ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องเกิดมาทำไม? ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่ามนุษย์เรานั้นเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม คือปกติแล้วมนุษย์ทุกคนก็อยากได้ความสุข แต่เกลียดกลัวความทุกข์ แต่สำหรับชาวพุทธที่ไม่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง เพราะถูกความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูครอบงำมาก่อนก็จะเกิดความเชื่อขึ้นมาว่า คนเรานี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็อยากได้ความสุข แต่เพราะถูกกิเลส (คือพอใจ ไม่พอใจ ไม่แน่ใจ) ครอบงำ จึงได้ทำอะไรๆไปตามอำนาจกิเลส เพื่อให้ได้ความสุข และเมื่อได้ทำอะไรๆไปตามอำนาจกิเลส แล้วก็เกิดเป็นกรรม (การกระทำด้วยเจตนาซึ่งเจตนาก็คือกิเลส) ขึ้นมา เมื่อมีกรรมก็ต้องมีผลของกรรมที่เรียกว่า วิบาก และถ้ายังรับผลของกรรมไม่หมดแล้วตายไป ก็ต้องเกิดขึ้นมาใหม่เพื่อมารับผลของกรรมเก่าให้หมด แต่เมื่อเกิดขึ้นมารับผลของกรรมเก่าแล้วผลของกรรมเก่านั้นก็ทำให้เกิดกิเลสอีก จึงได้ทำกรรมใหม่ขึ้นมาอีกตามอำนาจของกิเลส แล้วก็ต้องมารับผลของกรรมนั้นอีก และถ้ายังรับผลของกรรมไม่หมดแล้วตายไปอีก ก็ต้องเกิดขึ้นมาใหม่เพื่อมารับผลของกรรมนั้นอีก วนเวียนเป็นวงกลมที่เรียกว่าวัฏฏะสงสารอย่างนี้เรื่อยไป จึงทำให้เกิดความเชื่อกันว่ามนุษย์นั้นเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือมีหน้าที่ต้องรับผลของกรรมตามที่ตนเองได้ทำไว้แต่ชาติปางก่อน จนกว่าจะหมดกรรมหรือหมดกิเลสอย่างสิ้นเชิงเพราะได้ปฏิบัติตามหลักกำจัดกิเลสตามความเชื่อของศาสนา จึงจะหยุดเวียนว่ายตาย-เกิดได้อย่างถาวร แต่ในความเป็นจริงนั้นถ้าเราศึกษาคำสอนระดับสูง (ปรมัตถธรรม) ของพระพุทธเจ้า เรื่องขันธ์ ๕ (คือร่างกายกับจิตใจ) ของมนุษย์ทุกคนนี้เป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตัวตนของตนเอง) แล้ว เราก็จะเข้าใจได้ว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวตน (อัตตา) ของใครๆมาเกิด มีแต่ตัวตนมายาหรือตัวตนชั่วคราว ที่ธรรมชาติปรุงแต่งสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วชีวิตก็ยังมีความทุกข์ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจไปจนกว่าจะตาย ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีหน้าที่ที่จะต้องกำจัดความทุกข์ทั้งของร่างกายและจิตใจให้ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปถ้าทำได้ แต่ถ้ามนุษย์คนใดไม่ปฏิบัติหน้าที่นี้ก็จะเกิดความทุกข์ คือถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่กำจัดทุกข์ทางกาย ร่างกายก็จะเป็นทุกข์ ถ้าไม่ปฏิบัติหน้ากำจัดทุกข์ทางจิตใจ จิตใจก็จะเป็นทุกข์ ถ้าจิตเป็นทุกข์แม้จะมีความสุขก็ไร้ความหมาย ร่างกายนั้นถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกต้อง มันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที เช่น ถ้ากินอาหารมากก็จะอ้วนแล้วก็ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมากมาย แต่ถ้ากินน้อยไปก็จะผอมแล้วไม่แข็งแรงและมีโรคอื่นตามมาได้ หรือถ้าไม่ออกกำลังกาย ร่างกายก็จะไม่แข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรคต่ำแล้วก็จะเกิดโรคได้ง่าย หรือถ้าเราเอาสิ่งที่สามารถทำอันตรายแก่ร่างกายได้เข้าสู่ร่างกาย เช่น ควันบุหรี่ สุรา สิ่งเสพติด หรือสารเคมีเป็นพิษ เป็นต้น ก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดเจ็บป่วยได้ เป็นต้น ดังนั้นการดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงไม่ให้เกิดเจ็บป่วย จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์อันดับแรก อีกอย่างร่างกายจำเป็นต้องมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพื่อมาบริหารให้ร่างกายมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายหรือมีความทุกข์น้อยที่สุด ดังนั้นการทำหน้าที่การงานที่สุจริตด้วยความขยันและอดทน เพื่อให้ได้ทรัพย์มาแลกเปลี่ยนปัจจัย ๔ จึงจัดเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์อย่างหนึ่ง แต่การที่มนุษย์จะทำหน้าที่การงานที่สุจริตนี้ได้อย่างมั่นคงตลอดไป มนุษย์ก็ต้องดูแลรักษาครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลกหรือธรรมชาติ ให้ตั้งอยู่อย่างปลอดภัยและสงบสุข มนุษย์จึงจะมีหน้าที่การงานที่สุจริตนี้ได้อย่างมั่นคง ดังนั้นการที่เราต้องดูแลรักษาบุคคลในครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ให้ตั้งอยู่อย่างปลอดภัยและสงบสุข จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์ด้วย รวมทั้งการดูแลรักษาธรรมชาติ เช่น ป่าไม่ แม่น้ำลำคลอง ทะเล เป็นต้น ให้มีอยู่อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้สภาพแวดล้อมที่เราจำเป็นต้องอาศัยอยู่นี้มีความเหมาะสมที่เราจะอาศัยอยู่อย่างสุขสบาย ก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์อีกด้วย ซึ่งการใช้ที่เรากินและใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยนั่นเองที่เป็นสาเหตุให้มีการทำลายทรัพยากรป่าไม้และท้องทะเล รวมทั้งแม่น้ำลำคลองอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดภัยพิบัติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ลมพายุ และอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เป็นต้น กลับมาสู่ตัวเรา อีกทั้งยังทำให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษทั้งทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ ย้อนกลับมาทำให้เราเดือดร้อนอีกด้วย ดังนั้นการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย คือประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย และการมีความสามัคคีกันที่จะช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์ทุกคนด้วยเหมือนกัน ส่วนจิตใจของเรานั้น แม้ร่างกายจะสุขสบายแล้วก็ตาม แต่ถ้าจิตใจยังมีความทุกข์ มันก็ยังไม่ทำให้ชีวิตเป็นสุขได้จริง เพราะจิตใจสำคัญกว่ากาย ดังนั้นการดูแลรักษาจิตใจไม่ให้เกิดความทุกข์ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้หน้าที่ทางกายเลย โดยการที่จิตใจของเราเป็นทุกข์นั้น มันเกิดมาจากความโง่เขลาของจิตเองที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจถึงระบบการทำงานของจิตใจว่าทำไมมันจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ ดังนั้นการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจว่า ทำไมจิตใจของเราจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์เราด้วย และเมื่อเราได้ศึกษาจนเกิดความรู้และความเข้าใจแล้วว่า ทำไมจิตใจของเราจึงเกิดความทุกข์ขึ้นมา ต่อไปเราก็ต้องมาปฏิบัติเพื่อที่จะป้องกันและกำจัดสาเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นแก่จิตใจของเราทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติเพื่อกำจัดสาเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นแก่จิตใจของเราทั้งในปัจจุบันและในอนาคตแล้ว จิตใจของเราก็ย่อมที่จะพบกับความทุกข์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อป้องกันและกำจัดสาเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นแก่จิตใจของเราทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์เราด้วย ยังไม่เท่านั้น ถ้าสังคมและโลกไม่มีคนดีและมีปัญญามากๆ สังคมและโลกก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย แล้วความเดือดร้อนวุ่นวายนั้นก็จะมาถึงเราได้ เพราะเรายังต้องอยู่ในสังคมและโลกเดียวกัน ดังนั้นการช่วยกันเผยแผ่คำสอนของศาสนา (ทุกศาสนา) สู่เพื่อนมนุษย์ ที่จะทำให้สังคมเกิดคนดีและมีปัญญาขึ้นมากๆ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของมนุษย์ทุกคนด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าเราต่างก็ละเลยหน้าที่เผยแผ่นี้ ไม่นานสังคมก็จะล่มสลายและแม้โลกก็จะพินาศ สรุปได้ว่า มนุษย์นั้นเกิดมาพร้อมกับความทุกข์ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ความทุกข์จึงเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีหน้าที่กำจัดหรือดับทุกข์ของชีวิต ถ้ามนุษย์คนใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ ชีวิตก็ย่อมจะเป็นทุกข์ ส่วนความสุขนั้นไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่มนุษย์ก็ลุ่มหลงติดใจกันมาก ซึ่งการลุ่มหลงติดใจในความสุขจนมากเกินไปของมนุษย์นี่เอง ที่สร้างปัญหาให้กับมนุษย์และทำให้มนุษย์ไม่สนใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องสมบูรณ์ จนทำให้ชีวิตต้องประสบกับปัญหาและความทุกข์อย่างมหันต์อย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ จึงขอฝากให้ชาวพุทธทั้งหลาย ได้ช่วยกันศึกษาเรื่องหน้าที่ของมนุษย์นี้ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง และน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์กันต่อไป รวมทั้งขอให้ช่วยกันเผยแผ่เรื่องหน้าที่นี้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยใจบริสุทธิ์ เพื่อช่วยให้เขาได้หลุดพ้นจากความทุกข์ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|