-๓-

ตายแล้วไปไหน?

          จากการที่เราศึกษามาทั้งหมดก็ทำให้เข้าใจได้ว่า “แท้จริงไม่มีสิ่งใดเลยที่จะมาเป็นเราหรือตัวเราได้ จะมีก็เพียงตัวเราชนิดชั่วคราว ที่ยึดถือหรืออยากจะให้เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็นไม่ได้” คือเมื่อเหตุเช่นนี้ๆเกิดขึ้นมา มันก็เกิดมีเราขึ้นมา แต่เมื่อเหตุเช่นนี้ๆแตกสลายหรือดับหายไป ความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ ก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วยทันที คือร่างกายกับจิตนี้จะอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ถ้าสิ่งใดแตกสลายหรือดับหายไป อีกสิ่งก็จะต้องแตกสลายหรือดับหายตามไปด้วยทันที เหมือนกับหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ที่มีกลไกลที่เป็นวัตถุที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน กับกระแสไฟฟ้าทำงานร่วมกันอยู่ ถ้าตัวเครื่องเสีย หรือกระแสไฟฟ้าดับลง หุ่นยนต์นั้นก็จะไม่ทำงาน

ส่วนการที่จะเกิดจิตที่เหมือนเดิม ที่มีความทรงจำเหมือนเดิมทุกประการเช่นนี้ขึ้นมาอีก หลังจากร่างกายตายไปแล้วนั้น ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นไปได้ และเราก็ไม่ได้มีความจำมาก่อนเลยว่า “เคยมีเรามาก่อนที่เราจะเกิดขึ้นมา” เพื่อมาเป็นหลักฐานยืนยัน

          ถ้ามีใครมาถามว่า “คนเราตายแล้วจิตที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ไปไหน?” ซึ่งแม้ผู้ที่เข้าใจแล้วว่าไม่มีตัวเราจริง ก็คงตอบไม่ได้ เพราะเข้าใจแล้วว่า แท้จริงมันไม่มีตัวตนของใครมาเกิด ดังนั้นจึงเท่ากับว่าไม่มีใครตาย และแม้ตัวตนที่กำลังมีอยู่นี้ มันก็ยังไม่มีตัวตนของใครอยู่จริง (มีแต่ตัวตนชั่วคราวหรือตัวตนมายาที่ไม่ใช่ของจริงแท้ถาวรหรืออมตะ) และเมื่อเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่า “ไม่มีตัวเราอยู่จริง” ดังนั้น เรื่องภายหลังจากความตาย หรือเรื่องโลกหน้า หรือเรื่องการเวียนกลับมาเกิดใหม่อีกของจิต หรือเรื่องสถานที่สำหรับคนที่ตายไปแล้ว อย่างเช่น เรื่องนรกใต้ดิน, สวรรค์บนฟ้า, รวมทั้งเรื่องเทวดา, นางฟ้า, ผี, ปีศาจ, ซาตาน เป็นต้น  เราก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะมันไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นไปได้เลยตามหลักเหตุผลและความจริงที่มีอยู่

          สิ่งที่เราควรพิจารณาที่สุดก็คือ ความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ มันก็มาจากจิตของเราเอง ซึ่งตามเหตุผลแล้ว จิตก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุหลายๆเหตุด้วยกันมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นจิตจึงไม่ใช่สิ่งที่จะมาเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ที่จะมาให้ยึดถือเอาเป็นตัวตนของใครๆได้ ส่วนความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ มันก็เป็นแค่เพียงความรู้สึกของจิตที่ธรรมชาติให้มาเท่านั้น ถึงแม้มันจะรู้สึกว่ามีตัวเราอย่างเข้มข้นสักเท่าใดก็ตาม มันก็เป็นแค่เพียงความรู้สึกที่ก็ต้องอาศัยเหตุมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น จะเชื่อถือว่าเป็นความจริงแท้ไม่ได้ อีกทั้งแม้จิตก็ยังไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แล้วความรู้สึกว่ามีตัวเราที่เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของจิต จะมาเป็นตัวตนที่แท้จริงได้อย่างไร? แต่ที่มันมีความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ มันก็เป็นเพียงสัญชาติญาณของจิตที่ธรรมชาติมอบให้ไว้ เพื่อให้ทุกชีวิตรักตัวเอง เพื่อที่จะได้ดูแลรักษาตัวเองเอาไว้ จะได้ไม่สูญพันธุ์ไปจากโลกเท่านั้น ซึ่งนี่คือการเล่นกลของธรรมชาติ ที่หลอกมนุษย์และสัตว์ “ให้หลงเชื่อว่ามีตนเองอยู่จริง” ได้อย่างแนบเนียนที่สุด แต่เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้วก็จะพบว่า มันก็ไม่มีใครมาให้หลอกจริงๆเลย มีแต่จิตของธรรมชาติที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้นมาเอง แล้วก็หลอกจิตที่ไม่มีตัวตนจริงนั้นเอง ให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีตนเองจริงๆเท่านั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างที่สุด

เกิดมาทำไม?

          เมื่อเข้าใจแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเป็นเราได้จริง ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วชีวิตนี้เกิดขึ้นมาทำไม?  ใครสร้าง?  ซึ่งจากความเป็นจริงแล้ว ชีวิตทั้งหลายก็เกิดขึ้นมาจากเหตุและผลที่ทยอยกันผลักดันให้เกิดขึ้นมา โดยสิ่งที่สร้าง (หรือปรุงแต่ง) ขึ้นมาก็คือธรรมชาติ หรือสิ่งที่เป็นอยู่ของมันตามปกติธรรมดานี่เอง โดยการสร้างนั้นธรรมชาติก็ใช้กฎสูงสุดของธรรมชาตินั่นเองสร้างขึ้นมา

          ถ้าจะถามต่อว่าธรรมชาติสร้างชีวิตขึ้นมาทำไม? ก็คงไม่มีใครตอบได้ เพราะมันก็เป็นไปของมันเช่นนี้เองตามธรรมชาติ แต่เมื่อชีวิตเกิดขึ้นมาแล้วควรถามว่า “ทำอย่างไรจึงจะได้รับสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในการเกิดมานี้?”  ซึ่งคำตอบก็คือต้องทำ “ทำหน้าที่” ซึ่งหน้าที่นี้ก็หมายถึง การกระทำที่ชีวิตทุกชีวิตต้องทำ ถ้าไม่ทำก็จะเป็นทุกข์ หรือเดือดร้อนหรือสูญพันธุ์ได้ ซึ่งหน้าที่โดยสรุปของทุกชีวิตก็คือ หน้าที่ในการดูแลรักษาชีวิตไม่ให้เป็นทุกข์ คือเมื่อชีวิตเกิดมาก็ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องทนอยู่ตลอดเวลาตามกฎสูงสุดของธรรมชาติ ซึ่งความที่ต้องทนอยู่นี้มันก็คือความทุกข์ที่เป็นพื้นฐานของทุกชีวิต ดังนั้นทุกชีวิตจึงต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตไม่ให้เป็นทุกข์ หรือให้มีทุกข์น้อยที่สุด ทั้งร่างกายและจิตใจ  

          จากหน้าที่โดยสรุปนี้ เราก็สามารถที่จะแยกแยะออกไปเป็นหน้าที่ต่างๆได้มากมายคือ หน้าที่ในการดูแลจิตใจ, หน้าที่ในการดูแลร่างกาย, รวมทั้งหน้าที่ในการดูแลครอบครัว, สังคม, ประเทศชาติ, โลก, รวมทั้งสภาพแวดล้อม ไม่ให้เป็นทุกข์ หรือเดือดร้อน หรือเสียหาย ซึ่งสาเหตุที่มนุษย์ต้องมีหน้าที่ต่างๆมากมายก็เพราะ ถ้าจิตใจของเรายังมีความยึดถือว่ามีตัวเราอยู่ แล้วเราไม่ดูแลรักษาร่างกาย ร่างกายก็จะเจ็บป่วย, ถ้าไม่ดูและรักษาครอบครัว ครอบครัวก็จะเดือดร้อน, ถ้าไม่ดูแลรักษาสังคม สังคมก็จะไม่สงบ, ถ้าไม่ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมก็จะเสียหาย, ถ้าไม่ดูและรักษาโลก โลกก็จะมีแต่วิกฤติการณ์ และเมื่อโลกและสภาพแวดล้อม รวมทั้งสังคม ครอบครัว และร่างกายของเราเดือดร้อนหรือไม่สงบสุข ก็จะพลอยทำให้จิตใจที่ยังยึดถืออยู่นี้พลอยเกิดความทุกข์ตามไปด้วย แต่ถึงสภาพแวดล้อมทั้งหลายหรือร่างกายของเราจะเดือดร้อนอย่างไรก็ตาม ถ้าจิตใจของเรา (ตามที่สมมติเรียก) ไม่ยึดถือว่ามีตัวเราอยู่จริงเสียอย่างเดียว จิตใจของเราก็จะไม่มีความทุกข์ใดๆเลยได้ เพราะต้นเหตุที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์นั้นไม่มีอยู่ในจิตใจนี้เสียแล้ว

เราทำหน้าที่เพื่อใคร?

          บางคนที่ไม่เข้าใจ เมื่อมีผู้บอกว่าไม่มีตัวเราอยู่จริง ก็อาจจะคิดไปว่า เมื่อไม่มีตัวเราเสียแล้ว แล้วจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม? หรือไม่รู้จะทำงานหรือเล่าเรียนไปทำไม? สู้อยู่เฉยๆจะดีกว่า เพราะถึงทำไปก็ไม่มีใครได้รับผล ซึ่งนี่เป็นการมองโลกสุดโต่งไปในทางเห็นว่าไม่มีตัวตนใดๆเลย จึงไม่ยอมทำอะไรเลย ที่ตรงข้ามกับคนที่สุดโต่งไปในทางเห็นว่ามีตัวตน ที่เห็นแก่ตัวจัด คือทำอะไรๆก็เพื่อตัวเอง จนทำให้เกิดการเบียดเบียนคนอื่นขึ้นมา

          คนเรานี้ ถ้าให้อยู่เฉยๆไม่ทำอะไรเลย ชีวิตก็จะเป็นทุกข์ คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย ก็จะไม่มีทรัพย์มาบริหารชีวิต แล้วชีวิตก็จะเป็นทุกข์ เช่น ไม่มีข้าวจะกิน หรือไม่มีที่จะอยู่ เป็นต้น หรือแม้คนร่ำรวย ถ้าไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายทรัพย์ก็จะหมด หรือถึงจะไม่หมด ชีวิตก็จะไร้คุณค่าและน่าเบื่อหน่าย เพราะเอาแต่เสพความสุข จนในที่สุดความสุขนั้นก็จะกลับมาสร้างความทุกข์มหันต์ให้ในภายหลัง

          ดังนั้นชีวิตจึงต้องมีหน้าที่ การทำหน้าที่นั้นจะช่วยให้ชีวิตมีความทุกข์ลดน้อยลง คนเราถ้าได้ทำงานก็จะมีความสุขอยู่กับการทำงาน ถ้าไม่ทำงานแล้วเอาแต่กินๆนอนๆและเที่ยวเล่น ชีวิตก็จะน่าเบื่อหน่ายและไร้คุณค่าอย่างที่สุด และจะมีความทุกข์อย่างที่สุดตามมาในภายหลัง เหมือนร่างกายก็ต้องออกกำลัง จึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและเป็นสุข ถ้าร่างกายไม่เคยออกกำลังเลย ร่างกายก็จะอ่อนแอและไม่มีภูมิคุ้มกันโรค แล้วร่างกายก็จะปวดเมื่อยหรือไม่สุขสบายและเจ็บป่วยได้ง่าย รวมทั้งอายุก็จะสั้นอีกด้วย

          การทำงาน (ที่สุจริต) เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวนั้นจัดว่าเป็น การทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างมากของชีวิต ซึ่งผู้ที่เข้าใจแล้วว่า “ไม่มีตัวเราจริง” ก็จะ “ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่” ไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อตัวตนของใคร หน้าที่นี้คือสิ่งสูงสุดของชีวิต การทำงานจึงเป็นสิ่งสูงสุดของชีวิตด้วย  ดังนั้นเราจึงควรทำงานให้สนุก และมีความสุขอยู่กับการทำงาน  เมื่อมีความสุขอยู่กับการทำงานแล้ว ก็ไม่ต้องไปแสวงหาความสุขจากที่อื่น จึงทำให้ไม่ต้องเสียทรัพย์เพื่อไปซื้อหาความสุขนั้น แล้วก็จะทำให้มีทรัพย์เหลือ เมื่อมีทรัพย์เหลือก็นำไปช่วยเหลือคนที่มีทุกข์หรือเดือดร้อน หรือช่วยเหลือสังคมอย่างถูกวิธีด้วยสติปัญญา (อย่างเช่น การเผยแผ่ให้มนุษย์ให้เข้าใจความจริงสูงสุดเรื่องไม่มีตนเองอยู่จริง) ก็จะยิ่งทำให้ชีวิตมีแต่ความสุขใจอิ่มใจอยู่เสมอได้ ซึ่งนี่คือชีวิตที่มีคุณค่า หรือชีวิตที่ประเสริฐที่แท้จริง     

 ความทุกข์เกิดจากอะไร?

          ในความเป็นจริงของโลกเรานี้ จะมีความเป็นสิ่งคู่เสมอ คือเมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นมา มันก็จะต้องมีสิ่งตรงข้ามเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ อย่างเช่น เมื่อมีสว่างก็ต้องมีมืด เมื่อมีขาวก็ต้องมีดำ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย เพื่อมีพบก็ต้องมีจาก เมื่อมีชอบก็ต้องมีชัง เมื่อมีได้ก็ต้องมีเสีย เป็นต้น

          ดังนั้นเมื่อชีวิตมีความสุข มันก็ต้องมีความทุกข์เกิดขึ้นมาด้วยเสมออย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ซึ่งความทุกข์ของมนุษย์เรานั้นก็มีมากมาย ทั้งของร่างกายและของจิตใจ โดยความทุกข์ของร่างกายก็ได้แก่ความทุกข์จากความร้อน, ความหนาว, ความหิว, ความกระหาย, ความเจ็บ, ความปวด, ความเมื่อยล้า, ความคัน,  ความอึดอัดทรมาน เป็นต้น ซึ่งความทุกข์นี้เป็นความทุกข์ตามธรรมชาติของร่างกาย ที่ไม่สามารถแก้ไขให้หมดสิ้นไป หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาอย่างถาวรได้ จะทำได้ก็เพียงบรรเทาให้เบาบางลงได้บ้างเท่านั้น

          ส่วนความทุกข์ของจิตใจก็ได้แก่ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับ “ความยึดถือว่ามีตัวเรา” ที่เกิดขึ้นมาในสภาพที่ยากลำบากบ้าง, ที่แก่ชราบ้าง, ที่เจ็บป่วยบ้าง, ที่รู้ตัวว่าจะตายบ้าง, ที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่รักที่พอใจอยู่บ้าง, ที่กำลังประสบกับบุคลหรือสิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจอยู่บ้าง, และตัวเราที่ผิดหวังเพราะอยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามที่อยาก ซึ่งนี่เป็นการมองความทุกข์อย่างกว้างๆ แต่โดยสรุปแล้วความทุกข์ทั้งหลายของจิตใจก็จะเกิดมาพร้อมกับ “ความยึดถือว่ามีตัวเรา” อยู่ด้วยเสมอ

          ความยึดถือว่ามีตัวเรานี้ก็คือ อาการที่จิตเข้าไปแบกไปหาม หรือไปครอบครองธรรมชาติที่สมมติเรียกว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” (ธรรมชาตินั้นก็ได้แก่ร่างกายและจิตใจที่เรากำลังรู้สึกอยู่นี้) ด้วยความรักหรือความพอใจอย่างยิ่ง ซึ่งความยึดถือว่ามีตัวเรานี้ก็เกิดมาจาก “ความอยาก” อีกทีหนึ่งที่มากระตุ้นหรือผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งความอยากนี้ก็มีอยู่ ๓          ประเภท คือ (๑) อยากได้ (๒) อยากเป็นอยู่ และ (๓) อยากทำลาย

ความอยากเป็นอย่างไร?

          เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วเราก็จะพบว่า ขณะที่จิตได้พบเห็นหรือสัมผัสสิ่งที่น่าพึงพอใจ ที่ให้ความรู้สึกที่น่าพึงพอใจ หรือให้ความสุข (happy)  แต่ว่ายังไม่ได้ความสุขนั้น จิตก็จะเกิดความอยากได้ (หรืออยากเอา) ความสุขนั้นมาให้ตนเองอย่างยิ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความอยากได้นี้ ก็เป็นความหิวที่ทรมานจิตใจอย่างยิ่ง คือในขณะที่กำลังเกิดความอยากได้อยู่นั้น จิตก็จะดิ้นรนหรือเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลาด้วยความอยากจะได้ (เหมือนเวลาที่เราหิวอยากจะกินแต่ยังไม่ได้กิน) ซึ่งเราจะเรียกลักษณะอาการนี้ว่าเป็น “ความทุกข์ซ่อนเร้น” ที่อาจจะสังเกตเห็นได้ยากอยู่สักหน่อย

 หรือแม้ว่าจิตของเราจะได้ความสุขนั้นมาแล้ว และกำลังมีความสุขอยู่ แต่จิตก็ยังอยากที่จะได้ความสุขนั้นมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา (เหมือนกับยิ่งได้กินก็ยิ่งหิวมากยิ่งขึ้น) ซึ่งมันก็ทำให้จิตเกิดอาการดิ้นรนหรือเร่าร้อนเหมือนกับอาการขณะที่ยังไม่ได้ความสุขนั่นเอง ซึ่งมันก็เป็นลักษณะอาการของ “ความทุกข์ซ่อนเร้น” นั่นเอง

          ส่วนขณะที่จิตแม้จะได้ความสุขมาแล้วก็ตาม และกำลังมีความสุขอยู่นั้น จิตก็ยังเกิดความอยากที่จะมีความสุขอยู่เช่นนั้นตลอดไป และวิตกกังวลกลัวว่าจะต้องจากความสุขนั้นไป (เหมือนกับเวลากินอยู่แล้วกลัวว่าคนอื่นจะมาแย่งเอาของกินไป) ซึ่งอาการวิตกกังวลกลัวว่าจะต้องจากความสุขนั้นไปนี้เอง ที่ทำให้จิตเกิดความดิ้นรนหรือเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลาอีกเหมือนกัน ซึ่งมันก็เป็นลักษณะอาการของ “ความทุกข์ซ่อนเร้น” นั่นเอง

          ส่วนเวลาที่จิตต้องพลัดพรากจากความสุขไป จิตก็ย่อมที่จะเกิดความอยากที่จะได้ความสุขนั้นกลับคืนมาอีก (เหมือนยังกินไม่อิ่ม แล้วก็ไม่ได้กินต่ออีก)  ซึ่งก็ย่อมที่จะทำให้จิตเกิดความทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้นอีกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเราจะเรียกลักษณะอาการนี้ว่าเป็น “ความทุกข์เปิดเผย”  

          ส่วนขณะที่จิตกำลังพบกับ สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ ที่ให้ความรู้สึกที่ไม่น่าพึงพอใจ (unhappy) ทั้งหลายอยู่นั้น จิตก็ย่อมที่จะเกิดความอยากที่จะทำลายสิ่งนั้นอย่างยิ่งอยู่ด้วยเสมอ (หรือยากหนี หรือโกรธ เกลียด กลัว อับอาย เบื่อหน่าย รำคาญใจ ไม่พอใจ เป็นต้น)  ซึ่งอาการอยากทำลายนี้เอง ที่เป็นอาการของจิตที่ดิ้นรน หรือเร่าร้อนด้วยความอยากจะหนีไปให้พ้นๆสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจนั้นอย่างยิ่ง ซึ่งมันก็เป็นลักษณะอาการของ “ความทุกข์เปิดเผย” นั่นเอง

          ส่วนกรณีที่จิตกำลังพบกับสิ่งที่ให้ความรู้สึกจืดหรือกลางๆ (no happy and no unhappy) อยู่นั้น จิตจะยังไม่เกิดความอยากใดๆขึ้นมา จะเกิดก็เพียงความลังเลใจ หรืองง เซ่อ หรือติดสินใจไม่ถูก เท่านั้น  ซึ่งความลังเลใจนี้จะยังไม่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ที่รุนแรงขึ้นมาได้ จะทำได้ก็เพียงทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวตนอ่อนๆขึ้นมารบกวนจิตให้รำคาญใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง ไม่สดชื่นแจ่มใส ไม่สงบเย็น ไม่ปกติสุข เท่านั้น ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “ความทุกข์อ่อนๆ” ก็ได้

          ความอยากทั้งหลายของจิตนี้เอง ที่ทำให้จิตเกิดอาการ เศร้าโศก, เสียใจ, แห้งเหี่ยวใจ, เร่าร้อนใจ, กลัดกลุ้มใจ, เครียด, ตรอมใจ, ทรมานใจ, หนักใจ, เศร้าซึม, หรือไม่สบายใจ เป็นต้น เหล่านี้ขึ้นมา ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ของจิตใจ และทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้นมาและดับหายไป มันก็จะทิ้งความเคยชินเอาไว้ให้กับจิตใต้สำนึกเสมอ และเมื่อจิตได้สัมผัสกับสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจใหม่อีก ความอยากนี้ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีกอย่างง่ายดาย ตามความเคยชินที่จิตใต้สำนึกได้สั่งสมเอาไว้ ซึ่งควบคุมได้ยากหรือไม่ได้เลยถ้าไม่มีสมาธิเพียงพอ

จะดับทุกข์ได้อย่างไร?

          เราได้เข้าใจมาแล้วว่า ความทุกข์ทั้งหลายมีต้นเหตุมาจาก “ความรู้ว่าจิตนี้คือตัวเรา” (สัญชาติญาณว่าจิตนี้คือตัวเรา) ที่มากระตุ้นให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา และเมื่อตัวเรานี้ได้รับรู้สิ่งต่างๆจนเกิดความรู้สึกต่างๆขึ้นมา ความรู้สึกนี้ก็จะมากระตุ้นให้จิตเกิดความอยากขึ้นมา และความอยากนี้ก็จะมากระตุ้นให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราพร้อมกับความทุกข์ขึ้นมา ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้ “ความรู้ว่าจิตนี้คือตัวเรา” นี้หายไปจากจิตใต้สำนึกได้ ความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้นมาได้ เพราะต้นเหตุของมันไม่เกิดขึ้น

           เมื่อเรามีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะมาเป็นตัวเราหรือของเราจริง” ซึ่งความเข้าใจนี้จะช่วยได้เพียง ทำให้จิตคลายความยึดถือว่ามีตัวเราลงบ้างเท่านั้น และช่วยให้ความทุกข์ที่รุนแรงลดน้อยลงเท่านั้น แต่ถ้าเราต้องการที่จะให้ความทุกข์ทั้งหลายดับลงจนหมด เราจะต้องนำความเข้าใจนี้ มาเพ่งพิจารณาดูเข้าไปในจิตของเราอย่างตั้งใจและต่อเนื่องนานๆ โดยจิตไม่ฟุ้งซ่านไปคิดถึงเรื่องอื่นเลย จนกระทั่งจิตเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา  และเมื่อจิตเป็นสมาธิ มันก็จะเข้าใจและยอมรับความจริงว่า “ไม่มีตัวเรา” แล้ว “ความรู้ว่ามีตัวเรา” ก็จะหายไปในขณะนี้ แล้ว “ความรู้สึกตัวว่ามีตัวเรา” ก็จะไม่เกิดขึ้น   และความอยากพร้อมด้วย “ความยึดถือว่ามีตัวเรา” และ “ความทุกข์ทั้งหลาย” ก็จะไม่เกิดขึ้น (แม้ชั่วคราว)

เมื่อจิตไม่มีความทุกข์จะเป็นเช่นไร?

ถ้าความอยากหรือความยึดถือนี้มีมาก ความทุกข์ก็จะมีความรุนแรงมาก แต่ถ้าความอยากนี้มีน้อย ความทุกข์ก็จะมีความรุนแรงน้อยลงตามไปด้วย เหมือนระบบการเร่งของเครื่องยนต์ แต่ถ้าเราสามารถหยุด หรือทำให้ความอยากนี้ดับหายไป หรือไม่เกิดขึ้นมาได้อย่างหมดจด จนจิตบริสุทธิ์จากความอยากทั้งหลาย ความทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมที่จะไม่เกิดขึ้น

เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ สภาวะที่ตรงข้ามกับความทุกข์ก็ย่อมที่จะปรากฏขึ้นมาแทน ซึ่งเป็นสภาวะของความปกติ, สงบ, เย็น, ปลอดโปร่ง, สดชื่น, เบิกบาน, แจ่มใจ, เบาสบาย ที่เรียกว่าเป็น “ความสงบเย็น” หรือ “ความไม่มีทุกข์”

สภาวะของความไม่มีทุกข์นี้ ปกติเราก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้วในชีวิตประจำวัน เพียงแต่อาจจะไม่มากและไม่ถาวรเท่านั้น คือความไม่มีทุกข์นี้ มันจะเกิดขึ้นมาในขณะที่จิตของเราไม่มีความอยากใดๆ หรือในขณะที่จิตของเราเกิดความว่างจากความอยากได้เองตามธรรมชาติ เมื่อได้พบกับสภาพแวดล้อมที่ชวนให้จิตสงบ หรือไม่มีอะไรมารบกวน เช่น ป่า เขา ทะเล หรือห้องที่เงียบสงบ เป็นต้น หรือเมื่อจิตมันถูกความทุกข์แผดเผาเสียจนอ่อนล้าแล้ว ความทุกข์มันก็จะค่อยๆลดลง หรือดับหายไปของมันได้เองอีกชั่วคราวเหมือนกัน ถ้าความทุกข์มันจะไม่ลดลง หรือหายไปจากจิตของเราบ้างเลย เราก็คงจะเป็นบ้าตายไปกันหมดแล้ว เพราะถูกความทุกข์แผดเผาอยู่ตลอดทั้งวันเป็นแน่ ดังนั้นเราจึงควรขอบคุณธรรมชาติที่ได้มอบ “ความไม่มีทุกข์” มาให้เราอยู่เสมอ และก็ควรขอบคุณธรรมชาติอีก ที่ได้มอบวิธีการดับทุกข์ไว้ให้ เพื่อที่เราจะได้เอาไว้ปฏิบัติเพื่อดับมัน

จะดับทุกข์อย่างถาวรได้อย่างไร?

          หลักปฏิบัติเพื่อดับทุกข์โดยสรุปก็คือ “คอยระวังอย่าให้จิต ไปคิดถึงเรื่องที่จะทำให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา แต่ให้จิตตั้งใจคิดถึงหรือมองเห็นแต่เรื่อง ‘ไม่มีตัวเราจริง’ อยู่ตลอดเวลา” (ความรู้นี้ก็คือปัญญา) จิตก็จะเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาได้เอง แล้วความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเผลอไปคิดถึงเรื่องว่ามีตัวเราขึ้นมาอีกเมื่อใด ความยึดถือว่ามีตัวเรา ก็จะกลับมาเกิดขึ้นอีกเมื่อนั้น และความทุกข์ ก็จะยังจะกลับมาเกิดขึ้นมาได้อีกเรื่อยไป

ชีวิตของเราก็จะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คือพอมีปัญญากับสมาธิ ความยึดถือว่ามีตัวเราก็จะหายไป แต่พอไม่มีปัญญากับสมาธิ ความยึดถือว่ามีตัวเราก็จะเกิดขึ้นมาอีก จนกว่าเราจะสามารถปฏิบัติให้เกิดปัญญากับสมาธิ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จนกระทั่งความเคยชินที่จะกลับมาเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา (หรือที่เรียกว่าเป็นนิสัยที่จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาอีกเรื่อยๆ) ที่จิตใต้สำนึกได้สั่งสมไว้ได้หมดความเคยชินไป (หรือถูกทำลายให้หายไป) อย่างถาวร และมีปัญญาคือความรอบรู้ว่าไม่มีตัวเราเกิดขึ้นมาในจิตใต้สำนึกแทน ความยึดถือว่ามีตัวเราและความทุกข์ทั้งหลายของจิต ก็จะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีกได้อย่างถาวรหรือตลอดชีวิต

จะปฏิบัติในชีวิตจริงได้อย่างไร?

การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้ ถ้าเราฝึกฝนมาชำนาญแล้ว เราก็สามารถที่จะปฏิบัติได้ทุกที่และทุกเวลา ไม่ว่าเราจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม อย่างเช่นในขณะที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ หรืออ่านหนังสืออยู่ หรือทำงานอยู่ หรือพูดอยู่ หรือคิดค้นอยู่ หรือแม้การทำกิจวัตรประจำวันของเราเป็นต้น คือเราก็ตั้งใจในการคิด หรือพูด หรือทำ แต่ก็มีความเข้าใจอยู่เสมอว่า ไม่มีผู้คิด, พูด, หรือทำอยู่ตลอดเวลาด้วยเสมอ ซึ่งก็จะทำให้เกิดทั้งสมาธิและปัญญาขึ้นมาพร้อมกัน ในการที่จะมาระวังไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นในกรณีที่ความทุกข์ยังไม่เกิดขึ้น และดับความทุกข์ในกรณีที่ความทุกข์ได้เกิดขึ้นมาแล้วให้ดับลง

          สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติใหม่ๆนั้นจะทำได้ยากเพราะไม่เคยชิน ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกสมาธิเพื่อเป็นพื้นฐานก่อน แต่การที่จะฝึกให้จิตเกิดสมาธิได้นั้น ผู้ฝึกจำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่มีจิตที่ปกติอยู่ก่อนแล้วด้วย

จิตที่ปกตินี้ จะมาเป็นพื้นฐานให้จิตมีสมาธิได้ง่าย ซึ่งการที่เราจะมีจิตที่ปกติได้นั้น เราก็ต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมมาก่อนพอสมควร ถ้าเป็นคนชั่ว (คนชั่วคือคนที่ชอบเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งกามารมณ์ของผู้อื่น และชอบพูดโกหก, คำหยาบ, ส่อเสียด, และเพ้อเจ้อ) หรือไม่ดีก็จะฝึกสมาธิได้ยาก เพราะจิตของคนชั่วนั้นจะมีความไม่ปกติอยู่เสมอ คือจะมีแต่ความดิ้นรน, หงุดหงิด, รำคาญใจ, โกรธง่าย, ฟุ้งซ่าน, หวาดระแวง, ไม่สบายใจ เป็นต้นอยู่เสมอ จึงฝึกให้เกิดสมาธิได้ยากหรือไม่ได้เลยถ้าชั่วมากๆ  

การที่เราจะเป็นคนดีและมีจิตที่ปกติได้อย่างแท้จริงนั้น เราจะต้องใช้ชีวิตที่ไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งกามารมณ์ของผู้อื่น  รวมทั้งไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดเพ้อเจ้ออยู่เสมอจนเป็นปกติ ถ้าทำได้เราจึงจะฝึกจิตให้เกิดสมาธิได้ง่าย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะฝึกสมาธิได้ยาก เรื่องของจิตปกตินี้จึงมีความสำคัญไม่แพ้สมาธิและปัญญาเลย

สมาธิคืออะไร?

คำว่าสมาธิในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องนั่งหลับตาตัวแข็งทื่อ และไม่รับรู้สิ่งภายนอกเลย ซึ่งนั่นเป็นสมาธิที่สูงเกินความจำเป็นและทำได้ยาก อีกทั้งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้อีกด้วย

ปกติเราก็พอจะมีสมาธิกันอยู่บ้างแล้ว แต่ว่าไม่นานพอหรือไม่ตั้งอยู่ได้ตามที่เราต้องการ อย่างเช่นเวลาที่เราตั้งใจพูดต่อหน้าผู้คนมากๆ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาทันที แต่เมื่อเราไม่ตั้งใจ เราก็จะไม่มีสมาธิ  ซึ่งสมาธินี้เป็นสิ่งจำเป็นมาก ทั้งในการเรียน การทำงานและการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นี้ แต่บางคนก็มีสมาธิสั้นหรือน้อย จึงเรียนไม่เก่ง หรือทำงานไม่ได้ดี แต่ถ้ามีการฝึกให้จิตมีสมาธิอยู่เสมอ ก็สามารถมีสมาธิมากขึ้นจนเป็นนิสัยได้

ความจริงแล้ว การฝึกสมาธินั้น เราก็สามารถฝึกได้โดยตรงจากการเรียน การพูด การคิด การทำงาน หรือจากการทำกิจวัตรต่างในชีวิตประจำวันของเรานี้ก็ได้ เพราะการที่เราตั้งใจกำหนดรู้สิ่งใด หรือตั้งใจคิด หรือพูด หรือทำในสิ่งที่ดีงามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆได้ จิตของเราก็จะเกิดสมาธิขึ้นมาได้     

อะไรปิดกั้นสมาธิ?

จิตที่เป็นสมาธิ จะมีลักษณะ (๑) บริสุทธิ์ สะอาด คือไม่มีความอยากใดๆ หรือไม่มีแม้ความลังเลใจแม้แต่น้อย (๒) ตั้งมั่น เข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ คือจะไม่มีอะไรมายั่วยวนให้เกิดความอยากใดๆ หรือแม้เกิดความลังเลใจได้ และ (๓) อ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง ไม่ดื้อรั้น สามารถควบคุมได้ง่าย สุขุมรอบครอบ รวมทั้งจะมีความระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลาด้วย

          แต่การที่เราไม่มีสมาธิก็เพราะมี “สิ่งปิดกั้นสมาธิ” มาปิดกั้นจิตของเราเอาไว้ไม่ให้เกิดสมาธิ ซึ่งสิ่งปิดกั้นสมาธินี้ก็มีทั้ง อย่างหยาบ และ อย่างละเอียด

          สิ่งปิดกั้นสมาธิอย่างหยาบก็ได้แก่อาการที่จิตน้อมไปในทาง

๑.     พอใจ เช่น ความรัก, ความใคร่, ความชอบใจ, อยากได้, อยากเป็นอยู่ เป็นต้น

๒.     ไม่พอใจ เช่น โกรธ, เกลียด, กลัว, อับอาย, เบื่อหน่าย, อยากทำลาย, อยากหนี เป็นต้น

๓.     ลังเลใจ เช่น สับสน, ว้าวุ่นใจ, งง, เซ่อ, ตัดสินใจไม่ถูก เป็นต้น

          สิ่งปิดกั้นสมาธิอย่างละเอียดก็ได้แก่

๑.     อาการที่จิตน้อมไปในทาง พึงพอใจเล็กๆน้อยๆ ในความสุขสนุกสนานทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, และกาย โดยมีเรื่องทางเพศเป็นเรื่องสูงสุด

๒.     อาการที่จิตน้อมไปในทางไม่พึงพอใจเล็กๆน้อยๆ หรืออึดอัดใจ หรือยังมีความอาฆาตพยาบาทฝังใจอยู่ 

๓.     ความคิดที่ฟุ้งซ่าน เตลิดเปิดเปิง หรือตื่นเต้นจนน่ารำคาญใจ

๔.    อาการที่จิต เซื่องซึม ง่วงซึม หดหู่ มึนชา เคลิบเคลิ้ม

๕.    ความลังเลสงสัย ในสิ่งที่เชื่อถืออยู่ หรือในการปฏิบัติของตนเอง

          ปกติในแต่ละวันนั้นสิ่งปิดกั้นสมาธิอย่างละเอียดนี้ จะครอบงำจิตของเราอยู่มากที่สุด  จึงทำให้จิตของเราไม่มีสมาธิอยู่เสมอ เมื่อจิตไม่มีสมาธิ สัญชาติญาณว่าจิตนี้คือตัวเรา ก็จะกระตุ้นให้จิตเกิดความรู้สึกตัวว่ามีตัวเราอ่อนๆเกิดขึ้นมารบกวนจิตอยู่ตลอดเวลา อันจะทำให้จิตของเรารู้สึกรำคาญใจ, ขุ่นมัว, ไม่สงบ, ไม่ปกติ, ไม่สดชื่นแจ่มใส, ไม่เบาสบายอยู่เสมอ ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็นความทุกข์ชนิดอ่อนๆหรือไม่รุนแรงก็ได้ ส่วนสิ่งปิดกั้นสมาธิอย่างหยาบนั้นจะเกิดไม่บ่อยนัก คือจะเกิดเฉพาะเวลาที่มีสิ่งภายนอกที่รุนแรงมาสัมผัสเท่านั้น มันจึงจะเกิดขึ้น แล้วก็ทำให้เกิดความทุกข์ที่รุนแรงขึ้นมา อย่างเช่น เวลาที่เรามีความโกรธที่รุนแรง หรือมีความเศร้าโศกเสียใจอย่างรุนแรง หรือมีความเครียด ความกังวลใจ หรือเบื่อหน่าย หรืออับอาย เป็นต้น

สมาธิฝึกอย่างไร?    

          วิธีการฝึกให้จิตมีสมาธินั้น นอกจากเราจะฝึกจากการเรียน หรือทำงาน หรือจากการทำกิจวัตรต่างๆของเราโดยตรงแล้ว เรายังสามารถที่จะฝึกพิเศษ จากการฝึกกำหนดลมหายใจของเราเองเมื่อมีเวลาว่างก็ได้

          วิธีการฝึกพิเศษก็คือ ก่อนอื่นให้หาที่สงบไม่มีอะไรมารบกวนก่อน และควรใช้อิริยาบถนั่งในการฝึก เมื่อชำนาญแล้วจะใช้อิริยาบถใดก็ได้  ส่วนจะนั่งอย่างไรก็ได้ จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ถ้าทำแล้วไม่ฟุ้งซ่านหรือง่วงนอน

          ในขั้นต้นก็ให้ตั้งใจกำหนดรู้การหายใจของร่างกายอยู่ตลอดเวลา ว่ากำลังหายใจเข้าหรือออกอยู่ และรวมการรับรู้ทั้งหมดของจิตให้มากำหนดอยู่ที่ลมหายใจนี้ ถ้าเผลอปล่อยจิตไปที่อื่นแล้วรู้ตัว ก็ให้รีบกลับมากำหนดที่ลมหายใจนี้เหมือนเดิม ซึ่งในขั้นนี้ก็ให้บังคับลมหายใจให้เบา และยาวอยู่ตลอดเวลา

          ในการฝึกใหม่ๆนั้น เมื่อเรายังไม่สามารถควบคุมความคิดได้ เราก็ใช้วิธีการนับลมหายใจเพื่อไม่ให้จิตเลื่อนลอย  เช่น การนับลมหายใจเป็นคู่ๆไปเรื่อยๆ จนจิตมีสมาธิก็ได้ หรืออาจจะจะท่องคำสั้นๆที่ดีงาม เช่น นี่ไม่ใช่เรา, ไม่มีเรา, ไม่มีใคร, ว่างเปล่า, ไม่มีใครได้อะไร, ไม่มีใครเสียอะไร เป็นต้น เพื่อเตือนหรือสอนตัวเองไปเรื่อยๆก็ได้  ซึ่งการนับลมหายใจหรือท่องในใจนี้ เราจะนับหรือท่องในขณะที่หายใจออก ส่วนเวลาหายใจเข้าจะหยุดก็ได้ หรือใครจะนับหรือท่องในขณะที่หายใจเข้า แต่พอเวลาหายใจออกจะหยุดก็ได้ คือ ให้นับหรือท่องไปและหยุดพักไป เพื่อจิตจะได้ไม่เลื่อนลอยจนฟุ้งซ่าน

          อีกวิธีหนึ่งก็คือ การตั้งใจคิดพิจารณาสิ่งที่ดีงาม โดยเราจะคิดเฉพาะเวลาที่หายใจออก ส่วนเวลาหายใจเข้าก็ให้หยุดคิด (หรือใครจะคิดในขณะที่หายใจเข้า แต่พอเวลาหายใจออกจะหยุดคิดก็ได้) และให้คิดด้วยประโยคสั้นๆและคิดช้าๆ ซึ่งเรื่องที่คิดก็ควรเป็นเรื่องที่ดีงาม  เช่น นักเรียนก็คิดเรื่องการเรียน คนทำงานก็คิดเรื่องงาน นักวิทยาศาสตร์ก็คิดเรื่องการค้นคว้า เป็นต้น แต่ถ้าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เกิด “สิ่งปิดกั้นสมาธิ” ทั้งหลายขึ้นมา จิตก็จะไม่สามารถเกิดสมาธิขึ้นมาได้

ส่วนนักปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ก็ควรคิดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับปัญญา คือเรื่องที่เกี่ยวกับว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุทั้งหลายนี้ ล้วนไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนถาวร รวมทั้งยังต้องทนอยู่ด้วยความยากลำบาก” นั่นเอง แต่ถ้าจะให้เกิดสมาธิได้เร็ว เราก็ใช้วิธีการตั้งใจพูดออกเสียงมาเลยก็ได้ คือให้พูดคนเดียว แต่เหมือนกับว่ามีคนฟังอยู่มากๆ

          เมื่อเราสามารถตั้งใจนับ, ท่อง, คิด, หรือพูดได้นานๆ จน “สิ่งปิดกั้นสมาธิอย่างละเอียด” ได้ระงับหรือดับหายไปจนหมดสิ้นแล้ว จิตก็จะสงบ ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน และอ่อนโยนสามารถควบคุมได้ง่าย รวมทั้งจะเกิดความสุขที่สงบประณีตขึ้นมา พร้อมกับความอิ่มเอมใจด้วย ซึ่งนี่แสดงถึงว่าจิตของเราเริ่มมีสมาธิขึ้นมาแล้วอย่างแท้จริง และเมื่อจิตมีสมาธิ ความยึดถือว่ามีตัวเราก็จะไม่เกิดขึ้น หรือที่กำลังเกิดอยู่ก็จะระงับดับหายไป และความทุกข์ก็จะดับหายไป หรือไม่มีตามไปด้วยทันที

          จิตที่มีสมาธินี้จะมีความรู้สึกตัว หรือตื่นตัว หรือระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และจะมีปัญญามาคอยดูแลอยู่ตลอดเวลาด้วย พร้อมกันนั้น ความสงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น  เบิกบาน  แจ่มใส เบาสบาย ก็จะปรากฏขึ้นมาในขณะนี้ด้วย  ซึ่งนี่ก็คือสภาวะจิตขณะที่ “ไม่มีทุกข์” ที่แท้จริง ที่เราสามารถปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริงโดยไม่ยากเย็นเลย และถ้าใครปรารถนาจะให้เกิดสภาวะนี้อย่างถาวร ก็ต้องหมั่นฝึกฝนให้เกิดสมาธิและปัญญาเช่นนี้ให้ต่อเนื่องนานๆ จนนิสัยที่จะกลับมาเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรานี้ถูกทำลายจนหมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกอย่างถาวร  ความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่กลับมาเกิดอีกอย่างถาวรหรือจนตลอดชีวิตได้

จะเชื่อได้อย่างไร?

          จากหลักการที่ว่า “เมื่อมีการใช้เหตุผลพิจารณา จนเกิดความเข้าใจถูกต้องแล้วว่า ไม่มีตัวเรา และให้นำเอาความเข้าใจนี้ มาเพ่งพิจารณามองเข้าไปในจิต ที่สมมติเรียกว่าเรานี้อย่างตั้งใจที่สุด ก็จะทำให้จิตเกิดทั้งปัญญาและสมาธิขึ้นมากำจัดความยึดถือว่ามีตัวเรานี้ ให้ระงับหรือดับหายไปได้ แล้วความทุกข์ก็จะดับลง หรือไม่เกิดขึ้น และจิตก็จะสงบเย็น” นี้ เราก็จะยังเชื่อไม่ได้ว่ามันจะได้ผลจริงหรือไม่? เพราะมันยังเป็นแค่ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เราจะต้องนำเอาหลักการนี้มาทดลองปฏิบัติให้ได้ผลแน่ชัดก่อนเราจึงจะค่อยเชื่อ แต่ถ้าทดลองปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถของเราแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล ก็อย่าเชื่อให้ละทิ้งเสีย

สรุปว่าการที่เราจะเชื่อและรับเอาหลักการใดมาปฏิบัติ เราจะต้องพิสูจน์ทดลองให้เห็นจริงด้วยจิตของเราเองอย่างแน่ชัดเสียก่อน เราจึงจะเชื่อว่าทฤษฎี หรือหลักการนั้นถูกต้องแน่นอน ไม่ผิดพลาด ซึ่งความเชื่อที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้เชื่อคนสอน แต่เป็นการเชื่อจากความจริงที่ปรากฏขึ้นมาให้ได้รับรู้จริงๆ และก็ไม่ใช่การเชื่อตนเองด้วย เพราะตนเองก็คือความยึดถือที่เกิดมาจากความโง่ ถ้ายังมีความยึดถือว่ามีตนเองอยู่ ก็แสดงว่ายังมีความโง่ครอบงำจิตอยู่ ดังนั้นถ้าเชื่อตนเองก็เท่ากับเชื่อคนโง่ แล้วความเชื่อนี้ก็ย่อมที่จะมีความผิดพลาดได้อย่างมาก

ทำอย่างไรจึงจะมีความปรารถนาที่จะดับทุกข์?

          ทั้งๆที่เราก็รู้และเข้าใจแล้วว่าชีวิตมีแต่ความทุกข์ และไม่มีอะไรที่จะมาเป็นตัวเราหรือของเราได้จริง แต่เราก็ยังคงมีความยึดถือว่ามีตัวเราอยู่อีกนั่นเอง ถึงแม้มันจะลดน้อยลงบ้างแล้วก็ตาม ดังนั้นเรา (ตามที่สมมติเรียก) จึงยังคงต้องมีความทุกข์อยู่ต่อไป จนกว่าเราจะถูกความทุกข์แผดเผาเอาจนทนต่อไปไม่ไหวแล้ว และเบื่อหน่ายต่อความทุกข์ทั้งหลายอย่างเต็มที่นั่นแหละ เราจึงจะสนใจที่จะมาศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับมัน

          อีกอย่างถ้าเราหมั่นพิจารณาถึง ความทุกข์ที่มันแผดเผาเราอยู่ในปัจจุบัน หรือคิดพิจารณาถึงความทุกข์ในอนาคต ที่จะต้องเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน (จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และความผิดหวัง) อยู่เสมออย่างจริงจัง เราก็จะเริ่มเกิดความกลัวต่อความทุกข์ในอนาคต และมีความปรารถนา (ความอยากที่ดี) ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์ในอนาคตนั้นเกิดขึ้น

          อีกอย่างถ้าเราจะหมั่นพิจารณาถึงความสุขทั้งหลาย ที่เรากำลังลุ่มหลงติดใจกันยิ่งนักนี้อยู่เสมอว่า “มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ต้องแสวงหามาด้วยความเหนื่อยยาก อีกทั้งยังทำให้ต้องเป็นห่วงกังวลอยู่เสมอ ซ้ำเมื่อไม่มีความสุขหรือมีน้อยลง เราก็จะเป็นทุกข์อีก แต่ถึงเราจะเสพความสุขไปมากสักเท่าใดก็ตาม สุดท้ายมันก็จะผ่านเลย หรือสูญหายไปจนหมดสิ้น และยิ่งเสพก็จะยิ่งติดใจ และอยากเสพมากยิ่งขึ้น อันส่งผลให้ต้องแสวงหาและห่วงใยมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ย่อมที่จะนำปัญหา และความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้อีกอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และสิ่งสำคัญ ความสุขที่เราลุ่มหลงติดใจนี้ มันก็มีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ด้วยทั้งสิ้น” ซึ่งการพิจารณาเช่นนี้ก็จะช่วยให้เราเกิดความเบื่อหน่ายในความสุขและมีความอยากที่จะดับทุกข์มากขึ้น

            จุดสำคัญ ถ้าเราจะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นตัวเราจริง” ได้อย่างแท้จริงแล้ว เราก็จะมองเห็นได้เองว่า ถึงแม้เราจะเสพสุข และลุ่มหลงติดใจความสุข หรือแสวงหาความสุข และยึดถือว่าเป็นของเราไปมากสักเท่าใดก็ตาม แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็ไม่ได้มีใครที่ได้เสพ หรือยึดถือได้อย่างแท้จริงเลย ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดสำคัญ ที่จะทำให้เราไม่คิดที่จะแสวงหาและยึดถือสิ่งใดๆในโลก อันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่สูงขึ้น เพื่อที่จะคืนทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เคยยึดถือเอาไว้ แก่ธรรมชาติในอนาคตอีกด้วย 

            สรุปได้ว่า ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “ทุกสิ่งี่เกิดขึ้นล้วนไม่เที่ยงแท้ถาวร ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง” แล้ว เราก็จะมองเห็นความจริงแท้ของธรรมชาติที่สำคัญที่สุดได้ และจะทำให้เราเกิดความเบื่อหน่ายต่อชีวิตและต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อันจะนำเราไปสู่การศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ที่สูงขึ้นต่อไปได้ ซึ่งนี่คือประโยชน์จากการมองเห็นความจริงสูงสุดของธรรมชาติ

สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดของมนุษย์คืออะไร?

          เมื่อเราเข้าใจอย่างถูกต้องชัดเจนแล้วว่า “มันไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะมาเป็นเราหรือของเราได้จริง” ก็จะทำให้เรามองเห็นได้ว่า ชีวิตที่สมมติว่าเป็นเรานี้ ธรรมชาติปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อให้มาทำหน้าที่เท่านั้น ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้มายึดถือสิ่งใดๆ เพราะทุกสิ่งมันยึดถือไม่ได้ ถ้าโง่ไปยึดถือเข้าก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด หรือมีคุณค่า หรือมีประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับมนุษย์ทุกคนก็คือ “ความไม่มีทุกข์” นั่นเอง

เมื่อชีวิตก็ไม่ได้มีตัวตนของใครจริง และความสุขทั้งหลายก็ไม่ได้เที่ยงแท้ถาวร ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงมองเห็นว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปลุ่มหลงความสุขทั้งหลายของโลก เพียงคอยดูแลรักษาจิตใจและร่างกายไม่ให้เป็นทุกข์ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ก็พอแล้ว ถ้าไปแสวงหาและเสพความสุข ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาโดยไม่ได้อะไร

เมื่อจิตหลุดพ้นจากความยึดถือว่ามีตัวเรา และไม่แสวงหาและลุ่มหลงติดใจในสิ่งใดๆในโลกแล้ว จิตก็จะกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติเดิมของมัน  ซึ่งลักษณะนี้เรียกว่าเป็น “จิตหลุดพ้น” (แต่ถ้าใครยังมีความเชื่อว่ามีตัวเราเป็นผู้หลุดพ้นก็เท่ากับยังไม่เข้าใจเรื่องที่ว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเรา) ซึ่งความหลุดพ้นนี้ก็คือ หลุดพ้นหรืออยู่เหนืออำนาจของโลก ไม่มีสิ่งในโลกที่จะมายั่วยวนให้รัก ชอบ พอใจ หรือโกรธ เกลียด กลัว หรือไม่พอใจ เป็นต้นได้แม้แต่เล็กน้อย และแม้แต่ความตายก็ไม่สามารถที่จะมาทำให้จิตนี้หวั่นไหวไปในทางกลัวหรือเศร้าโศกเสียใจได้แม้แต่น้อยนิด

          จิตที่หลุดพ้นจากความยึดถือว่ามีตัวเรานี้ จะไม่มีความอยากใดๆเพื่อตัวเองอีกต่อไป คือจะไม่คิดอะไรเพื่อตัวเอง, พูดอะไรเพื่อตัวเอง, และทำอะไรเพื่อตัวเอง ไม่ว่าจะในลักษณะใดๆ คือทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่แม้จะไม่มีความอยากใดๆ จิตที่หลุดพ้นนี้ ก็ยังคงทำหน้าที่ต่างๆของชีวิตต่อไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ โดยเฉพาะหน้าที่ในการนำสันติสุขมาสู่มวลมนุษย์ และนำสันติภาพมาสู่โลก ด้วยการชี้นำให้มนุษย์ตื่นจากความหลับใหล (จากความโง่ที่เข้าใจผิดว่ามีตนเอง) แล้วมามีปัญญาเข้าใจชีวิตอย่างถูกต้อง (ว่าไม่มีตนเองอยู่จริง) และรู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ไม่มีความทุกข์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการทำหน้าที่นี้ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำตามหน้าที่ และเพื่อหน้าที่ ตามที่ธรรมชาติกำหนดมา และมีผลเป็นความสงบเย็น หรือไม่มีความทุกข์ใดๆของจิตใจ เป็นผลตอบแทนที่ธรรมชาติมอบมาให้

          สรุปได้ว่า ถึงแม้ใครจะปฏิญาณตนว่า “ไม่มีศาสนา” แต่ก็สามารถที่จะมีความเข้าใจหรือเห็นแจ้งชีวิตได้ โดยไม่ต้องอาศัยความรู้และเชื่อจากศาสนาใดๆ เพราะอาศัยการศึกษาชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์ คือใช้เหตุใช้ผลและศึกษาจากชีวิตจริงของเราเอง จนทำให้พบกับความจริงว่า “มันไม่มีเราอยู่จริง” และเมื่อพบกับความจริงนี้แล้วก็จะทำให้เกิดความรู้แจ้งชีวิตขึ้นมา ซึ่งจากความรู้แจ้งนี้เองที่ทำให้พบกับวิธีการดับทุกข์ของจิตใจ ที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัว ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ที่แม้ผู้ที่เชื่อมั่นในศาสนาทั้งหลายก็ยากที่จะได้พบ ซึ่งความรู้นี้นอกจากจะช่วยให้กำจัดทุกข์ของจิตได้แล้ว ยังจะช่วยให้โลกมีสันติภาพขึ้นมาได้อีกด้วย

เราจะช่วยโลกให้มีสันติภาพได้อย่างไร?

สันติภาพ หมายถึง ความสงบสุขของโลก ซึ่งเกิดมาจากการที่มนุษย์ไม่ทำร้ายกัน หรือไม่เอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน ไม่ว่าจะโดยวิธีใด ซึ่งการที่โลกมีแต่วิกฤติการณ์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะมนุษย์เบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่ คือทั้งเบียดเบียนกันเอง เบียดเบียนสัตว์ และเบียดเบียนป่าไม้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์เบียดเบียนกันนี้ก็เพราะมนุษย์มี “ความโลภ” (อยากได้วัตถุนิยม คือ เรื่องทางเพศ, วัตถุสิ่งของ, และเกียรติยศชื่อเสียง ที่ให้ความสุขอย่างยิ่ง) เมื่อไม่ได้ตามที่โลภก็จึงเกิด “ความโกรธ” (อยากทำร้ายบุคคลหรือสิ่งที่มาขัดขวางไม่ให้ได้วัตถุนิยม)

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความโลภและความโกรธก็เพราะมนุษย์มี “ความเห็นแก่ตัว” คือโลภก็เพื่อตัวเอง โกรธก็เพราะตัวเองไม่ได้ตามที่อยากได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวก็เพราะมนุษย์มี “ความยึดถือว่ามีตัวเอง” คือเมื่อยึดถือว่ามีตัวเอง จึงทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความยึดถือว่ามีตัวเองก็เพราะมนุษย์มี “ความเข้าใจผิดตัวว่ามีตัวเองอยู่จริง” คือเมื่อมีความเข้าใจผิดตัวว่ามีตัวเองจริง จึงทำให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเองขึ้นมา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีความเข้าใจผิดว่ามีตัวเองอยู่จริงก็เพราะมนุษย์มี “ความรู้ผิดว่ามีตัวเองอยู่จริง” (สัญชาติญาณว่ามีตัวเอง ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก ที่เรียกว่าเป็นความโง่สูงสุดของมนุษย์) คือเมื่อมีความรู้ผิดว่ามีตัวเองอยู่จริง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีตัวเองอยู่จริงขึ้นมา

เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดลึกซึ้งก็ทำให้สรุปได้ว่า ต้นตอของวิกฤติการณ์ทั้งหลายของโลกเกิดมาจาก “ความโง่สูงสุดหรือความรู้ผิดว่ามีตัวเองอยู่จริงของมนุษย์ทั้งหลาย”  คือเมื่อมนุษย์มีความรู้ผิดว่ามีตัวเองอยู่จริง จึงทำให้จิตโง่ของมนุษย์นั้นเกิดความเข้าใจผิดว่ามีตัวเองอยู่จริงขึ้นมา, เมื่อมีความเข้าใจผิดว่ามีตัวเองอยู่จริง ก็ทำให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเองขึ้นมา, เมื่อมีความยึดถือว่ามีตัวเองก็ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา, เมื่อมีความเห็นแก่ตัวจึงทำให้เกิดความโลภและโกรธเพื่อตัวเองขึ้นมา, และเมื่อมีความโลภและโกรธ จึงทำให้มนุษย์เกิดการเบียดเบียนกันขึ้นมา, จนทำให้โลกมีแต่วิกฤติการณ์และหาสันติภาพไม่ได้อย่างเช่นในปัจจุบัน

ดังนั้นวิธีสร้างสันติภาพให้แก่โลกที่ได้ผลแน่นอนและยั่งยืนที่สุดก็คือ การเผยแพร่ความจริงที่เกี่ยวกับชีวิตนี้เพื่อให้มนุษย์หายโง่ หรือการสอนให้มนุษย์เกิดความรู้ที่ถูกต้องว่า “แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเองอยู่จริง มีแต่ตัวเองชั่วคราวเท่านั้น”, เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดความรู้ที่ถูกต้องว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเองอยู่จริงแล้ว ความเข้าใจผิดว่ามีตัวเองอยู่จริงก็จะหายไป, เมื่อความเข้าใจผิดว่ามีตัวเองอยู่จริงหายไป ความยึดถือว่ามีตัวเองก็จะลดน้อยลง, เมื่อความยึดถือว่ามีตัวเองลดน้อยลง ความเห็นแก่ตัวก็จะลดน้อยลงตาม, เมื่อความเห็นแก่ตัวลดน้อยลง (หรือไม่เห็นแก่ตัวแต่เห็นแก่ผู้อื่นแทน)  ความโลภและโกรธก็จะลดน้อยลงตาม, เมื่อมนุษย์มีความโลภและโกรธน้อยลง การเบียดเบียนกันก็จะลดน้อยลง, เมื่อมนุษย์เบียดเบียนกันลดน้อยลง วิกฤติการณ์ของโลกก็จะลดน้อยลง, และเมื่อโลกมีวิกฤติการณ์ลดน้อยลงจนโลกกลับคืนสู่ความปกติ  สันติภาพก็จะกลับมาปรากฏได้ใหม่หลังจากที่โลกได้สูญเสียมันไป

จึงขอฝากให้ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลาย ทั้งที่มีศาสนาและไม่มีศาสนา ที่ค้นพบความจริงของชีวิตแล้ว มาช่วยกันเผยแพร่ความจริงนี้แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสัตว์รวมทั้งป่าไม้ ที่กำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อน ให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนและมามีความปกติสุข รวมทั้งช่วยกอบกู้สันติภาพกลับคืนให้แก่โลกกันต่อไป 

จบบริบูรณ์

 

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บ www.whatami.net)


**ถ้าต้องการปริ้นเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้เป็นรูปเล่มให้คลิ๊กที่นี่**