ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องสิ่งสูงสุด

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า สิ่งที่มีอำนาจสูงสุด ที่ดลบันดาลให้ทุกชีวิตและทุกสิ่งเป็นไปนั้นคือกรรมบ้าง หรือพระพรหมบ้าง หรือพระเจ้าบ้าง เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดที่ควบคุมหรือดลบันดาลให้ทุกชีวิต และทุกสิ่งเป็นไปนั้นก็คือธรรมชาติ หรือกฎของธรรมชาติ ที่เรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา ที่หมายถึง การอาศัยเหตุและปัจจัยแล้วเกิดขึ้น ส่วนเรื่องกรรมนั้นเป็นเพียงแค่ความเชื่อว่า กรรมจากชาติก่อนมาดลบันดาลให้ชีวิตในชาตินี้เป็นไป ตามความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลกรรมเก่า อันเป็นหลักที่ประยุกติมาจากหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่สอนเรื่องพระพรหมสร้างโลก และดลบันดาลให้ทุกชีวิตเป็นไป ที่เรียกว่าพรหมลิขิต ถ้าใครทำดีพระพรหมก็จะดลบันดาลสิ่งที่ดีให้ แต่ถ้าใครทำชั่วพระพรหมก็จะดลบันดาลสิ่งที่เลวร้ายให้ ส่วนเรื่องพระเจ้าคือสิ่งสูงสุดนั้น เป็นหลักของศาสนาคริสต์และอิสลาม ที่สอนว่าพระเจ้าสร้างโลกและทุกสิ่งขึ้นมา แล้วควบคุมหรือดลบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไป

กฎอิทัปปัจจยตานี้ เป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ หรือกฎสูงสุดของจักรวาล ที่สิงอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง หรือควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ไม่มีอะไรที่จะอยู่นอกเหนือกฎนี้ไปได้ โดยกฎนี้เองที่สร้างสิ่งทั้งหลายทั้งที่เป็นวัตถุและจิตขึ้นมา และดลบันดาลทุกสิ่งให้เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งทำลายทุกสิ่งไปเมื่อถึงเวลา โดยกฎอิทัปปัจจยตานี้ก็คือกฎง่ายๆที่ใครๆก็รู้จักกันดีอยู่แล้วอันได้แก่กฎที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น (คำว่าปัจจัยก็คือเหตุย่อยๆ หรือสิ่งที่มาสนับสนุนเหตุใหญ่) คือกฎนี้จะบอกว่าการที่สิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ จะต้องมีเหตุหลายๆเหตุมาร่วมกันปรุงแต่ง (หรือสร้าง หรือประกอบ หรือทำ) ให้เกิดขึ้น (ถ้าเหตุใดใหญ่หรือสำคัญที่สุดก็เรียกว่า เหตุ ส่วนเหตุย่อยๆที่เหลือทั้งหมดจะเรียกว่า ปัจจัย ซึ่งบางทีก็เรียกทั้งหมดว่าเหตุ หรือปัจจัยก็ได้) และไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุและปัจจัย โดยกฎอิทัปปัจจยตานี้มีใจความโดยละเอียดว่า

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี

เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป

กฎอิทัปปัจจยตานี้จะบอกเราว่า เมื่อมีเหตุ จึงมีผล ถ้าเหตุดับไป ผลก็จะดับหายตามไปด้วยทันที ตัวอย่างเช่น ผลไม้ทุกชนิดก็เกิดมาจากธาตุ ๔ คือของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น หรืออย่าง เช่นร่างกายของเราก็เกิดมาจากธาตุ ๔ มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดหายไป ร่างกายก็ย่อมที่จะแตกหรือตายไปทันที หรืออย่างเช่น จิตใจของเราก็เกิดมาจากวิญญาณ (การรับรู้) สัญญา (การจำได้) เวทนา (ความรู้สึก) และ สังขาร (การปรุงแต่งของจิต) มารวมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าขาดสิ่งที่สำคัญคือวิญญาณไป จิตก็จะดับหายไปทันที แต่ถ้าขาดสิ่งที่ไม่สำคัญคือสัญญา จิตก็จะเกิดขึ้นมาอย่างไม่สมบูรณ์ อย่างเช่นคนที่จมน้ำแต่ยังไม่ตาย แล้วสมองเสียหายจนความทรงจำหายไปหมด จึงจำอะไรไม่ได้และคิดอะไรไม่ได้ ได้แต่นอนลืมตานิ่งๆเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราไป  หรืออย่างเช่น วิญญาณหรือการรับรู้ ก็ต้องอาศัยระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่มีระบบประสาทที่ยังดีอยู่ของร่างกาย วิญญาณก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หรืออย่างเช่นเมื่อเราเอาไม้มาเคาะระฆัง ก็จะเกิดเสียงระฆังขึ้นมาทันที เป็นต้น

การที่สิ่งต่างๆเป็นไปนั้นก็เพราะมันมีเหตุมาผลักดันกันต่อๆไปเหมือนห่วงโซ่ คือเมื่อเหตุทำให้เกิดผล แล้วผลนั้นก็มาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาอีก เรียกว่าเป็นเหตุ เป็นผล เป็นเหตุ เป็นผลเกี่ยวโยงกันเหมือนสายโซ่ไปเรื่อย อีกทั้งเหตุเพียงเหตุเดียว ก็ยังทำให้เกิดผลได้หลายผลอีกด้วย (ส่วนผลเพียงเดียวก็ต้องมาจากหลายๆเหตุมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว) นี่เองที่ทำให้สิ่งทั้งหลายล้วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม อย่างที่มีคนกล่าวไว้ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว หรือเมื่อผีเสื้อกระพือปีก ก็ทำให้เกิดพายุใหญ่ได้

เมื่อเราเข้าใจถึงเหตุและผลที่เกี่ยวโยงกันไปอย่างยุ่งเหยิงสลับซับซ้อนแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ว่า มันไม่ได้มีสิ่งใดที่จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์หรือเหนือธรรมชาติเลย (เช่น เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งวิเศษ เรื่องกรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติ เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เรื่องเทวดา นางฟ้า เป็นต้น ตามที่เชื่อกันอยู่) เพราะสิ่งมหัศจรรย์หรือเหนือธรรมชาตินั้นจะเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล คือไม่เป็นไปตามหลักเหตุผล คือเป็นสิ่งที่จู่ๆก็เกิดขึ้นมาลอยๆโดยหาเหตุไม่ได้ ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องสิ่งมหัศจรรย์หรือเหนือธรรมชาตินี้เป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ และไม่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้  ถ้าเรื่องเหล่านี้สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเลยทีเดียว

การเข้าใจในกฎอิทัปปัจจยตานี้ จะทำให้เข้าใจกฎไตรลักษณ์เรื่องความไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยได้อีกด้วย ซึ่งปัญญาที่ใช้สำหรับนำมาคู่กับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้น  ก็คือความเข้าใจและเห็นแจ้งในความไม่เที่ยง มีสภาวะที่ต้องทน และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ ๕) ของเราและมนุษย์ทุกคนนั่นเอง ดังนั้นถ้าเรายังไม่เข้าใจถึงกฎอิทัปปัจจยตาอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงของธรรมชาติ เราก็จะไม่เข้าในกฎไตรลักษณ์ เมื่อไม่เข้าใจในกฎไตรลักษณ์ ก็ย่อมจะไม่มีปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************