ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในแง่มุมที่น่าสนใจ

(สรุปเนื้อหามาจากวารสารดักแด้แก้ดักดาน ของชมรมพัฒนาชีวิต จังหวัดลำปาง)

เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นชนเผ่ามงโกล ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ชนเผ่ามงโกลอาศัยอยู่รอบๆทะเลสาบไบคาลในไซบีเรีย แต่เดิมทีทะเลสาบไบคาลเป็นทะเลนำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทุ่งหญ้าอันอุดมสมบูรณ์อยู่โดยรอบ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ชนเผ่ามงโกลแต่เดิมเป็นเผ่าที่เร่ร่อนไล่จับสัตว์บก สัตว์น้ำ เป็นอาหาร ได้มาตั้งเพิงพักอยู่รอบๆทะเลสาบไบคาล ดังปรากฏหลักฐานที่ขุดค้นได้และจัดนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ของชนเผ่ามงโกล ที่ริมทะเลสาบไบคาลในไซบีเรีย มีโครงกระดูกและอาวุธที่ทำด้วยหิน เครื่องมีเครื่องจับสัตว์บกสัตว์น้ำ และเรือขุดทำด้วยท่อนซุง                   

ครั้งเมื่อความหนาวปกคลุมถิ่นนี้มากขึ้น บรรดาสัตว์ต่างๆก็หนีความหนาวลงมาหาอากาศอุ่นทางใต้ ชนเผ่ามงโกลก็ติดตามไล่ล่าสัตว์เหล่านั้นลงมา ครั้งมีความรู้ในทางกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์ ก็แยกย้ายกันตั้งบ้านเมืองนั้นเป็นประเทศต่างๆ ที่พอจะเห็นเป็นกลุ่มก้อนก็ประเทศมองโกเลีย ในบางพวกเช่นบรรพบุรุษของพระพุทธเจ้า ก็ข้ามภูเขาหิมาลัยเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย แถบประเทศเนปาลในปัจจุบัน ในยุคนั้นชนเผ่ามงโกลตั้งบ้านเรือนอยู่ใน ๔ แคว้น คือ แคว้นสักกะมีเมืองหลวงชื่อกรุงกบิลพัสดุ์ , แคว้นโกลียะ เมืองหลวงชื่อกรุงเทวท-หะ , แคว้นวัชชีเมืองหลวงชื่อกรุงไพศาลี และแคว้นมัลละเมืองหลวง ๒ แห่งคือปาวา และ กุสินารา ซึ่งแคว้นทั้ง ๔ นี้เป็นแคว้นเล็กๆที่ขึ้นอยู่กับแคว้นใหญ่คือแคว้นโกศล ที่ปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิโกศลอีกทีหนึ่ง ในบาลีกล่าวว่าพระพุทธเจ้าและพระญาติวงศ์มีวรรณสีทองคือเป็นคนผิวสีเหลือง อันเป็นลักษณะของชนเผ่ามงโกล

กรุงกบิลพัสดุ์เป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นสักกะนั้นตั้งตามชื่อของ “กบิลฤๅษี” นักปราชญ์ชาวมงโกล ผู้ก่อตั้งลัทธิ “สางขยะ” ทฤษฎีของลัทธิสางขยะนั้นมีหลักการโดยย่อว่า “เพราะจิตที่เที่ยงไปถูกกักขังอยู่ในกายที่ไม่เที่ยง มันจึงดิ้นรนก่อให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน ดังนั้นต้องหาวิธีปฏิบัติ เพื่อแยกจิตออกจากกาย ด้วยการเพ่งจิตไปยังรูปเรียกว่า “รูปฌาน” มี ๔ ขั้น และเพ่งจิตไปยังสิ่งที่ไม่มีรูปเรียกว่า “อรูปฌาน” อีก ๔ ขั้น รวมกันเป็น ฌาน ๘ เรียกว่า “วิชาโยคะ” ซึ่งเมื่อกำลังเข้าฌานอยู่ ร่างกายก็ไม่รับรู้ความทุกข์ความเดือดร้อนได้ชั่วขณะ แต่พอออกจากฌานแล้ว ก็ยังมีความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่อีก” ลัทธิสางขยะนี้ แพร่หลายมาตามแถบเชิงเขาหิมาลัย ผู้ปฏิบัติลัทธินี้ได้แก่พวกโยคีต่างๆ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงเสด็จบรรพชาออกแสวงหา สัจธรรม ก็ได้เข้าไปรับการศึกษาจากอาฬารดาบสและอุทกดาบสจนจบหลักสูตรฌาน ๘ แต่ก็ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่วิธีดับทุกข์สิ้นเชิงดังที่เราได้ทราบกันมาบ้าง แล้ว

ในยุคเดียวกันนั้นเอง ก็มีนักปราชญ์ชาวมงโกลอีกฝั่งหนึ่งชื่อว่า “ปาระศวนารถ” ได้แก่ตั้งลัทธิ “ไชนะ” ขึ้น ทฤษฎีของลัทธิไชนะมีหลักการโดยย่อว่า ความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้นเพราะกิเลสตัณหา ถ้าข่มใจทรมานการให้กลั้นกิเลสตัณหาได้ ก็จะสิ้นความทุกข์ความเดือดร้อน เรียกว่าชนะใจตนเองได้ จึงถูกเรียกว่า “ลัทธิไชนะ” ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากไปเรียนทำฌาน ๘ ได้จนจบวิชาโยคะแล้ว ได้ไปฝึกทรมานการตามลัทธิไชนะอยู่ที่ถ้ำดงคลิริหลายปีเห็นว่าไม่ใช่แนวทาง ที่ถูกต้อง จึงหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต เมื่อจับหลักอนัตตาและหลักอริยสัจ ๔ ได้จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

อินเดียในยุคนั้นเรียกว่าเป็นยุค “อุปนิสัตว์" คือมีความเชื่อเรื่องว่า “จิต หรือ วิญญาณ ของคนเรานี้เป็นอัตตา (ตัวตนที่แท้จริง) ที่เที่ยงแท้ถาวร (อมตะ) ที่สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดใหม่ได้" ซึ่งเป็นหลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์ (ที่ภายหลังได้ประยุกต์มาเป็นศาสนาฮินดู) แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ขึ้นมาก็ไม่ทรงยอมรับหลักอัตตาของพราหมณ์ และได้ทรงนำหลักอนัตตา (ความไม่ใช่อัตตาหรือไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงอย่างของพราหมณ์) มาเผยแพร่ ซึ่งก็ต้องต่อสู้กับความเชื่อเรื่องอัตตาของพราหมณ์มาโดยตลอด จนทำให้ความเชื่อเรื่องอัตตาในยุคนั้นมีผู้เชื่อถือลดน้อยลง และทำให้ศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้นเสื่อมทรามลง จนล่วงมาถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีอำนาจมาก (เป็นยุคหลังพุทธปรินิพพาน) ได้หันมาเอาในใส่พุทธศาสนา ก็ยิ่งทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น จนศาสนาต่างๆโดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์อิจฉาแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

ครั้นสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว บ้านเมืองเกิดจลาจลรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันทั่วไป ศาสนาพราหมณ์ฟื้นตัวอีกครั้ง พวกพราหมณ์ถือโอกาสล้างแค้นพุทธศาสนา ด้วยการเผาวัด และไล่ฆ่าฟันพระภิกษุสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ภิกษุในพุทธศาสนายุคนั้นจำเป็นต้องหาวิธีปฏิรูปพระพุทธศาสนาเพื่อเอาใจพวก พราหมณ์ มิให้พราหมณ์ล่าฆ่าฟันทำลายล้าง พอดีมีนักปราชญ์ผู้หนึ่งชื่อว่า อัศวโฆษ เดิมเป็นพราหมณ์มาก่อน ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาเห็นว่า ถ้าขืนปล่อยไปเช่นนี้ โดยไม่ทำอะไรเลยพุทธศาสนาเห็นทีจะต้องพินาศแน่ อาศัยว่าตนนั้นเป็นกวีฝีปากเอก จึงมีความคิดที่จะประนีประนอมกับพวกพราหมณ์ โดยแต่งพุทธประวัติรุ่นใหม่ เริ่มต้นว่า เจ้าชายสิทธัตถะนั้นเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ ชั้นดุสิตของพราหมณ์ ได้รับอัญเชิญให้อวตารลงมาเป็นมนุษย์ เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทำการสั่งสอนมหาชน ครั้นตรัสรู้แล้วทรงท้อพระทัย เห็นว่าเป็นการยากที่จะสอนมหาชนให้รู้ตามได้ จึงดำริจะดับขันธปรินิพพาน พระพรหมจึงมาอาราธนา ขอให้ดำรงชีวิตอยู่เผยแพร่พระธรรมแก่ชาวโลก พระพุทธเจ้ารับคำ จึงดำรงพระชนชีพอยู่สอนมหาชนถึง ๔๕ พรรษา จึงทำให้เกิดประเพณีอาราธนาธรรมก่อนพระเทศน์ (ที่ขึ้นต้นว่า พรหมา จ โลกา ธิปติ....) ด้วยการอ้างนิยายเรื่องนี้ แล้วอัศวโฆษนี้เองเป็นคนริเริ่มแต่งนิทานชาดก โดยแต่งให้พระพุทธเจ้าได้เวียนว่ายตายเกิด บำเพ็ญบารมีมาหลายภพหลายชาติ จึงได้ตรัสรู้

การละทิ้งหลักอนัตตา ที่เป็นหัวใจคำสอนของพระพุทธเจ้า ไปใช้ในหลักวิญญาณอมตะ ให้มีเรื่องราวเวียนว่ายตายเกิดตามคำสอนของพราหมณ์ ทำให้พระพุทธศาสนาที่ปฏิรูปไปตามแบบของอัศวโฆษนี้อยู่ร่วมกับพราหมณ์ได้ อย่างดี หลายร้อยปี และยังได้รับความนิยมเป็นส่วนใหญ่ เพราะอัศวโฆษแทรกคำสอนศีลธรรมในนิทานชาดกและแสดงผลกรรมดี กรรมชั่ว มีนรก – สวรรค์ ทำให้คนกลัวนรกไม่กล้าทำบาป และอยากขึ้นสวรรค์ โดยการทำบุญตามคติของพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์ชอบใจ ดังนั้นเรื่องเวียนว่ายตายเกิด จึงมาแทรกอยู่ในพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยอัศวโฆษผู้นี้

การบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยอัศวโฆษผู้นี้ หากเราวิเคราะห์ดูด้วยใจเป็นกลาง จะรู้สึกเห็นใจและขอบคุณ อัศวโฆษที่ต้องทำดังนั้น จึงรักษาพุทธศาสนาให้อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะในเวลาต่อมาจึงได้มีการจารึกคำสอน ลงในใบลานเป็นพระไตรปิฎกในลังกา และในรัชสมัยพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราช ตรงกับรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไทย ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาในศรีลังกา ซึ่งกำลังเฟื่องฟู โดยเข้าสู่ประเทศไทยทางนครศรีธรรมราช แล้วเข้ามาถึงสุโขทัย ดังมีศิลาจารึกของสมัยสุโขทัยเป็นหลักฐาน ดังนั้นพระไตรปิฎกภาษาบาลีจากลังกา จึงมีเรื่องเวียนว่ายตายเกิดที่ขัดกับหลักอนัตตา ติดตามเข้ามาในเมืองไทยด้วย อย่างไรก็ดีการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธองค์ครั้งนี้ อัศวโฆษเพียงแค่เติมลัทธิความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และการมีวิญญาณอมตะของพราหมณ์ เข้ามาเคลือบหุ้มคำสอนในเรื่องอนัตตาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น หาได้ละทิ้งคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าจนสิ้นเชิงไม่

ดังนั้นถ้าเราคิดว่า ตอนที่กรุงศรีอยุธยาของเราแตกนั้น คนไทยได้เอาปูนมาพอกพระทองคำไว้ให้ลับสายตาพม่าข้าศึก จนมาถึงสมัยนี้เราเกิดมีคนดีมีปัญญาไปต่อยปูนที่ห่อหุ้มออกเสียได้ เราจึงได้พบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่วัดไตรมิตรนี้ฉันใด ถ้าเราปอกเปลือกเอาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและนรกสวรรค์ออกจากพระไตรปิฎก ที่เรารับจากลังกาเสียได้ เราก็จะพบหลักคำสอนที่แท้จริงตามหลักอนัตตาได้ ถ้าไม่มีอัศวโฆษ ปฏิรูปพุทธศาสนาเอาคำสอนของพราหมณ์มาห่อหุ้มหลักอนัตตาไว้ พุทธศาสนาคงถูกพราหมณ์ทำลายล้างหมดไปเสียแล้วแต่ครั้งนั้น จึงควรระลึกถึงบุญคุณอัศวโฆษในแง่นี้ และในเวลาต่อมา คำสอนของอัศวโฆษนี้ ก็ถูกขับไล่ไปอยู่เสียที่ลังกา โดยมีชื่อว่า พุทธศาสนานิกาย สรวาสติวาทิน

ต่อมาสมัยของอัศวโฆษ พุทธศาสนาในอินเดียเริ่มแตกแยกออกเป็นหลายนิกาย ตัวอย่างเช่น “อสังคะ” ตั้งนิกาย “วิญญาณวาท” หรือ “โยคาจาร” โดยเอาคำสอนของพราหมณ์มาทั้งหมด มาตั้งชื่อให้เป็นพุทธเสียหน่อย ทำให้พราหมณ์ชอบใจมาก สามารถอยู่ร่วมกับพราหมณ์ได้สบาย หรือนิกาย “พุทธตันตระ” หรือ “วัชรยาน” นิกายนี้ภิกษุมีเมียได้ และถือว่าการเสพเมถุนให้มากทำให้ไปนิพพานได้เร็ว คล้ายๆกับนิกายหรือลัทธิ กามสุขัลลิกานุโยคในสมัยพุทธกาล ในที่สุดมหาชนก็เบื่อหน่ายเสื่อมความนิยม และยังมีนิกาย “มนตรยาน” นิยมไสยศาสตร์เวตมนต์ตามคำสอนของพราหมณ์ ซึ่งนิกายเหล่านี้ที่สุดก็ถูกกลืนหายเข้าไปในศาสนาพราหมณ์ และศาสนาฮินดู ส่วนนิกายสรวาสติวาทินของอัศวโฆษ ก็ต้องค่อยๆลงไปทางใต้ในที่สุด ไปปักหลักอยู่ที่ลังกาแล้วแพร่มายัง พม่า ไทย ลาว เขมร เรียกตัวเองว่า เถรวาท หรือ หินยาน แต่ก็ถูกปลอมปนเสียแล้วเมื่อทิ้งหลักอนัตตา ไปเชื่อถือเรื่อง นรก สวรรค์ เทวดา อะไรต่างๆ

หลังจากยุคอัศวโฆษ ยังมีพุทธศาสนาอีกนิกายหนึ่งที่น่าสนใจ คือ นิกาย “ศูณยตา” โดยมี “นาคารชุน” เป็นเจ้าตำรับพุทธศาสนานิกายนี้ นิกาย “ศูณยตา” นี้พยายามเผยแพร่หลักอนัตตาของเดิมของพระพุทธเจ้า โดยไม่มีเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด หรือ นรกสวรรค์ตามแบบคำสอนของพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์ไม่พอใจ ส่งคนมาฆ่าศิษย์เอกของนาคารชุนเสีย ทำให้นาคารชุนต้องเปลี่ยนคำสอน และตั้งชื่อใหม่เป็นนิกาย “มัธยะมิก” แล้วถอยหนีขึ้นไปเจริญอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย จึงได้รับนามว่า “นิกายฝ่ายเหนือ” ต่อมาแผ่ขยายเข้าไปเจริญเติบโตใน ธิเบต, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ที่เรียกว่านิกาย “ธญาณ” หรือ “เซ็น” หรือเรียกว่า “เซี้ยงจง” ในประเทศจีน ส่วนนิกาย “โยคาจาร” ที่ลอกเลียนแบบพราหมณ์เต็มรูปแบบนั้น ได้แผ่ขยายเข้าไปในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ธิเบต เช่นกัน เรียกว่า พุทธศาสนานิกายมหายาน อีกแบบหนึ่ง มีความเชื่อว่ามี “อาทิพุทธะ” อยู่บนสวรรค์ ๕ พระองค์ มีอำนาจสร้างโลก อภิบาลโลก ทำลายล้างโลกได้ (คล้ายพระพรหม, พระวิษณุ, พระอิศวร เทพเจ้า ๓ พระองค์ของพราหมณ์) อาทิพุทธะทั้ง ๕ พระองค์นี้ มีลูกศิษย์เป็นเทวดา ที่มีชีวิตนิรันดร เรียกว่า “พระโพธิสัตว์” เป็นผู้ดูแล “พุทธเกษตร” ๔ ทิศ คล้ายสวรรค์ของพราหมณ์ (นิรวาณ = ตายแล้วสูญ) คอยรับวิญญาณของชาวพุทธที่ตายไปอบรมสั่งสอนแล้วนำไปส่ง “นิรวาณ” ได้หมดทุกคน ส่วนพระสมณะโคดมพุทธเจ้าของเรานั้น โยคาจารกำหนดให้เป็น “มานุษพุทธะ” องค์ที่ ๔ “ โดยมีมานุษพุทธตรัสรู้ในโลกมาก่อนแล้ว ๓ พระองค์ และยังมีในอนาคตเป็นองค์ที่ ๕ เรียกว่า พระศรีอารยเมตตรัย

ต่อมาก็แตกสาขาย่อยออกไปอีก เช่น บางนิกายบูชาพระศรีอารยเมตตรัย หรือบูชาพระโพธิสัตว์ องค์นั้น องค์นี้ หรือหลายองค์ ตามความนิยมของท้องถิ่น ซึ่งพุทธศาสนามหายานเต็มรูปอย่างนี้ กลายเป็นเทวนิยมไป ถ้าเราเที่ยวดูตามวัดมหายานเต็มรูปแบบในประทศต่างๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ธิเบต ไต้หวัน แม้ในเมืองไทยเราก็มีอยู่นั้น จะพบว่าพระประธานในโบสถ์เขาคือ พระโพธิสัตว์ต่างๆทั้งนั้น ไม่มีพระพุทธรูปของสมณะโคดมของพระพุทธเจ้า หรือที่เขานิยมเรียกว่า “ศากยะมุนี” นั้นเลย เพราะเขานิยมว่า พระโพธิสัตว์มิอิทธิฤทธิ์ มีศักดิ์สูงกว่า มีชีวิตเป็นนิรันดรเหนือกว่ามานุษพุทธะอย่างพระพุทธเจ้าของเราที่เป็นเพียง มนุษย์เดินดิน โดยเฉพาะนิกาย “สุขาวดี” ซึ่งมีกำเนิดขึ้นในประเทศจีน นั้นเขานับถือ “พระอามิตาพุทธะ” และเป็นนายเหนือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ในยุคที่ ๔ ของโลก และอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นี้ได้อวตารลงมาเกิดเป็นเจ้าหญิงจีน ผู้มีใจเมตตากรุณายิ่งใหญ่เรียกกันว่า “เจ้าแม่กวนอิม” ในนิกายสุขาวดีนี้ ใครต้องการไปพุทธเกษตร แดนสุขาวดี เพื่อหวังบรรลุ นิรวาณขั้นสุดท้ายต้องออกพระนาม “อมิต – พุทธ” บ่อยๆด้วยความเคารพ พระองค์ก็จะรับไปอยู่ในแดนสุขาวดี เมื่อตายจากโลกนี้ และต่อไปก็จะไปถึงนิรวาณตายสุญญาในอนาคตกาลเป็นแน่ ในบรรดามหายานเต็มรูปแบบ นิกายต่างๆที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปในประเทศต่างๆมากมายนั้น ปัจจุบันได้สูญหายไป คงเหลือให้เห็นปัจจุบันเพียง ๒ -๓ นิกาย เช่น นิกายสุขาวดีในจีน นิกายเซี้ยงจง หรือ เซนรุ่งเรืองในญี่ปุ่น เกาหลี นิกายต่างๆเหล่านี้ บรรดาพระภิกษุทั้งหลาย จะแต่งตัวและมีวัตรปฏิบัติต่างจากพระภิกษุในแถบประเทศไทย พม่า และลาวโดยสิ้นเชิง พอมองเห็นได้ชัดเจน

(ศึกษาเรื่องอนัตตาและหลักอริยสัจ ๔ ได้จาก www.whatami.net)