ถ้าพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ได้

มักจะมีคำถามจากคนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา และจากนักวิทยาศาสตร์ว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่? และเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความจริง?

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า คำสอนในพุทธศาสนาในปัจจุบันไม่ได้เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เพราะมีคำสอนของศาสนาพราหมณ์เข้ามาเจือปนอยู่มาช้านาแล้ว โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว จึงได้มีคำสอนเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า เป็นต้น อยู่เต็มไปหมด ซึ่งดูว่าเป็นเรื่องที่งมงาย ไม่มีเหตุผล พิสูจน์ไม่ได้ อย่างที่คนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาและนักวิทยาศาสตร์เห็น

เดิมทีนั้นพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีเหตุผลและพิสูจน์หรือสัมผัสได้จริงในปัจจุบัน ดังนั้นถ้าเรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และ พิสูจน์ไม่ได้จึงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า อย่างเช่น เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า เป็นต้น ที่ปลอมปนอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาปัจจุบัน

ที่สำคัญ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือ การค้นพบความจริงของธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ ในเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุด อันได้แก่เรื่อง การปฏิบัติเพื่อให้จิตไม่มีความทุกข์ (ที่เรียกว่า ดับทุกข์ หรือพ้นทุกข์ ที่เรียกว่านิพพาน) ซึ่งความไม่มีทุกข์นี้ก็มีทั้ง มีความทุกข์ลดน้อยลงและไม่มีทุกข์เลย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็มีทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร (คือตลอดชีวิต)

เมื่อจิตไม่มีทุกข์แม้เพียงชั่วคราว จิตก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมของมัน ที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ (ประภัสสร) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ สภาวะที่ตรงข้ามกับความทุกข์ก็จะปรากฏ ซึ่งก็คือ ความปกติ สงบ เย็น สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย ที่เรามาสมมติเรียกกันว่า นิพพาน ที่แปลว่า ดับเสียซึ่งความร้อน หรือหมายถึง เย็น นั่นเอง (นิพพานก็มีทั้งเย็นน้อยและเย็นสนิท ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็มีทั้งเย็นชั่วคราวและเย็นถาวร)

ดังนั้นคำถามที่ว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่? และเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความจริง? นั้น จึงสามารถตอบได้พร้อมกัน คือต้องพิสูจน์นิพพานให้ได้ เมื่อพิสูจน์นิพพานได้แล้วเราก็จะเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาได้เองว่า มีพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เรื่องการดับทุกข์จริงๆ เพราะเราสามารถพิสูจน์คำสอนของพระพุทธองค์ จนสามารถดับทุกข์ได้จริง ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้แล้ว (คือแม้เพียงชั่วคราว แต่ถ้าอยากจะทำได้อย่างถาวรหรือตลอดชีวิต ก็ต้องปฏิบัติต่อไปอย่างต่อเนื่องนานๆ)

แล้ววิธีพิสูจน์นิพพานนั้นต้องปฏิบัติอย่างไร? คำตอบคือ การจะพิสูจน์นิพพานนั้น เราก็ต้องพิสูจน์นิพพานขั้นต้นที่เป็นความเย็นสนิทที่เป็นเพียงชั่วคราวก่อน (ความเย็นสนิทชนิดชั่วคราวก็เหมือนเย็นสนิทถาวร ต่างกันที่เวลาเท่านั้น) เมื่อเราทำจิตให้นิพพานได้ชั่วคราวแล้ว เราก็จะรู้จักนิพพานถาวรได้เองเพราะมันมีความเย็นเหมือนกัน

ส่วนวิธีการพิสูจน์นั้นก็ไม่ยาก แต่ก็ต้องมีหลักการปฏิบัติที่เคร่งครัดและจริงจัง โดยขั้นแรกเราจะต้องปฏิบัติกายและวาจาของเราให้เป็นปกติเรียบร้อย (ที่เรียกว่ามีศีล)  อันได้แก่ การมีความตั้งใจ (เจตนา) ที่จะไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งเรื่องทางเพศของผู้อื่น รวมทั้งการมีความตั้งใจที่จะไม่พูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ อยู่เป็นปกติก่อนในชีวิตประจำวัน ต่อจากนั้นเราก็ต้อง ฝึกจิตให้สามารถจดจ่อหรือจับอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจ หรือในการคิด ในการอ่าน ในการพูด หรือในการกระทำทางกาย ที่ถูกต้องดีงาม ได้นานๆ จนจิตสงบหรือไม่ฟุ้งซ่าน (คือมีสมาธิ)

เมื่อจิตมีสมาธิแล้ว ต่อไปก็ใช้จิตที่มีสมาธินี้มาพิจารณาถึง กฎสูงสุดของธรรมชาติที่ควบคุมทุกสิ่งอยู่ โดยกฎนั้นมีอยู่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” (ที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา) ซึ่งกฎนี้ก็แสดงให้เราเข้าใจได้ในทางตรงกันข้ามว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” แต่ถ้าเราไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับกฎสูงสุดนี้ ก็จะไม่สามารถศึกษาให้เกิดปัญญาที่จะนำมาใช้พิสูจน์เรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันของพระพุทธเจ้าได้

เมื่อเราเข้าใจและยอมรับกฎสูงสุดนี้แล้ว ต่อไปก็ให้มาพิจารณาดูร่างกายของเราในปัจจุบันตามที่เป็นจริง โดยเราจะพบว่า ร่างกายของเรามันก็เป็นสิ่งที่มีการ “เกิดขึ้น” ด้วยเหมือนกัน (การเกิดขึ้นก็คือจากที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นภายหลัง)  คือร่างกายของเรานี้แต่เดิมมันไม่มี แต่เกิดจากเหตุคือพ่อและแม่มาช่วยกันสร้างขึ้น และมีปัจจัยคืออาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศบริสุทธิ์ มาร่วมกันปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือทำขึ้นโดยธรรมชาติ) ให้เกิดขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่แสดงว่า ร่างกายของเราเองจริงๆนั้นมันไม่ได้มี แต่เมื่อมีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่ง มันจึงเกิดขึ้นมา ดังนั้นร่างกายของเราจึงไม่ใช่ร่างกายจริงๆตามที่เรากำลังรู้สึกกันอยู่ (อนัตตา –ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง)

เมื่อร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากเหตุและปัจจัย ดังนั้นร่างกายของเราจึงต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยอันได้แก่อาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศบริสุทธิ์ ที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งแม้เหตุและปัจจัยที่มาปรุงแต่งให้ร่างกายเกิดขึ้นมานี้ มันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากอะตอม (ตามที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ) อีกทีหนึ่ง ซึ่งอะตอมนี้มันก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก โปรตอน นิวตรอน และ อีเล็กตอนมารวมตัวกันขึ้นมาอีก ซึ่งทั้งโปรตอน นิวตรอน และ อีเล็กตอน ที่มารวมตัวกันเป็นอะตอมนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่า มันมีสภาวะที่ไม่มั่นคงถาวร (คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องสลายการรวมตัวของมันไป)  ดังนั้นจึงทำให้อะตอมมีสภาวะที่ไม่มั่นคงถาวร และเมื่ออะตอมมีสภาวะที่ไม่มั่นคงถาวร จึงพลอยทำให้อาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศบริสุทธิ์ ที่มาปรุงแต่งให้เกิดร่างกายขึ้นมานั้น พลอยมีความไม่มั่นคงถาวรตามไปด้วย และเมื่ออาหาร น้ำ ความร้อน และอากาศบริสุทธิ์ ก็มีสภาวะที่ไม่มั่นคงถาวร จึงพลอยทำให้ร่างกายของเราและของทุกชีวิต พลอยมีความไม่มั่นคงถาวร (คือไม่เที่ยง) ตามไปด้วย  

เมื่อร่างกายเกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ตลอดไปชั่วนิรันดรได้ (อนิจจัง-ไม่เที่ยง) และแม้ขณะที่ร่างกายยังตั้งอยู่ (ยังไม่ตาย) มันก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองสภาวะการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง-สภาวะที่ต้องทน) นี่ก็แสดงถึงว่า แท้จริงสิ่งที่เป็นร่างกายของเราเองจริงๆนั้นมันไม่มี (สุญญตา) มีแต่สิ่งที่ธรรมชาติที่ปรุงแต่งให้เกิดมาเป็นสิ่งที่เรามาสมมติเรียกว่าเป็นร่างกายขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ความเข้าใจในเรื่องความว่างจากตัวตนของร่างกายนี้ก็คือการเห็นสุญญตาในร่างกาย คือเห็นความว่างจากร่างกายจริงๆ หรือเห็นว่ามันไม่มีร่างกายจริงๆอยู่ในร่างกายนี้ (หรือเห็นว่ามีแต่อะตอมมากมายมหาศาลมาปรุงแต่งหรือประกอบกันขึ้นมาเป็นอวัยวะต่างที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกายเท่านั้น) ซึ่งแม้วัตถุและสิ่งของทั้งหลายของธรรมชาติ ก็มีความเป็นสุญญตาด้วยเหมือนกันกับร่างกายนั่นเอง

จุดสำคัญต่อไปก็คือการพิจารณาเห็นจิตใจของเราเป็นสุญญตา (คือเห็นว่าไม่มีตัวเราอยู่จริงในจิตนี้) คือเมื่อเราพิจารณาดูจากจิตของเราเองจริงๆ เราก็จะพบว่า จิต (สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) ของเรานี้แต่เดิมมันก็ไม่มีอยู่ก่อน เมื่อมีร่างกายจิตจึงค่อยเกิดขึ้นมา และเมื่อเราหลับสนิทและไม่ฝัน จิตก็ไม่มี แต่เมื่อเราตื่น จิตจึงค่อยเกิดขึ้นมา ซึ่งเพียงเท่านี้ก็แสดงให้เราเข้าใจและเห็นแจ้งได้ทันทีว่า จิตก็เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างให้มีการ "เกิดขึ้น" เหมือนกันกับร่างกายและวัตถุสิ่งของทั้งหลายนั่นเอง ดังนั้นนี่จึงแสดงให้เราเข้าใจและเห็นแจ้งได้ทันทีว่า จิตที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้ มันไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และไม่ใช่ตัวเราจริงๆ รวมทั้งยังทำให้เราเข้าใจและเห็นแจ้งต่อไปอีกว่า มันไม่มีตัวเราอยู่จริงในจิตนี้ (เห็นสุญญตาในจิต) ซึ่งทั้งหมดที่ได้บรรยายมานี้ก็คือการเห็นสุญญตาในจิตใจและร่างกาย หรือเห็นความว่างจากตัวเรา-ของเรา ในจิตใจและร่างกาย ที่สมติเรียกกันว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ (ซึ่งนี่ก็คือการมีปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าสอน)

เมื่อเราตั้งใจ (คือด้วยสมาธิ) พิจารณาร่างกายและจิตใจจนเห็นสุญญตา (คือมีปัญญาแล้ว) ดังนี้แล้ว จิตของเรามันก็จะปล่อยวางความยึดถือว่าจิตใจและร่างกายนี้ รวมทั้งในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา ว่าเป็นตัวเรา-ของเราลงทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ มันก็จะไม่มีความทุกข์ (ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือความเศร้าโศก ความเสียใจ เป็นต้น ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือว่า จิตใจและร่างกายรวมทั้งในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรานี้ คือตัวเรา-ของเรา) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็นหรือนิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) คือเมื่อไม่มีเหตุ (อันได้แก่ความยึดถือ) จิตก็จะไม่มีทุกข์

สรุปได้ว่า การพิสูจน์เรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและนิพพานหรือความไม่มีทุกข์นั้น ก็สามารถพิสูจน์ได้ในครั้งเดียว โดยการทดลองปฏิบัติให้มีศีล สมาธิ และปัญญาพร้อมกัน เราก็จะสามารถทำให้นิพพานปรากฏขึ้นมาได้จริงๆแม้เพียงชั่วคราว ส่วนนิพพานถาวรนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องปฏิบัติต่อไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งนี่ก็คือวิธีการพิสูจน์เรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าและนิพพานมีจริงหรือไม่ ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการหาคำตอบ ที่ใครๆก็สามารถพิสูจน์ได้ โดยไม่ต้องใช้ความเชื่อหรือความสามารถพิเศษอะไรเลย เพียงเราเป็นคนยอมรับเหตุผล ยอมรับรับความจริง ไม่เป็นคนพาลดื้อรั้น เราก็สามารถมาพิสูจน์เรื่องนี้ให้เกิดความเห็นแจ้งได้โดยง่าย

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************