วิทยาศาสตร์ช่วยให้ชาวพุทธมีสัมมาทิฏฐิได้

สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นที่ถูกต้อง คือหมายถึง ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ คือเมื่อธรรมชาติมีความจริงเป็นเช่นไร แล้วเราก็เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงนั้น ก็ชื่อว่าเรามีความเห็นที่ถูกต้อง แต่ความเห็นที่ถูกต้อง ที่แท้จริงตามหลักพุทธศาสนานั้น จะมีความหมายที่เน้นเฉพาะไปที่ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของชีวิตและโลกในระดับพื้นฐาน โดยมีผลเป็นการแก้ปัญหาของชีวิตและโลก ซึ่งความเห็นที่ถูกต้องนี้ก็คือ ปัญญา ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่ตรงข้ามกับความเห็นถูกนั้นก็คือ ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) โดยความเห็นผิดก็คือความเข้าใจที่ผิดจากความเป็นจริงของธรรมชาติ โดยความเห็นผิดนี้สรุปได้ ๒ จำพวกใหญ่ๆ คือ ความเห็นผิดว่ามีตัวตนถาวร กับ ความเห็นผิดว่าไม่มีตัวตนเลย

ความเห็นผิดว่ามีตัวตนถาวร (สัสสตทิฏฐิ) ก็คือความเข้าใจว่า จิตของเราและของทุกชีวิตนี้เป็นตัวตนที่จะมีอยู่ได้ตลอดไป (ที่เรียกว่า อัตตา ที่หมายถึง ตัวตนของตนเอง หรือ ตัวตนที่แท้จริง) คือเป็นความเข้าใจว่าจิตของเรานี้ มันสามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ใหม่อีกในร่างกายใหม่ หลังจากที่ร่างกายเก่าได้ตายไปแล้ว เพื่อมารับผลกรรมเก่าที่ได้เคยทำไว้ก่อนตาย ซึ่งจากความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตานี้เองที่เป็นเหตุทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า เป็นต้นขึ้นมา ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อนี้ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว และได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ความเห็นผิดว่าไม่มีตัวตนเลย (อุจเฉททิฏฐิ) ก็คือความเข้าใจว่า ชีวิตของเราทุกคนนี้ มันไม่ได้เป็นตัวตนใดๆเลย (ที่เรียกว่า นิรัตตา ที่หมายถึง ไม่มีตัวตนเลย) คือจะไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตเลย ไม่ว่าจะทำดีหรือชั่วก็ไม่มีผลใดๆ และยังมีความเชื่อว่าเมื่อชีวิตตายแล้วก็จบ เพราะไม่ต้องเกิดใหม่เพื่อมารับผลกรรมเก่า

ความเห็นทั้งสองนี้เป็นความเห็นที่สุดโต่งไปในทาง มี กับ ไม่มี คือในทางมีก็บอกว่าชีวิตของเรานี้มันมีอยู่จริงๆและจะยังมีอยู่ต่อไป แม้ร่างกายจะตายแล้วก็ตาม ส่วนที่บอกว่าไม่มีก็จะบอกว่า ชีวิตของเรานี้มันไม่มีอยู่จริงๆเลย แม้ร่างกายจะยังไม่ตายอยู่ก็ตาม ซึ่งความเห็นทั้งสองนี้พระพุทธเจ้าสอนว่ามันเป็นความเห็นที่ผิดไปจากความเป็นจริงของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเป็นความเห็นผิด จึงทำให้เกิดการคิด การพูด และการกระทำทางกายที่ผิดตามไปด้วย และเมื่อคิดผิด พูดผิด ทำผิด ก็ย่อมที่จะเกิดผลที่ผิดหรือเลวร้ายขึ้นมา ทั้งในทันทีและในอนาคต โดยผลในทันทีก็คือความทุกข์ของจิตใจ ส่วนผลในอนาคตก็คือ ความเดือดร้อนที่เกิดมาจากปัญหา ที่มาจากการพูดและทำที่ผิดจากอดีต

ส่วนความเห็นที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนานั้นสรุปอยู่ที่ ความเข้าใจว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริง ส่วนที่เรารู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ธรรมชาติปรุงแต่งให้เกิดเป็นตัวตนขึ้นมาเพียงชั่วคราว ตราบเท่าที่ยังมีร่างกายนี้อยู่เท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่มีตัวตนใดๆเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ และก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นตัวตนอย่างถาวรเลยไปถึงชาติหน้าอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ ซึ่งตัวตนชั่วคราวนี้เมื่อทำดีก็จะได้รับผลดีคือความสุขใจ-อิ่มใจในทันที แต่ถ้าทำความชั่วก็จะได้รับผลชั่วคือร้อนใจ-ไม่สบายใจในทันที ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลใดๆเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ และก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปรับผลเอาในชาติหน้าอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ และเมื่อเข้าใจแล้วว่ามันไม่มีตัวเราอยู่จริง ก็จะทำให้เข้าได้ว่า มันไม่มีตัวเรามาเกิดและไม่มีตัวเราตาย ซึ่งไม่จัดว่าเป็นความเห็นผิดว่าตายแล้วเกิดอย่างพวกสัสสตทิฏฐิหรือตายแล้วสูญอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ เพราะมันสูญ (คือไม่มีตัวเราจริง) มาตั้งแต่ยังไม่ตาย

ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะมีความเห็นผิดว่า มีตัวตน (หรือมีตัวเรา) อยู่ในชีวิตของเรานี้ ซึ่งความเห็นผิดนี้เองที่เป็นเหตุให้ความทุกข์ของจิตขึ้นมาตามหลักอริยสัจ ๔  ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อไม่ให้จิตของเราเกิดความทุกข์(ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) ตามหลักอริยมรรคก็คือ ต้องใช้ปัญญาที่เป็นความเห็นที่ถูกต้อง (ความเข้าใจว่ามันไม่มีตัวเราอยู่จริง) มาปฏิบัติคู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐานมาทำงานร่วมกัน ถ้าไม่มีปัญญาหรือความเห็นที่ถูกต้องก็จะไม่สามารถปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตไม่ได้ ดังนั้นการสร้างความเห็นที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอันดับแรกที่ชาวพุทธต้องปฏิบัติให้ได้ก่อนไปศึกษาเรื่องอื่น ส่วนวิธีการที่จะสร้างความเห็นที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้นั้นจะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ (คือศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผลจากสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างเป็นระบบ และพิสูจน์จนเห็นผลจริงก่อนเชื่อ) เท่านั้นมาศึกษา จะใช้ความเชื่อไม่ได้เด็ดขาด เพราะความเชื่อนั้นไม่มีเหตุผล พิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อจึงไม่ใช่เป็นปัญญาที่จะนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

วิธีการสร้างความเห็นที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์นั้น ก็ทำได้โดยการพิจารณาชีวิตของเรา (คือร่างกายกับจิตใจ) ให้เข้าใจถึงความจริงสูงสุดที่ว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริง ซึ่งวิธีการพิจารณานั้นก็ทำได้โดยการพิจารณาถึงความจริงพื้นฐานของวัตถุและร่างกายก่อน ว่ามันไม่มีตัวตนของมันเอง เมื่อเข้าใจถึงความไม่มีตัวตนของร่างกายและวัตถุทั้งหลายแล้ว ต่อไปก็พิจารณาถึงจิตใจของเราเองว่ามันก็ไม่มีตัวตนของมันเองเหมือนกับร่างกายและวัตถุทั้งหลายนั่นเอง (จิตใจก็คือสิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ ที่ต้องอาศัยร่างกายปรุงให้เกิดขึ้นมา ถ้าไม่มีร่างกายจิตใจก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ดังนั้นเมื่อร่างกายก็ยังไม่มีตัวตนของมันเอง จึงพลอยทำให้จิตใจก็ไม่มีตัวตนของมันเองตามไปด้วย) ซึ่งวิธีการพิจารณาก็เป็นดังนี้

วิทยาศาสตร์จะบอกว่า ทุกสิ่งเกิดมาจากอะตอม ซึ่งอะตอมนี้ก็เป็นสิ่งที่ประกอบมาจากอนุภาคหลักๆ ๓ อย่างคือ โปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอน และอนุภาคอื่นๆอีก เช่น โฟตรอน เป็นต้น และอะตอมนี้เองที่เมื่อรวมตัวกันหนาแน่นก็จะกลายเป็นวัตถุที่มีสถานะเป็นของแข็ง ถ้ารวมตัวกันหลวมๆก็จะกลายเป็นของเหลว ถ้ารวมตัวกันบางๆก็จะกลายเป็นก๊าซ และถ้าอะตอมถูกทำให้แตกแยกหรือกระทบหรือเสียดสีกัน มันก็จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพลังงานความร้อนและรังสีต่างๆขึ้นมาได้ ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ธาตุ ที่หมายถึง สิ่งพื้นฐาน คือเป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือทำ) ให้เกิดสิ่งต่างๆทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิตขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยธาตุนี้ก็ได้แก่ ธาตุดิน (ของแข็ง), ธาตุน้ำ (ของเหลว), ธาตุไฟ (ความร้อน), ธาตุลม (ก๊าซ)

เมื่อทุกสิ่งเกิดมาจากอะตอม และอะตอมก็ประกอบจากโปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอนเป็นหลัก ซึ่งการประกอบกันของโปรตอน นิวตรอน อิเล็กตรอนนี้ มันไม่สามารถที่จะประกอบกันหรือรวมตัวกันได้อย่างมั่นคงหรือถาวร (ตลอดไป) ได้ คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงการประกอบหรือรวมตัวกันของอิเล็กตรอนอยู่ตลอดเวลา นี่เองจึงทำให้แม้อะตอมก็มีความไม่มั่นคงถาวร ที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า อนิจจัง ที่แปลว่า ไม่เที่ยง และเมื่ออะตอมก็มีความไม่เที่ยง ดังนั้นวัตถุและพลังงานหรือรังสี รวมทั้งสิ่งของทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากอะตอมที่มารวมตัวกันขึ้น  จึงมีความไม่เที่ยงตามไปด้วย คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมสภาพอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว วัตถุและสิ่งของทั้งหลายก็ต้องแตกสลายหายไป (คืออะตอมแยกตัวออกไปประกอบเป็นวัตถุหรือพลังงานอื่น)

ขณะที่วัตถุและสิ่งของทั้งหลายยังไม่แตกสลายนั้น มันก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองสภาวะการปรุงแต่ง (หรือประกอบ) ของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (คืออะตอมจำนวนมากมายต้องทนยึดการรวมตัวกันเอาไว้ให้เป็นวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ ถ้าไม่ทนยึดก็จะทำให้วัตถุหรือสิ่งของต่างๆนั้นแตกสลายหายไปทันที) ซึ่งนี่คือสภาวะที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ทุกขัง ที่แปลว่า ทน หรือ ต้องทน ซึ่งถ้าเป็นวัตถุที่มีจิตมารับรู้สภาวะของทุกขังนี้ก็จะทำให้จิตเกิดความรู้สึกว่าต้องทนขึ้นมาทันที ถ้าวัตถุหรือสิ่งของใดมีความทนได้ง่ายก็เรียกว่า ความสุข ที่แปลว่า ทนง่ายหรือทนได้สบาย แต่ถ้าทนได้ยากก็เรียกว่า ความทุกข์ ที่แปลว่า ทนยากหรือทนได้ลำบาก

เมื่อวัตถุและสิ่งของทั้งหลายมีความไม่เที่ยง (คือสภาพการปรุงแต่งของมันต้องต้องแตกสลายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว) และมีสภาวะที่ต้องทนดังนี้แล้ว ก็แสดงว่า วัตถุและสิ่งของทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งจากธาตุทั้ง ๔ นี้ มันไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริงเลย (ถ้ามันจะเป็นตัวตนที่แท้จริงที่เรียกว่าอัตตา ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์แล้ว มันจะมีความเที่ยงหรือเป็นอมตะ และไม่มีสภาวะที่ต้อนทนเลย) ซึ่งสภาวะที่ไม่เป็นตัวตนที่แท้จริงนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่า อนัตตา ที่แปลว่า ไม่ใช่หรือไม่เป็นตัวตนที่แท้จริง (คือไม่เป็นอัตตาอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน) และสภาวะที่ไม่ใช่ตัวตนนี้เอง ก็แสดงถึงสภาวะของ สุญญตา ที่แปลว่า ว่างจากตัวตนที่แท้จริง คือหมายถึง มันไม่มีตัวตนที่แท้จริงของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเลย คือเรียกง่ายๆว่า ทุกสิ่งว่าจากตัวตนของมันเอง

ความเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสุญญตาในทุกสิ่งนี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำเอาร่างกายและจิตใจของเรามาพิจารณาถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาและสุญญตา ก็จะทำให้เราเข้าใจถึงความจริงสูงสุดของธรรมชาติที่เราควรรู้ว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริง คือมันมีแต่ตัวเรามายาหรือตัวเราชั่วคราวเท่านั้น และเมื่อเรามีปัญญาที่เข้าใจถึงความจริงสูงสุดที่ควรรู้นี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็สอนให้เรานำเอาปัญญานี้มาปฏิบัติคู่กับสมาธิ (จากการเคยฝึกมาก่อน) โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน (คือความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่าจิตใจและร่างกาย รวมทั้งสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรา ว่าเป็น ตัวเรา-ของเรา) ตามหลักอริยสัจ ๔

เมื่อเรามีปัญญา ศีล และสมาธิพร้อมเมื่อใด ก็จะทำให้ความทุกข์ใจที่กำลังเกิดอยู่ระงับหรือดับหายไปได้ในทันทีแม้เพียงชั่วคราว หรือความทุกข์ในที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อจิตใจของเราไม่มีความทุกข์ สภาวะที่ตรงข้ามกับความทุกข์ก็จะปรากฏออกมาทันที ซึ่งก็คือความปกติ สงบ เย็น สดชื่น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบา สบาย ที่พุทธศาสนาสมมติเรียกว่า นิพพาน ที่แปลว่า เย็น (แต่ถ้าปัญญา หรือสมาธิหรือศีลขาดหายไปเมื่อใด นิพพานก็จะหายตามไปด้วยทันที จนกว่าเราจะสามารถปฏิบัติให้มีปัญญา ศีล และสมาธินี้ได้อย่างต่อเนื่องนานๆ จนสามารถทำลายความเคยชินของความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้คือตัวเรา-ของเรา ให้หมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกได้อย่างถาวร ก็จะทำให้นิพพานปรากฏแก่จิตได้อย่างถาวรหรือตลอดชีวิต) และเมื่อความทุกข์ได้ดับหายไปและนิพพานปรากฏจริง (แม้เพียงชั่วคราว) ก็เป็นการยืนยันว่า ความเข้าใจว่า “มันไม่มีตัวเราอยู่จริง” นี้เป็นความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าความทุกข์ไม่ดับหายไป และนิพพานไม่ปรากฏ ก็แสดงว่าเป็นความเห็นผิด

สรุปได้ว่า การที่เราจะมีความเห็นที่ถูกต้องระดับสูง ที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้นั้น จะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษาถึงเรื่องสุญญตาในทุกสิ่ง โดยเฉพาะในจิตใจและร่างกายของเราเอง จึงจะทำให้เกิดปัญญาหรือความเห็นระดับสูงตามหลักพุทธศาสนาขึ้นมาได้จริง ซึ่งปัญญานี้เองที่เป็นเสมือนดวงตาที่จะช่วยนำทางในการดำเนินชีวิตให้หลุดพ้นจากปัญหา คือความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันและความเดือดร้อนของชีวิตได้ รวมทั้งยังจะช่วยให้โลกมีสันติภาพได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************