สัมมาทิฏฐิคืออะไร

ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น หรือ ความเข้าใจ ซึ่งสรุปได้ ๒ อย่าง คือสัมมาทิฏฐิ - ความเห็นถูก กับ มิจฉาทิฏฐิ - ความเห็นผิด ซึ่งสัมมาทิฏฐิ ก็คือความเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ส่วนมิจฉาทิฏฐิ ก็คือความเห็นที่ผิดจากความเป็นจริงของธรรมชาติ

สัมมาทิฏฐินั้นปัจจุบันกลายเป็นว่ามี ๒ ระดับ คือ สัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้าน กับ สัมมาทิฏฐิระดับปัญญาชน

(๑) สัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้าน ก็คือ ความเห็นหรือความเข้าใจตามที่ชาวบ้าน (ชาวบ้านคือปุถุชนที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส) เขาเชื่อกันอยู่ ซึ่งสัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้านนั้นสรุปอยู่ที่เป็นความเห็นที่ว่า "คนที่ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าตายไปแล้ว ก็จะยังมีการเกิดขึ้นมาใหม่มาเพื่อรับผลกรรมเก่าเรื่อยไป" ซึ่งความเห็นนี้จัดเป็นความเห็นผิดพวกสัสสตทิฏฐิทันที (สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่ามีอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงเกิดใหม่มาสืบต่อไว้เรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโดยตรงคือจิตหรือวิญญาณออกไปเกิดตรงๆ หรือการเกิดโดยอ้อม คือมีอวิชชาหรือกิเลส หรือวิบากกกรมไปเกิดใหม่แทนก็ตาม ก็จัดเป็นความเห็นผิดว่ามีสิ่งที่เป็นอัตตาทั้งนั้น)  ซึ่งความเห็นผิดว่ามีตัวตนเกิดใหม่ได้นี้เป็นความเห็นผิดตัวแม่ ที่ทำให้เกิดความเห็นผิดตัวลูกตามมาอีกมากมาย เช่น เห็นว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งวิเศษ ผู้วิเศษ และนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี เทวดา นางฟ้า รวมทั้งเรื่องกรรมเก่าจากชาติก่อน เป็นต้น

แต่ถึงแม้จะมีความเห็น (เข้าใจ) ว่า "เมื่อตายแล้วตัวตนที่มีอยู่ก็ดับสูญไปเลย ไม่มีการเกิดขึ้นมาใหม่ได้อีก ผลกรรมในชาตินี้ก็ไม่ต้องรับผล" ก็ยังจัดเป็นความผิดพวกอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญไม่มีตัวตนใดๆเลย ทำอะไรก็ไม่มีผล) ซึ่งความเห็นนี้จะทำให้คนที่เชื่อไม่ชอบทำความดี แต่ชอบทำความชั่ว เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผล

ความเห็นทั้งสองนี้จัดเป็นความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ ) ที่ขวางกั้นไม่ให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า 

(๒) สัมมาทิฏฐิระดับปัญญาชน (ความเห็นที่ถูกต้องระดับปัญญาชนหรือระดับพระอริยะ) ก็คือ ความเห็นที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งสัมมาทิฏฐิระดับปัญญาชนนี้ก็สรุปอยู่ที่ความเห็นว่า ในชีวิตของเรา (คือร่างกายกับจิตใจ) นี้มันไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง (อย่างพวกสัสสตทิฏฐิ) เลย เพราะทั้งร่างกายและจิตใจล้วนเป็น "สิ่งปรุงแต่ง" ขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยทั้งสิ้น

คือเมื่อเหตุและปัจจัยเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยยังตั้งอยู่ มันก็ตั้งอยู่ แต่เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันดับหายไป มันก็จะดับหายตามไปด้วยทันที (ตามกฎอิทัปปัจจยตา) ซึ่งสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้จะมีความจริงซ่อนอยู่ ๔ ประการ คือ (๑) อนิจจัง-ไม่เที่ยง (คือมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตก-ดับอยู่ตลอดเวลา)

(๒) ทุกขัง - มีสภาวะที่ต้องทน (คือต้องทนประคับประคองสภาวะการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก) , (๓) อนัตตา -ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง มีแต่ตัวตนมายาหรือตัวตนชั่วคราวเท่านั้น, และ (๔) สุญญตา - ความว่างจากตัวตนที่แท้จริง (คือจะหาสิ่งที่เป็นตัวตนของมันเองจริงๆไม่มี)

ตัวตนมายาหรือชั่วคราวนี้ (คือร่างกายกับจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรา) ถ้ายึดถือว่าร่างกายและจิตในนี้เป็นตัวตนของตนเองเองจริงๆ และยึดถือสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง (เช่น พ่อ แม่ คู่ครอง ลูก ทรัยพ์สมบัติ ชื่อเสียง เป็นต้น) ว่าเป็นของตนด้วย (ที่เรียกว่า ตัวตน-ของตน หรือ ตัวเรา-ของเรา) ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาทันที แต่ถ้าไม่ยึดถือ มันก็ไม่มีความทุกข์ใจ อีกทั้งตัวตนมายาหรือตัวตนชั่วคราวนี้ เมื่อทำกรรมดี (หรือความดี) ก็จะเกิดผลเป็นความสุขใจ อิ่มเอมใจขึ้นมาทันที  แต่เมื่อทำกรรมชั่ว (หรือความชั่ว) ก็จะเกิดผลเป็นความร้อนใจหรือไม่สบายใจขึ้นมาทันที

ซึ่งนี่คือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ (คือสัมมาทิฏฐิระดับปัญญาชนหรือระดับขอพระอริยะ) ที่จัดเป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน) เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่ามีตัวตน-ของตน (หรือตัวเรา-ของเรา) ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ส่วนความเชื่อเรื่องว่าโลกนี้มี โลกหน้ามี เทวดามี นางฟ้ามี และกรรมเก่าจากชาติที่แล้วมี เป็นต้นนั้น จัดเป็นสัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้าน ที่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิของอริยมรรค เพราะยังเป็นความเห็นผิดว่ามีตัวตน (อัตตา) มาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ซึ่งความเชื่อนี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาช้านานแล้วภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นานโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว  จึงขอให้ชาวพุทธเจ้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะยังหลงผิดเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้ากันอยู่ต่อไปโดยไม่รู้ตัวอย่างที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน

 

เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๑๖ มกราคม ๒๕๕๙
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
[ศึกษารายละเอียดได้ที่ www.whatami.net]

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************