-๒-

สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดในจักรวาลคืออะไร?

          ธรรมชาติ ก็คือ สิ่งที่ปรากฏหรือเกิดขึ้นมาให้เราได้พบเห็น หรือสัมผัสได้จริงในปัจจุบันจนเป็นของธรรมดาๆนี่เอง ซึ่งในธรรมชาตินี้จะมี “กฎของธรรมชาติ” อยู่มากมาย โดยกฎของธรรมชาตินี้เองที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของธรรมชาติให้เป็นไป โดยธรรมชาตินี้จะมีกฎอยู่กฎหนึ่ง ที่จัดว่าเป็น “กฎสูงสุดของธรรมชาติ” หรือ  “กฎสูงสุดของจักรวาล” ซึ่งกฎทั้งหลายของธรรมชาติ ล้วนจะต้องขึ้นอยู่กับกฎสูงสุดนี้ทั้งสิ้น ถ้าเราจะเข้าใจกฎนี้อย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะเข้าใจชีวิต เข้าใจธรรมชาติ และเห็นแจ้งชีวิต เห็นแจ้งธรรมชาติได้ คือกฎนี้จะเปรียบเสมือนกุญแจสำหรับไขปริศนาของชีวิตและธรรมชาติได้          ซึ่งกฎสูงสุดนี้ก็คือกฎง่ายๆเพียงข้อเดียว คือกฎที่ว่า :

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องอาศัยเหตุมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น”

คำว่า “สิ่ง” หมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งก็มีทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและสิ่งไม่ใช่วัตถุ ซึ่งสิ่งที่เป็นวัตถุนั้นก็ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดในระดับอะตอมขึ้นไปเป็นวัตถุสิ่งของใหญ่ๆทั้งหลาย รวมทั้งพวกรังสีและพลังงานทั้งหลายด้วย ส่วนสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุก็ได้แก่พวกจิตใจ คือ การรับรู้, ความจำ, ความรู้สึก, และการปรุงแต่งของจิต (เช่น ความอยากและความคิด), รวมทั้งนามธรรมทั้งหลายที่มนุษย์สมมติขึ้นมา เช่น ความเสื่อม ความเจริญ ความดี ความชั่ว ความรวย ความจน ความสุข ความทุกข์ ความโง่ ความฉลาด เป็นต้นนั่นเอง

ส่วนคำว่า “เกิด” หมายถึง จากเดิมที่ไม่มีอยู่ก่อนแล้วจึงมามีในภายหลัง ซึ่งก็ตรงข้ามกับคำว่า “ดับ” ที่หมายถึง จากเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้วจึงมาไม่มีในภายหลัง

ส่วนคำว่า “ตั้งอยู่” หมายถึง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วแต่ยังไม่ดับหายไป

ส่วนคำว่า “ปรุงแต่ง” ก็หมายถึง การเอาสิ่งหลายๆสิ่งที่แตกต่างกัน มารวมกัน จนเกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา โดยเราจะมองไม่เห็นลักษณะของสิ่งต่างๆที่มารวมกันนั้นเลย

ส่วนคำว่า “เหตุ” หมายถึง สิ่งที่ปรุงแต่งให้เกิดผล และเมื่อมีเหตุ ก็ต้องมี “ผล” ที่หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ อย่างที่เรามักเรียกกันว่า เหตุและผล

สิ่งที่เราควรเข้าใจอีกจุดหนึ่งก็คือ ที่เราพูดกันว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาจากเหตุ” นี้ มันไม่ใช่ว่าจะมีเพียงเหตุเดียวที่มาปรุงแต่ง คือถ้าอาศัยเพียงเหตุเดียวจะไม่สามารถปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาได้ จะต้องมีหลายๆเหตุมาช่วยกัน จึงจะปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาได้ ดังนั้นเมื่อพบคำว่า “เหตุ” ก็ขอให้เราเข้าใจว่ามันได้รวบรวมเหตุต่างๆเอาไว้แล้วอย่างครบถ้วน ในการที่จะปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แต่เรามักกล่าวถึงแต่เพียงเหตุใหญ่ที่สุดเพียงเหตุเดียว ส่วนเหตุย่อยๆที่เหลือทั้งหมดมักไม่กล่าวถึง เพราะมันมีมากและไม่สำคัญ อย่างเช่น ที่เราชอบพูดกันว่า “เมื่อมีแม่ไก่เป็นเหตุ จึงมีไข่ไก่เป็นผล” แต่เราไม่ได้พูดถึงเหตุย่อยๆอีกหลายอย่างอันได้แก่ อาหาร น้ำ อากาศ อุณหภูมิ เพราะมันไม่สำคัญ เป็นต้น คือเราก็มักจะพูดเพียงสั้นๆว่า “เมื่อมีแม่ไก่ จึงมีไข่ไก่” หรือ “เมื่อไม่มีแม่ไก่ ก็จะไม่มีไข่ไก่” เท่านั้น ซึ่งก็ขอให้เราเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย

เมื่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องอาศัยเหตุมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นเราจะเรียกทุกสิ่งที่มีลักษณะ “เกิดขึ้น” จากเหตุนี้ว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ซึ่งการปรุงแต่งนี้จะเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติเอง อันได้แก่อวัยวะต่างๆของร่างกายมนุษย์และสัตว์, เนื้อไม้, ผลไม้, ดิน, น้ำ, เหล็ก, พลาสติก, แก้ว, และจิตใจของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เป็นต้น ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยการกระทำของสิ่งที่มีชีวิต เช่น รังผึ้ง, รังปลวก, รังนก, บ้าน, รถยนต์, เครื่องบิน, โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์ เป็นต้นนั้น จะไม่เรียกว่าเป็นสิ่งปรุงแต่ง แต่จะเรียกว่าเป็น “สิ่งประกอบ” คือเป็นการนำเอาสิ่งต่างๆหลายๆสิ่งมารวมกันเข้า แต่ก็ยังมองเห็นลักษณะของสิ่งที่นำมาประกอบนั้นอย่างชัดเจน

กฎสูงสุดนี้บอกอะไรกับเราบ้าง?

          กฎสูงสุดนี้เป็นกฎที่เฉียบขาดของธรรมชาติ ที่ครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างในโลก และในจักรวาลเอาไว้ ไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่นอกเหนือกฎนี้ไปได้ ซึ่งถ้าเราพิจารณาอย่างหยาบๆ เราก็อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายๆที่ใครๆก็รู้กันอยู่แล้วเป็นปกติ ไม่เห็นว่าจะมีความพิเศษอะไร แต่ถ้าเราจะตั้งใจพิจารณาให้ดีแล้ว เราก็จะพบกับความลับบางอย่างของธรรมชาติ ที่ซ่อนอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างนี้ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะความลับของชีวิตเรื่องว่า ชีวิตคืออะไร? เกิดมาทำไม? ตายแล้วจะเป็นเช่นไร? อะไรคือสิ่งสูงสุดที่เราควรจะได้รับ? และจะได้โดยวิธีใด?

ในขั้นต้นกฎนี้ได้บอกให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างกว้างๆก่อนว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกและในจักรวาลนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม” เพราะเมื่อเหตุได้ปรุงแต่งให้เกิดผลขึ้นมาแล้ว ผลนี้ก็ยังจะกลายมาเป็นเหตุ เพื่อปรุงแต่งให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก และผลใหม่นี้ก็ยังกลายมาเป็นเหตุ เพื่อปรุงแต่งให้เกิดผลใหม่ๆขึ้นมาได้อีกเรื่อยไป อีกทั้งเหตุหนึ่งก็สามารถร่วมกับเหตุอื่นๆแล้วปรุงแต่งให้เกิดผลต่างๆได้มากมายหลายผลอีกด้วย คือมันจะเป็นเหตุ-เป็นผล, เป็นเหตุ-เป็นผล, เป็นเหตุ-เป็นผล เช่นนี้เกี่ยวพันกันต่อๆไป เหมือนห่วงโซ่ที่คล้องต่อกันเอาไว้เป็นสายยาวๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และแต่ละสายก็ยังเกี่ยวพันกับสายอื่นๆอีกมากมายและยุ่งเหยิง หรือเหมือนกับการผลักดันกันต่อๆไปเป็นทอดๆของโดมิโนที่สลับซับซ้อนและยุ่งเหยิงนั่นเอง

ศาสนาต่างๆ ก็จะมีความเชื่อว่ามีสิ่งสูงสุดที่ศาสนานับถืออยู่ มาเป็นผู้ควบคุมหรือดลบันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป โดยเฉพาะความเจริญ ความเสื่อม หรือความสุข ความทุกข์ของมนุษย์เราแต่ละคน แต่สำหรับคนไม่มีศาสนาก็จะมองว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นและเป็นไปนั้น เกิดมาจาก “การผลักดันกันของเหตุและผล” มากมายที่สลับซับซ้อน ที่บางสิ่งเราก็สามารถเข้าใจได้ เพราะเหตุและผลของมันมองเห็นหรือเข้าใจได้ง่าย แต่บางสิ่งก็ไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเหตุและผลของมันมากและสลับซับซ้อน รวมทั้งยังเกี่ยวพันกันอย่างยุ่งเหยิงจนหาต้นเหตุจริงๆไม่เจอ แต่ไม่ว่าเราจะหา “ต้นเหตุ” (เหตุเริ่มต้น) ของมันเจอหรือไม่ก็ตาม ทุกสิ่งก็ย่อมเป็นไปตามเหตุอยู่วันยังค่ำ ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุได้ เพราะนี่คือกฎสูงสุดของธรรมชาติ

เมื่อเราเข้าใจระบบการดลบันดาล หรือการผลักดันของกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้แล้ว ก็จะทำให้เราหายโง่ เพราะเข้าใจแล้วว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาก็ตาม แม้ว่าจะสิ่งนั้นใครจะบอกว่าเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ที่สุดก็ตาม แต่เราจะมองเห็นว่ามันก็เป็นของมัน “เช่นนั้นเอง” คือมันก็เป็นไปตามเหตุทั้งหลายของมัน หาได้มีความน่าอัศจรรย์เลย แล้วก็จะทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจมนุษย์ และเข้าใจจิตของมนุษย์ทุกคน ว่า “ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?” อันจะทำให้เราปล่อยวางความยึดถือในโลกลงได้อย่างมาก (คือมีความยึดถือลดน้อยลง) ไม่เป็นคนแบกโลกเอาไว้ให้หนัก หรือเป็นทุกข์ไปเปล่าๆ ด้วยความโง่เขลา

กฎสูงสูงสุดได้บอกความลับอะไรกับเราบ้าง?

          กฎสูงสุดนี้ได้บอกความลับที่สำคัญ ๓ ประการให้เราได้รู้ อันได้แก่

๑. “สิ่งปรุงแต่ง” ทั้งหลายล้วน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (คำว่า “ตัวตนที่แท้จริง” หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนของมันเอง โดยไม่อาศัยเหตุใดๆมาปรุงแต่งขึ้นมา ซึ่งลักษณะของตัวตนที่แท้จริงนี้จะเป็น “สิ่งถาวร” หรือเป็น “อมตะ” คือไม่ตายหรือไม่ดับสลายหายไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งนี่เป็นแค่ความเชื่อว่ามีตัวตนที่แท้จริงของศาสนาบางศาสนาเท่านั้น เราจะหาสิ่งที่เป็นตัวตนเช่นนี้ไม่มี จะมีก็แต่ “สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” หรือเรียกว่าเป็น “ตัวตนชั่วคราว” หรือ “ตัวตนสมมติ” เท่านั้น) เพราะว่าเมื่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนจะต้องอาศัยสิ่งอื่นๆมาเป็นเหตุ เพื่อปรุงแต่งมันขึ้นมา จึงทำให้หาสิ่งหรือสภาวะที่เป็น “ตัวตนจริงๆ” ของมันเองไม่มี ดังนั้นจึงทำให้พูดได้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุทั้งหลายนั้น ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” อย่างเช่น ร่างกายของเราก็ต้องอาศัยอวัยวะต่างๆมาปรุงแต่งขึ้นมา และอวัยวะต่างๆก็ต้องอาศัยอาหาร, น้ำ, ความร้อน, และก๊าซ เพื่อปรุงแต่งขึ้นมาอีกเหมือนกัน ดังนั้นจึงหาตัวตนจริงๆของร่างกายไม่มี จะมีก็เพียง “สิ่งปรุงแต่ง” หรือจะเรียกว่าเป็นตันตนก็ได้ แต่เป็น “ตัวตนมายา” (สิ่งหลอกลวงว่าเป็นของจริง) หรือ “ตัวตนชั่วคราว” (เป็นตัวตนที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร) หรือ “ตัวตนสมมติ” (ลงมติร่วมกันว่าเป็นตัวตน) เท่านั้น เป็นต้น

๒. “สิ่งปรุงแต่ง” ทั้งหลายล้วน ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ หรือดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป (คือไม่เป็นอมตะ หรือจะต้องแตกดับหายไปอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว) คือเมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายล้วนต้องอาศัยสิ่งอื่นๆมาเป็นเหตุปรุงแต่งขึ้นมา ดังนั้นเมื่อเหตุของมันเปลี่ยนแปลงไป สิ่งปรุงแต่งนั้นก็จะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเสมอ ซึ่งเหตุต่างๆที่มาแต่งนั้น มันก็ยังต้องอาศัยเหตุอื่นๆ เพื่อมาปรุงแต่งตัวตนของมันขึ้นมาอีกเหมือนกัน และ “เหตุที่เป็นพื้นฐาน” ให้เกิดทุกสิ่งขึ้นมา อันได้แก่ วัตถุธาตุทั้ง ๔ คือ ของแข็ง, ของเหลว, ความร้อน, และก๊าซ ซึ่งเหตุพื้นฐานนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเกิดขึ้นมาแล้วจะตั้งอยู่อย่างถาวรได้  ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย จึงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และต้องแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับ (ใช้กับพวกนามธรรมหรือจิต) หายไป อย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว อย่างเช่น ร่างกายเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องแตกสลายหรือตายไปอย่างแน่นอนในที่สุด

๓. “สิ่งปรุงแต่ง” ทั้งหลายล้วน ต้องทนประคับประคองตัวเองอยู่ด้วยความยากลำบากตลอดเวลา เพราะเมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ล้วนจะต้องอาศัยเหตุต่างๆมากมาย เพื่อมาปรุงแต่งมันขึ้นมา ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย จึงต้องมีความยากลำบาก ทั้งในการที่จะต้องคอยแสวงหาเหตุต่างๆมาปรุงแต่งตัวของมันให้เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ และยังต้องมีความยากลำบาก ในการที่จะต้องคอยดูแลรักษาเหตุต่างๆภายในตัวของมันนั้นเอาไว้ ไม่ให้มันเสื่อมสลายไป จากความเปลี่ยนแปลงภายในตัวของมันเอง  รวมทั้งยังต้องมีความยากลำบาก ในการที่จะต้องคอยระมัดระวังหรือป้องกันไม่ให้สิ่งต่างๆภายนอกมาทำลายเหตุต่างๆภายในของมัน อีกด้วย

ในกรณีของ “สภาวะที่ต้องทน” นี้ ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของที่ไม่มีชีวิต ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมันไม่มีจิตมารับรู้สภาวะที่ต้องทนของมัน แต่ถ้าเป็นจิตก็จะมีปัญหาเพราะจะมีจิตมารับรู้สภาวะที่ต้องทนของมัน ซึ่งการรับรู้นี้ก็จะทำให้เกิดเป็น “ความรู้สึกที่ต้องทน” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเป็นเวลาที่ความรู้สึกที่ต้องทนนี้มีน้อย (คือขณะที่จิตไม่มีกิเลส) ก็เรียกว่า “ความไม่มีทุกข์” (ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย หรือทนได้สบาย) ส่วนเวลาที่ความรู้สึกที่ต้องทนนี้มีมาก (คือขณะที่จิตมีกิเลส) ก็เรียกว่า “ความทุกข์” (ที่แปลว่า ความรู้สึกที่ทนได้ยาก หรือทนได้ลำบาก) )

เราจะใช้หลักเกณฑ์อะไรมาศึกษา?

          เราได้เข้าใจแล้วว่า “สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย” ล้วนไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และไม่เที่ยงแท้ถาวร รวมทั้งยังต้องทนอีกด้วย ซึ่งความจริงของธรรมชาติทั้ง ๓ ประการนี้เอง ที่เราจะนำมาใช้พิจารณาหาความจริงของชีวิตทั้งหลาย ทั้งของเราและผู้อื่น รวมทั้งของสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลาย ั้งในโลกและในจักรวาล เพื่อให้เกิดความเข้าใจในพื้นฐานของทุกสิ่งได้อย่างถูกต้อง ด้วยตัวของเราเอง โดยไม่เชื่อจากใครๆ     

          หลักเกณฑ์ที่เราจะนำมาใช้พิจารณาก็คือ ให้เราสังเกตว่า สิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่นั้น “เป็นสิ่งปรุงแต่งหรือไม่?” ถ้าพบว่าสิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่นั้น “เป็นสิ่งปรุงแต่ง”  เราก็เข้าใจได้เลยทันทีว่าสิ่งนั้น “ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง  และไม่เที่ยงแท้ถาวร รวมทั้งยังต้องทนอยู่” อีกด้วย 

ส่วนการที่เราจะรู้ว่าสิ่งใดเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” หรือไม่นั้น ก็ให้เราสังเกตดูว่า “สิ่งนั้นมีการเกิดขึ้นหรือดับหายไปหรือไม่?”  ถ้าสิ่งใดมีการเกิดขึ้นหรือดับหายไป  เราก็เข้าใจได้เลยทันทีว่าสิ่งนั้นเป็น “สิ่งปรุงแต่ง

หลักเกณฑ์ที่เราจะนำมาใช้พิจารณาอีกข้อหนึ่งก็คือ ให้เราสังเกตว่า ถ้าสิ่งใดต้องอาศัยเหตุเพื่อมาปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้น และตั้งอยู่ สิ่งนั้นก็จัดว่าเป็น “สิ่งปรุงแต่ง”

คือสรุปง่ายๆว่า “ถ้าสิ่งใดมีการเกิดขึ้น หรือดับหายไป หรือต้องอาศัยเหตุเพื่อมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ สิ่งนั้นจะต้องเป็นสิ่งปรุงแต่งอย่างแน่นอน” ซึ่ง “สิ่งปรุงแต่ง” นี้ก็ย่อมที่จะ “ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และไม่เที่ยงแท้ถาวร รวมทั้งยังต้องทนอยู่” ซึ่งนี่คือหลักสำคัญที่เราจะนำมาใช้ศึกษาสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะร่างกายและจิตใจของเรา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งว่า มันเป็น “ตัวตนที่แท้จริง” หรือ “ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” กันแน่

วัตถุเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือไม่?

          เมื่อเรานำน้ำแข็งมาก้อนหนึ่งแล้ววางไว้นอกตู้เย็น เราก็จะพบว่า ก้อนน้ำแข็งนั้นจะค่อยๆละลายไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก้อนน้ำแข็งนั้นก็จะหายไป ซึ่งนี่แสดงถึงว่าก้อนน้ำแข็งนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากน้ำและอุณหภูมิที่ต่ำมากๆเท่านั้น เมื่ออุณหภูมิต่ำๆนั้นหายไป (คือร้อนขึ้น) ลักษณะที่เราสมมติเรียกว่า “ก้อนน้ำแข็ง” จึงหายตามไปด้วย และเหลือน้ำอยู่ให้เห็นแทน ซึ่งแม้แต่น้ำนั้นก็ยังไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงอีก เพราะเมื่อน้ำนั้นอยู่ในอุณหภูมิที่สูง มันก็จะค่อยๆระเหยกลายเป็นไอน้ำไปอีก ซึ่งนี่คือความจริงง่ายๆที่เราสามารถพบเห็นได้จริงด้วยตาของเราเอง

 แต่นักวิทยาศาสตร์จะบอกละเอียดขึ้นไปอีกว่า แม้น้ำนั้นก็ยังประกอบด้วยออกซิเจนกับไฮโดรเจนมาผสมกันอีก และแม้ออกซิเจนกับไฮโดรเจน ก็ยังประกอบด้วยอะตอมที่มีลักษณะที่แตกต่างกันจำนวนมาก มารวมตัวกัน ส่วนอะตอมก็ยังประกอบด้วยอนุภาคของโปรตอน นิวตรอน และอีเล็กตอนอีก ซึ่งอนุภาคเหล่านี้ก็ยังเป็นแค่เพียงพลังงานที่อัดแน่นจนเกิดเป็นรูปร่างขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งเรื่องที่ละเอียดเกินไปเช่นนี้ เราจะไม่เชื่อหรือไม่สนใจก็ได้เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ 

           นี่คือลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของวัตถุทั้งหลาย คือวัตถุทั้งหลายล้วนเกิดมาจากสิ่งที่ย่อยเล็กที่สุด (ที่เรียกว่าวัตถุธาตุ) จำนวนมากมายมหาศาลที่มาประกอบขึ้นมาเท่านั้น แต่เรามักมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจ เพราะเรารู้สึกว่าวัตถุทั้งหลายนั้นมันมีตัวตนของมันเองจริงๆ อย่างเช่น เราอาจจะเห็นว่าแอปเปิลลูกหนึ่งนั้นเป็นแอปเปิลจริงๆ เพราะมันมีรูปร่าง มีรส มีกลิ่นที่เป็นแอปเปิลจริงๆ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ธรรมชาติหลอกเรา แต่ถ้าเราเอาลูกแอปเปิลนั้นไปวางไว้ที่อุณหภูมิปกตินานๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน เราก็จะเห็นว่าลูกแอปเปิลนั้นจะค่อยๆแห้งเหี่ยวไป เพราะน้ำในลูกแอปเปิลนั้นจะค่อยๆระเหยหายไป และในที่สุดลักษณะของแอปเปิลนั้นก็จะหายไป เหลืออยู่แต่ของแข็งๆเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งของแข็งนั้นต่อไปมันก็จะกลายเป็นดินไป ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า ลูกแอปเปิลนั้นประกอบขึ้นมาจากดิน น้ำ และก๊าซ ในอุณหภูมิระดับหนึ่ง แล้วเราก็มาสมมติเรียกกันว่า “ลูกแอปเปิล”  ซึ่งนี่เป็นการแสดงให้เห็นความจริงที่ลึกซึ้งว่า ไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะมาเป็นตัวตนที่แท้จริงของลูกแอปเปิลนั้นได้

          วัตถุทั้งหลายก็ไม่ต่างอะไรกับลูกแอปเปิล คือประกอบด้วยของแข็ง ของเหลว อุณหภูมิ และก๊าซ ในลักษณะที่แตกต่างกัน วัตถุบางอย่างก็มีสถานะเป็นของแข็ง บางอย่างก็เป็นของเหลว บางอย่างก็เป็นก๊าซ และบางอย่างก็มีอายุยาวนานมากกว่ามันจะเสื่อมสลายหายไป อย่างเช่น เพชร หรือก้อนหิน หรือเหล็ก เป็นต้น แต่บางอย่างก็มีอายุสั้น อย่างเช่น ผลไม้ หรือสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาทั้งหลาย หรือร่างกายของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย เป็นต้น ตามที่เราสมมติเรียกกันอยู่

          ในขั้นนี้เราจะต้องมองให้เห็นว่า วัตถุทั้งหลายไม่ใช่หรือไม่ได้มีตัวตนที่แท้จริง คือมองให้เห็นว่าวัตถุทั้งหลายประกอบขึ้นมาจากวัตถุธาตุจำนวนมากมายมหาศาล ที่มายึดเกาะรวมตัวกันขึ้นมาโดยใช้แรงดึงดูดของประจุพลังงานที่ตรงข้ามกันเท่านั้น (เหมือนแรงดึงดูดของแม่เหล็กที่ขั้วตรงข้ามกัน) เมื่อถูกความร้อนสูงๆมาเผา หรือถูกทุบ ถูกตีแรงๆ วัตถุธาตุนั้นมันก็ย่อมที่จะแตกแยกกันออกไป ไม่สามารถที่จะเกาะกุมตัวกันอยู่ในลักษณะเดิมได้ตลอดไป หรือแม้ไม่มีอะไรมาทำลาย ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว มันก็ต้องสลายตัวเองอยู่อย่างแน่นอน ซึ่งการพิจารณาเช่นนี้เอง ที่จะทำให้เราเข้าใจถึงลักษณะของ “ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” ของวัตถุทั้งหลายได้ อันจะเป็นพื้นฐานให้เข้าใจถึงลักษณะที่ “ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของร่างกายและจิตใจ” ต่อไปได้ แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของวัตถุทั้งหลาย เราก็จะไม่มีทางเข้าใจถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของร่างกายและจิตใจทั้งหลายได้

ร่างกายเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือไม่?

          ร่างกายของเรานั้นเป็นวัตถุที่มองเห็นได้ด้วยตา จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะเราก็มองเห็นกันอยู่ว่า ร่างกายก็ต้องอาศัยพ่อและแม่เพื่อสร้างหรือทำให้เกิดขึ้นมา โดยมีลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่มาสร้างเป็นลักษณะของร่างกายหรืออวัยวะต่างๆขึ้นมา  แล้วก็ยังต้องอาศัยอาหาร, น้ำ, อากาศ, รวมทั้งอุณหภูมิที่พอเหมาะ, และการดูแลอย่างดี เป็นต้น จึงจะเจริญเติบโตขึ้นมาและมีชีวิตอยู่ได้

ถ้าขาดพ่อหรือแม่ก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ หรือถ้าขาดอาหาร, น้ำ, อากาศ, หรืออุณหภูมิที่พอเหมาะ, หรือการดูแลที่ดีก็จะต้องตายไป และเมื่อร่างกายเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมาทนมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก มากบ้างน้อยบ้างไปตลอดชีวิต อีกทั้งร่างกายเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ยังมีแต่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาที  คือมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแก่ชราอยู่ทุกวินาที จนในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ร่างกายก็ต้องตายไปอย่างแน่นอน ซึ่งบางคนก็ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยตายเสียตั้งแต่ยังหนุ่มสาวหรือยังเล็ก ตามเหตุต่างๆที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ แต่ส่วนมากถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานก็ไม่เกินร้อยปี จะมีเกินบ้างก็เล็กน้อย ซึ่งนี่คือความจริงที่มีอยู่ในร่างกายทั้งหลาย

เมื่อร่างกายนี้ตายไป ก็เท่ากับวัตถุธาตุต่างๆ คือดิน, น้ำ, ความร้อน, และอากาศ ที่มาปรุงแต่งเป็นอวัยวะต่างๆของร่างกาย ก็ย่อมที่จะแตกสลาย แยกกลับคืนไปสู่ธรรมชาติเดิมของมัน ซึ่งวัตถุธาตุต่างๆที่แตกสลายไปนั้น จะไม่สามารถที่จะย้อนกลับมาปรุงแต่งเป็นร่างกายเหมือนเช่นเดิมได้อีกต่อไป แต่ถึงแม้จะมีการโคลนิ่งร่างกายขึ้นมาได้ใหม่และเหมือนร่างกายเก่าก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าร่างกายเก่านั้นจะกลับมาเกิดเป็นร่างกายใหม่ แต่เป็นว่ามันมีลักษณะร่างกายที่เหมือนกันเท่านั้น ซึ่งจุดสังเกตของร่างกายก็คือ  “มีการเกิดขึ้น และต้องอาศัยเหตุต่างๆเพื่อมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่”  ซึ่งเพียงเท่านี้เราก็เข้าใจได้แล้วว่า   “ร่างกายเป็นสิ่งปรุงแต่ง” ที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (หรือไม่ใช่ตัวตนอมตะ) และไม่เที่ยงแท้ถาวร รวมทั้งยังมีสภาวะที่ต้องทนอีกด้วย

จิตเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือไม่?

          คำว่า “จิต” หมายถึง อาการที่คิดนึกหรือปรุงแต่ง ส่วนคำว่า “ใจ” หมายถึง อาการที่รับรู้และรู้สึก คือถ้ามันคิดนึกปรุงแต่งก็มาเรียกว่า “จิต” แต่พอมันทำหน้าที่รับรู้และรู้สึกก็มาเรียกว่า “ใจ” ซึ่งใจนั้นจะเป็นศูนย์กลางในการทำงาน (คือคิดนึกปรุงแต่ง) ของจิต  ซึ่งคำทั้งสองนี้บางทีก็ใช้แทนกันได้ หรือบางทีก็เรียกรวมกันว่า “จิตใจ” ก็ได้

จิตนั้น เป็นนามธรรม (ธรรมชาติที่ไม่ใช่วัตถุแต่เป็นพวกความรู้สึก) ที่ต่างจากวัตถุ แต่หลักการพิจารณา ก็เหมือนกับวัตถุทุกอย่าง คือเราจะมาพิจารณาดูว่า จิตเป็นสิ่งปรุงแต่งหรือไม่? โดยศึกษาจากจิตของเราเองจริงๆ โดยไม่ยึดติดกับตำราใดๆ หรือจะเชื่อจากใครๆทั้งสิ้น

 จิตเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วย (๑) การรับรู้ (๒) ความรู้สึก (๓)  ความจำ และ(๔) การปรุงแต่งของจิต (เช่น ความอยาก และความคิด) ถ้าขาดสิ่งใดไป จิตก็จะเกิดขึ้นมาไม่ได้ (เช่น ถ้าไม่มีการรับรู้ ก็จะไม่มีจิต เพราะการรับรู้นี้จะเป็นพื้นฐานให้เกิดจิต) หรือเกิดเป็นจิตที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ถ้าสมองเสียหายจนความทรงจำของสมองสูญหายไปหมด แต่ร่างกายยังไม่ตาย จิตก็จำและปรุงแต่งอะไรไม่ได้ เอาแต่นอนนิ่งๆเหมือนคนหลับ หรืออาจนอนลืมตาอยู่แต่ไม่สามารถพูดและเคลื่อนไหวร่างกายได้

 “การรับรู้” ของจิตก็ต้องอาศัยระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกายตามจุดต่างๆ (การรับรู้นี้เกิดขึ้นได้ตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกาย คือที่ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ-ที่สมอง) เพื่อเกิดขึ้นมารับรู้สิ่งต่างๆภายนอก (คือตาเห็นภาพ, หูได้ยินเสียง, จมูกได้กลิ่น, ลิ้นได้รู้รส, กายได้รับรู้สิ่งที่มาสัมผัสกาย, ใจได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตทั้งหมด)  ถ้าระบบประสาทจุดใดของร่างกายเสียหาย การรับรู้ที่จุดนั้นก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ อย่างเช่นถ้าตาบอดก็จะไม่เห็นภาพ หรือถ้าหูหนวกก็จะไม่ได้ยินเสียง หรือถ้าสมองเสียก็จะจำและคิดไม่ได้ เป็นต้น

ส่วนการที่จิตจะเกิด “ความรู้สึกต่างๆ” ขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องอาศัย “การรับรู้” เกิดขึ้นมาก่อน เมื่อมีการรับรู้ ก็จะเกิด “ความรู้สึก” ตามมาด้วยทันที ถ้าไม่มีการรับรู้  ก็จะไม่เกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ (ความรู้สึกก็สรุปได้ ๓ อย่าง คือ ความรู้สึกสุข, ทุกข์, และไม่สุขไม่ทุกข์)

ส่วนการที่จิต “จำสิ่งต่างๆได้” นั้น ก็เพราะอาศัยข้อมูลที่จิตได้บันทึกเอาไว้ที่เนื้อสมองที่ยังดีอยู่ มาตรวจสอบเทียบเคียงกับสิ่งที่ได้รับรู้และรู้สึกนั้น เมื่อมีข้อมูลตรงกัน จึงเกิดการจำสิ่งที่รับรู้ที่ตรงกับความทรงจำที่มีอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูลที่ตรงกันก็ไม่รู้จัก ถ้าสมองเสื่อมหรือความทรงจำเสียหายไป ก็จำอะไรไม่ได้ หรือถ้าจำไว้นานๆ โดยไม่ได้ทบทวนหรือตอกย้ำ ก็ทำให้ความจำนั้นสูญหายหรือลืมได้เหมือนกัน

ส่วนการที่จิตจะ “ปรุงแต่งให้เกิดความอยากและความคิด” ขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องอาศัยความทรงจำมาปรุงแต่งให้เกิดความอยากและความคิดขึ้นมา  แต่ถ้าไม่มีความทรงจำ จิตก็ไม่สามารถปรุงแต่งให้เกิดความอยากและความคิดใดๆขึ้นมาได้

ส่วนการที่จิตจะ “ปรุงแต่งให้เกิดความอยากและความคิด” ขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องอาศัยความรู้สึกและ “ความเคยชินที่จะเกิดความอยากขึ้นมาอีก” มาปรุงแต่ง จึงจะเกิดความอยากและความคิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีความรู้สึกและความเคยชิน ก็จะทำให้ความอยากและความคิดเกิดขึ้นมาไม่ได้

          จากการพิจารณาส่วนประกอบแต่ละส่วนของจิตใจทั้งหมดมาแล้วนี้ ก็ทำให้เราได้รู้ว่า ส่วนประกอบแต่ละส่วนของจิตนี้ ล้วนต้องอาศัยสิ่งอื่นๆเพื่อมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่มีส่วนประกอบใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา ซึ่งนี่ก็แสดงให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า ส่วนประกอบแต่ละส่วนของจิตทั้งหมดนี้เป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และไม่เที่ยงแท้ถาวร (ไม่เป็นอมตะ) รวมทั้งยังต้องทนอยู่อีกด้วย แต่สมมติว่า “ถ้าจิตจะมีตัวตนที่แท้จริงเป็นของมันเองแล้ว มันจะต้องมีตัวตนที่เป็นตัวตนของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยเหตุใดๆเพื่อมาปรุงแต่งตัวตนของมันขึ้นมา แล้วมันก็จะสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้ว เพื่อไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้” ตามความเชื่อของบางศาสนา

          การสังเกตอีกอย่างก็คือ การเกิดและดับของส่วนประกอบแต่ละส่วนของจิต คือทั้งการรับรู้, ความรู้สึก, การจำสิ่งต่างๆได้, และการปรุงแต่งทั้งหลายของจิต ก็ล้วนมีการเกิดขึ้นและดับหายไปตามระบบประสาทต่างๆของร่างกายอยู่ตลอดเวลา คือเมื่อจิตเกิดขึ้นจุดนี้แล้วก็จะดับหายไป แล้วก็ไปเกิดขึ้นที่จุดใหม่ แล้วก็ดับหายไปและเกิดขึ้นที่จุดใหม่ๆอีก ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาที่จิตตื่นอยู่ ซึ่งถ้าเราสังเกตให้ดีเราก็จะพบกับความจริงข้อนี้  หรือเมื่อเราหลับสนิทและไม่ฝัน ก็เท่ากับว่าจิตได้ดับหายไปชั่วคราว แต่พอจิตตื่นขึ้นมา ก็เท่ากับว่าจิตได้เกิดขึ้นมาใหม่แล้ว และเพราะมีความทรงจำเหมือนเดิมที่สมองเก็บเอาไว้ ดังนั้นจิตที่เกิดขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง จึงมีความจำที่เหมือนเดิม นี่เองที่ทำให้จิตเกิดความเข้าใจผิดคิดว่ามีตนเองที่เป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นตัวตนอมตะขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า ส่วนประกอบทั้งหมดของจิตนี้เป็นสิ่งปรุงแต่ง ที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และไม่เที่ยงแท้ถาวร (ไม่เป็นอมตะ) รวมทั้งยังต้องทนอยู่อีกด้วย

          การสังเกตโดยสรุปของจิตก็คือ การเกิดขึ้นและดับหายไปของจิต ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว “จิต” ก็คือสิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ คือเมื่อจิตเกิดขึ้น (คือเมื่อตื่นขึ้น) ก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา แต่พอจิตหยุดทำงานหรือดับหายไป (เช่นตอนหลับสนิท หรือสลบ) ก็จะไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งนี่ก็แสดงให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า จิตก็มีการเกิดขึ้นและดับหายไป อันเป็นลักษณะของสิ่งปรุงแต่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และไม่เที่ยงแท้ถาวร (ไม่เป็นอมตะ) รวมทั้งยังต้องทนอยู่อีกด้วย แต่ถ้าสมมติว่า จิตจะมีตัวตนเป็นของมันเองจริงๆแล้ว มันจะต้องมีจิตอยู่ตลอดเวลา หรือตื่นอยู่ตลอดเวลา หรือมีการรับรู้และรู้สึกอยู่ตลอดเวลา และจดจำได้ รวมทั้งปรุงแต่งหรือคิดนึกได้อยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีการดับหายไปเลยแม้สักวินาทีเดียว ไม่ว่าจะมีร่างกายหรือไม่ก็ตาม

เราคืออะไร?

จากการพิจารณาถึงส่วนประกอบทั้งหมดของจิตแล้วก็ทำให้เราสรุปได้ว่า “จิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง” ดังนั้นจึงเท่ากับว่า “จิตนี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงที่จะมาเป็นตัวเราหรือใครๆได้” เพราะมันเป็นสิ่งที่ “ไม่เที่ยงแท้ถาวร” ไม่สามารถมีอยู่อย่างเป็นอมตะหรือไม่ตายเลยได้ เมื่อมีร่างกายและความทรงจำพร้อมจิตก็เกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีร่างกาย จิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือแม้จะมีร่างกายที่ยังไม่ตายแต่ไม่มีความทรงจำ จิตก็เกิดขึ้นมาได้ไม่สมบูรณ์ ซ้ำเมื่อเกิดขึ้นมาและยังตั้งอยู่ จิตก็มีแต่อาการที่ “ต้องทน” (คือ “ความรู้สึกทนได้ยาก” ซึ่งก็มีทั้งทนได้ยากมากเมื่อเวลาเกิดความทุกข์ และทนได้ยากน้อยเมื่อเวลาไม่มีทุกข์) อยู่ตลอดเวลา

จากเหตุผลทั้งหมดนี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า “จะหาจิตที่จะมาเป็นตัวเราจริงๆนั้นไม่มี” จะมีก็เพียงแค่จิตของธรรมชาติ ที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่มันก็มีความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ตรงที่ มันสามารถปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามี “ตัวเรา” ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด แต่ถึงมันจะมีความแปลกประหลาดมหัศจรรย์สักเท่าใดก็ตาม มันก็เป็นแค่เพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น มันก็หาได้มีตัวตนที่แท้จริงไม่ คือเมื่อมีเหตุพร้อม มันก็เกิดมีขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีเหตุ มันก็ไม่เกิดมีขึ้นมา อีกทั้งขณะที่มันเกิดขึ้นมาและยังตั้งอยู่นั้น มันก็มีการเกิดและดับสืบต่อกันไว้อย่างรวดเร็วอยู่ตามระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายเราอยู่ตลอดเวลา

ส่วนการที่จิตเกิดขึ้นมาแล้วก็ยังเกิดความรู้สึกว่ามีเราอยู่เหมือนเดิมได้อีกเสมอๆ ก็เพราะเหตุของมันคือ “ร่างกาย” และ “ความทรงจำเก่า” ที่สมองเก็บเอาไว้ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม มันจึงปรุงแต่งให้เกิดจิตที่เหมือนเดิมขึ้นมาใหม่ได้อีกเรื่อยไป จนกว่าเหตุของมันจะเสียหายไปถาวร คือร่างกายตาย หรือสมองเสีย ก็จะไม่มีการปรุงแต่งให้เกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” นี้ขึ้นมาได้อีกต่อไปอย่างถาวร เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีข้อมูลของระบบปฏิบัติการณ์ใดอยู่ เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมาครั้งใด ระบบปฏิบัติการณ์นั้นก็จะเกิดขึ้นมาทำงานทันทีเหมือนเดิมทุกครั้ง แต่ถ้าข้อมูลของระบบปฏิบัติการณ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นเสียหายไป คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นก็จะไม่สามารถทำงานได้

          สรุปว่า จากลักษณะที่จิตต้อง “อาศัยเหตุเกิดขึ้น” และยังมี “อาการเกิดขึ้นมาและดับหายไป” นี้เอง ที่ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า “จิตไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงหรือตัวตนอมตะ” ชนิดที่จะสามารถมีอยู่อย่างถาวรได้ โดยไม่ต้องอาศัยเหตุใดๆสร้างขึ้นมา ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า จิตไม่สามารถที่จะออกจากร่างกายที่ตายแล้ว เพื่อไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้อีก  ดังนั้น เราจึงจะหาจิตที่จะมาเป็นตัวตนของเราจริงๆ ชนิดที่จะคงมีอยู่ไปชั่วนิรันดรนั้นไม่มี และเมื่อจิตก็ยังไม่ใช่ตัวตนที่แท้เสียแล้ว แล้ว “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” นี้ ก็เกิดขึ้นมาจากจิต ดังนั้นจึงเท่ากับว่า “ไม่มีเรา” อยู่จริง ส่วนสิ่งที่มีอยู่และ “รู้สึกว่ามีเรา” นี้ มันก็เป็นเพียง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง หรือสร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติเพียงชั่วคราวเท่านั้น หรือใครจะเรียกว่ามันเป็นตัวตนก็ได้ แต่เป็น “ตัวตนชั่วคราว” หรือ “ตัวตนมายา” เพราะมัน “ไม่ได้มีตัวตนที่แท้จริง” เลย คือมันก็มีอยู่เหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ของจริง เพราะของจริงมันไม่มี เหมือน “หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์” ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความรู้สึกนึกคิดได้นั่นเอง

สรุปแล้วมันมีเราอยู่จริงหรือไม่?

          สิ่งที่เราจะต้องระวังก็คือ อย่ามีความเห็นสุดโต่งไปในทาง “มี” กับ “ไม่มี” คือถ้าเรามีความเห็นว่าในชีวิตของเรานี้ มันมีตัวเราจริงที่เป็นตัวตนอมตะ (คือจะมีอยู่ไปชั่วนิรันดร)  ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายไปแล้ว เพื่อไปเกิดใหม่ได้ (ตามที่บางศาสนาสอนอยู่)  และเห็นว่า การทำความดีและชั่วจะต้องได้รับผลในโลกหน้าที่ไปเกิดใหม่นั้น คือสรุปแล้วความเห็นว่า “มี” นี้จะเห็นว่า “ตายแล้วเกิด” ซึ่งความเห็นนี้จัดว่าเป็นความเห็นที่สุดโต่งไปในทาง “มี” แต่ถ้าเรามีความเห็นว่า ในชีวิตของเรานี้มันไม่มีตัวตนใดๆเลย การทำความดีและชั่วจะไม่มีผลใดๆเลย คือสรุปแล้วความเห็นนี้จะเห็นว่า “ตายแล้วสูญ” ซึ่งความเห็นนี้จัดว่าเป็นความเห็นที่สุดโต่งไปในทาง “ไม่มี”  ซึ่งความเห็นทั้งสองนี้จัดว่าเป็นความเห็นผิด ที่เกิดมาจากความไม่รู้ความจริงสูงสุดของธรรมชาติอย่างถูกต้อง และเมื่อไม่รู้ความจริงสูงสุดของธรรมชาติในเรื่องของชีวิตอย่างถูกต้อง ก็จะไม่สามารถดำเนินชีวิตให้ไม่มีความทุกข์ได้

          เมื่อเราพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล จากร่างกายและจิตใจของเราเองแล้วเราก็จะพบว่า ชีวิตของเรานี้ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีตัวตนใดๆเลยอย่างพวกที่เห็นว่า “ไม่มี” คือมันก็มีตัวเราอยู่เหมือนกัน แต่มันเป็นตัวเราที่เกิดขึ้นมาจากเหตุที่ไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้ถาวร ดังนั้นตัวตนนี้จึงจัดเป็น “ตัวตนชั่วคราว” ไม่ใช่ตัวตนอมตะ อย่างพวกที่มีความเห็นว่า “มี” และ “ตัวเราชั่วคราว” นี้เมื่อทำความดีก็จะเกิดผลดีขึ้นมาทันที คือทำให้เกิดความสุขใจ อิ่มใจขึ้นมาทันที อีกทั้งความดีนี้ยังจะมาส่งเสริมให้ชีวิตของเรามีความเจริญรุ่งเรืองด้วย แต่ถ้า “ตัวเราชั่วคราว” นี้ทำความชั่วก็จะเกิดผลชั่วหรือไม่ดีขึ้นมาทันที คือทำให้เกิดความทุกข์ใจ ร้อนใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่สบายใจขึ้นมาทันที อีกทั้งความชั่วนี้ยังจะส่งเสริมให้ชีวิตของเราตกต่ำ หรือเดือดร้อนขึ้นมาได้ ซึ่งลักษณะของ “ตัวตนชั่วคราวนี้” จะไม่จัดอยู่ในพวก “ตายแล้วเกิด” หรือ “ตายแล้วสูญ” แต่จะเรียกว่า “มันสูญ (คือว่างจากตัวเราจริง) มาตั้งแต่ยังไม่ตาย คือไม่ต้องรอให้ตายก่อนแล้วจึงค่อยสูญ แต่มันสูญมาตั้งแต่ยังไม่ตาย

เมื่อมันก็มีตัวเราแต่เป็นตัวเราที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร  (ตัวเราชั่วคราว) และตัวเรานี้ก็จะเป็นไปตามเหตุที่ปรุงแต่งมันขึ้นมา อีกทั้งเราไม่สามารถบังคับบัญชาตัวเรานี้ให้เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็นได้ ดังนั้นเราก็จะปฏิบัติต่อตัวเราและผู้อื่นเหมือนกับว่ามีตัวตนอยู่จริงๆ คือเราจะเคารพนับถือและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่จิตจะไม่ไปยึดถือว่าตัวตนทั้งหลายจะต้องเป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น (คือ อยากจะเป็นหนุ่มเป็นสาว อยากมีความสุข อยากร่ำรวย อยากสวย อยากหล่อ อยากมีคู่ และไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากจากสิ่งของหรือบุคคลอันเป็นที่รักไป ไม่อยากผิดหวัง เป็นต้น ซึ่งถ้ามันไม่เป็นไปตามที่เราอยาก จิตที่ยึดถือนี้ก็จะเกิดความเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ เป็นต้น หรือที่เรียกว่า เป็นทุกข์) เมื่อจิตไม่มีความยึดถือด้วยความโง่ จิตก็จะไม่เป็นทุกข์ ซึ่งนี่คือวิธีการดับทุกข์โดยใช้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องความจริงสูงสุดของธรรมชาติ

ทำไมจิตจึงไม่ยอมรับว่าไม่มีเรา?

          จากเหตุผลทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เราเข้าใจได้แล้วว่า “แท้จริงแล้วมันไม่มีเราอยู่จริง” แต่สามัญสำนึก หรือความรู้สึกตัวของเราตามปกติธรรมดานี้กลับไม่รู้สึกเช่นนั้น คือมันก็ยังรู้สึกตัวว่ามี “เรา” หรือ “ตัวเรา” อยู่จริงๆในโลก ซึ่งจากสามัญสำนึกนี้เอง ที่ทำให้เหตุผลที่แม้จะสมเหตุสมผลอย่างยิ่งนี้ หมดความหมายลงไปทันที คือ “ไม่มีใครยอมรับเหตุผลนี้” เพราะมันขัดแย้งกับความรู้สึกของจิต หรือมันฝืนสามัญสำนึกของจิต ซึ่งผู้ที่ไม่ยอมรับเหตุผลนั้นเขาคงจะเห็นว่า “เหตุผลเพียงแค่นี้ จะมาทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตอย่างถูกต้องได้อย่างไร?” คือเขายังมีความเห็นหรือเชื่อว่า “จิตเป็นสิ่งลึกลับหรือมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ เราคนธรรมดาไม่สามารถล่วงรู้ถึงความลึกลับของจิตได้ ต้องเป็นผู้วิเศษ หรือเหนือมนุษย์ธรรมดาจึงจะเข้าใจได้” ซึ่งถ้าใครยังมีความยึดถือในความเชื่อเช่นนี้อยู่ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจชีวิตหรือตัวเองได้อย่างถูกต้อง เพราะมองข้ามความจริงไป แล้วเอาแต่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และไม่มีของจริงมายืนยัน

          ทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผลที่สมเหตุสมผลที่สุด และน่าเชื่อถือที่สุด (แต่ก็อย่าเพิ่งเชื่อ) ถ้าเราไม่ยอมรับเหตุผลนี้แล้ว เราจะไปยอมรับอะไร? เราจะเชื่อตามตำรา หรือเชื่อตามคนอื่น หรือเชื่อจากสามัญสำนึกโง่ๆของเราเอง โดยละทิ้งเหตุผลที่น่าเชื่อที่สุดนี้หรือ? แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าความเชื่อเหล่านั้นจะถูกต้องแท้จริง เพราะเราไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตัวของเราเอง แต่ถ้าสิ่งที่เราไปพิสูจน์นั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง ถึงใครจะไปพิสูจน์อย่างไรก็ไม่มีทางค้นพบ เพราะมันไม่มีอยู่จริง ส่วนสิ่งที่มีเหตุผลและมีหลักฐานคือของจริงมายืนยันว่า “จิตมีการเกิดและดับอยู่เสมอ และจิตต้องอาศัยร่างกายเกิดขึ้นมา” นี้เป็นสิ่งที่เราสามารถพิจารณาให้เกิดความเข้าใจด้วยเหตุผล และพิสูจน์ให้เห็นจริงหรือเห็นแจ้งได้ทันทีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อจากใครๆ เพราะเราก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งหรือเห็นแจ้งชีวิตขึ้นมาได้ด้วยตัวของเราเองแล้ว

จิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

          วัตถุทั้งหลายของโลกก็มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ไม่มีชีวิต กับ มีชีวิต โดยสิ่งที่ไม่มีชีวิตนั้นเราก็คงจะพบเห็นกันอยู่แล้วโดยทั่วไป เช่น ก้อนหิน ก้อนดิน เหล็ก ไม้ พลาสติก กระจก เป็นต้น ส่วนสิ่งที่มีชีวิตนี้ก็สรุปได้ ๓ จำพวกใหญ่ๆ คือ มนุษย์, สัตว์, และพืช ซึ่งความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ไม่มีชีวิต กับสิ่งที่มีชีวิตก็คือ “การรับรู้” คือสิ่งที่มีชีวิตก็ย่อมที่จะมีการรับรู้สิ่งต่างๆได้ (เมื่อมีการรับรู้แล้วก็จะมีความรู้สึกเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ) ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ย่อมที่จะไม่มีการรับรู้สิ่งใดๆได้

          แล้วการรับรู้นี้มาจากไหน? เมื่อพิจารณาจากความจริงที่มีอยู่จริงในชีวิตของเราแล้วก็จะพบว่า เมื่อระบบประสาทต่างๆของร่างกายเรา (คือตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, และ ใจ-สมอง) มีความสมบูรณ์ หรือดีพร้อม หรือยังไม่ตาย มันก็จะเกิด “การรับรู้” ขึ้นมาที่ระบบประสาทนั้นได้ แต่ถ้าระบบประสาทใดเสียหาย ก็จะไม่เกิดการรับรู้ขึ้นมาได้ อย่างเช่น เมื่อระบบประสาทของลูกตายังดีอยู่ เมื่อมีภาพมากระทบตา ก็จะเกิดการรับรู้ภาพขึ้นมาที่ตานั้นขึ้นมาทันที แต่ถ้าตาเสียหรือบอด ก็จะไม่เกิดการรับรู้ภาพได้ เป็นต้น คือเรียกว่า ต้องอาศัยระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกาย มาสัมผัสกับสิ่งภายนอกที่ตรงกัน จึงจะเกิด “การรับรู้” ขึ้นมาทันทีที่ระบบประสาทจุดนั้น ซึ่ง “การรับรู้” ของร่างกายนี้ ก็เหมือนกับกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนๆนั่นเอง

          เมื่อเชื้ออสุจิ (ซึ่งเป็นชีวิตเล็กๆซึ่งมีการรับรู้และรู้สึกได้ ที่เกิดมาจากร่างกายของผู้ชายสร้างขึ้นมา) ของพ่อไปผสมกับไข่ของแม่ ก็จะทำให้เกิดมีชีวิตขึ้นมาและค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นเป็นร่างกายขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูล(DNA) จากไข่ของแม่และเชื้อของพ่อนั้น มาปรุงแต่งให้เกิดลักษณะของอวัยวะต่างๆของร่างกายขึ้นมา และสิ่งสำคัญก็คือมันได้เกิดเนื้อสมองที่มีคุณสมบัติพิเศษขึ้นมา ซึ่งสมองนี้เองที่เป็นพื้นฐานให้เกิดจิตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ โดยสมองนี้สามารถบันทึกข้อมูลจากการรับรู้และรู้สึก รวมทั้งการปรุงแต่งของจิตทั้งหลายเอาไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

          สัญชาติญาณ หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิต โดยไม่มีใครมาสอน อย่างเช่น สัญชาติญาณในการหาอาหาร, กินอาหาร, สืบพันธุ์, เอาตัวรอด, รักลูก, เลี้ยงลูก เป็นต้น อย่างที่สัตว์และพืชทั้งหลายมีอยู่นั่นเอง ซึ่งสัญชาติญาณพื้นฐานหรือสัญชาติญาณใหญ่ของทุกชีวิตก็คือ “ความรู้ว่าจิตนี้คือตัวตนหรือตนเอง” ที่ทำให้เกิดสัญชาติญาณย่อยๆทั้งหลายขึ้นมา  ซึ่งสัญชาติญาณว่าจิตนี้คือตนเองนี้ จะมีอยู่แล้วประจำแก่ทุกจิตที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ  ซึ่งสัตว์และแม้พืชทั้งหลาย ก็ได้อาศัยสัญชาติญาณนี้ ในการรักษาเผ่าพันธุ์ของมันเอาไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากโลก ถ้าไม่มีสัญชาติญาณนี้ สัตว์และพืชทั้งหลายก็จะไม่รักตัวเอง ไม่ดูแลรักษาตัวเอง ไม่สืบพันธ์ ไม่กินอาหาร แล้วก็จะสูญพันธ์ไปในที่สุด

          เด็กที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ๆนั้น ก็จะมี “สัญชาติญาณว่าจิตนี้คือตนเอง” นี้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่ายังมีน้อย หรือไม่เข้มข้น แต่เมื่อจิตเด็กนั้นเริ่มได้รับรู้สิ่งต่างๆของโลกทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ที่ให้ความรู้สึกที่น่าพอใจบ้าง และไม่น่าพอใจบ้าง ซึ่งความรู้สึกนี้เองที่มากระตุ้นให้ “สัญชาติญาณว่าจิตนี้คือตัวเอง” ให้เริ่มทำงาน แล้วสัญชาติญาณนี้ก็จะมากระตุ้นให้จิตเกิดเป็น “ความรู้สึกว่ามีตัวเอง” อยู่ในโลก และเมื่อเริ่มเกิด “ความรู้สึกว่ามีตัวเอง” ขึ้นมาแล้ว สมองก็จะเก็บ “ความรู้สึกว่ามีตัวเอง” นี้ไว้ในจิตใต้สำนึก ยิ่งเด็กนั้นโตขึ้น “ความรู้สึกว่ามีตัวเอง” นี้ก็จะมีความเคยชินมากขึ้น จนทุกครั้งที่จิตตื่นขึ้นมา มันก็จะรู้สึกว่ามีตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่างที่เรียกว่าเป็นสามัญสำนึกของเรา หรือเป็นนิสัยของเรานี่เอง

          สัญชาติญาณว่าจิตนี้ตัวเอง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “ความรู้ว่าจิตนี้คือตัวเอง” นี้เอง ที่เป็นต้นขั้วหรือต้นตอที่มากระตุ้นให้จิตเกิด “ความยึดถือว่าจิตนี้คือตัวเรา” และความทุกข์ทั้งหลายขึ้นมา ดังนั้นสัญชาติญาณหรือความรู้นี้จึงจัดว่าเป็น “ความโง่สูงสุดของมนุษย์” เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายขึ้นมา ส่วน “ความรู้และความเข้าใจว่าแท้จริงไม่มีตัวเรา” นั้นจัดว่าเป็น “ปัญญาสูงสุดของมนุษย์” เพราะมันทำให้ความทุกข์ทั้งหลายดับหายไปได้

สรุปได้ว่า “พื้นฐานดั้งเดิมของทุกชีวิตจะว่างหรือบริสุทธิ์เหมือนกันหมด แต่มาไม่ว่างหรือไม่บริสุทธิ์ หรือมาเกิดความยึดถือว่ามีตัวตนที่แตกต่างกันเอาในภายหลัง ด้วยความโง่เขลาเพราะไม่มีใครสอน” จนกว่าจิตใดจะศึกษาจนเกิดความเข้าใจว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราหรือตัวตนที่แท้จริงของใครๆอยู่เลย” แล้วจิตนี้ก็พยายามตั้งใจเพ่งอยู่ในความเข้าใจนี้อย่างต่อเนื่อง (คือเกิดสมาธิ) แล้วจิตนี้ก็จะกลับคืนมาเป็นจิตที่ว่างหรือบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งจิตที่ว่างหรือบริสุทธิ์นี้ก็จะไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย และจะมีสติปัญญาอย่างเต็มที่อยู่ด้วย รวมทั้งจะไม่มีความทุกข์ทางจิตใจอยู่เลย (และถ้าจิตใดสามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จน “สัญชาติญาณว่าจิตนี้คือตัวเรา” ได้หายไปจากจิตใต้สำนึกอย่างถาวร จิตนี้ก็จะไม่มีความทุกข์อีกอย่างถาวรหรือตลอดเวลาที่ยังมีจิตอยู่)

ความยึดถือคืออะไร?

ความยึดถือ ก็คือ อาการที่จิตไปแบก ไปหาม หรือครอบครองสิ่งต่างๆว่าเป็น “ตัวตน” บ้าง ว่าเป็น “ของตน” บ้าง ด้วยความรัก หรือความพอใจ อย่างที่เรียกรวมๆกันว่า “ตัวตน-ของตน” (ถ้าเน้นมาที่ชีวิตของเราก็จะเรียกว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา”) โดยสิ่งไปยึดถือนั้นถ้าเป็นเด็กเล็กๆหรือคนที่มีปัญญาน้อย ก็จะยึดถือเอาทั้ง “ร่างกายและจิต” ของตัวเองว่าเป็น “ตัวตน” (หรือตัวเรา) และยึดถือเอาสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย (เช่น ชื่อ นามสกุล พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อน ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น) ว่าเป็น “ของตน” (หรือของเรา) แต่ผู้ใหญ่บางคนที่มีปัญญาขึ้นมาหน่อย ก็จะมายึดถือเอา “จิต” ว่าเป็น “ตัวตน” (หรือตัวเรา) และยึดถือเอาร่างกายและสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหลายว่าเป็น “ของตน” (หรือของเรา) คือเมื่อมีการ “ยึดถือว่ามีตัวตน” ขึ้นมาเมื่อใด ก็ย่อมที่จะมี “ของตน” เกิดตามมาด้วยเสมอ

          จากการศึกษามาแล้วก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า “จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราจริง” (ไม่ใช่ตัวตน) แต่เป็นเพียงสิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น แต่มันก็มีความน่าอัศจรรย์ตรงที่ มันมี “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” เกิดขึ้นมาด้วย อีกทั้งจิตนี้ยังสามารถปรุงแต่งให้เกิดความคิด ความอยาก รวมทั้งความยึดถือขึ้นมาได้อีก คือเมื่อจิตมี “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” มันก็จะเป็นเหตุมาปรุงแต่งให้เกิด “ความอยากเพื่อตัวเรา” (ความอยากก็มีทั้งความอยากได้และอยากทำลายหรืออยากหนี) ขึ้นมา ซึ่งความอยากนี้ก็จะเป็นเหตุมาปรุงแต่งให้เกิด “ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเรา” ขึ้นมา และเมื่อมีความยึดถือ (หรือยึดมั่น หรือยึดมั่นถือมั่น) ก็ย่อมที่จะเกิดความทุกข์ตามมาด้วยเสมอ

          สรุปได้ว่า แม้จิตจะ “ไม่มีตัวตนของใครๆจริง” ก็ตาม แต่มันก็มีความโง่ (สัญชาติญาณว่าจิตนี้คือตนเอง) ครอบงำจนทำให้เกิด “ความรู้สึกว่ามีตนเอง” ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ แล้วจิตที่มีความรู้สึกว่ามีตนเองนี้ ก็จะมา “ยึดถือเอาจิตนี้ว่าเป็นตัวเอง” และ “ยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ตั้งของจิตกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายว่าเป็นของตน”  แล้วจิตที่ยึดถือนี้ก็มาเป็นทุกข์ขึ้นมาเองอย่างช่วยไม่ได้


หน้าต่อไป