อนัตตา – หัวใจของปัญญา

ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ (ตรัสรู้) ก็คือ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดในพุทธศาสนา โดยอริยสัจ ๔ ก็ได้แก่ ทุกข์, สาเหตุของทุกข์, ความดับทุกข์, และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ โดยความทุกข์ก็คือความรู้สึกที่ทรมานจิตใจ ส่วนสาเหตุของทุกข์ก็คือ อวิชชา หรือ ความเข้าใจผิดว่ามีตัวเรา ส่วนความดับทุกข์ก็คือเมื่อจิตไม่มีอวิชชาครอบงำ มันก็จะไม่มีทุกข์และจะสงบเย็น ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ก็คือให้ตั้งใจพิจารณาถึงความจริงของธรรมชาติว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเราจริง” ก็จะทำให้อวิชชาหายไป แล้วความทุกข์ก็จะหายตามไปด้วย ถ้าทำได้ชั่วคราว ทุกข์ก็จะดับไปชั่วคราว แต่ถ้าทำได้ถาวร ทุกข์ก็จะดับไปอย่างถาวรด้วยเหมือนกัน

วิธีปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ นั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากมันอยู่ที่การทำความเข้าใจว่า “แท้จริงมันไม่มีตัวเรา” ซึ่งความเข้าใจนี้จัดว่าเป็นหัวใจของอริยสัจ ๔ อีกที่หนึ่ง ถ้าเรายังไม่เข้าใจจุดนี้ เราก็จะไม่มีทางเข้าใจหลักอริยสัจ ๔ และไม่สามารถนำหลักอริยสัจ ๔ นี้มาใช้ดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันได้

ตามปกติแล้วเราก็ย่อมที่จะเกิดความรู้สึกว่ามีตัวเองอยู่แล้วเป็นธรรมดา อีกทั้งเราก็ยังอาจจะถูกอบรมสั่งสอนมาว่ามีร่างกายและจิตใจรวมกันเป็นเรา และมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเรา ที่เรียกรวมๆว่า ตัวเรา-ของเรา ซึ่งความเข้าใจว่ามีตัวเรานี้ เป็นความเห็นว่ามีสิ่งที่เป็น อัตตา ที่หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริง

คำว่า “อัตตา” นี้เป็นความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่เขาเชื่อกันว่า จิตใจหรือวิญญาณ หรือสภาวะอะไรก็ตาม ที่เป็นตัวเรานี้ เป็นสิ่งที่เป็นตัวตนของมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมา และตัวตนนี้จะคงอยู่ไปชั่วนิรันดร หรือเป็นอมตะไม่มีวันดับสลายหรือหายไปอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลาย หรือไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปสักเท่าใดก็ตาม ซึ่งจากความเชื่อนี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวต่างๆมากมายตามมา เช่นเรื่อง ผี เทวดา นางฟ้า และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เรื่องชาติก่อนชาติหน้า เรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน รวมทั้งเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหลาย เป็นต้นขึ้นมา อย่างที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมา

ความเชื่อว่ามีอัตตานี้เป็นความเชื่อเก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์ (หรือฮินดู) ที่มีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ขึ้นมา แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ขึ้นมา ก็ทรงปฏิเสธว่า “ไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะเป็นอัตตาได้” (อนัตตา – ไม่ใช่อัตตา) จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้ากับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่มีมาก่อนอย่างรุนแรงในยุคนั้น แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงอธิบายเหตุผลและชี้ให้เห็นความจริงที่มีอยู่จริง ก็ทำให้ความเชื่อเรื่องว่ามีอัตตาของศาสนาพราหมณ์นั้นถูกสั่นคลอน จนทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากในยุคนั้น แต่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๘๐๐ ปี คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ถูกคำสอนของศาสนาพราหมณ์ครอบงำ จึงทำให้ไม่มีใครเข้าใจเรื่องอนัตตาอย่างแท้จริง แต่เข้าใจเพี้ยนไปเหมือนอัตตาของพราหมณ์ไปหมด แต่ก็ยังดีที่มีการบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงและสำคัญๆเอาไว้ และสืบทอดกันต่อๆมาให้เราได้ศึกษา จึงทำให้เราได้มีโอกาสพบกับคำสอนที่แท้จริงนั้นได้

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหลักอนัตตาได้อย่างไร? คือความเชื่อเรื่องว่ามีอัตตาของศาสนาพราหมณ์นั้น เป็นหลักไสยศาสตร์ หรือหลักวิชาของคนหลับ ที่ยังละเมออยู่หรือยังไม่ตื่น หรือยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง มีแต่เรื่องเล่าต่อๆกันมาเท่านั้น ไม่มีเหตุผล และไม่มีหลักฐานยืนยัน ดังนั้นไสยศาสตร์จึงมีหลักว่า ให้เชื่อพียงอย่างเดียว ห้ามสงสัย ห้ามถาม (เพราตอบให้กระจ่างไม่ได้) ส่วนหลักอนัตตาของพระพุทธเจ้านั้น เป็นหลักวิทยาศาสตร์ ที่มีเหตุมีผล มีของจริงมายืนยัน จึงกล้าท้าให้ผู้ที่มีปัญญามาซักถามได้เสมอ (แต่ต้องถามอย่างสุภาพบุรุษ ที่มีความปรารถนาดีต่อกัน ไม่ใช่เพื่อเอาชนะกัน ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่ทรงสนทนาด้วย)

คำว่า อนัตตา แปลว่า ความไม่ใช่ตัวตน คือจะเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าจะมีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะเป็นอัตตา ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ได้ ซึ่งสิ่งที่จะมายืนยันก็คือ ความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏอยู่จริง ที่เราทุกคนก็สามารถพบเห็นหรือรู้สึกได้จริง โดยธรรมชาติจะมีกฎสูงสุดที่ครอบงำทุกสิ่งเอาไว้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา จะต้องอาศัยเหตุและปัจจัย (สิ่งสนับสนุน หรือเหตุย่อยๆ)เพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น” คือจะไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใด ที่จะสามารถเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุปัจจัย

กฎสูงสุดของธรรมชาตินี้จะบอกเราว่า สิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ หรือไม่ใช่วัตถุ (คือพวกจิต หรือนามธรรมที่เกิดขึ้น เช่น ความโง่ ปัญญา ความเจริญ ความเสื่อม ความดี ความชั่ว เป็นต้น) ก็ตาม ล้วนจะต้องมีเหตุและปัจจัยมากมาย มาร่วมกันปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าเหตุ หรือปัจจัยของมันหายไป สิ่งนั้นก็ย่อมที่จะต้องหายตามไปด้วยเสมอ หรือถ้าเหตุหรือปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไป สิ่งนั้นก็ย่อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเสมอ ซึ่งจากกฎนี้เราก็อาจพิจาณาต่อไปได้ว่า ทุกที่เป็นเหตุ ก็ย่อมมาจากเหตุและปัจจัยอื่นด้วยเหมือนกัน คือมันจะมีการผลักดันกันของเหตุผลไปเรื่อยๆเหมือนโซ่ที่คล้องต่อๆกันไว้เป็นสายยาว และยังเกี่ยวกันกับสายอื่นๆอย่างยุ่งเหยิงอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า ทุกสิ่งย่อมที่จะมีความเกี่ยวพันกันอยู่ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

แต่จากกฎสูงสุดนี้ก็ทำให้เราเข้าใจได้อีกว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยนี้ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงเป็นของตนเองเลย” เพราะในเมื่อมันยังต้องอาศัยสิ่งอื่นๆเพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมา ดังนั้นจึงเท่ากับมันไม่ได้มีตัวตนที่แท้จริงเป็นของตนเองเลย เหมือนกับการที่เราเอาดินเหนียวมาผสมน้ำแล้วปั้นเป็นรูปสิ่งของขึ้นมา ซึ่งถึงแม้ว่าถ้าดูอย่างผิวเผินก็เหมือนกับว่ามีสิ่งที่ปั้นขึ้นนั้นจริงๆ แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว เราก็จะเห็นได้ว่ามันไม่ได้มีสิ่งของที่ปั้นขึ้นมานั้นจริงเลย แต่เด็กที่ยังไม่มีปัญญา ก็จะมองว่าสิ่งของที่ปั้นขึ้นมานั้นว่าเป็นตัวตนจริงๆ (เห็นว่ามีอัตตา) แล้วก็จะเกิดความหลงรักสิ่งของนั้น เมื่อสิ่งของนั้นแตกพังไป เด็กจึงร้องไห้เสียใจ ส่วนคนที่มีปัญญาก็จะมองว่าสิ่งของนั้นไม่ได้มีอยู่จริง (เห็นอนัตตา) เมื่อสิ่งของนั้นแตกพังไป เขาจึงไม่รู้สึกเสียใจ

สิ่งที่เป็นธรรมชาตินี้ก็สรุปอยู่ที่ วัตถุ และ นามธรรม โดยวัตถุทั้งหลาย (รวมทั้งพวกพลังงานและรังสีทั้งหลายด้วย) ก็ต้องอาศัย ของแข็ง, ของเหลว, ความร้อน, และก๊าซ เพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น ซึ่งโดยสรุปแล้วนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า วัตถุทั้งหลายนั้นเกิดมาจากการที่อะตอมจำนวนมหาศาล มารวมตัวกันขึ้นมาเท่านั้น ส่วนอะตอมนั้นก็ยังประกอบขึ้นมาจากอนุภาคเล็กๆของโปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน และอนุภาคเหล่านี้ก็เป็นแค่เพียงพลังงานที่อัดแน่นจนเกิดเป็นรูปร่างขึ้นมาเท่านั้น และแม้มนุษย์จะสร้างสรรค์วัตถุสิ่งของที่ละเอียดอ่อนและพิสดารอย่างยิ่งขึ้นมาสักเท่าใดก็ตาม วัตถุสิ่งของนั้นก็ยังเป็นแค่เพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาเท่านั้น และเมื่อมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา มันจึงไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) และไม่เที่ยงแท้ถาวร คือไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องแตกสลายหายไปอย่างแน่นอน (อนิจจัง) อีกทั้งเมื่อมันยังตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนประคับประคองตัวเองอยู่ด้วยความยากลำบากทั้งสิ้น (ทุกขัง) ไม่มากก็น้อย

สิ่งที่เราควรพิจารณาก็คือ ร่างกายและจิตใจของเรา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะร่างกายก็ต้องอาศัยอาหาร น้ำ อากาศ และความร้อน เพื่อมาปรุงแต่งให้ร่างกายเกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แม้เพียงสิ่งเดียว ร่างกายก็จะต้องแตกสลายหรือตายไปทันที ส่วนจิตหรือใจก็ต้องอาศัยร่างกายที่ยังไม่ตายเพื่อเกิดขึ้นมารับรู้และรู้สึกต่อสิ่งต่างๆทางระบบประสาทของตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ที่สมอง) ถ้าร่างกายตายก็จะไม่เกิดจิตใจขึ้นมาได้ อีกทั้งเมื่อจะจดจำและคิด จิตใจก็ยังต้องอาศัยข้อมูลจากสมองที่สมองบันทึกเอาไว้ เพื่อมาใช้คิด ถ้าไม่มีความทรงจำจากสมอง จิตก็คิดอะไรไม่ได้ ก็จะเหมือนจิตเด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ที่ยังไม่มีความทรงจำใดๆนั่นเอง

สรุปได้ว่าวัตถุก็เป็นอนัตตา ร่างกายก็เป็นอนัตตา แม้จิตใจก็เป็นอนัตตา ไม่มีข้อยกเว้น คือไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดเลยที่จะมาเป็นตัวตนของเราหรือของใครๆได้อย่างแท้จริง แต่จะมีหรือเป็นได้ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งแม้สิ่งที่จิตใจได้รับรู้มา เช่น ความสุขและความทุกข์ เป็นต้น ที่แม้จะมีมากมายหรือเล็กน้อยก็ตาม ก็ล้วนมีค่าเท่ากัน คือว่างเปล่าเหมือนกันหมด เพราะสิ่งที่ได้รับรู้มานั้น มันก็เป็นแค่เพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งความรู้เช่นนี้เอง ที่จัดเป็นหัวใจของปัญญาในพุทธศาสนา ที่จะนำมาใช้ในการดับทุกข์ตามหลักอริยสัจ ๔ จึงขอฝากให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายช่วยกันศึกษาเรื่องอนัตตานี้ให้เข้าใจ แล้วช่วยกันเผยแพร่ เพื่อให้เกิดสันติสุขแก่มวลมนุษย์ และเกิดสันติภาพแก่โลก ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป.

เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๑๘ พ.ค. ๒๕๕๑
อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี
(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net)