ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องคำสอนของ อชิตะ เกสกัมพล

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อเราได้ทำกรรมใดลงไปด้วยกิเลสในชาตินี้แล้ว จะต้องไปรับผลเอาในชาติหน้า แต่ถ้าใครมาสอนว่าชาติหน้าไม่มีก็เท่ากับไม่เชื่อพระพุทธเจ้า หรือเป็นพวกลัทธินอกพุทธศาสนาพวกหนึ่งที่ชื่อ อชิตะเกสกัมพล ที่สอนว่าการกระทำใดๆของมนุษย์จะไม่มีผลใดๆเลย ซึ่งคนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะทำความชั่วเพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผลที่ไม่น่าพึงพอใจใดๆ แต่ก็ไม่ทำความดี เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผลที่น่าพึงพอใจใดๆ จึงทำให้ทั้งผู้ที่เชื่อเช่นนี้และสังคมเดือดร้อนวุ่นวายเพราะมีแต่คนทำชั่ว ไม่มีคนทำความดี

แต่ในความเป็นจริงนั้นพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องที่ว่า เมื่อเราทำกรรมใดๆลงไปด้วยกิเลสแล้วจะต้องไปรับผลเอาในชาติหน้า ซึ่งคำสอนนี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่สอนเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อรับผลกรรมจากชาติก่อน แต่มันก็ได้ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วโดยที่ชาวพุทธไม่รู้ตัว

ส่วนคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นจะสอนว่า เมื่อเราได้ทำกรรมใดๆลงไปด้วยกิเลสแล้ว ก็จะต้องได้รับผลในทันทีที่กระทำ คือทำดีก็สุขใจ แต่ถ้าทำชั่วก็จะร้อนใจ ไม่ใช่จะไม่ได้รับผลเลยอย่างที่อชิตะเกสกัมพลสอน และก็ไม่ใช่จะไปรับผลเอาในชาติหน้าอย่างที่ศาสนาอินดูสอน

ในเรื่องนี้เราก็ต้องมาศึกษาหลักคำสอนของของ อชิตะ เกสกัมพล ก่อน ซึ่งมีดังนี้..

ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี

โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี

สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก

คนเรานี้ เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ

ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ

คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิราบ

การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้ คนเขลาบัญญัติไว้

คำของคนบางพวกพูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ

เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิด.

จากหลักคำสอนนี้ ก่อนอื่นเราควรพิจาณาว่า  เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า? ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนก็จะตอบว่าเพราะมันมีอยู่ในตำราของพุทธศาสนา แต่อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าก็สอนอยู่ว่า ตำรานั้นอาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับได้เสมอ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่สอนให้เชื่อตำรา แต่สอนให้นำคำสอนที่ได้รับฟังมาหรืออ่านมานั้นมาพิจารณาก่อน ถ้าเห็นว่าดีมีประโยชน์และไม่เกิดโทษก็ให้นำเอามาทดลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าได้ผลจึงค่อยเชื่อ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อย่าเชื่อ

เมื่อสรุปหลักของ อชิตะ เกสกัมพล แล้วก็เข้าใจได้ว่า มันก็คือการสอนให้เข้าใจว่า ชีวิตของเราและของทุกชีวิตนี้มันไม่มีตัวตนใดๆอยู่เลย เพราะร่างกายและจิตใจนี้เป็นเพียงการที่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มาประกอบหรือปรุงแต่งกันขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้นมันจึงไม่ได้มีตัวตนใดๆเลย รวมทั้งการกระทำใดๆของชีวิตจะไม่มีผลใดๆเลย ซึ่งก็คือทำดีก็ไม่มีผลใดๆ ทำชั่วก็ไม่มีผลใดๆ และก็รวมทั้งเรื่องพ่อแม่ก็ไม่มีบุญคุณ และเรื่องไม่มีปัจจุบันและอนาคตด้วย

หลักคำสอนของอชิตะเกสกัมพลนี้ไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนว่า ชีวิตของเรานี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีตัวตนใดๆเลยเลยอย่างที่อชิตะเกสกัมพลสอน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีตัวตนอมตะ (หรืออัตตา) อย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอนอีกเหมือนกัน คือพระพุทธเจ้าสอนเรื่องชีวิตว่า ชีวิตของเรานี้มันเป็นสิ่งปรุงแต่งมาจากธาตุให้เกิดเป็นตัวตนขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น ที่เรียกว่า อนัตตา คือมันก็มีตัวตนเหมือนกัน แต่เป็นตัวตนชั่วคราวหรือตัวตนมายาเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เท่านั้น ถ้าตายแล้วตัวตนชั่วคราวนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาใหม่ได้

ส่วนคำสอนของอชิตะเกสกัมพลที่สอนว่า การกระทำใดๆของชีวิตจะไม่มีผลใดๆเลยนั้น ไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนว่า การกระทำด้วยเจตนา (คือกิเลส) ย่อมมีผลเสมอ ซึ่งผลนั้นก็คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิตใจทันทีเมื่อได้กระทำกรรมใดๆลงไป คือถ้าทำความดี ก็จะมีความสุขใจ อิ่มใจ ขึ้นมาทันที ถ้าทำความชั่วก็จะเกิดความร้อนใจ ไม่สบายใจ ขึ้นมาทันที ซึ่งนี่ก็คือผลที่ใครๆก็ค้านไม่ได้ เพราะทุกคนก็รู้สึกหรือสัมผัสได้จริง โดยไม่ต้องเชื่อจากใครๆ (แต่เราก็ไม่ยอมรับกัน คิดว่ามันไม่ยุติธรรม)

สรุปว่า คำสอนของอชิตะเกสกัมพลนั้น จะสอนว่าการกระทำด้วยเจตนา (คือกิเลส) ของทุกชีวิตจะไม่มีผลใดๆเลย ซึ่งคนที่มีความเชื่อเช่นนี้จะไม่กลัวการทำชั่ว เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับผลที่ไม่น่าพึงพอใจใดๆ และก็ไม่อยากทำความดีเพราะเชื่อว่าไม่ได้ผลที่น่าพึงพอใจอะไรเลย ดังนั้นคนที่เชื่อเช่นนี้จึงพยายามแสวงหาความสุขโดยไม่คำนึงถึงความผิดหรือถูก เพราะเชื่อว่าไม่มีผลใดๆ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ย่อมที่จะส่งผลทำให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายขึ้นมาในสังคมอย่าง เช่นที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน (คือมีคนที่เชื่อเช่นนี้มากขึ้น ทั้งๆที่เขาบอกว่าเขามีศาสนาที่ดี) แต่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าจะไม่เหมือนคำสอนของอชิตะเกสกัมพล คือพระพุทธองค์จะสอนว่า การกระทำด้วยเจตนา (คือกิเลส) ของทุกชีวิต ย่อมที่จะมีผลตามมาด้วยเสมอ ไม่ใช่ไม่มีผลใดๆเลยอย่างที่อชิตะเกสกัมพลสอน แต่ผลนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปรับเอาในชาติหน้าอย่างที่ศาสนาพราหมณ์สอน คือผลนั้นก็ได้แก่ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของเราเองในขณะที่กำลังเกิดกิเลสอยู่นี่เอง (คือทำดีก็สุขใจ ทำชั่วก็ร้อนใจ) แต่ชาวพุทธที่ไม่เข้าใจ เพราะถูกความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์เรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิดเพื่อมารับผลของกรรมเก่าครอบงำ จะไม่ยอมรับ เพราะคิดว่าไม่ยุติธรรม ถ้าจะให้ยุติธรรมก็จะต้องเกิดใหม่เพื่อรับผลอย่างที่เชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรแล้วถ้าผู้ฟัง (หรืออ่าน) ไม่ยอมรับความจริง เมื่อไม่ยอมรับความจริงว่าการกระทำด้วยกิเลสก็จะมีผลแก่จิตใจในทันทีที่กระทำ แต่ไปเชื่อว่าต้องไปรับผลเอาในชาติหน้า ก็เท่ากับว่าไม่ใช้ปัญญาในการศึกษา แต่กลับไปใช้ศรัทธาหรือความเชื่อในการศึกษาแทน และเมื่อใช้ความเชื่อไม่ใช้ปัญญา แล้วจะเห็นแจ้งชีวิตตามที่เป็นอยู่จริงได้อย่างไร? เมื่อไม่มีปัญญา แล้วจะดับทุกข์ของชีวิตได้อย่างไร?   

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************