ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องการพบพระพุทธเจ้า ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า การที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธองค์ นั้น หมายถึงว่า การเห็นพระพุทธเจ้าก็คือ การได้ที่เราฟังหรืออ่านถึงประวัติของพระพุทธเจ้าและธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแล้วมากมาย แล้วเราก็มาจินตนาการ (คือคิดเอาเองตามที่ได้ฟังจากคนอื่นมา หรืออ่านจากตำรามา) ว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ในความเป็นจริงนั้น การเห็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่การจินตนาการเอา แต่เป็นการเห็นแจ้งในคำสอนอันเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นแจ้งถึงหัวใจของคำสอนทั้งหมด ก็เท่ากับเห็นแจ้งว่าผู้สอนคือพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้น ซึ่งคำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดนั้นก็คือ อริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นคำสอนเรื่องการเกิดและดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยมีปฏิจจสมุปบาทเป็นการอธิบายเรื่องการเกิดขึ้นและดับไปของความทุกข์โดยละเอียด ซึ่งการเห็นแจ้งนี้ก็คือการมีปัญญาขั้นภาวณามยปัญญา อันเป็นปัญญา (ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์) ที่เกิดขึ้นมาจาการเห็นแจ้งหรือเห็นจริงจากการปฏิบัติจนบังเกิดผลจริงแล้ว (แม้เพียงชั่วคราว) และเป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา ส่วนการฟังจากคนอื่นมาหรืออ่านจากตำรามานั้นเรียกว่า สุตมยปัญญา คือปัญญาขั้นฟังจากคนอื่นมา แต่ถ้าได้นำเอาเรื่องที่ฟังมานั้นมาคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล จนเกิดเป็นความเข้าใจอย่างชัดเจน ก็จะเกิดเป็น จินตามยปัญญา คือปัญญาขั้นเข้าใจ และเมื่อนำเอาความเข้าใจนั้นมาพิสูจน์ด้วยการทดลองปฏิบัติ จนเกิดความเห็นแจ้งขึ้นมาจริงๆ จึงจะเรียกว่าเป็น ภาวณามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดมาจากการภาวณา (ทำให้มีให้เป็นขึ้นมาจริงๆ) ปฏิจจสมุปบาท ที่มีรายละเอียดถึง ๑๒ อาการนั้น ได้มีการตีความออกเป็น ๒ อย่าง คืออย่างที่หนึ่งเป็นการตีความว่า เป็นการอธิบายถึงเรื่องการเกิดขึ้นและดับหายไปของความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ว่าจิตขณะที่กำลังเกิดความทุกข์อยู่นั้น จะมีการปรุงแต่งให้เกิดอาการขึ้นมาอย่างรวดเร็วติดต่อกันถึง ๑๒ อาการ โดยมีอวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเรา) เป็นต้นเหตุที่มาครอบงำจิตแล้วทำให้จิตปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา แล้วจิตก็ปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราพร้อมกับความทุกข์ของจิตใจขึ้นมาเป็นตัวสุดท้าย ส่วนการตีความอย่างที่สองนั้นเป็นการตีความว่า อาการทั้ง ๑๒ นี้เป็นการอธิบายถึงเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายเพื่อมารับผลกรรมเก่า โดยจะแบ่งอาการทั้ง ๑๒ นี้ออกเป็น ๓ ส่วน คือชาติในอดีต ชาติในปัจจุบัน และชาติในอนาคต โดยชาติในอดีตนั้นจะมีอวิชชาปรุงแต่งให้เกิดกิเลส และกิเลสจากชาติที่แล้วก็จะทำกรรมเอาไว้ แล้วผลของกรรม (วิบากกรม) นั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดชาตินี้ขึ้นมาเพื่อมารับผลของกรรมจากชาติที่แล้ว ซึ่งเมื่อเกิดชาตินี้ขึ้นมาแล้วได้ทำกรรมใหม่ขึ้นมาอีก ก็จะเป็นเหตุให้มีการเกิดชาติหน้าขึ้นมาอีก เพื่อมารับผลของกรรมจากชาตินี้ ที่เรียกว่าการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า อันทำให้เกิดความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า ผี เปรต เป็นต้นขึ้นมา อย่างที่ชาวพุทธส่วนใหญ่กำลังเชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน การตีความปฏิจจสมุปบาทอย่างที่หนึ่งนั้น เป็นการตีความตามความเป็นจริงของจิตใจในปัจจุบัน ที่เราทุกคนสามารถสัมผัสหรือรู้สึกได้จริงในปัจจุบัน คือเมื่อใดที่เรา (ตามที่สมมติเรียก) ขาดสติ จิตของเราก็จะเกิดอวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเรา) ขึ้นมา แล้วมันก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งต่างๆหรือเรื่องต่างๆภายนอกมากระทบจิต จิตของเราก็จะเกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างขึ้นมาทันที พร้อมทั้งเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้พอใจหรือไม่พอใจขึ้นมาด้วยเสมอ และเมื่อมีความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาเมื่อใด ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมาแก่จิตใจทันที (เช่นความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น) แต่เมื่อใดที่เรามีสติและปัญญารวมทั้งสมาธิ (โดยต้องมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) จิตของเราก็จะไม่มีอวิชชา (หรือที่กำลังเกิดอยู่ก็จะดับหายไปได้แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีอวิชชา มันก็จะไม่กระตุ้นหรือปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา เมื่อมีสิ่งหรือเรื่องต่างๆภายนอกมากระทบจิต จิตของเราก็จะไม่เกิดความพอใจหรือไม่พอใจรวมทั้งความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา เมื่อไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเรา ความทุกข์จากความยึดถือนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น (หรือที่กำลังเกิดอยู่ก็จะดับหายไปได้ทันทีแม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็นหรือที่เรามาสมมติเรียกกันว่า นิพพาน ที่แปลตรงๆว่า เย็น ส่วนการตีความอย่างที่สองนั้น เป็นการตีความไปตามความเชื่อนอกพุทธศาสนา (คือตามความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่ครอบงำพุทธศาสนาอยู่) ที่เราไม่สามารถสัมผัสหรือรู้สึกได้จริง คือเราไม่เคยจำได้เลยว่า เรานี้ได้เวียนว่ายตาย-เกิดมาแล้ว หรือเคยไปสัมผัสนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้ามาแล้ว หรือเคยเป็นเทวดาหรือนางฟ้า รวมทั้งเคยเป็นผีหรือเปรต เป็นต้นมาแล้ว แม้เรื่องนิพพานที่เชื่อกันว่าเป็นการตายแล้วไม่มาเกิดอีกนั้น ก็เป็นแค่ความเชื่อที่ไม่สามารถรู้สึกหรือสัมผัสได้จริงด้วยเหมือนกัน สรุปได้ว่า การตีความปฏิจจสมุปบาท ว่าเป็นการอธิบายถึงเรื่องการเวียนว่าตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านั้น ไม่เป็นสันทิฏฐิโก คือไม่สามารถรู้สึกหรือเห็นแจ้งได้ด้วยจิตของเราเองจริงๆในปัจจุบัน จึงไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลัง โดยคนที่ไม่เข้าใจในคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า (แม้จะหวังดีต่อพุทธศาสนาก็ตาม) จะต้องเป็นการตีความว่าเป็นเรื่องการเกิดและดับไปของความทุกข์ของจิตใจเราในปัจจุบัน จึงจะเป็นสันทิฏฐิโกที่เป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เพราะเราสามารถสัมผัสหรือรู้สึกได้จริงในปัจจุบัน โดยไม่เชื่อจากตำราใดๆหรือจากใครๆทั้งสิ้น ซึ่งการเห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาทนี้เองที่เรียกว่าเป็นการเห็นธรรม และการเห็นธรรมนี้เองที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นการเห็นพระองค์ เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|