ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องกินเนื้อ-กินผัก ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสก่อนตาย ดังนั้นจึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้าทรงไม่ฉันเนื้อสัตว์ และยังสอนให้ผู้ที่นับถือไม่กินเนื้อสัตว์ด้วย เพราะการกินเนื้อสัตว์ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการฆ่าสัตว์ด้วย ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าใครที่กินเนื้อสัตว์ ก็เท่ากับไม่ใช่สาวกหรือผู้นับถือพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนชองพระพุทธเจ้า แต่ในความเป็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่สอนให้กินอาหารด้วยสติปัญญา ไม่กินด้วยความพึงพอใจหรือความอยาก รวมทั้งก็ไม่กินด้วยความไม่พึงพอใจหรือรังเกียจด้วย คือกินเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์ทางกายเท่านั้น ไม่ใช่กินด้วยความพึงพอใจในรสอร่อยของอาหาร ซึ่งการกินอย่างนี้เป็นการกินอย่างประหยัดที่สุด และเกิดประโยชน์ที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เลยก็ได้ แต่ถึงแม้จำเป็นที่จะต้องกินเนื้อสัตว์ (อย่างเช่นพระที่ต้องขออาหารจากชาวบ้านมาฉัน) ก็กินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปกติเราก็รู้กันอยู่ว่า พระพุทธเจ้าสอนให้มีเมตตา ไม่ฆ่าหรือทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต แม้การส่งเสริมให้คนอื่นฆ่าก็ตาม เพื่อทุกชีวิตจะได้ไม่เป็นอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกคนเอาไปฆ่า หรือเกิดความทุกข์ทรมานอย่างหนักเมื่อกำลังถูกฆ่า แต่ในชีวิตจริงคนเรากลับกินเนื้อสัตว์กันอย่างพึงพอใจในความเอร็ดอร่อย โดยไม่คิดถึงเรื่องนี้เลย แล้วก็บอกว่าตัวเองไม่ได้ฆ่า คนอื่นเขาฆ่ามาให้เรากิน เราจึงไม่บาป (ไม่เป็นคนเลวร้าย) ใครฆ่าเขาก็รับผลบาป (ผลจากความเลวร้าย) ของเขาเอง โดยบาปหรือผลเลวร้ายจากการกินเนื้อสัตว์นี้ก็มี ๒ อย่าง คือ ผลทางร่างกาย กับผลทางจิตใจ โดยผลทางร่างกายนั้นก็ได้แก่โรคร้ายมากมาย ที่ทำให้ร่างกายทุกข์ทรมาน โดยโรคที่มาพร้อมกับการกินเนื้อสัตว์ก็มีมากมาย อย่างเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมันอุดตัน โรคหัวใจ และโรคไขข้ออักเสพ เป็นต้น ซึ่งคนอ้วนแม้จะยังไม่มีโรคใดๆ แต่มันก็ทำให้เกิดความหนักและความเหน็ดเหนื่อยทรมานในการเคลื่อนไหว ที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายอยู่ตลอดเวลา และถ้าอ้วนมากๆสุดท้ายก็จะเดินไม่ได้ ซึ่งนี่ก็เป็นโทษจากการกินเนื้อสัตว์ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อีกทั้งการกินเนื้อสัตว์ก็ยังทำให้เราต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้ทรัพย์มาซื้ออาหารที่เป็นเนื้อสัตว์มากินเองและให้คนที่รักกิน ซึ่งการทำงานก็ทำให้ต้องพบกับปัญหาและอุปสรรค์มากมาย ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ร่างกายอีก ส่วนผลทางจิตใจนั้นก็คือการมีนิสัยของกิเลสมากขึ้น โดยการที่จิตของเราเกิดกิเลส (พอใจ ไม่พอใจ ไม่แน่ใจ) ขึ้นมาครั้งใดแล้วดับหายไป มันก็จะทิ้งความเคยชินเอาไว้ให้แก่จิตใต้สำนึก (ที่เรียกว่าอนุสัย) ซึ่งความเคยชินนี้เองที่เรียกว่า นิสัย ที่เลิกได้ยาก และเราก็จะทำหรือพูด หรือคิดไปตามความเคยชินหรือนิสัย ซึ่งเมื่อจิตใต้สำนึกของเรามีความเคยชินของกิเลสมากๆ แน่นอนว่ามันก็จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่เรา เพราะมันจะเกิดขึ้นมาคอยบงการชีวิตของเราให้เดินไปตามอำนาจของมัน คือบังคับให้เราต้องแสวงหาสิ่งที่กิเลสมันพอใจหรืออยากได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่ได้จำเป็นแก่การดำเนินชีวิตของเราเลย ซึ่งสิ่งที่ไม่จำเป็นนั้นก็ได้แก่ เรื่องกามารมณ์ (เรื่องเพศตรงข้าม) เรื่องวัตถุฟุ่มเฟือย และเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง คือมันทำให้เราต้องทำงานหนักมากขึ้น มีภาระมากขึ้น ต้องพบกับภาวะที่ไม่น่ายินดีในการแสวงหาและดูแลรักษามากโดยไม่จำเป็น รวมทั้งยังต้องพบกับการสูญเสียสิ่งที่ไม่จำเป็นนี้อีกด้วย แล้วก็ทำให้จิตของเรามีความเศร้าโศกหรือเสียใจ ความเครียด ความวิตกกังวล ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น ที่เรียกว่าความทุกข์ทางจิตใจอยู่เสมอๆ แต่เมื่อกิเลสมันไม่ได้สิ่งที่มันพอใจหรืออยากจะได้ กิเลสมันก็จะเกิดความไม่พอใจหรือโกรธ มันก็จะบังคับให้เราต้องไปด่าคนอื่น หรือทำร้ายคนอื่น จนทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงตามมา เช่น ถ้าไปด่าหรือทำร้ายคนอื่น ก็จะถูกทำร้ายหรือด่าตอบ หรือถูกกฎหมายลงโทษ หรือถูกสังคมรังเกียจ เป็นต้น หรือแม้เพียงแค่การที่เราคิดอาฆาตแค้นอยู่ในใจ ก็ทำให้จิตใจของเรารู้สึกเร่าร้อนหรือทรมานอยู่แล้ว และสุดท้ายเมื่อสิ่งที่กิเลสมันได้ยึดถือเอาไว้ว่าเป็นตัวเรา-ของเราได้เปลี่ยนแปลงไป หรือสูญเสียไป อันได้แก่ ร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บป่วย ร่างกายกำลังจะตาย คนรักหรือสิ่งที่รักได้จากไป คนหรือสิ่งที่เราเกลียดกลัวต้องมาอยู่กับเรา หรือเมื่อเราอยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้ตามที่อยาก เป็นต้น จิตที่กิเลสได้ครอบงำนี้ก็จะเกิดความทุกข์อย่างรุนแรงขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คือผลของกิเลสหรือผลของบาป การกินเนื้อสัตว์นั้นจะให้ความเอร็ดอร่อยมาก ดังนั้นจึงทำให้คนกินมีนิสัยของกิเลสมาก เมื่อมีนิสัยของกิเลสมาก ผลของกิเลสหรือผลของบาปจึงมีมากตามไปด้วย และเมื่อสังคมมีแต่คนกินเนื้อสัตว์มากๆ จึงเท่ากับว่ามีแต่คนที่มีกิเลสหนาแน่นอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อผู้คนมีแต่คนมีกิเลสหนา บ้านเมืองจึงต้องประผลกับผลของกิเลสหรือบาป ร่วมกันอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน โดยผลของบาปนั้นก็ได้สร้างปัญหาและความเดือดร้อนขึ้นมามากมายในโลก เช่น ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกัน ปัญหาความอดอยากขาดแคลน ปัญหาภัยแล้ง ปัญหามลภาวะเป็นพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาโรคระบาดร้ายแรง และปัญหาสงคราม เป็นต้น ส่วนคนที่ฆ่าสัตว์อยู่เสมอนั้นก็จะเป็นคนมีโทสะจัดไร้เมตตา อันจะเป็นกิเลสที่มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ฆ่าสัตว์ เช่น โลภมาก โกรธง่าย ไร้ปัญญา เห็นแก่ตัวจัด ชอบดื่มสุรา ชอบเสพสิ่งเสพติด เป็นต้น อันจะนำบาปหรือความเลวร้ายมาให้ชีวิตมากว่าคนที่ไม่ได้ฆ่าสัตว์ เช่น ต้องทำงานหนัก ยากจน ตกต่ำ เดือดร้อน ร่างกายเจ็บป่วย เกิดโรคร้ายแรง ถูกลงโทษ เป็นทาส ส่วนจิตใจก็จะมีแต่ความทุกข์ใจ หงุดหงิดรำคาญใจ ไม่สบายอยู่เสมอๆ เป็นต้น ทีนี้มาเรื่องพระที่ฉันเนื้อสัตว์ ซึ่งร่างกายของพระที่ฉันเนื้อสัตว์ก็ต้องรับผลเหมือนกับญาติโยมที่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง คือเกิดโรคต่างๆตามมาไม่ช้าก็เร็ว รวมทั้งเกิดปัญหาและความเดือดร้อนต่างๆที่เกิดมาจากกิเลสที่ชอบกินเนื้อสัตว์เหมือนคนทั่วไป ซึ่งการบวชพระนั้นแท้จริงเขาบวชเพื่อปฏิบัติให้จิตหลุดพ้นจากกิเลส ไม่ใช่บวชตามประเพณีหรือบวชเลี้ยงชีพ หรือบวชมาเพื่อแสวงหาทรัพย์ หรือชื่อเสียงอย่างสมัยนี้ ดังนั้นพระสมัยนี้จึงยังคงต้องได้รับผลจากกิเลสหรือบาปทางใจ คือทำให้ยังไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ใจเหมือนกับชาวบ้านที่ยังมีกิเลสอยู่เต็มหัวใจ ส่วนพระแท้ๆที่ปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากกิเลสนั้นท่านจะฉันอาหารเท่าที่จำเป็น ท่านจะไม่ฉันด้วยความพอใจหรืออยาก หรือเพื่อประดับเพื่อตกแต่ง หรือเพื่อให้ร่างกายเปล่งปลั่งเป็นที่พึงพอใจของเพศตรงข้าม โดยท่านจะฉันเพื่ออนุเคราะห์ร่างกายให้คงอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมในการลดละกิเลสเท่านั้น แม้ขณะฉันท่านก็ยังพิจาณาอาหารนั้นถึงความเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาจากธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้เป็นสัตว์ บุคคล หรือตัวตนใดๆ แม้เมื่อฉันไปแล้วและถ่ายออกมาก็จะเป็นสิ่งสกปรกโสโครกที่น่าเกลียดน่าขยะแขยงยิ่งนัก ซึ่งการพิจารณาเช่นนี้จะช่วยละความพอใจในรสอาหารลงได้แล้วก็ทำให้กิเลสจากการฉันอาหารไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการฉันอาหารของท่านจึงฉันเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็นแก่ร่างกาย ไม่ทำให้ร่างกายเกิดความทุกข์เพราะฉันมากไปหรือน้อยเกินไป ส่วนอาหารนั้นท่านเลือกไม่ได้ว่าจะต้องฉันอาหารอย่างนี้ ไม่ฉันอาหารอย่างนั้น เมื่อญาติโยมใส่บาตรอาหารอะไรมาท่านก็จำเป็นต้องฉัน จะได้ไม่เป็นภาระแก่โยมที่ใส่บาตร แม้จะเป็นเนื้อสัตว์ก็ตาม แต่มีวินัยบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิดคือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อหมี เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง และยังห้ามเนื้อที่เห็นหรือได้ยินเขาฆ่า รวมทั้งเนื้อที่เขาฆ่าเฉพาะเจาะจงมาถวาย หรือถ้าท่านรังเกียจเนื้อสัตว์ท่านจะไม่ฉันก็ได้ แต่แม้จะเป็นพืชผัก ถ้าเป็นพระที่มีปัญญาและมีจิตที่ละเอียดก็จะเข้าใจได้ว่า แม้พืชก็มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับสัตว์หรือมนุษย์เราเลย เพราะพืชก็มีวิญญาณหรือการรับรู้เหมือนกับสัตว์และมนุษย์ (มีวินัยห้ามภิกษุทำให้พืชตายด้วย) ดังนั้นการกินเนื้อหรือกินพืช ก็มีส่วนทำให้เกิดการฆ่าชีวิตเหมือนกันทั้งสิ้น นี่เองที่ทำให้พระแท้ๆท่านจึงฉันอาหารด้วยความระวังว่าจะไม่ฉันด้วยกิเลส หรือด้วยความพึงพอใจในอาหารที่เอร็ดอร่อย หรือแม้ด้วยความไม่พึงพอใจในอาหารที่ไม่เอร็ดอร่อยแม้เพียงเล็กน้อย เพราะจะทำให้จิตใจเกิดกิเลส และสั่งสมความเคยชินของกิเลสเอาไว้ในจิตใต้สำนึก (ที่เรียกว่าเป็นสังโยชน์) แล้วก็ทำให้จิตไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนจากกิเลสได้ เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|