ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อกับความจริง ************ เรื่องหลักอริยสัจ ๔ ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่า ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นคือความทุกข์ทางกาย หรือทางวัตถุ คือเชื่อกันว่า เพราะการที่ร่างกายของเรามีความเหนื่อยยาก ลำบาก, หรือเจ็บปวด, หรือทรมาน, หรือแก่, หรือเจ็บป่วย, หรือกำลังจะตาย จึงทำให้เราเป็นทุกข์, หรือเพราะการที่เราต้องพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่รัก จึงทำให้เราเป็นทุกข์, หรือเพราะการที่เราต้องประสบกับบุคลหรือสิ่งที่เราเกลียดหรือกลัว จึงทำให้เราเป็นทุกข์, หรือเพราะการที่เราอยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามที่เราอยากจะได้ (คือผิดหวัง) จึงทำให้เราเป็นทุกข์ คือสรุปว่าเป็นความเชื่อที่ผิดๆว่า เพราะการเกิดร่างกายขึ้นมา จึงทำให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายขึ้นมา เมื่อมีความเชื่อว่าความทุกข์นี้เป็นความทุกข์ทางกายหรือทางวัตถุ ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเชื่อที่ผิดๆตามมาอีกว่า การที่จะดับทุกข์ทางกายนี้ได้ก็ต้องมาดับกันที่ร่างกายหรือที่วัตถุ คือเชื่อว่าถ้าไม่เกิดร่างกายขึ้นมา ก็จะไม่มีความทุกข์ ซึ่งนี่เองที่ทำให้เกิดความเชื่อที่ผิดๆขึ้นมาอีกว่า นิพพาน คือการดับสูญหรือตายแล้วไม่เกิดอีก และเมื่อเชื่อว่านิพพานคือการตายแล้วไม่เกิดอีก ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเชื่อที่ผิดๆตามมาอีกว่า การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ การปฏิบัติเพื่อที่เมื่อตายแล้วจะได้ไม่เกิดเป็นอะไรๆอีกต่อไปอย่างถาวร แต่ถ้าเราจะได้ศึกษาหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าอย่างละเอียดและถูกต้องแล้ว เราก็จะพบความจริงว่า ความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นคือ ความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน (อันได้แก่ ความเศร้าโศก หรือความเสียใจ ความเครียด ความคับแค้นใจ ความไม่สบายใจ เป็นต้น) ซึ่งเกิดมาจาก ความยึดมั่น (อาการของความยึดมั่นก็คือความพอใจและไม่พอใจที่เรียกว่าเป็นกิเลสหรือตัณหานั่นเอง) ในร่างกายและจิตใจ รวมทั้งวัตถุภายนอก ว่าเป็นตัวเรา-ของเรา คือเพราะความยึดมั่นในร่างกายที่กำลังมีความเหนื่อยยาก ลำบาก, หรือเจ็บปวด, หรือทรมาน, หรือแก่, หรือเจ็บป่วย, หรือกำลังจะตาย ว่าเป็นร่างกายของเรา จึงทำให้จิตใจเป็นทุกข์, หรือเพราะความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่รัก จึงทำให้จิตใจเป็นทุกข์, หรือเพราะความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังประสบกับบุคลหรือสิ่งที่เราเกลียดหรือกลัว จึงทำให้จิตใจเป็นทุกข์, หรือเพราะความยึดมั่นว่ามีตัวเราที่กำลังอยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามที่เราอยากจะได้ (คือผิดหวัง) จึงทำให้จิตใจเป็นทุกข์ คือสรุปว่า เพราะความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเรา จึงทำให้จิตใจเป็นทุกข์ เมื่อความทุกข์ก็คือ ความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน และสาเหตุของความทุกข์นี้ก็คือ ความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเรา ดังนั้นเมื่อไม่มีความยึดมั่นว่ามีตัวเรา-ของเรา ที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ จึงทำให้จิตใจไม่มีความทุกข์ และเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมของมัน อันได้แก่ ความสงบ เย็น ปลอดโปร่ง สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย หรือที่สมมติเรียกกันว่า นิพพาน ที่แปลว่า ดับเสียซึ่งความร้อน ซึ่งก็หมายถึง เย็น นั่นเอง เมื่อความทุกข์ของจิตใจเกิดมาจากความยึดมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา และเมื่อไม่มีความไม่ยึดมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา จิตมันก็จะนิพพานหรือไม่มีความทุกข์ ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อนิพพานหรือเพื่อความพ้นทุกข์หรือเพื่อความไม่มีทุกข์ (ที่เรียกว่าอริยมรรค) จึงสรุปอยู่ที่ การใช้ปัญญา (คือความเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า แท้จริงมันไม่มีตัวเรา-ของเรา) มาทำงานคู่กับสมาธิ (จิตที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่น อ่อนโยน) โดยมีศีล (ความปกติของจิตที่เกิดจากการปฏิบัติกายและวาจาอย่างถูกต้องดีงาม) เป็นพื้นฐาน ในการกำจัดความยึดมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือ ตัวเรา-ของเรา ให้สูญหายหรือหมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกอย่างถาวร (หรือตลอดเท่าที่ยังมีจิตอยู่) เตชปัญโญ ภิกขุ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.whatami.net
|