ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องดวงตาเห็นธรรม ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่าการมีดวงตาเห็นธรรมนั้นจะต้องนั่งหรือเดินฝึกสมาธิมากๆและอ่านตำรามากๆ แล้วก็พิจารณาตามตำรา รวมทั้งเชื่อตำรา จึงจะเกิดดวงตาเห็นธรรม แต่ในความเป็นจริงนั้นการเกิดวงตาเห็นธรรมก็คือการเกิดปัญญาเห็นแจ้งในหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าว่าดับทุกข์ได้จริง โดยการเห็นแจ้งนี้จะต้องมีหลักการศึกษาและปฏิบัติไปตามลำดับ คือต้องค่อยๆศึกษาจากพื้นฐานไปสู่ยอด และมีการพิสูจน์หรือทดลองอย่างจริงจัง จึงจะเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาได้ ซึ่งหลักในการศึกษานั้นก็พอจะสรุปได้ดังนี้ ๑. ต้องเห็นว่า ความทุกข์ คือปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ซึ่งความทุกข์นี้คือความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน (ไม่ใช่ความทุกข์ทางกาย เพราะจิตใจสำคัญกว่าร่างกาย) ซึ่งก็ได้แก่ ความเศร้าโศก หรือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น (นี่คือความทุกข์ในอริยสัจ ๔) ถ้าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์ทางใจนี้เลยได้ ก็นับว่าเรานั้นเป็นผู้ที่โชคดีอย่างที่สุดแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นนี้เราต้องอย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องอื่น คือให้มาสนใจเรื่องทุกข์นี้ก่อนว่า มันจริงหรือไม่ที่ว่าความทุกข์ทางใจนี้คือปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน? โดยเราต้องเอาเรื่องความทุกข์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตมาพิจารณา รวมทั้งเพ่งดูความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่จริงในขณะนี้ (ถ้ามี) และยังต้องใช้จินตนาการถึงอนาคตว่ามันจะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน (เช่นเมื่อเราแก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ผิดหวัง เป็นต้น) ถ้าเข้าใจและเห็นแจ้งแล้วว่าความทุกข์ของจิตใจนี้คือปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนแล้ว จึงจะเลื่อนระดับไปศึกษาเรื่องที่สูงขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับก็จะไม่สามารถเลื่อนไปศึกษาระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้ และเมื่อเข้าใจและเห็นแจ้งแล้วว่าความทุกข์ใจคือปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนแล้ว เราจะต้องยึดหลักนี้ไว้ให้ดี เพราะการศึกษาและปฏิบัติต่อไปนี้ของเราทั้งหมด จะมุ่งไปที่เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่หลวงที่สุดนี้เท่านั้น คือเพื่อดับทุกข์ของจิตใจนี้เท่านั้น (ไม่ใช่ศึกษาเพื่อหวังเรื่องทางกามารมณ์ เรื่องทางวัตถุ หรือเรื่องทางเกียรติยศชื่อเสียง อย่างที่ชาวโลกเขาทำกัน) ส่วนขั้นต่อไปก็คือ ๒. ต้องเข้าใจว่า ความทุกข์ทางกายนั้นมันเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครจะแก้ไขหรือดับมันได้ (เช่นร่างกายแก่ เจ็บ ตาย คนรักจากไป เป็นต้น) แต่ความทุกข์ทางใจนั้นมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการที่จิตใจที่คิดนึกหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้น (หรือจินตนาการ) ขึ้นมาเอง ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่สามารถที่จะแก้ไขหรือดับมันได้ ซึ่งวิธีการดับก็คือ หยุดการปรุงแต่งคิดนึกหรือจินตนาการนี้ให้ได้ ถ้าทำได้ทุกข์มันก็ดับ (ขั้นนี้เรายอมรับหรือเปล่า? ถ้ายอมรับก็ผ่าน ถ้าไม่ยอมรับก็ไม่ผ่าน) ๓. เมื่อยอมรับว่าความทุกข์ทางใจนี้มันเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของจิต และสามารถดับได้โดยการหยุดการปรุงแต่งของจิตแล้ว ปัญหาต่อไปก็คือ เราไม่สามารถหยุดการปรุงแต่งของจิตที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจนี้ได้ (ซึ่งจุดนี้คิดว่าใครๆก็เข้าใจ แต่ไม่รู้วิธีการดับมันอย่างถูกต้องเท่านั้น) ซึ่งนี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน คือสอนวิธีการดับทุกข์ทางใจนี้ โดยใช้ปัญญา ศีล สมาธิ มาทำงานร่วมกัน (เอาละนี่คือการปูพื้นฐานก่อน เพื่อให้เข้าใจหลักพื้นฐานแล้วจึงค่อยเลื่อนไปศึกษาเรื่อง ปัญญา ศีล สมาธิอีกที) ๔. เรื่องศีลนั้นก็คือ การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ซึ่งสรุปอยู่ที่การมีเจตนาที่จะไม่เบียดเบียน ชีวิต ทรัพย์สิน และกามารมณ์ของผู้อื่น รวมทั้งการไม่พูดโกหก หยาบคาย ส่อเสียด เพ้อเจ้อ ซึ่งเราก็ตั้งใจปฏิบัติเอาเองได้ ๕. ส่วนสมาธิก็คือ การที่เรามีความตั้งใจอยู่เสมอในการคิด พูด และกระทำทางกาย ซึ่งจิตที่มีสมาธิที่ถูกต้อง (สัมมาสมาธิ) จะมีลักษณะ บริสุทธิ์จากกิเลส ตั้งมั่นเข้มแข็ง อ่อนโยน (โดยศัตรูของสมาธิก็คือกิเลสและนิวรณ์ ซึ่งเราก็ต้องศึกษาเรื่องกิเลสและนิวรณ์นี้ให้เข้าใจด้วย ถ้าเป็นสมาธิหรือความตั้งใจด้วยกิเลสก็จัดเป็นสมาธิผิดหรือมิจฉาสมาธิ) ซึ่งเราสามารถฝึกฝนสมาธิได้ทั้งจากการตั้งใจคิด พูด ทำ ของเราในชีวิตประจำวัน และจากการตั้งใจเพ่งหรือกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยมีการกำหนดการหายใจของเราเองควบคู่ไปด้วยอยู่ตลอดเวลา (ที่เรียกว่าอานาปานสติ) ก็ได้ ๖. ที่นี้เรื่องสำคัญที่สุดก็คือเรื่องปัญญา ที่หมายถึง ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ และเท่าที่ควรจะรู้ (ไม่ใช่จะต้องรู้ไปเสียหมดทุกเรื่องซึ่งเป็นไปไม่ได้) โดยเรื่องที่ควรรู้นั้นก็สรุปอยู่ที่เรื่อง การดับทุกข์ (ทางใจอย่างที่ได้บอกไว้แล้วตั้งแต่ต้น) ซึ่งก็คือเรื่องอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั่นเอง ซึ่งหลักปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ของอริสัจ ๔ นั้นสรุปอยู่ที่ ปัญญา ศีล สมาธินี่เอง และเรื่องที่สำคัญที่ควรรู้ที่สุดก็คือเรื่องปัญญานี่เอง เพราะปัญญาก็คือหัวใจของอริยสัจ ๔ อีกทีหนึ่ง ๗. ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ ซึ่งสิ่งที่ควรจะรู้นั้นก็คือ ความรู้ที่จะทำให้ความทุกข์ดับลงได้ (ไม่ว่าจะอย่างชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม) ซึ่งความรู้ที่จะทำให้ความทุกข์ดับลงได้นั้นก็คือ ความรู้เรื่องพื้นฐานของชีวิตและโลก ซึ่งความรู้นี้จะต้องรู้จากฟังหรืออ่านมา อย่างถูกต้องก่อน แล้วนำมาคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วนำมาพิสูจน์หรือทดลองปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จนเกิดความเห็นแจ้ง (หรือเห็นจริง) ขึ้นมาในที่สุด (ซึ่งนี่ก็คือหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง) เราจะเอาความเชื่อจากตำราหรือจากใครๆหรือแม้จากเหตุผลหรือจากสามัญสำนึกของเราเองมาเป็นความรู้ของปัญญาไม่ได้ เพราะความเชื่อยังเป็นแค่ความมั่นใจว่าจะเป็นจริงเท่านั้น ดังนั้นความเชื่อจึงยังไม่ใช่ปัญญา ที่จะนำมาใช้ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ ๘. เมื่อความเชื่อไม่ใช่ปัญญาที่จะมาใช้ดับทุกข์ได้ ดังนั้นเรื่องใดๆที่เป็นความเชื่อทั้งหมด เราจะต้องวางไว้ก่อน คืออย่าเพิ่งไปสนใจว่ามันจะมีจริงหรือเป็นจริงหรือไม่ หรือเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องที่เป็นความเชื่อนั้นก็สรุปอยู่ที่ เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระอริยะทั้งหลาย เรื่องสมาธิสูงๆ เรื่องกรรมและผลของกรรม เรื่องโลกๆ สรุปว่าถ้าเรายังมีความเชื่ออยู่ในเรื่องทั้ง ๔ นี้ก็จะศึกษาให้เกิดปัญญาไม่ได้ เพราะมันเป็นความเชื่อที่เราก็ยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าบังเอิญมันเป็นจริง เราก็โชคดีไป แต่ถ้าบังเอิญมันไม่เป็นจริง แล้วเราเชื่อว่ามันเป็นจริง เราก็จะกลายเป็นคนโง่งมงายไม่มีปัญญาไปจนตาย ๙. วิธีการศึกษาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในชีวิต (โดยใช้เหตุผล) นั้นก็สรุปอยู่ที่ ให้นำเอาขันธ์ทั้ง ๕ (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราเองในปัจจุบัน มาพิจาณาหาดูว่าแต่ละขันธ์มันอาศัยเหตุอะไรมันจึงเกิดขึ้นมาได้? และมันตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยเหตุอะไร? รวมทั้งดับไปเพราะเหตุอะไร? คือขันธ์ทั้ง ๕ ก็ได้แก่ ร่างกาย (รูป) การรับรู้ (วิญญาณ) การจำสิ่งที่รับรู้ได้ (สัญญา) ความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้ (เวทนา) และการคิดนึกปรุงแต่งของจิต (สังขาร) โดยร่างกายก็ต้องอาศัยธาตุ ๔ คือธาตุดิน (ของแข็ง) ธาตุน้ำ (ของเหลว) ธาตุไฟ (ความร้อน) และธาตุลม (ก๊าซ) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ส่วนวิญญาณก็ต้องอาศัยระบบประสาทที่ยังดีอยู่และกำลังทำงานอยู่ทั้ง ๖ ของร่างกาย (คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) เพื่อเกิดขั้น (เช่นเมื่อมีแสงมากระทบตา จึงเกิดวิญญาณทางตาหรือการเห็นแสงขึ้น เมื่อมีเสียงมากระทบหู จึงเกิดวิญญาณทางหูหรือการได้ยินเสียงขึ้น เป็นต้น) เมื่อวิญญาณหรือการรับรู้ใดๆเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ (เช่นจำได้ว่าแสงที่เห็นนั้นเป็นรูปของคน หรือเป็นชายหรือหญิง เป็นต้น) เมื่อจำได้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้นั้นขึ้นมาทันที (เช่น เกิดความรู้สึกสุขหรือน่าพอใจเมื่อเห็นเพศตรงข้าม หรือเกิดความรู้สึกทุกข์หรือไม่น่าพอใจเมื่อได้ยินเสียงด่า เป็นต้น) เมื่อเกิดความรู้สึกใดๆขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดการปรุงแต่งคิดนึกต่อไปด้วยทันที (คือเกิดความพอใจ หรือรัก ชอบ อยากได้ในสิ่งที่ให้ความสุข เกิดความไม่พอใจหรือโกรธ เกลียด กลัว หรือไม่อยากได้ อยากหนี ในสิ่งที่ให้ความทุกข์) ซึ่งนี่ก็คือระบบการทำงานของจิต ที่ต้องมีการอาศัยกันและกันเพื่อเกิดขึ้นมา ไม่สามรถเกิดขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ๑๐. เมื่อเข้าใจถึงขันธ์ทั้ง ๕ แล้วว่ามันต้องอาศัยเหตุอะไรเพื่อเกิดขึ้น เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า แต่ละขันธ์นั้นมันไม่ได้เป็นตัวตนของตนเองเลย (คือไม่ได้เป็นอัตตาที่แปลว่าตนเองหรือตัวเรา ที่หมายถึงตัวตนที่เป็นของตนเองโดยที่ไม่ต้องอาศัยอะไรมาปรุงแต่งขึ้นมา ซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู) ซึ่งนี่คือลักษณะของคำว่า อนัตตา ที่แปลว่า ไม่ใช่อัตตาหรือไม่ใช่ตัวตนของตนเอง (ไม่ใช่ตัวเรา) เพราะมันต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อมาเป็นเหตุ (หรือปรุงแต่ง) ให้มันเกิดขึ้นมาทั้งสิ้น เมื่อสิ่งที่อาศัยมันเกิดขึ้น มันจึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งที่อาศัยมันยังตั้งอยู่ มันจึงยังตั้งอยู่ เมื่อสิ่งที่มันอาศัยได้ดับหายไป มันจึงได้ดับหายตามไปด้วย คือเมื่อร่างกายตาย ระบบประสาททั้ง ๖ ของร่างกายก็ย่อมดับหายตามไปด้วย เมื่อไม่มีระบบประสาททั้ง ๖ วิญญาณก็จะดับหายตามไปด้วย แล้วสัญญา เวทนา และสังขารก็ย่อมที่จะดับหายตามไปด้วย ซึ่งนี่คือระบบพื้นฐานของจิตของคนและสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจิตนั้นจะมียังอวิชชา (หรือกิเลส) หรือไม่ก็ตาม ๑๑. เมื่อจิตเป็นแค่เพียง สิ่งปรุงแต่ง และเมื่อปรุงแต่งให้เกิดเป็นจิตขึ้นมาแล้วมันก็ไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรหรือเป็นอมตะได้ คือไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องดับหายไปอย่างแน่นอน รวมทั้งมันยังมีการเปลี่ยนแปลงหรือไหลอยู่ตลอดเวลาด้วย (อนิจจัง) อีกทั้งแม้ขณะที่จิตยังตั้งอยู่ (คือยังไม่ดับหายไป) มันก็ยังต้องทนที่จะประคับประคองจิตปรุงแต่งชั่วคราวของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบาก (ทุกขัง) อีกด้วย (คือเมื่อจิตเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา มันก็เกิดความรู้สึกทนได้ยากมากหรือความทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าจิตไม่มีความยึดถือว่ามีตัวเรา ความรู้สึกที่ทนได้ยากมากก็จะดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) แต่จะมีความรู้สึกที่ทนได้ง่ายหรือทนได้สบาย ที่เรียกว่า นิพพาน (หรือความไม่มีทุกข์) ปรากฏขึ้นมาแทน) และเมื่อจิตที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรานี้มันต้องดับหายไปอย่างแน่นอน ไม่สามารถตั้งอยู่หรือมีอยู่ตลอดไปได้ชั่วนิรันดร (หรือเป็นอมตะ) รวมทั้งขณะที่ยังตั้งอยู่ มันก็ยังมีความรู้สึกที่ต้องทนอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าจิตนี้เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนของเราหรือของใครๆทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วมันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริงเลย (สุญญตา) มีแต่สิ่งปรุงแต่งของธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น ๑๒. อวิชชาคือความรู้ว่ามีตนเอง ที่เป็นเพียงความรู้ที่ผิด ที่ทำให้จิตเกิดความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้ตัวตน-ของตน จนจิตเกิดความทุกข์ขึ้นมาเท่านั้น อีกทั้งอวิชชายังทำให้เกิดความเข้าใจผิด (และเกิดความเชื่อที่ผิดไปตามความเข้าใจที่ผิด) ว่ามีตนเองที่เวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายได้เท่านั้น ซึ่งตามความจริงแล้วอวิชชาและกิเลสมันก็ได้ไม่มีอำนาจวิเศษอะไรที่จะสามารถส่งออกไปจากร่างกายที่ตายแล้วเพื่อไปสร้างจิตขึ้นมาใหม่ เพื่อมารับผลจากการกระทำของจิตเก่าได้เลย (ส่วนความเชื่อเรื่องเกิดมาเพื่อรับผลกรรมและเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เป็นต้นนั้น เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่ปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนามาช้านานแล้วภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วโดยที่ชาวพุทธเกือบทั้งหมดไม่รู้ตัว ซึ่งความเชื่อเรื่องจิตหรือวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายของฮินดูนี้เอง ที่เป็นคำสอนว่าจิตเป็นอัตตาหรือตัวตนของเราและของทุกชีวิต ที่ตรงข้ามกับคำสอนเรื่องจิตเป็นอนัตตาของพระพุทธเจ้า ดังนั้นถ้าใครยังเชื่อว่าจิตจะมีการเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกายได้ ก็เท่ากับว่ายังไม่มีปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน) ๑๒. เมื่อเข้าใจเรื่องร่างกายและจิตใจ (หรือขันธ์ ๕) ที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรา-ของเรานี้ มันเป็นแค่เพียงสิ่งปรุงแต่งชั่วคราว ที่ไม่ได้เป็นอัตตาหรือตัวเรา-ของเราจริงๆแล้ว เราก็ต้องนำความเข้าใจนี้มาเพ่ง (คือด้วยสมาธิ) พิจารณาดูจากร่างกายและจิตของเราเองจริงๆ ว่าแต่ละขันธ์มันต้องอาศัยเหตุเพื่อให้เกิดขึ้นมาจริงๆตามที่เราเข้าใจหรือเปล่า? เมื่อพบว่ามันเป็นความจริงตามที่เราเข้าใจแล้ว จิตมันก็จะยอมรับความจริงว่า มันไม่ได้มีสิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆเลย มีแต่สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นโดยธรรมชาติและใส่อวิชชา (ความรู้ว่ามีตนเองที่มีอยู่ตามธรรมชาติของจิต) ไว้ให้หลอกจิตว่ามีตัวเราเท่านั้น (จะเรียกอย่างสมมติว่าเป็นตัวเราชั่วคราวก็ได้ หรือเป็นตัวเรามายาก็ได้) เมื่อจิตยอมรับความจริงแล้ว มันก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่นว่าจิตใจและร่างกาย (คือขันธ์ทั้ง ๕) นี้คือตัวเรา-ของเราลงทันที เมื่อจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดมั่น (เช่น ความเศร้าโศก เสียใจ) ก็จะดับลงทันที (แม้เพียงชั่วคราว) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะสงบเย็น (หรือที่เราสมมติเรียกว่านิพพาน) เมื่อนิพพานปรากฏ ก็แสดงว่าเรา (ตามที่สมมติเรียก) เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าแล้ว หรือเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาแล้ว เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|