ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนก็คือ การไม่มีความสุข เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมอยากได้ความสุข เมื่อไม่มีความสุขจึงทำให้เกิดความทุกข์ แต่ถ้ามีความสุขก็จะไม่มีความทุกข์ ดังนั้นจึงได้เชื่อกันว่า การไม่มีความสุขคือเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์

แต่ในความเป็นจริงนั้น ปัญหาใหญ่หลวงที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคนก็คือ ความทุกข์ เพราะสรุปแล้วสิ่งที่มนุษย์อยากได้ก็คือความสุข แต่สิ่งที่เกลียดกลัวก็คือความทุกข์ ถ้าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความทุกข์ใดๆเลยได้ ก็นับว่าเรานั้นเป็นผู้ที่โชคดีอย่างที่สุดแล้ว ซึ่งตามธรรมดาแล้วเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีแต่ความสุขโดยไม่มีความทุกข์เลยได้ เพราะความสุขกับความทุกข์เป็นของคู่กัน คือเมื่อมีความสุขก็ต้องมีความทุกข์ตามมา เพราะความสุขคือเหตุที่จะนำความทุกข์มาให้ในภายหลัง

ความทุกข์ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ความทุกข์จากความกลัวตาย และความทุกข์จากความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นอันเป็นที่รัก ส่วนความทุกข์ที่น่ากลัวรองลงมาก็ได้แก่ความทุกข์จากความแก่ ความเจ็บป่วย และความทุกข์จากความที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวหรือไม่น่ายินดี รวมทั้งความทุกข์จากความผิดหวัง  ซึ่งความทุกข์นี้ก็คือความเศร้าโศกหรือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความเศร้าตรม ความเครียด หรืออย่างน้อยก็เป็นความไม่สบายใจ หรือความหงุดหงิดรำคาญใจ เป็นต้น โดยอาการที่แสดงออกมาก็คือการร้องไห้คร่ำครวญ ความตรอมใจ และความซึมเศร้า เป็นต้น

ความทุกข์จากความกลัวตายที่แม้จะน่ากลัวที่สุด แต่คนเราก็ไม่กลัวเพราะยังไม่เห็นแจ้งในความทุกข์ คือขณะนี้เรายังไม่ได้ประสบกับความทุกข์นั้นจริงๆ ดังนั้นเราจึงได้แค่เพียงคิดหรือเชื่อเอาเองว่า ถ้าเราจะตายเราจะปล่อยวางแล้วไม่กลัวตาย ซึ่งนี่มันเป็นแค่ความคิดหรือความเชื่อว่าเราจะปล่อยวางได้เมื่อใกล้จะตาย แต่ความจริงนั่นเรายังไม่รู้ว่าจะทำได้จริงอย่างที่คิดไว้หรือเปล่า? เพราะขณะที่เรากำลังคิดอยู่นี้ จิตของเราจะมีความรู้สึกที่เป็นสุข ดังนั้นเราจึงคิดหรือเชื่อว่าเมื่อเราจะตายจิตของเราก็จะมีความรู้สึกเป็นสุขเช่นนี้ จึงทำให้เราเกิดความรู้สึกด้วยสามัญสำนึกหรือเชื่อว่าเมื่อเราจะตายเราจะไม่เป็นทุกข์ ซึ่งนี่เองที่เป็นเหตุให้คนเราไม่กลัวความทุกข์จากความตาย แล้วก็ไม่มีใครที่จะมาสนใจศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์จากความตาย ซึ่งนี่คืออาการของอวิชชา (ความไม่เห็นแจ้งชีวิต) ที่ครอบงำจิตของคนเราอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็ทำให้จิตของเราเป็นจิตโง่ (ไม่รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้) โดยมีนิวรณ์ (ความคิดฟุ้งซ่านไปในอาการต่างๆ ๕ อาการแล้วทำให้จิตไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิก็จะไม่มีทั้งปัญญาขั้นเข้าใจและเห็นแจ้ง) เป็นอาหารทำให้อวิชชาเจริญงอกงามอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา (ที่เรียกว่า สังโยชน์ ที่หมายถึงเครื่องผูกจิตไว้ในความทุกข์ หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นนิสัยของคนเรา)

ส่วนวิธีการที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกกลัวความทุกข์จากความตาย เพื่อกระตุ้นให้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์จากความตายนั้นก็อยู่ที่ การเห็นแจ้งความทุกข์จากความตาย โดยเริ่มต้นเราก็ต้องทำจิตให้มีสมาธิก่อน (แต่ก่อนจะมีสมาธิเราก็ต้องมีศีลมาก่อน เมื่อมีศีลแล้วจึงจะฝึกจิตให้มีสมาธิได้ง่าย) เมื่อมีสมาธิจิตก็จะสงบ ตั้งมั่น อ่อนโยน และมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นอยู่จริง ซึ่งเมื่อจิตของเรามีสมาธิแล้ว เราจะน้อมความรู้สึกว่า “เรากำลังจะตาย” ให้เกิดขึ้นมาในจิตของเราอย่างแรงกล้าด้วยสมาธิ แล้วเราจะเกิดความรู้สึกกลัวตายขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความยึดถือ (อุปาทาน) ว่ามีตัวเราที่กำลังจะตาย ที่เราสามารถเห็นแจ้งได้โดยที่เราไม่ต้องตายจริง และเมื่อเกิดความกลัวตายขึ้นมาแล้วก็จะทำให้เราเกิดความปรารถนา (ความอยากที่ดี) ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์หรือหลุดพ้นจากความทุกข์จากความตายนี้

ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์จากความตายนั้นก็สรุปอยู่ที่ การมองเห็น (ด้วยสมาธิ) ความจริงของธรรมชาติว่า “มันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริง (ที่เรียกว่ามองเห็นสุญญตา) ทุกสิ่งเป็นเพียงการที่ธรรมชาติ (บางคนก็เรียกพระเจ้า) นำเอาสิ่งพื้นฐาน ๔ อย่าง (คือ ของแข็ง ของเหลว ความร้อน และก๊าซ) มาปรุงแต่ง (หรือสร้างสรรค์) ให้เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่เพียงชั่วคราว (ไม่ถาวรหรือไม่เป็นอมตะ) เท่านั้น”  เมื่อจิตมองเห็นเช่นนี้อยู่ ความยึดถือว่ามีเราตายหรือคนอื่นตายก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีความยึดถือ จิตก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อจิตไม่เป็นทุกข์ มันก็สงบเย็น (นิพพาน) ซึ่งนี่ก็คือการปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าโดยสรุปนั่นเอง

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************