ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องการเกิดร่างกายเป็นทุกข์จริงหรือ? ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า การเกิดร่างกายขึ้นมานี้เองที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเชื่อ (ที่ผิดๆ) ต่อไปอีกว่า การปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ นั้นก็เพื่อที่จะได้ไม่มาเวียนว่ายตาย-เกิดให้เป็นทุกข์อีก รวมทั้งยังเชื่อว่านิพพานที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นก็คือ การตายแล้วไม่กลับมาเวียนว่ายตาย-เกิดอีกอย่างถาวร แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้เลย เรื่องการเกิดร่างกายแล้วเป็นทุกข์นี้เป็นความเข้าใจผิดที่ชาวพุทธยึดถือกันมานมนานแล้ว เพราะคำสอนของพุทธศาสนาได้ถูกครอบงำจากคำสอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมาก่อน จึงทำให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจผิดว่า การเกิดร่างกายขึ้นมานี้เป็นสาเหตุของความทุกข์ตามหลักอริสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า และยังทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่อง เทวดา นางฟ้า เป็นต้น ขึ้นมา อย่างเช่นที่กำลังเชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน ความทุกข์ที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นคือ ความทุกข์ของจิตใจ ที่เกิดมาจากความยึดถือว่าขันธ์ ๕ (คือร่างกายกับจิตใจ ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรา) นี้คือตัวเรา-ของเรา (หรือตัวกู-ของกู) ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปเรื่องของความทุกข์เอาไว้ว่า อุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) ในขันธ์ทั้ง ๕ คือตัวทุกข์ ร่างกายของเรามันก็เป็นธรรมชาติของมันอย่างนี้เอง (คือต้องเหน็ดเหนื่อย เจ็บ ป่วย แก่ และต้องตาย) และแม้สิ่งต่างๆที่เกี่ยวของกับชีวิตของเรา (เช่น พ่อ แม่ สามีหรือภรรยา ลูก เพื่อน สิ่งของเครื่องใช้ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น) มันก็เป็นธรรมชาติที่มีความไม่เที่ยง (ไม่คงอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป) อยู่แล้วเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ ไม่มีใครจะสามารถหลักหนีไปได้ ทีนี้ถ้าจิตของเรามันโง่ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่ยอมรับเรื่องความไม่เที่ยงนี้ จึงได้เกิดความยึดถือ (อุปาทาน หมายถึง ความยึดถือ คือเป็นอาการที่จิตไปแบกหรือไปหามเอาสิ่งของต่างๆเอาไว้ด้วยความรัก หรือความพอใจอย่างยิ่ง จนทำให้จิตเกิดความรู้สึกหนักเหนื่อยหรือทรมาน หรือที่เรียกว่าเป็นทุกข์ขึ้นมา) จิตใจนี้ว่าเป็นตัวเรา และยึดถือร่างกายกับสิ่งต่างๆภายนอกที่เกี่ยวข้องว่าเป็นของเราขึ้นมา เมื่อสิ่งที่ได้ยึดถืออยู่นี้ยังเป็นที่น่าพอใจ (คือสมปรารถนา) ของเรา เราก็จะยังไม่เป็นทุกข์ที่รุนแรง แต่มันไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วจะเที่ยงได้ ดังนั้นไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่เราได้ยึดเอาไว้นี้ก็ย่อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามความไม่เที่ยงตามธรรมชาติของมัน คือร่างกายก็ต้องแก่ เจ็บ ป่วย ตาย หรือคนรักได้จากไป ทรัพย์สมบัติหรือเกียรติยศชื่อเสียงต้องพินาศหรือหมดสิ้นไป หรือเมื่ออยากจะได้สิ่งใดแล้วเกิดไม่สมหวังขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มันเป็นธรรมชาติที่ไม่น่าพอใจ (ไม่สมปรารถนา) ของจิต ดังนั้นจิตโง่นี้จึงเกิดความเศร้าโศก หรือเสียใจ หรือความคับแค้นใจ หรือความแห้งเหี่ยวใจ หรือความไม่สบายใจ เป็นต้นขึ้นมาทันทีด้วยความไม่พอใจ (หรือเกลียด หรือกลัว หรือโกรธ อันเป็นลักษณะของกิเลสหรือตัณหา) แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตของเรานี้ได้รู้และเข้าใจในความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ของสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งมีความเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ในสิ่งทั้งหลายโดยเฉพาะในความไม่ใช่ตัวตนในขันธ์ ๕ (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราเองนี้ด้วย (คือเกิดปัญญาขั้นเข้าใจ) พร้อมทั้งก็มีสมาธิอยู่ด้วย (จากการเคยฝึกมาก่อน โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปลักษณะที่ไม่น่าพึงพอใจเช่นนี้ จิตนี้ก็จะไม่เกิดความไม่พอใจ (คือไม่เกิดกิเลสหรือตัณหาขึ้นมา ซึ่งก็คือไม่เกิดความยึดถือขึ้นมานั่นเอง) ขึ้นมา เมื่อจิตไม่มีความไม่พอใจ มันก็ย่อมที่จะไม่เกิดความเศร้าโศก หรือเสียใจ หรือความคับแค้นใจ หรือความแห้งเหี่ยวใจ หรือความไม่สบายใจ เป็นต้นขึ้นมา (หรือที่กำลังเกิดอยู่ก็จะระงับหรือดับหายไปทันที) ซึ่งนี่ก็คือการที่จิตไม่เกิดความทุกข์หรือไม่มีทุกข์ (แม้เพียงชั่วคราวก็ได้) และเมื่อจิตไม่มีทุกข์ มันก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมของมัน คือสะอาด สว่าง สงบ หรือที่เรามาสมติเรียกว่า นิพพาน (เกิดภาวณามยปัญญา) ส่วนความทุกข์ของร่างกาย เช่น ความเหนื่อยยาก ความเจ็บป่วย ความแก่ และความตาย รวมทั้งสิ่งต่างภายนอกที่เกี่ยวข้องจะไม่น่าพอใจสักเท่าใด มันก็ไม่ได้มีความหมายเลย ถ้าจิตของเราไม่ไปยึดถือและเป็นทุกข์กับมัน ส่วนเรื่องที่ว่าตายแล้วจะเป็นอย่างไร? หรือการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่านั้นมีจริงหรือไม่? นั้น เรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้สอนให้เรานำเอาขันธ์ ๕ (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราที่มีอยู่จริงในปัจจุบันนี้มาพิจารณาถึงเหตุและปัจจัย ที่มาปรุงแต่งให้แต่ละขันธ์เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ และดับหายไป เราก็จะเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งได้ด้วยสติปัญญาของเราเองว่า ตายแล้วเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องเชื่อจากใครๆ รวมทั้งยังจะบอกใครไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่จะรู้ได้เฉพาะตัวเราเท่านั้น สรุปได้ว่า การเกิดร่างกายขึ้นมานี้ยังไม่ใช่สาเหตุของความทุกข์ แต่เป็นเพราะว่าจิตโง่ไปยึดถือเอาร่างกายและสิ่งต่างๆภายนอกที่เกี่ยวข้องว่าเป็นตัวเรา-ของเรา ด้วยความพอใจ จึงทำให้จิตโง่เกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ ดังนั้นวิธีการดับทุกข์ก็ต้องมาดับที่สาเหตุของมัน คือมาดับที่ความยึดถือนี่เอง เมื่อความยึดถือไม่มี ความทุกข์ก็ย่อมจะไม่มีตามไปด้วย ซึ่งวิธีการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้นก็ให้ใช้ปัญญา (ความเข้าใจและเห็นแจ้งเรื่องว่ามันไม่มีตัวเราและตัวตนของใครๆอยู่จริง) กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) มาทำงานร่วมกัน ก็จะทำให้ความยึดถือว่าขันธ์ ๕ นี้คือตัวเรา-ของเราดับหายไปได้ ทั้งอย่างชั่วคราวและอย่างถาวร ตามแต่ว่าใครปฏิบัติได้เท่าไร ส่วนความเชื่อเรื่องการเกิดร่างกายขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์นั้น ไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า แต่เป็นเรื่องที่ปลอมปนเข้ามาในภายหลัง จึงทำให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจผิดว่าการเกิดร่างกายขึ้นมานี้เป็นสาเหตุของความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรสนใจศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้ค้นพบหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และนำเอาหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตกันต่อไป เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|