หลักอริยสัจ ๔ ที่เป็นวิทยาศาสตร์

ปัญหาที่สำคัญหรือใหญ่หลวงที่สุดสำรับมนุษย์ทุกคนก็คือ ความทุกข์  คือตามธรรมดานั้นมนุษย์ทุกคนก็อยากได้ความสุข แต่เกลียดกลัวความทุกข์ ถ้าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์เลยได้ ก็เท่ากับว่าเราได้หลุดพ้นจากปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดของชีวิตแล้ว ซึ่งความทุกข์ของชีวิตเรานั้นก็มี ๒ อย่าง คือความทุกข์ของร่างกาย กับความทุกข์ของจิตใจ

ความทุกข์ของร่างกายนั้นก็สรุปอยู่ที่ความรู้สึกทรมานร่างกาย เช่น ความเจ็บ ความปวด ความหนัก ความเหนื่อย หรือความรู้สึกไม่สบายกาย ที่เกิดจากความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน แรงกด แรงดึง จากโรคร้าย จากอุบัติเหตุต่างๆ รวมทั้งจากความพิการ ความแก่ และความตายของร่างกาย เป็นต้น ซึ่งความทุกข์ทางกายนี้มันเป็นธรรมชาติของร่างกาย ที่ไม่มีใครสามารถจะหลุดพ้นไปได้ แต่จะทำได้ก็เพียงบรรเทาให้มันเบาบางลงชั่วคราวเท่านั้น

ส่วนความทุกข์ของจิตใจนั้นก็สรุปอยู่ที่ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความไม่สบายใจ รวมทั้งความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดรำคาญใจ ความเซื่องซึมมึนชา ความลังเลใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังแก่ เจ็บ จะตาย และกำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก กำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่น่าเกลียด-น่ากลัว รวมทั้งกำลังผิดหวังอยู่ ซึ่งความทุกข์ของจิตใจนี้เป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับจิตใจโดยตรง ที่เกิดมาจากการปรุงแต่ง (การกระทำจากจิตใต้สำนึกอย่างรวดเร็ว) ของจิตที่โง่เขลา (คือมีอวิชชา-ไม่รู้ความจริงว่า “มันไม่มีตัวเราอยู่จริง” ครอบงำจิตอยู่) และอ่อนแอ (ไม่มีสมาธิ)

การแก้ปัญหาความทุกข์ของร่างกายนั้น ใครๆที่พอจะมีความรู้เรื่องของร่างกายอยู่บ้าง ก็สามารถที่จะแก้ไข (คือป้องกันหรือบรรเทา) กันได้อยู่แล้ว ส่วนความทุกข์ของจิตใจนั้นเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและไม่สามารถใช้ความรู้ต่างๆของชาวโลกมาแก้ไขได้ จะต้องใช้ความรู้ทางจิตระดับสูงของพระพุทธเจ้าเท่านั้นมาแก้ไข (หรือดับ หรือไม่ให้มีทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) ซึ่งหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าก็คือหลักคำสอนเรื่องการดับทุกข์ (คือทั้งป้องกันไม่ให้ความทุกข์ที่ยังไม่เกิดไม่เกิดขึ้น และทำให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วระงับลงไป ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) ของจิตใจในชีวิตปัจจุบันของเรานี่เอง

หลักอริยสัจ ๔ นี้ก็สรุปอยู่ที่ ความทุกข์ กับ ความไม่มีทุกข์ โดยความทุกข์ก็เกิดมาจากอวิชชาที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความยึดถือ ส่วนความไม่มีทุกข์ก็เกิดมาจากการปฏิบัติปัญญา (ความรอบรู้ว่ามันไม่มีตัวเราอยู่จริง) และสมาธิ (จิตที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น อ่อนโยน) โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน จนทำให้อวิชชาและความยึดถือดับหายไป (ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) และทำให้ความทุกข์ดับหายไป เมื่อจิตไม่มีความทุกข์มันก็จะสงบเย็น (นิพพาน) ซึ่งนี่ก็คือเรื่องของเหตุผลผลตามหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ส่วนหลักคำสอนที่ว่า ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือความทุกข์ของร่างกาย และวิธีการดับทุกข์ก็คือการปฏิบัติเพื่อที่จะไม่เกิดร่างกายขึ้นมาอีกนั้นไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลังโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว ซึ่งคำสอนเช่นนี้เป็นแค่ความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คือไม่มีเหตุผลและไม่มีของจริงมาให้สัมผัสได้

เรื่องศีลนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงเรามีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเรื่องทางเพศของผู้อื่น และการตั้งใจที่จะไม่พูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ อยู่เสมอ เท่านี้เราก็ชื่อว่ามีศีลแล้ว ส่วนเรื่องสมาธินั้นเราเพียงมีความตั้งใจในการคิด พูด กระทำทางกาย อยู่ตลอดเวลา จนจิตบริสุทธิ์ ตั้งมั่น และอ่อนโยน เท่านี้เราก็ชื่อว่ามีสมาธิแล้ว

ส่วนปัญญานั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องมีการคิดวิเคราะห์ในเรื่องของชีวิต โดยใช้เหตุใช้ผลจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆในปัจจุบัน จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริง ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในชีวิตและโลกตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ยังต้องมีการนำเอาความเข้าใจนี้มาพิสูจน์ เพื่อค้นหาความจริงว่าความเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเมื่อได้พิสูจน์จนเห็นผลจริงอย่างแน่ชัดแล้ว ก็เรียกว่าได้เกิด “ความเห็นแจ้ง” ขึ้นมาแล้ว ซึ่งนี่ก็คือหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง

แต่ถ้าเราไม่ใช้หลักวิทยาศาสตร์แล้วไปใช้ความเชื่อแทน (คือเชื่อตามคนอื่น หรือเชื่อตามตำรา) เราก็จะไม่มีวันเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัด จนเกิดเป็นปัญญาหรือความเข้าใจที่ถูกต้องได้ เพราะความเชื่อนั้นไม่มีเหตุผล และไม่มีของจริงมายืนยัน จึงทำให้ไม่สามารถนำมาใช้คิดวิเคราะห์และทดลองปฏิบัติตามหลักวิทยาศาสตร์ จนเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งที่เป็นปัญญาตามหลักอริยสัจ ๔ ได้ ดังนั้นถ้าใครยังใช้ความเชื่ออยู่ ก็จะยังไม่เกิดปัญญาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

สรุปได้ว่า หลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นหลักวิทยาศาสตร์ คือมีเหตุมีผล พิสูจน์ได้ ซึ่งเป็นหลักที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน เพราะเป็นหลักที่ใช้แก้ปัญหาที่สำคัญหรือใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน อันได้แก่ความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ที่เกิดมาจากความโง่สูงสุดของมนุษย์เอง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรสนใจนำมาศึกษาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง รวมทั้งช่วยกันเผยแพร่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของเราและต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายกันต่อไป

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************