อริยสัจ ๔ หัวใจพุทธศาสนา

หลักอันเป็น หัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ก็คือ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นคำสอนเรื่องการดับทุกข์ (หรือวิธีการปฏิบัติเพื่อความไม่เกิดทุกข์) ของจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบัน อย่างที่เรียกกันว่า “ดับทุกข์ที่นี่และเดี๋ยวนี้” คือเมื่อทุกข์เกิดขึ้นเมื่อใดก็ดับมันเมื่อนั้น รวมทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ความทุกข์ในอนาคตเกิดขึ้นมาได้อีกอย่างถาวรอีกด้วย

อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งก็ได้แก่

๑.     ทุกข์ ความจริงเรื่องความทุกข์ของจิตใจมนุษย์

๒.     สมุทัย ความจริงในเรื่องเหตุของความทุกข์

๓.     นิโรธ ความจริงในเรื่องการดับสิ้นไปของความทุกข์

๔.    มรรค ความจริงในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความดับสิ้นไปของความทุกข์

ในเรื่องความทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความทุกข์ (ในอริยสัจ ๔ ) คือความทุกข์ของจิตใจ (เช่น ความเศร้าโศก ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความทรมานใจ หรือ ความหนัก-เหนื่อยใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ทนได้ยาก) ไม่ใช่ความทุกข์ของร่างกาย เพราะความทุกข์ของร่างกายนั้นเราไม่สามารถดับมันได้ แต่ความทุกข์ของจิตใจนั้นเราสามารถที่จะดับมันได้ เพราะความทุกข์องจิตใจเรานั้น มันเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งของจิตเองด้วยความรู้ที่ผิด (ที่เรียกว่า อวิชชา)

ในเรื่องสาเหตุของความทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าสอนว่า เหตุใกล้เคียงที่ทำให้เกิดความทุกข์ของจิตใจเรานี้ขึ้นมาก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายและจิตใจ (ที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรา-ของเรา) นี้คือตัวเรา-ของเรา (ความยึดมั่นถือมั่นก็เกิดมาจากตัณหาหรือความอยากอีกทีหนึ่ง โดยความอยากนี้ก็มีทั้ง อยากได้, อยากเป็นอยู่อย่างนี้, และอยากทำลายหรือไม่อยากได้) คือเมื่อเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราเมื่อใด ความทุกข์ใจก็จะเกิดขึ้นมาด้วยทันที

ส่วนต้นเหตุ (เหตุที่ต้นที่สุด) ของความทุกข์ของจิตใจเราก็คือ อวิชชา ที่หมายถึง ความไม่รู้ความจริงสูงสุดที่ควรรู้ (หรือความโง่สูงสุด หรือความรู้ผิด) ซึ่งได้แก่ความรู้ว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา (ส่วน วิชชา แปลว่า ความรู้สูงสุดที่ดับทุกข์ได้ ซึ่งได้แก่ความรู้ว่าร่างกายและจิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา-ของเราจริง ซึ่งนิยมเรียกว่า ปัญญา) คือเมื่อจิตขาดสติ (คือระลึกถึงปัญญาไม่ได้ถึงแม้จะเคยมีปัญญามาแล้วก็ตาม ยิ่งถ้าไม่เคยมีปัญญามาก่อนเลยถึงแม้จะมีสติก็ระลึกถึงแต่สิ่งที่ไม่เกิดปัญญาเพียงอย่างเดียว) และเกิดความรู้ว่ามีตัวเราขึ้นมา จิตก็จะปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมารออยู่ทันที (ขณะนี้ยังไม่เกิดความทุกข์) เมื่อจิตได้รับรู้สิ่งต่างๆภายนอก (อันได้แก่ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งที่มาสัมผัสกาย, สิ่งที่มาสัมผัสใจ) จิตก็จะเกิดความอยากและเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราขึ้นมาทันที เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเรา-ของเราเมื่อใด จิตที่ยึดถือนี้ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที (ความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็คืออาการที่จิตเข้าไปแบกไปหามสิ่งต่างๆ เช่น ร่างกายและจิตใจ เอาไว้ด้วยความรักหรือความพอใจอย่างยิ่ง)

ส่วนเรื่องของความดับทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ถ้าจิตมีสติและระลึกถึงปัญญาขึ้นมา (คือระลึกได้ว่าร่างกายและจิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา-ของเราจริง) เมื่อใด บวกกับมีสมาธิเพียงพอ จิตก็จะไม่ปรุงแต่งให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายและจิตใจนี้คือตัวเรา-ของเรา (ถึงแม้จะยังมีความรู้สึกตัวว่ามีตัวเรา-ของเราอยู่ก็ตาม) จิตก็จะไม่เกิดความทุกข์ (ถ้ามีสติ ปัญญา สมาธิเพียงชั่วคราว ทุกข์ก็ดับลงเพียงชั่วคราว แต้ถ้ามีการฝึกให้จิตมีสติ ปัญญา สมาธินี้อยู่ตลอดเวลาที่จิตตื่นอยู่ ทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นมาอีกอย่างถาวร คือตลอดเวลาที่ยังมีจิตอยู่)  ซึ่งอาการที่จิตไม่มีทุกข์นี้เองที่ทางพุทธศาสนาสมมติเรียกว่า นิพพาน ที่แปลว่า ความดับเย็น (คือความทุกข์ได้ดับลงจนจิตสงบเย็นแล้ว)

สติและสมาธินั้นเราสามารถฝึกฝนเอาเองได้เมื่อเข้าใจวิธีการฝึกแล้ว ส่วนปัญญาหรือวิชชานั้น เราจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนว่า “แท้จริงมันไม่มีได้มีตัวเรา-ของเราอยู่จริง” ซึ่งหลักในการศึกษาให้เกิดความเข้าใจว่า “แท้จริงมันไม่มีได้มีตัวเรา-ของเราอยู่จริง” นี้พระพุทธองค์ทรงสอนให้เรานำเอาขันธ์ ๕ หรือกลุ่ม ๕ กลุ่ม อันได้แก่ ร่างกาย, การรับรู้, ความจำ, ความรู้สึก, และการปรุงแต่งของจิต ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชีวิตของเรานี้ มาพิจารณาหาเหตุที่ทำให้เกิดขันธ์แต่ละขันธ์ขึ้นมา, พิจารณาถึงเหตุที่ทำให้แต่ละขันธ์เสื่อมและดับหายไป, พิจารณาถึงลักษณะที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรของแต่ละขันธ์ (ไม่เป็นอมตะ), พิจารณาถึงลักษณะที่แต่ละขันธ์ต้องทนอยู่อย่างยากลำบาก, แล้วก็จะพบว่าแต่ละขันธ์นี้มัน “ไม่ใช่ตัวตนของใครๆ” ซึ่งมันเป็นเพียง “สิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น” และเมื่อขันธ์ทั้ง ๕ นี้มาประกอบกันขึ้นมาจึงเกิดเป็นชีวิตของมนุษย์เราขึ้นมา จึงเท่ากับว่า “จะหาตัวตนที่เป็นตัวเราหรือของเราจริงๆไม่มี” จะมีก็เพียง “ตัวตนชั่วคราว” หรือ “ตัวตนสมมติ” เท่านั้น (คำว่า “เรา” ในที่นี้จะหมายถึง ตัวเราตามที่ชาวโลกสมมติเรียกเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริงอย่างที่เรียกว่า “ตัวตนอมตะ”)

พระพุทธองค์ได้ทรงสรุปคำสอนทั้งหมดของพระองค์ไว้ในประโยคที่ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน-ของตน” คือหมายถึงว่า ไม่ให้เกิดการยึดถือเอาสิ่งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย หรือแม้แต่จิตใจที่กำลังรู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่นี้ ว่าเป็นตัวเราจริงๆ หรือเป็นของเราจริงๆ (คำว่าจริงๆนี้หมายถึงการเป็นตัวตนอมตะ คือจะคงมีอยู่ตลอดไป ไม่มีวันแตกดับหรือหายไปอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะมีอะไรมาทำลายก็ตาม หรือไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปสักเท่าใดก็ตาม) เพราะถ้าจิตใดโง่แล้วไปยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวเองขึ้นมาแล้ว จิตโง่นั้นก็จะเกิดความหนัก-เหนื่อยใจ (ในกรณีที่ยึดถือแล้วเกิดความพอใจ) ขึ้นมาทันที หรือเกิดความเศร้าโศก เสียใจ หรือแห้งเหี่ยวใจ หรือคับแค้นใจ หรือไม่สบายใจ (ในกรณีที่ยึดถือแล้วเกิดความไม่พอใจ) ขึ้นมาทันที

สาเหตุที่ยึดถือแล้วเกิดความทุกข์ก็เพราะ สิ่งที่ยึดถือนั้นมันไม่เที่ยงแท้ถาวร หรือไม่สามารถตั้งอยู่เช่นเดิมตลอดไป หรือไม่เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น ซึ่งเมื่อสิ่งที่เรารักหรือพอใจได้จากเราไป เราก็เป็นทุกข์ (คือ เศร้าโศก ฯ), เมื่อเราต้องประสบกับสิ่งที่เราเกลียดชังหรือกลัว เราก็เป็นทุกข์ (คือ คับแค้นใจ ฯ), เมื่อเราอยากจะได้อะไร หรืออยากจะเป็นอะไร แต่ไม่ได้ตามที่อยากจะได้หรืออยากจะเป็น เราก็เป็นทุกข์ (คือ เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ ฯ), หรือแม้ขณะที่เรากำลังมีความสุขอยู่นั้น จิตของเราก็ยังมีความทุกข์ซ่อนอยู่ภายในอย่างลึกๆอีกด้วย (คือ ดิ้นรน เร่าร้อน ทรมาน หรือหนัก เหนื่อย ฯ)

สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าจะทรงเน้นสอนเฉพาะเรื่องการปฏิบัติ เพื่อความไม่มีทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยใช้หลักวิทยาสาสตร์ คือสอนให้ค้นหาต้นเหตุของทุกข์ให้เจอ แล้วก็กำจัดต้นเหตุของทุกข์นั้นเสีย แล้วความทุกข์ก็จะดับลงทันที  ซึ่งเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเฉพาะเรื่องการดับทุกข์ก็เพราะ เรื่องความทุกข์นั้นเป็นปัญหาที่สำคัญหรือใหญ่ที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกคน ถ้าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีความทุกข์ทางใจใดๆเลยได้จนตลอดชีวิต ก็เท่ากับว่าชีวิตของเราได้รับสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในการที่ได้เกิดมาแล้ว.

เตชปญฺโญ ภิกขุ   ๑ ธ.ค. ๒๕๕๔

อาศรมพุทธบุตร เกาะสีชัง ชลบุรี

(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “ฉันคืออะไร?” จากเว็บไซต์  www.whatami.net )

**************************************