-๓-


เกิดมาทำไม?

ถ้าเราไปถามผู้ที่ไม่รู้แจ้งชีวิตว่า คนเราเกิดมาทำไม? เขาก็จะตอบไปตามความเข้าใจของเขา แต่ถ้าเราไปถามผู้ที่รู้แจ้งชีวิต  เขาก็จะตอบว่า  “มันไม่ได้มีเราหรือใครๆเกิดขึ้นมาจริง”  ส่วนการที่จิตของแต่ละคนเกิดความรู้สึกตัวว่ามีตนเองเกิดขึ้นมานี้ มันเป็นธรรมดาของจิต ที่มันก็เป็นของมันอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้มีใครหรืออำนาจวิเศษใดๆมาทำหรือสร้างให้มันเกิดขึ้น

ทีนี้ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า  ธรรมชาติคืออะไร? และสร้างชีวิตเช่นนี้ขึ้นมาทำไม?  หรือมีจุดประสงค์อะไร? ซึ่งธรรมชาติก็คือสิ่งที่เป็นไปของมันเองตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้ว่าทำไมธรรมชาติจึงเป็นเช่นนี้ เพราะเราไม่สามารถไปล่วงรู้ถึงความลึกลับของธรรมชาติได้ แต่สิ่งที่เราควรรู้ก็คือ เมื่อชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว อะไรคือสิ่งสูงสุดที่ชีวิตควรได้รับ? และจะได้รับโดยวิธีใด?

เมื่อเราได้ศึกษากฎไตรลักษณ์แล้วเราก็จะเข้าใจได้ว่า ชีวิตคือร่างกายกับจิตใจของเรานั้นมันเป็น “สิ่งปรุงแต่ง” ซึ่งธรรมชาติของสิ่งปรุงแต่งนั้นมันจะเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และไม่เที่ยง คือต้องแตกสลายหรือดับหายไปในที่สุด รวมทั้งยังมีสภาวะที่ต้องทนอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับชีวิตก็คือสภาวะที่ต้องทน (ทุกขัง) เพราะเมื่อมีร่างกาย ร่างกายก็ต้องทนต่อความเปลี่ยนแปลงภายในตัวของมันเองอยู่แล้ว เช่น ทนต่อความหิว ความกระหาย ความหนาว ความร้อน ความหนัก ความเหนื่อย และทนต่อโรคต่างๆมากมาย เป็นต้นอยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องทนต่อความยากลำบากในการแสวงหาปัจจัย ๔ มาบริหารชีวิตเพื่อไม่ให้ชีวิตเดือดร้อนอีก และยังต้องทนต่อการถูกเบียดเบียนจากคนและสัตว์หรือธรรมชาติภายนอก อีกด้วย ดังนั้นจึงทำให้เราต้องมีหน้าที่ที่จะต้องคอยดูแลหรือบริหารร่างกายของเราเพื่อไม่ให้เดือดร้อน หรือเจ็บป่วย หรือลำบาก หรือตาย เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เราทุกคนก็คงจะรู้วิธีป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของร่างกายกันดีอยู่แล้ว

แต่เมื่อเรามาพิจารณาจากจิตใจของเราแล้วเราก็จะพบว่า เมื่อจิตใจของเรานี้เกิดความยึดถือว่ามีตัวเราขึ้นมาเมื่อใด จิตใจของเราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที คือเมื่อเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา ที่อยู่ในสภาวะที่น่าพึงพอใจ (เช่น กำลังมีความสุขจากวัตถุนิยม เป็นต้น) จิตใจของเรามันก็จะเกิดความรู้สึกหนัก เหนื่อย กระวน กระวาย เร่าร้อน ไม่สงบ ไม่ปกติ หรือไม่สบาย เป็นต้นอยู่ตลอดเวลา (ที่เรียกว่าความทุกข์ซ่อนเร้น) แต่พอจิตใจของเราเกิดความยึดถือว่ามีตัวเรา ที่อยู่ในสภาวะที่ไม่น่าพึงพอใจ (เช่น มีร่างกายแก่ หรือเจ็บ หรือกำลังจะตาย หรือกำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือกำลังผิดหวังอยู่ เป็นต้น) จิตใจของเรามันก็จะเกิดความเศร้าโศกหรือเสียใจ ที่เป็นความรู้สึกทรมานอย่างมากขึ้นมาทันที (ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์เปิดเผย) ซึ่งนี่ก็คือปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดของชีวิต ที่เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร ซึ่งวิธีการปฏิบัติเพื่อไม่ให้ความทุกข์ทั้งหลายนี้ เกิดขึ้นกับจิตใจของเรานั้น เราจำเป็นที่จะต้องอาศัยความรู้จากผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้แก่พระพุทธเจ้านั่นเอง

สรุปแล้ว “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ ซึ่งหน้าที่โดยสรุปของมนุษย์ก็คือ การปฏิบัติเพื่อไม่ให้จิตใจเกิดความทุกข์ และไม่ให้ร่างกายเจ็บปวดหรือทรมาน รวมทั้งไม่ให้สังคมและโลกเดือดร้อน” ซึ่งหน้าที่นี้เป็นสิ่งสูงสุดของมนุษย์ทุกคน ไม่มีอะไรที่จะมีประโยชน์หรือคุณค่ากว่าหน้าที่อีกแล้ว ซึ่งวิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งสูงสุดนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เราใช้ปัญญาเป็นตัวนำ และมีสมาธิเป็นกำลัง รวมทั้งมีศีลเป็นพื้นฐาน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตก็คือ ต้องมาศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้าโดยละเอียด เพื่อให้เกิดปัญญา และมาฝึกฝนจิตให้เกิดสมาธิ รวมทั้งมาตั้งใจรักษาศีล ตามหลักอริมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้รับสิ่งสูงสุดสำหรับชีวิตกันต่อไป

ตายแล้วไปไหน?

ถ้าเราไปถามผู้ที่ไม่รู้แจ้งชีวิตว่า คนเราตายแล้วไปไหน? เกิดหรือไม่เกิด? ถ้าเกิดอะไรไปเกิด? ซึ่งเขาก็จะตอบไปตามความเชื่อหรือตามความเข้าใจของเขาว่า เกิดบ้าง หรือ ไม่เกิดบ้าง คือคนที่ตอบว่าเกิดนั้น เขาก็ตอบไปตามสามัญสำนึกของเขา หรือตามความเชื่อจากศาสนาประเภทที่นับถือเทพเจ้าหรือพระเจ้าเป็นสูงสุด ส่วนคนที่ไม่นับถือศาสนาก็มักจะตอบว่าไม่เกิด

ความเชื่อว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดทั้งสองนี้ พระพุทธเจ้าสอนว่า เป็นความเห็นหรือความเข้าใจที่ผิดทั้งคู่ เพราะยังเป็นความเข้าใจผิด ว่าจิตหรือวิญญาณของเรานี้เป็นอัตตาหรือเป็นตัวตนของเราจริงๆ ดังนั้นผู้ที่เข้าใจผิดว่าจิตหรือวิญญาณเป็นตัวเรานี้จึงเชื่อว่า เมื่อร่างกายตาย จิตหรือวิญญาณนี้จะยังไปเกิดใหม่ได้ แต่บางคนก็เข้าใจว่าจิตหรือวิญญาณนี้แม้จะเป็นตัวตนของเราจริงๆก็ตาม แต่ว่าเมื่อร่างกายตาย จิตหรือวิญญาณที่เป็นตัวเรานี้ก็จะดับสูญตามไปด้วย ดังนั้นจึงทำให้เขาเชื่อว่าตายแล้วสูญ

ความเชื่อว่าตายแล้วเกิดกับตายแล้วสูญนี้ พระพุทธเจ้าสอนว่าเป็นเรื่องสุดโต่ง ที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงชองธรรมชาติ ซึ่งในเรื่องภายหลังความตายนี้ พระพุทธเจ้าสอนว่า “ความจริงแล้วมันไม่มีใครตาย เพราะทั้งร่างกายและจิตใจของเราทั้งหลายนี้ มันเป็นแค่เพียงสิ่งปรุงแต่งจากเหตุและปัจจัยตามธรรมชาติ ดังนั้นชีวิตทั้งหลายจึงเป็น อนัตตา คือไม่ใช่ตัวตนของใครๆทั้งสิ้น” คือมันไม่มีอัตตาหรือตัวตนของใครๆมาเกิดตั้งแต่ต้นแล้ว และยังไม่มีอัตตาหรือตัวตนของใครๆที่ยังมีอยู่ชีวิตอยู่อีกด้วย ดังนั้นเมื่อร่างกายตาย จึงเท่ากับว่าไม่มีใครตายจริง ตามที่ชาวโลกเขาสมมติกัน

เมื่อยังเชื่อและยึดถือว่ามีคนอื่นตาย หรือมีเราตายแล้วไปเกิดใหม่ได้อีก มันก็เป็นความเห็นหรือความเข้าใจผิด ที่ทำให้จิตของเราเกิดความเศร้าโศกหรือเสียใจ หรือเกิดความทุกข์เปิดเผยอย่างรุนแรง แต่ถึงแม้จะเชื่อว่ามีคนอื่นตายหรือมีเราตาย แล้วไม่มีการไปเกิดใหม่ได้อีก  มันก็ยังเป็นความเห็นหรือความเข้าใจผิด ที่ทำให้จิตของเราเกิดความเศร้าโศกหรือเสียใจ หรือเกิดความทุกข์เปิดเผยอย่างรุนแรงอยู่นั่นเอง

แต่ถ้าเรามีปัญญา ที่เป็นความเห็นหรือความเข้าใจที่ถูกต้องว่า มันไม่มีใครเกิด ไม่มีใครเป็นอยู่ และไม่มีใครตาย บวกกับเราก็มีสมาธิจากที่เคยฝึกมาด้วย แม้ร่างกายที่สมมติเรียกว่าเป็นร่างกายของเรานี้กำลังจะตาย แต่จิตที่สมมติเรียกว่าเป็นเรานี้ ก็จะไม่เกิดความหวาดกลัว หรือความเศร้าโศกหรือเสียใจ แม้แต่เล็กน้อย หรือแม้คนที่เรารู้จักได้พลัดพรากหรือตายจากเราไป เราก็จะไม่เกิดคามเศร้าโศกหรือเสียใจแม้แต่น้อย ซึ่งนี่ก็คือความไม่มีทุกข์หรือนิพพานที่เกิดในชีวิตปัจจุบัน

อริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้านั้นแยกได้ ๒ ระดับคือ (๑) ระดับพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสอนที่เรียกว่าศีลธรรม ซึ่งเป็นคำสอนเรื่องการดำเนินชีวิตเพื่อให้มีความปกติสุข ที่เอาไว้สอนคนทั่วๆ และ (๒) คำสอนระดับสูง ซึ่งเอาไว้สอนคนที่มีความรู้สูงๆหรือปัญญาชน ที่สอนเรื่องการปฏิบัติเพื่อความไม่มีทุกข์ หรือเพื่อความพ้นทุกข์ ที่เรียกว่าอริยสัจ ๔

 อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ  ซึ่งหมายถึงความจริงของธรรมชาติ ในเรื่องการเกิดขึ้นและดับหายไป ของความทุกข์ของจิตใจมนุษย์ ซึ่งอริยสัจทั้ง ๔ นั้นก็สรุปได้ดังนี้

๑. ทุกข์ คือ ความทุกข์ ซึ่งก็คือความทุกข์ของจิตใจ ซึ่งความทุกข์นี้ก็มีทั้ง ความทุกข์ซ่อนเร้น กับ ความทุกข์เปิดเผย โดยความทุกข์ซ่อนเร้นก็คือความรู้สึกหนัก เหนื่อยใจ หรือความรู้สึกที่ไม่สงบ ไม่ปกติ ไม่สบาย หรือความเร่าร้อนใจในขณะที่จิตของเรา กำลังเกิดกิเลสประเภทความพอใจอยู่ ส่วนความทุกข์เปิดเผยก็คือ ความรู้สึกเศร้าโศกหรือเสียใจอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นมาในขณะที่จิตของเรา กำลังเกิดกิเลสประเภทความไม่พอใจอยู่  

๒. สมุทัย คือ ต้นเหตุของความทุกข์ ซึ่งก็คือ อวิชชา ที่เป็นสัญชาติญาณว่ามีตนเอง (ความรู้ว่าชีวิตนี้คือตัวเรา) ที่เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ซึ่งอวิชชานี่เองที่ทำให้จิตของเราเกิดกิเลส และความยึดถือมีตัวเราขึ้นมาพร้อมกับความทุกข์ทั้งหลาย

๓. นิโรธ คือ ความหมดสิ้นไปของความทุกข์ ซึ่งเมื่อจิตไม่มีความทุกข์ มันก็จะ นิพพาน ที่หมายถึง ความสงบเย็นของจิตใจ ที่เกิดมาจากการที่จิตของเราไม่มีความทุกข์ใดๆ ซึ่งนิพพานนี้ก็คือวามสงบ เย็น สดชื่น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบา สบาย ที่เราก็สามารถสัมผัสได้ด้วยการทำให้กิเลสระงับหรือดับหายไปได้แม้เพียงชั่วคราว หรือสามารถทำให้ไม่เกิดขึ้นมาได้อีกย่างถาวร (คือตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่) อีกด้วย

๔. มรรค คือ วิธีการดับทุกข์ หรือวิธีการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งก็สรุปอยู่ที่ การใช้ ปัญญากับสมาธิ มาทำงานร่วมกัน โดยมี ศีล เป็นพื้นฐาน โดยปัญญากับสมาธิจะมาทำให้กิเลสที่เกิดขึ้นมาแล้วดับหายไป หรือกิเลสที่ยังไม่เกิดจะไม่เกิดขึ้น ทั้งอย่างชั่วคราวและถาวร (คือตลอดชีวิต)

คำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ นี้ จัดเป็นคำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า โดยอริยสัจ ๔ นี้เป็นความจริงของจิตใจมนุษย์ทุกคน ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาสอน ซึ่งเมื่อสรุปแล้วอริยสัจ ๔ จะสอนว่า “เมื่อจิตเกิดกิเลสและอุปาทานขึ้นมาเมื่อใด จิตก็จะเกิดความทุกข์ เมื่อจิตไม่เกิดกิเลสและอุปาทานขึ้นมา จิตก็จะไม่มีเป็นทุกข์” แต่การที่จิตจะไม่เกิดกิเลส หรือทำให้กิเลสที่กำลังเกิดอยู่ระงับหรือดับหายไปได้นั้น จะต้องมีปัญญาเป็นตัวนำ และมีสมาธิเป็นกำลัง รวมทั้งมีศีลเป็นพื้นฐาน โดยปัญญา-สมาธิ-ศีลนี้ จะต้องเกิดขึ้นมาพร้อมกัน จึงจะมีอำนาจหรือพลังมากำจัดกิเลสได้ และปัญญา-สมาธิ-ศีลนี้ ยังสามารถทำลายรากเหง้าที่เป็นความเคยชินของกิเลส ที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ให้หมดสิ้นไปได้อย่างถาวร ซึ่งจะทำให้จิตของเราไม่มีความทุกข์หรือนิพพานอย่างถาวรได้

ศีลคือความปกติของจิต

หลักการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านั้น สรุปอยู่ที่ การใช้สมาธิกับปัญญามาทำงานร่วมกัน แต่การที่จิตจะเกิดสมาธิขึ้นมาได้นั้น จำเป็นที่จิตจะต้องมีศีลมาเป็นพื้นฐาน ซึ่งคำว่า ศีล ที่แปลว่า ปกติ ซึ่งหมายถึงจิตที่ปกติ (คือไม่ดิ้นรน หรือเร่าร้อน) ถ้าจิตมีศีลแล้ว ก็จะทำให้จิตมีสมาธิได้ง่าย และเมื่อจิตมีสมาธิแล้ว สมาธิก็จะมาเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา ดังนั้นจึงต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา มาทำงานร่วมกัน จึงจะทำให้ดับทุกข์ได้ ถ้าขาดสิ่งใดไป ก็จะทำให้ไม่สามารถดับทุกข์ได้อย่างสมบูรณ์

การกระทำเพื่อให้จิตมีศีล (หรือความปกติ) นั้นก็คือ การกระทำทางกายและวาจาที่เรียบร้อยงดงาม ซึ่งสรุปอยู่ที่ การมีเจตนา (ความจงใจหรือความตั้งใจ) ที่ไม่จะไม่เบียดเบียน (๑) ชีวิตของผู้อื่น (๒) ทรัพย์สินของผู้อื่น (๓) กามารมณ์ (เช่นเรื่องทางเพศ) ของผู้อื่น และรวมทั้งการมีเจตนาที่จะไม่พูด (๔) คำไม่จริง (๕) คำหยาบ (๖) คำส่อเสียด และ (๗) เรื่องเพ้อเจอ ดังนั้นถ้าเราปรารถนาที่จะไม่มีความทุกข์ เราจะต้องเป็นคนดี ที่มีศีลอยู่ก่อนเป็นปกติ ถ้าเป็นคนไม่มีศีลอยู่เป็นปกติแล้ว จะไม่สามารถปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ ได้ เพราะขาดพื้นฐานที่สำคัญนี้

สมาธิคือจิตที่ตั้งมั่นอยู่เสมอ

สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือเป็นอาการของจิตที่ตั้งใจ หรือจดจ่อ หรือจับ หรือเพ่ง อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลาได้นานๆ ซึ่งสมาธินี้มี ๒ ประเภท คือ สมาธิผิด  กับ สมาธิถูก

โดยสมาธิผิดก็คือ สมาธิที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยกิเลสตลอดเวลา ซึ่งผลของสมาธิผิดนี้ก็คือจะมีความทุกข์ หรือความเร่าร้อนใจ ไปตามอำนาจของสิ่งที่กำลังเพ่งอยู่ เช่น ถ้าเพ่งอยู่ในเรื่องกามารมณ์ จิตก็จะเร่าร้อนทรมานอยู่ด้วยความอยากได้ในกามารมณ์นั้นให้มากยิ่งๆขึ้นไป หรือถ้าเพ่งอยู่ด้วยความโกรธ ก็จะทำให้จิตเกิดความเร่าร้อนหรือคับแค้นใจ เป็นต้น

ส่วนสมาธิถูกก็คือ สมาธิที่จดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วทำให้กิเลสระงับหรือดับหายไป (แม้เพียงชั่วคราว) เช่น การเพ่งอยู่ที่การหายใจของร่างกายเราเอง หรือการตั้งใจอ่านหนังสือเรียน หรือการที่นักเรียนตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอน หรือการตั้งใจทำงานที่สุจริต หรือการที่นักวิยาศาสตร์ตั้งใจคิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก เป็นต้น โดยสมาธิถูกนี้จะมีลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลสและนิวรณ์ครอบงำ

๒. ตั้งมั่น คือเข้มแข็ง ไม่มีอะไรมายั่วยวนให้หวั่นไหวได้ (คือไม่ทำให้เกิดกิเลส)

๓. อ่อนโยน คือ ควบคุมได้ง่าย มีความสุขุมรอบครอบ และมีความจำดี

ผลของสมาธิถูกนี้ก็คือ ทำให้จิตมีความสุขสงบ, มีสติตลอดเวลา, และเมื่อจิตไม่มีกิเลสใดๆครอบงำ จึงทำให้ความยึดถือว่ามีตัวเรา-ของเราหายไปด้วย เมื่อจิตไม่มีความยึดถือ จึงทำให้จิตไม่มีความทุกข์ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ก็จะทำให้จิตสงบเย็น (นิพพาน) ได้อย่างสูงสุด (หมายเหตุ ต่อไปถ้าพบคำว่า สมาธิ ในหนังสือนี้ ก็ขอให้เข้าใจว่าหมายถึง สมาธิถูก)

เมื่อจิตมีสมาธิ ก็สามารถพิจารณาถึงความจริงของธรรมชาติให้เข้าใจได้ เพราะจิตจะมีความสุขุมรอบครอบ จึงสามารถเข้าใจถึงเรื่องการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับหายไปของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลายได้ รวมทั้งยอมรับเหตุผลที่สมเหตุสมผล และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับจิต ที่จิตรับรู้ได้จริงโดยไม่บิดพลิ้ว ซึ่งนี่ก็คือผลจากการมีสมาธิที่ช่วยให้เกิดปัญญาได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็จะไม่มีสามารถพิจารณาโดยใช้เหตุใช้ผล ให้เกิดปัญญาที่เป็นความเข้าใจได้

สมาธินี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องฝึกให้เกิดขึ้น เพราะปกติเราจะมีสมาธิกันน้อย จึงยังไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของเรา แต่ก่อนที่จะฝึกสมาธิ เราจะต้องรู้จักกับสิ่งที่ตรงข้ามหรือศัตรูของสมาธิเสียก่อน เพราะเป็นสิ่งตรงข้ามกัน คือเมื่อจิตมีสมาธิ ศัตรูของสมาธิก็จะไม่มี แต่เมื่อจิตมีศัตรูของสมาธิครอบงำ จิตก็จะไม่มีสมาธิ ซึ่งศัตรูของสมาธินี้ก็ได้แก่ กิเลส ที่แปลว่า ความสกปรก หรือสิ่งทำความสกปรก โดยกิเลสนี้ก็ทั้งกิเลสเต็มตัว และกิเลสอ่อนๆ โดยกิเลสเต็มตัวนั้นก็มีอยู่ ๓ ประเภท คือ

๑. ความพอใจ หรือความอยากได้ หรือความรัก ความชอบ เป็นต้น

๒. ความไม่พอใจ หรือความไม่อยากได้ หรือความโกรธ เกลียด กลัว เป็นต้น

๓. ความลังเลใจ หรือความไม่แน่ใจ

ส่วนกิเลสอ่อนๆนั้นเรียกว่า นิวรณ์ ที่หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิตจากความดี โดยนิวรณ์จะมี ๕ อาการ อันได้แก่

๑. ความพอใจเล็กๆน้อยๆในกามารมณ์ (สิ่งที่น่ารักน่าใคร่โดยมีเรื่องเพศตรงข้ามเป็นกามารมณ์ชนิดสูงสุด)

๒. ความอาฆาต หรือความพยาบาทที่ฝังใจอยู่

๓. ความหดหู่ เซื่องซึม มึนชา

๔. ความฟุ้งซ่าน หรือความตื่นเต้น ที่ทำให้เกิดความรำคาญใจ

๕. ความลังเลสงสัย ในสิ่งที่เราเชื่อถืออยู่ว่ามีจริงหรือไม่? หรือถูกต้องหรือไม่?

ปกติกิเลสอ่อนๆนี้จะเกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบตลอดทั้งวัน ซึ่งเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว แม้มันจะไม่ทำให้จิตของเราเกิดความทุกข์อย่างเต็มที่ (คือความเศร้าโศกหรือเสียใจ) เหมือนกิเลสตัวเต็ม แต่มันก็ทำให้จิตของเราขุ่นมัว ไม่สงบระงับ ไม่เป็นปกติ ไม่เบาสบาย ไม่สดชื่น ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส (ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์อ่อนๆ) ซึ่งเมื่อกิเลสอ่อนๆนี้ตัวใดเกิดขึ้น มันก็จะทำให้จิตของเราไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่มีสมาธิก็จะทำให้ปัญญา (ที่แม้เราจะเคยมีแล้ว) ไม่เกิดขึ้นด้วย เมื่อจิตไม่มีปัญญาและสมาธิ จึงทำให้ความทุกข์อ่อนๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ทำให้จิตไม่สงบเย็นอย่างสูงสุด (ไม่นิพพานสูงสุด)

สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อกิเลสอ่อนๆนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ความเคยชินของกิเลสและความเข้าใจผิดว่ามีตัวเรา ที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรามีมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เปลี่ยนแปลงหรือกำจัดมันได้ยากยิ่งขึ้นด้วย  ดังนั้นจึงเรียกได้ว่ากิเลสอ่อนๆนี้จัดเป็นความชั่วร้ายอันดับแรก ที่ครอบงำจิตของเราอยู่เกือบตลอดทั้งวัน ที่เราจะต้องมาฝึกสมาธิ เพื่อระวังไม่ให้มันเกิดขึ้น และเพื่อกำจัดความเคยชินของมัน ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ให้หมดสิ้นไปอย่างถาวร

วิธีฝึกสมาธิอย่างง่ายๆ

ตามปกติเราก็พอจะมีสมาธิกันอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่จะไม่มากพอเท่านั้น อย่างเช่น เวลาเราตั้งใจฟังครูสอน หรือตั้งใจอ่านหนังสือ เราก็จะมีสมาธิขึ้นมาแล้วโดยอัตโนมัติ ซึ่งนี่ก็คือสมาธิที่จำเป็นสำหรับนำมาใช้คู่กับปัญญาในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ซึ่งวิธีการฝึกให้จิตมีสมาธินั้นก็สามารถทำได้ทั้งอย่างไม่เป็นระบบและเป็นระบบ โดยการฝึกอย่างไม่เป็นระบบนั้น ก็ทำได้โดยมีการตั้งใจหรือกำหนดรู้ในการเคลื่อนไหวของร่างกาย, ในการพูด, และคิดของเราเอง หรือในการทำกิจวัตรประจำวันของเราก็ได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นการฝึกได้ในทุกโอกาสตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงหลับไป

ส่วนวิธีการฝึกสมาธิอย่างเป็นระบบที่ทำได้ง่ายและเป็นที่นิยมนั้นก็คือ กำหนดการหายใจของร่างกายเราเอง ซึ่งวิธีการฝึกนั้น เราจะใช้อิริยาบถใดก็ได้ คือทั้งการเดิน การยืน การนั่ง และการนอน แต่ถ้าเพิ่งเริ่มต้นฝึกควรใช้อิริยาบถนั่งก่อน เพราะจะทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายกว่าอิริยาบถอื่น ถ้าฝึกจนชำนาญแล้วจะใช้อิริยาบถใดก็ได้ ส่วนวิธีการฝึกโดยสรุปนั้นก็คือ ให้เราตั้งใจกำหนดอยู่ที่การหายใจของร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา และพยายามควบคุมให้ลมหายใจเบาและยาวอยู่ตลอดเวลา (ถ้าลมหายใจแรงและสั้นจะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ยาก) โดยระวังอย่าคิดถึงสิ่งหรือเรื่องที่จะทำให้เกิดกิเลสทั้งหลายขึ้นมา ซึ่งในการกำหนดการหายใจของร่างกายนี้ ขั้นต้นเราอาจจะใช้วิธีการนับการหายใจของเราไปเรื่อยๆ เพื่อให้จิตสงบก็ได้ หรือจะท่องคำสั้นๆในขณะที่เรากำลังหายใจเข้าหรือออกก็ได้ เช่น ไม่มีเรา, ไม่มีใคร, ว่างเปล่า, ผ่านไป, ตายแน่, เกิดดับ, อย่าโง่, อย่าบ้า เป็นต้น เพื่อให้มีสติอยู่ตลอดเวลาก็ได้ หรือใครจะคิดค้นวิธีการฝึกใหม่ๆขึ้นมาเองก็ได้

แต่ถ้าจิตยังไม่สงบ ให้ลองใช้วิธีคิดด้วยสติ (คือตั้งใจคิดให้เป็นคำพูดแล้วก็ตั้งใจฟังด้วย) โดยการตั้งใจคิดช้าๆด้วยประโยคสั้นๆ ในขณะที่กำลังหายใจออก แต่เมื่อหายใจเข้าก็ให้หยุดคิด (หรือจะคิดช่วงเวลาหายใจเข้าก็ได้ เมื่อหายใจออกก็ให้หยุดคิด) ซึ่งการคิดนี้ควรคิดเรื่องที่ทำให้เกิดปัญญาหรือความรู้ที่ดีงาม เช่น เรื่องความไม่เที่ยง เรื่องสภาวะที่ต้องทน เรื่องความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง หรือเรื่องความว่างจากตัวเรา-ของเรา หรือเรื่องการคิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม หรือเรื่องการเรียน หรือเรื่องการเตือนตนเอง หรือเรื่องการสอนหลักการดับทุกข์นี้ เป็นต้น ซึ่งการฝึกเช่นนี้จะทำให้จิตเกิดสมาธิได้ง่าย รวมทั้งยังทำให้เกิดปัญญาไปพร้อมๆกันไปด้วย เรียกว่าเป็นการปฏิบัติสมาธิและปัญญาไปพร้อมๆกัน

เราจะสังเกตได้ว่าจิตของเรามีสมาธิหรือไม่ โดยให้สังเกตได้จาก “การที่จิตของเรามีสติอยู่ตลอดเวลา และจิตจะสงบหรือไม่ฟุ้งซ่านแล้ว (เพราะจิตหยุดดิ้นรนจากอำนาจของกิเลสอ่อนๆแล้ว) รวมทั้งมีความสุขสงบ และมีปีติหรือความอิ่มเอมใจอยู่ด้วย” ก็แสดงว่าจิตของเรามีสมาธิแล้ว ซึ่งเมื่อจิตไม่มีนิวรณ์ครอบงำ จิตก็จะไม่มีความทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อจิตไม่มีความทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย จิตก็จะสงบเย็น หรือเบาสบาย สดชื่น ปลอดโปร่งแจ่มใสอย่างสูงสุด เมื่อจิตสงบเย็นสูงสุด (นิพพานสูงสุด) ก็แสดงว่าจิตมีสมาธิแล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนี่คือสมาธิที่จำเป็นในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของเรา ส่วนสมาธิที่สูงไปกว่านี้ ที่เป็นการเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนไม่รับรู้สิ่งอื่นใดเลยนั้นไม่จำเป็น เพราะเพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับนำมาใช้ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของเรานี้

การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

เมื่อสรุปวิธีการปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ ก็คือ ให้มีสติระลึกถึงปัญญาอยู่ตลอดเวลา และระวังอย่างให้กิเลสและนิวรณ์เกิดขึ้น ซึ่งปัญญาที่ให้ระลึกถึงนั้นก็คือเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของทุกสิ่งโดยเน้นมาที่ร่างกายและจิตใจของเราเอง คือไม่ว่าเราจะเห็น หรือได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับการสัมผัสทางกาย หรือได้รับรู้ทางใจก็ตาม เราก็รับรู้ด้วยความเข้าใจว่าสิ่งที่เรารับรู้นี้มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง และต้องทนอยู่ด้วยความยากลำบาก ซึ่งการที่เราระลึกถึงปัญญาอยู่อย่างต่อเนื่องนานๆนี้เอง ก็ทำให้จิตของเราเกิดสมาธิที่เหมาะสมขึ้นมาด้วยทันที และเมื่อจิตของเรามีสมาธิและปัญญาพร้อมกันแล้ว จิตของเราก็จะไม่เกิดความทุกข์ใดๆขึ้นมา เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ ก็เรียกว่าจิตนิพพาน (แม้เพียงชั่วคราว) แต่การที่เราจะปฏิบัติให้มีสติมาระลึกถึงปัญญาอยู่ตลอดเวลาได้นั้น ก็จำเป็นที่เราต้องมีศีลหรือเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่ก่อนด้วย เราจึงจะปฏิบัติได้ ซึ่งนี่ก็คือการปฏิบัติตามหลักของมรรคของอริยสัจ ๔ โดยสรุป

ส่วนช่วงเวลาในการปฏิบัติในชีวิตของเรานั้นก็มี ๒ ช่วง คือ เวลาว่าง กับ เวลาที่ต้องเผชิญกับโลก คือเมื่อมีเวลาว่าง เราก็มาฝึกฝนจิตให้มีสมาธิจนเป็นนิสัยอยู่เสมอ และหมั่นพิจารณาเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของร่างกายและจิตใจทั้งภายในตัวเราและของผู้อื่นอยู่เสมอด้วย เพื่อให้มีปัญญาแตกฉานหรือแหลมคมมากขึ้น แต่เมื่อเวลาที่เราต้องเผชิญกับโลก หรือต้องทำหน้าที่การงานเพื่อเลี้ยงชีวิต เราก็ปฏิบัติหน้าที่ของเราไปตามปกติ แต่เราก็ต้องมีสติระลึกถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา ในทุกสิ่งที่เรากำลังสัมผัสอยู่ด้วยตลอดเวลา และคอยระวังอย่าให้กิเลสและนิวรณ์เกิดขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติได้เช่นนี้ แม้จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเราหรือของใครๆก็ตาม จิตใจของเราก็จะสงบเย็นหรือนิพพานอยู่ตลอดเวลา ที่เรามีสติสมาธิและปัญญา แต่ถ้ายังปฏิบัติไม่ได้ เราก็ต้องมาสำรวจดูว่าเราขาดสิ่งใดไป คือมีศีลสมบูรณ์หรือเปล่า? หรือไม่มีสมาธิ? หรือปัญญายังไม่มี? เมื่อพบแล้วเราก็ต้องมาปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป

วิธีสร้างสันติภาพตามแนวทางพุทธศาสนา

หลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้านี้ นอกจากจะช่วยให้จิตใจของมนุษย์ไม่มีความทุกข์แล้ว ยังสามารถช่วยให้โลกมีสันติภาพได้อีกด้วย ซึ่งการที่โลกมีวิกฤติการณ์ต่างๆขึ้นมากมายนั้น ก็มีต้นเหตุมาจากความเห็นผิด (หรือความเข้าใจผิด) ว่าชีวิตของเรานี้เป็นอัตตา (หรือเป็นตัวตนของเราจริงๆ) เมื่อมนุษย์มีความเห็นผิดเช่นนี้ จึงทำให้มนุษย์เกิดความเห็นแก่ตัวจัด เมื่อมนุษย์เห็นแก่ตัวจัด จึงเกิดความโลภหรืออยากได้วัตถุนิยมของผู้อื่น ทั้งในทางที่ถูกและผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรมของศาสนาตนเอง เมื่อเกิดความโลภในทางที่ผิด จึงทำให้มนุษย์เบียดเบียนกันเอง เบียดเบียนสัตว์ และเบียดเบียนป่าไม้ที่มีพระคุณของโลก จนเกิดวิกฤติการณ์ต่างๆขึ้นมาทั่วโลก จนทำให้สันติภาพของโลกหายไป

ส่วนวิธีการสร้างสันติภาพของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ การสอนปัญญาชนของโลกให้เกิดความเข้าใจชีวิตอย่างถูกต้องว่า มันไม่ได้มีตัวตนของเราหรือของใครๆอยู่จริง (คือเรื่องความเป็นอนัตตาหรือสุญญตาของทุกสิ่ง) เพื่อทำลายความเห็นผิดว่าชีวิตของเรานี้เป็นอัตตา ซึ่งเมื่อปัญญาชนเกิดความเข้าใจชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว เขาก็จะช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องนี้ต่อไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก

เมื่อมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของชีวิตว่า แท้จริงมันไม่ได้มีตัวเราหรือตัวตนของใครๆอยู่จริงแล้ว มนุษย์เหล่านั้นก็จะลดความเห็นแก่ตัวลง เมื่อมนุษย์เห็นแก่ตัวลดน้อยลง ก็จะรักผู้อื่นมากขึ้น และเห็นแก่ผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งความโลภก็จะไม่มี มีแต่จะช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น เมื่อความโลภไม่มี ก็จะทำให้การเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนสัตว์และเบียดเบียนป่าไม้ก็จะลดน้อยลง เมื่อไม่มีการเบียดเบียนกัน วิกฤติการณ์ต่างๆก็จะไม่มี เมื่อวิกฤติการณ์ไม่มี โลกก็จะมีสันติภาพได้

จึงขอฝากให้ปัญญาชนทั้งหลาย ได้ช่วยกันเผยแพร่ความจริงอันประเสริฐนี้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์ของจิตใจ และหลุดพ้นจากความเดือดร้อนทางกาย รวมทั้งช่วยให้โลกมีสันติภาพ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป     

จบ

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บ www.whatami.net หรือ www.whatami.6te.net )


ถ้าต้องการปริ้นหนังสือนี้เป็นรูปเล่มให้คลิ๊กที่นี่