เมืองในเปลวแดด เมืองในเปลวแดด เป็นเมืองหนึ่ง อันเกิดจากไอดินกลิ่นแดด มีความสัมพันธ์ต่อกันเหมือนธารน้ำเย็นต่อธารน้ำอุ่น, คนในเมืองเปลวแดด จะมีศีล อ่อนไหว ละเอียดอ่อน เหมือนเงา ส่วนมากเป็นกสิกร มีหน้าที่ช่วยเหลือกสิกรผู้ยากจน เหมือนปลาโลมาช่วยคนตกน้ำ, มีการถ่ายเทกลิ่นไอธรรมชาติ และ พลังงาน แสงแดดระหว่างคนเนื้อกับคนเปลวแดดอยู่เงียบๆ คล้ายน้ำต้องแดดเป็นไอ ไอต้องความเย็นเป็นน้ำ, จะว่าเมืองนี้เป็นเมืองบุญก็ว่าได้ ถ้าเราปลูกบุญเป็น เราอาจจะเห็นพวกเขาได้ ตามคัมภีร์ที่ว่า "บุญเสมือนเงาที่ติดตามผู้ปลูกอยู่", แต่ทะว่าใครเล่าจะปลูกบุญเป็น คนชื่อบุญปลูกก็ไม่เห็นมีกี่คน เด็กระยะนี้ก็ไม่ค่อยเห็นมีชื่อนี้ ใครชื่อนี้จะเชยไปเสียแล้วกระมัง, ไฉนหนอจะได้พบกับพวกเขา บ้านเมืองและบุคคลในเปลวแดด เขาว่าต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม ซื่อสัตย์กตัญญู จิปาถะ ดูกฎเกณฑ์มากมาย จะกลายเป็นโม้มั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เราก็เป็นกสิกรที่ยากๆไร้เสียจริงๆ หวังอยู่เสมอว่า คนแดดจะเมตตาชั่ววู๊บแว๊ป เราจะปลูกบุญรดน้ำพรวนดินอย่างจริงจัง, ใครล่ะจะอยากยากจนอยู่กับเธอ บุคคลในเปลวแดดที่เหงื่อไหลไคลย้อย หาเช้ากินค่ำ กินข้าวกับเกลือ กินเหงื่อกับน้ำอย่างนี้ นอกเสียจากคนมีกรรมแล้วยังมีบุญเท่านั้น ที่เห็นกลิ่นเหงื่อและสาปวัวหอมไปเสียแล้ว, เมืองในเปลวแดดเป็นภาพสะท้อนซ่อนความดีจากโลกมนุษย์ เหนื่อยยากเหมือนปีนเขา ให้พลังงานเหมือนแสงแดด ชุ่มโชกเหมือนเหงื่อไคล เย็นฉ่ำเหมือนสระโปกขรณี บริสุทธิ์เหมือนน้ำค้าง อิสระเหมือนท้องฟ้า บำบัดกิเลสเหมือนกีฬา, "พิภพในเปลวแดด จะเป็นนครแห่งพระอริยบุคคลหรือไม่หนอ?" สมณะในชุดพระธุดงค์รูปหนึ่ง เธอมักจะรำพึงรำพันกับตนเอง บนเส้นทางสายเปลี่ยวของกสิกรในเปลวแดด แต่ก็ร่มรื่นด้วยร่มไม้และสายธาร, การไปสู่นครแห่งเปลวแดด คงไปด้วยพลังงานในแสงแดดนั่นเอง ในบทบัญญัติที่ว่า "ภิกษุยินดีในเงินและทองที่เขาเก็บไว้ให้เป็นอาบัติ" คงจะเป็นเช่นว่า "สูเจ้าจงอย่ายินดีในเงินและทอง จงยินดีแต่พลังงานในแสงแดด", นครแห่งเปลวแดด แม้จะมีเส้นขอบฟ้าเป็นพรมแดน มีสุสานอันไพศาล ที่สะพรั่งอยู่ด้วยกอดอกรักยามวสันต์เป็นขอบเขต แต่ก็เป็นเสมือนว่า "บ้านเรียงเคียงกัน" เพราะที่นั่นไม่มีคำว่า "ที่นี่วุ่นวายจริงหนอ ที่นี่คับแค้นจริงหนอ" และก็ทรงไว้ซึ่งศานติ ..อยู่ชั่วนิรันดร. สมจิโต ภิกขุ สำนักสงฆ์สังกะสี ดอนหัวฬ่อ ชลบุรี
|