ในปัจจุบันชาวพุทธจะรู้ตัวหรือไม่ว่า พุทธศาสนาที่ตนเองนับถือยู่นี้ไม่ใช่พุทธแท้เสียแล้ว คือมีแต่เพียงชื่อว่าเป็นพุทธ แต่การปฏิบัติกลับเป็นพราหมณ์(ฮินดู)กันไปหมด เพราะจากอดีตพุทธศาสนาได้ถูกศาสนาพราหมณ์กลืนมาก่อน แล้วชาวพุทธก็นำเอาหลักของศาสนาพราหมณ์มายึดถือปฏิบัติ โดยเชื่อว่านี่คือพุทธศาสนาที่แท้จริงมาโดยตลอด
พุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นจะมีหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ว่าคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเช่นไร ซึ่งพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นจะเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์นี้จึงเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันกับหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง โดยหลักเกณฑ์นี้จะใช้การคิดพิจารณาไตร่ตรองไปตามลำดับ โดยสรุปได้ ๑๐ ขั้นดังต่อไปนี้
๑. ต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ก่อนอื่นเราจะต้องเปิดใจให้กว้าง ปล่อยวางความยึดถือในความเชื่อเก่าๆที่เรามีอยู่เอาไว้ชั่วคราวก่อน แล้วยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ควบคู่ไปกับความเป็นสุภาพบุรุษ คือเมื่อถูกก็ยอมรับว่าถูก เมื่อผิดก็ยอมรับว่าผิด ไม่แสดงอาการไม่พอใจหรือเฉไฉเมื่อรู้ว่าตนเองผิด และการศึกษานี้ก็ต้องทำด้วยความเป็นมิตรที่ปรารถนาดีต่อกัน. ถ้าใครยอมรับตรงจุดนี้ได้ก็จะศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่ยอมรับก็จะศึกษาต่อไปไม่ได้
๒. ต้องใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลในการคิดพิจารณา
การศึกษานี้จะต้องใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผลจริงๆในการคิดพิจารณา ไม่ใช่จะอ้างอะไรขึ้นมาลอยๆโดยไม่มีเหตุผลที่สมเหตุสมผล ซึ่งเรื่องความสมเหตุสมผลนี้สำคัญมาก เพราะเหตุผลที่สมเหตุสมผลนั้นย่อมนำผู้ศึกษาไปสู่ความจริงได้เสมอ. ถ้าใครยอมรับตรงจุดนี้ได้ก็จะศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่ยอมรับก็จะศึกษาต่อไปไม่ได้
๓. ต้องเรียนรู้หลักพื้นฐานก่อน
การศึกษาพุทธศาสนานี้ จะต้องศึกษาไปตามลำดับ คือจากพื้นฐานก่อน แล้วค่อยๆสูงขึ้นไปตามลำดับ หรือจากง่ายไปหายาก อย่างเป็นระบบและมีระเบียบ ไม่ศึกษาข้ามขั้นหรือมั่วไปหมด จนจับหลักอะไรไม่ได้. ถ้าใครยอมรับตรงจุดนี้ได้ก็จะศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่ยอมรับก็จะศึกษาต่อไปไม่ได้
๔. ไม่เชื่อจากใครๆแม้แต่ตัวเอง.
การเชื่อจากตำราหรือจากคนอื่นนั้นยังมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น เพราะตำรานั้นผู้แต่งก็อาจจะมีความรู้ผิดมาก่อนก็ได้ หรือตำราก็อาจจะถูกเปลี่ยนแปลงมาก่อนมาถึงเราแล้วก็ได้ หรือถ้าผู้ที่มาบอกมาสอนเรานั้นเกิดเขามีความรู้ที่ผิดๆมาก่อนแล้วโดยเขาไม่รู้ตัวแล้วเราเชื่อเขา เราก็จะได้รับความรู้ที่ผิดๆตามเขาไปด้วย หรือแม้แต่สามัญสำนึกของเราเองมันก็ยังอาจจะหลอกเราได้ หรือแม้ความเห็นที่เรามีอยู่ ซึ่งมันก็อาจผิดพลาดมาแล้วโดยเราไม่รู้ตัวก็ได้ เป็นต้น ดังนั้นเราจะไม่เชื่อจากใครๆหรือจากอะไรๆ แม้แต่ตัวเองก็ตาม จนกว่าเราจะได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างดีแล้ว และนำมาทดลองปฏิบัติจนเห็นผลขึ้นมาจริงๆก่อนแล้วเท่านั้น จึงจะเชื่อได้ว่าความเชื่อนั้นถูกต้อง ซึ่งนี่ก็คือการเชื่อความจริงที่ปรากฏนั่นเอง. ถ้าใครยอมรับตรงจุดนี้ได้ก็จะศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่ยอมรับก็จะศึกษาต่อไปไม่ได้
๕. ต้องศึกษาจากชีวิตจริงของเราในปัจจุบันนี้เท่านั้น
ถ้าเราจะศึกษาสิ่งใดให้ได้รู้จักกับสิ่งนั้นอย่างถูกต้องไม่ผิดพลาดชนิดที่เรียกว่า เห็นแจ้งนั้น เราจะต้องมีสิ่งนั้นมาศึกษาจริงๆ ซึ่งการศึกษาชีวิต เราก็ต้องศึกษาจากชีวิตจริงของเราในปัจจุบันเท่านี้นั้น เราจึงจะบังเกิดความเห็นแจ้งชีวิตได้จริง การศึกษาชีวิตโดยการคาดคะเนหรือนึกเดาเอาหรือเชื่อตามผู้อื่นนั้น จะไม่สามารถทำให้เราเกิดความเห็นแจ้งได้จริง. ถ้าใครยอมรับตรงจุดนี้ได้ก็จะศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่ยอมรับก็จะศึกษาต่อไปไม่ได้
๖. พระพุทธเจ้าสอนเรื่องความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง.
อนัตตา แปลว่า ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง คือคำว่าอนัตตานี้จะตรงข้ามกับคำว่า อัตตา ที่หมายถึงตัวตนที่แท้จริงหรือตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่เขาเชื่อว่าจิตหรือวิญญาณของคนเรานี้เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร หรือเป็นอมตะชนิดที่ไม่มีวันดับหายไปอย่างเด็ดขาด และสามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดยังร่างกายใหม่ๆได้เรื่อยไป
จากความเชื่อเรื่องอัตตานี้เอง ที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องจิตหรือวิญญาณเวียนว่ายตายเกิดเพื่อรับผลกรรม และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า รวมทั้งเรื่องผี เทวดา นางฟ้า พระอินทร์ พระพรหม เป็นต้นขึ้นมา ซึ่งต่อมาเรื่องเหล่านี้ก็ได้เข้ามาครอบงำคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนา จนทำให้ชาวพุทธในปัจจุบันเป็นชาวพุทธกันแค่เพียงชื่อเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติกลับเป็นพราหมณ์กันไปหมด เช่น การทำบุญเพื่อหวังขึ้นสวรรค์บนฟ้า การอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย หรือความเชื่อเรื่องโชคลาง ดวงชะตาราศี เรื่องลึกลับ เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องเวรกรรมจากชาติปางก่อน รวมทั้งการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อหวังนิพพาน (ที่มักเชื่อกันว่าตายแล้วจะไม่กลับมาเกิดอีก) ในชาติต่อๆไป เป็นต้น
เมื่อพระพุทธองค์ทรงค้นพบอนัตตาขึ้นมาจึงไม่ยอมรับว่าจะมีสิ่งใดมาเป็นอัตตาได้ ดังนั้นเรื่องอนัตตาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ที่ชาวพุทธทุกคนจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนเป็นอันดับแรก และเมื่อเข้าใจเรื่องอนัตตาได้อย่างถูกต้องแล้วก็จะทำให้รู้ได้เองว่าคำสอนใดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงและคำสอนใดไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าจริง
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราเข้าใจความจริงว่า ทุกชีวิตนั้นเป็นเช่นไร? เช่น เกิดมาจากไหน? เกิดมาทำไม? ตายแล้วจะเป็นเช่นไร? เป็นต้นได้ คือเรียกได้ว่าเริ่มเกิดปัญญาที่แท้จริงหรือเริ่มมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาแล้ว. ซึ่งจุดนี้เรายอมรับหรือไม่ว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตาที่ตรงข้ามอัตตา ถ้าใครยอมรับก็ศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าใครไม่ยอมรับก็ศึกษาต่อไปไม่ได้
๗. ทุกสิ่งต้องเกิดมาจากเหตุ.
พุทธศาสนาจะสอนว่า ทุกสิ่งจะเป็นไปของมันเองตามธรรมชาติ ซึ่งเหตุผลที่ว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตานั้น ก็ต้องไปศึกษา กฎสูงสุดของจักรวาลที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลอยู่ ที่ชื่อว่า กฎอิทัปปัจจยตา ที่เป็นกฎอันเฉียบขาดของธรรมชาติที่บังคับเอาไว้ว่า ทุกสิ่งต้องเกิดมาจากเหตุ ซึ่งมีใจความโดยละเอียดว่า
จากกฎนี้จะสรุปได้ว่า เมื่อมีเหตุ จึงจะมีผล ถ้าไม่มีเหตุ ผลก็จะไม่มี
และจากกฎข้อนี้ก็ทำให้รู้ได้อีกว่า เมื่อมีผล มันก็ต้องมีเหตุมาก่อน
ซึ่งนั่นก็แสดงถึงว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆโดยไม่มีเหตุ
และที่สำคัญคำว่า สิ่งในที่นี้ก็หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เว้นสิ่งใด
คำว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหมายถึงทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ(คือจิตหรือความรู้สึกนึกคิด) ซึ่งในจุดนี้เรายอมรับหรือไม่ว่า ทุกสิ่งย่อมเกิดมาจากเหตุ ถ้ายอมรับเราก็ศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ยอมรับเราก็ศึกษาต่อไปไม่ได้
๘. วัตถุทั้งหลายเป็นอนัตตา.
วัตถุทั้งหลายล้วนเกิดมาจากสิ่งที่เป็นพื้นฐาน ๔ ประการคือ ของแข็ง,ของเหลว,ความร้อน,และก๊าซ สร้างขึ้นมาในลักษณะที่แตกต่างกันแล้วเกิดเป็นวัตถุชนิดต่างๆขึ้นมา เช่น เหล็ก พลาสติก ต้นไม้ ร่างกายคนและสัตว์
วัตถุทั้งหลายนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะไม่สามารถที่จะตั้งอยู่อย่างถาวร (คือตลอดไปหรือนิรันดร )ได้ ไม่ช้าก็เร็วมันจะต้องแตกสลายกลายสภาพเป็นของแข็ง,ของเหลว,ความร้อน,และก๊าซดังเดิม (อนิจจัง-ความไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับ)
วัตถุทั้งหลายนั้น เมื่อตั้งอยู่มันก็ยังต้องทนต่อสิ่งที่มาทำให้มันเสื่อมสภาพและเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะด้วย(ทุกขัง-ความต้องทน)
เมื่อวัตถุทั้งหลายต้องอาศัยเหตุเกิดขึ้น และไม่สามารถตั้งอยู่อย่างถาวรได้ รวมทั้งยังต้องทนอยู่ด้วย ดังนั้นจึงหาสิ่งหรือสภาวะที่จะมาเป็นตัวตนที่แท้จริง(อัตตา)ของมันไม่มีเลย จะมีก็แต่ตัวตนชั่วคราว หรือตัวตนมายาเท่านั้น (อนัตตา-ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง)
จากจุดนี้เรายอมรับหรือไม่ว่าวัตถุทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้ายอมรับเราก็ศึกษาต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ยอมรับเราก็ศึกษาต่อไปไม่ได้
๙. จิตก็เป็นอนัตตา.
ลักษณะของอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของวัตถุนั้น เป็นสิ่งที่เราสามารถพิจารณาให้เข้าใจได้ง่าย และใครๆก็ยอมรับ แต่แม้สิ่งที่เป็นจิต (ซึ่งไม่ใช่วัตถุ) ก็มีลักษณะของอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาด้วยเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น เพียงแต่อาจจะพิจารณาให้เข้าใจได้ยากอยู่สักหน่อยเท่านั้น ซึ่งการพิจารณาเราก็ต้องพิจารณาจากของจริงคือจากความรู้สึกของจิตเราเองจริงๆที่เราสามารถรับรู้ได้จริงในปัจจุบันนี้เท่านั้น
การพิจารณาก็ต้องพิจารณาว่า สิ่งที่เป็นจิต (ความรู้สึกนึกคิด) ก็ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จิตจะเกิดขึ้นมาเองลอยๆโดยไม่อาศัยเหตุ และความจริงเราทุกคนก็ไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นเลย คือทุกครั้งที่เรารู้สึกตัว ก็ต้องมีร่างกายมาเป็นพื้นฐานให้เกิดความรู้สึกอยู่ด้วยเสมอ
โดยจิตนี้จะประกอบด้วย ๑.การรับรู้(ทางตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ ที่เรียกว่าวิญญาณ) ๒.ความรู้สึก ๓.ความจำ และ๔.ความคิด ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว โดยวิญญาณนั้นจะต้องอาศัยอวัยวะของตา,หู,จมูก,ลิ้น,ร่างกาย,และใจ(สมอง)ที่ยังดีพร้อมอยู่เกิดขึ้นมา, เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกต่อสิ่งที่มันรับรู้นั้นทันที(คือรู้สึกสุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์),พร้อมกับจำสิ่งที่มันรู้สึกนั้นได้ด้วย(เพราะมันมีความทรงจำเก็บไว้ที่เนื้อสมองที่ยังดีอยู่),และพร้อมกันนั้นมันก็จะเกิดการคิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่มันจำได้นั้นต่อไปทันทีอย่างรวดเร็ว ถ้าสมองเสียก็จะจำอะไรไม่ได้ และคิดอะไรไม่ได้ และถ้าร่างกายตาย ก็จะทำให้วิญญาณและจิตดับหายไปด้วยทันที ซึ่งนี่คือความจริงที่ปรากฏอยู่จริงในจิตของเราทุกคน ที่เราทุกคนสามารถสังเกตเห็นได้เอง โดยไม่ต้องคาดคะเนหรือเชื่อจากใครๆ
เมื่อจิตก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเหตุเกิดขึ้น ดังนั้นมันจึงต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่เที่ยง (คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและต้องดับไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ที่เรียกว่าไม่ถาวร) ด้วยเหมือนกัน (อนิจจัง)
เมื่อจิตเกิดขึ้นและตั้งอยู่ มันก็ยังต้องทนต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเองด้วย (ทุกขัง)
เมื่อจิตก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเหตุเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ รวมทั้งยังต้องทนอยู่ด้วย นี่ก็แสดงถึงว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ที่จะตั้งอยู่ไปชั่วนิรันดรได้ (อนัตตา)
จากจุดนี้เราเข้าใจหรือยังว่าจิตก็เป็นอนัตตา ถ้ายังไม่เข้าใจเราก็ต้องย้อนกลับไปศึกษาตั้งแต่ต้นมาใหม่ แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็เป็นอันว่าเราเริ่มเข้าใจคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้องแล้ว
๑๐. ความจริงสูงสุดของชีวิตก็คือ ไม่มีตัวเรา-ของเราจริง.
เมื่อพิจารณาตามเหตุผลมาทั้งหมดนี้แล้วก็สรุปได้ว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตา คือไม่มีอะไรที่จะมาเป็นอัตตาหรือตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรได้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้น จะเป็นเพียงสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง(สังขาร)ขึ้นมาตามธรรมชาติเท่านั้น คือเรียกง่ายๆว่าเป็น สิ่งชั่วคราว หรือ สิ่งมายา หรือ สิ่งสมมติ ที่หาตนเองจริงๆไม่มี และเมื่อพิจารณาเข้ามาในร่างกายและจิตใจของเราแล้วก็ทำให้เข้าใจได้เองว่า แท้จริงมันไม่มีเราหรือใครๆเลย คือเรียกได้ว่า มันไม่มีเรามาเกิด และไม่มีเราที่จะตาย เพราะแม้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้มันก็ไม่ได้มีเราอยู่จริง ส่วนความรู้สึกว่ามีเรานี้มันเป็นพียงสัญชาติญาณ(ความรู้ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิต)ของทุกชีวิตตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งความรู้เรื่องอนัตตานี้จัดเป็นปัญญาสูงสุดของพุทธศาสนา ที่จะนำไปใช้คู่กับศีลและสมาธิ เพื่อใช้ดับความทุกข์ในปัจจุบันของชีวิตเราทุกคน ตามหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า
ทั้งหมดนี้เป็นหลักในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องหรือสร้างความเห็นที่ถูกต้อง(สัมมาทิฎฐิ)ขึ้นด้วยตนเอง โดยใช้สติปัญญาของตนเอง และที่สำคัญคือไม่เชื่อจากใครๆทั้งสิ้น ซึ่งผู้ที่จะศึกษาจนบังเกิดความเข้าใจได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องเป็นคนดีที่มีใจเป็นกลาง ไม่ยึดติดในความเชื่อใดๆมาก่อน มีปัญญาสามารถพิจารณาเห็นการเกิดขึ้นและดับหายไปได้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนซื่อสัตย์ จริงใจ และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริงเท่านั้น จึงจะสามารถศึกษาจนบังเกิดความเข้าใจได้อย่างแท้จริง
หลักสำคัญในการศึกษานี้ก็คือ ต้องค่อยๆอ่าน ค่อยๆทำความเข้าใจอย่างช้าๆ และทบทวนหลายๆรอบ อย่าอ่านเพียงให้ผ่านๆไปเท่านั้น เพราะจะทำให้ไม่เกิดความเข้าใจได้อย่างแท้จริง ซึ่งทุกข้อความจะมีการจัดลำดับไว้ชัดเจน และจะมีเหตุผลที่บังคับเอาไว้ให้ดิ้นไม่ได้ หรือคัดง้างให้งอกลับด้วยเหตุผลไม่ได้ ถ้าใครดื้อรั้นไม่ยอมรับเหตุผลและความจริงที่ปรากฏ ก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าใจความจริงสูงสุดนี้ได้ และปัญญาที่แท้จริงก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมทั้งก็จะไม่พบพุทธศาสนาที่แท้จริงอีกด้วย
จึงขอฝากให้ทุกคนที่ปฏิญาณตนว่าเป็นชาวพุทธ จงช่วยกันศึกษาหลักการทั้ง ๑๐ ข้อนี้อย่างตั้งใจที่สุด เพื่อปลดปล่อยสติปัญญาของตนเองให้เป็นอิสระและช่วยกันนำเอาหลักคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าออกมาเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป.
|