ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องความสุข

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ความสุขคือสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน แล้วก็เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ทำความดีเพื่อที่จะได้มีความสุขที่ประณีตสูงสุดอย่างยาวนาน คือการเกิดเป็นเทวดาหรือเป็นพรหม เป็นผลตอบแทน อีกทั้งยังเชื่อว่าการปฏิบัติอริยมรรคนั้นก็เพื่อให้ได้นิพพาน ที่เชื่อว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ที่มีแต่ความสุขและไม่มีความทุกข์ใดๆเลยอย่างชั่วนิรันดร

แต่ในความเป็นจริงนั้นความสุขไม่ใช่สิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ อีกทั้งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนให้มาติดอยู่ในความสุข เพราะความสุขที่แม้จะดีและประณีตสักเท่าใดก็ตาม ก็ยังนำความทุกข์และปัญหามาให้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ความสุขนั้นก็มีทั้งความสุขจากวัตถุนิยม และความสุขทางใจ โดยวัตถุนิยมนั้นก็แก่ กามารมณ์ รูปารมณ์ และอรูปารมณ์ โดยกามารมณ์นั้นก็คือเรื่องสิ่งสวยงาม น่ารัก น่าใคร่ โดยมีเรื่องเพศตรงข้ามเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด ส่วนรูปารมณ์นั้นก็คือเรื่องวัตถุหรือสิ่งของที่ไม่ใช่กามารมณ์ เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ บ้าน บุคคล สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ เป็นต้น ส่วนอรูปารมณ์นั้นก็คือเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง ความเด่น ดัง ความมีอำนาจ ส่วนความสุขทางใจนั้นก็ได้แก่ความสุขที่เกิดแก่จิตใจโดยตรงจากการทำความดี เช่น จากการทำงานที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม จากการช่วยเหลือผู้อื่น จากการเสียสละ จากการอ่อนน้อมถ่อมตน จากความขยันอดทน จากการประหยัดอดออม จากการมีศีล จากการมีสมาธิ และจากการดูแลครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ธรรมชาติ และโลก เป็นต้น

ในขณะที่เรากำลังมีความสุขและพึงพอใจในความสุขทั้งหลายอยู่นั้น จิตของเราก็ย่อมที่จะเกิดความพอใจหรืออยากได้สิ่งที่ให้ความสุขนั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความพอใจนี้เองที่เป็นกิเลส (หรือตัณหา) ที่ทำให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่เป็นผู้พอใจอยู่ด้วยตลอดเวลา ซึ่งตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้เองที่มีความทุกข์หรือความรู้สึกทรมาน (หรือ หนัก เหนื่อย เร่าร้อน กระวนกระวาย) ที่ซ่อนอยู่ภายใน โดยมีความสุขบางๆมาเคลือบหลอกเอาไว้  ซึ่งความทุกข์นี้เรียกว่า ความทุกข์ซ่อนเร้น ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความสุขในทันที ยิ่งมีความสุขมากเท่าไร ความทุกข์ซ่อนเร้นก็ยิ่งรุนแรงมาก จะต้องตั้งใจสังเกตจึงจะพบ

        ส่วนโทษที่จะตามมาจากการแสวงหาความสุขจากวัตถุนิยมที่แม้จะอย่างถูกต้อง (จากการทำความดี) ก็ได้แก่ ปัญหาขยะเต็มบ้านเมือง ปัญหามลภาวะ ปัญหาภัยธรรมชาติ (เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ลมพายุ) ปัญหาทางสังคม ปัญหาโรคร้ายแรงต่างๆ และปัญหาการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นต้น ส่วนโทษที่จะตามมาเพิ่มเติมจากการแสวงหาความสุขจากวัตถุนิยมอย่างผิดๆ (จากการทำความชั่ว) นั้นก็ได้แก่ การถูกสังคมติเตียน ถูกลงโทษ ถูกทำร้าย หรือต้องพบกับความเดือดร้อน เป็นต้น

        โดยการกินการใช้อย่างฟุ่มเฟือยเพื่อเสพความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น และกายนั่นเอง ที่ทำให้ต้องมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อันได้แก่ พื้นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล  รวมทั้งพลังงานของโลก อันได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ให้สูญสิ้นไปอย่างมากมายและรวดเร็วเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสร้างกลับมาทดแทนได้ทัน จึงทำให้เกิดความเสียสมดุลของธรรมชาติขึ้นมา แล้วก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กลับมาเป็นอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ฝนแล้ง น้ำท่วม ลมพายุ พื้นดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น แล้วก็จะส่งผลกระทบกลับมาสู่ตัวของเราในที่สุด เช่น ความอดอยากขาดแคลน การเอารักเอาเปรียบเบียดเบียนกัน ปัญหามลภาวะทั้งหลาย และความเดือดร้อนประการต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือโทษจากการกินและใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น

ส่วนโทษเฉพาะจากการลุ่มหลงความสุขจากกามารมณ์นั้นก็มีมากมาย อันได้แก่ การทำงานหนักมากขึ้นเพื่อมาใช้จ่ายในเรื่องทางเพศ หรือเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว แล้วก็ตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาโรคติดต่อทางเพศ ปัญหาการแย่งชิงเพศตรงข้าม ปัญหาความหึงหวง เป็นต้น ที่ทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล ความอึดอัดคับแค้นใจ ความกระวนกระวายใจ และความไม่สบายใจ และความเศร้าโศก ความเสียใจ เป็นต้นตามมา 

ส่วนความสุขจากการทำความดี อันได้แก่ความสุขใจ อิ่มใจ นั้น แม้จะเป็นความสุขที่ไม่มีโทษอย่างความสุขจากวัตถุนิยมก็ตาม แต่มันก็มีโทษอย่างลึกซึ้งด้วยเหมือนกัน คือมันก็ทำให้จิตเกิดกิเลสประเภทความอยากได้หรือติดใจในความสุขใจนี้อยู่ด้วย ซึ่งมันก็เท่ากับยังมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ด้วยตลอดเวลา และที่สำคัญการติดอยู่ในความสุขนี้ก็เท่ากับยังติดอยู่ในโลกด้วยอำนาจของกิเลส จึงทำให้ยังไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจ ที่เกิดมาจากความยึดถือว่ามีตัวเราแก่ ตัวเราเจ็บ ตัวเรากำลังจะตาย ตัวเรากำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่ เป็นต้น ส่วนคำสอนเรื่องการทำความดีแล้วตายไปได้ขึ้นสวรรค์บนฟ้า หรือเรื่องการทำสมาธิแล้วตายไปเกิดเป็นพรหม หรือเรื่องนิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นแค่ความเชื่อนอกพุทธศาสนา ที่ทำให้เกิดกิเลสประเภทความโลภมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความโง่หรืออวิชชามากยิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้ไม่มีปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้

สรุปได้ว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน และพระพุทธเจ้าก็ไม่สอนให้สาวกติดอยู่ในความสุขที่แม้จะดีและประณีตสักเท่าใดก็ตาม เพราะความสุขย่อมทำให้เกิดความทุกข์ซ่อนเร้น และนำปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนมาให้ ทั้งแก่ร่างกายและสังคมรวมทั้งโลก ในภายหลังอย่างมากมาย รวมทั้งยังทำให้ผู้ที่ติดอยู่ในความสุข ไม่สามารถปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ ดังนั้นความสงบเย็นของจิตใจ เพราะไม่มีความพอใจหรือติดใจ หรืออยากได้ในความสุขใดๆ ที่เรียกว่า นิพพาน นี้เอง จึงควรเป็นสิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน เพราะไม่ทำให้เกิดความทุกข์ใดๆ และไม่นำมาซึ่งปัญหาใดๆในภายหลังอย่างยั่งยืนมั่นคง  จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรสนใจศึกษาเรื่องสิ่งสูงสุดหรือนิพพานนี้ให้เข้าใจ เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากความเข้าใจเรื่องนิพพานนี้กันต่อไป

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************