คำนำ ชาวพุทธส่วนใหญ่แม้จะนับถือพุทธศาสนา แต่ก็นับถือตามๆกันมาตั้งแต่โบราณ คือนับถือตามพ่อแม่หรือบรรพบุรุษ ไม่ได้นับถือเพราะเข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ซึ่งจากการนับถือตามๆกันมานี้เอง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เป็นไปตามความเชื่อและความเข้าใจของผู้สอนบ้าง หรือตามความเชื่อของสังคมบ้าง จนทำให้ผู้ที่สนใจจะมาศึกษาพุทธศาสนา อย่างเช่น ชาวต่างชาติหรือแม้แต่ชาวพุทธเองก็ตาม เกิดความสับสน เพราะไม่รู้ว่าคำสอนใดคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ถ้าจะให้ไปศึกษาจากพระไตรปิฎกเอาเองก็ศึกษาไม่ไหว เพราะมีเนื้อหามากมาย รวมทั้งภาษาที่ใช้ ก็อ่านแล้วเข้าใจยาก ซึ่งจากเหตุนี้เองจึงได้เกิดการนำเอาหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า มาอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆและสรุปไว้ในหนังสือ พระพุทธเจ้าสอนอะไร? นี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษา เพื่อให้รู้และเข้าใจว่า แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร จึงฝากให้ผู้ที่สนใจทั้งหลาย ได้ช่วยกันศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ให้เข้าใจ และนำเอาไปปฏิบัติ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และถ้าใครเห็นว่าหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ขอให้ช่วยกันเผยแพร่ต่อไป เพื่อช่วยให้เขาได้รับประโยชน์จากคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งช่วยให้โลกมีสันติภาพ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป พระออมสิน เตชปัญโญ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ ๑. มนุษย์คืออะไร? ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า มนุษย์ หรือ คน นั้นก็คือ สิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่งของโลก ที่มี "ร่างกายกับจิตใจ" รวมกันเป็นชีวิตขึ้นมา โดยร่างกายก็คือวัตถุที่ประกอบขึ้นมาจาก ของแข็ง, ของเหลว, ความร้อน, ก๊าซ ส่วน จิตใจ ก็คือ สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ ซึ่ง จิต หรือ ใจ มันก็คือสิ่งเดียวกัน แต่เรามาเรียกชื่อต่างกันตามที่ของมัน คือเมื่อมันทำหน้าที่คิดนึก (ปรุงแต่ง) เราก็มาสมมติเรียกว่า จิต แต่เมื่อมันทำหน้าที่รับรู้และรู้สึก เราก็มาสมมติเรียกว่า ใจ ซึ่งบางครั้งเราก็เรียกรวมกันว่า จิตใจ ที่หมายถึง สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ โดยร่างกายที่ยังไม่ตาย ก็จะมีระบบประสาท คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเอาไว้ติดต่อกับสิ่งต่างๆภายนอก (คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย) โดยมี จิตใจ ซึ่งอยู่ที่สมองเป็นศูนย์กลางในการ "รับรู้" สิ่งต่างๆจากภายนอกอีกที เมื่อมีการรับรู้สิ่งใดแล้ว สมองก็จะมีการนำสิ่งที่รับรู้นั้นมาเทียบเคียงกับข้อมูลที่สมองมีอยู่เพื่อให้ "จำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ว่าเป็นอะไร" เมื่อจำได้แล้วก็จะเกิด "ความรู้สึกต่อสิ่งที่จำได้" นั้นขึ้นมาด้วยทันที รวมทั้งสมองยังมีการนำข้อมูลที่จำได้นั้นมาประมวลผลหรือ "คิดพิจารณา" ว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูลนั้นด้วย ซึ่งการที่จิตใจทำงานได้เช่นนี้ก็เป็นเพราะสมองของมนุษย์นั้นเป็นเหมือน "ควอนตัมคอมพิวเตอร์" ที่มีไฟฟ้าอ่อนๆวิ่งอยู่ในระบบของมัน ซึ่งไฟฟ้าอ่อนๆนี้ก็เกิดขึ้นจากร่างกายที่ยังไม่ตายสร้างขึ้นมา โดยมนุษย์ทุกคนนั้นมีธรรมชาติ (นิสัย) อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ "อยากมีความสุข" แต่ "ไม่อยากมีความทุกข์" โดยความสุขของมนุษย์นั้นก็เกิดได้จากการที่ ตาได้เห็นรูปที่สวยงาม, หูได้ยินเสียงที่ไพเราะ, จมูกได้กลิ่นที่หอม, ลิ้นได้รับรสที่อร่อย, กายได้สัมผัสกับสิ่งสัมผัสกาย (คือความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง นุ่ม ฯ) ที่น่าพึงพอใจ, และ ใจ ได้รับรู้สิ่งที่ทำให้เกิดความสุข เช่น ความพอใจ ความอุ่นใจ ความเสียสละ ความภาคภูมิใจ ความไร้ปัญหา ความอิสระ ความที่จิตตั้งมั่น (มีสมาธิ) ความที่จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นต้น ส่วนความทุกข์ของมนุษย์ก็มีทั้ง "ความทุกข์ทางร่างกาย" คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตายตาย และ "ความทุกข์ทางจิตใจ" คือความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก, ความประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก รวมทั้งความผิดหวัง สรุปได้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ธรรมดาทุกคนนั้น อยากมีความสุข แต่ ไม่อยากมีความทุกข์ ซึ่งเราจะต้องจำจุดนี้เอาไว้ให้ดี เพราะความเข้าใจนี้จะเป็นพื้นฐานในการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สูงขึ้นต่อไป ๒. พระพุทธเจ้าคือใคร? ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้า (ผู้รู้ที่มีเชื้อสายกษัตริย์) ไม่ได้เป็นผู้วิเศษหรือมีฤทธิ์เดชเหนือผู้อื่นอย่างที่เรารู้กันมา โดยพระองค์ก็คือคนธรรมดาๆเหมือนเราทุกคนนั่นเอง แต่พระองค์ทรงต่างจากคนธรรมดาตรงที่ พระองค์เป็นผู้ที่มี "ปัญญา" ที่เป็น ความรู้ในเรื่องการใช้ชีวิตให้ "มีความสุข" และ "ไม่มีความทุกข์" โดยไม่ต้องไปพึ่งพาใครหรือสิ่งนอกตัวใดๆ โดยปัญญาของพระองค์นั้นก็คือ ความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุผลที่สมเหตุสมผล ชนิดที่สามารถอธิบายให้เราเกิดความเข้าใจได้ รวมทั้งความรู้ของพระองค์นั้นเราสามารถพิสูจน์ให้เกิดความแจ้งประจักษ์ (หรือเห็นแจ้งหรือรู้จริง) ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญก็คือ ความรู้ของพระองค์นี้สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจ (คือความเศร้าโศกหรือความเสียใจ) ที่เป็นสิ่งน่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคนได้อีกด้วย สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ (หรือนักจิตวิทยา) ที่มาสอนมนุษย์ที่กำลังป่วยเป็นโรคทางจิต หรือโรค "ทุกข์ใจ" ที่เกิดจาก "อวิชชา" (คือความโง่หรือความไม่รู้ความจริงของธรรมชาติที่ควรรู้ตามความเป็นจริง) ให้หายป่วย ด้วยการสอนให้มนุษย์มี "ปัญญา" (คือความรอบรู้ธรรมชาติและชีวิตตามความเป็นจริง) แล้วนำปัญญามารักษาโรคทุกข์ใจ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่หลวงของมนุษย์ทุกคน ๓. สรุปพระพุทธเจ้าสอนอะไร? คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้านั้นสรุปได้ ๓ ประการ คือ สอนให้ละเว้นการทำความชั่วทั้งปวง, สอนให้ทำความดีให้เหมาะสม, และสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง โดยคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นสรุปแยกได้ ๒ ระดับ คือ ระดับศีลธรรม กับ ระดับปรมัตถธรรม โดยคำสอนระดับศีลธรรมนั้นเป็นคำสอนระดับพื้นฐานที่เป็นคำสอนเพื่อให้เกิดความปกติสุขแก่ผู้ปฏิบัติและเกิดความสงบสุขแก่สังคม โดยคำสอนระดับศีลธรรมนี้เป็นคำสอนให้ละเว้นการทำความชั่วทั้งปวง และสอนให้ทำความดีให้พอเหมาะ ซึ่งการละเว้นการทำความชั่วนั้นจะทำให้ชีวิตไม่มีความเดือดร้อน ส่วนการทำความดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความปกติสุข ซึ่งคำสอนระดับศีลธรรมนี้อาจจะต้องใช้ความเชื่อที่สังคมเขาชื่อถือกันอยู่มาประยุกติสอน เพื่อให้คนที่ยังมีความรู้ทางโลกน้อยยอมรับเอาไปปฏิบัติก็ได้ หรืออาจจะใช้เหตุผลมาสอน เพื่อให้คนที่มีความรู้ทางโลกสูงๆยอมรับก็ได้ โดยคำสอนระดับศีลธรรมนี้ก็สรุปอยู่ที่ การรักษาศีลหรือการละเว้นการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยกายและวาจา, การละเว้นอบายมุข สิ่งเสพติดและสิ่งฟุ่มเฟือย, การประกอบอาชีพที่สุจริตด้วยความขยันอดทน, การมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ, การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน, การแบ่งปัน, การให้อภัย, การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย, การมีความสามัคคี, การดูแลรักษาธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนคำสอนระดับปรมัตถธรรมหรือคำสอนระดับสูงนั้น เป็นคำสอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อให้จิตไม่มีความทุกข์ หรือมีความทุกข์ลดน้อยลง ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ โดยคำสอนระดับศีลธรรมนั้นยังไม่สามารถช่วยให้จิตใจของมนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ (คือความเศร้าโศก) หรือมีความทุกข์ใจลดน้อยลงได้ จะต้องใช้คำสอนระดับสูงของพระพุทธเจ้าเท่านั้นมาปฏิบัติ จึงจะช่วยให้ความทุกข์ของจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากกิเลส (สิ่งสกปรกของจิตใจ) ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้ ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร (คือตลอดชีวิต) ซึ่งคำสอนระดับสูงนี้จะเป็นคำสอนให้เกิดปัญญาที่เป็นความเข้าใจและเห็นแจ้งชีวิตตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ที่ศึกษานำปัญญานั้นไปปฏิบัติต่อไปด้วยตนเอง ดังนั้นคำสอนระดับสูงนี้จึงเหมาะสำหรับปัญญาชนหรือคนที่มีความรู้ทางโลกสูงๆที่ไม่เชื่ออะไรงมงายไร้เหตุผลและพิสูจน์ไม่ได้ ที่สนใจศึกษาเรื่องความพ้นทุกข์ สรุปได้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีทั้งระดับศีลธรรมที่สอนให้ละชั่ว ทำดี เพื่อให้ชีวิตมีความปกติสุขและไม่เดือดร้อน ที่เอาไว้สอนชาวบ้านที่ยังมีความรู้น้อย และคำสอนระดับสูงที่สอนเรื่องการทำจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสโดยใช้ปัญญา เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ ที่เอาไว้สอนเฉพาะปัญญาชน โดยพระพุทธเจ้าจะทรงเน้นสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ เพราะเป็นประโยชน์สูงสุด ส่วนคำสอนระดับศีลธรรมนั้นศาสนาอื่นๆเขาก็มีสอนกันอยู่แล้ว ดังนั้นพระองค์จึงไม่เน้นสอนศีลธรรม ๔. อะไรคือสิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิต? สิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิต หมายถึง สิ่งที่เป็นแก่นสารของชีวิต ซึ่งการที่จะรู้ว่าอะไรคือแก่นสารของชีวิตเราจะต้องมาศึกษาให้เข้าใจก่อนว่าชีวิตคืออะไร? โดยชีวิตก็คือสิ่งที่มีจิตใจที่รับรู้สิ่งต่างๆของธรรมชาติได้ และเมื่อรับรู้แล้วก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้นั้นด้วย โดยความรู้สึกที่จิตใจอยากได้ก็คือ ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย (ความสุข) แต่ความรู้สึกที่จิตไม่อยากได้ก็คือ ความรู้สึกที่ทนได้ยาก (ความทุกข์) ดังนั้นสิ่งที่เป็นแก่นสารของชีวิตก็คือ "การมีความสุขโดยไม่มีความทุกข์" แต่คำถามก็คือ เราจะมีความสุขโดยไม่มีความทุกข์ได้หรือไม่? คือในความเป็นจริงนั้น เมื่อมีความสุข ก็ย่อมมีความทุกข์ตามมาด้วยเสมอ เพราะการจะมีความสุขก็ต้องแสวงหาสิ่งที่ให้ความสุข (คือรูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งสัมผัสกาย ที่น่าพึงพอใจ) มาด้วยความยากลำบาก และยังต้องดูแลรักษาเอาไว้ด้วยความยากลำบาก เพราะสิ่งเหล่านั้นมันมีความไม่เที่ยงและมีสิ่งที่คอยทำลายสิ่งที่ให้ความสุขนั้นเสื่อมสลายหรือหายไปจากชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่ให้ความสุขทั้งหลาย ก็ต้องพลัดพรากจากเราไปอย่างแน่นอน และเมื่อสิ่งที่ให้ความสุขทั้งหลาย ได้พลัดพรากจากเราไป ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ใจ (หรือความเศร้าโศก) ขึ้นมาอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงเท่ากับว่า การมีความสุขโดยไม่มีความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่า การมีความสุขโดยไม่มีความทุกข์ จึงไม่สามารถเกิดขึ้นมาเป็น "สิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิตของเรา" ได้จริง และเมื่อ "การมีความสุขโดยไม่มีความทุกข์" ไม่สามารถเกิดขึ้นมาเป็น "สิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิตของเรา" ได้ ดังนั้นจึงเหลือเพียง "การไม่มีความทุกข์" (โดยจะมีความสุขหรือไม่ก็ตาม) เท่านั้น ที่คู่ควรเป็น "สิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิตของเรา" แต่ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะทำให้ชีวิต "ไม่มีความทุกข์" ได้? ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธเจ้าก็ต้องรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตไม่มีความทุกข์อยู่แล้ว เพราะพระองค์เป็นนักจิตวิทยาที่สอนเรื่องการดับทุกข์อยู่แล้ว (ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันต่อไป) สรุปได้ว่า เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า "ความสุข" ไม่ใช่สิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิต แต่เป็น "ความไม่มีทุกข์" ที่เป็นสิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิต" ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า "พระพุทธเจ้าจะทรงเน้นสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์" เท่านั้น (คือเป็นคำสอนระดับสูงของพุทธศาสนา) ซึ่งเราจะต้องยึดถือหลักนี้เอาไว้ให้ดี เพราะถ้าเราศึกษาและปฏิบัติผิดไปจากหลักนี้ ก็จะทำให้การศึกษาและการปฏิบัติเรื่องการดับทุกข์ของเราผิดเพี้ยนไปหมดทันที ๕. ทำไมจึงต้องดับทุกข์? ถ้าถามว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่องการดับทุกข์? ซึ่งคำตอบก็คือ เพราะความทุกข์ (คือความเศร้าโศก) เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ธรรมดาทุกคน ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตไม่มีความทุกข์ หรือให้มีความทุกข์ลดน้อยลงให้มากที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญหรือเร่งด่วนที่สุดและมีประโยชน์สูงสุด ที่เราจะต้องเร่งรีบปฏิบัติก่อนจะไปศึกษาและปฏิบัติเรื่องอื่นที่มีประโยชน์น้อยกว่า พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบเอาไว้ว่า แม้ไฟจะกำลังไหม้อยู่บนศีรษะของเรา เรื่องที่ต้องรีบทำก่อนก็คือ การเห็นอริยสัจ หรือการมีสติระลึกถึงว่าต้องใจเย็นๆแล้วแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ถ้าเรารีบร้อนดับไฟก่อนอย่างขาดสติ ก็อาจจะทำให้เราดับไฟผิดวิธีได้ แล้วก็อาจจะทำให้เกิดผลที่แย่ลงได้ สรุปได้ว่า ความทุกข์เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่เราจะต้องมาศึกษาให้เกิดความเข้าใจและทดลองปฏิบัติให้เกิดความเห็นแจ้งก็คือ เรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในชีวิตปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเราศึกษาเรื่องการดับทุกข์จนเกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งแล้ว ก็เหมือนกับเรามีอาวุธที่พร้อมจะนำมาใช้แก้ปัญหาชีวิตแล้ว และแม้เราจะยังไม่ใช้อาวุธนั้นในขณะนี้ก็ตาม แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อใด เราก็ยังสามารถนำอาวุธนั้นมาแก้ปัญหาได้ทันที ซึ่งจะต่างกับคนที่ไม่มีอาวุธ ที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เขาก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้นได้ ๖. หลักพื้นฐานพุทธศาสนามีว่าอย่างไร? พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ แต่การที่จะศึกษาให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาดับทุกข์ได้นั้น จำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนว่า หลักพื้นฐานในศึกษาให้เกิดปัญญานั้นเป็นอย่างไร เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าหลักพื้นฐานในการศึกษาเป็นอย่างไร ก็จะทำให้เราศึกษาผิด แล้วก็จะส่งผลทำให้ศึกษาไม่เข้าใจ หรือทำให้เกิดความเห็นผิดต่อคำสอนของที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้ โดยหลักพื้นฐานของพุทธศาสนานั้นสรุปอยู่ที่ ๑. มุ่งตรงสู่การดับทุกข์ คือจะมุ่งตรงสู่การดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยจะไม่ไปเสียเวลาศึกษาเรื่องอื่นที่ไม่ควรศึกษา ๒. ไม่ใช้ความเชื่อ คือจะไม่เชื่อว่าคำสอนหรือทฤษฎีใดๆล่วงหน้าว่าถูกต้องหรือเป็นความจริง ๓. ต้องพึ่งตนเอง คือต้องพึงตนเองทั้งในการศึกษาและปฏิบัติ ๔. ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง คือจากร่างกายและจิตใจของเราเองจริงๆ ที่ยังไม่ตายและยังมีความจำกับสติรู้สึกตัวดีอยู่นี้ ๕. ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล คือในการศึกษานั้น จะต้องมีการคิดพิจารณาหาว่า "ผลที่เกิดขึ้นมานั้น มันมีอะไรเป็นเหตุมาทำให้เกิดขึ้น" ซึ่งเหตุผลที่ใช้ในการศึกษานี้ ก็ต้องเอามาจากความจริงที่มีอยู่ในร่างกายและจิตใจของเราในปัจจุบันนั่นเอง ๖. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือศึกษาจากพื้นฐานไปสู่ยอดไปตามลำดับ ส่วนระบบในการศึกษานั้น ก็มีทั้งการหาข้อมูล ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์สมมติฐานและสรุปผล แล้วจึงตั้งเป็นทฤษฎีหรือคำสอนขึ้นมา ๗. พิสูจน์ก่อนยอมรับ คือต้องมีการพิสูจน์จนพบว่าเป็นความจริงอย่างแน่ชัดก่อน จึงค่อยยอมรับเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป สรุปได้ว่าหลักพื้นฐานของพุทธศาสนาทั้งหมดนี้ มันตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน คือ ไม่ใช้ความเชื่อ ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง ใช้เหตุผลในการศึกษา ศึกษาอย่างเป็นระบบ และต้องมีการพิสูจน์จนเห็นผลจริงอย่างแน่ชัดก่อนยอมรับ ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า พุทธศาสนาดั้งเดิม (คือยังไม่ถูกปลอมปนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) เป็นวิทยาศาสตร์ และ พระพุทธเจ้าก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ (คือนักจิตวิทยา) ที่มาสอนวิธีการดับทุกข์ โดยการสอนให้เราใช้เหตุผลตามความเป็นจริง มาดับทุกข์ของจิตใจในชีวิตปัจจุบัน ที่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน ๗. ความรู้อะไรที่ตรงข้ามกับพุทธศาสนา? คำว่า ศาสตร์ หมายถึง ระบบความรู้ ซึ่งความรู้ก็คือเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา โดยศาสตร์ของโลกนั้นมีมากมาย เช่น ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละศาสตร์ก็ล้วนเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะของแต่ละเรื่องไป ซึ่งศาสตร์ที่เราจำเป็นต้องรู้จักก่อนที่จะศึกษาพุทธศาสนาก็คือ วิทยาศาสตร์ พุทธศาสตร์ และไสยศาสตร์ โดย วิทยาศาสตร์ เป็นระบบความรู้ที่ใช้ในการค้นหาความจริงของธรรมชาติ ซึ่งหลักการศึกษาของวิทยาศาสตร์ก็คือ ไม่ใช้ความเชื่อ ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล ศึกษาอย่างเป็นระบบ และต้องพิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดก่อนยอมรับ ซึ่งธรรมชาตินั้นก็มี วัตถุ กับ จิตใจ ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงมีทั้ง วิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุ กับ วิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ โดยวิทยาศาสตร์นั้นเหมาะสำหรับปัญญาชน หรือคนที่ไม่เชื่อเรื่องงมงายไร้เหตุผลและพิสูจน์ไม่ได้ ส่วน พุทธศาสตร์ เป็นระบบความรู้ของผู้มีปัญญา คือเป็นความรู้ที่ใช้ในการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยหลักของพุทธศาสตร์นั้นก็เหมือนกับหลักวิทยาศาสตร์ แต่จะต่างกันตรงที่พุทธศาสตร์จะสอนเฉพาะเรื่องทางจิตใจ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ได้สอนเรื่องทางวัตถุหรือร่างกายอย่างที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเน้นทำกันอยู่ ซึ่งพุทธศาสตร์นี้เหมาะสำหรับปัญญาชนที่สนใจศึกษาชีวิต หรือคนที่สนใจศึกษาเรื่องการดับทุกข์ ส่วน ไสยศาสตร์ เป็นระบบความรู้สำหรับคนหลับ (คือคนที่ยังไม่มีความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ) โดยหลักของไสยศาสตร์ก็คือ สอนให้เชื่อมั่นไว้ก่อน แล้วให้ปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว ห้ามถาม ห้ามสงสัย โดยไสยศาสตร์จะเน้นสอนเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น พระเจ้า (หรือเทพเจ้า), สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ, เทวดา-นางฟ้า, นรกใต้ดิน, สวรรค์บนฟ้า เป็นต้น ซึ่งไสยศาสตร์นี้เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่มีความรู้มากพอที่จะสอนให้เข้าใจวิทยาศาสตร์และพุทธศาสตร์ได้ สรุปได้ว่า วิทยาศาสตร์เป็นหลักวิชาที่สอนให้เราฉลาด หายโง่ หายงมงาย ส่วนพุทธศาสตร์เป็นหลักคำสอนเรื่องความไม่มีทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์มาดับทุกข์ แต่ไสยศาสตร์เป็นหลักที่สอนให้เป็นคนดีแต่ว่าไม่ได้สอนให้มีปัญญา ดังนั้นไสยศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่ตรงข้ามกับทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธศาสตร์ ซึ่งนี่ก็แสดงว่าคนที่ยังมีความยึดติดอยู่ในความเชื่อที่งมงายไร้เหตุผล จะไม่สามารถศึกษาพุทธศาสนาให้เข้าใจและนำมาใช้ประโยชน์ได้ จะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงเท่านั้นจึงจะศึกษาพุทธศาสนาแล้วเข้าใจและเห็นแจ้งได้โดยง่าย ๘. อริยสัจ ๔ คืออะไร? คำสอนเรื่องการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าเรียกว่า อริยสัจ ๔ ที่หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ อันได้แก่ ๑. ทุกข์ คือความรู้สึกที่ทรมานจิตใจมาก ที่เราเรียกกันว่า ความเศร้า (ความเสียใจ) หรือความรู้สึกไม่สบายใจทุกระดับ และเมื่อมีความเศร้ามากๆก็จะมีความโศก คือความร่ำไรรำพัน ตามมาด้วย ดังนั้นเราจะสรุปเรียก ความทุกข์ ในอริยสัจ นี้ว่าเป็น ความเศร้าโศก โดยความทุกข์หรือความเศร้าโศกนี้เอง ที่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน ๒. สมุทัย คือ เหตุของความทุกข์ โดยเหตุของความทุกข์สรุปอยู่ที่ กิเลส ที่มีอยู่ ๓ อาการ คือยินดี-ยินร้าย-ลังเลใจ (กิเลสนี้บางทีก็เรียกว่า ตัณหา ที่หมายถึงความอยากเพื่อตัวเรา) โดยต้นเหตุของความทุกข์ก็มาจากอวิชชา (ความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา) ที่เมื่อมันเกิดขึ้นกับจิตแล้วมันก็จะทำให้จิตเกิดกิเลสขึ้นมา แล้วกิเลสก็จะทำให้จิตเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที ๓. นิโรธ คือ ความดับหายไปของความทุกข์ คือเมื่อใดที่กิเลสได้ดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) จิตก็จะไม่มีความทุกข์และเมื่อความทุกข์ดับหายไป จิตก็จะ นิพพาน คือ สงบเย็น ทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ๔. มรรค หรือ อริยมรรค คือ วิธีการดับทุกข์ โดยสรุปวิธีการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นสรุปอยู่ที่ "ให้ใช้ปัญญากับสมาธิมาทำงานร่วมกัน" (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) โดย "ปัญญา" ก็คือความเข้าใจและเห็นแจ้งถึงเรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง), ความที่ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก (ทุกขัง), และ ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ของร่างกายและจิตใจ ส่วน "สมาธิ" ก็คือ ความที่จิตตั่งมั่นอยู่ในปัญญาตลอดเวลา (ส่วน "ศีล" ก็คือ ความปรกติของจิต) อริยสัจ ๔ สรุปย่อได้เป็น "ทุกข์" กับ "ไม่มีทุกข์" โดยความทุกข์ก็เกิดจากกิเลส แต่เมื่อใดที่จิตมีสติ-ปัญญา-สมาธิ กิเลสก็จะดับหายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) แล้วจิตก็จะนิพพานหรือสงบเย็นทันที (แม้เพียงชั่วคราว) แต่ถ้าเราสามารถปฏิบัติให้เกิดปัญญากับสมาธิได้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันนานๆ จนทำให้นิสัยของกิเลสที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึก เจือจางหายไปอย่างสิ้นเชิง (คือจะไม่มีโอกาสกลับมาเกิดขึ้นได้อีกต่อไป) จิตก็จะนิพพานอย่างถาวร (คือมีอยู่ตลอดเวลาจนตลอดชีวิต) ๙. ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ คืออะไร? ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า คำว่า ทุกข์ แปลว่า ต้องทน หรือ ทนได้ยาก หรือทนได้ลำบาก ซึ่งคำว่า ทุกข์ นี้ มีความหมายกว้างมาก และเข้าใจได้ยาก ซึ่งคนที่ศึกษาอริยสัจ ๔ ก็จะเข้าใจคำว่า ทุกข์ นี้แตกต่างกันไป แล้วก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เราจะแยกความทุกข์ออกเป็น ๓ ชนิดตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ คือ ทุกขลักษณะ, ทุกขเวทนา, และทุกขอุปาทาน โดย ทุกขลักษณะ แปลว่า ลักษณะที่ต้องทน คือหมายถึง "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" ที่เกิดขึ้นกับชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเราทุกคนตามธรรมชาติ อันสรุปอยู่ที่ ความแก่, ความเจ็บ (คือความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว ความป่วยไข้ ความรู้สึกไม่สบายกายฯ), ความตาย, ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก, ความประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก, และความผิดหวัง (คือเมื่อเราอยากจะได้สิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น) ซึ่งทุกขลักษณะนี้มันเรื่องธรรมดา หรือเป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกชีวิตอยู่แล้วและไม่มีใครจะหนีพ้นได้ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนสักเท่าใดก็ตาม ส่วน ทุกขเวทนา แปลว่า ความรู้สึกที่ทนได้ยาก หรือความรู้สึกทนได้ลำบาก คือหมายถึง เมื่อทุกขลักษณะใดได้เกิดขึ้นกับชีวิตของเราแล้ว มันก็จะทำให้จิตเกิดความรู้สึกที่ทนได้ยากขึ้นมาทันที ซึ่งทุกขเวทนาจุดนี้จะยังไม่เป็นปัญหากับจิต เพราะมันยังไม่รุนแรง ซึ่งเราทุกคนก็พอจะทนกับมันได้อยู่แล้วโดยไม่ยาก อย่างเช่น เมื่อร่างกายหิว ก็จะเกิดความรู้สึกทรมานกายเล็กน้อยขึ้นมา หรือเมื่อคนที่เรารักได้จากเราไป ก็จะเกิดความรู้สึกทรมานใจเล็กน้อยขึ้นมาทันที เป็นต้น ส่วน ทุกขอุปาทาน แปลว่า ความทุกข์จากความยึดถือ คือเมื่อชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ที่สมมติเรียกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" นี้ ต้องประสบกับ "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" ที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ เช่น ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, หรือความพลัดพราก เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนาที่ยังไม่รุนแรงขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งในขณะนี้ ถ้าจิตถูกสัญชาตญาณของจิตที่เป็น "ความรู้สึกตัวว่าจิตนี้คือตัวเรา" ครอบงำ ก็จะทำให้จิตเกิดความรู้สึกตัวว่ามี "ตัวเรา" ขึ้นมาทันที ซึ่งตัวเราที่เกิดขึ้นมานี้ก็จะไปยึดถือเอาความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, หรือความพลัดพราก เป็นต้น ที่กำลังเกิดอยู่ตามธรรมชาตินั้น ว่าเป็น "ของเรา" ทันที คือจะทำให้จิตเกิดความรู้สึกตัวที่เข้มข้นขึ้นมาว่ามีเราแก่, เราเจ็บ, เรากำลังจะตาย หรือเราที่กำลังมีความพลัดพราก เป็นต้น ขึ้นมาทันที ซึ่งเมื่อได้เกิดมี "ตัวเรา" ที่กำลังประสบกับ "สิ่งที่ไม่น่าพึงใจ" ขึ้นมา ก็จะทำให้จิตที่รู้สึกตัวว่าเป็นตัวเรานี้เกิด "ความไม่อยากได้" หรือ "ความไม่อยากมี" ต่อ "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" นั้นขึ้นมาทันที และเมื่อเราไม่สามารถหนีหรือทำลาย "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" นั้นให้หลุดพ้นหรือหายไปจากชีวิตของเราได้ จึงให้จิตที่รู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา" นี้ เกิดความรู้สึกทนได้ยากมาก (หรือทุกขเวทนาที่รุนแรงมาก) ซ้อนขึ้นมาทันที ซึ่งทุกขเวทนาที่รุนแรงมากที่เกิดซ้อนขึ้นมานี้เอง ที่เรียกว่าเป็น "ทุกขอุปาทาน" ซึ่งทุกขอุปาทานนี้ก็คือ "ความทุกข์" ในอริยสัจ ๔ ที่เรียกว่าเป็น ความเศร้าโศก (หรือความเสียใจ), ความคับแค้นใจ, ความแห้งเหี่ยวใจ, ความหนัก-เหนื่อยใจ, ความรู้สึกทรมานใจ, หรือความไม่สงบเย็น, ความไม่ปรกติ ฯ นั่นเอง สรุปได้ว่า ทุกขลักษณะกับทุกขเวทนานั้น ยังไม่ใช่ความทุกข์ในอริยสัจ ๔ แต่เป็นทุกขอุปาทานหรือความเศร้าโศกฯ ที่เกิดจากการที่จิตโง่ (คือความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา) ได้ไปครอบครองหรือยึดถือ ทุกขลักษณะกับทุกขเวทนา ว่าเป็น "ของเรา" จึงได้ทำให้เกิดทุกขเวทนาที่รุนแรงมากซ้อนขึ้นมาอีกที และถ้ายิ่งจิตโง่นี้เกิดความยึดถือซ้ำเข้าอีกว่า มีตัวเราที่เป็นผู้ที่มี "ทุกขเวทนามาก" ก็จะยิ่งทำให้จิตโง่นี้เกิดทุกขเวทนาที่รุนแรงมากซ้อนและซ้ำขึ้นมาอีก ซึ่งทุกขเวทนาที่เกิดซ้อนขึ้นมานี้เอง ที่เรียกว่าเป็น "ความทุกข์" ในอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งเรื่องความทุกข์นี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง จึงจะศึกษาอริยสัจ ๔ แล้วเกิดความเข้าใจได้ถูกต้อง แต่ถ้าเรายังไม่รู้จักความทุกข์ถูกต้อง ก็จะทำให้ศึกษาอริยสัจ ๔ ผิดเพี้ยนไปหมดทันที ๑๐. สาเหตุของความทุกข์คืออะไร? เมื่อเราได้ศึกษามาแล้วว่า เมื่อชีวิตของเราต้องประสบกับ "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" อันได้แก่ ความแก่, เจ็บ, ตาย, พลัดพราก เป็นต้น แล้วจิต (คือเรา) เกิดความยึดถือว่าเราเป็นผู้ที่มี ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย เป็นต้น ขึ้นมา และเมื่อเรานี้ต้องประสบกับ "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" จึงทำให้จิตเกิด "ความไม่พึงพอใจ" (หรือความไม่อยากได้) ต่อสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจที่กำลังเกิดอยู่นั้นขึ้นมา และเมื่อเราไม่สามารถหนีจากสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจที่กำลังเกิดอยู่นั้นได้ หรือทำลายสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจนั้นให้หายไปจากเราได้ จึงทำให้จิต (คือเรา) เกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศก) ขึ้นมาทันที ซึ่งสรุปแล้วเหตุที่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ก็คือ "ความไม่พึงพอใจ" หรือ "ความไม่อยากได้" นั่นเอง ซึ่ง ความไม่พึงพอใจ หรือ ความไม่อยากได้ นี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่าเป็น กิเลส หรือ ตัณหา โดยกิเลส แปลว่า สิ่งสกปรก หรือ สิ่งที่ทำให้เกิดความสกปรก คือหมายถึง ความสกปรกของจิต หรือ สิ่งที่ทำให้จิตสกปรก โดยกิเลสนี้เมื่อมองในแง่ว่ามันทำให้จิตเกิดความทุกข์ เรามักจะเรียกว่า ตัณหา ที่แปลว่า ความอยาก คือหมายถึง ความอยากเพื่อตัวเรา หรือ ความอยากด้วยความโง่ (แต่ถ้าเป็นความอยากที่บริสุทธิ์หรือความอยากด้วยปัญญาจะเรียกว่า "ฉันทะ" ที่หมายถึง ความพอใจที่ดีงาม) โดยกิเลส (หรือตัณหา) นี้ ก็มีอาการโดยสรุปอยู่ ๓ อาการ อันได้แก่ ๑. ราคะ (ความติดใจ) หรือ โลภะ (ความอยากได้) ซึ่งเป็นความอยากเอา "สิ่งที่น่าพึงพอใจ" ให้เข้ามาหาตัวเรา ซึ่งอาการของกิเลสประเภทนี้ก็ได้แก่ ความยินดี หรือ ความพึงพอใจ, ความรัก, ความชอบ, ฯ เพื่อตัวเรา หรือถ้าจะเรียกว่าเป็น ตัณหา ก็ได้แก่ ความอยากได้ (กามารมณ์), ความอยากมี (วัตถุสิ่งของที่น่าพึงพอใจและบุคคลอันเป็นที่รัก), ความอยากเป็น (คนที่มีเกียรติยศชื่อเสียง) เพื่อตัวเรา ซึ่งกิเลสประเภทนี้จัดว่าเป็นกิเลสประเภท บวก ๒. โทสะ (ความอยากทำร้าย) หรือ โกธะ (ความแผดเผาตัวเอง) ซึ่งเป็นความอยากผลัก "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" ให้พ้นไปจากตัวเรา ซึ่งอาการของกิเลสประเภทนี้ก็ได้แก่ ความยินร้าย หรือ ความไม่พึงพอใจ, ความโกรธ, ความเกลียดชัง, ความกลัว, ความเบื่อฯ หรือถ้าเรียกว่าเป็น ตัณหา ก็ได้แก่ ความไม่อยากได้ (ความแก่, เจ็บ, ตาย), ความไม่อยากมี (ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก, ความที่ต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก), ความไม่อยากเป็น (ผู้ที่มีความผิดหวัง) ซึ่งกิเลสประเภทนี้จัดเป็นกิเลสประเภท ลบ ๓. โมหะ (ความหลงวนเวียน) ซึ่งเป็น "ความลังเลใจ" คือยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเอา สิ่งที่ไม่ใช่ทั้ง "สิ่งที่น่าพึงพอใจและสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" ให้เข้ามาให้ตัวเราดี หรือผลักออกไปจากตัวเราดี (คือยังวนเวียนอยู่กับสิ่งนั้นเพราะยังตัดสินใจไม่ได้) ซึ่งอาการของกิเลสประเภทนี้ก็ได้แก่ ความลังเลใจ ความสับสน ความหลงทาง ฯ ซึ่งกิเลสประเภทนี้จัดเป็นกิเลสประเภท กลางๆ (คือไม่ใช่ทั้งบวกและลบ) สรุปได้ว่า สาเหตุของความทุกข์ก็คือ กิเลส หรือ ตัณหา โดยกิเลสประเภทบวก ก็ทำให้จิตเกิด "ความทุกข์ซ่อนเร้น" ที่เป็นความรู้สึกกระวนกระวายใจ, ความร้อนใจ, ความที่จิตไม่สงบ (คือดิ้นรน), ความไม่เย็นใจ, ความที่จิตไม่ปรกติ, ความหนัก-เหนื่อยใจ เป็นต้น ส่วนกิเลสประเภทลบ ก็ทำให้จิตเกิด "ความทุกข์เปิดเผย" ที่เป็นความเศร้าโศกหรือความเสียใจ ส่วนกิเลสประเภทกลางๆก็ทำให้เกิด "ความทุกข์อ่อนๆ" ที่เป็นรู้สึกกระวนกระวายใจเล็กๆน้อยๆ หรือความที่จิตไม่ปรกติ ไม่สงบ ไม่เย็นใจ ไม่เบาสบาย เป็นต้น ซึ่งความทุกข์เปิดเผยนั่นเองที่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน ๑๑. นิพพานคืออะไร? พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "ชีวิตของคนเรานี้ไม่มีอะไร นอกจาก ทุกข์ กับ ไม่มีทุกข์" คือเมื่อใดที่จิตเกิดกิเลส มันก็จะมีความทุกข์ แต่เมื่อใดที่จิตว่างจากกิเลส มันก็จะไม่มีความทุกข์ (คือทั้งความทุกข์ซ่อนเร้น ความทุกข์เปิดเผย และความทุกข์อ่อนๆ) ซึ่งเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ จิตก็จะกลับคืนมาเป็นจิตที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติเดิมของมัน (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งจิตที่บริสุทธิ์นี้มีความสงบ เย็น ปรกติ สดชื่น แจ่มใส เบา สบาย อยู่ด้วยตลอดเวลา ซึ่งความสงบเย็นนี้ภาษาบาลีเรียกว่า นิพพาน ที่แปลว่า เย็น คือหมายถึง จิตที่เย็นเพราะไม่มีความทุกข์ใดๆ โดยนิพพานนี้สรุปได้ ๒ ระดับ อันได้แก่ นิพพานขั้นต้น กับ นิพพานสูงสุด โดยนิพพานขั้นต้นนี้ก็คือ ความอุ่นใจ (คือไม่มีความหวาดกลัวว่าอนาคตจะมีความเดือดร้อนหรือจะมีความทุกข์) ที่เกิดจากการที่เราได้กระทำตัวเป็นคนดีของสังคม (คือมีศีลและทำความดีอยู่เป็นประจำ) พร้อมทั้งได้ทำหน้าที่ของเราต่อครอบครัวและสังคมไว้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว ซึ่งนี่ก็จัดว่าเป็นนิพพานด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ยังเป็นแค่นิพพานขั้นต้นของชาวบ้านที่เป็นคนดีเท่านั้น ซึ่งเพียงเท่านี้ก็นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งแล้วสำหรับชาวบ้านทั่วๆไป ส่วนนิพานสูงสุดนั้นก็คือ ความสงบเย็นของจิตอย่างสูงสุด ที่ปรากฏกับจิตได้จากการที่นิวรณ์ (คือกิเลสอ่อนๆ) และ กิเลสทั้งหมด ได้ระงับหรือดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งการที่นิวรณ์และกิเลสจะดับหายไปจากจิตได้นั้น ก็สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติอยู่แล้วบ่อยๆในชีวิตประจำวันของเรา อย่างเช่น เมื่อเราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชวนให้จิตสงบ เช่น ป่า เขา ลำธาร หรือในห้องที่ไม่มีสิ่งรบกวน ก็จะทำให้จิตนิพพานสูงสุดได้ หรือเมื่อจิตได้ถูกกิเลสแผดเผามากๆเข้า จิตมันก็จะอ่อนล้าและหยุดการปรุงแต่งกิเลสได้เอง หรือเมื่อจิตได้พบกับสิ่งที่ทำให้เกิดความสลดใจ เช่น ได้เห็นคนแก่, เจ็บ, ตาย, พลัดพราก, ประสบภัยพิบัติ, เศร้าโศก เป็นต้น จิตก็จะนิพพานสูงสุดได้เองเหมือนกัน รวมทั้งถ้าเราสามารถฝึกจิตให้มีสมาธิสูงๆได้ ซึ่งสมาธิสูงๆนี้ก็จะทำให้กิเลสระงับหรือดับหายไปได้ แล้วจิตก็จะนิพพานสูงสุดได้ทันที (ชั่วคราว) แต่ถ้าเราสามารถปฏิบัติ "ปัญญา-ศีล- สมาธิ" ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ได้ถูกต้องและสมบูรณ์ จนทำให้สังโยชน์ (คือเครื่องผูกจิตไว้ในความทุกข์) ได้ถูกตัดขาด (คือถูกทำลาย) ไปหมดสิ้นแล้วจากจิตใต้สำนึก จิตก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดกิเลสใดๆ (รวมทั้งนิวรณ์) ขึ้นมาอีกจนตลอดชีวิต แล้วจิตก็จะไม่มีความทุกข์ (ความเศร้าโศก) ตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ตลอดชีวิต จิตก็จะนิพพานสูงสุด (คือมีความสงบเย็นสูงสุด) ตลอดชีวิต ซึ่งนี่ก็คือ "นิพพานถาวร" ที่เป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา สรุปได้ว่า ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนนี้ เราก็มีนิพพานหรือความสงบเย็นของจิตกันอยู่แล้วบ่อยๆ ทั้งนิพพานขั้นต้นและนิพพานสูงสุด แต่ว่ายังเป็นเพียงแค่นิพพานชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งพระพุทธเจ้านั่นเองที่มาสอนให้เรามีนิพพานชั่วคราวมากขึ้น และมีนิพพานสูงสุดอย่างถาวรเป็นจุดหมายสูงสุด ดังนั้นเราจึงควรขอบคุณนิพพานที่ได้หล่อเลี้ยงจิตเอาไว้ให้ได้รับการพักผ่อน ถ้าไม่มีนิพพานมาหล่อเลี้ยงจิตเอาไว้ เราคงเป็นบ้าตายกันไปหมดแล้ว เพราะถูกกิเลสแผดเผาให้หัวเราะ (คือเกิดความทุกข์ซ่อนเร้น) และ ร้องไห้ (คือเกิดความทุกข์เปิดเผย) อยู่ตลอดทั้งวัน แล้วหันมาแสวงหานิพพานถาวรกันต่อไป ๑๒. วิธีการดับทุกข์เป็นอย่างไร? คำว่า มรรค (หรืออริยมรรค) แปลว่า ทางเดิน คือ หมายถึง วิธีการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือพ้นทุกข์ หรือไม่มีทุกข์ (ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) โดยมรรคนี้แม้จะเป็นหนทางเดียวแต่มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ โดยองค์ประกอบทั้ง ๘ ประการนั้นสามารถสรุปย่อลงเป็นหลักในการปฏิบัติได้ ๓ ประการ อันได้แก่ ปัญญา, ศีล, สมาธิ โดยสรุปแล้ว ปัญญา คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ที่เป็นความรู้เรื่องการดับทุกข์ โดยมีหัวใจอยู่ที่ ความรู้เรื่องความเป็นอนัตตา (คือความไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง) ของร่างกายกับจิตใจ, ส่วน ศีล คือ ความปรกติของจิต, ส่วน สมาธิ คือ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในปัญญา ซึ่งในการปฏิบัติจริงๆนั้นสามารถสรุปย่อลงเป็น "การใช้ปัญญากับสมาธิมาทำงานร่วมกัน" โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว คือศีลจะเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ แล้วสมาธิก็จะเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา แล้วปัญญาก็จะวนกลับมาทำให้ศีลและสมาธิมีความถูกต้อง และทวีพลังมากขึ้น จนสามารถดับกิเลสได้ (ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร) โดยศีลกับสมาธินั้นเป็นเรื่องที่ใครๆก็สามารถปฏิบัติได้ถ้ารู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว แต่เรื่องปัญญานั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่า จะใช้แค่เพียงการเชื่อตามตำราหรือเชื่อตามคนอื่น แล้วจะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ทันที แต่จะเกิดจากการคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งยังต้องมีการทดลองปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องที่ศึกษาอยู่นั้นเป็นความจริงหรือไม่อีกด้วย จึงจะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้จริง ซึ่งวิธีการสร้างปัญญาของพุทธศาสนานี้ก็ตรงกับหลักหัวใจของวิทยาศาสตร์นั่นเอง ดังนั้นการศึกษาต่อไปก็คือ เราจะมาศึกษาหัวใจของปัญญา คือ เรื่อง "ความเป็นอนัตตาของร่างกายกับจิตใจ" โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์กันต่อไป ๑๓. ปัญญาคืออะไร? ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า วิธีการที่จะดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคนั้น จะต้องใช้ "ปัญญากับสมาธิมาดับกิเลส" โดยสมาธินั้นจะเป็นตัวมาดับกิเลสโดยตรง แต่การใช้สมาธิเพียงอย่างเดียวมาดับกิเลสนั้นมันทำได้ยาก เพราะต้องใช้สมาธิสูงๆมาดับมัน ซึ่งคนธรรมดาที่ไม่เคยฝึกสมาธิสูงๆมาก่อนจะทำไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า ถ้าเราตั้งใจพิจารณาถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของร่างกายกับจิตใจของเราเองอย่างตั้งใจ ก็จะทำให้เกิดทั้ง "ปัญญาและสมาธิขั้นสูง" ขึ้นมาด้วยพร้อมๆกัน โดยปัญญาก็จะมาทำให้กิเลสอ่อนแรงลง ส่วนสมาธิก็จะมาดับกิเลสที่อ่อนแรงลงนั้นให้ดับหายไปจากจิตได้อย่างง่ายดาย (แม้เพียงชั่วคราว) โดยคำว่า ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็คือ ความรู้ที่ดับทุกข์ได้ โดยความรู้ที่ดับทุกข์ได้ก็คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ซึ่งหัวใจของอริยสัจ ๔ ก็คือ อริยมรรค โดยหัวใจของอริยมรรคก็คือ ปัญญา และหัวใจของปัญญาก็คือ ความเข้าใจและเห็นแจ้งถึงความเป็นอนัตตาของจิตใจ โดยปัญญานี้มี ๓ ระดับ อันได้แก่ ๑. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาขั้นจำได้ คือเมื่อเราได้ฟังหรืออ่านคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาแล้วจำได้ ก็เรียกว่าเป็นปัญญาขั้นจำได้ ซึ่งปัญญาขั้นนี้ยังไม่มีผลเป็นการดับทุกข์หรือลดลงของความทุกข์ได้ ๒. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาขั้นเข้าใจ คือเมื่อเรานำเอาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าที่จำได้นั้นคิดพิจารณาหาเหตุหาผลอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนเกิดความเข้าใจอย่างแจ้งชัดโดยไม่มีจุดบอด ก็เรียกว่าเป็น ปัญญาขั้นเข้าใจ ซึ่งปัญญาขั้นนี้ก็เริ่มมีผลทำให้ความทุกข์ (ความเศร้าโศก) ลดน้อยลงบ้างแล้ว ๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาขั้นเห็นแจ้ง คือเมื่อเรานำเอาปัญญาขั้นเข้าใจน้อมเข้ามาเพ่งดู (คือด้วยสมาธิ) ที่ร่างกายและจิตใจของเรา รวมทั้งในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา หรือในเรื่องที่จะทำให้เกิดปัญญา จนทำให้จิตเกิดสมาธิขั้นสูงจากการเพ่งดูนั้น แล้วสมาธิก็จะมาดับกิเลสให้หายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) แล้วความทุกข์ (ความเศร้าโศก) ก็จะดับหายตามไปด้วยทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพานหรือสงบเย็นทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งนี่ก็คือภาวนามยปัญญาที่เป็นปัญญาขั้นสูงสุดของพุทธศาสนา แต่การที่จะศึกษาให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้นั้น จำเป็นที่เราจะต้องศึกษาเรื่องพื้นฐานที่สำคัญก่อน ซึ่งก็ได้แก่เรื่อง "สิ่งสูงสุด" (คือสิ่งที่มีอำนาจสูงสุดที่สร้างโลกและจักรวาลขึ้นมา) ของพุทธศาสนา ที่แม้พระพุทธเจ้าก็ยังเคารพสิ่งสูงสุดนี้ ซึ่งเมื่อเราเข้าใจว่าพุทธศาสนามีอะไรเป็นสิ่งสูงสุดแล้ว เราก็จะศึกษาเรื่องความเป็นอนัตตาของจิตใจให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างถูกต้อง) ๑๔. พุทธศาสนามีอะไรเป็นสิ่งสูงสุด? ศาสนาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาของจิตใจมนุษย์ โดยมนุษย์นั้นเป็นโรคกลัวความทุกข์ที่เกิดจากความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก, ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก, และความผิดหวัง โดยสาเหตุของความทุกข์นั้นก็เกิดมาจากจิตของมนุษย์เองที่สร้างความกลัว (คือกิเลสประเภทลบ) ขึ้นมา ซึ่งศาสดาของแต่ละศาสนานั้นก็เป็นนักจิตวิทยาที่รู้จักวิธีรักษาโรคกลัวนี้ได้ โดยใช้จิตวิทยามาแก้ปัญหาของจิตใจมนุษย์ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาของศาสนานั้นก็แยกได้ ๒ อย่าง คือใช้ "ความเชื่อ" กับ ใช้ "ปัญญา" จึงทำให้ศาสนาของโลกแยกได้ ๒ ประเภท คือ ศาสนาประเภทเทวนิยม กับ ศาสนาประเภทอเทวนิยม โดย ศาสนาประเภทเทวนิยม คือ ศาสนาที่ยอมรับว่า "สิ่งสูงสุด (คือสิ่งที่อำนาจสูงสุด)" ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ (คือสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา รักษาทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆเป็นไป รวมทั้งทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา) นั้น คือ "พระเจ้า" (หรือเทพเจ้า) ซึ่งพระเจ้านี้ผู้ที่นับถือก็เชื่อกันว่าเป็น "สิ่งเหนือธรรมชาติ" (คือเหนือธรรมดา) ที่เป็นตัวตนบุคคลเหมือนมนุษย์เรา โดยหลักคำสอนของศาสนาประเภทเทวนิยมนี้สรุปอยู่ที่ "การสอนให้ผู้ที่นับถือมีความเชื่อมั่นว่าพระเจ้ามีจริงและให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าอย่างเคร่งครัดโดยไม่ลังเลสงสัย ถ้าใครเชื่อมั่นและปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า ตายไปก็จะได้รับรางวัลคือได้ไปอยู่บนสวรรค์ (คือมีแต่ความสุข) กับพระเจ้าชั่วนิรันดร แต่ถ้าใครไม่เชื่อในพระเจ้าและไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า ตายไปก็จะถูกลงโทษให้ไปอยู่ในนรก (คือมีแต่ความทุกข์) ชั่วนิรันดร" ซึ่งคำสอนนี้ก็มาจากศาสดา (ผู้สอน) ที่เป็นผู้ไปพบพระเจ้ามาและนำคำสอนจากพระเจ้ามาสอนแก่มนุษย์ โดยศาสนาประเภทเทวนิยม จะสอนให้ใช้ความเชื่อนำหน้าการปฏิบัติ ซึ่งศาสนาประเภทเทวนิยมนี้ก็เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ หรือคนที่ยังมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติอยู่ ส่วน ศาสนาประเภทอเทวนิยม (หรือธรรมชาตินิยม) ก็คือ ศาสนาที่ยอมรับว่า "สิ่งสูงสุด" ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ก็คือ "ธรรมชาติ" ซึ่งธรรมชาติก็คือ สิ่งธรรมดาๆที่เราทุกคนสามารถพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแล้วเข้าใจได้ และสามารถสัมผัสให้เห็นแจ้งได้ด้วยตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ของเราเองในปัจจุบัน ซึ่งหลักคำสอนของศาสนาประเภทอเทวนิยมนี้จะสอนให้ผู้นับถือรู้จักใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา และสอนให้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองโดยไม่พึ่งพาใครหรือสิ่งอื่นใดให้มาช่วย ซึ่งศาสนาประเภทอเทวนิยมนี้ก็เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เพียงพอ หรือคนที่ไม่มีความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยพุทธศาสนาจัดเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาที่ค้นพบ "กฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่" ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงนำกฎสูงสุดที่ทรงค้นพบนี้มาสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆ แล้วนำมาสอนแก่มนุษย์ ซึ่งกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้เทียบได้กับ "พระเจ้า" ของศาสนาประเภทเทวนิยมนั่นเอง โดยพุทธศาสนาจะสอนให้ใช้ปัญญานำหน้าการปฏิบัติ สรุปได้ว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภท "อเทวนิยม" หรือ "ธรรมชาตินิยม" ที่ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่มีอำนาจสูงสุดที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่นั้นคือพระเจ้าหรือเทพเจ้าชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล แต่ยอมรับว่าธรรมชาติหรือสิ่งธรรมดาๆ ที่เราทุกคนสามารถเข้าใจและสัมผัสได้นี่เองว่าเป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า คำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้านั้นเป็น "วิทยาศาสตร์" คือเป็นคำสอนที่มีเหตุมีผลและพิสูจน์ได้ ซึ่งถ้าเราจะพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง (คือไม่ลำเอียง) เราก็จะพบความจริงว่า "พระเจ้า" ของศาสนาประเภทเทวนิยมนั้นก็คือ "ธรรมชาติ" ของศาสนาประเภทอเทวนิยมนั่นเอง ๑๕. เรื่องอะไรที่พระพุทธเจ้าไม่สอน? สำหรับผู้ที่เริ่มต้นศึกษาเรื่องการดับทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่ควรไปศึกษาเรื่องที่ไม่ควรสนใจ ที่เรียกว่า อจินไตย ที่หมายถึง เรื่องที่ไม่ควรนำมาคิด ซึ่งมีอยู่ ๔ เรื่อง อันได้แก่ ๑. พุทธวิสัย คือเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือพระอริยะทั้งหลาย ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นอย่างไร? เป็นต้น ๒. ฌานวิสัย คือเรื่องที่เกี่ยวกับสมาธิสูงๆ ว่ามีจริงหรือไม่? หรือสามารถทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์เหนือธรรมชาติได้หรือไม่? เป็นต้น ๓. กรรมวิสัย คือเรื่องกรรมและผลของกรรม ว่าเป็นความจริงหรือไม่? หรือเมื่อทำกรรมนี้แล้วจะได้รับผลอย่างไร? เป็นต้น ๔. โลกวิสัย คือเรื่องโลกๆ เช่นเรื่องใครสร้างโลก? โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ตายแล้วไปไหน? เกิดหรือไม่เกิด? ถ้าเกิดแล้วอะไรไปเกิด? รวมทั้งเรื่องวิทยาการต่างๆของโลก และเรื่องของผู้คนทั้งหลาย เป็นต้น สาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ผู้ที่เริ่มต้นศึกษาคำสอนของพระองค์ไปศึกษาเรื่องอจินไตยก็เพราะ เรื่องอจินไตยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องการดับทุกข์ รวมทั้งยังเป็นเพียงแค่ความเชื่อที่ขาดหลักฐานมายืนยัน ถ้าใครหลงเข้าไปศึกษาเข้าแล้วก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและหลงติดอยู่ในการศึกษานั้นได้ แล้วก็จะทำให้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เข้าใจ เพราะมีความเห็นผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบเอาไว้ว่า เหมือนกับคนที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ เจ็บปวดแสนสาหัสอยู่ แม้จะมีคนอาสาพาไปหาแพทย์เพื่อรักษา แต่เขากลับบอกว่า เขาต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า ใครเป็นคนยิง? ทำไมถึงยิง? ใช้อะไรยิง? ใช้พิษอะไรทาลูกศร? เป็นต้น เขาจึงจะยอมไปหาแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้เขาผู้นั้นก็ต้องตายเปล่าโดยยังไม่ได้รู้ความจริงที่เขาอยากรู้ แต่ถ้าเขารีบไปหาแพทย์ให้รักษาก่อน เมื่อหายดีแล้วจึงค่อยมาหาคำตอบที่อยากรู้นั้นในภายหลัง ซึ่งอย่างนี้จึงจะฉลาดกว่า สรุปได้ว่า เรื่องเร่งด่วนที่สุดที่เราจะต้องรีบศึกษาให้เกิดความเข้าใจและทดลองปฏิบัติให้เห็นแจ้งก่อนก็คือเรื่อง การดับทุกข์ ซึ่งเมื่อเราได้ศึกษาเรื่องการดับทุกข์จนเข้าใจและเห็นแจ้ง ก็จะเกิดคำตอบของเรื่องอจินไตยขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องไปถามใคร แต่ถ้าเราหลงไปจมติดอยู่กับเรื่องอจินไตยเข้าตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้เกิดคำถามต่อไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็จะทำให้ไม่เกิดปัญญารวมทั้งไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ไปจนตลอดชีวิต ๑๖. พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความเชื่อไว้ว่าอย่างไร? ในสมัยพุทธกาลนั้นก็ได้มีลัทธิมากมายที่สอนเรื่องความพ้นทุกข์ ซึ่งเจ้าลัทธิแต่ละคนก็จะพูดยกย่องคำสอนของตนเองและลบหลู่คำสอนของผู้อื่น ซึ่งเมื่อมีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่าคำสอนของใครจริง (คือดับทุกข์ได้จริง) ของใครไม่จริง (คือดับทุกข์ไม่ได้จริง) ? โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสตอบไว้โดยสรุปว่า เมื่อได้พบคำสอนใด ก่อนอื่นก็อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นความจริงเพียงเพราะเหตุสักว่า : มีคนเขาบอกมา, มีคนเขาทำตามๆกันมา, มีคนกำลังล่ำลือกันอยู่อย่างกระฉ่อน, มีตำราอ้างอิง, มีเหตุผลตรงๆมารองรับ, มีเหตุผลแวดล้อมมารองรับ, สามัญสำนึกของเรามันยอมรับ, มันตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว, ผู้สอนนั้นดูภายนอกน่าเชื่อถือ, ผู้สอนนั้นเป็นครูอาจารย์ที่เรานับถือ ต่อจากนั้นก็ให้นำคำสอนนั้นมาพิจารณาดูก่อน ว่ามีประโยชน์หรือโทษ? ผู้ที่มีปัญญาและมีใจเป็นกลางติเตียนหรือไม่ติเตียน? ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วพบว่ามีโทษผู้ที่มีปัญญาและมีใจเป็นกลางติเตียน ก็ให้ละทิ้งคำสอนนั้นไปเสีย แต่ถ้าพิจารณาแล้วพบว่า มีประโยชน์ ไม่มีโทษ ผู้ที่มีปัญญาและมีใจเป็นกลางไม่ติเตียน ก็อย่าเพิ่งเชื่อ แต่ให้นำเอาคำสอนนั้นมาทดลองปฏิบัติดูก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความจริงตามที่สอนหรือไม่ เมื่อได้ทดลองปฏิบัติตามคำสอนนั้นอย่างเต็มมาตรฐานของคำสอนนั้นแล้วพบว่า "ไม่เป็นความจริง" (คือความทุกข์ไม่ได้ลดลงหรือดับลงจริงแม้เพียงชั่วคราว) ก็ให้ละทิ้งคำสอนนั้นไปเสีย แต่ถ้าได้ทดลองปฏิบัติตามคำสอนนั้นแล้วพบว่า "เป็นความจริง" (คือความทุกข์ได้ลดลงหรือดับลงจริงแม้เพียงชั่วคราว) ก็ให้ยอมรับเอามาปฏิบัติให้ยิ่งๆขึ้นต่อไป สรุปพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อย่าเชื่อใครแม้แต่ตัวเราเอง แต่ให้ยอมรับความจริงที่เราได้พิสูจน์จนเห็นแจ้งแล้วเท่านั้น" ซึ่งหลักกาลามสูตรนี้ก็ตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน โดยหลักกาลามสูตรนี้เป็นหลักที่สอนให้เรามีอิสระในการศึกษาของผู้มีปัญญา แต่ที่สำคัญก็คือ เราจะต้องใช้หลักกาลามสูตรนี้ มาค้นหาว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เพื่อที่เราจะได้นำคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาศึกษาและปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อไป ๑๗. ศัตรูของปัญญาคืออะไร? แต่ก่อนที่จะศึกษาให้เกิดปัญญา เราจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนว่า อะไรที่เป็นศัตรูหรือสิ่งตรงข้ามกับปัญญาหรือทำให้ปัญญาไม่เกิดขึ้น ซึ่งโดยสรุปแล้วการเกิดปัญญาต้องมาจาก "การฟังหรืออ่านคำสอนมา แต่ก็อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วให้นำคำสอนที่จำได้นั้นมาคิดพิจารณาหาเหตุผลจนเกิดความเข้าใจ ต่อจากนั้นก็ให้นำความเข้าใจนั้นมาพิสูจน์ด้วยการทดลองปฏิบัติ จนพบว่าเป็นความจริง จึงค่อยยอมรับเอาคำสอนนั้นมาปฏิบัติ" แต่ถ้าเราได้อ่านคำสอนที่มีคนเขาบอกว่าเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามา หรือฟังจากคนอื่นเขาบอกมา แล้วเราก็เชื่อตามเขาเลย หรือเมื่อเราใช้การคิดพิจารณาเพียงผิวเผินแล้วเราก็เชื่อตามเขาเลย อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นปัญญา แต่เรียกว่าเป็น "ศรัทธา" หรือ ความเชื่อเท่านั้น ซึ่งความเชื่อนี้เป็นหัวใจของ ไสยศาสตร์ ที่เป็นความรู้ของคนที่ยังโง่งมงายอยู่ โดย "ความเชื่อ" ก็คือ ความมั่นใจว่าเป็นความจริง คือเมื่อเรายังพิสูจน์คำสอนใดไม่ได้ว่าเป็นความจริง เราจึงต้องใช้ความเชื่อหรือความมั่นใจว่าคำสอนนั้นเป็นความจริงไปก่อน และเมื่อเรายังพิสูจน์ความเชื่อนั้นไม่ได้ ก็แสดงว่าความเชื่อนั้นยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์สำหรับเรา โดยความเชื่อที่สำคัญที่มาขัดขวางไม่ให้เกิดปัญญานั้นก็คือ ความเชื่อเรื่อง "จิตเป็นอัตตา" ซึ่งความเชื่อเรื่อง จิตเป็นอัตตา นี้เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในปัจจุบัน ที่เขามีหลักคำสอนสำคัญอยู่ว่า จิต (หรือวิญญาณ) ของคนและสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี้เป็น "อัตตา" ที่แปลว่า ตน หรือ ตนเอง ซึ่งสิ่งที่เป็นอัตตานั้นจะมีคุณสมบัติ ๓ ประการ อันได้แก่ ๑. นิจจัง คือ เที่ยง หรือ นิ่ง ที่หมายถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังเป็นอมตะ คือจะไม่แตกสลายหรือตาย (ใช้กับวัตถุ) หรือ ดับหายไป (ใช้กับจิตใจ) อย่างเด็ดขาด (หรือเป็นนิรันดร) ๒. สุขัง คือ สุขหรือสบาย ที่หมายถึง จะไม่มีปัญหาหรือความทุกข์ใดๆ ซึ่งก็คือการมีแต่ความสุขหรือสบายนั่นเอง ๓. อัตตา คือ มันมีตัวตนเป็นของมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่ง (คือร่วมกันทำ, หรือสร้าง) ให้เกิดขึ้นหรือมีอยู่ โดยศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) ในปัจจุบันมีหลักคำสอนว่า จิต (หรือบางทีก็เรียกว่า วิญญาณ) ของคนนั้นเป็น "อัตตาน้อย" ที่แยกออกมาจาก พระพรหม ที่เป็น "อัตตาใหญ่" แล้วมาสิงอยู่ในร่างกายของคนที่มีตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ เพื่อเอาไว้ติดต่อกับโลก ที่มี "สิ่งที่น่าพึงพอใจ" (คือสิ่งที่ให้ความสุข) และ "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" (คือความแก่, เจ็บ, ตาย, พลัดพรากฯ) ซึ่งเมื่อจิตได้ติดต่อกับโลกแล้วจึงได้เกิด "กิเลสหรือตัณหา" ขึ้นมา (คือเกิด "ความพึงพอใจ" ต่อสิ่งที่น่าพึงพอใจ และ "ไม่พึงพอใจ" ต่อสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ) ซึ่งกิเลสหรือตัณหานี้เอง ที่เป็นเหตุทำให้เกิดการทำกรรมดีบ้างกรรมชั่วบ้าง ขึ้นมา ศาสนาพราหมณ์ได้สอนเรื่องหลังความตายไว้ว่า เมื่อร่างกายตายไปจิตหรือวิญญาณที่เป็นอัตตานี้ จะออกจากร่างกายที่ตายแล้วและไปเกิดใหม่ (คือไปเกิดเป็นคนบ้าง เทวดาบ้าง สัตว์นรกบ้าง เป็นต้น) เพื่อรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย คือ ถ้าทำกรรมดี ก็จะได้ไปเกิดเป็นเทวดาและเสพสุขอยู่กับนางฟ้าอยู่ที่เมืองสวรรค์จนหมดอายุ, แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะเกิดเป็นสัตว์นรกและถูกทรมานให้เจ็บปวดอย่างแสนสาหัสในเมืองนรกจนกว่าจะพ้นโทษ, หรือถ้าทำดีและชั่วปนกัน ก็จะไปเกิดเป็นคนที่มีสุขปนทุกข์อยู่บนโลกมนุษย์ เป็นต้น แต่ถ้าจิตหรือวิญญาณที่เป็นอัตตานั้น จะได้ปฏิบัติตามพิธีกรรมขัดเกลากิเลสอย่างจริงจังตามหลักของศาสนาพราหมณ์ เช่น สวดมนต์อ้อนวอนเทพเจ้า หรือทำพิธีบูชายัญ หรือทำสมาธิสูงๆ หรือทรมานร่างกายเพื่อให้หมดกิเลส เป็นต้น จนจิตบริสุทธิ์จากกิเลส แล้วจิตที่บริสุทธิ์นั้นก็จะกลับคืนไปอยู่กับพระพรมอย่างมีความสุขชั่วนิรันดร โดยความเข้าใจผิดว่าจิตเป็นอัตตานี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็น "ความเห็นผิด" เพราะมันขัดแย้งกับความจริงของธรรมชาติที่ว่าไม่มีสิ่งใดจะเป็นอัตตาได้ รวมทั้งความเห็นผิดนี้ยังเป็นเหตุให้จิตของมนุษย์เกิดกิเลสและความเห็นแก่ตัวที่รุนแรงขึ้นมา แล้วก็ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์มากขึ้น (แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน ความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตานี้ก็ได้ถูกนำเข้ามาประยุกต์เป็นคำสอนระดับศีลธรรมในพุทธศาสนา และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยชาวพุทธเกือบทั้งหมดไม่รู้ตัว) สรุปได้ว่า "ความเข้าใจผิดว่าจิตเป็นอัตตา" นี้เอง ที่เป็นความเชื่อที่ตรงข้ามกับปัญญาหรือสิ่งทำลายปัญญา ดังนั้นเมื่อพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เกิดปัญญาและใช้ปัญญาในการศึกษาและปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ เราจึงต้องระวังว่า "อย่าเอาความเชื่อที่งมงายไร้เหตุผล รวมทั้งไม่เป็นประโยชน์กับการศึกษาเรื่องการดับทุกข์" มาศึกษาหรือปฏิบัติ เพราะนอกจากจะดับทุกข์ไม่ได้จริงแล้ว ยังจะทำให้คนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเขามองว่าเราเป็นเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งก็จะทำให้เสียชื่อพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้มีปัญญาได้ ๑๘. กฎสูงสุดของธรรมชาติคืออะไร? ก่อนจะศึกษาเรื่องไตรลักษณ์ เราจำเป็นที่จะต้องมาศึกษาความจริงพื้นฐานของธรรมชาติก่อนว่า ธรรมชาตินี้มีกฎสูงสุดที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ (คือสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา รักษาทุกสิ่งเอาไว้ และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา) ซึ่งกฎทุกกฎของธรรมชาติที่มีอยู่จะขึ้นอยู่กับกฎสูงสุดนี้ทั้งสิ้น โดยกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ก็เทียบได้กับ "พระเจ้า" (หรือเทพเจ้า) ของศาสนาประเภทเทวนิยมนั่นเอง กฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ทางพุทธศาสนาเรียกเป็นภาษาบาลีว่า กฏอิทัปปัจจยตา ที่หมายถึง กฎการอาศัยปัจจัย (คือหลายๆเหตุ) แล้วเกิดขึ้น โดยกฎนี้มีรายละเอียดว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ (คืออีกสิ่ง) จึงมี, เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, และเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, เมื่อสิ่งนี้ดับหายไป สิ่งนี้จึงดับหายไป" โดยกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้มีใจความโดยสรุปว่า "ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น" ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่า "ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุและปัจจัย" ซึ่งนี้ก็เป็นการบอกว่ารู้ว่า "เมื่อมีเหตุ จึงมีผล เมื่อไม่มีเหตุ ก็จะไม่มีผล" ตามหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง เรื่องนี้อธิบายได้ว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีเหตุหลายๆเหตุมาร่วมกันทำ (คือปรุงแต่ง) ให้เกิดขึ้น (คือถ้ามีเพียงเหตุเดียวจะไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นมาได้) ซึ่งในบรรดาเหตุทั้งหมดนั้น ถ้าเหตุใดใหญ่หรือสำคัญที่สุดหรือเห็นได้ง่ายที่สุด (ซึ่งจะมีเพียงเหตุเดียว) เราจะเรียกว่า เหตุ ส่วนเหตุที่เหลือทั้งหมด เราจะเรียกว่า ปัจจัย ที่หมายถึง เหตุย่อยๆหรือสิ่งที่มาสนับสนุนเหตุ ส่วนคำว่า ปรุงแต่ง หมายถึง การร่วมกันทำ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัยนั้นจะเรียกว่า "สิ่งปรุงแต่ง" ที่หมายถึง สิ่งที่อาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ถ้าเราจะพิจารณากฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ให้ละเอียดถี่ถ้วน เราก็จะพบว่า เมื่อเหตุมาทำให้เกิดผลใดขึ้นมาแล้ว ผลนั้นก็จะกลายเป็นเหตุหรือปัจจัยไปปรุงแต่งร่วมกับเหตุหรือปัจจัยอื่นแล้วทำให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก คือมันจะเป็นเหตุเป็นผล, เป็นเหตุเป็นผล, เป็นเหตุเป็นผล อย่างนี้ต่อๆกันไปเหมือนเหมือนโดมิโนที่ผลักดันกันต่อๆไปเป็นสายยาว อีกอย่างแค่เหตุเพียงเหตุเดียวก็ยังทำให้เกิดผลต่างๆได้หลายผล และเพียงผลเดียวก็ยังต้องเกิดมาจากหลายๆเหตุมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งนี่เองที่ทำให้เกิดสายโซ่ที่คล้องต่อกันไปเป็นสายยาวและยังเกี่ยวพันกันอยู่อย่างยุ่งเหยิง ซึ่งนี่ก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลกและในจักรวาล ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เหมือนที่เราชอบพูดกันว่า "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" นั่นเอง กฎสูงสุดของธรรมชาตินี้เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆที่ใครๆก็รู้กันอยู่แล้วว่า "อะไรที่เกิดขึ้นมา ก็ต้องมีเหตุมาทำให้เกิดขึ้นทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุ" แต่ถ้าเราจะพิจารณาให้ละเอียดรอบครบ เราก็จะพบความจริงที่ลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในธรรมชาติทั้งหลายได้ โดยความจริงที่สำคัญและเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อดับทุกข์ก็คือความจริงเรื่อง ความเป็นอนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) ของร่างกายและจิตใจของเรา ซึ่งความจริงนี้ก็คือหัวใจของปัญญาตามหลักอริยมรรคนั่นเอง สรุปได้ว่าพุทธศาสนาก็มีพระเจ้ากับเขาด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่าพระเจ้าของพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ตัวตนบุคคลเหมือนกับศาสนาอื่น แต่เป็น "ธรรมะ" หรือ "ธรรมชาติ" ที่ควบคุมสิ่งทั้งหลายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือจิตใจ โดยธรรมชาตินั้นจะมีกฎอยู่กฎหนึ่ง ที่เป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่บังคับทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ว่า "ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น" ซึ่งกฎสูงสุดนี้เองที่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับอย่างไม่บิดพลิ้ว ซึ่งกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้เองที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรานำมาพิจารณาร่างกายและจิตใจของเราด้วยความตั้งใจ (คือด้วยสมาธิ) ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของร่างกายและจิตใจของเราได้ ซึ่งความเข้าใจและเห็นแจ้งนี้เอง ที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาปฏิบัติร่วมกับสมาธิเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรค ๑๙. กฎไตรลักษณ์คืออะไร? จากกฎสูงสุดของธรรมชาติที่บังคับทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ว่า " ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น" ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัยนี้เรียกว่าเป็น "สิ่งปรุงแต่ง" (ซึ่งยกเว้น "นิพพาน" หรือความสงบเย็นของจิตขณะที่จิตไม่มีความทุกข์เท่านั้นที่เป็น "สิ่งไม่ปรุงแต่ง" นอกนั้นจะเป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น) โดยสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะตกอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ ๓ ประการ ที่เรียกว่า กฎไตรลักษณ์ ที่หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการที่ควบคุมสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายอยู่ อันได้แก่ ๑. อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง คือหมายถึง สภาพของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายไม่ช้าก็เร็วสภาพการปรุงแต่งของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจะต้องแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือ ดับหายไป (ใช้กับจิต) อย่างแน่นอน ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เมื่อ "เหตุ" และ "ปัจจัย" ที่มาปรุงแต่งให้เกิดเป็นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายขึ้นมานั้น มันก็ต้องอาศัยเหตุและปัจจัยอื่น มาปรุงแต่งให้เกิดมันขึ้นมาด้วยเหมือนกัน และเมื่อเหตุและปัจจัยอื่นที่มาปรุงแต่งนั้น มันก็ไม่เที่ยง ดังนั้นจึงทำให้สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา พลอยมีความไม่เที่ยงตามไปด้วย ๒. ทุกขัง แปลว่า ทน, ทนได้ยาก คือหมายถึงว่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มันต้องทนประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ด้วยความยากลำบากอยู่ตลอดเวลา ถ้าสิ่งปรุงแต่งใดไม่มีการทนประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันเอาไว้ สภาพการปรุงแต่งของมันก็จะแตกสลาย (ใช้กับวัตถุ) หรือดับหายไป (ใช้กับจิต) ทันที ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทั้ง "เหตุ" และ "ปัจจัย" ที่มาปรุงแต่งให้เกิดเป็น "สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย" ขึ้นมานั้น มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน (คือมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน) ซึ่งการเอาสิ่งที่ไม่เหมือนกันหลายๆสิ่งมารวมกัน มันก็ย่อมที่จะมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการประคับประคองสภาพการปรุงแต่งของมันให้ดำรงอยู่ (หรือตั้งอยู่) ตลอดเวลา (ภาวะทุกขังหรือความทนได้ยากนี้ ถ้ามีน้อยก็มาสมมุติเรียกว่า สุขัง หรือ สุข ที่หมายถึงความทนได้ง่าย หรือ ทนได้สบาย) ๓. อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา คือหมายถึง เป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายเป็นอัตตา (คือไม่ได้เป็นตัวตนที่แท้จริง) เพราะสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายนั้น มันต้องอาศัยเหตุและปัจจัยมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงเรียกว่าเป็น อนัตตา ที่หมายถึงมันไม่ใช่อัตตาหรือไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และถ้ามีคำถามว่า เมื่อสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายไม่ใช่อัตตา แล้วมันเป็นอะไร? ซึ่งคำตอบก็คือ มันเป็น "สิ่งปรุงแต่ง" เพราะตัวตนของมันเองจริงๆนั้นไม่มี ดังนั้นเราจึงหาแก่นแท้หรือตัวตนจริงๆ (คืออัตตา) ของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายไม่มี (ที่เรียกว่า สุญญตา ที่หมายถึง ความว่างจากอัตตา) จะมีก็เพียง "ตัวตนชั่วคราว" (คือต้องดับหายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว) หรือ "ตัวตนมายา" (คือสิ่งหลอกลวงว่าเป็นตัวตนจริงๆ) หรือ "ตัวตนสมมติ" (คือเป็นเพียงการสมมติเรียกว่าเป็นตัวตนเพื่อใช้ในการสื่อสาร) เท่านั้น สรุปได้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาตินี้จะตกอยู่ภายใต้ความจริง ๓ ประการ คือ ไม่เที่ยง (อนิจจัง), ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก (ทุกขัง) และไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนให้เรานำเอาขันธ์ ๕ หรือร่างกายกับจิตใจของเรามาพิจารณาถึงเรื่อง การเกิดขึ้น, ตั้งอยู่, และดับหายไป ของแต่ละขันธ์อย่างละเอียด ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสุญญตา ของร่างกายกับจิตใจของเราได้ ซึ่งความเข้าใจนี้เองที่เป็นปัญญา สำหรับนำมาใช้ปฏิบัติร่วมกับสมาธิ (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) เพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยสัจ ๔ ๒๐. ความว่างคืออะไร? คำว่า สุญญตา แปลว่า ความว่าง ซึ่งคำว่า ความว่างนี้มี ๓ ความหมาย อันได้แก่ ๑. ความว่างไม่มีอะไร คือหมายถึง ความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ๒. ความว่างจากอัตตา คือหมายถึง ถึงแม้สิ่งต่างๆจะมีอยู่ แต่มันไม่มีอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงของมัน ๓. จิตว่าง คือหมายถึง การที่จิตว่างจากกิเลส โดยความว่างไม่มีอะไรเลยนั้นก็หมายถึง การไม่มีสิ่งใดๆเลยแม้อากาศ ส่วนความว่างจากอัตตานั้นหมายถึง สิ่งที่ชาวโลกเขาสมมุติกันขึ้นมานั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง เพราะมันเป็นสิ่งปรุงแต่งมาจากเหตุและปัจจัย ดังนั้นทุกสิ่งจึงเรียกว่าเป็น สุญญตา คือว่างจากอัตตา ส่วน จิตว่าง หมายถึง จิตที่ว่างจากกิเลส ซึ่งเมื่อจิตไม่มีกิเลส มันก็จะไม่มีความทุกข์ และเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพาน คือ สงบเย็นทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งการที่จิตจะว่างจากกิเลสได้นั้น มันก็สามารถว่างได้เองตามธรรมชาติเป็นครั้งคราว หรืออาจจะว่างได้เพราะจิตมีสมาธิก็ได้ หรืออาจจะเกิดจากการปฏิบัติตามหลักอริยมรรคก็ได้ ๒๑.ขันธ์ ๕ คืออะไร? คำว่า ขันธ์ ๕ แปลว่า กลุ่ม, กอง, ส่วน โดยชีวิตของคนเรานี้ประกอบด้วยส่วน ๕ ส่วน อันได้แก่ ๑. รูปขันธ์ คือส่วนที่เป็นรูป หรือร่างกายและอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ที่เกิดขึ้นมาจากธาตุทางวัตถุ ๔ ประการมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งธาตุทางวัตถุทั้ง ๔ นั้นก็ได้แก่ ธาตุดิน คือคุณสมบัติที่ค่อนแข็ง-จับต้องได้, ธาตุน้ำ คือคุณสมบัติที่เหลว-รวมตัวกัน, ธาตุไฟ คือคุณสมบัติที่ร้อน-ทำลาย, ธาตุลม คือคุณสมบัติที่บางเบา-แผ่กระจาย โดยร่างกายที่ยังไม่ตายจะมี "เครื่องเชื่อมต่อ" อยู่ ๖ อย่าง คือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ที่เอาเอาไว้ติดต่อกับธรรมชาติหรือสิ่งภายนอก ๖ อย่าง คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งสัมผัสกาย (คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็งฯ), สิ่งสัมผัสใจ (คือทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจ อันได้แก่ การรับรู้ทั้งหลาย, การจำสิ่งที่รับรู้ได้, ความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้, และการคิดนึกของจิต) ๒. วิญญาณขันธ์ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ คือเมื่อ"เครื่องเชื่อมต่อ" ใดได้สัมผัสกับสิ่งภายนอกที่ตรงกัน ก็จะทำให้เกิด "การรับรู้" สิ่งภายนอกนั้นขึ้นมาทันที อย่างเช่น เมื่อตาได้สัมผัสกับรูป ก็จะเกิดการรับรู้รูป (หรือการเห็นรูป) ขึ้นมาทันที หรือเมื่อหูได้สัมผัสกับเสียง ก็จะเกิดการรับรู้เสียง (หรือการได้ยินเสียง) ขึ้นมาทันที เป็นต้น (วิญญาณนี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันคือไฟฟ้าอ่อนๆที่เกิดขึ้นในร่างกายที่ยังไม่ตาย) ซึ่งวิญญาณหรือการรับรู้นี้ก็มีอยู่ ๖ อย่างตามเครื่องเชื่อมต่อทั้ง ๖ คือวิญญาณทางตา, วิญญาณทางหู, วิญญาณจมูก, วิญญาณทางลิ้น, วิญญาณทางกาย, วิญญาณทางใจ ๓. สัญญาขันธ์ คือส่วนที่เป็นการจำสิ่งที่รับรู้ได้ คือเมื่อเกิดวิญญาณหรือการรับรู้ใดขึ้นมาแล้วก็ตาม ก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นได้ขึ้นมาด้วยทันที อย่างเช่น เมื่อเกิดการเห็นรูป ก็จะเกิดการจำได้ว่ารูปที่เห็นนั้นเป็นรูปอะไร หรือเมื่อเกิดการได้ยินเสียง ก็จะเกิดการจำได้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงอะไร เป็นต้น (นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสมองของคนเรานั้นเหมือนคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วจำนวนแสนล้านเครื่องที่ทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา โดยความจำจะถูกเก็บเป็นรหัสไว้ที่สมอง ซึ่งการที่สมองทำงานได้เพราะมีไฟฟ้าอ่อนๆที่ร่างกายที่ยังดีอยู่สร้างขึ้นมา) ซึ่งสัญญานี้ก็มีอยู่ ๖ อย่างตามวิญญาณ อันได้แก่ สัญญาในรูป, สัญญาในเสียง, สัญญาในกลิ่น, สัญญาในรส, สัญญาในสิ่งสัมผัสกาย, สัญญาในสิ่งสัมผัสใจ ซึ่งสัญญานี้ก็จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับเวทนาขันธ์ ๔. เวทนาขันธ์ คือส่วนที่เป็นความรู้สึก คือเมื่อเครื่องเชื่อมต่อใด ได้สัมผัสกับสิ่งภายนอกที่ตรงกัน แล้วเกิดวิญญาณหรือการรับรู้ที่เครื่องเชื่อมต่อนั้นขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดเวทนาหรือความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที อย่างเช่น เมื่อตาเห็นรูป ก็จะเกิดเวทนาหรือความรู้สึกต่อรูปที่ได้เห็นนั้นขึ้นมาทันที เป็นต้น (เวทนานี้นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันก็คือสารเคมีชนิดต่างๆ ที่สมองสร้างขึ้นมาขณะที่สมองทำงานหรือประมวลผลอยู่) โดยเวทนาหรือความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้นี้ก็แยกได้ ๓ เวทนา ตามสิ่งที่ได้รับรู้ อันได้แก่ ๑) สุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ทนได้ง่าย หรือ ทนได้สบาย (หรือที่เราเรียกกันว่าความสุข) ที่เกิดจากการที่จิตได้รับรู้ "สิ่งที่น่าพึงพอใจ" (คือสิ่งที่ให้ความสุขทั้งหลาย เช่น กามารมณ์, วัตถุสิ่งของ, เกียรติยศชื่อเสียง, การทำความดี, การทำจิตให้เป็นสมาธิ เป็นต้น) ๒) ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ทนได้ยากหรือทนได้ลำบาก ที่เกิดจากการได้รับรู้ "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" (อันได้แก่ ความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก, ความประสบกับบุคคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รัก, และความผิดหวัง) ๓) อทุกขสมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ไม่ใช่ทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา ที่เกิดจากการได้รับรู้สิ่งที่กลางๆ (คือไม่ใช่ทั้งสิ่งที่น่าพึงพอใจและไม่น่าพึงพอใจ เช่น ดิน น้ำ ต้นไม้ ภูเขา ทะเล ฯลฯ) โดยเวทนาทั้ง ๓ นี้ ถ้าแยกตามการรับรู้ (คือวิญญาณ) ก็จะแยกได้ ๖ ตามวิญญาณ คือ เวทนาทางตา, เวทนาทางหู, เวทนาทางจมูก, เวทนาทางลิ้น, เวทนาทางกาย, และ เวทนาทางใจ ๕. สังขารขันธ์ คือ ส่วนที่เป็นอาการปรุงแต่งของจิต คือเมื่อเกิดเวทนาใดขึ้นมาแล้ว เมื่อจิตขาด "สติ-ปัญญา-สมาธิ" จิตก็จะเกิดการอาการต่างๆต่อเวทนานั้นขึ้นมาด้วยทันที ซึ่งอาการที่เกิดต่อเวทนานี้ก็ได้แก่ อาการของกิเลส (คือความพึงพอใจต่อสุขเวทนา, ความไม่พึงพอใจต่อทุกขเวทนา, ความลังเลใจต่ออทุกขมสุขเวทนา), หรือการคิดพิจารณาเรื่องต่างๆไปตามอำนาจของกิเลส, หรืออาการตื่นเต้น (ปีติ), หรืออาการซาบซึ้ง, หรืออาการหดหู่ เป็นต้น (ระบบการทำงานของสมองนี้ก็เหมือนระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ที่ทำงานได้โดยใช้ไฟฟ้าอ่อนๆที่ร่างกายสร้างขึ้นมา) หมายเหตุ. การเรียกขันธ์ทั้ง ๕ นี้ คนส่วนมากนิยมเรียกสั้นๆและเรียงลำดับให้ฟังไพเราะว่า รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ ซึ่งก็ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง จะต้องมีคำว่า "ขันธ์" ต่อท้ายด้วยเสมอ เช่น รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ เป็นต้น รวมทั้งจะต้องเรียงลำดับการเกิดขึ้นของแต่ละขันธ์ใหม่ ด้วยเพื่อให้ศึกษาแล้วเข้าใจได้ง่าย คือต้องเปลี่ยนเป็น รูปขันธ์, วิญญาณขันธ์, สัญญาขันธ์, เวทนาขันธ์, สังขารขันธ์ ซึ่งก็ขอให้เข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย จะได้ไม่เข้าใจสับสนเมื่อพบคำเหล่านี้ ขันธ์ทั้ง ๕ นี้สรุปย่อลงเป็น รูป (คือสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย) กับ นาม (คือสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยใจ) โดยรูปก็คือรูปขันธ์ ส่วนนามก็คือ วิญญาณขันธ์, สัญญาขันธ์, เวทนาขันธ์, สังขารขันธ์ ซึ่ง "รูปกับนาม" นี้เรานิยมเรียกกันว่า "ร่างกาย" กับ "จิตใจ" โดยคำว่า "จิต" หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่คิดนึก ส่วนคำว่า "ใจ" หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่รับรู้และรู้สึก ซึ่งเรานิยมเรียกรวมๆกันว่า "จิตใจ" ที่หมายถึง สิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้ โดยพระพุทธเจ้าสอนให้เรานำเอาขันธ์ทั้ง ๕ นี้มาพิจารณาถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับหายไปตามความเป็นจริง ก็จะทำให้เราเกิดปัญญาที่เป็นความเข้าใจและเห็นแจ้งเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของร่างกายและจิตใจของเราได้ ซึ่งปัญญานี้เองที่เมื่อเรานำมาปฏิบัติร่วมกับสมาธิ เพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ๒๒. ร่างกายกับจิตใจเป็นอัตตาหรืออนัตตา? เมื่อเราได้ศึกษามาแล้วว่า "สิ่งปรุงแต่ง" จะมีลักษณะ ๓ ประการ คือ อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง (มีการเกิด-ดับ), ทุกขัง ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก (คือไม่สบาย), อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (คือต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น) ดังนั้นการที่เราจะรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งปรุงแต่งหรือไม่นั้น ก็ให้เราสังเกตว่า "ถ้าสิ่งนั้นมีการเกิด-ดับ หรือ ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก หรือ ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ก็แสดงว่าสิ่งนั้นเป็น สิ่งปรุงแต่ง" (คือจะมีเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้) ซึ่งเมื่อเราได้ศึกษาเรื่องขันธ์ ๕ มาแล้วก็สรุปได้ว่า ร่างกายนั้นมีการเปลี่ยนแปลง (คือแก่ชรา) อยู่ตลอดเวลา โดยสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว สภาพการปรุงแต่งของร่างกายก็ต้องแตกสลาย (ตาย) อย่างแน่นอน ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่า ร่างกายเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงหรือไม่เป็นอมตะ รวมทั้งเมื่อร่างกายยังตั้งอยู่ (คือยังไม่ตาย) ร่างกายก็ยังต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก เช่น ต้องทนแสวงหาปัจจัย ๔ มาบริหารร่างกายให้ตั้งอยู่ ต้องทนต่อความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว ความหนัก ความเหนื่อย และโรค-ภัยต่างๆรอบตัวที่คอยมาทำลายให้ร่างกายเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งร่างกายก็ยังต้องทนต่อความแก่หรือความเป็นอนิจจังของร่างกายอยู่ตลอดเวลา อีกด้วย ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความจริงว่า ร่างกายมีภาวะของทุกขัง คือต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก มากบ้าง-น้อยบ้างตลอดทั้งชีวิต อีกทั้งร่างกายก็ต้องอาศัยธาตุดิน (ของแข็ง), ธาตุน้ำ (ของเหลว) ธาตุไฟ (ความร้อน), และธาตุลม (ก๊าซ) มาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งนี่ก็แสดงให้เราเข้าใจถึงความจริงว่า ร่างกายเป็น อนัตตา คือไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงของใครๆ ส่วนจิตใจ (คือสิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้) ก็มีการเกิดและดับอยู่เสมอๆ คือเมื่อร่างกายตื่น จิตก็เกิด (คือมีขึ้นมา) เมื่อร่างกายหลับสนิทและไม่ฝัน จิตก็ดับ (คือไม่มี) รวมทั้งขันธ์ทั้ง ๔ คือ วิญญาณขันธ์ (การรับรู้), สัญญาขันธ์ (การจำสิ่งที่รับรู้ได้), เวทนาขันธ์ (ความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้) และ สังขารขันธ์ (อาการต่างๆของจิต) ก็มีการเกิดและดับสลับไปสลับมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งแต่จิตใจขณะที่ยังตั้งอยู่ ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อมีความสุขไม่นานก็กลายเป็นความทุกข์, เมื่อจำได้แล้วไม่นานก็ลืม, เมื่อรักแล้วไม่นานก็เปลี่ยนเป็นจืดชืดหรือเกลียดชัง เป็นต้น อีกด้วย ซึ่งนี่ก็แสดงถึงความเป็น อนิจจัง หรือ ความไม่เที่ยงของจิตใจ ส่วนในขณะที่จิตใจกำลังเกิดกิเลสฝ่ายบวก (คืออยากได้สุขเวทนา) และอุปาทาน (คือเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังมีสุขเวทนาขึ้นมา) ก็จะทำให้จิตเกิดอาการดิ้นรนไปตามอำนาจของกิเลส แล้วก็ทำให้เกิดความกระวนกระวาย เร่าร้อน หนัก-เหนื่อย ไม่สงบ ไม่เย็น ไม่เป็นปรกติ ฯ ขึ้นมา ซึ่งนี่ก็คืออาการที่เรียกว่า "ความทุกข์ซ่อนเร้น" แต่ถ้าขณะที่จิตกำลังเกิดกิเลสฝ่ายลบ (คืออยากทำลายทุกขเวทนาให้หายไป) และ อุปาทาน (คือเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราที่กำลังมีทุกขเวทนา) ขึ้นมา ก็จะทำให้จิตเกิดความรู้สึกทรมานมาก คือเกิดความเศร้าโศก ความคับแค้นใจ ความแห้งเหี่ยวใจ หรือความไม่สบายใจอย่างรุนแรง ฯ ขึ้นมา ซึ่งนี่ก็คืออาการที่เรียกว่า "ความทุกข์เปิดเผย" และแม้แต่ขณะที่จิตกำลังเกิดความทุกข์อ่อนๆจากนิวรณ์อยู่นั้น จิตก็มีความรู้สึกที่ต้องทนอยู่ด้วย เพียงแต่ยังไม่มากเท่านั้น รวมทั้งขณะที่จิตว่างจากกิเลสอยู่นั้น จิตก็ยังมีภาวะที่ต้องทนอยู่ด้วย (เพราะจิตเป็นสิ่งปรุงแต่ง) แต่ว่าขณะนี้ภาวะของทุกขังได้ลดน้อยลงจนถึงที่สุดเท่าที่มันจะลดลงได้แล้ว ซึ่งนี่ก็คือภาวะที่เรียกว่า "ที่สุดแห่งทุกข์" หรือ "นิพพาน" ซึ่งทั้งหมดนี่ก็คือภาวะของ "ทุกขัง" หรือ ภาวะที่ต้องทนอยู่อย่างยากลำบากของจิตใจ ส่วนการที่จิตใจจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยระบบประสาท "ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ" ที่ยังดีอยู่ ของร่างกายที่ยังไม่ตาย กับ "รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และสิ่งสัมผัสใจ" ให้มาสัมผัสกัน, เพื่อให้เกิด การรับรู้ (วิญญาณขันธ์) ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ขึ้นมา, แล้วจึงเกิด การจำสิ่งที่ได้รับรู้ (สัญญาขันธ์) ขึ้นมา, แล้วจึงเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่ได้รับรู้ (เวทนาขันธ์) ขึ้นมา, แล้วจึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่ง (สังขารขันธ์) ขึ้นมา และรวมกันเป็น "จิตใจ" ขึ้นมาอีกที่ ซึ่งนี่ก็แสดงถึงลักษณะความเป็น "อนัตตา" ของจิตใจเรา ที่มันไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนของเราหรือของใครๆ สรุปได้ว่า ทั้งร่างกายและจิตใจ (ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรา) นี้ และของมนุษย์ทุกคน ล้วนมีความไม่เที่ยง (อนิจจัง), ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก (ทุกขัง), และไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงของเราหรือของใครๆทั้งสิ้น (อนัตตา) ซึ่งเมื่อเราตั้งใจพิจารณาอยู่เช่นนี้ต่อไปนานๆ (คือด้วยสมาธิ) ก็จะทำให้เราพบความจริงที่ลึกซึ่งสูงสุดว่า ทุกสิ่งเป็น สุญญตา คือว่างเปล่าจากอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริงของมัน คือทำให้จิตพบความจริงสูงสุดว่า "มันไม่มีได้ตัวเราอยู่จริง" ส่วนสิ่งที่มีอยู่นี้ ก็เป็นแค่เพียง ตัวเราชั่วคราว หรือ ตัวเรามายา หรือ ตัวเราสมมติ เท่านั้น ซึ่งความจริงเรื่องความเป็นสุญญตาของทุกสิ่งนี้ เป็นความจริงสูงสุดที่ทุกคนควรรู้ เพราะความรู้นี้จะช่วยให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ อันเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวอย่างที่สุดของชีวิตได้ ๒๓. เราคืออะไร? เรื่องร่างกายเป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนที่พอจะมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เพราะเป็นเรื่องทางวัตถุที่เห็นได้ด้วยตา แต่ก็ยากที่คนโง่ เช่นเด็กจะเข้าใจ เพราะเด็กก็เห็นอยู่ว่ามีร่างกายอยู่จริงๆ ส่วนเรื่องจิตใจเป็นอนัตตานั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากมากสำหรับคนทั่วไป เพราะเราทุกคนย่อมมีความรู้สึกตัวว่ามันมีตัวเราอยู่จริงๆมายืนยัน คือเราทุกคนก็มี "ความรู้สึกตัวว่ามีตัวเรา" อยู่จริงๆ ซึ่งความรู้สึกนี้เองที่มันก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า "จิตใจนี้คือตัวตนที่เป็นเรา" ซึ่งนี่คือความยากมากที่จะสอนให้คนทั่วไปเข้าใจว่า "มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง" แต่ขอให้ลองพิจารณาด้วยเหตุผลตามความเป็นจริงว่า ขันธ์หรือส่วนทั้ง ๔ ของจิตใจ (คือการรับรู้, การจำได้, ความรู้สึก, และการคิดนึก) นั้น ส่วนใดที่เป็นตัวเรา? ซึ่งแน่นอนว่า "การคิดนึกปรุงแต่งของจิต" ก็ยึดเอาเป็นตัวเราไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี "เวทนา" ก็จะไม่มี "การคิดนึกปรุงแต่งของจิต", หรือถ้าจะไปยึดเอา "สัญญา" (คือการจำสิ่งที่รับรู้ได้) ว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี "วิญญาณ" ก็จะไม่มีสัญญา, หรือถ้าจะไปยึดเอา "วิญญาณ" ว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี "ร่างกาย" ก็จะไม่มีวิญญาณ, หรือจะไปยึดเอา "ร่างกาย" ว่าเป็นตัวเราก็ไม่ได้อีก เพราะร่างกายก็ต้องอาศัย ธาตุ ๔ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ซึ่งธาตุทั้ง ๔ นี้มันก็ไม่ได้เป็นธาตุเฉพาะของใครๆอีกเหมือนกัน เมื่อค้นหาตัวตนจริงๆ (ที่เรียกว่าอัตตา) ที่เป็นเราในร่างกายและจิตใจไม่เจอดังนี้แล้ว ก็จะทำให้เราพบความจริงที่ลึกซึ้งว่า ขันธ์ ๕ หรือร่างกายกับจิตใจ ที่สมมติเรียกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" นี้มันเป็น สุญญตา คือว่างเปล่าจากอัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง หรือหมายถึง มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริงในร่างกายหรือในจิตใจนี้ โดยความจริงเรื่องความเป็นสุญญตานี้เอง ที่เมื่อเรานำความจริงนี้ มาเพ่งดูที่ร่างกายและจิตใจ ที่รู้สึกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" นี้อย่างตั้งใจที่สุด (คือด้วยสมาธิ) ก็จะทำให้จิตนี้ยอมรับความจริง แล้วมันก็จะปล่อยว่างความยึดถือว่าร่างกายและจิตใจนี้คือ "ตัวเรา-ของเรา" ลงทันที ซึ่งการปล่อยวางความยึดถือนี้เอง ที่ทำให้กิเลส (หรือตัณหา) ทุกระดับ (คือรวมทั้งนิวรณ์ที่เป็นกิเลสอ่อนๆด้วย) ระงับหรือดับหายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) และถ้ามีการระลึกถึงความเป็นสุญญตานี้อย่างจริงจังและสม่ำเสมอเป็นเวลานานๆตามหลักอริยมรรค ก็จะทำให้ "ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสขึ้นมาอีก" (ที่เรียกว่าสังโยชน์) หมดสิ้นไปจากจิตใต้สำนึกของเราได้อย่างถาวร แล้วจิตก็จะนิพพานอย่างสูงสุดและถาวรได้ แต่ก็อาจจะเกิดคำถามว่า แล้วจิตมันเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมาได้อย่างไรทั้งๆที่ก็ไม่ได้มีตัวเราอยู่จริงๆ? ซึ่งเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า จิตของเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆทุกคนนั้น จะมีความบริสุทธิ์ (คือยังไม่มีกิเลสครอบงำ) อยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งจิตที่บริสุทธิ์นี้จะมีนิพพานหรือความสงบเย็นอยู่ด้วยตลอดเวลา แต่ธรรมชาติของจิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้นก็ย่อมที่จะมี "สัญชาตญาณว่ามีตนเอง" หรือความรู้สึกว่ามีตนเองอ่อนๆ (ที่เรียกว่าเป็นอวิชชา) เกิดขึ้นมาอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งสัญชาตญาณนี้เองที่เป็นสัญชาตญาณใหญ่ ที่ทำให้เกิดสัญชาตญาณย่อยๆตามมาอีกมากมาย เช่น สัญชาตญาณในการหาอาหาร, ในการกินอาหาร, ในการหนีภัย, ในการสืบพันธ์, ในการรักลูก, ในการเลี้ยงลูก เป็นต้น ขึ้นมา ซึ่งถ้าสิ่งที่มีชีวิตใดไม่มีสัญชาตญาณว่ามีตนเองนี้ สิ่งที่มีชีวิตนั้นก็จะสูญพันธ์ไปจากโลกทันที เมื่อจิตของเด็กนั้นมี "ความรู้สึกตัวว่ามีตนเอง" อยู่แล้วเป็นพื้นฐาน เมื่อจิตของเด็กนั้นได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆของโลก ที่เป็นทั้ง "สิ่งที่น่าพึงพอใจ" และ "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" รวมทั้ง "สิ่งเป็นกลางๆ" จึงทำให้เกิดเวทนาขึ้นมา (คือเกิดสุขเวทนา, ทุกขเวทนา, อทุกขมสุขเวทนา) แต่เพราะจิตของเด็กนี้มีอวิชชา (คือความรู้สึกตัวว่ามีตนเอง) ครอบงำ จึงทำให้จิตของเด็กนั้นเกิด "กิเลส" ต่อเวทนา (คือพึงพอใจต่อสุขเวทนา, ไม่พึงพอใจต่อทุกขเวทนา, ลังเลใจต่ออทุกขมสุขเวทนา) พร้อมกับ "อุปาทาน" คือ ความยึดถือว่ามีตนเองเกิดขึ้นมาด้วยทันที แล้วก็ทำให้จิตของเด็กนั้นเกิดความทุกข์ (คือความทุกข์ซ่อนเร้น ความทุกข์เปิดเผย รวมทั้งความทุกข์อ่อนๆ) ขึ้นมาด้วยทันที แต่เมื่อใดที่จิตของเด็กนั้นไม่มีกิเลสครอบงำ ความบริสุทธิ์และนิพพาน ก็จะกลับมาปรากฏกับจิตของเด็กนั้นได้อีก แต่เมื่อกิเลสกลับมาเกิดขึ้นมาอีก จิตของเด็กก็จะกลับมาไม่บริสุทธิ์และเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก ซึ่งเมื่อกิเลสเกิดขึ้นมาแล้วดับไป มันก็จะทิ้งความเคยชินเอาไว้ในจิตใต้สำนึกของเด็กนั้น ซึ่งเมื่อเด็กนั้นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสขึ้นมาอีกก็ย่อมที่จะมีมากตามไปด้วย จึงทำให้เขาต้องพบกับความทุกข์อยู่เสมอๆตลอดทั้งชีวิต แต่ถ้าเขาจะได้มีการศึกษาให้เกิดปัญญาที่เข้าใจและเห็นแจ้งว่า "มันไม่ได้ตัวตนของเขาอยู่จริง" แล้วเขาก็พยายามมีสติระลึกถึงความจริงว่า "มันไม่ได้ตัวตนของเขาอยู่จริง" อยู่เสมอๆอย่างตั้งใจ (คือด้วยสมาธิ) ในการใช้ชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้กิเลสไม่สามารถเกิดขึ้นกับจิตของเขาได้มากขึ้น แล้วก็จะทำให้ความเคยชินของกิเลสในจิตใต้สำนึกของเขาค่อยลดความเคยชินลงเรื่อยๆ แล้วจิตของเขาก็จะนิพพานมากขึ้น และถ้าเขาสามารถปฏิบัติเช่นนี้ได้ติดต่อกันนานๆจนทำให้ความเคยชินของกิเลสที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขาหมดความเคยชินไปอย่างถาวร จิตของเขาก็จะนิพพานอย่างสูงสุดและถาวร (คือตลอดชีวิต) ได้ ๒๔. ดวงตาเห็นธรรมคืออะไร? คำว่า ธรรมจักษุ แปลว่า ดวงตาเห็นธรรม ซึ่งหมายถึง การเกิดปัญญาเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ หรือเรียกสั้นๆว่า "การเห็นธรรม" ซึ่งคำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ ในที่นี้ก็หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า โดยการการเห็นธรรม หรือการเห็นอริยสัจ ๔ ก็คือ การเห็นแจ้งด้วยจิตของเราเองจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงการฟังมาหรือแค่เพียงการคิดพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลแล้วเกิดความเข้าใจเท่านั้น ซึ่งการเห็นแจ้งนี้จัดเป็น ภาวนามยปัญญา คือเป็นปัญญาขั้นเห็นแจ้ง ที่เกิดจากการปฏิบัติตามหลักอริยมรรค จนดับทุกข์ได้จริง (แม้เพียงชั่วคราว) โดยการเห็นอริยสัจจะเกิดขึ้น "เมื่อนิพพานได้ปรากฏกับจิตของเราจริงๆเท่านั้น" แต่การที่นิพพานจะปรากฏกับจิตของเราได้ ก็ต้องมีการเห็นแจ้งว่า ความทุกข์ได้ดับหายไปจากจิตของเราจริงๆก่อน (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งการที่ความทุกข์จะดับหายไปจากจิตจองเราจริงๆได้ ก็ต้องเกิดจากการที่กิเลสและนิวรณ์ ได้ระงับหรือดับหายไปจริงๆก่อน คือ เมื่อกิเลสได้ดับหายไป จึงทำให้ความทุกข์ดับหายตามไปด้วย ซึ่งเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ จิตก็จะนิพพาน (คือสงบเย็น) ทันที (แม้เพียงชั่วคราว) ซึ่งการที่กิเลสได้ดับหายไปนั้นก็เป็นเพราะ "เรามีสติระลึกถึงความเป็นอนิจจัง (คือความไม่เที่ยง), ทุกขัง (คือความที่ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก), และอนัตตา (คือความไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง) ของร่างกายและจิตใจของเรา ดัวยความตั้งใจอย่างยิ่ง (คือด้วยสมาธิระดับสูง)" ซึ่งการปฏิบัตินี้ก็คือ การปฏิบัติตามหลักอริยมรรคโดยสรุป คือเป็นการใช้ปัญญากับสมาธิมาทำงานร่วมกัน โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว โดยการเกิดดวงตาเห็นธรรมนี้ สรุปแล้วก็คือ การเห็นแจ้งความจริงของธรรมชาติว่า "ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นมาจากเหตุ และดับไปก็เพราะเหตุของมันได้ดับหายไป" ซึ่งนี่ก็คือการเห็นแจ้งกฎอิทัปปัจจยตา ที่เป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่นั่นเอง โดยการเห็นแจ้งนี้ก็ทำให้เกิดความเห็นแจ้งต่อไปว่า "ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาจากกิเลส เมื่อกิเลสดับหายไป ความทุกข์จึงดับหายไป" และยังมีความเห็นแจ้งต่อไปอีกว่า ชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ที่สมมุติเรียกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" นี้ ก็เกิดมากจากเหตุด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงเท่ากับว่า "มันไม่ได้มีอัตตาหรือตัวตนที่เป็นเราจริงๆเลย รวมทั้งก็ไม่ได้มีอัตตาหรือตัวตนของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริงๆด้วย" ซึ่งนี่ก็คือการเห็นแจ้งถึงความเป็น อนัตตา (คือความไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง) และความเป็น สุญญตา (คือความว่างจากอัตตาหรือตัวตนที่เป็นเรา) อันเป็นหัวใจของปัญญาในพุทธศาสนา ที่ทำให้กิเลสและนิวรณ์อ่อนแรงลงและดับหายไปได้ (แม้เพียงชั่วคราว) นั่นเอง ๒๕. คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าสรุปได้ว่าอย่างไร? ได้มีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "คำสอนทั้งหมดของพระองค์นั้นสรุปให้เหลือสั้นที่สุดได้ว่าอย่างไร?" ซึ่งพระองค์ทรงตอบว่าคำสอนทั้งหมดของพระองค์นั้น สรุปอยู่ที่ประโยคที่ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น ตัวเรา-ของเรา" ซึ่งการที่ใครๆจะได้ฟังคำสอนแค่เพียงประโยคเดียวนี้แล้วเข้าใจ ก็แสดงว่าเขาได้ฟังคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า และถ้าใครจะได้ปฏิบัติตามคำสอนเพียงแค่ประโยคเดียวนี้ ก็เท่ากับว่าเขาได้ปฏิบัติตามคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าแล้ว รวมทั้งถ้าใครจะได้รับผลจากการปฏิบัติเพียงเท่านี้ ก็เท่ากับว่าเขาได้รับผลทั้งหมดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว โดยคำว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวง" นี้ก็หมายถึง ทุกสิ่ง ไม่เว้นสิ่งใด (คือทั้ง สิ่งปรุงแต่ง และ สิ่งไม่ปรุงแต่ง) ซึ่งก็รวมทั้งร่างกายและจิตใจ (คือขันธ์ ๕) ที่สมมุติเรียกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" นี้ด้วย ส่วนคำว่า "ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็น ตัวเรา-ของเรา" นั้น ก็หมายถึง สิ่งทั้งหลายนี้มันไม่ใช่อัตตาหรือตัวตนที่แท้จริง และมันมีความไม่เที่ยง (คือเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องดับหายไปอย่างแน่นอน) รวมทั้งยังต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก (คือมันเป็น "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" เช่น แก่, เจ็บ, ตาย, พลัดพราก, ผิดหวัง เป็นต้น) ถ้าจิตใดเข้าไปยึดถือเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงและมีสภาพที่ไม่น่าพึงพอใจนั้นว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" (หรือตัวเรา-ของเรา) ก็จะทำให้จิตนั้นเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศกฯ) ขึ้นมาทันที แต่ถ้าจิตใดไม่ไปยึดถือเอาสิ่งเหล่านี้ (คือร่างกายและจิตใจรวมทั้งสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับร่างกายด้วย) ว่าเป็น "ตัวตน-ของตน" (หรือตัวเรา-ของเรา) จิตนั้นก็จะนิพพาน (คือสงบเย็นเพราะไม่มีความเศร้าโศกหรือความเสียใจทุกระดับ) สรุปได้ว่า คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าสรุปอยู่ที่ "ไม่ให้ยึดถือสิ่งใดๆว่าเป็นตัวเรา-ของเรา เพราะจะทำให้จิตเกิดความทุกข์ (คือความเศร้าโศกฯ)" ซึ่งนี่ก็คือการสรุปคำสอนอริยสัจ ๔ ทั้งหมดเอาไว้ในประโยคเดียว ซึ่งถ้าเรายังไม่เข้าใจความหมายของประโยคนี้ได้ถูกต้อง แสดงว่าเรายังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นสาวกที่แท้จริง (พระอริยะ) ของพระพุทธเจ้า และไม่ได้รับนิพพาน อันเป็นสิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ ๒๕. ต้องรู้อะไรก่อนศึกษาสมาธิ? สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้ก่อนจะศึกษาเรื่องสมาธิก็คือ เรื่อง" ศีล" กับเรื่อง "นิวรณ์" โดยการที่เราจะมีสมาธิได้นั้น จำเป็นที่เราต้องมีจิตที่ปรกติ (คือไม่มีความเดือดร้อนหรือวุ่นวาย) อยู่ก่อนแล้วเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าเรามีจิตที่ไม่ปรกติ (คือฟุ้งซ่านดิ้นรนเร่าร้อนจนควบคุมไม่ได้เพราะได้ทำความผิดหรือความชั่วไว้มาก) ก็จะทำให้จิตไม่มีสมาธิ หรือฝึกให้เกิดสมาธิได้ยากหรือไม่ได้เลยถ้าจิตมีความไม่ปรกติมากๆ ซึ่งจิตที่ปรกตินี้เองที่เรียกว่า ศีล ที่แปลว่า ปรกติ คือหมายถึงจิตที่ปรกติ โดยความปรกติของจิตจะเกิดจาก "การรักษากายกับวาจาให้เรียบร้อยงดงาม" ซึ่งวิธีการปฏิบัติเพื่อให้จิตมีศีลนั้นก็ได้แก่ การมีเจตนา (ความจงใจ) ที่จะไม่เบียดเบียนชีวิต, กามารมณ์, และทรัพย์สินของผู้อื่น รวมทั้งการมีเจตนาที่จะไม่พูดโกหก, คำหยาบ, คำส่อเสียด, และเพ้อเจ้อ ซึ่งศีลนี้แม้ผู้ครองเรือนก็สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องออกบวชเหมือนภิกษุ ที่มีศีลละเอียดมากขึ้นเพื่อให้จิตมีสมาธิได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วน นิวรณ์ หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิตจากคุณธรรมขั้นสูง อันได้แก่ สมาธิ, ปัญญา, นิพพาน โดยอาการของนิวรณ์นี้ก็แยกได้ ๕ อาการ อันได้แก่ ๑. กามฉันทะ คือ ความพึงพอใจใน "สิ่งที่น่ารักน่าใคร่" เพียงเล็กน้อย ๒. พยาบาท คือ ไม่พึงพอใจใน "สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ" เพียงเล็กน้อย ๓. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความคิดที่ฟุ้งซ่านอย่างน่ารำคาญใจ หรือความตื่นเต้น ความไม่สงบ ๔. ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ เซื่องซึม มึนชา ๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในสิ่งที่เรานับถืออยู่ (คือในพระพุทธว่ามีจริงหรือไม่? ในพระธรรมว่าดับทุกข์ได้จริงหรือไม่? และในพระอริยสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรมแล้วดับทุกข์ได้นั้นมีจริงหรือไม่?) ถ้าขณะใดที่จิตมีกิเลสครอบงำ จิตก็จะเกิดความทุกข์ที่รุนแรงขึ้นมาทันที (คือความทุกข์ซ่อนเร้นและความทุกข์เปิดเผย) แต่ถึงแม้บางเวลาขณะที่จิตจะยังไม่เกิดกิเลสขึ้นมาก็ตาม ถ้าขณะนั้นจิตไม่มีสมาธิ มันก็จะมีอาการของกิเลสอ่อนๆ ที่เรียกว่านิวรณ์ไม่ตัวใดก็ตัวหนึ่ง เกิดขึ้นมาครอบงำจิตอยู่เกือบจะตลอดทั้งวัน แล้วก็ทำให้จิตไม่มีสมาธิ, ปัญญา, และนิพพาน นิวรณ์นี้ถึงแม้มันจะยังไม่ทำให้จิตเกิดความทุกข์ที่รุนแรง แต่ว่าเมื่อนิวรณ์ได้เกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราแล้ว มันก็จะทำให้อวิชชา (ความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา) ได้อาหารเพิ่ม คือมันจะทำให้อวิชชามีความเคยชินไปสั่งสมไว้ในจิตใต้สำนึกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีความเข้มแข็งขึ้น แล้วก็จะทำให้เราควบคุมมันได้ยากมากขึ้น หรือฝึกจิตให้มีสมาธิได้ยากมากขึ้น และยังทำให้ปัญญาไม่เกิดขึ้น รวมทั้งยังทำให้จิตไม่นิพพานสูงสุดอีกด้วย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือมันจะทำให้เรามีความทุกข์ที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นนิวรณ์จึงจัดว่าเป็นความชั่วร้ายอันดับแรก ที่ครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะตลอดทั้งวัน ๒๖. สมาธิคืออะไร? คำว่า สติ แปลว่า การระลึกได้ คือหมายถึง การที่เรานึกถึงสิ่งใดหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ทันเวลา (ซึ่งในความหมายของพุทธศาสนาจะหมายถึง การระลึกถึงปัญญาได้ทันเวลา) ส่วนคำว่า สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือหมายถึง การที่เรามีสติจดจ่อหรือจับอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลาได้นานๆ (ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในปัญญาตลอดเวลา) ซึ่งสมาธินี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ สมาธิผิด กับ สมาธิถูก โดยสมาธิผิดก็คือ การที่จิตของเราไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลสหรือนิวรณ์ เช่น จดจ่ออยู่กับเรื่องเพศตรงข้าม หรือจดจ่ออยู่กับเรื่องความโกรธ หรือจดจ่ออยู่กับเรื่องงมงาย (สิ่งที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์) เป็นต้น ซึ่งผลของสมาธิผิดก็จะเป็นไปตามอำนาจของกิเลสและนิวรณ์ คือความเร่าร้อนใจ, ความหนัก-เหนื่อยใจ, ความเครียด, ความไม่สบายใจ, ความไม่ปรกติ, ความไม่สงบเย็น เป็นต้น ส่วนสมาธิถูกก็คือ การที่จิตของเราไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่บริสุทธิ์ (คือไม่ทำให้เกิดกิเลสและนิวรณ์) และทำให้เกิดปัญญา เช่น การพิจารณาธรรมะ (คือคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น อริยสัจ ๔, กฎไตรลักษณ์, ขันธ์ ๕ ฯ), การกำหนดรู้การเกิดและดับของการหายใจ, การกำหนดรู้การเกิดและดับของสิ่งที่กำลังสัมผัสจิตอยู่, การกำหนดรู้สิ่งที่กำลังเกิดอยู่กับจิต เป็นต้น ซึ่งปรกติแล้วเราก็พอจะมีสมาธิกันอยู่บ้างแล้ว อย่างเช่น เวลาที่นักเรียนตั้งใจฟังครูสอน หรือตั้งใจอ่านหนังสือ หรือตั้งใจทำการบ้าน หรือเวลาที่เราตั้งใจทำงาน หรือตั้งใจคิด หรือตั้งใจพูด เป็นต้น ก็ทำให้จิตเกิดสมาธิขึ้นมาแล้ว แต่สมาธิอาจจะยังไม่สูงพอเท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจะได้มีการฝึกอีกสักหน่อยเราก็จะมีสมาธิที่สูงขึ้นได้ โดยเคล็ดลับในการฝึกให้เกิดสมาธิตามที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือ "ให้เราตั้งใจคิดพิจารณาธรรมะของพระพุทธเจ้าให้เป็นคำพูดด้วยประโยคสั้นๆขณะที่เรากำลังหายใจออกอย่างช้าๆ แต่เมื่อเวลาเราหายใจเข้าก็ให้หยุดคิดและให้มาดูว่าจิตกำลังไปคิดถึงเรื่องอื่นหรือเปล่า ถ้ารู้ตัวว่าจิตเผลอไปคิดถึงเรื่องอื่นก็ให้หยุดคิดทันที" คือเราต้องมีสติระลึกถึงการหายใจของเราและการคิดพิจารณาธรรมะควบคู่ไปด้วยพร้อมๆกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้จิตเกิดนิวรณ์ขึ้นมา ซึ่งวิธีนี้จะทำให้จิตเกิดทั้งปัญญาและสมาธิขึ้นมาพร้อมๆกันได้อย่างรวดเร็ว โดยผลจากการมีสมาธิถูกก็คือ การที่กิเลสและนิวรณ์ได้ระงับหรือดับหายไป (ชั่วคราว), มีความสุขที่สงบประณีตอย่างยิ่ง, การมีสติสมบูรณ์, การมีความจำดี, มีความสงบเย็น (นิพพาน), และมีการเห็น (คือความเข้าใจ) โลกตามความเป็นจริง เป็นต้น (หมายเหตุ ถ้าพบคำว่า สมาธิ ในพุทธศาสนา ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึงสมาธิถูก) โดยสมาธิในอริยมรรคนั้นก็หมายถึง จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในปัญญาตลอดเวลา (ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ในเรื่องอื่นที่ไม่ทำให้เกิดปัญญาจะไม่เรียกว่าเป็นสมาธิถูก) คือถ้าเรากำลังตั้งใจพิจารณาเรื่องความเป็นอนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา ในขันธ์ ๕ อยู่นั้นอย่างจริงจัง จิตก็จะจดจ่ออยู่กับการพิจารณานั้น ซึ่งขณะนี้กิเลสและนิวรณ์ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็จะระงับหรือดับหายไปทันที (แม้เพียงชั่วคราว) และเมื่อเราตั้งใจพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องนานๆ (หลายๆนาที) จิตก็จะมีความตั้งมั่นมากขึ้น เมื่อจิตมีความตั้งมั่นมากขึ้น ก็แสดงว่าจิตมีสมาธิขั้นสูงขึ้นมาแล้ว โดยจิตที่มีสมาธิสูงๆนี้ เรียกว่า ฌาน ที่แปลว่า การเพ่ง หรือระดับการเพ่ง ซึ่งระดับของฌานที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในอริยมรรคนั้นมีอยู่ ๔ ระดับ (สมาธิที่สูงกว่านี้ก็มีอยู่ แต่ไม่จำเป็น) อันได้แก่ ฌานที่ ๑ มีองค์ประกอบคือ วิตก (การที่จิตจดจ่ออยู่กับปัญญา), วิจาร (การที่จิตซึมซาบเคล้าเคลียอยู่กับปัญญา), ปีติ (ความอิ่มเอมใจหรือความตื่นเต้นยินดีจากการที่เอาชนะนิวรณ์ได้), สุข (ความสุขสงบประณีต), เอกัคตา (การที่องค์ประกอบทั้งหมดรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว) ฌานที่ ๒ มีองค์ประกอบคือ ปิติ, สุข, เอกัคตา ฌานที่ ๓ มีองค์ประกอบคือ สุข, เอกัคตา ฌานที่ ๔ มีองค์ประกอบคือ อุเบกขา, เอกัคตา เมื่อเราตั้งใจพิจารณาร่างกายกับจิตใจถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างจริงจัง ก็จะทำให้นิวรณ์อ่อนแรงลง เมื่อนิวรณ์อ่อนแรงลง ก็จะทำให้เกิดปีติและความสุขสงบขึ้นมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว ก็เรียกว่าบรรลุฌานที่ ๑ ซึ่งเมื่อจิตอยู่ในฌานที่ ๑ นานๆ ก็จะทำให้วิตกและวิจารหายไป เพราะชำนาญแล้ว จึงเหลือเพียงปีติกับสุขสงบเท่านั้น ก็เรียกว่าบรรลุฌานที่ ๒ ซึ่งเมื่ออยู่ฌานที่ ๒ นานๆ ปิติก็จะหายไปเพราะไม่ตื่นเต้นแล้ว จึงคงมีเพียงสุขสงบเท่านั้น ก็เรียกว่าบรรลุฌานที่ ๓ และเมื่ออยู่ในฌานที่ ๓ นานๆ สุขสงบก็จะหายไป เพราะมันจิตมันเบื่อแล้ว จึงเหลือเพียงอุเบกขา (คือความรู้สึกกลางๆระหว่างสุขเวทนากับทุกขเวทนา) เท่านั้น ก็เรียกว่าจิตบรรลุฌานที่ ๔ แล้ว ซึ่งในฌานที่ ๔ นี้เองที่จิตจะบริสุทธิ์ที่สุด (คือนิวรณ์ดับสนิท) และนิพพานสูงสุดก็จะปรากฏกับจิตได้ (เราจะไม่ใช้คำว่า "เกิด" กับนิพพาน เพราะนิพพานไม่มีการเกิด แต่จะใช้คำว่า ปรากฏ ที่หมายถึง นิพพานมันมีอยู่แล้วตลอดเวลา แต่จิตได้ถูกกิเลสปิดบังไว้ไม่ให้จิตได้สัมผัส เมื่อกิเลสดับหายไป จิตก็จะสามารถสัมผัสกับนิพพานได้) สรุปได้ว่า การปฏิบัติสมาธิตามหลักอริยมรรคนั้น เพียงแค่เราตั้งใจพิจารณาธรรมะก็ทำให้เกิดสมาธิขั้นสูงขึ้นมาได้แล้ว ซึ่งการปฏิบัติอริยมรรคนี้ เราสามารถปฏิบัติในขณะที่เรากำลังทำกิจวัตรประจำวันของเราอยู่ก็ได้ หรือทำในขณะที่กำลังเรียนหนังสือหรืออ่านหนังสือหรือทำการบ้านของนักเรียนก็ได้ หรือในขณะที่เรากำลังทำหน้าที่การงานที่สุจริตของเราก็ได้ โดยสิ่งที่จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าการปฏิบัติของเราถูกต้องหรือไม่ก็คือ "ความทุกข์" คือถ้าเราปฏิบัติแล้วความทุกข์ไม่ดับลงหรือไม่ลดลง (แม้เพียงชั่วคราว) ก็แสดงว่าเราปฏิบัติผิด แต่ถ้าเราปฏิบัติแล้วความทุกข์ดับลงหรือลดลงจริง (แม้เพียงชั่วคราว) ก็แสดงว่าเราปฏิบัติถูก แต่ที่สำคัญก็คือ การที่เราจะมีสมาธิได้ เราจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วตลอดเวลา ถ้าขาดศีล จิตก็จะไม่สามารถมีสมาธิได้ ๒๗. เกิดมาทำไม? ถ้ามีผู้มาถามเราว่า เกิดมาทำไม? ซึ่งถ้าเราจะได้ศึกษาเรื่องความเป็นอนัตตาของร่างกายกับจิตใจมาแล้วเราก็จะเข้าใจได้ว่า มันไม่ได้มีเรามาเกิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้มันเป็น "สิ่งปรุงแต่ง" ที่เราสมมติเรียกว่าเป็น "ตัวเรา" ซึ่งสิ่งหรือธรรมชาติทั้งหลายนั้น เมื่อมันถูกปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติเสมอ ถ้าสิ่งใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้อง สิ่งนั้นก็จะมีภาวะของทุกขังมาก (คือต้องทนอยู่อย่างยากลำบากมาก) โดยชีวิตของคนเรานี้ก็จะประกอบด้วยร่างกายกับจิตใจ โดยหน้าที่ของร่างกายก็คือ เคลื่อนไหว (คือทำงาน) เพื่อแสวหาปัจจัย ๔ มาบริหาร่างกายให้ตั้งอยู่โดยมีภาวะของทุกขังน้อยที่สุด รวมทั้งยังต้องคอยระวังรักษาร่างกายไม่ให้เจ็บป่วยหรือถูกทำร้ายหรือถูกภัยธรรมชาติทำให้เจ็บปวดหรือตาย ส่วน จิตใจนั้นก็มีหน้าที่คอยควบคุมร่างกายให้ทำหน้าที่ของร่างกายให้ถูกต้องสมบูรณ์ และจิตใจยังมีหน้าที่ที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติคือ การระวังอย่าให้จิตเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศก) ส่วนการที่ชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ได้เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องมีหน้าที่ของมันตามสภาพที่เกิดขึ้นมา เช่น เป็นชายหรือหญิง, เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่, เป็นพ่อหรือแม่, เป็นสามีหรือภรรยา, เป็นพี่, เป็นน้อง, เป็นครู, เป็นหมอ, เป็นตำรวจ, เป็นนักการเมือง, เป็นนักบวช, เป็นประชากรของประเทศ, เป็นศาสนิกของศาสนา, เป็นคนของโลก, หรือเป็นสิ่งมีชีวิตของธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งเราทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าหน้าที่ตามสภาพร่างกายของเรานั้นคืออะไร สรุปได้ว่า เมื่อเราเกิดมาอยู่ในสภาพใด เราก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสภาพของชีวิตด้วยเสมอ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเราให้ถูกต้องสมบูรณ์ หรือปฏิบัติผิดจากหน้าที่ของเรา ชีวิตของเราก็จะเกิดความทุกข์ (คือทั้งความทุกข์กายและความทุกข์ใจ) แต่ถ้าเราจะได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหลายของเราได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ก็จะมีผลทำให้เกิดความสบายกายและความสุขใจ รวมทั้งจิตใจก็จะไม่มีความทุกข์อีกด้วย ๒๘. ตายแล้วไปไหน? พระพุทธเจ้าได้สอนว่า มนุษย์ส่วนมาก (เกือบจะทั้งหมด) จะมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) อยู่ ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ กับ อุจเฉททิฏฐิ โดยสัสสตทิฏฐิก็คือความเห็นว่า มีสิ่งที่เป็นอัตตา (คือตัวตนอมตะ) คือเป็นความเห็นว่า จิต หรือวิญญาณของตนเรานี้เป็นอัตตา ที่มาสิงอยู่ในร่างกายที่ยังไม่ตาย เมื่อร่างกายตาย จิตที่เป็นอัตตานั้นก็จะไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้เรื่อยไป ซึ่งความเห็นนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่อง เช่น นรก สวรรค์ (ชนิดที่เป็นสถานที่) เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ (ชนิดที่เป็นตัวตนบุคคล) รวมทั้งความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่เพื่อรับผลที่ได้ทำไว้ก่อนตาย เป็นต้น ซึ่งความเห็นผิดนี้ก็ยังจัดว่ามีส่วนดีตรงที่ทำให้คนที่เชื่อไม่ทำความชั่ว (เพราะกลัวตกนรก) แต่จะทำความดี (เพราะอยากขึ้นสวรรค์) ซึ่งก็จะทำให้คนที่ทำความดีไม่ทำความชั่วนั้นมีชีวิตที่ปกติสุขและไม่เดือดร้อน รวมทั้งยังทำให้สังคมสงบสุขและโลกมีสันติภาพได้อีกด้วย แต่ก็มีผลเสียตรงที่ไม่ทำให้เกิดปัญญาสำหรับนำมาใช้ดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ส่วนอุจเฉททิฏฐิก็คือความเห็นว่าขาดสูญ (นิรัตตา-คือไม่มีตัวตนใดๆเลย) คือเป็นความเห็นว่า ชีวิตนั้นไม่ได้มีตัวตนใดๆเลย (แม้ตัวตนชั่วคราว) ซึ่งความเห็นนี้เองที่ทำให้เกิดความเห็นว่า ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่ใครๆ ไม่มีสิ่งใดๆเลย ดังนั้นแม้เราจะทำความดีก็ไม่มีผลใดๆ หรือถ้าเราทำความชั่วก็ไม่มีผลใดๆ รวมทั้งเมื่อชีวิตายก็จะขาดสูญ (คือหายไปเลย) ซึ่งคนที่มีความเห็นเช่นนี้จะแสวงหาความสุขไปวันๆโดยไม่สนใจว่าจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือไม่ คือเขาจะไม่ชอบทำความดี เพราะเชื่อว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ แต่จะชอบทำความชั่วเพราะเชื่อว่าไม่ต้องรับโทษใดๆ ซึ่งคนที่มีความเห็นเช่นนี้จัดว่าเป็นคนที่น่ารังเกียจของโลก ส่วนความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นก็คือ ความเห็นว่า ชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) เป็นอนัตตา คือเป็นสิ่งปรุงแต่ง ที่ก็มีตัวตนอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ว่ามีเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้มีอย่างถาวรหรือเป็นอมตะอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ และก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีตัวตนใดๆเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ ส่วนเรื่องการทำความดีนั้นพระพุทธเจ้าสอนว่าก็มีผล คือทำให้เกิดความสุขใจอิ่มใจเมื่อได้ทำความดี แต่ถ้าทำความชั่วก็จะมีผลทำให้เกิดความร้อนใจ ทุกข์ใจ ซึ่งผลก็เกิดในขณะที่เราได้ทำความดีหรือชั่วอยู่นั่นเอง คือก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปรับผลเอาชาติหน้าหลังจากตายไปแล้วอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ และก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลใดๆเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งเรื่องหลังความตายนั้นพระพุทธเจ้าสอนว่า มันไม่ได้มีใครตาย มีแต่ธาตุตามธรรมชาติที่มาประชุมเกิดเป็นร่างกายและจิตใจได้กลับคืนไปสู่ธรรมชาติของมันเท่านั้น ซึ่งความเห็นนี้ก็ไม่จัดว่าเป็นความเห็นว่าตายแล้วเกิดอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ และก็ไม่จัดว่าตายแล้วสูญอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ (คือมันไม่ได้มีตัวตนมาสูญ) สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า มันไม่ได้มีใครตาย ดังนั้นจึงพูดไม่ได้ว่า ตายแล้วเกิดใหม่ได้อีกอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ หรือตายแล้วดับสูญอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งเราจะต้องศึกษาเรื่องความเป็นอนัตตาของร่างกายกับจิตใจให้เข้าใจอย่างถูกต้อง หรือให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง (คือสัมมาทิฏฐิ) ขึ้นมา เราจึงจะรู้คำตอบเรื่องหลังความตายได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ศึกษาเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของร่างกายกับจิตใจของเราให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง เราก็จะเกิดความเห็นผิดไปตามพวกสัสสตทิฏฐิหรือพวกอุจเฉททิฏฐิได้โดยง่าย ๒๙. ทำอย่างไรจึงจะอยู่เหนือความตาย? ครั้งหนึ่งได้มีผู้ไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำอย่างไร มัจจุราช (คือความตาย) จึงจะตามหาเราไม่พบ? ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า "ให้มองเห็นโลกโดยเห็นเป็นความว่างเปล่า แล้วละความยึดถือในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเสีย เมื่อนั้นมัจจุราชจักตามหาตัวเราไม่พบ" โดยความหมายก็คือ เป็นการถามว่า ทำอย่างไรเรา (คือจิตใจ) จึงจะไม่เป็นทุกข์ เมื่อเรากำลังจะตาย หรือเมื่อเรารู้ตัวว่าใกล้ตาย ซึ่งคำตอบก็คือ ให้ปล่อยวางความยึดถือว่า ร่างกายและจิตใจ ที่สมมติเรียกว่าเป็น "ตัวเรา-ของเรา" ไปเสีย แล้วจิตใจก็จะไม่เป็นทุกข์ (ไม่เศร้าโศก) คืออธิบายได้ว่า ร่างกายกับจิตใจ (ที่สมมุติเรียกว่าเป็นตัวเรา-ของเรา) นี้ แท้จริงแล้วมันไม่ได้เป็น "ตัวเรา-ของเรา" จริงๆเลย แม้เรา (คือจิตใจ) จะไปยึดถือว่ามันเป็นตัวเรา-ของเรา หรือ ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา-ของเราก็ตาม มันก็ไม่ใช่ตัวเรา-ของเราจริงได้ ซึ่งตัวเรา-ของเรานี้ มันเป็นเพียง "สิ่งปรุงแต่ง" ที่มีความไม่เที่ยง (อนิจจัง) คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งไม่ช้าก็เร็ว ร่างกายก็ต้องแตกสลาย (คือตาย) ส่วนจิตใจก็ต้องดับหายไปอย่างแน่นอน และเมื่อร่างกายกำลังจะตาย ถ้าจิตไปยึดถือว่ามันเป็นตัวเรา-ของเราเข้า ก็จะทำให้จิตใจเกิดความทุกข์ (ความเศร้าโศก) เพราะมีความรู้สึกตัวว่า มีตัวเราที่กำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักยิ่งไป แต่ถึงแม้ร่างกายกำลังแก่, เจ็บ, หรือกำลังจะตาย เป็นต้น ถ้าจิตมีปัญญาที่เห็นแจ้งถึงความเป็นสุญญตา (ความว่างจากอัตตาที่เป็นตัวเรา-ของเรา) รวมทั้งมีสมาธิอยู่ด้วย (โดยมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว) จิตก็จะไม่เกิดความยึดถือว่ามีเราแก่, หรือมีเราเจ็บ, หรือมีเรากำลังจะตาย เป็นต้น ขึ้นมา และเมื่อจิตไม่มีความยึดถือ (คือไม่มีอุปาทาน) มันก็จะเป็น "จิตว่าง" คือว่างจากกิเลส ว่างจากอุปาทาน ที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ แล้วจิตมันก็จะไม่มีความทุกข์ (คือไม่มีความเศร้าโศก) เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะนิพพาน (คือสงบเย็น) แม้ว่าร่างกายกำลังจะตายก็ตาม ซึ่งนี่ก็คือวิธีการปฏิบัติเพื่ออยู่เหนือความตาย หรือการปฏิบัติเพื่อไม่ให้จิตเกิดความทุกข์เมื่อร่างกายกำลังจะตาย ๓๐. พระพุทธเจ้าสอนเรื่องกรรมไว้ว่าอย่างไร? คำว่า กรรม แปลว่า การกระทำด้วยเจตนา (หรือความจงใจ) ซึ่งเจตนาก็คือ "กิเลส" และมีผลเรียกว่า วิบาก (ถ้าการกระทำใดไม่มีเจตนา จะไม่เรียกว่าเป็นกรรม แต่จะเรียกว่า "กิริยา" ซึ่งผลของกิริยาเรียกว่า "ปฏิกิริยา" อย่างเช่น เมื่อเราเดินไปเหยียบมดตายโดยไม่เจตนา ก็เรียกว่าเป็นกิริยา และมีปฏิกิริยาคือ มดตาย เท่านั้น) โดยกิเลสนี้ก็มีทั้ง "กิเลสฝ่ายชั่ว" (คือการมีเจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่น) และ "กิเลสฝ่ายดี" (คือการมีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน) จึงทำให้เกิดกรรมขึ้นมา ๒ อย่าง คือ กรรมชั่ว กับ กรรมดี อีกทั้งกรรมหรือเจตนาของจิตนี้ จะเริ่มต้นเกิดขึ้นที่จิตก่อน แต่เมื่อจิตสั่งให้ร่างกายทำ หรือสั่งให้ปากพูด จึงทำให้เกิด "กรรมชั่ว" และ "กรรมดี" ขึ้นมาได้ ๓ ทาง อันได้แก่ กรรมชั่วทางกาย ก็ได้แก่ การการเบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน และกามารมณ์ (สิ่งของที่น่ารักน่าใคร่) ของผู้อื่น, การลุ่มหลงอบายมุข-สิ่งเสพติด-สิ่งฟุ่มเฟือย กรรมชั่วทางวาจา ก็ได้แก่ การพูดโกหก, การพูดคำหยาบ, การพูดคำส่อเสียดยุยงให้แตกกัน และการพูดเพ้อเจ้อ กรรมชั่วทางใจ ก็ได้แก่ การคิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของๆผู้อื่นมาเป็นของเรา, การคิดอาฆาตพยาบาทหรือการคิดจะทำร้ายผู้อื่น, และการมีความเห็นผิดจากความเป็นจริง (คือเห็นว่าทำดีได้ชั่ว แต่พอทำชั่วกลับได้ดี) ส่วนกรรมดีทางกายก็ได้แก่ การช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากความทุกข์-ความเดือดร้อน, การทำหน้าที่ของเราอย่างถูกต้องสมบูรณ์, การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย, การละเว้นอบายมุข-สิ่งเสพติด-สิ่งฟุ่มเฟือย ส่วนกรรมดีทางวาจาก็ได้แก่ การพูดแต่คำจริง (คือไม่พูดโกหก), พูดคำที่ไพเราะน่าฟัง, พูดคำที่ทำให้เกิดความสามัคคี, พูดคำที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ส่วนกรรมดีทางใจก็ได้แก่ การคิดช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน, การคิดให้อภัย, การมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง (คือเห็นว่าทำดี-ดี, ทำชั่ว-ชั่ว) โดยผลของกรรมเรียกว่า วิบาก ซึ่งวิบากนี้ก็เป็นไปตามเจตนา คือ เมื่อทำกรรมชั่ว ก็จะเกิดวิบากชั่วหรือผลชั่วหรือไม่ดีแก่จิตใจ อันได้แก่ ความร้อนใจ หรือความทุกข์ใจ ความแห้งเหี่ยวใจ ความคับแค้นใจ หรือความไม่สบายใจทุกระดับ ส่วนการทำกรรมดี ก็จะเกิดวิบากดีหรือผลดีแก่จิตใจ คือความสุขใจ อิ่มใจ ความภาคภูมิใจฯ ส่วนช่วงเวลาที่วิบากหรือผลของกรรมจะเกิดขึ้นนั้น ก็มีอยู่ ๓ ช่วง อันได้แก่ ๑. ทันที คือ เกิดขึ้นขณะที่เรากำลังทำกรรมใดๆอยู่ ๒. ต่อมา คือ เกิดขึ้นเมื่อเราได้ทำกรรมใดๆเสร็จแล้ว ๓. ต่อมาอีก คือเมื่อเราได้ระลึกถึงกรรมที่เราได้เคยทำไว้ในอดีต ซึ่งผลของกรรมนั้นก็ยังจะเกิดขึ้นได้อีกเหมือนกันแต่อาจจะอ่อนแรงลงแล้ว คำสอนเรื่องกรรมของพุทธศาสนานี้เป็นคำสอนระดับศีลธรรม ที่มีจุดประสงค์จะทำให้คนกลัวการทำชั่วและอยากทำความดี แต่เราจะต้องทำความเข้าใจอีกว่า คำสอนเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็น คำสอนเรื่องทางจิตใจ ไม่ใช่เรื่องทางกายหรือวัตถุ อย่างเช่นที่คนส่วนใหญ่กำลังเข้าใจผิดกันอยู่ คือคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การทำกรรมจะให้ผลทางวัตถุ เช่น เมื่อทำกรรมดี ก็จะมีคนมาชมเชยหรือยกย่องและให้รางวัล หรือทำให้ร่ำรวยหรือมีเกียรติ แต่ถ้ากรรมชั่วก็จะทำให้สังคมติเตียน หรือถูกกฎหมายลงโทษ หรือทำให้ชีวิตพบกับภัยหรือความวิบัติล่มจม เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกที่มันเอาแน่ไม่ได้ คือถ้าทำดีแล้วไม่มีใครรู้ก็จะไม่มีใครมายกย่องหรือให้รางวัล หรือคนที่ทำชั่วแล้วปกปิดไว้ได้ ก็จะไม่มีใครติเตียนหรือลงโทษ เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย จะได้ไม่เกิดความเห็นผิดไปว่า "ทำดีแล้วไม่ได้ดี แต่พอทำชั่วแล้วได้ดี" ขึ้นมา อย่างเช่นที่คนทั่วไปเข้าใจผิดกันอยู่ สรุปได้ว่า คำสอนเรื่องกรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นคำสอนเรื่อง "จิตใต้สำนึก" (คือจิตส่วนลึกที่เราควบคุมมันไม่ได้) ที่สอนว่า เมื่อเราทำความชั่ว แม้จะไม่มีใครรู้ แต่จิตใต้สำนึกของเรามันก็รู้อยู่ว่าเป็นความชั่ว จึงทำให้จิตของเราเกิดความรู้สึกทุกข์ใจ ไม่สบายใจขึ้นมาทันที แต่พอเราทำความดี แม้จะไม่มีใครรู้ แต่จิตใต้สำนึกของเรามันก็รู่อยู่ว่าเป็นความดี จึงทำให้จิตของเราเกิดความสุขใจ อิ่มใจขึ้นมาทันที ซึ่งสรุปแล้วนี่ก็คือการสอนว่า "ทำดี-ดี, ทำชั่ว-ชั่ว" นั่นเอง ๓๑. คำว่านรก-สวรรค์ ฯ ในพุทธศาสนามีความหมายอย่างไร? ปัญหาที่คนส่วนใหญ่พบเมื่อศึกษาตำราพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาก็คือ "อ่านแล้วไม่เข้าใจ" ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นภาษาที่เราไม่คุ้นเคย รวมทั้งยังมีคำสอนที่เหมือนกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์อีกด้วย เช่นคำว่า นรก สวรรค์ เทวดา นางฟ้า และการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น ซึ่งคำเหล่านี้แม้จะเป็นคำพูดที่เหมือนกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์ แต่ว่าความหมายจะไม่เหมือนกัน คือความหมายของศาสนาพราหมณ์นั้นเขาจะหมายถึง สิ่งภายนอกจิตใจ (คือเป็นตัวตนบุคคลหรือสถานที่) แต่ความหมายของพุทธศาสนาจะหมายถึง สภาวะจิตของเราในปัจจุบัน อย่างเช่นคำต่อไปนี้ โลก หมายถึง ความทุกข์ หรือสิ่งที่เรายึดถือกันอยู่ ชาติ -หมายถึง การเกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาในจิต ตาย หมายถึง การที่ความยึดถือว่ามีตัวเราในขณะหนึ่งได้ดับหายไป คน หมายถึง จิตที่กำลังเสวยสุขโดยต้องเอาความเหนื่อยยากลำบากกายเข้าแลก มนุษย์ หมายถึง ผู้มีใจสูง หรือผู้มีคุณธรรม (คนยังไม่ใช่มนุษย์จนกว่าจะมีคุณธรรมจึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ สวรรค์ หมายถึง สภาวะจิตที่มีแต่ความสุขใจอิ่มใจ นรก หมายถึง ความทุกข์ใจหรือร้อนใจอย่างมากเหมือนถูกไฟเผา เทวดา หมายถึง จิตที่กำลังเสวยสุขจากกามคุณโดยไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกาย นางฟ้า หมายถึง ความสุขจากกามคุณชนิดต่างๆ (คือทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย) พรหม หมายถึง จิตที่เบื่อกามคุณ และอยู่อย่างสุขสงบด้วยสมาธิ รูปพรหม หมายถึง จิตที่ติดอยู่ในความสุขสงบจากสิ่งที่เป็นรูปหรือวัตถุ อรูปพรหม หมายถึง จิตที่ติดอยู่ในความสุขสงบจากสิ่งที่ไม่มีรูป อบายภูมิ หมายถึง จิตที่ไม่มีความเจริญ คือมีความสุขน้อยแต่มีความทุกข์มากกว่า เดรัจฉาน หมายถึง จิตที่มีความโง่อย่างไม่น่าโง่ เปรต หมายถึง จิตที่หิวหรือมีความอยากได้ด้วยกิเลสมาก อสุรกาย หมายถึง จิตที่ขลาดกลัว ไม่กล้าหาญ ยักษ์ หมายถึง จิตที่มีความโกรธ ความมุ่งร้าย สัตว์ หมายถึง จิตที่ยังติดใจอยู่ในโลก (ในกามคุณ ๕) สัตว์นรก หมายถึง จิตที่กำลังเร่าร้อนทรมาน (ร้อนใจ ทุกข์ใจมาก) ยมบาล หมายถึง กฎอันเฉียบขาดของธรรมชาติ มาร หมายถึง สิ่งที่ทำลายล้างความดีความถูกต้องให้หายไปจากจิต วัฏฏะสงสาร หมายถึง จิตที่วนเวียนอยู่ใน กิเลส-กรรม-วิบาก นิพพาน หมายถึง จิตที่สงบเย็นเพราะไม่มีกิเลสรบกวน เป็นต้น สรุปได้ว่า การสอนของพระพุทธเจ้านั้น แม้ว่าพระองค์จะใช้ภาษาที่เหมือนกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์ แต่ว่ามีความหมายต่างกัน คือคำสอนของศาสนาพราหมณ์จะเป็น "ภาษาคน" ที่สอนเรื่องการมีตัวตนบุคคล (อัตตา) คือจะมีความหมายตื้นๆที่ชาวบ้านฟังแล้วก็เข้าใจได้ง่ายๆโดยไม่ต้องแปลความหมายอีก แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็น "ภาษาธรรม" คือต้องแปลความหมายจากภาษาคน ให้เป็น "ธรรมะระดับสูง" ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้งในจิตใจของเราเองในชีวิตปัจจุบัน เราจึงจะอ่านตำราพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาแล้วเข้าใจ เพราะคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเป็นวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ ที่ต้องน้อมเข้ามาดูภายในจิตใจของเราเท่านั้น ๓๒. พระอริยบุคคลคือใคร? คนในโลกนี้แยกได้ ๒ ประเภท คือ ปุถุชน กับ อริยชน โดยปุถุชนนั้นก็คือคนที่ยังมีกิเลสอยู่ในจิตใต้สำนึกอย่างหนานแน่น ซึ่งปุถุชนนี้ก็ยังมีทั้งปุถุชนดี (คือคนดีที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น) และ ปุถุชนเลว (คือคนชั่วที่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น) ส่วนอริยบุคคลนั้นก็คือคนที่มีกิเลสน้อยหรือไม่มีเลยอยู่ในจิตใต้สำนึก ส่วนการที่ปุถุชนเลวจะเปลี่ยนมาเป็นปุถุชนดีได้นั้น ถ้าเป็นคนไม่ฉลาดก็อาจจะใช้วิธีการสอนให้มีความเชื่อในคำสอนของศาสนาว่า "ถ้าทำดีตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าทำความชั่วตายไปก็จะตกนรก" ก็ได้ เพื่อให้เขาเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ถ้าเป็นคนฉลาดหน่อยก็อาจจะใช้วิธีการสอนด้วยเหตุด้วยผลตามหลักวิทยาศาสตร์ว่า "ถ้าทำความดี ก็จะทำให้จิตใจมีความสุข แต่ถ้าทำความชั่วก็จะทำให้จิตใจมีความทุกข์" ก็ได้ เพื่อให้เขาเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่การที่จะทำให้ ปุถุชนดีหรือคนดี เปลี่ยนมาเป็น อริยบุคคล หรือ พระอริยบุคคล ได้นั้น จะต้องสอนให้มีดวงตาเห็นธรรมเท่านั้น ส่วนคนชั่วจะสอนให้เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้เพราะขาดศีลเป็นพื้นฐาน โดยพระอริยบุคคลในพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๔ ประเภท คือ พระโสดาบัน, พระสกิทาคามี, พระอนาคามี, และพระอรหันต์ ซึ่งพระอริยบุคคลแต่ละประเภทนั้นจะมีความแตกต่างกันตรงที่ สามารถตัดหรือทำลายสังโยชน์ ที่หมายถึงเครื่องผูกจิตไว้ในความทุกข์ ที่มีอยู่ ๑๐ ประการ ได้มากน้อยต่างกัน โดยสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั้นก็ได้แก่ ๑. สักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดว่าร่างกายกับจิตใจของตนเองเป็นอัตตา ๒. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้าว่ามีอยู่จริงหรือไม่?, ในพระธรรมว่าดับทุกข์ได้จริงหรือไม?, และในพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรมแล้วดับทุกข์ได้จริงนั้นมีอยู่หรือไม่? ๓. ลีลัพพตปรามาส คือการปฏิบัติที่ผิดจุดมุ่งหมาย หรือการปฏิบัติที่งมงาย ๔. กามราคะ ความติดใจในกามารมณ์ ๕. ปฏิฆะ ความขัดเคืองใจ (โทสะ) ๖. รูปราคะ ความติดใจในความสุขจากวัตถุสิ่งของ ๗. อรูปราคะ ความติดใจในความสุขจากชื่อเสียงเกียรติยศ ๘. มานะ ความถือตัวว่า เสมอเขาบ้าง ดีกว่าเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านเล็กๆน้อยๆ ๑๐. อวิชชา ความโง่สูงสุดที่เป็นความรู้ผิดว่าจิตนี้คือตัวเรา โดยพระโสดาบัน ที่หมายถึง ผู้เริ่มก้าวเท้าเข้าสู่นิพพาน หรือผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ซึ่งพระโสดาบันจะละสังโยชน์หยาบๆ ๓ ตัวแรกที่เป็นเพียง "ความเห็นผิดเบื้องต้น" ได้แล้ว ซึ่งพระโสดาบันนี้จะยังเผลอสติจนเกิดกิเลสและความทุกข์ขึ้นมาได้อีกบ่อยๆในชีวิตประจำวัน แต่ในการเกิดแต่ละครั้งจะเกิดอยู่ไม่นานก็จะนิพพาน (คือสงบเย็น) ซึ่งพระโสดาบันนี้ท่านก็ยังสามารถครองเรือนได้ ส่วนพระสกิทาคามี หมายถึง ผู้ที่จะยังเกิดความทุกข์ขึ้นมาเพียงครั้งเดียวก็จะนิพพาน ซึ่งท่านก็ละสังโยชน์หยาบๆ ๓ ตัวแรกได้เท่าพระโสดาบัน เพียงแต่ท่านสามารถดับทุกข์ได้เร็วกว่าพระโสดาบันเท่านั้น ส่วน พระอนาคามี หมายถึง ผู้ไม่มีเรือน คือท่านสามารถละสังโยชน์ได้ ๕ ตัว ซึ่งท่านจะมีความทุกข์เบาบางลงแล้ว แต่ท่านจะไม่ยินดีในความสุขจากกามารมณ์อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นท่านจึงมักจะเป็นนักบวช หรือไม่ก็เป็นคนธรรมดาที่ชอบอยู่เงียบๆคนเดียว ส่วนพระอรหันต์ หมายถึง ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสอย่างสิ้นเชิง คือท่านสามารถละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ตัว และท่านก็จะไม่มีความทุกข์ใดๆอย่างถาวร และนิพพานอย่างสูงสุดและถาวร (คือตลอดชีวิต) สรุปได้ว่า พระอริยบุคคลก็คือคนที่มีกิเลสน้อยหรือไม่มีกิเลสเลยอยู่ในจิตใต้สำนึก รวมทั้งท่านก็จะมีความทุกข์น้อยหรือไม่มีเลยจนตลอดชีวิต ซึ่งสภาวะของความเป็นพระอริยบุคคลนี้ แม้ผู้ที่ไม่ได้บวชก็สามารถเป็นได้ โดยการศึกษาและปฏิบัติตามหลักอริยมรรคที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จนเกิดดวงตาเห็นธรรม แล้วมีการปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไป จนทำลายสังโยชน์ได้ตามลำดับ ซึ่งการเป็นพระอริยบุคคลทุกระดับนี้เป็นเรื่องของจิตใจเฉพาะตัว ไม่สามารถบอกให้คนอื่นเห็นแจ้งตามได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า เรื่องความเป็นพระอริยบุคคลนี้เป็นเรื่องอจินไตย คือไม่ควรนำมาคิดหาเหตุผล หรือคิดเพื่อให้รู้รายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่เราจะต้องปฏิบัติจนบรรลุถึงความเป็นอริยะด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะเห็นแจ้งได้ด้วยตนเอง ๓๓. คุณสมบัติที่จะทำให้บรรลุนิพพานมีอะไรบ้าง การที่ใครๆจะมาศึกษาให้เกิดปัญญาและดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกคน คือจะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามหลักพุทธศาสนาอย่างเพียงพอเท่านั้น จึงจะศึกษาแล้วเกิดปัญญาและนำปัญญานั้นมาใช้ดับทุกข์ได้ โดยคุณสมบัติที่เหมาะสมนี้เรียกว่า บารมี ที่หมายถึง คุณสมบัติที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ (หรือนิพพาน) โดยบารมีนี้มีอยู่ ๑๐ ประการ อันได้แก่ ๑. ทาน คือ การให้ การแบ่งปัน การเสียสละ ๒. ศีล คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายและวาจา ๓. เนกขัมมะ คือ การออกจากกาม (ไม่ลุ่มหลงสิ่งที่น่ารักน่าใคร่) ๔. ปัญญา คือ ความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ (มีเหตุผล ไม่งมงาย) ๕. วิริยะ คือ ความกล้าหาญในการปฏิบัติ ๖. ขันติ คือ ความควรปฏิบัติในสิ่งที่ควร ๗. สัจจะ คือ ความจริงใจ หรือความซื่อสัตย์ ๘. อธิษฐาน คือ ความตั้งใจไว้มั่นไม่เปลี่ยนแปลง ๙. เมตตา คือ ความเป็นมิตรกับทุกคนอย่างเสมอหน้า ๑๐. อุเบกขา คือ ความที่มีใจเป็นกลางหรือไม่มีความยินดี-ยินร้าย (ปล่อยวาง) บารมีหรือคุณสมบัติทั้ง ๑๐ นี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ ที่จะต้องเพียรพยายามสั่งสมไว้ให้มากขึ้นๆจนเต็ม โดยเริ่มจากบารมีต้นๆเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องเนกขัมมะมาก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มมาเรื่องปัญญาเรื่องความเพียร เป็นต้นต่อไปจนถึงการปล่อยวาง แต่ถ้าเราขาดบารมีตัวใดตัวหนึ่งไป ก็เท่ากับเราขาดคุณสมบัติที่พร้อมจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ซึ่งการที่เราปฏิบัติ ปัญญา ศีล สมาธิ ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ นี้ก็เท่ากับเป็นการสั่งสมหรือเพิ่มบารมีอยู่แล้วในตัว ซึ่งเมื่อเรามีบารมีเต็ม ก็จะทำให้จิตของเราก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์และนิพพานได้อย่างถาวร ๓๔. อะไรคือแก่นพุทธศาสนา? พุทธศาสนาก็เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง อันได้แก่ ความสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ จัดเป็นเพียงกิ่งและใบของศาสนา ความสมบูรณ์ด้วยศีล จัดเป็นเพียงสะเก็ดของศาสนา ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ จัดเป็นเพียงเปลือกของศาสนา ความสมบูรณ์ด้วยสัมมาทิฎฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) จัดเป็นกะพี้ของศาสนา ความหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง (ถาวร) จัดเป็นแก่นของศาสนา สรุปได้ว่าเราต้องมาดูว่าเราเข้าถึงส่วนใดของพุทธศาสนา คือถ้าเรายังติดอยู่ที่ความเจริญทางวัตถุหรือการที่มีคนเคารพนับถือมากๆ ก็ยังเป็นแค่เพียงส่วนเกินของพุทธศาสนา ถ้าเรายังติดอยู่ที่การเป็นคนดีมีศีลธรรม ก็ยังเป็นแค่ผิวนอกของพุทธศาสนา ถ้ายังติดอยู่แค่การมีสมาธิ ก็ยังเป็นแค่เปลือกของพุทธศาสนา ถ้ายังติดอยู่ที่การมีความเห็นที่ถูกต้อง ก็จัดว่าเข้าใกล้แก่นแท้ของพุทธศาสนาแล้ว จะต้องมีความหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวร จึงจะจัดว่าเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา ๓๕. คำสอนของพระพุทธเจ้าจะช่วยโลกได้อย่างไร? ศาสนาทุกศาสนาของโลก ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่เหมือนกันคือ การช่วยให้โลกมีสันติภาพหรือความสงบสุขที่มั่นคง แต่จะต่างกันที่วิธีการสอนเท่านั้น โดยศาสนาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสอนให้ผู้คนมีความเชื่อเหมือนกัน จะได้ทำให้ผู้นับถือมีความสามัคคีกันในการทำโลกให้มีสันติภาพ ซึ่งในยุคปัจจุบันการสอนให้มีความเชื่อเริ่มไม่ได้ผล เพราะผู้คนมีอิสระในการคิดด้วยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงทำให้มีคนที่ไม่มีศาสนามากขึ้นในโลก ในส่วนของพุทธศาสนานั้นจะมีวิธีการสอนทั้งแบบ "การสอนให้เชื่อเหมือนกับศาสนาอื่น" คือจะสอนให้เชื่อว่า "เมื่อทำความดี ไม่ทำความชั่ว ย่อมได้รับผลดีเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าโลกหน้าจะมีหรือไม่ก็ตาม" ซึ่งนี่คือหลักของศีลธรรมในพุทธศาสนา แต่จุดเด่นของพุทธศาสนาก็คือ "การสอนให้เกิดความเข้าใจและเห็นแจ้งโลกตามความเป็นจริง" ซึ่งวิธีการนี้เหมาะสำหรับคนที่มีอิสระในการคิดด้วยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิธีการนี้จัดเป็นคำสอนระดับสูงของพุทธศาสนา โดยคำสอนระดับสูงของพุทธศาสนานั้นจะสอนให้เราแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการที่โลกเกิดวิกฤติการณ์ต่างๆขึ้นมาทั่วโลกนั้นเกิดมาจากจิตใจของคนที่โง่เขลาทั้งสิ้น ซึ่งความโง่เขลานี้ก็คือ "ความไม่รู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริง" ว่า ชีวิตคืออะไร? เกิดมาทำไม? และอะไรคือสิ่งสูงสุดที่คู่ควรกับชีวิต? เรื่องนี้อธิบายได้ว่า คนเราทุกคนนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีสัญชาตญาณว่ามีตนเอง (หรือความรู้สึกตัวว่ามีตนเอง) ติดมาด้วยทุกคน รวมทั้งมีความโง่เขลาหรือความไม่รู้แจ้งชีวิตจามความเป็นจริงติดมาด้วย จึงทำให้คนเรานั้นดำเนินชีวิตหรือใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณและความโง่เขลา โดยสัญชาตญาณว่ามีตนเองนี้ก็ทำให้คนเรานั้นเกิด "ความเห็นแก่ตัว" เป็นหลัก แล้วก็ทำอะไรๆก็เพื่อตนเองเป็นหลัก ซึ่งการทำอะไรๆเพื่อตนเองนี้ก็คือกิเลส (ความยินดี-ยินร้าย) นั่นเอง โดยคนที่เห็นแก่ตัวน้อยแต่เห็นแก่คนอื่นมากกว่า ก็จะมีกิเลสฝ่ายดี ที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น แต่คนที่เห็นแก่ตัวมาก โดยไม่เห็นแก่คนอื่น ก็จะมีกิเลสฝ่ายชั่วที่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งกิเลสฝ่ายชั่วนี่เองที่ทำให้โลกมีแต่วิกฤตการณ์ ส่วนวิธีการช่วยให้โลกมีสันติภาพตามหลักพุทธศาสนานั้นก็คือ การสอนให้คนมี "ปัญญา" ซึ่งปัญญานี้ก็คือ ความรู้แจ้งชีวิตและโลกตามความเป็นจริงว่า "มันไม่ได้มีตัวเราอยู่จริง" ซึ่งความรู้นี้ก็คือคำสอนเรื่อง สุญญตา (ความว่าง) นั่นเอง โดยพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า แม้ผู้ครองเรือนก็ควรรู้เรื่องสุญญตา เพราะความรู้นี้จะทำให้คนที่เข้าใจและเห็นแจ้งนั้นลดความเห็นแก่ตัวลงได้ และทำให้กิเลสในจิตใจของเขาลดน้อยลงตาม แล้วเขาก็จะเป็นคนดีที่เห็นแก่ตัวน้อยลงและหันมาช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งคนดีนี้ยังจะมาช่วยกันเผยแพร่คำสอนอันประเสริฐนี้ให้แพร่หลายไปทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งเมื่อโลกมีคนดีมากๆ ก็จะทำให้คนชั่วลดน้อยลงและหมดอำนาจที่จะปกครองโลกหรือมาทำให้โลกมีวิกฤตการณ์ และเมื่อวิกฤตการณ์ของโลกลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไป สันติภาพหรือความสงบสุขของมนุษยชาติก็จะกลับคืนมาได้ หลังจากที่ได้เสียมันไป (จบ) (ถ้าใครสนใจจะศึกษารายละเอียดให้มากขึ้น ก็ศึกษาได้จาก www. whatami.net) |