สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.
ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริ แห่งจิตอย่างนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ
โลกเที่ยง(๑) โลกไม่เที่ยง(๒) โลกมีที่สุด(๓) โลกไม่มีที่สุด(๔)
ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น(๕) ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง(๖)
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่(๗) สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่(๘)
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี(๙) สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่(๑๐)
ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น
เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น
ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.
พระมาลุงกยบุตรทูลบอกความปริวิตก
[๑๔๘] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ ไปในที่ลับเร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ
โลกเที่ยง(๑) โลกไม่เที่ยง(๒) โลกมีที่สุด(๓) โลกไม่มีที่สุด(๔)
ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น(๕) ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง(๖)
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่(๗) สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่(๘)
สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี(๙) สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่(๑๐)
ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น
เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามเนื้อความนั้น
ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรง พยากรณ์ ฯลฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกเที่ยง ขอจง ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกเที่ยง
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่เที่ยง ขอจง ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกไม่เที่ยง
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกมีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกมีที่สุด
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่มีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกไม่มีที่สุด
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ทรงรู้ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ขอจงทรงพยากรณ์ แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่
เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆเถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
[๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ฯลฯ
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ
ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ดูกรมาลุงกยบุตร ได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ ในเราเถิด เราจักพยากรณ์แก่เธอ ฯลฯ
ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่ ข้าพระองค์ ฯลฯ
ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร(ไม่ใช่ทั้งผู้ขอร้อง หรือผู้ถูกขอร้อง แล้ว)จะมาทวงกะใครเล่า?
[เปรียบคนที่ถูกลูกศร กล่าวคือ คนที่ถูกศร แทนที่จะรีบรักษา กลับพิรี้พิไรมากเรื่องไม่ควรแก่สถานการณ์ จึงจะยินยอมให้รักษา ก็ย่อมถึงแก่ความตายเสีย เท่านั้นเอง]
[๑๕๐] ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น
(ดังนั้นเมื่อ)ตถาคต ไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย และบุคคลนั้นพึง(รอไปจนกระทั่ง)ทำกาละไปโดยแท้.
ดูกรมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือน บุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา
มิตรอมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า.
บุรุษผู้ต้องศรนั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า (ถ้า)เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่าเป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ...
สูงต่ำหรือปานกลาง ... ดำขาวหรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น
บุรุษผู้ต้องศรนั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้น เป็นชนิดมีแหล่งหรือเกาทัณฑ์ ...
สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือ เยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก
หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วย ขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูงหรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน) ...
เกาทัณฑ์นั้น เขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง ... ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น
ดูกรมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นพึงทำกาละไป ฉันใด
ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาค จักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด
เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น.
[๑๕๑] ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่เที่ยง ดังนี้ จักไม่มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ หรือแม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง หรือว่า โลกไม่เที่ยงอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส(หมายถึงความทุกข์) ก็คงมีอยู่(เช่นนั้น)ทีเดียว
เราจึงบัญญัติความ เพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส(ความทุกข์) ในปัจจุบัน.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่มีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด หรือว่า โลกไม่มีที่สุดอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว
เราจึงบัญญัติความ เพิกถอนชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติ พรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดังนี้ จักได้มีการประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่งอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมี อยู่ทีเดียว
เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็มิใช่อย่างนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ ทีเดียว
เราจึงบัญญัติความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.
ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ดังนี้ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว
เราจึงบัญญัติความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ในปัจจุบัน.
[ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์และไม่ทรงพยากรณ์]
[๑๕๒] ดูกรมาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์
และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด.
ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร
ทิฏฐิว่า โลกเที่ยง(๑) โลกไม่เที่ยง(๒) โลกมีที่สุด(๓) โลกไม่มีที่สุด(๔), ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น(๕) ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง(๖), สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่(๗) สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่(๘), สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี(๙) สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ ก็หามิได้(๑๐) ดังนี้ เราไม่พยากรณ์.
ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย
เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น.
ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่า ที่เราพยากรณ์ ดูกร มาลุงกยบุตร
ความเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้ เราพยากรณ์.
ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้น ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย
เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงพยากรณ์ ข้อนั้น.
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์
และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตร ยินดีชื่นชม พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
|