ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องการเกิด-ดับของจิต ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า จิตของคนเรานี้มีการเกิด-ดับได้ด้วยตัวของมันเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยร่างกาย คือมันสามารถที่จะดับจากร่างกายนี้ แล้วไปเกิดขึ้นที่ร่างกายใหม่ได้ เช่น ในร่างกายของเด็กทารกในครรภ์ หรือในร่างกายของสัตว์เดรัจฉาน หรือไปเกิดเป็นเทวดาที่เชื่อกันว่าอยู่บนฟ้า เป็นต้น ซึ่งความเชื่อนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องจิตเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมเก่าจากชาติก่อน รวมทั้งความเชื่อเรื่อง นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่อง เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม ผี เปรต ยักษ์ ยมบาล เป็นต้นขึ้นมา ตามคำสอนของศาสนาฮินดู นั่นเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ถ้าจิตจะสามารถเกิด-ดับได้ด้วยตัวของมันเอง โดยที่ไม่ต้องอาศัยร่างกาย และสามารถดับจากร่างกายนี้แล้วไปเกิดขึ้นยังร่างกายใหม่ได้ ก็แสดงว่าจิตนี้เป็นอัตตา คือเป็นตัวตนของมันเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาเป็นเหตุในการปรุงแต่งให้มันเกิดขึ้นมา ตามหลักของศาสนาฮินดูนั่นเอง ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว จนทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าพุทธก็สอนเหมือนฮินดู หรือศาสนาพุทธก็เป็นเพียงสาขาหนึ่งของฮินดูเท่านั้น ตามหลักของพระพุทธเจ้าจะสอนว่า จิต หมายถึง สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ และจิตก็เป็นสิ่งปรุงแต่ง คือเมื่อมันจะเกิดขึ้น มันก็ต้องมีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อมันจะดับ มันก็ต้องเป็นเพราะเหตุหรือปัจจัยของมันได้ดับหายไปก่อน เหมือนแสงไฟจากหลอดไฟฟ้า ที่ต้องเกิดมาจากการที่มีไฟฟ้า และมีหลอดไฟฟ้าที่ยังดีอยู่ มีสายไฟ มีสวิทซ์ มีการต่อวงจรอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัย (ปัจจัยคือเหตุย่อยๆ) และมีการกดปิดสวิทซ์ (ต่อวงจร) เป็นเหตุ (เหตุ คือเหตุที่ใหญ่หรือสำคัญที่สุด) มาร่วมกันปรุงแต่ง จึงทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านหลอดไฟ แล้วก็ทำให้เกิดแสงไฟจากหลอดไฟฟ้าขึ้นมา แต่เมื่อเราเปิดสวิทซ์ (ตัดวงจร) ไฟฟ้าก็จะไม่ไหลผ่านหลอดไฟ แสงไฟฟ้าก็จะไม่เกิดขึ้น (กรณีที่ยังไม่เกิด) หรือดับหายไป (กรณีที่เกิดขึ้นแล้ว) เพราะขาดเหตุ (คือการปิดสวิทซ์หรือตัดวงจรไฟฟ้า) ถึงแม้จะมียังมีปัจจัยอยู่พร้อมก็ตาม (คือทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมีทั้งเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าขาดเหตุ หรือปัจจัย อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็จะไม่สามารถปรุงแต่งให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาได้) จิตของเรานี้ก็เหมือนกัน คือมันก็ต้องมีเหตุและปัจจัยพร้อม จิตจึงจะเกิดขึ้นมาได้ เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันดับหายไป จิตก็ย่อมที่จะดับหายไปด้วยทันที ซึ่งเหตุของจิตนั้นก็คือ อายตนะภายนอก หรือสิ่งเชื่อมต่อที่เป็นภายนอก อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งกระทบกาย (โผฏฐัพพะ) และสิ่งกระทบใจ (ธรรมารมณ์) ส่วนปัจจัยของจิตนั้นก็คืออายตนะภายใน หรือสิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อที่เป็นภายใน อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ซึ่งอายตนะภายในนี้ก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อเกิดขึ้นมา ถ้าร่างกายตาย หรือหลับสนิท หรือสลบ อายตนะภายในนี้ก็จะดับหายไปหรือไม่เกิดหรือไม่มี) เมื่อมีอายตนะภายนอกมากระทบกับอายตนะภายในที่ตรงกันเมื่อใด (คือเมื่อมีเหตุและปัจจัยพร้อม) ก็จะทำให้เกิดวิญญาณหรือการับรู้ขึ้นมาที่อายตนะภายในนั้นทันที (เช่น เมื่อมีรูปมากระทบตา ก็จะเกิดวิญญาณทางตาหรือเกิดการเห็นภาพขึ้นมาทันที) เมื่อเกิดการรับรู้สิ่งใดขึ้นมาแล้ว มันก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ทันที (เช่น จำได้ว่ารูปที่เห็นนั้นเป็นเพศตรงข้ามที่สวยงาม) เมื่อจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้แล้ว มันก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที (เช่น เกิดความรู้สึกสุขหรือมีความสุขเมื่อเห็นรูปเพศตรงข้ามที่สวยงาม) เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อไปทันทีว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่รับรู้นั้น (เช่น เกิดความอยากได้เพศตรงข้ามที่เห็นนั้น) ซึ่งนี่ก็คือการเกิดขึ้นของสิ่งที่เราสมมติเรียกว่า จิต หรือ ใจ นั่นเอง ถ้าไม่มีเหตุ (คือไม่มีอายตนะภายนอก) ถึงแม้จะมีปัจจัย (คืออายตนะภายในหรือร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่) รออยู่ก็ตาม วิญญาณก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีวิญญาณ การจำได้ ความรู้สึก และการปรุงแต่งของจิต ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือการที่ไม่มีจิตเกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะมีเหตุ ถ้าไม่มีปัจจัยชั่วคราว (คือขณะที่หลับสนิทและไม่ฝัน หรือขณะที่กำลังสลบอยู่) จิตก็จะไม่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ถ้าไม่มีปัจจัยถาวร (คือร่างกายตายแล้ว) จิตก็จะไม่เกิดขึ้นมาอีกอย่างถาวร ซึ่งนี่คือการเกิดและดับของจิตที่พระพุทธเจ้าสอน ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง คือเป็นธรรมชาติที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อมาสร้างหรือประกอบหรือทำให้เกิดขึ้น เมื่อสิ่งที่มาปรุงแต่งนั้นดับหายไป จิตก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วยทันที แต่บางคนก็เชื่อว่าจิตจะไม่ดับหายไปแม้ร่างกายจะตายไปแล้วก็ตาม คือเขาเชื่อว่าถ้าจิตยังมีกิเลสอยู่ เมื่อร่างกายตาย จิตนี้ก็ยังที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ได้ เพื่อมารับผลกรรมจากที่กิเลสได้ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งบางคนก็เชื่อว่าจิตจะล่องลอยออกไปเกิดด้วยตัวเอง แต่บางคนก็เชื่อว่าจิตไม่ได้ล่องลอยออกไปเกิดโดยตรง แต่เป็นว่าจิตนี้ได้ดับหายไปในกายนี้ แล้วมีอำนาจวิเศษอะไรสักอย่างที่เรียกว่าอวิชชาบ้าง เรียกว่ากิเลสหรือตัณหาบ้าง ที่เรียกว่าวิบากหรือผลของกรรมบ้าง (ตามแต่จะเชื่อกันไป) ที่จะส่งพลังหรือคลื่นอะไรสักอย่างออกไปทำให้เกิดจิตใหม่ขึ้นมาในร่างกายใหม่ เพื่อมารับผลกรรมที่จิตเก่าได้ทำไว้ก่อนตาย คือสรุปง่ายๆว่า เป็นความเชื่อว่าจิตจะไม่มีวันดับสูญถ้ายังมีกิเลสอยู่ แต่จะดับจากกายนี้แล้วไปเกิดใหม่ยังร่างกายใหม่สืบต่อเอาไว้ได้เรื่อยไป ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่สอนว่าจิตเป็นอัตตาหรือตัวตนของมันเอง ดังนั้นถึงมันจะเกิด-ดับ มันก็เกิด-ดับได้ด้วยตัวของมันเองแม้จะออกจากร่างกายไปแล้วก็ตาม ซึ่งความเชื่อนี้เองที่ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้ว หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว สรุปได้ว่า จิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง ดังนั้นจิตจึงเป็นอนัตตา ที่จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อเหตุและปัจจัยพร้อม จิตจึงเกิดขึ้น เมื่อเหตุหรือปัจจัยของมันดับหายไป จิตก็จะดับหายตามไปด้วยทันที ไม่ว่าจิตนั้นจะเป็นจิตที่มีกิเลส (ไม่บริสุทธิ์) หรือไม่มีกิเลส (บริสุทธิ์) ก็ตามไม่มีข้อยกเว้น ส่วนความเชื่อที่ว่า จิตจะสามารถเกิด-ดับได้ด้วยตัวของมันเอง และสามารถล่องลอยออกจากร่างกายที่ตายแล้วนี้ไปเกิดยังร่างกายใหม่ได้ หรือสามารถดับจากร่างกายที่ตายแล้วนี้และไปเกิดยังร่างกายใหม่ได้นั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้ว ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว โดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว จึงขอให้ชาวพุทธได้ช่วยกันศึกษาเรื่องความเป็นอนัตตาของจิตนี้ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้นำเอาคำสอนเรื่องจิตเป็นอนัตตานี้มาใช้ในการปฏิบัติคู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริสัจ ๔ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|