เรื่องสัมมาทิฏฐิที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนานั้นก็คือความเชื่อว่า ทานที่บริจาคแล้วมีผล, การบูชาผู้ที่ควรบูชามีผล, การบูชายัญมีผล, โลกนี้มี, โลกหน้ามี, พวกเทวดานางฟ้ามี, ผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบจนหลุดพ้นแล้วมีจริง เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงนั้นความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าทั้งหมด แต่มีบางคำสอนที่ปลอมปนเข้าในภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นที่ถูกต้องของพุทธศาสนานั้นมี ๒ ระดับ คือความเห็นที่ถูกต้องระดับชาวบ้าน (โลกียะ) กับความเห็นที่ถูกต้องระดับสูง (โลกุตระ) โดยความเห็นที่ถูกต้องระดับชาวบ้านนั้นเป็นความเข้าใจตามที่ชาวบ้านเขาเชื่อถือกันอยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นความเข้าใจตามความเป็นจริงของธรรมชาติ คือเป็นยอมโอนอ่อนผ่อนปรนตามความเชื่อของชาวบ้าน เพื่อที่จะเอาใจชาวบ้าน จะได้ไม่ขัดแย้งกับชาวบ้าน 

โดยความเห็นที่ถูกต้องระดับชาวบ้านตามที่ได้ระบุไว้พระไตรปิฎกนั้นก็ได้แก่ ความเชื่อว่า ทานที่บริจาคแล้วมีผล, การบูชาคนที่ควรบูชามีผล, การบูชายัญมีผล, โลกนี้มี, โลกหน้ามี, พวกเทวดานางฟ้ามี, ผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบจนหลุดพ้นแล้วมีจริง เป็นต้น ซึ่งความเห็นที่ถูกต้องระดับชาวบ้านนี้ ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพรพุทธเจ้าโดยตรง แต่เป็นการประยุกติขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของชาวบ้านในสมัยที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาคำสอนที่เป็นแก่นแท้ (คือความเห็นที่ถูกต้องระดับสูง) ของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วเอาเฉพาะความเห็นที่ถูกต้องระดับสูงเพียงอย่างเดียวมาสอน ผู้คนสมัยนั้นที่ยังมีสติปัญญาไม่เพียงพอก็จะรับไม่ได้ แล้วคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าก็จะไม่มีใครสนใจ อันจะทำให้สูญหายไปได้ นี่จึงนับเป็นอุบายที่ดีในการรักษาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ซึ่งสมัยนี้ผู้คนก็มีความรู้กันมากแล้ว ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ชาวพุทธ ควรสนใจศึกษาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะได้เกิดความเห็นที่ถูกต้องระดับสูง ที่เป็นปัญญาระดับสูง สำหรับนำมาใช้แก้ปัญหาของชีวิตและสังคมกันต่อไป

ส่วนความเห็นที่ถูกต้องระดับสูงที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นก็คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของชีวิตและโลกในเรื่องที่ควรรู้ (คือเรื่องชีวิตคืออะไร? เกิดมาได้อย่างไร? ตายแล้วเป็นอย่างไร? อะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าหรือประโยชน์สูงสุดสำหรับชีวิต? และเราควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะทำให้จิตใจไม่มีความทุกข์ใจ เป็นต้น) ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของชีวิตและโลกนี้เองที่พุทธศาสนาเรียกว่า ปัญญา ที่หมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องที่ควรรู้ และปัญญานี้เองที่เป็นตัวนำในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ปัญญาหรือความเห็นที่ถูกต้องระดับสูงนี้สรุปแล้วก็คือ ความเข้าใจในเรื่องของชีวิตและโลกในระดับพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจในชีวิตและโลกได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ อันจะมีผลทำให้เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาของชีวิตและโลกได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนก็คือ ความทุกข์ ส่วนปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดสำหรับโลกก็คือวิกฤติการณ์ ดังนั้นสิ่งที่มีประโยชน์หรือคุณค่าที่สุดสำหรับมนุษย์ก็คือ ความไม่มีทุกข์ (นิพพาน) ส่วนสิ่งที่มีประโยชน์หรือคุณค่าที่สุดสำหรับโลก (คือทุกชีวิตบนโลก) ก็คือ สันติภาพ (ความสงบสุข) ซึ่งเมื่อเรามีปัญญา เราก็จะสามารถใช้ชีวิตที่มีความทุกข์น้อยหรือไม่มีความทุกข์เลยได้ และถ้าเราช่วยกันเผยแพร่ปัญญานี้แก่ชาวโลก จนชาวโลกมีปัญญากันมากๆ โลกก็จะมีสันติภาพขึ้นมาได้อย่างมั่นคง

ส่วนปัญญาหรือความเห็นที่ถูกต้องระดับสูงของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ ความเข้าใจและเห็นแจ้งในชีวิตทั้งหลายว่ามันไม่มีตัวตนที่แท้จริง (เห็นสุญญตา) เพราะชีวิตทั้งหลายนี้มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ให้เกิดขึ้นมาเป็นตัวตนเพียงชั่วคราวตราบเท่าที่ยังมีร่างกายนี้อยู่เท่านั้น ซึ่งความเข้าใจและเห็นแจ้งในเรื่องสุญญตานี้เอง ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าความเห็นที่ถูกต้องระดับชาวบ้านนั้นยังเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหมด เช่น เรื่องการบูชายัญ เรื่องโลกหน้า เรื่องเทวดา นางฟ้า เป็นต้น ซึ่งความเข้าใจและเห็นแจ้งเรื่องชีวิตเป็นสุญญตานี้เอง ที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันตามหลักอริสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้สำหรับสร้างสันติภาพให้แก่โลกได้อีกด้วย

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************