กฎสูงสุดของธรรมชาติที่เป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ก็คือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งสิ่งทั้งหลายของธรรมชาตินี้ก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ วัตถุ และ นาม (ธรรมชาติที่ไม่มีรูปร่างเหมือนวัตถุ) ซึ่งวัตถุก็ได้แก่พวกสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น และกาย อันได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ สสาร พลังงาน สิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย ร่างกายของมนุษย์ สัตว์ รวมทั้งพืช ส่วนนามธรรมก็ได้แก่สิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยใจ อันได้แก่ การรับรู้ ความรู้สึก การจำได้ การคิดนึกของจิต (จิตหรือใจ ก็คือสิ่งที่รับรู้สิ่งอื่นได้ มีความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้ได้ จำสิ่งที่รับรู้ได้ และมีการคิดนึกปรุงแต่งได้ ที่สรุปรวมเรียกว่า สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) ถ้าวัตถุใดมีจิตก็จะเป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่ถ้าวัตถุใดไม่มีจิต ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่งเรื่องจิตนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เมื่อเข้าใจเรื่องจิตได้ก็จะเข้าใจชีวิตได้อย่างถูกต้อง ธรรมชาตินั้นสามารถปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าธรรมชาตินั้นสร้างสรรค์ปรุงแต่งให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เรารู้เพียงว่ามันมีกฎหรือสิ่งที่บังคับหรือควบคุมสิ่งทั้งหลายของธรรมชาติอยู่ ซึ่งกฎของธรรมชาตินั้นมีมากมาย แต่มันมีกฎอยู่กฎหนึ่งที่เป็นกฎสูงสุดที่ทุกกฎต้องขึ้นอยู่กับกฎนี้ทั้งสิ้น ซึ่งกฎนี้เรียกว่า กฎสูงสุดของธรรมชาติ หรือ กฎสูงสุดของจักรวาล (บางศาสนาจะเรียกกฎสูงสุดนี้ว่า พระเจ้า หรือ เทพเจ้า) ถ้าเราเข้าใจถึงกฎสูงสุดนี้ได้ เราก็จะเข้าใจถึง สภาวะพื้นฐาน ของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ เมื่อเข้าใจถึงภาวะพื้นฐานนี้แล้วก็จะมีปัญญาสำหรับนำมาใช้แก้ปัญหาของชีวิตและโลกได้ กฎสูงสุดนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ที่หมายถึง การอาศัยกันเพื่อเกิดขึ้นมา ซึ่งกฎอิทัปปัจจยตานี้ก็คือกฎง่ายๆหรือธรรมดา ที่เราทุกคนก็รู้ๆกันอยู่แล้ว อันได้แก่ความจริงที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่ง (ทำ) ให้เกิดขึ้น หรือสรุปง่ายๆก็คือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมาจากเหตุ หรือ เมื่อมีเหตุจึงมีผล เมื่อเหตุหายไป ผลก็จะหายไปทันที และในทางตรงกันข้ามกฎนี้ก็บอกว่า ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุ ซึ่งนี่ก็คือเรื่องของเหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง คำว่า เหตุ หมายถึง สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งอื่น แต่การที่จะปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นได้นั้นจะต้องมีหลายๆเหตุมาร่วมกันปรุงเต่ง ถ้ามีเพียงเหตุเดียวจะไม่สามารถปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นขึ้นมาได้ ซึ่งจากเหตุหลายๆเหตุนั้น ถ้าเหตุใดเด่นหรือสำคัญที่สุด เราจะเรียกว่า เหตุ ส่วนเหตุที่เหลือนั้นจะเรียกว่า ปัจจัย ที่หมายถึง สิ่งสนับสนุน ซึ่งบางทีเราก็เรียกรวมกันว่า เหตุและปัจจัย หรือบางทีก็เรียกสั้นๆว่า เหตุ หรือ ปัจจัย เท่านั้นก็มี อย่างเช่น เมื่อมีการกดสวิทซ์ให้ต่อวงจรเป็นเหตุ และมีไฟฟ้า สายไฟ หลอดไฟ รวมทั้งการต่อวงจรไฟฟ้าอย่างถูกต้องเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดแสงจากหลอดไฟฟ้านั้นขึ้นมาทันทีเป็นผล แต่ถ้าเรากดสวิทซ์ให้ตัดวงจร ก็จะทำให้เหตุหายไป และแม้จะมีปัจจัยอยู่พร้อม ก็จะทำให้แสงจากหลอดไฟนั้นดับหายไปทันที เป็นต้น เมื่อเหตุทำให้เกิดผล แต่ผลนั้นก็ยังจะมาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก และผลใหม่นั้นก็ยังจะมาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก คือมันจะเป็นเหตุ เป็นผล เป็นเหตุ เป็นผล ผลักดันกันต่อๆไปเหมือนโดมิโน หรือเหมือนห่วงโซ่ที่คล้องต่อกันไปเป็นสายยาวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด อีกทั้งเพียงเหตุเดียวก็ยังสามารถทำให้เกิดผลได้หลายๆผลอีก จึงทำให้เกิดการเกี่ยวโยงกันของเรื่องเหตุและผลของสิ่งต่างๆอย่างสลับซับซ้อนและยุ่งเหยิง จนทำให้เราไม่สามารถไปล่วงรู้ถึงเหตุและผลของทุกสิ่งอย่างละเอียดได้ เราจะรู้ไดก็เพียงเหตุและผลอย่างหยาบๆเท่านั้น อย่างเช่น มันมีเหตุและปัจจัยมากมายมหาศาล ที่มาปรุงแต่งผลักดันกันกว่าที่เราจะเกิดขึ้นมาได้นี้ แต่เราก็สรุปอย่างหยาบๆเพียงว่า เมื่อมีพ่อและแม่เป็นเหตุ และมีอาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศ เป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดร่างกายของเราขึ้นมา เป็นต้น แต่ถ้าจะแจกแจงเหตุและผลอย่างละเอียดแล้ว มันก็ต้องโยงเหตุและผลยาวไปจนถึงต้นกำเนิดของเอกภพเลยทีเดียว ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องรู้อย่างละเอียดอย่างนี้ก็ได้เพราะไม่จำเป็น ความเข้าใจในเรื่องกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้มีประโยชน์อะไร? ซึ่งประโยชน์จากความเข้าใจในเรื่องกฎสูงสุดนี้ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาติทางวัตถุ ก็จะนำความจริงที่ค้นพบมาใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างความเจริญทางวัตถุให้แก่ชีวิตและโลก ส่วนในทางพุทธศาสนาจะได้ประโยชน์ตรงที่ทำให้เกิดความเข้าใจในธรรมชาติของร่างกายและจิตใจของทุกชีวิต อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ซึ่งความเข้าใจอย่างถูกต้องนี้ก็คือปัญญาที่นำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า หลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าสรุปอยู่ที่ การเกิดความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเราคือเหตุให้เกิดความทุกข์แก่จิตใจ ถ้าไม่เกิดความยึดถือก็จะไม่เกิดความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพาน คือสงบเย็น (แม้เพียงชั่วคราว) ส่วนวิธีการปฏิบัติเพื่อนิพพานนั้นก็สรุปอยู่ที่ การใช้ปัญญา ศีล และสมาธิมาทำงานร่วมกัน โดยจุดสำคัญก็คือการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น ซึ่งหัวใจของปัญญานี้ก็สรุปอยู่ที่ความเข้าใจและเห็นแจ้งว่า มันไม่มีเราอยู่จริง แต่การที่จะเข้าใจและเห็นแจ้งว่ามันไม่มีเราอยู่จริงนี้ได้ จะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษาชีวิตและโลก จึงจะทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตและโลก จนเกิดปัญญาขึ้นมาได้ โดยการศึกษานี้ก็ต้องเริ่มต้นจากการศึกษาเรื่องกฎสูงสุดของธรรมชาติก่อน เพราะนี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่จำเป็นต้องรู้ เมื่อรู้เรื่องพื้นฐานนี้แล้วก็จะทำให้เข้าใจเรื่องอื่นๆได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าไม่รู้เรื่องพื้นฐานนี้ แม้จะศึกษาเรื่องอื่นๆมาอย่างมากมายสักเท่าใดก็ตาม ก็จะไม่เข้าใจเรื่องที่ศึกษามาทั้งหมดนั้นได้อย่างถูกต้อง หรือไม่เกิดปัญญาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ สรุปได้ว่ากฎสูงสุดของธรรมชาตินี้เป็นกฎที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ซึ่งเทียบได้กับพระเจ้าหรือเทพเจ้าของบางศาสนา จึงเรียกได้ว่ากฎสูงสุดของธรรมชาตินี้คือพระเจ้าของพุทธศาสนา โดยกฎสูงสุดนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ชาวพุทธต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพราะเห็นหลักพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ถ้ายังไม่เข้าใจในเรื่องกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้อย่างถูกต้อง ก็จะยังไม่มีปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า และยังไม่จัดว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง จะเป็นได้ก็เพียงชาวพุทธเทียมๆเท่านั้น เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|