ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องมนุษย์กลัวการดับสูญ ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ชีวิตของเราทุกคนนี้ มันมีสิ่งที่เป็นตัวตนของเราทุกคนอยู่จริงๆ ซึ่งตัวตนนี้จะไม่สูญหายไปแม้ว่าร่างกายจะตายไป แต่ตัวตนนี้จะเกิดขึ้นมาได้ใหม่อีกเรื่อยไปถ้าตัวตนนี้ยังมีอวิชชา (หรือกิเลส ตัณหา อุปาทาน หรือกรรมตามแต่จะเชื่อกันไป) อยู่ ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวตนที่เชื่อกันนี้ก็คือ จิต (หรือวิญญาณ) ของทุกชีวิต ที่ทุกชีวิตก็อยากจะมีตัวตนเช่นนี้เรื่อยไป เพื่อที่จะได้มีความสุขตลอดไป และกลัวที่จะสูญเสียตัวตนไป หรือกลัวว่าตายแล้วจะไม่มีตัวตนกลับมาเกิดอีก (ที่เรียกว่าดับสูญ) ดังนั้นคนที่กลัวการดับสูญจึงรู้สึกไม่พอใจเมื่อมีใครมาพูดเรื่อง สุญญตา คือเรื่องความว่างจากตัวตน ที่บอกว่ามันไม่มีตัวตนที่เป็นเราอยู่จริง แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง สุญญตา คือเรื่องความว่างจากสิ่งที่เป็นแก่นหรือตัวตนที่แท้จริงของทุกสิ่ง แม้จิตหรือวิญญาณที่เรารู้สึกและเชื่อกันว่าเป็นตัวตนของเรานี้ มันก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะมันเป็นเพียง สังขาร (ที่แปลว่า สิ่งปรุงแต่ง) ที่ธรรมชาตินำเอาธาตุ (สิ่งพื้นฐานที่มีอยู่ตามธรรมชาติซึ่งไม่ใช่ตัวตนของใคร) มาปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์เท่านั้น เมื่อธาตุที่มาปรุงแต่งนี้เกิดขึ้น จิตนี้ก็เกิดขึ้น เมื่อธาตุที่มาปรุงแต่งนี้ดับหายไป จิตนี้ก็ต้องดับหายตามไปด้วยทันที เพราะมันไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ได้ตลอดไปด้วยตนเอง และไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ใหม่เป็นตัวตนของเราได้อีก ซึ่งสรุปแล้วก็คือ มันไม่ได้มีตัวตนที่เป็นเราอยู่จริงๆเลยในชีวิตนี้ ดังนั้นจึงทำให้เราเข้าใจได้ว่า มันไม่ได้มีตัวตนที่เป็นเรามาเกิด และไม่มีตัวตนที่เป็นเราตาย เพราะมันไม่มีตัวตนเราอยู่จริงแม้ขณะที่จิตยังรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่นี้ ซึ่งก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า เรื่องการตายแล้วเกิดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และแม้เรื่องการตายแล้วสูญก็เป็นไปไมได้ เพราะมันไม่ได้มีตัวตนของใครมาสูญ (ถ้าบอกว่าตายแล้วสูญก็จะต้องมีตัวตนมาสูญด้วย) เมื่อทุกชีวิตรู้สึกว่ามีตัวตนของตนเองอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดเป็นสามัญสำนึกขึ้นมา (คือทุกครั้งที่จิตตื่นก็จะมีความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่ด้วยตลอดเวลา) นี่เองที่ทำให้เกิดความเชื่อว่ามันต้องมีตัวตนของเราอยู่จริงๆ และตัวตนนี้ก็จะไม่สูญหายไป คือจะต้องมีการกลับมาเกิดขึ้นมาได้ใหม่อีกอย่างแน่นอน ไม่วิธีการใดก็วิธีการหนึ่ง ซึ่งบางคนก็เชื่อว่าจิตหรือวิญญาณจะออกจากร่างเพื่อไปเกิดใหม่ ตามที่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูสอน แต่บางคนก็บอกว่าจิตไม่สามารถออกจากร่างไปเกิดใหม่ได้ แต่เป็นอวิชชา (หรือกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นต้น ตามแต่จะเชื่อกัน) ต่างหากที่มีอำนาจวิเศษที่จะส่งพลังวิเศษ ออกไปสร้างจิตที่เป็นตัวตนของเราขึ้นมาได้ในร่างกายใหม่ ซึ่งนี่ก็คือความเชื่อของชาวพุทธที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสุญญตาอย่างถูกต้อง เมื่อมีความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ ก็จึงทำให้เกิดความเชื่อเรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ รวมทั้งความเชื่อเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องเทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ยมบาล เปรต และ ผี ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล เป็นต้นขึ้นมา อย่างที่ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูสอน และความเชื่อนี้ต่อมาก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน และสืบทอดมาจนถึงรุ่นเราทุกวันนี้ ความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่นี้ มันเป็นแค่ความเชื่อหรือความมั่นใจว่ามันจะเป็นจริงเท่านั้น เพราะไม่มีใครสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ ซึ่งมันเป็นคำสอนในระดับศีลธรรม ที่สอนให้คนกลัวการทำชั่วเพราะจะต้องไปตกนรกใต้ดินเมื่อตายไปแล้ว และอยากทำความดีเพราะอยากขึ้นสวรรค์บนฟ้าเมื่อตายไปแล้ว ซึ่งมันก็มีผลดีสำหรับเอาไว้สอนคนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์มาอย่างถูกต้อง เช่น เด็ก หรือชาวบ้านทั่วไป ที่ยังอยากจะมีตัวตนอยู่ต่อไป ไม่อยากดับสูญ แต่มันก็มีผลเสียตรงที่ทำให้คนที่เชื่อนั้นไม่เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิต จึงได้ถูกคนที่สอนเรื่องสวรรค์บนฟ้าเจ้าเล่ห์บางคน ฉวยโอกาสหากินกับความเชื่อนี้จนร่ำรวย แล้วก็ทำให้คนที่เชื่อต้องเสียทรัพย์เพราะอยากขึ้นสวรรค์ ที่สำคัญคือความเชื่อนี้มันทำให้ไม่เกิดปัญญา ที่จะนำมาใช้คู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า สรุปได้ว่า สิ่งที่มนุษย์ทั่วไปกลัวอย่างยิ่งก็คือ กลัวการดับสูญ หรือกลัวว่าตายแล้วจะไม่ได้กลับมาเกิดเพื่อเสพความสุขที่ลุ่มหลงติดใจอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อมีใครมาพูดหรือสอนเรื่องสุญญตา จึงไม่พอใจ เพราะกลัวว่าถ้ามีคนเชื่อกันมากๆ ก็จะทำให้ตนเองขาดความมั่นใจว่าจะต้องเกิดใหม่อีก ซึ่งความเชื่อเรื่องการมีตัวตนเกิดใหม่นี้เขาเอาไว้สอนคนที่ยังมีปัญญาน้อย ซึ่งมันมีผลดีน้อย แต่มันมีผลเสียมากกว่า คือนอกจากจะทำให้เสียทรัพย์แล้ว ยังทำให้ปัญญาสำหรับนำมาใช้เป็นตัวนำสมาธิและศีล ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันไม่เกิดขึ้น อีกทั้งยังทำให้เป็นคนไม่มีเหตุผล เมื่อไม่มีเหตุผลก็ทำให้ใช้ชีวิตผิดพลาด เมื่อใช้ชีวิตผิดพลาด ก็ย่อมที่จะพบกับปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชีวิตของเราเอง และครอบครัว รวมทั้งแก่ประเทศชาติและแม้แก่โลกด้วย อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|