมบัติที่ร้อน, ทำลาย (อุณหภูมิ)

๔.  ธาตุลม     คือคุณสมบัติที่เบาบาง, ฟุ้งแผ่กระจาย (ก๊าซ)

๕.  ธาตุว่าง    คือคุณสมบัติที่ว่างเปล่าหรือไม่มีอะไรเลย (สุญญากาศ)

๖.   ธาตุรู้ (ธาตุวิญญาณ)  คือคุณสมบัติที่สามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้  (วิญญาณ)

ธาตุทั้งหลายบนโลกนี้จะสรุปได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. วัตถุธาตุ  คือธาตุที่มีตัวตนให้จับต้องได้  ซึ่งวัตถุทั้งหลายรวมทั้งพลังงานต่างๆนั้นจะเกิดมาจากธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, และธาตุลมมาปรุงแต่งขึ้นมาในลักษณะที่แตกต่างกัน  และอาศัยธาตุว่างตั้งอยู่

๒. นามธาตุ คือธาตุที่ไม่มีตัวตนให้จับต้องได้ เช่น วิญญาณ ความรู้สึก ความจำ การปรุงแต่งของจิต หรือแม้นิพพาน และความทุกข์ เป็นต้น โดยวิญญาณนั้นก็จัดเป็นนามธาตุ  ซึ่งธาตุวิญญาณนี้เองที่เป็นพื้นฐานให้เกิดจิตของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายขึ้นมา แล้วทำให้จิตนี้สามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้, รู้สึกได้, จดจำได้, รวมทั้งคิดนึกปรุงแต่งได้

ถ้าเราพิจารณาแยกสิ่งต่างๆออก จนเห็นว่ามันเป็นเพียงธาตุจำนวนมากมายมหาศาลมารวมตัวกันขึ้นเท่านั้น เราก็จะไม่พบกับตัวตนที่แท้จริงของสิ่งต่างๆนั้นได้ ซึ่งก็จะทำให้เราเข้าใจคำว่า อนัตตา หรือ ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงได้  เรื่องธาตุจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์  ถ้าเรายังมองเห็นว่าอาจจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะจิตใจของเรานี้ ว่ามันเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นตัวตนของมันเองโดยไม่อาศัยธาตุสร้างขึ้นมา เราก็จะยังคงมีความเชื่อว่ามีสิ่งที่เป็นอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงอยู่ ซึ่งนั่นก็คือความเชื่อว่าจิตใจหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นอัตตา ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์นั่นเอง

 

๑๖.  วิญญาณ  ๖ 

วิญญาณ  แปลว่า  รู้, แจ้ง  คือเป็น อาการที่รับรู้สิ่งต่างๆได้   โดยวิญญาณนี้จะเกิดขึ้นได้  ๖  จุด อันได้แก่  

๑. จักขุวิญญาณ      คือการรับรู้ทางตา (ได้เห็นรูป)

๒. โสตวิญญาณ      คือการรับรู้ทางหู (ได้ยินเสียง)

๓. ฆานวิญญาณ     คือการรับรู้ทางจมูก (ได้รู้กลิ่น)

๔. ชิวหาวิญญาณ    คือการรับรู้ทางลิ้น (ได้รู้รส)

๕. กายวิญญาณ       คือการรับรู้ทางกาย (ได้รู้สิ่งสัมผัสกาย)

๖. มโนวิญญาณ       คือการรับรู้ทางใจ (ได้รู้สิ่งสัมผัสใจ)

คำว่า “วิญญาณ” ในความหมายของพุทธศาสนาจะหมายถึง การรับรู้  เมื่อเกิดการรับรู้ขึ้นมาที่ใดและเวลาใด ก็ชื่อว่าเกิดวิญญาณขึ้นที่นั้นและเวลานั้น  เมื่อไม่มีการรับรู้ วิญญาณก็จะไม่เกิดขึ้น   ซึ่งวิญญาณนี้เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมตามธรรมชาตินั่นเอง ดังนั้นจึงเท่ากับไม่มีวิญญาณที่เป็นตัวตนเฉพาะของใครๆได้ โดยวิญญาณจะมีลักษณะเหมือนไฟฟ้าที่ต้องอาศัยแบตเตอร์รี่หรือไดนาโมมาสร้างขึ้นมา  คือมันก็ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมาเสมอ  โดยวิญญาณสามารถเกิดขึ้นมาได้ในร่างกายคน สัตว์ และแม้ในพืชที่เหมาะสมหรือยังไม่ตาย    อย่างเช่น ในพืชนั้น เมื่อเราไปถูกต้นไมยราพแรงๆมันก็จะหุบกิ่งหุบใบของมันทันที   ซึ่งนั่นแสดงถึงการรับรู้หรือการมีวิญญาณของมันนั่นเอง ส่วนวัตถุที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้อนดิน ก้อนหิน เหล็ก ท่อนไม้ พลาสติก รวมทั้งร่างกายที่ตายแล้ว เป็นต้น จะไม่มีวิญญาณหรือการรับรู้เกิดขึ้นเพราะไม่มีความเหมาะสม

วิญญาณนี้จะเกิดขึ้นตามระบบประสาทของร่างกาย คือที่ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ (สมอง) ที่ยังดีอยู่ โดยเมื่อมีรูป (ภาพ) มากระทบตา ก็จะเกิดวิญญาณหรือการรับรู้ภาพขึ้นที่ตา, เมื่อมีเสียงมากระทบหู ก็จะเกิดวิญญาณทางหูขึ้น, เมื่อมีกลิ่นมากระทบลิ้น ก็จะเกิดการได้ลิ้มรสขึ้น, เมื่อมีสิ่งมาสัมผัสกาย (เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เจ็บ แสบ) ก็จะเกิดการได้รับรู้สิ่งที่มาสัมผัสกายขึ้น, เมื่อมีสิ่งมาสัมผัสใจ (เช่น ความรู้สึก ความจำ การปรุงแต่งคิดนึก และการรับรู้ต่อจากตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย เป็นต้น) ก็จะเกิดวิญญาณทางใจขึ้น ถ้าระบบประสาทจุดใดเสียหาย วิญญาณก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ คือไม่สามารถเกิดการรับรู้ขึ้นที่ระบบประสาทจุดที่เสียหายนั้นได้

 

๑๗.  ขันธ์   ๕

ขันธ์  แปลว่า  ส่วน, พวก, กลุ่ม  คือชีวิตของมนุษย์เรานี้จะแบ่งออกได้  ๕   ขันธ์ อันได้แก่

๑. รูปขันธ์  คือพวกอวัยวะทุกส่วนของร่างกายที่เกิดมาจากธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, และธาตุลมสร้างขึ้นมา

๒. เวทนาขันธ์  คือพวกความรู้สึกทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมาตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย คือเมื่อเกิดวิญญาณขึ้นมาที่ใด ก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาพร้อมๆกันด้วยเสมอ ซึ่งความรู้สึกนี้ก็มีอยู่ ๓ ประเภท อันได้แก่ ๑. สุขเวทนา  ความรู้สึกสุข (ทนง่าย) ๒. ทุกขเวทนา ความรู้สึกทุกข์ (ทนยาก)  ๓. อทุกขมสุขเวทนา  ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ (กลางๆหรือจืดๆ)

. สัญญาขันธ์   คือพวกอาการที่เราจำอะไรๆได้

๔. สังขารขันธ์    คือพวกการปรุงแต่งทั้งหลายของจิต เช่น ความคิด ความอยาก ความยึดถือ เป็นต้น

๕. วิญญาณขันธ์  คือพวกการรับรู้ที่เกิดขึ้นทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ

ขันธ์ทั้ง  ๕  นี้ย่อลงเป็น รูป (วัตถุ) กับ นาม (ไม่ใช่วัตถุ) ซึ่งรูปกับนามนี้จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวที่จะแยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันเมื่อใดก็จะดับสลายหายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที

รูปขันธ์จะสรุปเป็นรูปหรือร่างกาย   ส่วนเวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, และวิญญาณขันธ์ จะสรุปเป็นนามหรือจิตใจของเรา (จิตกับใจก็คือสิ่งเดียวกัน แต่ถ้ามองในแง่ว่ามันทำหน้าที่คิดนึกก็เรียกว่า “จิต” ถ้ามองในแง่ว่ามันทำหน้าที่รู้สึกก็เรียกว่า “ใจ” ซึ่งภาษาไทยมักเรียกติดต่อกันว่า “จิตใจ” หรือบางทีก็เรียกแยกกัน แต่ก็มีความหมายเหมือนกัน) ซึ่งถ้าจะเรียกรูปกับนามนี้ให้ถูกต้องจริงๆก็ต้องเรียกว่า รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, และวิญญาณขันธ์ แต่เรามักเรียกกันสั้นๆว่า รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, และวิญญาณเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ถูกต้องนัก (เพราะคำว่า สังขาร นั้นจริงๆแปลว่า การปรุงแต่ง หรือ สิ่งปรุงแต่ง แต่คำว่าสังขารในขันธ์ ๕ นั้นหมายถึงการปรุงแต่งของจิต อันได้แก่ ความคิดและความอยาก) ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย

 

๑๘.  อายตนะ

อายตนะ  หมายถึง  สิ่งเชื่อมต่อ   ซึ่งแบ่งได้   ๒  ประเภท อันได้แก่

๑. อายตนะภายใน   สิ่งเชื่อมต่อที่เป็นส่วนภายใน  อันได้แก่ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และใจ

๒. อายตนะภายนอก สิ่งเชื่อมต่อที่เป็นส่วนภายนอก อันได้แก่ รูป (ภาพ), เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, และธรรมารมณ์  (โผฏฐัพพะก็คือ “สิ่งที่มาสัมผัสกาย” เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หยาบ ละเอียด  ส่วนธรรมารมณ์ก็คือ “สิ่งที่มาสัมผัสใจ” เช่น ความรู้สึก, ความจำ, ความคิดปรุงแต่ง และการรับรู้ที่ต่อจากอายตนะภายในทั้งหมดด้วย เป็นต้น)

อายตนะภายนอกในนั้นนิยมเรียกว่า อินทรีย์  ที่หมายถึง  ความเป็นใหญ่ เช่น ตามีความเป็นใหญ่ในการเห็น หรือหูมีความเป็นใหญ่ในการได้ยิน เป็นต้น ซึ่งอายตนะภายในแต่ละอย่างนี้จะอาศัยระบบประสาทของร่างกายที่เหมาะสมและดีพร้อมเกิดขึ้น เช่น อายตนะตาจะอาศัยระบบประสาทที่ดีของลูกตาเกิดขึ้นมา  หรืออายตนะหูจะอาศัยแก้วหูเกิดขึ้น เป็นต้น

อายตนะภายนอกนั้นนิยมเรียกว่า อารมณ์  ที่หมายถึง  สิ่งสำหรับจับยึดของจิต  (ถ้าจิตไม่มีอารมณ์มาให้จับยึดก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้)  ซึ่งอารมณ์ของโลกทั้งหมดนี้จะสรุปลงได้  ๓  ประเภท  อันได้แก่

๑. กามารมณ์ อารมณ์ที่น่ารัก น่าใคร่ น่ากำหนัดยินดี อันมีจากเพศตรงข้ามเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด

๒. รูปารมณ์ อารมณ์ที่เป็นรูปหรือวัตถุที่ไม่ใช่กามารมณ์ เช่น บ้าน รถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า เป็นต้น

๓. อรูปารมณ์ อารมณ์ที่ไม่ใช่รูป เช่น เกียรติยศ  ชื่อเสียง  ความเด่นดัง ความต่ำต้อย  เป็นต้น

อายตนะทั้งในและนอกแต่ละจุดนี้เมื่อกระทบถึงกันแล้วก็จะเกิดการรับรู้ขึ้นมา , ต่อจากนั้นก็เกิดเป็นความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นด้วย,  เมื่อรู้สึกแล้วก็จะจำสิ่งนั้นได้,  ต่อจากนั้นก็จะมีการปรุงแต่งต่อไปต่างๆนาๆ   เช่น คิดไปในทางที่ดีหรือชั่ว หรือปรุงแต่งให้เกิดความอยากและยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา เป็นต้น

 

๑๙. ขันธ์บริสุทธิ์ –ไม่บริสุทธิ์

ขันธ์ทั้ง  ๕  นี้ยังแยกออกได้   ๓   ลักษณะ อันได้แก่

        ๑. อุปาทานขันธ์    คือขันธ์ที่ถูกยึดครอง

        ๒. สุทธิขันธ์          คือขันธ์ที่ไม่ถูกยึดครองชั่วคราว

        ๓. วิสุทธิขันธ์        คือขันธ์ที่ไม่ถูกยึดครองถาวร

เมื่อจิตเกิดการยึดถือขันธ์  ๕  นี้ว่าเป็นตัวเรา-ของเราขึ้นมา ก็จะทำเรียกว่าเป็น อุปาทานขันธ์  แต่ถ้าเมื่อใดที่จิตว่างจากการยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเรา-ของเราอย่างชั่วคราว ก็จะเรียกว่าเป็น สุทธิขันธ์  และถ้าจิตว่างจากการยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเรา-ของเราอย่างถาวร ก็จะเรียกว่าเป็น วิสุทธิขันธ์ (ขันธ์ของพระอรหันต์) แต่ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ชนิดใด พื้นฐานของทุกขันธ์ก็คือ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของใครๆทั้งสิ้น เพราะขันธ์เป็นเพียงการที่ธาตุตามธรรมชาติ มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นตัวตนขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งตัวตนที่เกิดขึ้นมานี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมีอยู่อย่างเป็นอมตะหรือมีอยู่ไปชั่วนิรันดรได้

 

๒๐.  ขันธ์  ๕  เป็นอนัตตา

คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงเน้นสอนมากที่สุดก็คือ “ให้นำขันธ์ทั้ง  ๕  นี้มาแยกแยะและพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยง, ต้องทนอยู่, และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของใครๆทั้งสิ้น  อย่างละเอียดในทุกๆแง่มุมอยู่เสมอ”  โดยเริ่มพิจารณาจากความจริงที่ปรากฏว่าแต่ละขันธ์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ดับลงได้อย่างไร ? มันตั้งอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่?  มันสุขหรือทุกข์? และมันเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรหรือไม่?

เมื่อพิจารณาอย่าละเอียดแล้วเราก็จะพบว่าแต่ละขันธ์มันไม่เที่ยงเลย เพราะมันมีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา, และยังต้องทนอยู่อีก, รวมทั้งะหาตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นอมตะไม่มี  มันเป็นเหมือนกับหุ่นยนต์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ชั้นเยี่ยมเท่านั้นเอง

เราจะต้องพิจารณาให้เข้าใจจริงๆว่าขันธ์ทั้ง  ๕  นี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็ตาม   จึงจะทำลายความเห็นผิดว่ามีตัวเรา-ของเราได้  แต่ถ้ายังเข้าใจว่าจะมีขันธ์ใดเป็นตัวเราหรือของเราหรือของใครๆอยู่อีกก็ยังใช้ไม่ได้   ซึ่งจุดนี้จะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องจุดแรกและสำคัญที่สุด ที่จะนำไปใช้ปฏิบัติให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔  ต่อไป (ที่เรียกกันว่า “เรา” หรือ “ตัวเรา” อยู่นี้เป็นเพียงการเรียกตามสมมติเท่านั้น)

 

๒๑.  ระบบการทำงานของจิต

จิตนี้จะมีการทำงานอย่างเป็นระบบ  คือเมื่อมีสิ่งภายนอก (เช่น ภาพ, เสียง, กลิ่น) มากระทบกับระบบประสาทจุดใดของร่างกาย (เช่น ตา, หู, จมูก) ก็จะทำให้เกิด วิญญาณหรือการรับรู้ (เกิดวิญญาณขันธ์)   ขึ้นที่ระบบประสาทนั้น  (เช่น เกิดการเห็นภาพ, ได้ยินเสียง, ได้กลิ่น)

เมื่อจิตเกิดการรับรู้สิ่งใดแล้ว ในขั้นต้นจิตก็จะนำเอาสิ่งที่รับรู้นี้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลในสมองที่มีอยู่ เมื่อมีข้อมูลที่ตรงกันก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ (ซึ่งนี่ก็คือการเกิดสัญญาขันธ์ขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์) เมื่อจำได้แล้วก็จะเกิด “ความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้” (เกิดเวทนาขันธ์) นั้นขึ้นมาด้วยทันที ถ้าสิ่งที่รับรู้นั้นเป็นที่ตั้งของความรู้สึกที่น่าพอใจ ก็จะเกิดความรู้สึกที่น่าพอใจ (สุขเวทนา) ขึ้นมาทันที แต่ถ้าสิ่งที่รับรู้นั้นเป็นที่ตั้งของความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ก็จะเกิดความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ (ทุกขเวทนา) ขึ้นมาทันที และถ้าสิ่งที่ได้รับรู้นั้นเป็นที่ตั้งของความรู้สึกที่จืดๆหรือกลางๆ จิตก็จะเกิดความรู้สึกจืดๆหรือกลางๆที่ไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์ (อทุกขมสุขเวทนา) ขึ้นมาทันที

เมื่อจิตเกิดการรับรู้และความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้นั้นแล้ว ขั้นต่อไปจิตก็จะนำเอาสิ่งที่ได้รับรู้และรู้สึกนั้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลหรือความทรงจำที่สมองมีอยู่อีกครั้ง เมื่อพบข้อมูลที่ตรงกัน จิตก็จะจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ (เกิดสัญญาขันธ์ที่สมบูรณ์ คือเกิดความจำได้ว่าสุขเวทนานั้น “น่าพอใจ” ส่วนทุกขเวทนานั้น “ไม่น่าพอใจ” และอทุกขมสุขเวทนานั้น “น่าลังเลใจ”) แต่ถ้าไม่พบข้อมูลที่ตรงกัน ก็จะจำไม่ได้ หรือไม่รู้จัก ซึ่งพร้อมกันนี้เองจิตก็จะมีการบันทึกหรือจดจำสิ่งต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นกับจิตเอาไว้ตลอดเวลาอีกด้วย (ความทรงจำจะถูกเก็บไว้ที่เนื้อสมองของเรา ถ้าความทรงจำใดที่เกิดขึ้นมาบ่อยๆมันก็จะกลายเป็นความทรงจำที่หนาแน่นหรือเข้มข้น ที่ฝังอยู่ที่จิตใต้สำนึกที่ลืมได้ยาก และทำลายได้ยาก ที่เรียกว่าเป็น “ความเคยชิน” หรือ “นิสัย” ของเราแต่ละคน ส่วนความทรงจำใดที่เกิดขึ้นไม่บ่อย มันก็จะเป็นแค่ความทรงจำชั่วคราว ที่จิตผิวเผินจดจำเอาไว้ ซึ่งไม่นานก็จะลืมหรือหายไปได้เอง แต่ถ้าเนื้อสมองเสียหาย ความทรงจำทั้งหมดก็จะหายตามไปด้วย)  ซึ่งความจำที่สำคัญที่สุดหรือมีมากที่สุด ที่จิตใต้สำนึกของเราบันทึกเอาไว้ก็คือ ความจำที่เกี่ยวกับเรื่องของตัวเราเอง เช่น ตัวเองเป็นชาย, หรือหญิง, มีรูปร่างหน้าตาเช่นนี้ๆ, มีผิวสีนี้, มีสีผมสีนี้, มีเสียงเช่นนี้, มีชื่อนี้, นามสกุลนี้,  มีพ่อมีแม่ชื่อนั้น-ชื่อนี้, มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของตัวเอง, รวมทั้งความทรงจำที่เกี่ยวกับเวทนา คือ สุขเวทนานี้น่าพอใจ ส่วนทุกขเวทนานี้ไม่น่าพอใจ และอทุกขมสุขเวทนานี้น่าลังเลใจ เป็นต้น ซึ่งความจำเหล่านี้ก็เกิดมาจากการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรา ที่สั่งสมมาตั้งแต่เราเริ่มเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ที่สมองของเราบันทึกเอาไว้นั่นเอง

ในขณะที่จิตกำลังเกิดความรู้สึกต่างๆและจำสิ่งต่างๆได้อยู่นั้น ถ้าจิตขาดสติและกำลังถูก “ความโง่สูงสุดหรืออวิชชา” (ความรู้ว่ามีตนเองหรือตัวเรา) ครอบงำอยู่ จิตก็จะปรุงแต่ง (เกิดสังขารขันธ์) ให้เกิด “ความอยาก” ต่อความรู้สึก (เวทนา) ทั้งหลายนั้นขึ้นมาทันที (ตัณหา แปลว่า ความอยาก ซึ่งมีอยู่ ๓ อาการ คืออยากได้สุขเวทนา, อยากเป็นอยู่กับสุขเวทนานั้นตลอดไป, และอยากทำลายทุกขเวทนา ซึ่งความอยากนี้บางทีก็เรียกว่า กิเลส ที่หมายถึง สิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองหรือสกปรก) และความอยากนี้ก็จะเป็นเหตุให้จิตเกิด “ความยึดถือว่ามีตัวเรา” (อุปาทาน) ที่เป็นผู้มีความอยาก และเมื่อเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาเมื่อใด จิตก็จะเกิด “ความทุกข์” (ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจหรือทุกขเวทนาที่เกิดซ้อนขึ้นมาอีกที) ขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งนี่ก็คือการปรุงแต่งของจิตใต้สำนึกที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วอย่างยิ่ง ที่แม้ไม่ต้องมีเจตนาหรือความตั้งใจ มันก็สามารถปรุงแต่งขึ้นมาของมันเองได้ เพราะมันมีความเคยชินที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของจิตเรา

แต่ถ้าขณะนี้จิตมีสติและไม่มีความโง่ครอบงำ แต่มีสมาธิและปัญญา (ความรู้และเข้าใจว่าไม่มีตัวเราจริง) เกิดขึ้นมาแทน จิตก็จะไม่มีความอยากใดๆ, ไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเรา, และไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีทุกข์ มันก็จะสงบเย็น หรือที่เราเรียกกันว่า นิพพาน  ซึ่งนี่ก็คือ “การหยุดปรุงแต่ง” หรือ “ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ” ของจิตใต้สำนึก

ส่วน “ความคิด” ของจิตนั้น ก็จัดเป็น “การปรุงแต่ง” อย่างหนึ่งของจิตที่มีเจตนาหรือความตั้งใจอยู่ด้วย โดยความคิดก็คือการนำเอาความทรงจำจากสมองมาปรุงแต่งว่าจะทำอย่างไรต่อไป คือถ้าจิตกำลังมีความโง่ครอบงำ จิตก็จะคิดไปด้วยความโง่ เช่น คิดว่าจะเอา หรือคิดว่าจะทำลาย หรือคิดหนี หรือคิดกลัว หรือคิดเกลียด เป็นต้น ซึ่งความคิดของจิตที่กำลังมีความโง่ครอบงำนี้ ก็จะเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับ “ความอยาก” แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าในขณะที่จิตกำลังคิดอยู่นี้มีปัญญาเกิดขึ้น จิตก็จะคิดไปด้วยปัญญา เช่น คิดว่า เช่นนั้นเอง หรือ ไม่น่าเอา ไม่น่ามี ไม่น่าเป็น หรือ ช่างมัน เป็นต้น ซึ่งจิตที่กำลังคิดด้วยปัญญานี้ก็จะ “ไม่มีความอยาก” ใดๆเกิดขึ้นมาด้วย

เมื่อมีการคิดใดๆเกิดขึ้นมาแล้ว จิตก็จะสั่งให้ปากพูดและร่างกายเคลื่อนไหวไปตามความคิดต่อไป คือเมื่อคิดด้วยความโง่มากๆ ก็มักจะพูดจาหยาบคาย หรือพูดโกหก หรือพูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น แล้วก็จะใช้ร่างกายเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นต่อไป ส่วนการคิดด้วยความโง่น้อยหน่อยก็จะพูดดีขึ้นและทำดีขึ้น แต่ถ้าคิดด้วยปัญญาก็จะพูดแต่ความจริง พูดมีเหตุผล พูดสุภาพ พูดมีสาระ และพูดมีประโยชน์ แล้วก็จะใช้ร่างกายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป

 

๒๒.  การเกิด - ดับของจิต

สิ่งที่ถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งหลายนั้น จะมีลักษณะให้สังเกตได้คือ จะมีการเกิดและดับ ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น ดั้งเดิมมันจะไม่มีอยู่ก่อน  แต่เมื่อมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่ง มันจึงเกิดขึ้นมา และจะตั้งอยู่เพราะเหตุปัจจัยของมันยังคงตั้งอยู่ เมื่อเหตุปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลง มันก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และเมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันดับหายไป มันก็จะดับหายตามไปด้วยทันที        ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงจิตของเรา เราก็จะพบว่า “จิต” คือสิ่งที่มีความรู้สึกและคิดนึกได้ และความรู้สึกนึกคิดนี้ก็มีอาการเกิดและดับอยู่ด้วย ดังนั้นจึงทำให้เราสรุปได้ว่า จิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง เมื่อจิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง ก็สรุปได้อีกว่า จิตมีความไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

การเกิดและดับของจิตนั้นมีอยู่หลายลักษณะ คือถ้าพิจารณาอย่างหยาบที่สุดเราก็จะพบว่า เมื่อร่างกายเกิดขึ้นมา ก็จะมีจิตเกิดขึ้นมาด้วย เมื่อร่างกายตายไป จิตก็จะดับหายตามไปด้วย แต่ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดขึ้นมาอีกหน่อยเราก็จะพบว่า ทุกครั้งที่เราเกิดมีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาเมื่อใด ก็เรียกว่าจิตได้เกิดขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อใดที่ความรู้สึกนึกคิดนี้ดับลงชั่วคราว ซึ่งอาจเป็นเพราะหลับหรือสลบ ก็เรียกว่าจิตดับ แต่ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้นเราก็จะพบว่า แม้ในขณะที่จิตเกิดความรู้สึกนึกคิดอยู่นั้น มันก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น เกิดความพอใจอยู่สักครู่แล้วก็ดับไป แล้วก็มาเกิดความโกรธอยู่สักครู่แล้วก็ดับไป หรือเกิดความสุขอยู่สักครู่แล้วก็ดับไป แล้วก็มาเกิดความทุกข์อยู่สักครู่แล้วก็ดับไป เป็นต้น ซึ่งนี่ก็เรียกได้ว่าเป็นการเกิดและดับของจิตที่ละเอียด

แต่ยังมีการเกิดและดับที่ละเอียดสูงสุดก็คือ จิตจะมีการเกิดและดับอย่างถี่ยิบอยู่ตลอดเวลา เพราะจิตเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุด และต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา เหมือนพลังงานไฟฟ้าที่ต้องอาศัยไดนาโมที่ยังดีอยู่และหมุนอยู่เพื่อปั่นให้เกิดพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา และพลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นมานั้นก็มีการเกิดและดับถี่ยิบสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าหยุดปั่น หรือไดนาโมเสีย การเกิดและดับอย่างถี่ยิบนี้ก็จะดับไปทันที ซึ่งจิตก็เหมือนกัน คือจิตจะอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายสร้างขึ้นมา และมันก็มีการเกิดขึ้นและดับหายไปอย่างถี่ยิบสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา (อย่างเช่น แสงเทียนที่เกิดและดับทยอยสืบเนื่องกันอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว) แต่เพราะมันมีการเกิดและดับที่รวดเร็วมาก และสืบต่อกันไว้อย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ามีจิตเกิดมานิ่งๆอยู่ในร่างกายตลอดเวลา ซึ่งนี่เองที่ทำให้จิตนี้เกิดความรู้สึกว่ามีตนเองขึ้นมา อันเป็นต้นเหตุให้เกิดความยึดถือว่ามีตนเองและเกิดความทุกข์ขึ้นมาในที่สุด   

 

๒๓.  ไม่มีตัวเราอยู่จริง

สรุปได้ว่า ชีวิตของมนุษย์เรานี้จะประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ที่จะต้องทำงานร่วมกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ถ้าแยกกัน มันก็จะแตก (ใช้กับร่างกาย) และดับหายไป (ใช้กับจิตใจ) ด้วยกันทั้งคู่ทันที  โดยร่างกายก็เกิดมาจากธาตุดิน (ของแข็ง), ธาตุน้ำ (ของเหลว), ธาตุไฟ (ความร้อน), และธาตุลม (ก๊าซ) สร้างขึ้นมา, และอาศัยธาตุว่าง (สุญญากาศ) ตั้งอยู่ ส่วนจิตหรือใจก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังดีอยู่เพื่อปรุงแต่งให้เกิดการรับรู้ (ธาตุรู้หรือวิญญาณ) ขึ้นมา, รวมทั้งอาศัยสิ่งภายนอกมากระทบเพื่อให้การรับรู้และความรู้สึกเกิดขึ้นมา, และอาศัยข้อมูลจากสมองมาเปรียบเทียบจนทำให้จำสิ่งที่รู้สึกนั้นได้, รวมทั้งยังนำความทรงจำนั้นมาใช้ปรุงแต่งให้เกิดความอยาก และความคิดทั้งหลายขึ้นมาแล้วก็มาสมติเรียกว่า “จิต” หรือ “ใจ”  ซึ่งนี่คือสิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในจักรวาล ที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของธรรมชาติ ภายใต้กฎสูงสุดของธรรมชาติ แต่ถึงมันจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์สักเพียงใดก็ตาม มันก็เป็นแค่เพียง “สิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น” หาได้เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรไม่

จากการศึกษามาทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราสรุปได้ว่า ขันธ์ ๕ หรือร่างกายกับจิตใจของเรานี้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเพื่อมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา และมีการเกิดและดับอยู่เสมอ ซึ่งก็ทำให้สรุปได้ว่า ร่างกายและจิตใจนี้เป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ซึ่งสิ่งปรุงแต่งก็จะมีความไม่เที่ยง, ต้องทนอยู่, และไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ซึ่งความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ ก็เกิดมาจากการปรุงแต่งของจิตโดยอาศัยความทรงจำจากสมองที่มีสัญชาติญาณว่ามีตนเอง (ความรู้ว่ามีตนเอง) ซ่อนมาด้วยมาทำงานร่วมกัน หรือมาปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา ดังนั้นเมื่อการปรุงแต่งของจิตและความทรงจำก็ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ดังนั้นความรู้สึกที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ จึงเป็นอนัตตาหรือไม่ใช่ตัวเราจริงตามไปด้วย คือทำให้สรุปได้ว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” แต่ก็ไม่ใช่ว่าชีวิตของทุกชีวิตจะไม่มีตัวตนใดๆเลย คือมันก็พอจะมีตัวตนอยู่เหมือนกัน แต่เป็นตัวตนที่เกิดขึ้นมาจากการที่มีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ถ้าเหตุหรือปัจจัยของมันเสื่อมสลายหายไป ตัวตนนี้ก็ย่อมที่จะเสื่อมสลายหายตามไปด้วยเหมือนกัน คือเรียกได้ว่าตัวตนนี้จะเป็นเพียง “ตัวตนมายา” หรือ “ตัวตนชั่วคราว” หรือ “ตัวตนสมมติ” เท่านั้น

พุทธศาสนาจะสอนว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปรู้เรื่องของร่างกายและจิตใจให้มากไปกว่านี้ก็ได้ เพราะไม่จำเป็นในการศึกษาในเรื่องการดับทุกข์นี้ เพียงเรารู้ว่ามันไม่ใช่ตัวตนที่จะมายึดถือว่าเป็นของเราหรือของใครๆได้เท่านั้นก็พอแล้ว คือเพียงพอที่จะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งในชีวิต และทำให้ไม่ยึดถือสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวเรา-ของเรา หรือตัวตนของใครๆได้แล้ว ซึ่งความไม่ยึดถือนี้เองที่จะมาช่วยให้จิตไม่เป็นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

 

๒๔.  อัตตา - อนัตตา_- นิรัตตา

ในสมัยพุทธกาลและแม้ในปัจจุบันผู้คนมักจะมีความเห็นเกี่ยวกับชีวิตกันอยู่   ๒ ประการใหญ่ๆ อันได้แก่

๑.  สัสสตะทิฏฐิ   คือความเห็นว่ามีสิ่งสืบต่อ (อัตตา)

๒.  อุจเฉททิฏฐิ   คือเห็นว่าขาดสูญเลย (นิรัตตา)

พวกสัสสตะทิฎฐิจะเห็นว่าเมื่อตายไปแล้วจะมีสิ่งไปเกิดใหม่ได้อีก (เห็นว่ามีอัตตาหรือเห็นว่ามีตัวตนอมตะ) รวมทั้งจะเห็นว่ามีความดี-ความชั่ว และมีผลของความดี-ความดีความชั่วในชาติหน้า ซึ่งพวกนี้มักจะทำดีไม่ค่อยทำชั่วเพราะกลัวตกนรกและอยากขึ้นสวรรค์ในชาติหน้า ซึ่งนี่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่มีความเห็นสุดโต่งไปในทางมี  ส่วนพวกอุจเฉททิฎฐิจะเห็นว่าไม่มีอะไรเลย (เห็นว่าไม่มีตัวตนใดๆเลย) หรือเห็นว่าตายแล้วสูญ รวมทั้งจะเห็นว่าไม่มีความดี-ความชั่ว ไม่มีผลของความดี-ความชั่วไม่ว่าในกรณีใดๆ ซึ่งพวกนี้มักจะทำชั่วได้ง่ายเพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผลในชาติหน้า ซึ่งนี่เป็นคำสอนของลัทธิบางลัทธิในสมัยก่อน ที่สอนเรื่อง นิรัตตา ที่หมายถึง ไม่มีตัวตนใดๆเลย การทำดีหรือชั่ว จะไม่มีผลใดๆเลย ซึ่งนี้ก็เป็นความเห็นที่สุดโต่งไปในทางว่าไม่มีอะไรเลย ที่ตรงข้ามกับความเห็นที่สุดโต่งไปในทางว่ามีอย่างของพราหมณ์

สำหรับพุทธศาสนาแล้วจะสอนว่า ความเห็นทั้งสองนี้จัดเป็นความเห็นผิดทั้งสิ้น เพราะเป็นความเห็นที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างแท้จริง และความเห็นนี้ก็นำมาใช้เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ไม่ได้อีกด้วย  แต่การเห็นว่าตายแล้วเกิดได้ใหม่อีกนั้น ยังดีกว่าการเห็นว่าตายแล้วสูญ  เพราะคนที่เชื่อจะไม่ค่อยทำชั่ว ส่วนการเห็นว่าตายแล้วสูญนั้นจะทำให้คนที่เชื่อนั้นชอบทำความชั่ว เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผลชั่วใดๆเลย และก็ไม่ชอบทำความดีเพราะเชื่อว่าไม่มีผลดีใดๆตอบแทน คนที่เชื่อเช่นนี้จึงมักจะแสวงหาความสุขและเสพความสุขไปวันๆ โดยไม่สนใจอนาคตเพราะเชื่อว่าเมื่อตายแล้วก็จบกัน

สำหรับพุทธศาสนาแล้วจะสอนเรื่อง “อนัตตา” ที่หมายถึง “ไม่ใช่อัตตา” หรือ “ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” (ระวังอย่าแปลว่า ไม่มีตัวตน เพราะจะกลายเป็นพวกนิรัตตาไป) คือหมายถึงว่าชีวิตของมนุษย์เรานี้ “มันมีตัวตนอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงตัวตนชั่วคราว” ไม่ใช่ตัวตนอมตะอย่างของพราหมณ์ ส่วนความดีและความชั่วก็มีผล แต่ก็มีผลเฉพาะในขณะที่ทำอยู่ในชีวิตนี้เท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อเนื่องไปถึงชาติหน้าอย่างความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ คือเมื่อเราทำความดีใดลงไปเมื่อใด ก็จะเกิดผลเป็นความสุขใจอิ่มใจขึ้นมาทันที อีกทั้งการทำความดีนี้ก็ยังเป็นจะเป็นปัจจัย (สิ่งสนับสนุน) ให้เรามีชีวิตที่เจริญขึ้นอีกด้วย แต่ถ้าเราทำความชั่วลงไปเมื่อใด ก็จะเกิดผลเป็นความทุกข์ใจ หรือร้อนใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่สบายใจขึ้นมาทันที อีกทั้งการทำความชั่วนี้ก็ยังจะเป็นปัจจัยให้ชีวิตของเราตกต่ำ ยากจน หรือเดือดร้อนได้อีกด้วย

ในสมัยพุทธกาลแม้ภิกษุบางรูป ก็ยังชื่อว่าตายแล้วยังจะมีวิญญาณไปเกิดใหม่ได้อีกตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ อย่างเช่น ภิกษุชื่อสาติที่เที่ยวพูดว่า “พระพุทธเจ้าสอนว่าวิญญาณนี้เองที่เวียนว่ายเพื่อรับผลกรรม” แม้เพื่อนภิกษุจะทักท้วงห้ามปรามก็ยังไม่เปลี่ยนความเชื่อ เมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสเรียกสาติภิกษุมา แล้วทรงถามว่าได้พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่? สาติภิกษุก็ตอบว่าได้พูดจริง พระพุทธองค์จึงทรงตรัสถามอีกว่า ได้ยินพระองค์ทรงตรัสสอนเช่นนี้แก่ใคร? สาติภิกษุก็ตอบไม่ได้ ได้แต่นั่งนิ่งก้มหน้าอยู่  

 เมื่อเป็นดังนี้พระพุทธองค์จึงทรงตรัสติเตียนสาติภิกษุว่าเป็น “โมฆะบุรุษ” คือเป็นคนเปล่าๆธรรมดาๆที่ไม่ได้มีคุณธรรมพิเศษ หรือไม่รู้เรื่องอันเป็นอริยะ (ระดับสูง) เลย เพราะไปถือเอาถ้อยคำผิดๆไว้ และพระพุทธองค์ยังได้ทรงตรัสถามเหล่าพระสงฆ์ในที่นั้นว่า “สาติภิกษุนี้สมควรที่จะเป็นภิกษุ หรือเป็นสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ได้หรือไม่?” ซึ่งพระสงฆ์ก็ตอบว่า “ไม่ควร” ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสแสดงถึงเรื่องการเกิดขึ้นของวิญญาณ ๖ เช่น เมื่อรูปมากระทบกับตา จึงเกิดวิญญาณทางตาขึ้น, เมื่อเสียงมากระทบกับหู จึงเกิดวิญญาณทางหูขึ้น เป็นต้น

สรุปได้ว่าความเข้าใจเรื่องอนัตตานี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะ ถ้าใครยังเชื่อว่าจะมีจิตหรือวิญญาณไปเกิดใหม่ได้อีก ก็ไม่จัดว่าเป็นสาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า หรือถ้าพระภิกษุใดยังมีความเชื่อเช่นนี้อยู่ก็ไม่จัดว่าเป็นพระสงฆ์ที่แท้จริง เพราะมีความเห็นไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จึงสมควรที่ผู้นับถือพระพุทธเจ้าทุกคนจะทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันให้ถูกต้อง  เพื่อที่จะได้นำพุทธศาสนาที่แท้จริงกลับมาให้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติกันต่อไป

 

๒๕.  ดวงตาเห็นธรรม

ดวงตาเห็นธรรม  หมายถึง  ปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจ  ๔  ซึ่งการเห็นแจ้งในอริยสัจ  ๔  นั้นก็คือ

๑. ต้องเห็นทุกข์อย่างถูกต้อง

๒. ต้องละเหตุของทุกข์ได้

๓. ต้องสัมผัสนิพพานจริงๆ

๔. ต้องปฏิบัติมรรคให้เกิดขึ้นจริง

การจะเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาได้นั้น จะต้องเอาความเข้าใจว่าขันธ์  ๕  เป็นอนัตตานี้มาเพ่งพิจารณาดูในร่างกายและจิตใจของเราเองอย่างจริงจังและแรงกล้า (ใช้สมาธิ) จนทำให้ความยึดถือว่าขันธ์ ๕ นี้คือตัวเรา-ของเราหายไปจากจิตจริงๆ  

ถ้าเราสามารถทำให้ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรานี้ลดน้อยลงบ้าง ก็จะทำให้จิตของเราสงบเย็นและความทุกข์ก็จะเบาบางลง (มีนิพพานขั้นต้น) ซึ่งปกติในชีวิตประจำวันเราก็มีนิพพานชนิดนี้กันอยู่บ่อยๆแล้วเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะไม่บ่อยนัก

แต่ถ้าสามารถทำให้ความรู้สึกว่ามีตัวเรา-ของเรานี้ หายไปได้จากจิตจริงๆแม้ชั่วขณะ   ก็จะพบว่า จิตจะสงบเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใส และเบาสบายอย่างที่สุด (นิพพานสูงสุด)  รวมทั้งจะเกิดความรู้ขึ้นมาเองด้วยว่า “การปฏิบัตินี้ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว” ซึ่งนี่ก็คือการเห็นแจ้งด้วยจิตของเราเองว่าอริยสัจ ๔ นี้ดับทุกข์ได้จริง เพราะมองเห็นทุกข์ที่เคยเกิดได้ดับไปแล้ว เพราะละเหตุของทุกข์ได้แล้ว และได้ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว รวมทั้งมรรคก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ซึ่งนี่ก็คือ การเกิดดวงตาเห็นธรรม หรือ การเห็นธรรม หรือ การเห็นอริยสัจ ๔ ที่แท้จริง

 

๒๖.  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือ

ครั้งหนึ่งได้มีผู้ไปทูลถามพระพุทธองค์ว่า “คำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์นั้นจะสรุปลงสั้นที่สุดว่าอย่างไร?” ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสตอบว่า คำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์นั้นจะสรุปอยู่ในประโยคที่ว่า

“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวเรา – ของเรา”

เพราะอะไร? ก็เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย และเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ดังนั้นมันจึงมีความไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่อยากจะให้เป็นได้ ถ้าใครไปยึดถือหรืออยากจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจตัวเอง เมื่อมันเป็นไปตามที่อยาก ก็พอจะมีความสุข (ซึ่งก็ยังมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่อีก) แต่เมื่อมันไม่เป็นไปตามที่อยาก ก็จะเป็นทุกข์ ซึ่งแน่นอนว่าความอยากนั้นมันไม่มีคำว่าพอ เมื่อได้ตามที่อยากมันก็จะเกิดความอยากใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อยไป สุดท้ายก็ไม่มีใครจะได้ตามที่อยากเสมอไป และเมื่อใดที่ไม่ได้ตามที่อยาก ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมาเมื่อนั้น

สรุปว่าแท้จริงมันไม่มีอะไรจะมาเป็นตัวเรา-ของเราได้  ถ้าจิตใดโง่ไปยึดถือเข้าจิตนั้นก็จะเป็นทุกข์ไปเปล่าๆอย่างช่วยไม่ได้  ถ้าจิตใดฉลาดไม่ไปยึดถือก็จะไม่เป็นทุกข์ ซึ่งถ้าใครได้รู้เพียงเท่านี้ ก็เท่ากับได้รู้จักพุทธศาสนาทั้งหมดแล้ว   ถ้าใครปฏิบัติได้เพียงเท่านี้ ก็เท่ากับปฏิบัติพุทธศาสนาทั้งหมดแล้ว  และถ้าใครได้รับผลเพียงเท่านี้ ก็เท่ากับได้รับผลทั้งหมดในพุทธศาสนาแล้ว

 

๒๗.  สมาทาน – อุปาทาน

          คำว่า อุปาทาน แปลว่า ความยึดถือ หรือ ความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งความยึดถือนี้ก็คืออาการที่จิตของเราอยากจะให้สิ่งที่เรายึดถือนั้นเป็นไปตามที่อยากจะให้เป็นนั่นเอง คือเป็นการยึดถือเอาชีวิต (คือร่างกายและจิตใจ) ที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมานี้ว่าเป็นตนเอง (หรือตัวเรา) ด้วยความโง่เขลา (อวิชชา) ทั้งๆที่ความจริงแล้วมันไม่มีสิ่งใดจะให้เรามายึดถือว่าเป็นตัวเราได้จริงเลย เมื่อเรายึดถือสิ่งใด เราก็อยากจะให้สิ่งนั้นเป็นไปตามที่อยากจะให้เป็น เช่น อยากจะให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่พลัดพราก เป็นต้น แต่ความจริงของชีวิตตามธรรมชาติก็คือ มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพราก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อความจริงนี้เกิดขึ้นมาแก่ชีวิตของเรา เราจึงเกิดความเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ ตรอมใจ เป็นต้น ที่เรียกว่าเกิดความทุกข์ขึ้นมา

          คำว่า สมาทาน แปลว่า ถือไว้ด้วยดี ซึ่งเป็นการถือเหมือนกัน แต่ว่าถือด้วยสติปัญญา ไม่ได้ยึดถืออย่างอุปาทาน ที่ถือไว้ด้วยอวิชชาหรือความโง่สูงสุด ที่ถือแล้วทำให้เกิดความทุกข์ใจ คือเมื่อชีวิตของเรานี้มันมีตัวตนเพียงชั่วคราว และเราไม่สามารถยึดถือหรือบังคับบัญชาให้มันเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็นได้ ถ้าไปยึดถือเข้า จิตใจก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจถึงความจริงสูงสุดนี้แล้ว เราก็ต้องมาถือเอาไว้อย่างดี คือเราก็ดูแลรักษาชีวิตของเรานี้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่จิตใจไม่ไปยึดถือกับมันว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ตามที่เราอยากจะให้เป็น ที่นี้พอชีวิตมันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือ ร่างกายแก่บ้าง เจ็บบ้าง จะตายบ้าง หรือชีวิตต้องพลัดพรากบ้าง เป็นต้น จิตใจของเราก็ไม่เศร้าโศกเสียใจ หรือแห้งเหี่ยวใจ ตรอมใจ ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ไปกับมัน จิตใจที่สมาทานจึงมีแต่ความสงบเย็นหรือนิพพาน

          สรุปได้ว่า ถ้าใครมีอุปาทานหรือมีความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายและจิตใจนี้ ด้วยความโง่สูงสุดว่ามันเป็นตัวเรา-ของเรา และอยากให้มันเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น ผู้นั้นก็จะเป็นทุกข์ แต้ถ้าใครมีปัญญาเห็นแจ้งแล้วว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง มีแต่ตัวตนชั่วคราวหรือตัวตนสมมติเท่านั้น” แล้วก็สมาทานหรือถือไว้ด้วยดีด้วยปัญญา และปล่อยให้ธรรมชาติทั้งหลายเป็นไปของมันตามธรรมชาติ โดยไม่ได้อยากให้มันเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เราก็จะไม่เป็นทุกข์ ซึ่งนี่ก็คือหลักการปฏิบัติสูงสุดของพุทธศาสนา ที่จะทำให้จิตใจของผู้ปฏิบัติไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 

๒๘. เราจะปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างไร?

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การปฏิบัติธรรม ก็คือ การดำเนินชีวิตอย่างไม่มีความทุกข์ คือตามปกติเราจะดำเนินชีวิตไปพร้อมๆกับมีความทุกข์ใจไปด้วย คือมีทั้งความร้อนใจ วิตกกังวล เครียด  หงุดหงิด รำคาญใจ เบื่อหน่าย อึดอัดใจ เป็นต้นอยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นความทุกข์ที่ไม่รุนแรง และบางครั้งก็มีความเศร้าเสียใจ ตรอมตรม แห้งเหี่ยวใจ ทุกข์ทรมานใจ เป็นต้น ที่เป็นความทุกข์ที่รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งนี่ก็คือความทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบัน

แต่เมื่อเราปฏิบัติธรรม ภายนอกเราก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วๆไป คือนักเรียนนักศึกษาก็เล่าเรียนไปตามปกติ คนทำงานก็ทำงานไปตามปกติ แต่จะต่างกับคนที่ไม่ปฏิบัติธรรมตรงที่ ภายในจิตใจจะมีความทุกข์ลดน้อยลงหรือไม่มีเลย ซึ่งเกิดมาจากความเข้าใจในชีวิตและโลก ว่า “แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีตัวตนของใครๆอยู่จริง” ซึ่งนี่ก็คือการมีปัญญา โดยจะมีจิตที่บริสุทธิ์จากกิเลส (คือจากความโลภ โกรธ หลง) ตั้งมั่น และเข้มแข็งอยู่เสมอ ซึ่งนี่ก็คือการมีสมาธิ และมีจิตที่ปกติ เพราะเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่แล้วจนเป็นปกติ ซึ่งนี่ก็คือการมีศีล

สรุปได้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นก็คือ การดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข โดยการมองโลกอย่างชาญฉลาด คือมองลึกเข้าไปในทุกสิ่งว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งก็คือการมองเห็นอนัตตาอยู่ตลอดเวลา และการมองนี้ก็ต้องใช้ความตั้งใจหรือสมาธิในการมอง เพราะสมาธิจะทำให้จิตไม่ไปยึดถือสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวเรา-ของเราขึ้นมาอันจะทำให้จิตเป็นทุกข์ โดยเราก็ต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่แล้วเป็นปกติด้วย แต่ถ้าเราไม่มีปัญญา หรือไม่มีสมาธิ หรือไม่มีศีล ก็จะไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ ซึ่งเราก็ต้องกลับมาตั้งใจรักษาศีลกันใหม่ กลับมาฝึกฝนสมาธิกันใหม่ และกลับมาศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า “ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” กันใหม่ เราจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้ และรับผลเป็นความสงบเย็นในการดำเนินชีวิตของเราได้

 

๒๙.  เราจะช่วยโลกให้มีสันติภาพได้อย่างไร?

          พุทธศาสนาจะสอนให้ แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งไม่ว่าปัญหาใดจะเกิดขึ้น ปัญหานั้นจะต้องเกิดขึ้นมาจากเหตุ ซึ่งเหตุนั้นก็ต้องเกิดขึ้นมาจากเหตุอีกเหมือนกัน และสุดยอดของเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาก็คือ ต้นเหตุ เมื่อเราแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ปัญหานั้นก็จะหมดสิ้นไปและไม่กลับเกิดขึ้นมาอีก แต่ถ้าเรายังไม่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ถึงแม้ปัญหานั้นจะหมดสิ้นไป แต่เมื่อต้นเหตุของมันยังอยู่ ไม่นานปัญหานั้นก็จะกลับมาเกิดขึ้นอีก 

การที่โลกของเรามีแต่ปัญหาและวิกฤติการณ์อยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะมนุษย์เอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกัน รวมทั้งยังทำลายทรัพยากรของโลก และสร้างมลภาวะให้แก่โลกอีกด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เบียดเบียนกัน รวมทั้งทำลายทรัพยากรของโลก และสร้างมลภาวะให้แก่โลกนี้ก็มีสาเหตุมาจากการที่มนุษย์มีความโลภ (อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน) และ โกรธ (อยากทำร้ายผู้อื่น) ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความโลภและโกรธนี้ก็เป็นเพราะมนุษย์เห็นแก่ตัวจัด คือเมื่อมนุษย์เห็นตัวเองจัด จึงทำให้ไม่เห็นแก่คนอื่น จึงไม่รักผู้อื่น แล้วก็เกิดความโลภอยากได้ของผู้อื่น และอยากทำร้ายผู้อื่นเมื่อไม่พอใจ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัวจัดก็เป็นเพราะมนุษย์เข้าใจผิดว่ามีตัวเอง ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เข้าใจว่ามีตัวเองก็เป็นเพราะ มนุษย์มีความรู้สึกว่ามีตัวเองอยู่จริงๆในโลก ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกว่ามีตัวเองอยู่จริงๆในโลกก็เป็นเพราะ มนุษย์มีสัญชาติญาณว่ามีตัวเองฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคน ซึ่งสัญชาติญาณว่ามีตัวเองนี้ก็คือ ความรู้ว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเอง (หรือตัวเรา)

คือสรุปได้ว่า เมื่อมนุษย์มีสัญชาติญาณว่ามีตัวเอง จึงทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเองอยู่ในโลกจริงๆ แล้วก็ทำให้มนุษย์เข้าใจผิดว่ามีตัวเอง แล้วก็ทำให้มนุษย์เกิดความเห็นแก่ตัวจัด แล้วก็เกิดความโลภและโกรธ แล้วก็เกิดการเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกัน รวมทั้งยังทำลายทรัพยากรของโลก และสร้างมลภาวะให้แก่โลก จนทำให้โลกมีแต่วิกฤติการณ์อยู่ทุกวันนี้

จากการศึกษามาทั้งหมดนี้เราก็สรุปได้ว่า วิกฤติการณ์ของโลกนั้นมีต้นเหตุมาจากสัญชาติญาณว่ามีตัวเอง (หรือความรู้ว่ามีตัวเอง) ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราทุกคน ดังนั้นเมื่อจะแก้ปัญหาเรื่องวิกฤติของโลก เราก็ต้องมาแก้กันที่ต้นเหตุของปัญหา คือแก้กันที่สัญชาติญาณว่ามีตัวเองของมนุษย์ จึงจะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ของโลกนี้ได้ผลจริง โดยวิธีการแก้ปัญหานั้นก็คือ ต้องพยายามเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง หรือความรู้เรื่องทุกสิ่งเป็นอนัตตา โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ นี้ให้แก่มวลมนุษย์ให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด 

เมื่อมนุษย์มีปัญญาเข้าใจแล้วว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเองอยู่จริงแล้ว เขาก็ช่วยกันพยายามเผยแพร่ความรู้นี้กันต่อๆไป จนมีผู้คนในโลกเข้าใจมากขึ้น เมื่อมนุษย์มีความเข้าใจถูกต้องแล้วว่าไม่มีตัวเองอยู่จริง เขาก็จะมีความเห็นแก่ตัวลดน้อยลง และพยายามปฏิบัติเพื่อกำจัดสัญชาติญาณว่ามีตัวเองในจิตใต้สำนึกให้หมดสิ้นไป เมื่อมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวลดน้อยลง มนุษย์ก็จะเห็นแก่คนอื่นมากขึ้น หรือเห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น รักผู้อื่น ให้อภัย และคิดช่วยเหลือผู้อื่น แล้วมนุษย์ก็จะไม่มีความโลกและความโกรธ แล้วมนุษย์ก็จะไม่เบียดเบียนกัน รวมทั้งยังจะช่วยกันรักษาทรัพยากรของโลก และรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกไม่ให้เสียหาย ซึ่งก็จะทำให้วิกฤติการณ์ของโลกลดน้อยลงจนถึงไม่มีเลย และสันติภาพของโลกก็จะกลับคืนมาได้

จึงขอฝากให้ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงได้ช่วยกันศึกษาและพยายามเผยแพร่ความรู้เรื่อง “ทุกสิ่งเป็นอนัตตา”  หรือความรู้เรื่อง “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง” นี้แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อน ให้เขาพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน และกลับมามีความปกติสุข รวมทั้งช่วยให้โลกมีสันติภาพ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงนำความรู้นี้มาสั่งสอนแก่มวลมนุษย์กันต่อไป

 

จบบทที่  ๒

จบภาคต้น

|หน้าต่อไป|