ในปัจจุบันโลกกำลังประสบกับปัญหานานัปการอยู่ ซึ่งก็มีทั้ง ปัญหาน้ำท่วม, ฝนแล้ง, โลกร้อน, ความยากจน, ความอดอยากขาดแคลน, มลพิษ, โรคเอดส์, อาชญากรรมต่างๆ, และปัญหาสงครามในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากการที่มนุษย์ลุ่มหลงติดใจในความสุขจากสิ่งฟุ่มเฟือยหรือ วัตถุนิยม อันได้แก่ กามารมณ์ (สิ่งสวยงาม ไพเราะ หอมหวน เอร็ดอร่อย นุ่มนวล โดยมีจากเพศตรงข้ามเป็นสิ่งสูงสุด), วัตถุสิ่งของที่เกินความจำเป็นแก่ชีวิตทั้งหลาย, และเกียรติยศชื่อเสียงมากเกินไป จึงส่งผลให้มนุษย์ต้องตัดไม้ทำลายป่าของโลกให้พินาศย่อยยับไปเป็นจำนวนมาก จนทำให้โลกเสียความสมดุล แล้วก็ทำให้เกิดภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม โลกร้อน และตามมาด้วยความยากจนและความอดอยากขาดแคลน ส่วนการเสพวัตถุนิยมมากเกินไปก็ทำให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่น คดโกง มลพิษ โรคเอดส์ เป็นต้นขึ้นมา และติดตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรมต่างๆเช่น ลักขโมย จี้ ปล้น ทำร้ายกัน ฆ่า ข่มขืน เหล่านี้ขึ้นมาอีก อีกทั้งการแย่งชิงทรัพยากรและพลังงานจากผู้อื่นหรือประเทศชาติอื่น ก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและสงครามในรูปแบบต่างๆขึ้นมา จนทำให้โลกมีแต่วิกฤติการณ์ และหาสันติภาพไม่ได้อยู่ทุกวันนี้ พุทธศาสนาจะสอนว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาจาเหตุ ดังนั้นปัญหาก็ต้องมาจากเหตุ และการแก้ปัญหา ก็ต้องมาแก้ที่เหตุของปัญหา จึงจะทำให้ปัญหาหมดสิ้นไปได้จริง ซึ่งปัญหาทั้งหลายของโลกนี้ พุทธศาสนาสอนว่า มันมีเหตุมาจาก การเบียดเบียนกันของมนุษย์ (หรือการเอารัดเอาเปรียบกัน) คือเพราะมนุษย์มีการเบียดเบียนกันเอง เบียดเบียนสัตว์ และเบียดเบียนป่าไม้ผู้มีพระคุณของโลกมากจนเกินไป จึงส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ขึ้นมา ถ้ามนุษย์จะไม่มีการเบียดเบียนกัน โลกก็จะมีสันติภาพ ส่วนการเบียดเบียนกันนั้น พุทธศาสนาสอนว่ามันมีเหตุมาจาก ความโลภ (ความอยากได้สิ่งของๆผู้อื่นเอามาเป็นของตัวเอง) ของมนุษย์โดยรวม นั่นเอง คือเพราะมนุษย์ส่วนมากมีความโลภในวัตถุนิยมมากเกินไป จึงส่งผลทำให้เกิดการเบียดเบียนกันในรูปแบบต่างๆ ทั้งในทางที่ถูกและผิดกฎหมาย รวมทั้งในทางที่ผิดศีลธรรมขึ้นมา ส่วนความโลภก็มีเหตุมาจาก ความเห็นแก่ตัว ของมนุษย์ คือเพราะมีความเห็นแก่ตัว จึงทำให้เกิดความโลภขึ้นมา ถ้าใครมีความเห็นแก่ตัวมาก ก็จะมีความโลภมาก และจะทำความชั่วหรือเบียดเบียนผู้อื่น ที่เรียกว่าเป็นคนชั่ว ซึ่งคนชั่วก็ย่อมที่จะทำผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม อันเป็นสาเหตุให้สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย จนส่งผลให้สังคมไม่สงบสุขและโลกไม่มีสันติภาพ แต่ถ้าใครมีความเห็นแก่ตัวน้อย ก็จะมีความโลภน้อย และจะไม่ทำผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม แต่จะทำความดี หรือช่วยเหลือผู้อื่น ที่เรียกว่าเป็นคนดี ที่จะช่วยให้สังคมสงบสุขและช่วยให้โลกมีสันติภาพ ส่วนความเห็นแก่ตัวก็มีเหตุมาจาก ความยึดถือว่ามีตนเอง คือเมื่อมนุษย์มีความยึดถือว่ามีตนเอง จึงทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา หรือทำอะไรเพื่อตัวเองขึ้นมา ถ้าใครยึดถือว่ามีตัวเองเข้มข้น ก็จะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวมาก แต่ถ้าใครมีความยึดถือว่ามีตัวเองเบาบาง ก็จะทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวน้อย ส่วนความยึดถือว่ามีตนเองก็มีเหตุมาจาก ความเข้าใจว่ามีตัวเอง คือเมื่อมีความเข้าใจว่ามีตัวเอง จึงทำให้เกิดความยึดถือว่ามีตนเองขึ้นมา ถ้าใครมีความเข้าใจว่ามีตัวเองมาก ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตนเองเข้มข้น แต่ถ้าใครมีความเข้าใจว่ามีตัวเองน้อย ก็จะเกิดความยึดถือว่ามีตนเองเบาบาง ส่วนความเข้าใจว่ามีตัวเอง ก็มีเหตุมาจาก ความรู้ว่ามีตัวเอง ซึ่งความรู้ว่ามีตัวเองนี้ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีตัวเองขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ถ้าใครมีความรู้ว่ามีตัวเองมาก ก็จะเกิดความเข้าใจว่ามีตัวเองมาก แต่ถ้าใครมีความรู้ว่ามีตัวเองน้อย ก็จะเกิดความเข้าใจว่ามีตัวเองน้อย ความรู้ว่ามีตัวเองนี้ก็คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์เราทุกคน ที่รู้ว่านี่คือตัวเรา หรือรู้ว่า ร่างกายและจิตใจนี้คือเรา รวมทั้งรู้ว่า เรามีชื่อนี้ นามสกุลนี้ มีรูปร่างเป็นชายหรือหญิง มีสีผิวเช่นนี้ มีเสียงเช่นนี้ และมีคนนั้นคนนี้เป็นพ่อเป็นแม่ มีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเรา เป็นต้น เท่าที่เราจำได้มาตลอดทั้งชีวิต ซึ่งความรู้นี้ขณะเมื่อยังเป็นเด็กที่เพิ่งเกิดมาใหม่ๆนั้นมันจะยังไม่มี แต่เมื่อระบบประสาท ตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายของเราได้รับรู้สิ่งต่างๆของโลกมากขึ้น และใครๆก็สอนให้เรารู้แต่เรื่องว่ามี ตัวเรา-ของเรา ให้ได้ยินอยู่เสมอๆ จึงทำให้เกิด ความรู้ว่ามีตัวเรา นี้ขึ้นมาและมันก็ได้ค่อยๆสั่งสมความเคยชินเอาไว้ในจิตใต้สำนึก ยิ่งนานวันมันก็จะยิ่งมีความเคยชินมากขึ้น และเมื่อโตขึ้นมันก็ได้กลายมาเป็นนิสัยที่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ยากไปในที่สุด ซึ่ง ความรู้ว่ามีตัวเรา นี้ทางพุทธศาสนาจะเรียกว่าเป็น อวิชชา ที่หมายถึง ความไม่รู้จริง หรือ ความรู้ผิด หรือ ความโง่สูงสุดของมนุษย์ เพราะมันเป็นต้นเหตุ (เหตุที่เป็นต้นกำเนิด) ที่ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์และปัญหาทั้งหลายขึ้นมา ความรู้ว่ามีตัวเองนี้ สมัยใหม่เรียกว่าเป็น สัญชาติญาณว่ามีตัวเอง ที่จิตใต้สำนึกของมนุษย์เราทุกคนมีอยู่ ซึ่งสัญชาติญาณว่ามีตัวเองก็หมายถึง ความรู้ว่ามีตัวเอง ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตโดยไม่มีใครมาสอน คือเมื่อเกิดชีวิตขึ้นมา ทุกชีวิตก็จะมีความรู้ว่ามีตัวเองเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ ซึ่งมันก็จะฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกชีวิต ซึ่งเป็นจิตส่วนลึกที่ควบคุมได้ยาก แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยมันก็จะคอยกระตุ้นให้จิตเกิดความรู้ว่ามีตัวเอง, เกิดความเข้าใจว่ามีตัวเอง, เกิดความยึดถือว่ามีตัวเอง, เกิดความเห็นแก่ตัว, และเกิดความโลภ, รวมทั้งเกิดการเบียดเบียนกันขึ้นมาในที่สุด เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อจิตใต้สำนึกของเรามีความรู้ว่ามีตัวเอง มันก็จะปรุงแต่งหรือผลักดันกันต่อๆไปจนเกิดความเห็นแก่ตัว ความโลภ และการเบียดเบียนกันขึ้นมาในที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าจิตใต้สำนึกของเรา ไม่มีความรู้ว่ามีตัวเอง เสียอย่างเดียว ทั้งความเข้าใจว่ามีตัวเอง, ความยึดถือว่ามีตนเอง, ความเห็นแก่ตัว, ความโลภ, และการเบียดเบียนกันเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าจิตใดมีความรู้ว่ามีตัวเองในจิตใต้สำนึกเบาบาง จิตนั้นก็จะเป็นจิตที่ดี หรือเป็นคนดี แต่ถ้าจิตใดมีความรู้ว่ามีตัวเองในจิตใต้สำนึกเข้มข้น จิตนั้นก็จะเป็นจิตที่ชั่วหรือเลว หรือเป็นคนชั่วหรือเลว แต่ถ้าจิตใดไม่มีความรู้ว่ามีตัวเองในจิตใต้สำนึกเลย จิตนั้นก็จะเป็นจิตที่หลุดพ้น (คือเหนือดีเหนือชั่ว) โดยทั่วไปแล้วเรามักเชื่อกันว่า เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนนิสัยหรือจิตใต้สำนึกของเราได้ เพราะมันมาจากสัญชาติญาณที่สั่งสมไว้อย่างมากมายตลอดชีวิต ดังนั้นเราจึงมักเชื่อกันว่า พฤติกรรมของคนเรานี้ไม่มีทางจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ คือเมื่อใครบังเอิญได้รับการสั่งสอนอบรมให้เป็นคนดีมาก่อน ก็จะเป็นคนดีเรื่อยไป จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือใครที่บังเอิญได้รับการสั่งสอนอบรมให้เป็นคนชั่วมาก่อน ก็จะเป็นคนชั่วเรื่อยไป จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโลกเรามีแต่คนชั่วมากกว่าคนดี เราจึงมักเชื่อกันว่าโลกคงจะไม่มีสันติภาพเป็นแน่ แต่พุทธศาสนาจะสอนว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัย (สิ่งสนับสนุนหรือเหตุย่อยๆ) มาปรุงแต่งหรือทำให้เกิดขึ้น คือพุทธศาสนาจะสอนว่า ทุกสิ่งจะเป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยของมันเป็นเช่นไร มันก็ย่อมที่จะเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น เมื่อเหตุปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไป มันก็ย่อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของมันเสมอ ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า แม้จิตใต้สำนึกหรือนิสัยของมนุษย์เรา ที่มันได้สั่งสมความรู้ว่ามีตัวเองเอาไว้อย่างเข้มข้นหรือหนาแน่นนี้ มันก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็คงไม่เกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นแน่ ซึ่งการที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมา ก็เพื่อมาสอนให้มนุษย์รู้วิธีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากชั่วมาเป็นดี และจากดีมาเป็นหลุดพ้น แล้วมาช่วยกันสร้างสันติภาพให้แก่โลกนั่นเอง วิธีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจิตมนุษย์โดยสรุปก็คือ สร้างความรู้ใหม่ที่จะมาทำลายความรู้ว่ามีตัวเอง ที่จิตใต้สำนึกของเรามีอยู่นั้น ให้ค่อยๆเลือนหายไป ซึ่งความรู้ใหม่ที่จะมาทำลายความรู้ว่ามีตัวเองนั้นก็คือความรู้ที่ตรงข้ามกัน อันได้แก่ความรู้ว่า แท้จริงแล้วมันไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดที่จะมาเป็นเราหรือตัวเราได้ (หรือไม่มีตัวเองอยู่จริง) ซึ่งวิธีการสร้างความรู้ว่า ไม่มีเราอยู่จริง นี้ เราจะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ (คือมีเหตุผล ศึกษาจากของจริง และเชื่อจากการที่ได้พิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น) เท่านั้นมาสร้างขึ้น เราจึงจะเกิดความเข้าใจว่า ไม่มีเราอยู่จริง ได้อย่างแท้จริง ซึ่งหลักการของวิทยาศาสตร์นั้น เป็นวิธีการค้นหาความจริงของธรรมชาติ ที่ได้ผลถูกต้องแน่นอนที่สุด และผู้มีปัญญาทั้งหลายทั่วโลกก็ยอมรับ วิธีการโดยสรุปในการสร้างความรู้ว่า มันไม่มีเราอยู่จริง นั้นก็คือ เราจะต้องมาศึกษาถึงความจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นให้เราได้พบเห็นจริงๆ ว่ามันมี กฎสูงสุดของธรรมชาติ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ซึ่งมันเป็นกฎง่ายๆหรือธรรมดาๆที่เราทุกคนก็รู้ๆกันอยู่แล้ว แม้คนที่มีปัญญาน้อยก็ยังยอมรับ ถ้าใครไม่ยอมรับก็แสดงว่าโง่มากเกินไปหน่อย ซึ่งกฎสูงสุดนี้จะมีใจความโดยสรุปว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมา จะต้องอาศัยและเหตุปัจจัย เพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น คือกฎนี้จะบังคับทุกสิ่งเอาไว้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุปัจจัย เมื่อเรานำเอากฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ มาพิจารณาถึงวัตถุสิ่งของทั้งหลาย (รวมทั้งพวกรังสีและพลังงานทั้งหลายด้วย) ทั้งที่มีอยู่ในโลกและนอกโลก เราก็จะพบว่า มันไม่ได้มีตัวตนที่แท้จริงเป็นของตัวเองเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นมาจากการประกอบหรือสร้างขึ้นจากเหตุและปัจจัยทั้งสิ้น คือโดยสรุปแล้ววัตถุหรือสิ่งของทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาจาก สิ่งอันเป็นพื้นฐาน ๔ อย่าง คือ (๑) ของแข็ง (๒) ของเหลว (๓) ความร้อน และ (๔) ก๊าซ คือสิ่งพื้นฐานทั้ง ๔ นี้เอง ที่มาปรุงแต่งหรือสร้างวัตถุที่แปลกประหลาดหรือพิสดารทั้งหลายขึ้นมา ดังนั้นวัตถุหรือสิ่งของทั้งหลายทั้งในและนอกโลก จึงไม่ได้มีตัวตนที่แท้จริงเป็นของตัวเองเลย ถ้าวัตถุทั้งหลายจะมีตัวตนเป็นของตนเองแล้ว (คือมีตัวตนที่แท้จริง) มันก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่นๆเพื่อมาปรุงแต่งหรือสร้างตัวของมันขึ้นมา และมันจะตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดร (เป็นอมตะ) คือไม่มีวันแตกสลายหายไปอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลายก็ตาม หรือไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปนานสักเท่าใดก็ตาม เมื่อมาพิจารณาถึงร่างกายมนุษย์ เราก็จะพบว่า แม้อวัยวะต่างๆของร่างกายมนุษย์เรา ก็เกิดมาจากการปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาจากสิ่งพื้นฐานทั้ง ๔ นี้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้นนี่ก็แสดงถึงความจริงที่ลึกซึ้งว่า สิ่งที่เป็นตัวตนของร่างกายของเรานั้นจริงๆแล้วมันไม่มี ส่วนร่างกายที่มีอยู่นี้มันก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นมันจึงมีสภาวะที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร (หรือไม่เป็นอมตะ) เพราะสุดท้ายไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะต้องตายหรือแตกสลายหายไปอย่างแน่นอน (สมมติว่าร่างกายจะมีตัวตนที่แท้จริงเป็นของตัวมันเองแล้ว มันจะไม่อาศัยอาหาร น้ำ ความร้อนและอากาศมาปรุงแต่งขึ้นมา รวมทั้งมันจะเป็นอมตะหรือจะไม่ตายอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลายก็ตาม หรือไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปสักเท่าใดก็ตาม) ซึ่งเรื่องวัตถุและร่างกายไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงนี้ ยังเป็นเรื่องง่ายๆที่คนพอมีปัญญาอยู่บ้าง ก็พอจะเข้าใจและยอมรับกันอยู่แล้ว เพราะมันมีหลักฐานมายืนยันให้ได้พบเห็นกันจนเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว ถ้าใครไม่ยอมรับก็แสดงว่า ถ้าไม่โง่จนเกินไป ก็คงเป็นคนบ้าอย่างสุดๆ แม้ร่างกายนั้นเราจะเข้าใจว่า มันไม่มีร่างกายที่แท้จริงที่จะมาเป็นร่างกายของเราได้ ก็ตาม แต่ว่าเรามักจะถูกสั่งสอนมาว่า จิตใจนั้นเป็นเรา คือเรามักจะถูกสอนมาว่า เมื่อร่างกายตายไป จิตหรือใจที่เป็นตัวเราจะยังอยู่ ยังไม่ตายเหมือนร่างกาย และจะสามารถไปเกิดใหม่ได้ (ตามความเชื่อจากศาสนาในระดับศีลธรรม) ซึ่งแม้เราเองก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ คือเราทุกคนก็ย่อมที่จะมีความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จริงๆในโลก ตามสัญชาติญาณของสิ่งที่มีชีวิต แล้วก็เลยทำให้เกิด ความเชื่อ ขึ้นมาอย่างเหนียวแน่นว่า จะยังมีเราอยู่ต่อไปเมื่อตายไปแล้ว แม้จะยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เลยก็ตาม ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้ความรู้ว่ามีตัวเรานี้ได้รับการสืบทอดมาอย่างมั่นคงจนทุกวันนี้ แต่เมื่อเราใช้กฎสูงสุดของธรรมชาติมาพิจารณา เราก็จะพบว่า แม้จิตใจก็ไม่ใช่ตัวเราจริง เพราะจิตใจก็ยังต้องอาศัยร่างกายที่ยังดีอยู่หรือยังไม่ตาย เพื่อเกิดขึ้นมารับรู้และรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ อีกทั้งยังต้องอาศัยความทรงจำจากสมองเพื่อนำมาใช้คิด ถ้าไม่มีร่างกาย ก็ไม่มีจิต หรือถ้าไม่มีความทรงจำจากสมอง จิตก็คิดไม่ได้ ซึ่งนี่ก็แสดงถึงว่า แม้จิตใจเองก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาเพียงชั่วคราวเหมือนร่างกายนั่นเอง ดังนั้นจึงทำให้สรุปได้ว่า จิตใจที่เรากำลังรู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่นี้ มันไม่ใช่ตัวเราจริง มันเป็นเพียงตัวตนชั่วคราว (เหมือนของจริงแต่ว่าไม่ถาวร) หรือตัวตนมายา (หลอกลวงว่ามีจริงแต่ความจริงไม่มี) เท่านั้น เมื่อร่างกายก็ต้องอาศัยสิ่งพื้นฐาน ๔ อย่างมาสร้างขึ้นมา ส่วนจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกายและความทรงจำจากสมองเพื่อปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาอีกทีหนึ่ง ร่างกายกับจิตใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อสิ่งใดหายไป อีกสิ่งก็ย่อมที่จะหายตามไปด้วยเสมอ ซึ่งนี่ก็เป็นไปตามกฎสูงสุดของธรรมชาติที่เรายอมรับมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง และเมื่อเราเกิดความเข้าใจแล้วว่า แท้จริงแล้วไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใดเลย ที่จะมาเป็นเราหรือใครๆได้จริง ซึ่งในขั้นต้น ความเข้าใจนี้ก็จะทำให้เรา (ตามที่สมมติเรียก) ลดความเห็นแก่ตัวและความโลภลงได้อย่างมาก เพราะมองไม่เห็นว่าจะเห็นแก่ตัวและโลภไปเพื่อใคร แล้วการเบียดเบียนผู้อื่นก็จะไม่เกิดขึ้น และถ้าเราสามารถเผยแพร่ความรู้นี้สู่มวลมนุษย์ จนทำให้มนุษย์ส่วนมาก มีความเข้าใจถึงความจริงนี้แล้ว โลกก็จะเกิดสันติภาพขึ้นมาได้ ซึ่งนี่คือประโยชน์ในระดับโลกสำหรับการเกิดความเข้าใจว่า มันไม่มีเราอยู่จริง ส่วนประโยชน์ระดับบุคคลจากการเกิดความเข้าใจว่า มันไม่มีเราอยู่จริง นั้นก็คือ เมื่อเราเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดหรือสภาวะใด ที่จะมาเป็นเราหรือของเราหรือแม้ของใครๆได้อย่างแท้จริง เราก็นำเอาความเข้าใจนี้มาเพ่งพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในร่างกายและจิตใจที่สมมติเรียกว่าเป็นเราและของเรานี้อย่างตั้งใจที่สุด (ความตั้งใจนี้ก็คือสมาธิ) ซึ่งความเข้าใจ (หรือปัญญา) และสมาธินี้เอง ที่จะมาดับทุกข์ของจิตใจเราที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน ให้ระงับหรือดับลงอย่างชั่วคราวได้ อีกทั้งปัญญากับสมาธินี้ ยังเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงจิตใต้สำนึกที่โง่เขลา ให้ค่อยๆเปลี่ยนเป็นจิตใต้สำนึกที่มีปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดความโง่สูงสุดที่จิตใต้สำนึกมีอยู่ ก็จะหมดสิ้นไปได้อย่างถาวร แล้วจิตของเราก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างถาวร (ทางพุทธศาสนาเรียกว่านิพพาน) ได้ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ จึงขอฝากให้ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลาย ได้ช่วยกันศึกษา กฎสูงสุดของธรรมชาติ หรือเรื่อง ไม่มีเราอยู่จริง อันเป็นหลักในการดับทุกข์ (หลักอริยสัจ ๔) และสร้างสันติภาพของพุทธศาสนานี้ ให้เข้าใจอย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ แล้วมาช่วยกันเผยแพร่แก่มวลมนุษย์เท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยให้เพื่อนมนุษย์เกิดมีปัญญาหรือมีดวงตาเห็นแจ้งชีวิตขึ้นมา แล้วเขาก็จะมาช่วยกันสร้างสันติภาพให้แก่โลก เท่านี้สันติภาพของโลกก็อยู่ไม่ไกล แต่ถ้ามวลมนุษย์ส่วนใหญ่จะยังคงโง่เขลากันอยู่เช่นนี้ต่อไป โลกก็คงถึงความพินาศในไม่ช้า. เตชปญฺโญ ภิกขุ. ๑๖ พ.ค. ๒๕๕๑ อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.whatami.net) |