ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย คืออะไร? ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า คำว่า เกิด แก่ เจ็บ ตายในอริยสัจ ๔ ที่ทำให้เป็นทุกข์นั้น หมายถึงการเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกาย จนทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่า และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล ผี เปรต เป็นต้นขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องการเวียนว่าตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรม เป็นต้น เช่นนี้เลย ส่วนการที่คำสอนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในพุทธศาสนานั้น ก็เป็นเพราะได้มีการนำเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดนี้ เข้ามาปลอมปนอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว ส่วนคำสอนเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ที่มีอยู่ในอริยสัจ ๔ นั้น เป็นภาษาคน (บุคคลาธิษฐาน) ที่ต้องตีความให้เป็นภาษาธรรม (ธรรมาธิษฐาน) ที่เป็น สันทิฏฐิโก (เห็นเอง) เสียก่อน อันได้แก่ คำว่า เกิด หมายถึง การเกิดตัวตน (หรือตัวเรา) ขึ้นมาภายในจิต ด้วยอำนาจของอวิชชาที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา (ตามหลักปฏิจจสมุปบาท) คำว่า แก่ หมายถึง เมื่อเกิดตัวเราขึ้นมาแล้วบังเอิญเกิดขึ้นมาในร่างกายที่แก่ ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่แก่ขึ้นมาด้วยทันที แล้วตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้ก็มาเป็นทุกข์ คำว่า เจ็บ หมายถึง เมื่อเกิดตัวเราขึ้นมาแล้วบังเอิญเกิดขึ้นมาในร่างกายที่กำลังเจ็บ ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่เจ็บขึ้นมาด้วยทันที แล้วตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้ก็มาเป็นทุกข์ คำว่า ตาย หมายถึง เมื่อเกิดตัวเราขึ้นมาแล้วบังเอิญเกิดขึ้นมาในร่างกายที่กำลังจะตาย ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังจะตายขึ้นมาด้วยทันที แล้วตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้ก็มาเป็นทุกข์ คำว่า ทุกข์ ในอริยสัจ ๔ นั้น พระพุทธเจ้าสรุปไว้ว่า "ความยึดถือในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา คือตัวทุกข์" คือเดิมทีขันธ์ ๕ นี้มันบริสุทธิ์ (คือไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตนของใครๆที่เรียกว่า ประภัสสร) แต่เมื่อไม่มีสติปัญญามาระมัดระวัง จิตนี้จึงถูกอวิชชา (ความรู้ว่ามีตัวเรา) ครอบงำ แล้วก็ทำให้จิตนี้ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา เมื่อจิตที่รู้สึกว่ามีตัวเรานี้ได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆของโลกผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตนี้ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมา เมื่อจิตนี้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาในร่างกายที่แก่ หรือเจ็บ หรือกำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือกำลังประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก หรือกำลังผิดหวังอยู่ จิตนี้จึงเกิดความทุกข์ (คือเศร้าโศก หรือเสียใจ คับแค้นใจ แห้งเหี่ยวใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น) ขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คือความทุกข์ที่เป็นสันทิฏฐิโก ส่วนวิธีการดับทุกข์นั้นพระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ว่า ก็ต้องมีศีลเป็นพื้นฐานก่อน แล้วเคยฝึกสมาธิมาบ้าง ต่อจากนั้นก็ต้องศึกษาร่างกายและจิตใจของเราเองจากสิ่งที่เรามีอยู่จริงๆในปัจจุบันโดยไม่ใช้ความเชื่อใดๆ เพื่อหาเหตุและผลที่มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา จนพบความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) และความว่างจากตัวตน (สุญญตา) ในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ (ซึ่งนี่คือปัญญา) เมื่อมีปัญญาแล้วก็นำปัญญา ศีล สมาธินี้มาปฏิบัติร่วมกัน ก็จะทำให้ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ไม่เกิดขึ้น หรือที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น (หรืออย่างน้อยก็ทำให้ลดน้อยลงได้อย่างมากมายเลยทีเดียว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิม (คือประภัสสรหรือบริสุทธิ์) คือไม่มีความรู้สึกและยึดถือว่ามีตัวเราหรือตัวตนของใครๆ และไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็นหรือที่เราสมมติเรียกว่า นิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว)
เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|