ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องการเข้าถึงอนัตตา

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า คำว่า อนัตตา ที่หมายถึง ความไม่ใช่ตัวตนนั้น เพียงรู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนก็ชื่อว่าได้เข้าถึงอนัตตาแล้ว โดยสิ่งที่จะเข้าถึงความเป็นอนัตตานั้นก็คือชีวิต (คือร่างกายและจิตใจ) ของเราเอง เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความยึดถือว่าชีวิตนี้คือตัวเรา แล้วจะได้บรรลุนิพพานคือไม่ต้องมาเวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายให้เป็นทุกข์อีกต่อไป

แต่ในความเป็นจริงนั้น การเข้าถึงความเป็นอนัตตาของชีวิตของเรานี้ จะมีลำดับการเข้าถึงอยู่ ๓ ระดับ ที่เรียกว่าเป็นการเกิดปัญญา (เพราะอนัตตาคือหัวใจของปัญญา) ๓ ระดับ คือ

๑. สุตมยปัญญา คือขั้นแรกก็ต้องฟังหรืออ่านเรื่องความไม่ใช่ตัวเรา (ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา) ที่ถูกต้องมาก่อนจนจำได้ ซึ่งขั้นนี้ยังไม่ใช่การเข้าถึงที่แท้จริง เพราะยังเป็นแค่การรู้มาจากคนอื่นเท่านั้น ยังไม่มีความเข้าใจและเห็นแจ้ง แต่ถ้าฟังหรืออ่านคำสอนที่ผิดมาก่อน ก็จะเป็นการรู้ที่ผิดได้ ซึ่งการรู้เรื่องความไม่ใช่ตัวเรานี้ก็เป็นแค่การรู้มาว่าชีวิตนี้มันไม่ใช่ตัวเราเท่านั้น แต่ก็ไม่เข้าใจถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร และไม่เห็นแจ้งว่าความรู้สึกไม่มีตัวเรานั้นเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยรู้สึกว่าไม่มีตัวเรามาก่อนเลย

๒. จินตามยปัญญา ขั้นต่อไปก็คือ ให้นำเอาคำสอนที่ได้รู้มานั้นมาคิดพิจารณาหาเหตุผล ถ้าคำสอนที่ได้รู้มานั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง ก็จะเกิดเป็นความเข้าใจอย่างแจ่มชัด แต่ถ้าเป็นคำสอนที่ผิดเพี้ยน ก็จะเกิดเป็นความเข้าใจผิดขึ้นมาได้ ซึ่งขั้นความเข้าใจนี้ก็เป็นแค่ขั้นเริ่มเข้าถึงเพียงผิวๆเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงขั้นเห็นแจ้งที่เป็นการเข้าถึงแก่น โดยความเข้าใจว่าชีวิตของเรานี้มันไม่ใช่ตัวเราจริงนั้นก็เป็นเพียงแค่ความเข้าใจ ที่เกิดมาจากการเพ่งพิจารณาดูถึงเหตุและปัจจัย (สิ่งสนับสนุน) ที่มาปรุงแต่ง (หรือสร้างหรือประกอบ) ให้เกิดชีวิตของเราขึ้นมา จนเข้าใจอย่างแจ่มชัดถึงความจริงของธรรมชาติว่ามันไม่มีสิ่งใดในชีวิต (คือในขันธ์ ๕ หรือในร่างกายและจิตใจ) ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเราและของเรานี้จะเป็นตัวเราหรือของเราได้จริงเลย ซึ่งขั้นนี้ยังเป็นแค่ขั้นเข้าใจด้วยเหตุผลเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นสูงสุดที่เป็นความห็นแจ้ง ที่เป็นความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเราจริง  

๓. ภาวณามยปัญญา ขั้นต่อไปก็คือ ให้นำเอาความเข้าใจนั้นมาพิสูจน์ โดยการทดลองปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้ง ซึ่งก็ทำได้โดยการนำเอาความเข้าใจนี้มาเพ่งดู (ด้วยสมาธิ) จากชีวิต (คือร่างกายและจิตใจ) ของเราเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนจิตกลับคืนสู่ความบริสุทธิ์ (ประภัสสร) ตามธรรมชาติ (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าไม่มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆทั้งสิ้น พร้อมทั้งความทุกข์ทั้งหมดของจิตก็จะไม่มีตามไปด้วย (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งความไม่มีทุกข์ของจิตนี้ก็คือลักษณะของ นิพพาน ที่หมายถึง ความสงบเย็นของจิตนั่นเอง ซึ่งนี่ก็คือความเห็นแจ้งว่าชีวิตของเรานี้เป็นอนัตตา หรือการเข้าถึงความรู้สึกว่า “ชีวิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา” ที่แท้จริง โดยมีผลเป็นนิพพานหรือความสงบเย็นของจิต (แม้เพียงชั่วคราว) แต่ถ้าเป็นความเข้าใจผิดถ้าเอามาปฏิบัติ ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ผิด และบังเกิดเป็นผลที่ผิด คือทุกข์ไม่ดับหรือนิพพานไม่ปรากฏ หรืออาจเป็นความทุกข์เพิ่มมากขึ้นก็ได้ รวมทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านิพพานคือการไม่เวียนว่ายตาย-เกิดทางร่างกายอีกด้วย

สรุปได้ว่า การเข้าถึงความไม่ใช่ตัวเราหรือความเป็นอนัตตาของชีวิตเรานี้ ก็มีการเข้าถึงอยู่ ๓ ระดับ คือฟังหรืออ่านมาให้รู้อย่างถูกต้องมาก่อน แล้วนำเอาคำสอนที่ได้รู้มานี้มาพิจารณาหาเหตุผล จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดขึ้นมา แล้วนำอาความเข้าใจนี้มาเพ่งดูจากชีวิตของเราเองอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ก็จะเกิดความเห็นแจ้งถึงความไม่ใช่ตัวเราขึ้นมาได้ พร้อมทั้งความทุกข์ก็จะดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งนี่ก็คือการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าโดยสรุปนั่นเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************