ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องเหตุผล-ความเชื่อ-ความจริง

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ความเชื่อตามตำรา หรือตามครูอาจารย์ หรือตามสามัญสำนึกของเราเอง เป็นต้นนั้น สามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความจริง ตามหลักพุทธศาสนาได้

แต่ในความเป็นจริงนั้น เราจะเอาความเชื่อมาเป็นเหตุผลในการพิจารณาใดๆไม่ได้ เพราะความเชื่อนั้นเป็นแค่ความมั่นใจว่าจะเป็นความจริงเท่านั้น ดังนั้นการเอาความเชื่อมาอ้างว่าเป็นเหตุผลนั้นจึงเป็นการกระทำที่ผิด คนที่เข้าใจเรื่องเหตุผลเขาไม่ทำกัน อย่างเช่นที่ชอบอ้างกันว่า การที่คนเราเกิดมาแตกต่างกันนั้นเป็นเพราะกรรมที่ได้กระทำไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน หรือการที่เราประสบอุบัติเหตุจนทำให้ร่างกายพิการ ก็เพราะเราเคยทำร้ายสัตว์อื่นหรือคนอื่นมาก่อน เป็นต้น

คำว่า เหตุ หมายถึง ต้นเหตุ หรือสิ่งที่กระทำ  คำว่า ผล หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ เหตุกับผลจึงเป็นของคู่กัน คือเมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล  เมื่อมีผลก็ต้องมีเหตุ แล้วเหตุนี้มาจากไหน? คำตอบก็คือ มาจากความจริง คือความจริงนั้นหมายถึง สิ่งที่มีอยู่ หรือเป็นอยู่ตามธรรมชาติอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง โดยในความจริงนั่นเองที่มันมีเหตุผลของมันอยู่แล้วในตัว เมื่อเราพบความจริง เราก็จะพบเหตุผลของความจริงนั้นได้ด้วย อย่าเช่น เมื่อเราความทุกข์ใจเกิดขึ้น แล้วเราเพ่งพิจารณาดูถึงความทุกข์นั้นด้วยความตั้งใจ เราก็จะพบถึงเหตุที่ทำให้ความทุกข์นี้เกิดขึ้นด้วย คือพบว่าเป็นเพราะความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรานี่เองที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา (ความยึดถือเป็นเหตุให้เกิดผลคือความทุกข์ใจ) และยังไม่เท่านั้น เมื่อเราเพ่งพิจารณาต่อไปเพื่อสาวหาเหตุว่าอะไรเป็นเหตุให้จิตเกิดความยึดถือนี้ขึ้นมาเราก็จะพบว่า เพราะมีอวิชชามาเป็นเหตุ จึงทำให้จิตปรุงแต่งให้เกิดความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้เป็นตัวเรา-ของเราขึ้นมา (ตามหลักปฏิจจสมุปบาท) เป็นต้น

เหตุและผลนี้จะต้องอยู่ติดกันเสมอ คือเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาเมื่อใด ก็จะต้องเกิดผลขึ้นมาทันทีเมื่อนั้น ตามกฏอิทัปปัจจยตาที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี” จะแยกกันไม่ได้ เพราะถ้าแยกกันก็จะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงแล้ว คือจะกลายเป็นความเชื่อไปเสียแล้ว อย่างเช่นที่บอกว่า การที่เราเกิดมายากจนในชาตินี้ก็เป็นเพราะเราไม่ได้ทำบุญเอาไว้เมื่อชาติก่อน เป็นต้น คือมันมีเรื่องเวลามาครั่นกลางมันจึงไม่ใช่เหตุผลแต่เป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น โดยคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าจะต้องเป็นอกาลิโก คือไม่มีเรื่องเวลามาครั่นกลาง คือทำเหตุเมื่อไรก็ย่อมจะเกิดผลเมื่อนั้นทันที เพียงแต่ผลที่เกิดขึ้นมาแล้วนี้ก็อาจกลายเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก เหมือนโดมิโนที่ผลักกันต่อไปๆ จนเกิดผลสุดท้ายขึ้นมานั่นเอง

สรุปได้ว่า เหตุผลนั้นเป็นการอธิบายให้เข้าใจถึงความจริงที่มีอยู่หรือเป็นอยู่จริงตามธรรมชาติ ซึ่งความเข้าใจชีวิต (ขันธ์ ๕) ตามที่เป็นจริง (สรุปคือไม่ใช่ตัวเราจริง) นี้เอง ที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ปฏิบัติคู่กับสมาธิ โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ส่วนความเชื่อนั้นเป็นแค่ความมั่นใจว่าจะเป็นจริงเท่านั้น ดังนั้นเราจะเอาความเชื่อ (เช่น เชื่อตามตำรา เชื่อตามครูอาจารย์ เชื่อตามสามัญสำนึกของเราเอง เป็นต้น) มาใช้ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าไม่ได้ จนกว่าเราจะพิสูจน์ความเชื่อของเราจนพบว่าเป็นความจริงก่อน ความเชื่อนั้นจึงจะกลายมาเป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ อย่างเช่น เมื่อเราเชื่อว่านรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เป็นต้นมีอยู่จริง เราก็ต้องพิสูจน์ให้พบเห็นจริงๆก่อน ความเชื่อนี้จึงจะกลายเป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ แต่ถ้ายังพิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อนี้ก็จะยังคงเป็นแค่ความเชื่อที่นำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ไม่ได้อยู่ต่อไป เป็นต้น

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************