ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องเราคืออะไร?

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า จิต หรือสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นเรา (หรือตัวเรา) นี้ เป็นสิ่งที่มันมีอยู่ก่อนแล้ว แต่มันมาอาศัยร่างกายนี้อยู่ชั่วคราวเท่านั้น (พวกนี้จะเชื่อว่า มีอัตตา คือ มีตัวเรา) เมื่อร่างกายตายจิตก็จะออกจากร่างกายที่ตายแล้วเพื่อไปเกิดยังร่างกายใหม่ (ถ้าก่อนตายจิตยังมีกิเลสอยู่ จิตก็ยังจะต้องเวียนว่ายตาย-เกิดอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าหมดกิเลสแล้วอย่างสิ้นเชิง จิตก็จะไปอยู่ในดินแดนที่เรียกว่านิพพาน ที่มีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ใดๆเลยชั่วนิรันดร) แต่บางคนก็เข้าใจว่า ขันธ์ ๕ นี้แหละที่สร้างจิตที่รู้สึกว่าเป็นเรานี้ขึ้นมา (พวกนี้จะเชื่อว่า ไม่มีอัตตา คือ ไม่มีตัวเรา)  เมื่อร่างกายตาย (คือขันธ์ ๕ แตก-ดับ) ถ้าจิตหรือขันธ์ ๕ นี้ยังมีกิเลส (หรือตัณหาคือความอยาก) อยู่ก่อนตาย กิเลสนี้เองที่จะส่งพลังอันศักดิ์สิทธิ์ออกไปสร้างจิตหรือขันธ์ ๕ ขึ้นมาใหม่ในร่างกายใหม่ เพื่อมารับผลกรรม (วิบาก) ที่กิเลสของจิตเก่าได้ทำไว้ก่อนตาย (แต่จิตใหม่ที่เกิดขึ้นกลับจำไม่ได้ว่าเคยเกิดมาแล้ว?)  แต่ถ้าจิตนี้หมดสิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิงก่อนตาย ก็จะไม่มีอะไรส่งออกไปสร้างจิตใหม่ขึ้นมาอีกอย่างถาวร (และเรียกกันว่านิพพาน) สรุปแล้วก็คือ เป็นความเชื่อว่าถ้าจิตยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังจะต้องมีการเกิดจิตใหม่ขึ้นมาอีกสืบต่อไว้เรื่อยไป เพื่อมารับผลกรรมเก่า แต่ถ้าจิตหมดกิเลสถาวร จึงจะไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไปอย่างถาวร

แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้เลย แต่เหตุที่ชาวพุทธเข้าใจผิดว่านี่คือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นก็เพราะว่า ชาวพุทธได้นำเอาคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลของกรรมเก่า เข้ามาผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้ว ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว จึงทำให้ชาวพุทธที่ไม่เข้าใจเกิดความเชื่อที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ขึ้นมา และยึดถือกันอย่างเหนียวแน่น จนเกิดเป็นศาสนาพุทธผสมฮินดูอย่างเช่นในปัจจุบัน แล้วก็ทำให้ชาวต่างชาติที่มาศึกษาพุทธศาสนาในภายหลัง เกิดความเข้าใจผิดว่า พุทธศาสนาก็สอนเหมือนฮินดู หรือพุทธศาสนาเป็นแค่เพียงสาขาหรือนิกายหนึ่งของศาสนาฮินดูเท่านั้น จนทำให้พุทธศาสนาในอดีตที่เคยโดดเด่นในเรื่องการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ กลายมาเป็นศาสนาที่ต่ำต้อยและงมงาย อย่างเช่นในปัจจุบัน

ส่วนคำสอนเรื่องของชีวิตนี้ พระพุทธเจ้าจะสอนว่า ชีวิตของคนเรานี้เป็นสิ่งปรุงแต่ง (การปรุงแต่งก็คือการสร้าง หรือประกอบ หรือทำโดยธรรมชาติ) มาจากร่างกายและจิต (หรือใจ) คือมีร่างกายกับจิตใจมารวมกันเป็นหนึ่ง จะแยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันเมื่อใดก็จะแตก (คือร่างกายแตกหรือตาย) และดับ (คือจิตใจดับ) หายไปด้วยกันทั้งคู่ทันที ซึ่งเมื่อชีวิตต้องตาย แม้ร่างกายเก่าจะงดงามหรือไม่งดงามก่อนตายก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะกลับมาเกิดขึ้นมาเป็นร่างกายใหม่ได้เหมือนเดิมอีก และแม้จิตเก่าจะมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสก่อนดับก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะกลับมาเกิดขึ้นมาเป็นจิตใหม่ได้เหมือนเดิมอีก  

โดยร่างกายนี้พระพุทธเจ้าสอนว่า เกิดมาจากธาตุ ๔ คือ ของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ มาประชุมกันจนเกิดเป็นอวัยวะต่างของร่างกายขึ้นมา ซึ่งลักษณะของร่างกายก็เป็นไปตามลักษณะของพ่อแม่นั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่เป็นร่างกายจริงๆจึงไม่มี แต่ธรรมชาติก็สามารถเอาธาตุ ๔ มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นร่างกายขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่เมื่อเกิดร่างกายขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่สามารถที่จะตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป คือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว มันก็ต้องแตกสลายหรือตายไปอย่างแน่นอน (อนิจจัง) และแม้ขณะที่ร่างกายยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนในการประคับประคองสภาพร่างกายของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอีกด้วย (ทุกขัง) ซึ่งนี่ก็แสดงถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงหรือตัวตนที่เป็นอมตะของร่างกาย (อนัตตา)

ส่วนจิตหรือใจนั้นพระพุทธเจ้าก็สอนว่า จิตเกิดมาจาก วิญญาณขันธ์ (การรับรู้ที่เกิดขึ้นตามระบบประสาททั้ง ๖ คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ), สัญญาขันธ์ (การจำสิ่งที่รับรู้ได้), เวทนาขันธ์ (ความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้), และสังขารขันธ์ (การปรุงแต่งของจิต เช่นความอยาก ความยึดถือ และความคิด เป็นต้น) มาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น โดยสังขารขันธ์นั้นก็ต้องอาศัยเวทนาขันธ์จึงจะเกิดขึ้นมาได้ ส่วนเวทนาขันธ์ก็ต้องอาศัยสัญญาขันธ์จึงจะเกิดขึ้นมาได้ ส่วนสัญญาขันธ์ก็ต้องอาศัยวิญญาณขันธ์จึงจะเกิดขึ้นมาได้ ส่วนวิญญาณขันธ์ก็ต้องอาศัยอายตนะภายใน (คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ของร่างกายที่ยังดีอยู่หรือยังมีชีวิตอยู่เพื่อเกิดขึ้น ส่วนร่างกายที่ยังมีชีวิตก็ต้องอาศัยธาตุ ๔ มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

แต่ถ้าธาตุ ๔ นี้ไม่สมดุลหรือแตกแยกไปเมื่อใด ร่างกายก็ย่อมที่จะแตกสลายหรือตาย แล้วก็จะทำให้อายตนะภายในดับหายไปตามด้วย เมื่อไม่มีอายตนะภายใน ก็จะไม่มีวิญญาณขันธ์ เมื่อไม่มีวิญญาณขันธ์ก็จะไม่มีสัญญาขันธ์ เมื่อไม่มีสัญญาขันธ์ก็จะไม่มีเวทนาขันธ์ เมื่อไม่มีเวทนาขันธ์ก็จะไม่มีสังขารขันธ์หรือสรุปง่ายๆก็คือ เมื่อไม่มีร่างกายก็จะไม่มีจิตใจ แม้จิตใจนั้นจะมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสก็ตาม ซึ่งนี่คือระบบการอาศัยกันและกันของร่างกายกับจิตใจ เพื่อเกิดขึ้นมาเป็นชีวิตตามหลักเหตุผลของวิทยาศาสตร์

จิตของเด็กทุกคนที่เพิ่งเกิดมานั้นจะมีความประภัสสร คือสว่างเหมือนมีแสงส่องออกมา หรือสะอาดหรือบริสุทธิ์เหมือนกันหมด (ที่เรียกว่าจิตเดิมแท้)  คือจะไม่มีกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตนเอง รวมทั้งก็ไม่มีสติปัญญาด้วย เรียกว่าเป็นจิตที่ว่างจากทั้งกิเลสและปัญญาและก็ยังไม่มีความทรงจำใดๆ จะมีก็เพียงสัญชาติญาณหรือความรู้ว่ามีตนเองติดมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งความรู้ว่ามีตนเองนี้เรียกว่า อวิชชา ที่หมายถึง ความรู้ว่ามีตนเอง โดยเมื่อธรรมชาติได้สร้างร่างกายขึ้นมา และร่างกายก็สร้างวิญญาณขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ และสังขารขันธ์ขึ้นมา จนเกิดสิ่งที่สมมติเรียกว่าจิตหรือใจนี้ขึ้นมาแล้ว มันก็จะเกิดอวิชชาขึ้นมาอยู่ในจิตด้วยเสมอ (สมัยใหม่เรียกว่าสัญชาติญาณแห่งความมีตัวตน) คือจะเกิดความรู้ว่ามีตนเองขึ้นมากับจิตทุกจิตที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้ทุกจิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง (หรือมีตัวเรา) เพื่อมนุษย์ให้รักตนเอง จะได้พยายามที่จะเอาตัวรอด จะได้ไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก ถ้าไม่มีอวิชชาหรือสัญชาติญาณว่ามีตนเองนี้ มนุษย์ก็ย่อมที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลกจนหมดสิ้นแล้ว

เมื่อจิตของเด็กเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองขึ้นมาแล้ว เมื่อจิตนี้ได้สัมผัสโลกผ่านตา หู จมูก ลิ้น และกายก็ย่อมที่จะเกิดการจดจำสิ่งที่รับรู้ได้ และเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้ได้ ซึ่งเมื่อมีความรู้สึก ธรรมชาติของจิตที่มีความรู้ว่ามีตนเอง ก็จะเกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง ที่เป็นผู้มีความอยากได้ความรู้สึกที่น่าพอใจ(สุข) และไม่อยากได้ความรู้สึกที่น่าพอใจ (ทุกข์) รวมทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรกับความรู้สึกจืดๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ขึ้นมาทันที ซึ่งนี่ก็คืออาการของกิเลส    และกิเลสนี้เองที่ทำให้จิตเกิดการปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมาพร้อมความทุกข์ แต่เมื่อใดที่กิเลสจรจากไป ความยึดถือว่ามีตนเองและความทุกข์ก็จะดับหายตามไปด้วย แต่เมื่อกิเลสเกิดขึ้นมาใหม่ ความยึดถือและความทุกข์ก็จะกลับมาใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไปตราบเท่าที่จิตนี้ยังมีอวิชชาครอบงำอยู่ และจากการที่จิตถูกอวิชชาครอบงำ จนจิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง และเกิดความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมานี้เอง ที่ทำให้จิตนี้โง่เพระไม่รู้ความจริงว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเอง จึงทำให้จิตนี้เกิดความเข้าใจผิดว่าจะมีตนเองอยู่จริงๆ (มีอัตตา) และตัวตนนี้ก็จะเกิดขึ้นมาได้ใหม่แม้ร่างกายจะตายไปแล้วก็ตาม จึงทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเพื่อมารับผลกรรมและเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องเทวดานางฟ้า เป็นต้นขึ้นมาอย่างเช่นที่ศาสนาพราหมณ์สอนนั่นเอง

ส่วนเรื่องที่ว่า กิเลส (ความอยากได้ ไม่อยากได้ ไม่แน่ใจ) จะทำให้มีการเกิดจิตใหม่ เพื่อมารับผลกรรมเก่าอีกนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกิเลสก็เป็นแค่เพียงสังขารขันธ์ หรือการปรุงแต่งคิดนึกของจิตที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาเท่านั้น ซึ่งผลจากการปรุงแต่งของจิตด้วยอวิชชานี้ก็คือทำให้จิตเกิดความยึดถือว่ามีตนเองเกิดขึ้นมาอย่างเข้มข้นภายในจิต แล้วก็ทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที (คือทุกข์เพราะมายึดถือว่าร่างกายแก่บ้าง ว่าร่างกายเจ็บบ้าง ว่าร่างกายกำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่บ้าง เป็นต้น) กิเลสไม่ได้มีผลอะไรที่วิเศษหรือมหัศจรรย์ ชนิดที่จะเป็นพลังหรืออำนาจส่งออกไปก่อนตาย เพื่อไปสร้างจิตขึ้นมาใหม่เพื่อมารับผลกรรม ที่กิเลสได้ทำไว้ก่อนจิตดับตามที่เชื่อกันผิดๆเลย

 สรุปได้ว่า มีธรรมชาติที่ไม่ได้เป็นตัวตนของใครๆ ๓ อย่าง คือร่างกาย จิต และอวิชชา ที่เมื่อธรรมชาติได้สร้างร่างกายขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดจิตตามมาด้วย และเมื่อมีจิตเกิดขึ้นมาแล้วก็ย่อมที่จะมีอวิชชาเกิดขึ้นมาครอบงำจิตเอาไว้ด้วยเสมอ จนทำให้ทุกจิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเอง และเกิดกิเลสหรือความยึดถือว่ามีตนเอง รวมทั้งความทุกข์ขึ้นมา จนกว่าจิตนี้จะได้รับการอบรมสั่งสอน จนเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งแล้วว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตนเอง (หรือตัวเรา) เลย ส่วนสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นตนเองนี้มันเป็นมายา หรือสิ่งที่ธรรมชาติได้ปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อให้จิตเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองเพียงชั่วคราวเท่านั้น (คือเกิดปัญญา) และเมื่อจิตเกิดปัญญาแล้ว พร้อมทั้งก็มีสมาธิอยู่ด้วย โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว จิตนี้ก็จะคลายความยึดถือว่ามีตนเองลงทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความยึดถือว่าจิตใจและร่างกาย (รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้อง) นี้เป็นตัวตน-ของตน (หรือตัวเรา-ของเรา) จิตนี้ก็จะไม่มีความทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์มันก็นิพพานหรือสงบเย็น (แม้เพียงชั่วคราว) และถ้าจิตนี้ได้ปฏิบัติตามหลักอริยมรรคเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่องๆนานๆ จนทำให้อวิชชาที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกหมดความเคยชิน (นิสัย-ความเคยชินที่จะเกิดขึ้นมาอีกอย่างง่ายดายและรวดเร็ว) ไปอย่างสิ้นเชิง (ถาวร) จิตนี้ก็จะไม่กลับมาเกิดความทุกข์อีกเลยอย่างถาวร (คือนิพพานตลอดชีวิต)

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************