ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วบริสุทธิ์จริงหรือ? มีคนบางกลุ่มมีความเชื่อกันว่า
พระพุทธเจ้าห้ามการกินเนื้อสัตว์ เพราะการกินเนื้อสัตว์จะทำให้มีการส่งเสริมการฆ่าสัตว์
ซึ่งการฆ่าสัตว์ก็จะทำให้สัตว์ที่ถูกฆ่านั้นต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส
ซึ่งก็เท่ากับว่าคนที่กินเนื้อสัตว์คือคนที่ฆ่าสัตว์โดยอ้อมที่มีจิตใจโหดเหี้ยมอัมหิต
ซึ่งการฆ่าสัตว์ก็จัดว่าเป็นบาปที่ต้องรับผล เช่น ตกนรกเมื่อตายไปแล้ว เป็นต้น
และทำให้จิตไม่บริสุทธิ์อันจะทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงสรุปว่า
พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์และห้ามชาวพุทธ (คือทั้งพระและฆราวาส) กินเนื้อสัตว์
ถ้าใครกินเนื้อสัตว์ แสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธแท้ ถ้าเป็นชาวพุทธแท้จะต้องกินแต่ผักและผลไม้เท่านั้น
จึงจะบริสุทธิ์จากบาป (คือไม่ตกนรกใต้ดิน) และทำให้ได้บุญ (คือทำให้ได้ขึ้นสวรรค์บนฟ้า)
รวมทั้งสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ (คือบรรลุนิพพาน) ได้จริง จากเหตุผลนี้ถ้าดูผิวเผินก็น่าจะถูกต้องที่
การกินเนื้อสัตว์จะทำให้เกิดการฆ่าสัตว์โดยอ้อมอันจะทำให้จิตไม่บริสุทธิ์หรือเป็นบาป
และการกินเฉพาะผักและผลไม้จะทำให้จิตบริสุทธิ์เพราะทำให้ไม่มีการฆ่าสัตว์ ซึ่งนี่เป็นหลักศีลธรรมที่ดีงามในเบื้องต้นที่ทุกคนควรสนใจนำมาปฏิบัติ แต่ถ้าจะมองในแง่ของการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ตามหลักของพระพุทธเจ้าแล้วจะต้องมองให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ คือถ้าจะถามคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ว่า
สัตว์คืออะไร? ซึ่งคำตอบก็คือ สิ่งที่มีชีวิต ถ้าจะถามต่อว่า อะไรคือความหมายของคำว่าชีวิต?
ซึ่งคำตอบก็คือ สิ่งที่มีชีวิตจะมีความรู้สึก ถ้าไม่มีชีวิตก็จะไม่มีความรู้สึก
ถ้าจะถามต่อว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า
สิ่งใดที่มีความรู้สึก สิ่งใดไม่มีความรู้สึก? ซึ่งคำตอบก็คือ เราก็สังเกตจากการที่สิ่งนั้นเคลื่อนไหวได้ก็จะเป็นสิ่งที่ชีวิต
ถ้าสิ่งใดเคลื่อนไหวไม่ได้สิ่งนั้นก็ไม่มีชีวิต ซึ่งเมื่อเชื่ออย่างนี้จึงทำให้เชื่อว่ามีคนกับสัตว์เท่านั้นที่มีชีวิต
ส่วนพืชจะไม่มีชีวิตเพราะเคลื่อนไหวไม่ได้ ซึ่งคนที่มองโลกอย่างแคบๆหรือผิวเผินก็จะตอบอย่างนี้
แต่ถ้าเราจะมองอย่างละเอียดและลึกซึ้งขึ้นหน่อยเราก็จะพบว่า
ต้นไมยราฟที่เมื่อเราไปสัมผัสลำต้นหรือใบของมันแรงๆ
มันก็จะหุบกิ่งหุบใบของมันทันที
หรือเถาตำลึงมันก็จะรู้จักเลื้อยไปหากิ่งไม้เพื่อจับยึด หรือดอกทานตะวันมันก็รู้จักหันดอกไปตามแสงอาทิตย์
เป็นต้น ซึ่งนี่แสดงถึงการเคลื่อนไหวของพืช
ที่แม้จะช้าแต่มันก็มีการเคลื่อนไหวเหมือนกับคนและสัตว์
ที่แสดงถึงว่าแม้พืชก็มีชีวิตเหมือนกับคนและสัตว์ เพียงแต่พืชไม่มีตา หู เป็นต้น
เหมือนคนและสัตว์ รวมทั้งวิ่งหรือเดิน และพูดไม่ได้เหมือนคนและร้องไม่ได้เหมือนสัตว์เท่านั้น เมื่อพืชก็จัดเป็นสิ่งที่มีชีวิต
แล้วคำจำกัดความของคำว่า ชีวิต ที่ถูกต้องคืออะไร? ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องก็คือ
สิ่งที่มีชีวิตจะมีการเจริญเติบโตได้ คือเริ่มจากเล็กๆมาก่อน แล้วค่อยๆโตขึ้น
ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีการเจริญเติบโต สิ่งนั้นก็จะเป็นสิ่งไม่มีชีวิต เช่น
ก้อนหิน ก้อนดิน เป็นต้น เมื่อคำจำกัดความของคำว่า
สิ่งที่มีชีวิตก็คือ มีการเจริญเติบโตได้ เพราะสิ่งที่มีชีวิตก็คือสิ่งที่มีจิต
(สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) หรือวิญญาณ (การรับรู้)
ที่มาทำให้เกิดการเจริญเติบโตขึ้นมา ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สิ่งที่มีชีวิตของโลกเรานี้ก็มี
๓ ชนิด คือ คน สัตว์ และพืช เพราะทั้งคน สัตว์
และพืชก็มีการเจริญเติบโตเหมือนกัน และเมื่อทั้ง
คน สัตว์ และพืชล้วนเป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งนี่ก็แสดงว่า แม้การกินพืช เช่น ผัก
หรือเมล็ด หรือรากเหง้าของพืช เป็นต้น ก็เท่ากับเป็นการกินซากของสิ่งที่มีชีวิตด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นคนที่เชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ทำให้จิตไม่บริสุทธิ์ ก็ต้องยอมรับว่าแม้การกินพืชก็ทำให้จิตไม่บริสุทธิ์ด้วยเหมือนกัน
เพราะพืชก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับคนและสัตว์ เพียงแต่อาจจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตระดับต่ำที่มีความรู้สึกไม่เข้มข้นเหมือนคนและสัตว์เท่านั้น
อีกอย่างการปลูกผักและพืชที่ให้ผลแทบทุกชนิดสมัยนี้
ก็ต้องมีการขุดดินที่ทำให้สัตว์ในดิน เช่น ไส้เดือน เป็นต้น ตายไปอย่างมากมาย รวมทั้งการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดฆ่าแมลงก็ทำให้แมลงมากมายต้องตายไป
กว่าจะได้ผักหรือผลไม้มาให้เรากิน ซึ่งก็ทำให้เกิดการฆ่าสัตว์โดยอ้อมด้วยเหมือนกัน
แล้วอย่างนี้คนที่กินเฉพาะผักและผลไม้จะมีความบริสุทธิ์ได้อย่างไร ถ้าเชื่อว่าการกินเนื้อของสิ่งที่มีชีวิตจะทำให้เป็นบาปหรือไม่บริสุทธิ์ สรุปว่า
ถ้าเราเชื่อว่า การกินเนื้อสัตว์จะทำให้จิตไม่บริสุทธิ์และเป็นบาปรวมทั้งไม่พ้นทุกข์
เราก็ต้องยอมรับว่า แม้การกินผักหรือผลไม้ก็ทำให้จิตไม่บริสุทธิ์และเป็นบาป
รวมทั้งไม่พ้นทุกข์ด้วยเหมือนกัน เพราะทั้งพืชและผลไม้ก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับสัตว์
และเมื่อเชื่ออย่างนี้ก็เท่ากับเชื่อว่า
เราจะไม่มีทางที่จะมีจิตที่บริสุทธิ์และหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เลย ถ้ายังมีการกินอาหารกันอยู่เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด
แต่ถ้าเราจะมาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ตามหลักของพระพุทธเจ้าแล้วเราก็จะพบว่า การที่จิตที่จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกินอาหาร
แต่ขึ้นอยู่กับกิเลส (คือความพอใจ-ไม่พอใจ-ไม่แน่ใจ) หรือตัณหา (ความอยาก) ของจิตใจ คือถ้าเรากินด้วยกิเลส (เช่น
ด้วยความเอร็ดอร่อยหรือพึงพอใจ) ไม่ว่าอาหารนั้นจะเป็นเนื้อสัตว์หรือผักผลไม้ก็ตาม
จิตของเราก็จะไม่บริสุทธิ์ทันที ซึ่งถ้ากินด้วยกิเลสบ่อยๆหรือเป็นเวลานานๆ จิตใต้สำนึกของเราก็จะสั่งสมความเคยชินของกิเลสนี้ไว้เป็นสังโยชน์
(เครื่องผูกจิตไว้ในทุกข์) แล้วก็ทำให้เราไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจไปได้
แต่ถึงแม้เราจะกินเนื้อสัตว์หรือผักผลไม้ (ตามที่สมมติเรียก) ก็ตาม ถ้าเรามีสติและมีปัญญา
คือมองเห็นความว่างจากความเป็นตัวตนของสิ่งที่เรากิน (คือเห็นสุญญตา)
อยู่ตลอดเวลา และมีสมาธิอยู่ด้วย โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว
เราก็จะไม่กินด้วยกิเลส แต่กินด้วยจิตว่าง (คือจากกิเลส) ก็จะทำให้จิตบริสุทธิ์ได้อย่างแท้จริง
และจิตก็ไม่เป็นทุกข์
รวมทั้งถ้าเราสามารถปฏิบัติจิตว่างได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
ก็จะทำให้สังโยชน์ขาดลงได้อย่างถาวร แล้วจิตของเราก็จะนิพพานหรือไม่กลับมาเป็นทุกข์อีกอย่างถาวร
เตชปัญโญ ภิกขุ. ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗
|