ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง

************

เรื่องสมาธิ

          ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่าสมาธิที่ใช้ในการปฏิบัติอริยมรรคนั้นเป็นสมาธิที่ไม่มีการคิดนึกหรือรับรู้สิ่งใดๆเลย คือเป็นจิตที่จดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำหนดอย่างแน่วแน่จนไม่มีการคิดพิจารณาและรับรู้สิ่งอื่นใดเลย โดยสมาธิระดับนี้เป็นสมาธิระดับสูงที่ต้องฝึกฝนอย่างหนัก เช่น จากการฝึกกสิน (กสิน คือ การฝึกสมาธิโดยการเพ่งวัตถุ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม) ซึ่งสมาธิระดับสูงนี้เป็นสมาธิที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะมีก็พวกนักบวชหรือคนที่ปฏิบัติจริงจังเท่านั้นที่ฝึกกัน โดยเชื่อกันว่าผลจากการมีสมาธิขั้นสูงนี้จะได้แก่การมีอำนาจวิเศษหรือเหนือธรรมชาติ เช่น จะมีการล่วงรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคตได้, สามารถเนรมิตสิ่งของได้, หายตัวได้, เหาะเหิร เดินอากาศได้, มีตาทิพย์มองเห็นนรก สวรรค์ได้, มีกายทิพย์หรือถอดจิตไปเที่ยวนรก สวรรค์ได้, ทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสได้ เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริงนั้น สมาธิในหลักอริยมรรคนั้นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของอริยมรรคเท่านั้น(อริยมรรคจะสรุปอยู่ที่ ปัญญา ศีล สมาธิ) ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของอริยมรรคก็คือปัญญานั้น ก็ยังมีการคิดพิจารณาอยู่ด้วย (คือจินตามยปัญญา - ปัญญาที่เกิดมาจากากรคิดพิจารณา) ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า สมาธิในอริยมรรคนั้น ไม่ใช่สมาธิขั้นสูงถึงขนาดที่จะไม่มีการคิดนึกหรือไม่มีการรับรู้สิ่งอื่นใดเลย

สมาธิ แปลว่า ความตั้งใจมั่นอยู่เสมอ คือหมายถึงว่า ถ้าเรามีความตั้งใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ เราก็มีสมาธิแล้ว แต่สมาธินี้ก็ยังแยกได้ ๒ อย่าง คือ สมาธิผิด กับ สมาธิถูก โดยสมาธิผิดก็คือความตั้งใจมั่นอยู่ในสิ่งที่ผิดหรือไม่ดี เช่น ความตั้งใจมั่นอยู่ในเรื่องเพศ หรือเรื่องที่ทำให้เกิดความโกรธอาฆาต หรือโง่งมงาย เป็นต้น โดยสมาธิผิดนี้แม้จะทำให้จิตตั้งมั่นก็จริง แต่มันก็มีความเร่าร้อนใจหรือความทุกข์อยู่ด้วย เพราะมันเป็นสมาธิของกิเลส (กิเลส คือความพอใจ ไม่พอใจ ไม่แน่ใจ) ส่วนสมาธิถูกนั้นจะเป็นความตั้งใจมั่นอยู่กับสิ่งที่ถูกต้องหรือดีงาม อย่างเช่น ความตั้งใจมั่นอยู่ในการเรียนของนักเรียน หรือความตั้งใจมั่นอยู่ในการทำหน้าที่การงาน หรือความตั้งใจมั่นอยู่ในการพิจารณาถึงความไม่เที่ยง สภาวะที่ต้องทน และความไม่ใช่ตัวตนของร่างกายและจิตใจหรือสิ่งทั้งหลายของธรรมชาติ เป็นต้น โดยสมาธิถูกนี้จะไม่มีกิเลสและนิวรณ์ (นิวรณ์ ก็คือกิเลสอ่อนๆที่แตกอาการออกมาเป็น ๕ อาการ คือ ความรู้สึกพอใจเล็กๆน้อยๆ, ความรู้สึกไม่พอใจเล็กๆน้อยๆ, ความคิดฟุ้งซ่านที่ทำให้เกิดความรำคาญใจ, ความรู้สึกเซื่องซึม มึนชา,  และความลังเลสงสัย) ครอบงำ จึงทำให้จิตไม่มีความทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะกลับคืนมามีความสงบสุขและเยือกเย็น (นิพพาน) อย่างสูงสุดได้

สรุปได้ว่า สมาธิในอริยมรรคนั้นก็คือความตั้งใจในการคิด พูด หรือทำที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญา โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่สมาธิที่ไม่มีการคิดนึกหรือรับรู้สิ่งอื่นใดเลยอย่างที่เราอาจจะเชื่อกันผิดๆมาก่อน ซึ่งเมื่อจิตมีสมาธิ (ที่ถูกต้อง) จิตก็จะบริสุทธิ์เพราะไม่มีกิเลสและนิวรณ์ครอบงำ, ตั้งมั่น เข้มแข็ง ไม่มีอะไรมายั่วยวนให้เกิดกิเลสได้, และอ่อนโยน คือมีความเหมาะสมที่จะมาใช้ในการปฏิบัติงานทั้งหลายได้ ดังนั้นแม้เราจะปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานใดอยู่ ถ้าเราทำไปด้วยความตั้งใจและไม่เป็นทุกข์แล้ว ก็ชื่อว่าเราทำไปด้วยสมาธิแล้วอย่างถูกต้อง ตามหลักอริยมรรคของพระพุทธเจ้า

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net

*********************
หน้ารวมบทความ
*********************