-๑-

คำนำ

มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะศึกษาค้นหาความจริงของชีวิตว่า เราคืออะไร? ชีวิตมีต้นกำเนิดมาจากอะไร? ใครหรืออะไรสร้าง? สร้างมาเพื่ออะไร? อะไรควบคุมหรือดลบันดาลให้ชีวิตของเราเป็นไป? ตายแล้วจะเป็นอย่างไร? อะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าสูงสุดสำหรับชีวิต? และจะได้สิ่งสูงสุดนั้นมาด้วยวิธีใด? จะมีก็น้อยมากที่สนใจศึกษาค้นหาความจริงของชีวิตเช่นนี้ ซึ่งการลุ่มหลงความสุขจากวัตถุนิยมนั้น มันเป็นเรื่องง่ายและสนุกสนาน เพราะไม่ต้องใช้ความคิดใดๆให้หนักสมอง ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่จึงได้ลุ่มหลงวัตถุนิยมกันไปหมด ส่วนการศึกษาค้นคว้าหาความจริงของชีวิตนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่สนุกและหนักสมอง ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่จึงไม่สนใจ จะมีก็เพียงนักคิด นักเขียน หรือนักปรัชญา หรือนักวิทยาศาสตร์ หรือคนที่เบื่อหน่ายชีวิตบางคนเท่านั้น ที่สนใจเรื่องการศึกษาค้นหาความจริงของชีวิต

แต่คนที่สนใจศึกษาค้นหาความจริงของชีวิต ก็ไม่มีหนังสือหรือใครที่จะสอนให้เกิดความรู้และเข้าใจชีวิตได้อย่างถูกต้องในเวลาอันสั้น ดังนั้นจึงได้เกิดหนังสือ ฉันคืออะไร? เล่มนี้ขึ้นมา เพื่อเอาไว้เป็นคู่มือสำหรับคนที่สนใจศึกษาค้นหาความจริงของชีวิต จึงขอฝากให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นหาความจริงของชีวิตทั้งหลาย ได้ช่วยกันศึกษา และถ้าเห็นว่าหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ขอให้ช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วยใจบริสุทธิ์

เตชปัญโญ ภิกขุ

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

****************************************

เราคืออะไร?

การศึกษาเพื่อค้นหาความจริงของชีวิตว่า “เราคืออะไร? ชีวิตมีต้นกำเนิดมาจากอะไร? ใครหรืออะไรสร้าง? สร้างมาเพื่ออะไร? อะไรควบคุมหรือดลบันดาลให้ชีวิตของเราเป็นไป? ตายแล้วจะเป็นอย่างไร? อะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าสูงสุดสำหรับชีวิต?” เป็นต้นนี้ ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจว่า การที่เราจะล่วงรู้ความจริงของชีวิตได้อย่างถูกต้องนั้น เราจะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษา เราจึงจะศึกษาแล้วเกิดความเข้าใจในชีวิตได้อย่างถูกต้อง ถ้าเราใช้หลักไสยศาสตร์ ที่สอนให้เชื่อตาม จะไม่สามารถศึกษาแล้วเกิดความเข้าใจชีวิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งพุทธศาสนานั้นมีหลักคำสอนเพื่อค้นหาความจริงของชีวิตนี้ได้

ทีนี่ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมจึงต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาศึกษา? และหลักวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร? รวมทั้งคำถามที่ว่า แล้วหลักวิทยาศาสตร์มันเกี่ยวอะไรกับพุทธศาสนา? ซึ่งคำตอบก็คือ หลักคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นคำสอนที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจ และเห็นแจ้งชีวิตได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แต่ปัจจุบันหลักคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป จนกลายเป็นเรื่องความเชื่อตามหลักไสยศาสตร์ไปจนเกือบหมด จนแทบไม่หลงเหลือความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เลย

ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้อง กลับมาหาหลักคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการศึกษาค้นหาความจริงของชีวิต เราจึงจะเกิดความเข้าใจในชีวิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่คนที่ยังยึดติดในความเชื่อตามตำรา หรือเชื่อตามครูอาจารย์ หรือเชื่อตามความคิดเห็นของตนเอง ตามหลักไสยศาสตร์ ย่อมรับไม่ได้ เพราะคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านี้ เป็นคำสอนสำหรับปัญญาชน หรือคนที่มีปัญญามากพอเท่านั้น

ไสยศาสตร์คืออะไร?

ไสยศาสตร์ แปลว่า ความรู้ของคนหลับ หรือคนที่ไม่มีปัญญา ซึ่งหลักหัวใจของไสยาสตร์ก็คือ การสอนให้เชื่อมั่น ห้ามถาม ห้ามสงสัย แต่ให้ปฏิบัติตามที่สอนเพียงอย่างเดียว ซึ่งคำว่า ศาสตรา แปลว่า อาวุธ คือหมายถึงเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา ดังนั้นไสยศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ปัญหาของคนที่ไม่มีความรู้ หรือคนที่มีสติปัญญาน้อย เช่นเด็ก หรือชาวบ้านทั่วๆไป ที่ไม่มีความรู้ทางด้านวิชาการทางโลก เช่น วิทยาศาสตร์เพียงพอ คือเรียกง่ายๆว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องที่เอาไว้สอนคนที่คิดด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนไม่เป็น

คนที่คิดไม่เป็นนั้น เมื่อเกิดความทุกข์ใจจากปัญหาชีวิตขึ้นมา เช่น เมื่อร่างกายแก่ เจ็บ หรือใกล้จะตาย  หรือเมื่อชีวิตตกต่ำยากจนและเดือดร้อน หรือคนที่รักหรือสิ่งที่รักได้จากไป หรือเกิดความผิดหวังขึ้นมา เป็นต้น จึงทำให้คนที่คิดไม่เป็นนี้แก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลไม่ได้ ซึ่งเมื่อมีใครมาบอกหรือมาสอนวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เช่น สอนให้ทำพิธีบูชายัญ หรือสอนให้ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา  หรือสอนให้ทำบุญด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา หรือให้ไปอ้อนวอนหรือบูชาเทพเจ้า หรือให้ไปรักษาศีล หรือให้ทำบุญ หรือให้ไปทำพิธีแก้กรรม เป็นต้น เขาก็ย่อมที่จะเชื่อและปฏิบัติตามได้โดยง่าย ซึ่งเมื่อเขาได้ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นแล้ว ความทุกข์ใจจากปัญหาชีวิตของเขานั้นก็ลดน้อยลงได้ ซึ่งก็จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกสบายใจหรืออุ่นใจขึ้นมาได้ เพราะเขาเชื่อว่าในอนาคตความทุกข์ใจหรือปัญหาชีวิตของเขาจะต้องหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน แม้ในปัจจุบันความทุกข์ใจหรือปัญหาชีวิตของเขานั้น ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริงก็ตาม

หลักไสยศาสตร์นี้ ย่อมที่จะมีเรื่องของสิ่งที่เหนือธรรมชาติมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น เรื่องเทพเจ้า หรือพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งหลักไสยศาสตร์นี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์ (หรือปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นศาสนาฮินดู) ที่สอนให้เชื่อมั่นว่า สิ่งที่มีอำนาจสูงสุดในโลกหรือในจักรวาลก็คือเทพเจ้า (หรือพระเจ้า) ซึ่งเทพเจ้าของเขานั้นก็มีมากมายตามแต่เขาจะตั้งขึ้นมา โดยเขาจะสอนว่าเทพเจ้านี้เองที่เป็นผู้ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา รักษาทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ควบคุมให้สิ่งต่างๆเป็นไป และทำลายสิ่งต่างๆไปเมื่อถึงเวลา

สรุปได้ว่า หลักไสยศาสตร์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพราหมณ์ ที่เป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดของโลก และมีผู้คนนับถือมากมายทั่วโลก โดยหลักของศาสนาพราหมณ์นั้นจะสอนให้เชื่อมั่นเอาไว้ก่อน แล้วจึงสอนให้ปฏิบัติตามที่เทพเจ้าสั่งสอนไว้ ซึ่งผลที่ได้รับก็เป็นแค่เพียงความเบาใจหรืออุ่นใจเท่านั้น ส่วนเรื่องที่จะสอนให้รู้จักคิดด้วยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือสอนให้เกิดปัญญาตามหลักพุทธศาสนานั้นไม่มี เพราะไสยศาสตร์เป็นแค่คำสอนของคนระดับชาวบ้าน ไม่ใช่คำสอนของคนระดับปัญญาชน

หลักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร?

   ศาสตรา แปลว่า อาวุธ คือหมายถึง เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา ส่วนคำว่า วิทยา หมายถึง ความรู้ ดังนั้นคำว่าวิทยาศาสตร์ จึงหมายถึง การใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ ที่เกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าศึกษากันมานมนาน และได้ถ่ายทอดกันมาจนเกิดเป็นความรู้ที่พัฒนาขึ้นจนทำให้เกิดความเจริญขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งหลักที่เป็นหัวใจของการศึกษาวิทยาศาสตร์ก็คือ

๑. ศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง คือศึกษาจากสิ่งที่เรารับรู้ (หรือสัมผัส) ได้จริง ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเราในปัจจุบัน สรุปก็คือ เราจะศึกษาจากธรรมชาติ ที่เราก็พบเห็นกันอยู่จนเห็นเป็นสิ่งธรรมดาๆนี่เอง

๒. ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล คือเรื่องเหตุและผล (ตรรกะ) นั้น เป็นเรื่องของการใช้ความคิดที่ซับซ้อน เพื่อค้นหาความจริงของธรรมชาติ โดยทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเรียกว่าเป็น “ผล” ส่วนสิ่งที่มาทำให้เกิดผลนั้นเรียกว่า “เหตุ” ซึ่งการศึกษา เราจะศึกษาจากเหตุและผลจากสิ่งที่มีอยู่จริง เราจะไม่ศึกษาจากความเชื่อใดๆ ซึ่งเมื่อเราศึกษาสิ่งใด แล้วเรารู้จักเหตุและผลของสิ่งนั้นได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ก็จะทำให้เราเกิดความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งนั้นได้อย่างถูกต้อง   

๓. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือศึกษาเริ่มต้นจากที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วค่อยๆศึกษาไปเป็นลำดับ แล้วก็มีการจดบันทึกเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งการศึกษาก็จะใช้วิธีการตั้งสมมติฐานขึ้นมาก่อน แล้วพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งขึ้นมานั้น เพื่อพิสูจน์ว่าสมมติฐานนั้นถูกต้องหรือไม่ เมื่อพิสูจน์แล้วพบว่าไม่เป็นความจริง ก็ตั้งสมมติฐานขึ้นมาใหม่ แล้วพิสูจน์ใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะพบความจริง ซึ่งเมื่อพบความจริงแล้วว่าสมมติฐานใดถูกต้อง ก็ยังต้องพิสูจน์สมมติฐานนั้นซ้ำๆอีกจนแน่ใจ จึงค่อยตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมา 

๔. ไม่เชื่ออะไรล่วงหน้า คือนักวิทยาศาสตร์เขาจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้พิสูจน์จนพบความจริงแล้วเท่านั้น ซึ่งนี่จะทำให้ผู้ศึกษามีอิสระในการศึกษา และทำให้การศึกษามีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งจะตรงข้ามกับการศึกษาแบบไสยศาสตร์ ที่เป็นการศึกษาแบบเผด็จการ ที่บังคับว่าต้องเชื่อและปฏิบัติตามหลักของความเชื่อเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้การศึกษาไม่มีความเจริญก้าวหน้า  

วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาของคนที่มีความรู้ และเป็นหลักวิชาสมัยใหม่ที่มีคนเชื่อถือและยอมรับกันอย่างมาก ซึ่งการที่โลกปัจจุบันเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็เพราะวิทยาศาสตร์นี่เอง ซึ่งวิทยาศาสตร์นี้ก็แยกได้เป็นวิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุ กับวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ แต่วิทยาศาสตร์ทั้งสองนี้ก็มีหลักอันเป็นแนวทางปฏิบัติเหมือนกัน คือจะศึกษาจากสิ่งที่มีอยู่จริง ศึกษาโดยใช้เหตุใช้ผล ศึกษาอย่างเป็นระบบ และไม่เชื่ออะไรล่วงหน้าจนกว่าจะได้พิสูจน์จนพบความจริงอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น

พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์

 เมื่อบอกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะมีบางคนสงสัยว่า รู้ได้อย่างไรว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์? ซึ่งคำตอบก็คือ คำว่า พุทธะ แปลว่า รู้ คือหมายถึงรู้แจ้ง (หรือเห็นจริง) ซึ่งความรู้นี้ก็หมายถึง ต้องมีเหตุผลมาอธิบายให้เราเข้าใจได้ รวมทั้งต้องมีความจริงมายืนยันอีกด้วย ซึ่งนี่ก็ตรงกับหลักอันเป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ส่วนคำว่าพระพุทธเจ้านั้น เป็นคำที่เราเรียกเพื่อยกย่อง ผู้ที่ค้นพบวิธีการดับทุกข์โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ (ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ) ว่าเป็น พระพุทธเจ้า ที่หมายถึง ผู้รู้สูงสุด ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นแค่เพียงคนธรรมดา ไม่ใช่ผู้วิเศษหรือมีฤทธิ์เดช อย่างที่เราอาจเคยได้ยินได้ฟังกันมาก่อน คือพระองค์ทรงเป็นทั้งนักคิด นักค้นคว้า นักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จะต้องพิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น จึงจะยอมรับ   รวมทั้งพระองค์ยังเป็นนักปฏิบัติสมาธิ ที่มีการฝึกฝนอย่างอดทนและจริงจัง จนบรรลุสมาธิขั้นสูงมาแล้ว ดังนั้นเราจึงควรรู้จักพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง เราจึงจะศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเรารู้จักพระพุทธเจ้าผิด เราก็จะศึกษาหลักคำสอนของพระองค์ผิดตามไปด้วย

คำสอนของพระพุทธเจ้าดั้งเดิมหรือที่แท้จริงนั้น เป็นคำสอนที่มีเหตุมีผล ที่เราสามารถพิจารณาตามแล้วเกิดความเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง รวมทั้งยังมีของจริงมายืนยันเพื่อป้องกันความผิดพลาดอีกด้วย ซึ่งมันก็ตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน จึงทำให้พูดได้ว่า คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ทางด้านจิตใจ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางด้านวัตถุ ซึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลักวิทยาศาสตร์ ว่าสามารถใช้แก้ปัญหาของชีวิตได้ และทำให้ผู้คนเกิดปัญญาเห็นแจ้งชีวิตได้ พระองค์จึงได้นำคำสอนนี้มาสอนแก่ผู้คนที่สนใจ และมีผู้ที่นับถือพระองค์มากมายในยุคนั้น จนต่อมาคำสอนของพระองค์ได้ถูกตั้งขึ้นเป็นศาสนา ที่เรียกว่าพุทธศาสนา

แต่ในอดีตเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่นาน คนที่มีสติปัญญาที่จะเข้าใจหลักคำสอนที่แท้จริงของพระองค์ได้ลดน้อยลง จึงทำให้คำสอนที่เป็นวิทยาศาสตร์ของพระองค์ค่อยๆถูกเข้าใจผิดไป และยังถูกทั้งปลอมปนและแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป จนกลายเป็นศาสนาที่สอนให้เชื่ออย่างไสยศาสตร์ไปในที่สุด และพุทธศาสนาที่ถูกแก้ไขและปลอมปนนี้ ก็ได้ถูกสืบทอดและเผยแพร่มาจนถึงเราในปัจจุบัน แต่ก็ยังโชคดีที่ยังมีหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามากมาย ที่ปะปนอยู่กับคำสอนที่ปลอมปนมา จึงทำให้มีปัญญาชนบางคน (เช่น ท่านพุทธทาส ภิกขุ) มาพบเข้า และนำมาเผยแพร่ จึงทำให้เราได้พบกับคำสอนดั้งเดิมหรือแท้จริงของพระพุทธเจ้า

ศึกษาที่ไหนและศึกษาอย่างไร?

การที่จะศึกษาค้นหาความจริงของชีวิตนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่า “ให้ศึกษาจากชีวิตของเราจริงๆในปัจจุบัน คือจากร่างกายและจิตใจของเราในปัจจุบัน ที่ยังมีความจำดีอยู่ และมีสติรู้สึกตัวดีอยู่นี้” ซึ่งวิธีการศึกษานั้นก็คือ ให้สังเกตดูที่อายตนะภายใน (อายตนะภายใน หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อที่อยู่ภายในร่างกาย) ทั้ง ๖ ของเรา คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ของเรา โดยให้เราตั้งใจ (คือมีสมาธิ) เฝ้าดูว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรานี้ มันมีการเกิดและดับหรือไม่? (การเกิดก็หมายถึง จากความที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง ส่วนการดับก็หมายถึง จากความที่มีอยู่ก่อน แล้วจึงหายไปหรือไม่มีในภายหลัง)

เมื่อเราตั้งใจเฝ้าดูที่อายตนะภายในทั้งหลาย เราก็จะพบว่า อายตนะภายในทุกอายตนะนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วตั้งอยู่ตลอดเวลาเลย (คือมันไม่ได้มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส เป็นต้น พร้อมๆกันอยู่ตลอดเวลา) แต่เป็นว่า อายตนะทั้ง ๖ นี้ มันมีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น เมื่อเวลาที่เราเห็นรูปอยู่นั้น หูของเราก็จะไม่ได้ยินเสียง จมูกของเราก็จะไม่ได้รับรู้กลิ่น ลิ้นของเราก็จะไม่ได้รับรู้รส และร่างกายของเราก็จะไม่ได้รับรู้สิ่งที่มาสัมผัสกับร่างกาย รวมทั้งใจก็จะไม่รู้สึกต่อสิ่งใดๆ ซึ่งนี่ก็คือการที่เกิดอายตนะตาขึ้นมาแล้ว แต่อายตนะหู จมูก ลิ้น กาย และใจจะดับหายไปในขณะที่ตากำลังเห็นรูปอยู่นั้น

แต่พอเวลาที่ใจของเรากำลังเราคิดนึกอยู่นั้น ตาของเราก็จะไม่เห็นภาพ หูของเราก็จะไม่ได้ยินเสียง จมูกของเราก็จะไม่ได้รับรู้กลิ่น ลิ้นของเราก็จะไม่ได้รับรู้รส และร่างกายของเราก็จะไม่ได้รับรู้สิ่งที่มาสัมผัสกับร่างกาย ซึ่งนี่ก็คือการเกิดอายตนะใจขึ้นมา แต่อายตนะตา หู จมูก ลิ้น และกายจะดับหายไป ในขณะที่อายตนะใจเกิดอยู่ เป็นต้น

การเกิดและดับของอายตนะภายในทั้ง ๖ นี้ เราจะต้องสังเกตให้ดี เราจึงจะพบความจริงว่า มันมีการเกิดและดับต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วมากอยู่ตลอดเวลา จนเราแทบไม่รู้สึกถึงการเกิดและดับนี้ ซึ่งนี่เองที่ทำให้คนทั่วๆไปที่ไม่รู้จักสังเกต (เพราะไม่มีสมาธิและไม่มีใครมาสอนเรื่องที่ลึกซึ้งนี้ด้วย) เขาจึงเกิดความเข้าใจผิดไปว่า มันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย และในของเราเกิดขึ้นมานิ่งๆอยู่ตลอดเวลาที่เราตื่นอยู่ ดังนั้นจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด คือเราจะต้องตั้งใจ (คือใช้สมาธิ) สังเกตดูว่า อายตนะภายในทั้ง ๖ ของเรานี้ มันมีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลาจริงหรือไม่? ถ้าใครยังไม่พบและไม่เข้าใจเรื่องนี้ การศึกษาต่อไปทั้งหมดก็จะผิดพลาดไปหมดทันที แล้วก็จะทำให้ไม่รู้จักชีวิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนี่คือการเกิดและดับของอายตนะภายในทั้ง ๖ อย่างละเอียดลึกซึ้ง ที่เราจะต้องรู้จักและค้นให้พบ เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้การศึกษาของเรานี้ดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง

ยังมีการสังเกตอีกอย่างที่หยาบๆหรือง่ายๆ ในเรื่องการเกิดและดับของอายตนะภายในทั้ง ๖ ก็คือ เมื่อเวลาเราตื่นนอนแล้วเรารู้สึกตัว ก็คือการเกิดอายตนะภายในทั้ง ๖ ขึ้นมาแล้ว หรือเกิดจิตใจ (จิตใจก็หมายถึงสิ่งที่รู้สึกและคิดนึกได้) ขึ้นขึ้นมาแล้ว แต่เวลาที่เราหลับสนิทและไม่ฝันอยู่นั้น ก็คืออายตนะภายในทั้ง ๖ หรือจิตใจของเราได้ดับหายไปแล้ว (ส่วนเวลาที่เราหลับแต่ยังฝันอยู่นั้น ก็คือจิตใจได้เกิดขึ้นมาแล้วแต่ไม่สมบูรณ์ เมื่อตื่นขึ้นมาและรู้สึกตัวเต็มที่แล้ว จึงจะเกิดจิตใจขึ้นมาอย่างสมบูรณ์) เมื่อร่างกายและสมองได้พักผ่อนเต็มที่แล้ว มันก็จะกลับมาทำงานใหม่อีก คือจะมีการตื่นขึ้นมาทำหน้าที่ในการรับรู้และรู้สึก รวมทั้งคิดนึก ที่เรียกว่าจิตใจขึ้นมาทันที ซึ่งนี่ก็คือการเกิดและดับของจิตใจหรือของอายตนะภายในทั้ง ๖ อย่างหยาบๆ ที่เราสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ

ปัญญาเห็นการเกิด-ดับ

   พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเอาไว้ว่า ผู้ที่จะศึกษาคำสอนของพระองค์จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ขึ้นมาได้อย่างแท้จริงนั้น ข้อสำคัญข้อหนึ่งก็คือ “เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถกำหนดความเกิดขึ้นและความดับหายไป  เป็นปัญญาอันประเสริฐ  เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส  เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ” ซึ่งนี่คือจุดสำคัญจุดแรก ที่เราจะต้องพยายามทำความเข้าใจ และฝึกฝนฝนจิตให้มีสมาธิ จนสามารถกำหนดรู้การเกิดและดับของจิตใจหรือของอายตนะภายในทั้ง ๖ ของเราได้ต่อเนื่อง ซึ่งก็จะทำให้เราค้นพบความจริงว่า อายตนะภายในทั้ง ๖ หรือจิตใจของเรานี้ มันมีการเกิดและดับต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เกิดขึ้นมานิ่งๆอยู่พร้อมกันทุกอายตนะ อย่างที่เราเข้าใจผิดกันอยู่

การสังเกตดูเรื่องการเกิดและดับทั้งอย่างละเอียดลึกซึ้งและอย่างหยาบๆนี้ เราต้องค้นให้พบและจำไว้ให้ดี เพราะต่อไปเราจะศึกษาเรื่อง ความจริง ๓ ประการของสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย (ที่เรียกว่า กฎไตรลักษณ์) ว่ามีลักษณะเป็น “อนิจจัง” คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง (คือมีการเกิดและดับ) และ “ทุกขัง” คือมีสภาวะที่ต้องทนอยู่ รวมทั้งเป็น “อนัตตา” คือเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเมื่อเราเข้าใจเรื่องกฎไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว เราก็จะนำเอาการเกิดและดับของอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือของจิตใจเรานี้ มาเปรียบเทียบว่า มันตรงกับลักษณะใดของกฎไตรลักษณ์บ้าง ซึ่งนี่ก็จะทำให้เราเกิดปัญญาที่เป็นความเข้าใจในเรื่องของชีวิตที่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้

ต้องรู้จักคำว่าอัตตาก่อน

                การที่เราจะศึกษาเรื่องกฎไตรลักษณ์ให้เกิดความเข้าใจได้อย่างถูกต้องนั้น เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับคำๆหนึ่ง ที่เป็นหัวใจของคำสอนของศาสนาพราหมณ์ก่อน ซึ่งก็ได้แก่คำว่า อัตตา ที่แปลว่า ตน หรือ ตนเอง หรือ ตัวตนที่แท้จริง ซึ่งคำๆนี้หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนของมันเอง ซึ่งถ้านำคำนี้มาใช้กับชีวิต (คือร่างกายกับจิตใจ) ของเรา ก็จะหมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ ซึ่งเมื่อเราเข้าใจความหมายของคำว่าอัตตานี้แล้ว เราก็จึงจะเข้าใจคำว่า อนัตตา ที่แปลว่า ไม่ใช่อัตตา ที่พระพุทธเจ้าสอนได้ เพราะเป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกัน ซึ่งหัวใจของปัญญาที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้นก็สรุปอยู่ที่คำสอนที่ว่า “สิ่งทั้งหลาย (คือร่างกายกับจิตใจทั้งของเราและของทุกคนและทุกชีวิต) เป็นอนัตตา” คือหมายถึงว่า มันไม่ได้มีตัวเราและตัวตนของใครๆหรือของสิ่งใดๆอยู่จริง ซึ่งเรื่องนี้เราจะได้ศึกษากันโดยละเอียดต่อไป  

ศาสนาพราหมณ์สอนเรื่องว่ามีอัตตา

คำว่า อัตตา แปลว่า ตน หรือ ตัวตน หรือ ตนเอง ซึ่ง หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนของตนเอง โดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่หรือสร้างหรือทำให้เกิดขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่เป็นอัตตานั้นจะเป็นสิ่งที่เที่ยง (นิจจัง-เที่ยง)  คือจะมีอยู่หรือตั้งอยู่ตลอดไปชั่วนิรนดร (หรือเป็นอมตะ) ซึ่งถ้าเราได้เคยศึกษาหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์มาบ้างเราก็จะพบว่า ศาสนาพราหมณ์จะมีหลักคำสอนว่า สิ่งที่มีอำนาจสูงสุด ในการสร้างและควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและในจักรวาลก็คือ เทพเจ้า (หรือพระเจ้า) ซึ่งเทพเจ้านี้จะเป็นอัตตาใหญ่ (หรือบรมอัตตา) ที่เป็นสิ่งสูงสุดของศาสนาพราหมณ์

เทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์นี้ เขาเชื่อกันว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจหรือฤทธิ์เดชมาก โดยเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์นี้จะมีอยู่มากมาย ซึ่งแต่ก่อนเขาก็แต่งตั้งให้พระอินทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่ต่อมาเขาก็แต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ว่า เทพเจ้าที่มีอำนาจสูงสุดของเขานั้นมี ๓ พระองค์ คือพระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม โดยพระพรหมจะเป็นผู้สร้าง ส่วนพระนารายณ์จะเป็นผู้ดูแลปกปักรักษา ส่วนพระศิวะจะเป็นผู้ทำลาย ซึ่งเทพเจ้าทั้ง ๓ นี้จะมีสภาวะที่เป็นอัตตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ผู้นับถือจะต้องเกรงกลัวและเคารพบูชา รวมทั้งต้องปฏิบัติตามที่เทพเจ้าสูงสุดสั่งให้ปฏิบัติ โดยมีนักบวชที่เรียกว่าพราหมณ์ ทำหน้าที่นำคำสั่งสอนของเทพเจ้ามาสอนมนุษย์ และทำพิธีบูชาเทพเจ้าเพื่อให้เทพเจ้าสงสาร แล้วเทพเจ้าจะได้ดลบันดาลสิ่งที่ผู้ปฏิบัติตามคำสอนหรือเคารพบูชาต้องการให้

โดยพระพรหมจะเป็นผู้ที่สร้างมนุษย์ และทุกสิ่งขึ้นมา รวมทั้งดลบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไป (ที่เรียกว่าพรหมลิขิต) โดยวัตถุสิ่งของและร่างกายของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายจะถูกสร้างขึ้นมาจาก ดิน น้ำ ไฟ ลม ส่วนจิตหรือวิญญาณของทุกชีวิตนั้น แยกมาจากวิญญาณของพระพรหม  (และเรียกว่าอัตตาน้อย ส่วนวิญญาณของพระพรหมนั้นเรียกว่าอัตตาใหญ่) ซึ่งวัตถุสิ่งของและร่างกายของทุกชีวิตจะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง (อนิจจัง) คือต้องเสื่อมสลายหรือตายไปในที่สุด แต่จิตหรือวิญญาณของทุกชีวิตนั้นจะเป็นสิ่งที่เที่ยง หรือเป็นอมตะเหมือนกับพระพรหม (เพราะแยกมาจากพระพรหม)

จิตหรือวิญญาณของทุกชีวิตนี้เอง ที่ศาสนาพราหมณ์สอนว่า เป็นอัตตา หรือเป็นตัวตนของเราแต่ละคน โดยวิญญาณนี้เองที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้ว และไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้เรื่อยไป ตามที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาว่า เมื่อเราทำความดีไว้มากๆก่อนตาย เมื่อตายไปแล้ววิญญาณของเราก็จะได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์เพื่อรับผลดี แต่ถ้าเราเคยทำความชั่วเอาไว้มากๆก่อนตาย เมื่อตายไปแล้ววิญญาณของเราก็จะไปเกิดเป็นสัตว์นรกอยู่ในนรกเพื่อรับผลชั่ว และเมื่อตายจากสวรรค์หรือพ้นจากนรกแล้ว ก็จะยังมาเกิดเป็นคนหรือสัตว์เดรัจฉานบนโลกได้อีก ซึ่งนี่เรียกว่าเป็นการเวียนว่ายตายเกิด โดยมีวิญญาณที่เป็นอัตตา ที่เป็นตัวตนของเรา มาเวียนว่ายตายเกิด จนกว่าวิญญาณที่เป็นอัตตานี้จะมีการปฏิบัติเพื่อเผากิเลส ตามหลักปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์ (เช่น ทรมานร่างกาย สวดมนต์ บูชายัญ รักษาศีล ฝึกสมาธิ ให้ทาน เป็นต้น) จนเป็นวิญญาณบริสุทธิ์ ก็จะทำให้วิญญาณบริสุทธิ์นี้กลับไปรวมอยู่กับพระพรหมและมีความสุขตลอดไปชั่วนิรันดร ซึ่งนี่คือคำสอนเรื่องจิตหรือวิญญาณของทุกชีวิตว่าเป็นอัตตา ตามหลักศาสนาพราหมณ์ ที่เป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดของโลกที่เราควรรู้ไว้ก่อน เพื่อที่จะได้เอาไว้เปรียบเทียบกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

ปัจจุบันพุทธปนพราหมณ์

สิ่งสำคัญที่ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาทุกคนควรรู้อย่างยิ่งตอนนี้ก็คือ คำสอนของศาสนาพราหมณ์เรื่องจิตหรือวิญญาณของทุกชีวิตเป็นอัตตานี้ ปัจจุบันคำสอนนี้ได้ผสมหรือปลอมปนเข้ามาอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาไปเสียแล้ว ที่สำคัญชาวพุทธก็ไม่รู้ตัวอีกด้วย คือเราจะพบว่ามีคำสอนเรื่องเทพเจ้าต่างๆ รวมทั้งเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเพื่อรับผลกรรม และเรื่องนรกสวรรค์ เทวดา นางฟ้า ชนิดที่เป็นสถานที่หรือตัวตนบุคคล เป็นต้น อยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาอย่างมากมายมาโดยตลอด จนทำให้ชาวต่างชาติที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เมื่อมาศึกษาพุทธศาสนาแล้ว เขาจึงได้สรุปว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แยกออกมาจากศาสนาพราหมณ์ หรือพุทธศาสนาเป็นเพียงกิ่งหนึ่งของศาสนาพราหมณ์เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของศาสนา ที่ยากจะพิสูจน์ด้วยตำราใดๆ แต่เราสามารถค้นหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้  โดยใช้คำสอนที่สำคัญๆบางเรื่อง ที่บันทึกเอาไว้ในตำราพระไตรปิฎก (เช่นหลักความเชื่อของพระพุทธเจ้า หรือหลักอนัตตาของพระพุทธเจ้า) ที่เป็นคำสอนให้เกิดปัญญามาศึกษา เราก็สามารถที่จะค้นพบได้ด้วยตัวของเราเองว่า คำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และคำสอนใดไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

สรุปได้ว่า ปัจจุบันคำสอนของพุทธศาสนานั้น มีคำสอนของศาสนาพราหมณ์ผสมหรือปลอมปนอยู่อย่างมากมาย จนชาวพุทธในปัจจุบันแยกไม่ออก ว่าคำสอนใดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ และคำสอนใดเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วๆไปที่ไม่ได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าคำสอนใดเป็นพุทธ คำสอนใดเป็นพราหมณ์ ต้องเป็นคนที่รู้จักพุทธศาสนาจริงๆจึงจะแยกออก ซึ่งการแยกนั้นก็ไม่ยากเย็นเลย เพราะคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าจะสอนให้เกิดปัญญา ซึ่งจะประกอบด้วยเหตุผลและมีความจริงมายืนยัน รวมทั้งยังนำมาใช้ดับทุกข์ชีวิตในปัจจุบันได้อีกด้วย  ซึ่งก็จะตรงข้ามกับคำสอนที่ปลอมปนมา ที่เป็นเพียงการสอนให้เกิดศรัทธาหรือความเชื่อเท่านั่น รวมทั้งยังนำมาใช้ดับทุกข์ในชีวิตปัจจุบันไม่ได้อีกด้วย จะช่วยได้ก็เพียงช่วยให้สบายใจขึ้นมาบ้างเท่านั้น

ศาสนาพราหมณ์สอนว่าวิญญาณเป็นอัตตาล่องลอยได้

ก่อนอื่นเราจะต้องมาทำความเข้าใจคำว่า จิตใจและวิญญาณก่อน จึงจะศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เข้าใจ คือคำสอนของศาสนาพราหมณ์จะสอนว่า วิญญาณ คือตัวตน (หรืออัตตา) ของเราแต่ละคน ซึ่งตัววิญญาณนี้จะเป็นสิ่งที่รู้สึกคิดนึกได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยร่างกาย (ที่เราเรียกชอบกันว่าผีหรืออสุรภาย) โดยวิญญาณนี้สามารถล่องลอยออกจากร่างกายที่ตายแล้วได้ และสามารถไปเกิดหรือสิงอยู่ในร่างกายที่ยังไม่ตายได้ ซึ่งเมื่อวิญญาณไปเกิดอยู่ในร่างกายใดแล้ว ก็จะสามารถรับรู้สิ่งต่างๆภายนอกผ่าน ตา หู จมูก ลิ้นได้ ซึ่งเมื่อวิญญาณรับรู้สิ่งภายนอกแล้ว ก็จะเกิดการจำสิ่งที่รับรู้นั้นขึ้นมาด้วยทันที (สัญญา-การจำได้) เมื่อเกิดการจำได้ขึ้นมาแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่รับรู้ขึ้นมาทันที (เวทนา-ความรู้สึก) และเมื่อเกิดความรู้สึกใดขึ้นมาแล้ว วิญญาณก็จะเกิดการคิดนึกต่อไปทันทีว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่รับรู้นั้น (สังขาร-การปรุงแต่งของจิต) ซึ่งการทำงานของวิญญาณทั้งหมดนี้เอง ที่เรียกว่า จิตใจ ที่หมายถึง ผู้รู้สึกนึกคิด

สรุปว่าศาสนาพราหมณ์นั้นสอนว่า วิญญาณนั้นเป็นอัตตาหรือตัวตนของเราแต่ละคนจริงๆ ที่เป็นอมตะคือไม่มีวันดับหรือตาย และสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วเพื่อไปเกิดยังร่างกายใหม่ได้ หรือไปสิ่งอยู่ในร่างกายคนอื่นที่ยังไม่ตายได้อีกด้วย (อย่างที่เราเชื่อกันว่ามีผีมาสิงร่างกายคนอื่น หรือมีเทพหรือเทวดาหรือวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วมาเข้าทรงในร่างกายของคนทรง ตามที่เราพบเห็นกันอยู่ทั่วไปนั่นเอง) ซึ่งเมื่อวิญญาณมาสิงในร่างกายใดแล้วมีการคิดนึก ก็จะเรียกว่า จิต ที่เขาหมายถึง ผู้คิดนึก แต่เมื่อเกิดความรู้สึกก็เรียกว่า ใจ ที่เขาหมายถึง ผู้รู้สึก  คือจากวิญญาณที่เดิมเป็นแค่ตัวตนของแต่ละคนเท่านั้น แต่พอมาอยู่ในร่างกายแล้วมารู้สึกนึกคิด  ก็เปลี่ยนมาเรียกว่าเป็นจิตใจ แต่พอออกจากร่างกายที่ตายไปแล้ว แต่ยังไม่ไปเกิดในร่างกายใหม่ (คือยังเป็นวิญญาณล่องลอยอยู่ ที่เราชอบเรียกกันว่าผีหรืออสุรกาย) ก็กลับมาเรียกว่าเป็นวิญญาณอีกเหมือนเดิม (ซึ่งนี่เป็นคำสอนคร่าวๆ ที่เอาแน่นอนไม่ได้ เพราะเป็นแค่ความเชื่อ ซึ่งบางคนก็เชื่อว่าวิญญาณที่ล่องลอยอยู่นั้น ก็สามารถรู้สึกนึกคิดได้ คือเรียกว่าเป็นจิตใจก็ได้ ซึ่งเราก็แค่เพียงฟังไว้ อย่าไปสนใจจริงจัง เพราะไม่เป็นประโยชน์กับการศึกษาของเรา จะทำให้ปวดหัวไปเสียเปล่าๆ)


หน้าต่อไป